ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

“เคล็ดลับ” ที่เราได้เรียนรู้จากการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์

“เคล็ดลับ” ที่เราได้เรียนรู้จากการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์

เล่า​โดย โอลีเวียร์ รันเดรียมูรา

“ที่​จริง ข้าพเจ้า​รู้​จัก​การ​อยู่​อย่าง​อัตคัด ที่​จริง ข้าพเจ้า​รู้​จัก การ​มี​อย่าง​บริบูรณ์. ใน​ทุก​สิ่ง​และ​ใน​ทุก​สภาพการณ์ ข้าพเจ้า ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ทั้ง​ของ​การ​อยู่​อย่าง​อิ่ม​หนำ​และ​การ​อยู่​อย่าง​อดอยาก . . . ข้าพเจ้า​มี​กำลัง​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​โดย​พระองค์​ผู้​ทรง​ประทาน​กำลัง​แก่​ข้าพเจ้า.”—ฟิลิป. 4:12, 13

ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ให้​กำลังใจ​ผม​และ​อูลิ ภรรยา​ของ​ผม อย่าง​มาก. เช่น​เดียว​กับ​เปาโล เรา​ได้​เรียน​รู้ “เคล็ดลับ” ดัง​กล่าว​ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่​ขณะ​ที่​เรา​รับใช้​พระองค์​ที่​นี่​ใน​มาดากัสการ์.

เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เริ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​แม่​ของ​อูลิ​ใน​ปี 1982 ผม​กับ​อูลิ​ได้​หมั้น​กัน​แล้ว. ผม​ตอบรับ​การ​ศึกษา​ด้วย และ​อูลิ​ร่วม​สมทบ​กับ​ผม​ใน​เวลา​ต่อ​มา. เรา​แต่งงาน​กัน​ใน​ปี 1983 รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1985 แล้ว​ก็​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์​สมทบ​ทันที. ใน​เดือน​กรกฎาคม 1986 เรา​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​ประจำ.

ใน​เดือน​กันยายน 1987 เรา​เริ่ม​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ. เขต​งาน​มอบหมาย​แรก​ของ​เรา​คือ​เมือง​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​มาดากัสการ์​ซึ่ง​ไม่​มี​ประชาคม​เลย. มี​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​หลัก​ประมาณ 18 กลุ่ม รวม​ทั้ง​เผ่า​ต่าง ๆ อีก​นับ​ไม่​ถ้วน​ใน​มาดากัสการ์ และ​แต่​ละ​กลุ่ม​แต่​ละ​เผ่า​มี​วัฒนธรรม​และ​ประเพณี​แตกต่าง​กัน​มาก. ภาษา​ทาง​การ​ที่​ใช้​คือ​ภาษา​มาลากาซี แต่​มี​ภาษา​ถิ่น​อีก​บาง​ภาษา​ซึ่ง​แตกต่าง​กัน​อย่าง​ชัดเจน. ดัง​นั้น เรา​เริ่ม​เรียน​ภาษา​ถิ่น​ที่​ผู้​คน​พูด​กัน​ใน​เขต​มอบหมาย​ใหม่​ของ​เรา และ​นั่น​ช่วย​ให้​ผู้​คน​ใน​ท้องถิ่น​ยอม​รับ​เรา​ได้​ง่าย​ขึ้น.

ใน​ช่วง​แรก ๆ ผม​บรรยาย​สาธารณะ​ทุก​วัน​อาทิตย์ และ​เมื่อ​บรรยาย​เสร็จ​อูลิ​ก็​จะ​ทำ​หน้า​ที่​ของ​ตัว​เอง​คือ​ปรบ​มือ. ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​มี​แค่​เรา​สอง​คน. เรา​ยัง​จัด​การ​ประชุม​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ครบ​ทุก​รายการ โดย​ที่​อูลิ​ต้อง​ใช้​จินตนาการ​ว่า​กำลัง​พูด​กับ​เจ้าของ​บ้าน. เรา​รู้สึก​โล่ง​อก​จริง ๆ เมื่อ​ผู้​ดู​แล​หมวด​ที่​มา​เยี่ยม​ช่วย​แนะ​เรา​ให้​ปรับ​ลด​ส่วน​การ​ประชุม!

