ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณแสดงน้ำใจแบบใด?

คุณแสดงน้ำใจแบบใด?

“ขอ​ให้​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​จง​มี​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เนื่อง​ด้วย​น้ำ​ใจ​ที่​พวก​ท่าน​ได้​แสดง.”—ฟิเล. 25

1. ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ถึง​ประชาคม​ต่าง ๆ เปาโล​กล่าว​ถึง​อะไร​หลาย​ครั้ง?

เมื่อ​เขียน​ถึง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน​ว่า​ท่าน​หวัง​ว่า​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​จะ​พอ​พระทัย​น้ำใจ​ที่​ประชาคม​ต่าง ๆ ได้​แสดง. ตัว​อย่าง​เช่น ท่าน​เขียน​ถึง​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​กาลาเทีย​ว่า “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย ขอ​ให้​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​จง​มี​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เนื่อง​ด้วย​น้ำใจ​ที่​พวก​ท่าน​ได้​แสดง. อาเมน.” (กลา. 6:18) เปาโล​หมาย​ถึง​อะไร​เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ถึง “น้ำใจ​ที่​พวก​ท่าน​ได้​แสดง”?

2, 3. (ก) เมื่อ​เปาโล​ใช้​คำ​ว่า “น้ำใจ” บาง​ครั้ง​ท่าน​หมาย​ถึง​อะไร? (ข) เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​น้ำใจ​ที่​เรา​แสดง?

2 คำ​ว่า “น้ำใจ” ที่​เปาโล​ใช้​ใน​ที่​นี้​หมาย​ถึง​แรง​กระตุ้น​ที่​ทำ​ให้​เรา​พูด​หรือ​ทำ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง. คน​หนึ่ง​อาจ​เป็น​คน​สุภาพ คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น มี​จิตใจ​อ่อนโยน เอื้อเฟื้อ หรือ​พร้อม​จะ​ให้​อภัย. คัมภีร์​ไบเบิล​สนับสนุน​ให้​คน​เรา​มี “ใจ​ที่​สงบเสงี่ยม​และ​อ่อนโยน” และ “มี​อารมณ์​เยือกเย็น.” (1 เป. 3:4; สุภา. 17:27) ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม อีก​คน​หนึ่ง​อาจ​เป็น​คน​ชอบ​พูด​กระทบ​กระเทียบ นิยม​วัตถุ โกรธ​ง่าย หรือ​มี​น้ำใจ​เอกเทศ. ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น บาง​คน​มี​น้ำใจ​ที่​ไม่​สะอาด ไม่​เชื่อ​ฟัง หรือ​แม้​แต่​ขืน​อำนาจ.

3 ด้วย​เหตุ​นั้น เมื่อ​เปาโล​ใช้​วลี​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น “ขอ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​อยู่​กับ​ท่าน​เนื่อง​ด้วย​น้ำใจ​ที่​ท่าน​ได้​แสดง” ท่าน​กำลัง​สนับสนุน​พี่​น้อง​ให้​แสดง​น้ำใจ​ที่​สอดคล้อง​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​และ​บุคลิกภาพ​แบบ​พระ​คริสต์. (2 ติโม. 4:22; อ่าน​โกโลซาย 3:9-12) ใน​ทุก​วัน​นี้ เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​แสดง​น้ำใจ​แบบ​ใด? ฉัน​จะ​แสดง​น้ำใจ​แบบ​ที่​พระเจ้า​ทรง​พอ​พระทัย​ให้​เต็ม​ที่​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? ฉัน​จะ​มี​ส่วน​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ทำ​ให้​น้ำใจ​โดย​รวม​ของ​ประชาคม​ดี​ได้​อย่าง​ไร?’ เพื่อ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​เรื่อง​นี้ ขอ​ให้​นึก​ถึง​ทุ่ง​ทานตะวัน. ดอก​ทานตะวัน​แต่​ละ​ดอก​ที่​มี​สี​สดใส​ช่วย​ทำ​ให้​ทั้ง​ทุ่ง​ดู​งดงาม. เรา​เป็น​เหมือน​กับ “ดอกไม้” ที่​เพิ่ม​ความ​งดงาม​ให้​แก่​ประชาคม​ไหม? แน่นอน เรา​ควร​พยายาม​เป็น​เช่น​นั้น. ตอน​นี้ ขอ​ให้​เรา​มา​ดู​กัน​ว่า​เรา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​จะ​แสดง​น้ำใจ​แบบ​ที่​พระเจ้า​ทรง​พอ​พระทัย.