เนื่อง​จาก​ระบบ​ไปรษณีย์​ไม่​ดี บ่อย​ครั้ง​เรา​ไม่​ได้​รับ​เงิน​ชด​ใช้​ประจำ​เดือน. ดัง​นั้น เรา​จึง​เรียน​รู้​ที่​จะ​อยู่​อย่าง​อัตคัด. ใน​โอกาส​หนึ่ง เรา​มี​เงิน​ไม่​พอ​จ่าย​ค่า​โดยสาร​รถ​ที่​จะ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​หมวด ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​เมือง​ที่​ไกล​ออก​ไป​ประมาณ 130 กิโลเมตร. เรา​นึก​ถึง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​ของ​เพื่อน​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ที่​เคย​บอก​เรา​ว่า “จง​บอก​ปัญหา​ของ​คุณ​กับ​พระ​ยะโฮวา. จริง ๆ แล้ว งาน​ที่​คุณ​กำลัง​ทำ​อยู่​เป็น​งาน​ของ​พระองค์.” เรา​จึง​อธิษฐาน​และ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​เดิน​ไป. แต่​ก่อน​ที่​เรา​จะ​ออก​เดิน​ทาง​มี​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​มา​เยี่ยม​เรา​โดย​ไม่​คาด​คิด​และ​ให้​เงิน​เรา​จำนวน​หนึ่ง ซึ่ง​พอ​ดี​กับ​ค่า​โดยสาร!

งาน​หมวด

ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1991 ผม​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด. พอ​ถึง​ตอน​นี้ กลุ่ม​เล็ก ๆ ของ​เรา​มี​ผู้​ประกาศ​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น 9 คน 3 คน​รับ​บัพติสมา​แล้ว และ​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​โดย​เฉลี่ย 50 คน. หลัง​จาก​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม เรา​รับใช้​ใน​หมวด​หนึ่ง​ใน​เมือง​หลวง คือ​กรุง​อัน​ตา​นานา​ริ​โว. ใน​ปี 1993 เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ใหม่​ให้​ไป​ทำ​งาน​ใน​หมวด​หนึ่ง ที่​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​ประเทศ. สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ที่​นั่น​ต่าง​จาก​เมือง​หลวง​มาก.

เพื่อ​จะ​ไป​ให้​ถึง​ประชาคม​และ​กลุ่ม​โดด​เดี่ยว​ต่าง ๆ เรา​ต้อง​เดิน​เท้า บาง​ครั้ง​เดิน​ถึง 145 กิโลเมตร​ผ่าน​ภูเขา​ที่​เป็น​ป่า​ทึบ. เรา​พยายาม​เอา​ของ​ไป​ให้​น้อย​ที่​สุด. แน่นอน เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​คำ​บรรยาย​ของ​ผู้​ดู​แล​หมวด​มี​การ​ฉาย​ภาพ​สไลด์ ซึ่ง​มี​การ​ทำ​เป็น​ครั้ง​คราว​ใน​สมัย​นั้น สัมภาระ​ของ​เรา​ก็​จะ​หนัก​กว่า​ปกติ. อูลิ​แบก​เครื่อง​ฉาย​สไลด์ ส่วน​ผม​ก็​ลาก​กระเป๋า​ที่​หนัก​อึ้ง​ด้วย​แบตเตอรี่​รถยนต์ 12 โวลต์.

เรา​มัก​จะ​เดิน​ทาง​วัน​ละ 40 กิโลเมตร​เพื่อ​ไป​ให้​ถึง​ประชาคม​ต่อ​ไป. ระหว่าง​ทาง เรา​เดิน​ย่ำ​ไป​ตาม​ทาง​เดิน​ขึ้น​ลง​ภูเขา ข้าม​แม่น้ำ และ​เดิน​ลุย​โคลน. บาง​ครั้ง เรา​นอน​พัก​ข้าง​ทาง แต่​ตาม​ปกติ​แล้ว​เรา​พยายาม​หา​หมู่​บ้าน​ที่​จะ​ขอ​พัก​ค้าง​คืน​ได้. บาง​ครั้ง​เรา​ขอ​พัก​ค้าง​คืน​กับ​คน​ที่​เรา​ไม่​รู้​จัก​เลย. หลัง​จาก​หา​ที่​พัก​ได้ เรา​ก็​จะ​เริ่ม​ทำ​อาหาร. อูลิ​จะ​ขอ​ยืม​หม้อ​แล้ว​ก็​ไป​ตัก​น้ำ​ที่​แม่น้ำ​หรือ​ทะเลสาบ​ที่​อยู่​ใกล้​ที่​สุด. ระหว่าง​นั้น ผม​ก็​ไป​ยืม​ขวาน​มา​ผ่า​ฟืน​เพื่อ​ก่อ​ไฟ​ทำ​อาหาร. ทุก​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ใช้​เวลา​มาก. บาง​ครั้ง เรา​ซื้อ​ไก่​เป็น ๆ มา​เชือด​เอง ถอน​ขน แล้ว​ก็​ทำ​เป็น​อาหาร.

หลัง​จาก​กิน​อาหาร​แล้ว เรา​ก็​ไป​ตัก​น้ำ​มา​อาบ. บาง​ครั้ง​เรา​นอน​ใน​ห้อง​ครัว. เมื่อ​ฝน​ตก เรา​อาจ​ต้อง​นั่ง​หลับ​พิง​ผนัง​ห้อง เพื่อ​จะ​ไม่​เปียก​ฝน​ที่​รั่ว​ลง​มา​จาก​หลังคา.

เรา​พยายาม​ประกาศ​แก่​เจ้าของ​บ้าน​เสมอ. เมื่อ​ไป​ถึง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง เรา​ได้​รับ​ความ​กรุณา​และ​น้ำใจ​รับรอง​แขก​จาก​พี่​น้อง​คริสเตียน​อย่าง​เหลือ​ล้น. เมื่อ​เรา​เห็น​ว่า​พี่​น้อง​เห็น​คุณค่า​การ​เยี่ยม​ของ​เรา​อย่าง​แท้​จริง เรา​ก็​ลืม​ความ​ไม่​สะดวก​ทั้ง​หลาย​ที่​เรา​ประสบ​มา​ตลอด​ทาง.

เมื่อ​พัก​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​พี่​น้อง​พยาน​ฯ เรา​ชอบ​ช่วย​พวก​เขา​ทำ​งาน​บ้าน. โดย​ช่วย​พวก​เขา​อย่าง​นี้ พวก​เขา​จึง​มี​เวลา​ที่​จะ​ร่วม​ทำ​งาน​ประกาศ​กับ​เรา. เรา​ไม่​คาด​หมาย​จะ​ได้​อะไร​ที่​ฟุ่มเฟือย​หรือ​อาหาร​มื้อ​พิเศษ ซึ่ง​เกิน​กำลัง​พี่​น้อง​ที่​ต้อนรับ​เรา.

เยี่ยม​กลุ่ม​โดด​เดี่ยว

เรา​ชอบ​เยี่ยม​กลุ่ม​โดด​เดี่ยว​ต่าง ๆ ซึ่ง​พี่​น้อง​ต้อนรับ​เรา​ด้วย​ตาราง​การ​ทำ​งาน​ที่​เต็ม​แน่น. เรา​แทบ​ไม่​มี​เวลา​จะ “ได้​พัก​สัก​หน่อย.” (มโก. 6:31) ใน​ที่​แห่ง​หนึ่ง พยาน​ฯ คู่​หนึ่ง​ได้​เชิญ​นัก​ศึกษา​ของ​พวก​เขา​ทั้ง​หมด ซึ่ง​มี 40 กว่า​คน มา​ที่​บ้าน​ของ​เขา​ให้​เรา​ได้​ร่วม​นำ​การ​ศึกษา​กับ​พวก​เขา. อูลิ​ช่วย​พี่​น้อง​ที่​เป็น​ภรรยา​ใน​การ​นำ​การ​ศึกษา 20 กว่า​ราย และ​ผม​ก็​ช่วย​พี่​น้อง​ที่​เป็น​สามี​นำ​การ​ศึกษา​กับ​อีก 20 ราย​ที่​เหลือ. เมื่อ​นัก​ศึกษา​คน​หนึ่ง​ลุก​ไป นัก​ศึกษา​คน​ถัด​ไป​ก็​เข้า​มา​นั่ง​ศึกษา​กับ​เรา​ต่อ​ทันที. ใน​ตอน​บ่าย เรา​หยุด​พัก​เพื่อ​จะ​ประชุม​ประชาคม​ด้วย​กัน และ​หลัง​จาก​ประชุม​เสร็จ​ก็​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ต่อ. ใน​แต่​ละ​วัน การ​เยี่ยม​แบบ​มารา​ทอน​ของ​เรา​อาจ​จบ​ลง​หลัง​สอง​ทุ่ม!