จง​หลีก​เลี่ยง​น้ำใจ​ของ​โลก

4. “น้ำใจ​ของ​โลก” คือ​อะไร?

4 พระ​คัมภีร์​บอก​เรา​ว่า “เรา​ไม่​ได้​รับ​น้ำใจ​ของ​โลก แต่​ได้​รับ​พระ​วิญญาณ​จาก​พระเจ้า.” (1 โค. 2:12) “น้ำใจ​ของ​โลก” คือ​อะไร? น้ำใจ​ของ​โลก​คือ​น้ำใจ​อย่าง​เดียว​กับ​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​ใน​เอเฟโซส์ 2:2 ที่​ว่า “พวก​ท่าน​เคย​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​อย่าง​คน​ใน​โลก​ยุค​นี้ ตาม​ผู้​ครอง​อำนาจ​เหนือ​น้ำใจ​ของ​โลก​ที่​แทรกซึม​อยู่​ทุก​หน​ทุก​แห่ง​เหมือน​อากาศ​ซึ่ง​ขณะ​นี้​ดำเนิน​งาน​อยู่​ใน​คน [“ลูก​ทั้ง​หลาย,” เชิงอรรถ] ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง.” น้ำใจ​หรือ​ทัศนคติ​ของ​โลก​มี​อยู่​รอบ​ตัว​เรา​เหมือน​กับ​อากาศ​และ​มี​อยู่​ทั่ว​ทุก​หน​แห่ง. บ่อย​ครั้ง​เรา​เห็น​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​ทัศนคติ​ที่​ว่า ‘ไม่​ต้อง​มา​บอก​ว่า​ฉัน​ควร​ทำ​อะไร!’ หรือ ‘คุณ​ต้อง​สู้​เพื่อ​รักษา​สิทธิ์​ของ​คุณ!’ พวก​เขา​เป็น “ลูก​ทั้ง​หลาย​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง” แห่ง​โลก​ของ​ซาตาน.

5. บาง​คน​ใน​ชาติ​อิสราเอล​แสดง​น้ำใจ​ที่​ไม่​ดี​เช่น​ไร?

5 ทัศนคติ​เช่น​นั้น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่. ใน​สมัย​ของ​โมเซ โครา​ต่อ​ต้าน​ผู้​มี​อำนาจ​ใน​ชาติ​อิสราเอล. เขา​มุ่ง​โจมตี​อาโรน​และ​บุตร​ซึ่ง​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​รับใช้​เป็น​ปุโรหิต. เขา​อาจ​เห็น​ข้อ​บกพร่อง​ของ​อาโรน​และ​บุตร. หรือ​เขา​อาจ​ชัก​เหตุ​ผล​ว่า​โมเซ​ให้​สิทธิ​พิเศษ​แก่​พวก​เขา​เพราะ​พวก​เขา​เป็น​ญาติ. ไม่​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เขา​คิด​อย่าง​ไร เห็น​ได้​ชัด​ว่า​โครา​เริ่ม​มอง​สิ่ง​ต่าง ๆ ตาม​มุม​มอง​ของ​มนุษย์ โดย​พูด​ต่อ​ต้าน​คน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​แต่ง​ตั้ง และ​บอก​กับ​พวก​เขา​อย่าง​ไม่​แสดง​ความ​นับถือ​ว่า “ท่าน​ทำ​เกิน​เหตุ​ไป . . . เหตุ​ใด​ท่าน​จึง​ผยอง​ขึ้น​เหนือ​ที่​ประชุม​แห่ง​พระเจ้า.” (อาฤ. 16:3, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ 1971) คล้าย​กัน ดาธาน​กับ​อะบีราม​บ่น​ต่อ​ว่า​โมเซ​โดย​บอก​ว่า​ท่าน​ตั้ง​ตัว​ขึ้น​เป็น​นาย​บังคับ​พวก​เขา. เมื่อ​โมเซ​ให้​คน​ไป​เรียก​พวก​เขา​มา​หา พวก​เขา​ก็​ตอบ​อย่าง​โอหัง​ว่า “เรา​ไม่​ไป.” (อาฤ. 16:12-14) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​พอ​พระทัย​ที่​พวก​เขา​แสดง​น้ำใจ​อย่าง​นี้. พระองค์​ทรง​สังหาร​พวก​ผู้​ขืน​อำนาจ​ทั้ง​หมด.—อาฤ. 16:28-35

6. บาง​คน​ใน​ศตวรรษ​แรก​เผย​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​มี​ทัศนคติ​ที่​ไม่​ดี​อย่าง​ไร และ​อะไร​อาจ​เป็น​สาเหตุ?