เมื่อ​เรา​ไป​เยี่ยม​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง พวก​เรา​ทุก​คน​มุ่ง​หน้า​ไป​ที่​หมู่​บ้าน​ถัด​ไป​โดย​ออก​เดิน​ทาง​ประมาณ​แปด​โมง​เช้า. พวก​เรา​ทุก​คน​สวม​เสื้อ​ผ้า​เก่า ๆ. หลัง​จาก​เดิน​ไกล​ผ่าน​ป่า เรา​ก็​ไป​ถึง​เขต​ทำ​งาน​ราว ๆ เที่ยง. เรา​เปลี่ยน​มา​ใส่​เสื้อ​ผ้า​สะอาด​แล้ว​ก็​เริ่ม​ประกาศ​ตาม​บ้าน​ทันที. บ้าน​มี​ไม่​กี่​หลัง​แต่​ผู้​ประกาศ​มี​หลาย​คน. ดัง​นั้น เพียง​แค่ 30 นาที​เรา​ก็​ประกาศ​จน​ทั่ว​เขต. แล้ว​เรา​ก็​มุ่ง​หน้า​ไป​หมู่​บ้าน​ถัด​ไป. หลัง​จาก​ประกาศ​ที่​นั่น​เสร็จ เรา​ต้อง​เดิน​ไกล​เพื่อ​กลับ​บ้าน. ที​แรก การ​ประกาศ​แบบ​นี้​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ท้อ​ใจ​อยู่​บ้าง. เรา​ใช้​เวลา​และ​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก​แต่​ได้​ประกาศ​ตาม​บ้าน​เพียง​แค่​ประมาณ​ชั่วโมง​เดียว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พี่​น้อง​ท้องถิ่น​ไม่​บ่น​กัน​เลย. พวก​เขา​ยัง​คง​กระตือรือร้น​เสมอ.

กลุ่ม​โดด​เดี่ยว​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​ตาวีรานัมโบ​อยู่​ใกล้ ๆ ยอด​เขา. ที่​นั่น​เรา​พบ​พยาน​ฯ ครอบครัว​หนึ่ง​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​มี​ห้อง​เดียว. มี​อาคาร​เล็ก ๆ อีก​หลัง​หนึ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ ซึ่ง​ใช้​เป็น​ที่​ประชุม. ทันใด​นั้น​เอง เจ้าบ้าน​ของ​เรา​ก็​เริ่ม​ตะโกน​เสียง​ดัง​ลั่น​ว่า “พี่​น้อง!” แล้ว​ก็​มี​เสียง​ตอบ​มา​จาก​ยอด​เขา​อีก​ลูก​หนึ่ง​ว่า “ว่า​ไง?” เจ้าบ้าน​ของ​เรา​ตะโกน​อีก​ว่า “ผู้​ดู​แล​หมวด​มา​แล้ว!” และ​พี่​น้อง​ก็​ขาน​รับ. ดู​เหมือน​ว่า​มี​การ​ส่ง​ข่าว​ต่อ ๆ กัน​ไป​ถึง​คน​อื่น ๆ ที่​อยู่​ไกล​ออก​ไป. ใน​ไม่​ช้า ผู้​คน​ก็​เริ่ม​ทยอย​มา​รวม​ตัว​กัน และ​เมื่อ​ถึง​เวลา​เริ่ม​การ​ประชุม​ก็​มี​มาก​กว่า 100 คน​มา​อยู่​ที่​นั่น.

ข้อ​ท้าทาย​เกี่ยว​กับ​การ​เดิน​ทาง

ใน​ปี 1996 เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ไป​รับใช้​อีก​หมวด​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใกล้​เมือง​หลวง​กว่า​หมวด​เดิม และ​อยู่​ใน​ภาค​กลาง​ซึ่ง​เป็น​ที่​สูง. แต่​ละ​หมวด​มี​ข้อ​ท้าทาย​ที่​ต่าง​จาก​หมวด​อื่น ๆ หมวด​นี้​ก็​เช่น​กัน. ไม่​มี​รถ​โดยสาร​ที่​วิ่ง​เป็น​ประจำ​ไป​เขต​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล. เรา​มี​กำหนด​ที่​จะ​เยี่ยม​กลุ่ม​หนึ่ง​ใน​เมือง​เบอันกานา (เบซาเค) ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​อัน​ตา​นานา​ริ​โว​ประมาณ 240 กิโลเมตร. หลัง​จาก​ต่อ​รอง​กับ​คน​ขับ เรา​ก็​ขึ้น​รถ​บรรทุก​ขนาด​เล็ก​ที่​วิ่ง​ไป​ทาง​นั้น. มี​ผู้​โดยสาร​คน​อื่น​อีก​ประมาณ 30 คน​ทั้ง​ใน​และ​บน​รถ​คัน​นั้น บาง​คน​นอน​บน​หลังคา​และ​มี​บาง​คน​ห้อย​โหน​ที่​ท้าย​รถ.

ไม่​นาน​นัก รถ​ที่​เรา​นั่ง​ก็​ไป​เสีย​เอา​กลาง​ทาง ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​อยู่​บ่อย ๆ แล้ว​เรา​ก็​ต้อง​เดิน​เท้า​ต่อ. หลัง​จาก​ที่​เรา​ย่ำ​เดิน​อย่าง​เหนื่อย​อ่อน​หลาย​ชั่วโมง ก็​มี​รถ​บรรทุก​คัน​ใหญ่​ขับ​มา​ทาง​นั้น. รถ​คัน​นี้​มี​คน​และ​ข้าวของ​เต็ม​แน่น​อยู่​แล้ว แต่​ถึง​อย่าง​นั้น​คน​ขับ​ก็​ยัง​จอด​รับ​เรา​อยู่​ดี. เรา​ขึ้น​รถ​คัน​นี้ แม้​มี​ที่​ว่าง​แค่​ให้​เรา​ยืน​เท่า​นั้น. ต่อ​มา เรา​ก็​มา​ถึง​แม่น้ำ​สาย​หนึ่ง แต่​สะพาน​กำลัง​ซ่อม​กัน​อยู่. อีก​ครั้ง​หนึ่ง เรา​เดิน​เท้า​ต่อ​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ไป​ถึง​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ไพโอเนียร์​พิเศษ​บาง​คน​อยู่​ที่​นั่น. แม้​ไม่​มี​หมาย​กำหนดการ​จะ​เยี่ยม​ที่​นี่ แต่​เรา​ก็​ไป​ประกาศ​กับ​พวก​เขา​ขณะ​รอ​สะพาน​ซ่อม​เสร็จ​และ​รอ​รถ​อะไร​ก็​ได้​ที่​ผ่าน​มา​เพื่อ​จะ​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป.

เรา​ต้อง​รอ​ถึง​หนึ่ง​สัปดาห์​กว่า​จะ​มี​รถ​คัน​หนึ่ง​ผ่าน​มา แล้ว​เรา​ก็​เดิน​ทาง​กัน​ต่อ. ถนน​มี​แต่​หลุม​แต่​บ่อ​ขนาด​ใหญ่​เต็ม​ไป​หมด. มี​อยู่​หลาย​ครั้ง​ที่​เรา​ต้อง​ช่วย​ดัน​รถ​ผ่าน​น้ำ​ลึก​เพียง​เข่า และ​บ่อย​ครั้ง​ที่​ถึง​กับ​ล้ม​ลุก​คลุกคลาน. หลัง​เที่ยง​คืน เรา​ก็​มา​ถึง​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง และ​ลง​รถ​ที่​นั่น. เรา​เดิน​ออก​ไป​จาก​ถนน​ใหญ่ เดิน​เท้า​กัน​ต่อ​ไป​ผ่าน​นา​ข้าว ลุย​น้ำ​โคลน​สูง​ถึง​เอว มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง.