6 บาง​คน​ใน​ศตวรรษ​แรก “ไม่​นับถือ​ผู้​ทำ​หน้า​ที่​ปกครอง” ด้วย โดย​วิพากษ์วิจารณ์​คน​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ให้​มี​อำนาจ​ใน​ประชาคม. (ยูดา 8) คน​เหล่า​นี้​คง​ไม่​พอ​ใจ​กับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ตน​เอง​มี​อยู่​และ​พยายาม​ชัก​นำ​คน​อื่น ๆ ให้​ต่อ​ต้าน​ผู้​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ซึ่ง​กำลัง​ทำ​หน้า​ที่​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​จาก​พระเจ้า​อย่าง​ดี​ที่​สุด.—อ่าน 3 โยฮัน 9, 10

7. เรา​ควร​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​มี​น้ำใจ​เช่น​ไร?

7 น้ำใจ​เช่น​นั้น​ไม่​ควร​มี​อยู่​ใน​ประชาคม​คริสเตียน ดัง​นั้น เรา​ทุก​คน​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ให้​น้ำใจ​แบบ​นี้​เกิด​ขึ้น. ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ใน​สมัย​ของ​โมเซ​และ​ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​โยฮัน. ผู้​ปกครอง​อาจ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ผิด​พลาด​ซึ่ง​มี​ผล​ต่อ​เรา​เป็น​ส่วน​ตัว. ถ้า​เกิด​เหตุ​การณ์​เช่น​นั้น เรา​ไม่​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​แบบ​เดียว​กับ​ผู้​คน​ใน​โลก​ที่​เรียก​ร้อง “ความ​ยุติธรรม” หรือ​เรียก​ร้อง​ให้ “จัด​การ​กับ​ผู้​ปกครอง​คน​นี้”! พระ​ยะโฮวา​อาจ​เลือก​ที่​จะ​มอง​ข้าม​ข้อ​บกพร่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ บาง​อย่าง. เรา​จะ​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น​ไม่​ได้​หรือ? เนื่อง​จาก​บาง​คน​ที่​ทำ​ผิด​ร้ายแรง​มอง​ว่า​ผู้​ปกครอง​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ช่วย​เขา​มี​ข้อ​บกพร่อง พวก​เขา​จึง​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ไป​พบ​คณะ​กรรมการ​ตัดสิน​ความ. นี่​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ผู้​ป่วย​ที่​ไม่​ยอม​เข้า​รับ​การ​รักษา​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เขา​หาย​ป่วย​เพราะ​เขา​ไม่​ชอบ​อะไร​บาง​อย่าง​ใน​ตัว​แพทย์.

8. พระ​คัมภีร์​ข้อ​ใด​ที่​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ทัศนะ​ที่​เหมาะ​สม​ต่อ​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ใน​ประชาคม?

8 เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​น้ำใจ​แบบ​นั้น​ได้​ถ้า​เรา​จำ​ไว้​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​มี “ดาว​เจ็ด​ดวง​ใน​พระ​หัตถ์​ขวา” ของ​พระองค์. “ดาว” เหล่า​นี้​หมาย​ถึง​ผู้​ดู​แล​ที่​เป็น​ผู้​ถูก​เจิม​และ​ยัง​หมาย​ถึง​ผู้​ปกครอง​ทั้ง​หมด​ใน​ประชาคม​ต่าง ๆ. พระ​เยซู​สามารถ​ชี้​นำ “ดาว” ที่​อยู่​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระองค์​ให้​ทำ​อะไร​ก็​ตาม​ที่​ทรง​เห็น​ว่า​สม​ควร. (วิ. 1:16, 20) ด้วย​เหตุ​นั้น ใน​ฐานะ​ประมุข​ของ​ประชาคม​คริสเตียน พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ดี​ว่า​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​ใน​หมู่​ผู้​ปกครอง. ถ้า​มี​บาง​คน​ใน​คณะ​ผู้​ปกครอง​จำเป็น​จริง ๆ ที่​ต้อง​ได้​รับ​การ​แก้ไข พระองค์​ผู้​มี ‘พระ​เนตร​ดุจ​เปลว​ไฟ’ จะ​ทรง​จัด​การ​ให้​เขา​ได้​รับ​การ​แก้ไข​ตาม​เวลา​และ​วิธี​ของ​พระองค์​เอง​อย่าง​แน่นอน. (วิ. 1:14) ใน​ระหว่าง​นี้ เรา​ควร​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​เหมาะ​สม​ต่อ​ผู้​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ เพราะ​เปาโล​เขียน​ว่า “จง​เชื่อ​ฟัง​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​และ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พวก​เขา เพราะ​คน​เหล่า​นั้น​คอย​ดู​แล​พวก​ท่าน​เหมือน​เป็น​ผู้​ที่​ต้อง​ถวาย​รายงาน เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ดู​แล​พวก​ท่าน​ด้วย​ความ​ยินดี ไม่​ใช่​ด้วย​การ​ทอด​ถอน​ใจ​ซึ่ง​จะ​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​พวก​ท่าน.”—ฮีบรู 13:17

การ​ใคร่ครวญ​บทบาท​ของ​พระ​เยซู​ส่ง​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​วิธี​ที่​คุณ​ตอบ​สนอง​ต่อ​คำ​แนะ​นำ?

9. (ก) คริสเตียน​อาจ​ถูก​ทดสอบ​เช่น​ไร​ถ้า​เขา​ถูก​ว่า​กล่าว​แก้ไข​หรือ​ถูก​ตี​สอน? (ข) เรา​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​ถูก​ว่า​กล่าว​แก้ไข?

9 นอก​จาก​นั้น น้ำใจ​ของ​คริสเตียน​ยัง​อาจ​ถูก​ทดสอบ​ถ้า​เขา​ถูก​ว่า​กล่าว​แก้ไข​หรือ​สูญ​เสีย​สิทธิ​พิเศษ​ใน​ประชาคม. พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​จาก​ผู้​ปกครอง​เกี่ยว​กับ​การ​เล่น​วิดีโอ​เกม​ที่​รุนแรง. น่า​เสียดาย เขา​ไม่​ยอม​รับ​คำ​แนะ​นำ​และ​ต้อง​ถูก​ถอด​จาก​การ​เป็น​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​เนื่อง​จาก​เขา​ไม่​บรรลุ​คุณสมบัติ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​อีก​ต่อ​ไป. (เพลง. 11:5; 1 ติโม. 3:8-10) ใน​เวลา​ต่อ​มา พี่​น้อง​ชาย​คน​นี้​บอก​คน​อื่น ๆ ว่า​เขา​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​การ​ตัดสิน​ของ​ผู้​ปกครอง. เขา​ถึง​กับ​เขียน​จดหมาย​หลาย​ฉบับ​ไป​ถึง​สำนักงาน​สาขา​วิพากษ์วิจารณ์​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม. เขา​ยัง​พยายาม​โน้ม​น้าว​คน​อื่น​ใน​ประชาคม​ให้​เขียน​จดหมาย​ถึง​สำนักงาน​สาขา​ด้วย. แต่​ที่​แท้​แล้ว​การ​พยายาม​หา​ข้อ​แก้​ตัว​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​ตน​ไม่​ผิด​จะ​ทำลาย​สันติ​สุข​ของ​ทั้ง​ประชาคม​และ​ไม่​ทำ​ให้​ใคร​ได้​รับ​ประโยชน์. นับ​ว่า​ดี​กว่า​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​มอง​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ว่า​เป็น​วิธี​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​มอง​เห็น​ข้อ​อ่อนแอ​ที่​เรา​ไม่​รู้​ตัว​แล้ว​ยอม​รับ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​นั้น.—อ่าน​บทเพลง​ร้อง​ทุกข์​ของ​ยิระมะยา 3:28, 29

10. (ก) ยาโกโบ 3:16-18 บอก​ให้​เรา​ทราบ​อะไร​เกี่ยว​กับ​น้ำใจ​ที่​ดี​และ​ที่​ไม่​ดี? (ข) การ​แสดง “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน” ก่อ​ให้​เกิด​ผล​เช่น​ไร?

10 ยาโกโบ 3:16-18 บอก​ให้​เรา​ทราบ​ว่า​น้ำใจ​ที่​ถูก​ต้อง​ที่​ควร​แสดง​ใน​ประชาคม​เป็น​เช่น​ไร และ​น้ำใจ​เช่น​ไร​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง. ข้อ​คัมภีร์​นี้​กล่าว​ว่า “ที่​ใด​มี​ความ​ริษยา​และ​ความ​คิด​ชิง​ดี​ชิง​เด่น ที่​นั่น​ย่อม​มี​ความ​วุ่นวาย​และ​สิ่ง​ชั่ว​ร้าย​ทุก​อย่าง. แต่​สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน​นั้น ประการ​แรก บริสุทธิ์ แล้ว​ก็​ทำ​ให้​มี​สันติ มี​เหตุ​ผล พร้อม​จะ​เชื่อ​ฟัง เปี่ยม​ด้วย​ความ​เมตตา​และ​ผล​อัน​ดี ไม่​ลำเอียง ไม่​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด. อีก​ประการ​หนึ่ง เมล็ด​ที่​เกิด​ผล​แห่ง​ความ​ชอบธรรม​ถูก​หว่าน​ใน​สภาพ​ที่​มี​สันติ​สุข​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ผู้​ที่​สร้าง​สันติ​สุข.” ถ้า​เรา​พยายาม​ทำ​อย่าง​ที่​ประสาน​กับ “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน” เรา​ก็​กำลัง​เลียน​แบบ​คุณลักษณะ​ของ​พระเจ้า. โดย​วิธี​นี้ เรา​ส่ง​เสริม​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​ให้​มี​น้ำใจ​ที่​ดี.

จง​แสดง​ความ​นับถือ​ใน​ประชาคม

11. (ก) ถ้า​เรา​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง เรา​จะ​ไม่​ทำ​อะไร? (ข) เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​ดาวิด?

11 เรา​ควร​จำ​ไว้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ปกครอง​ไว้ “ให้​บำรุง​เลี้ยง​ประชาคม​ของ​พระเจ้า.” (กิจ. 20:28; 1 เป. 5:2) ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ตระหนัก​ว่า​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​นับถือ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระเจ้า ไม่​ว่า​เรา​เป็น​ผู้​ปกครอง​หรือ​ไม่​ก็​ตาม. ถ้า​เรา​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง เรา​จะ​ไม่​ให้​ความ​สำคัญ​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​การ​มี​อำนาจ​หรือ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ. เมื่อ​กษัตริย์​ซาอูล​แห่ง​อิสราเอล​รู้สึก​ว่า​ดาวิด​เริ่ม​เป็น​ภัย​คุกคาม​ต่อ​ตำแหน่ง​กษัตริย์​ของ​ตน ซาอูล “ไม่​ไว้​ใจ, ก็​คอย​ระวัง​ดู​ดาวิด.” (1 ซามู. 18:9) ซาอูล​บ่ม​เพาะ​น้ำใจ​ที่​ไม่​ดี​และ​ถึง​กับ​ต้องการ​ฆ่า​ดาวิด. แทน​ที่​จะ​เป็น​ห่วง​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​ฐานะ​ตำแหน่ง​เหมือน​กับ​ซาอูล นับ​ว่า​ดี​กว่า​มาก​ที่​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​ดาวิด. แม้​ว่า​ดาวิด​ประสบ​ความ​อยุติธรรม​มาก​มาย ชาย​หนุ่ม​ผู้​นี้​ยัง​คง​นับถือ​ผู้​ที่​พระเจ้า​ทรง​แต่ง​ตั้ง​อยู่​เสมอ.—อ่าน 1 ซามูเอล 26:23

12. เรา​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วย​รักษา​เอกภาพ​ของ​ประชาคม?

12 การ​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​แตกต่าง​กัน​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขุ่นเคือง​ขึ้น​ได้​ใน​ประชาคม แม้​แต่​ใน​หมู่​ผู้​ปกครอง. คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ใน​เรื่อง​นี้: “จง​นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​เกียรติ​กัน” และ “อย่า​ถือ​ว่า​ตัว​ฉลาด.” (โรม 12:10, 16) แทน​ที่​จะ​ยืนกราน​ว่า​เรา​เป็น​ฝ่าย​ถูก เรา​ควร​ยอม​รับ​ว่า​บ่อย​ครั้ง​มี​วิธี​คิด​ที่​ถูก​ต้อง​มาก