นั่น​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​เรา​ไป​เยี่ยม​เขต​นี้ เรา​จึง​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ประกาศ​แก่​คน​ที่​กำลัง​ทำ​งาน​กัน​อยู่​ใน​นา​ข้าว​และ​ถาม​ทาง​ไป​บ้าน​ของ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น. เรา​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​รู้​ว่า​คน​งาน​เหล่า​นั้น​ที่​แท้​แล้ว​เป็น​พี่​น้อง​ของ​เรา​เอง!

สนับสนุน​คน​อื่น ๆ ให้​รับใช้​เต็ม​เวลา

ตลอด​หลาย​ปี เรา​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​ที่​เห็น​ผล​จาก​การ​ที่​เรา​สนับสนุน​คน​อื่น ๆ ให้​รับใช้​เต็ม​เวลา. เมื่อ​เยี่ยม​ประชาคม​หนึ่ง​ที่​มี​ไพโอเนียร์​ประจำ​เก้า​คน เรา​สนับสนุน​ไพโอเนียร์​แต่​ละ​คน​ให้​ตั้ง​เป้า​จะ​ช่วย​ผู้​ประกาศ​คน​หนึ่ง​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์. เมื่อ​เรา​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​นี้​ใน​อีก​หก​เดือน​ต่อ​มา จำนวน​ไพโอเนียร์​ประจำ​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​เป็น 22 คน. พี่​น้อง​หญิง​สอง​คน​ที่​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้​สนับสนุน​พ่อ​ของ​พวก​เธอ​ซึ่ง​ทั้ง​คู่​เป็น​ผู้​ปกครอง​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​ประจำ. ผู้​ปกครอง​ทั้ง​สอง​คน​นี้​ได้​กระตุ้น​ผู้​ปกครอง​คน​ที่​สาม​ให้​ร่วม​สมทบ​กับ​พวก​เขา. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน ผู้​ปกครอง​คน​ที่​สาม​ก็​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ. ต่อ​มา เขา​กับ​ภรรยา​เริ่ม​รับใช้​ใน​งาน​หมวด. ผู้​ปกครอง​อีก​สอง​คน​เป็น​อย่าง​ไร? คน​หนึ่ง​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด ส่วน​อีก​คน​หนึ่ง​เป็น​อาสา​สมัคร​ก่อ​สร้าง​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร.

เรา​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​ทุก​วัน​สำหรับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระองค์ เพราะ​เรา​ตระหนัก​ว่า​เรา​ไม่​มี​ทาง​ทำ​สิ่ง​ใด​ให้​สำเร็จ​ได้​ด้วย​กำลัง​ของ​เรา​เอง. จริง​อยู่ บาง​ครั้ง​เรา​รู้สึก​เหนื่อย​และ​ป่วย แต่​เรา​มี​ความ​สุข​เมื่อ​นึก​ถึง​ผล​ที่​เกิด​จาก​งาน​รับใช้​ของ​เรา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​ให้​งาน​ของ​พระองค์​ก้าว​หน้า. เรา​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​มี​ส่วน​เล็ก​น้อย​ใน​งาน​นี้ และ​ตอน​นี้​เรา​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ. ใช่​แล้ว เรา​ได้​เรียน​รู้ “เคล็ดลับ” ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง​นั้น​ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา “ผู้​ทรง​ประทาน​กำลัง” แก่​เรา.

[คำ​โปรย​หน้า 6]

เรา​ได้​เรียน​รู้ “เคล็ดลับ” ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง​นั้น​ด้วย​การ​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา

[แผนที่/ภาพ​หน้า 4]

มาดากัสการ์ ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​เกาะ​แดง​ใหญ่ เป็น​เกาะ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​อันดับ​สี่​ของ​โลก. ดิน​บน​เกาะ​นี้​เป็น​สี​แดง และ​มี​พืช​และ​สัตว์​หลาก​หลาย​ซึ่ง​พบ​ได้​เฉพาะ​ที่​เกาะ​นี้

[ภาพ​หน้า 5]

เรา​ชื่นชม​ยินดี​ที่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์

[ภาพ​หน้า 5]

การ​เดิน​ทาง​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง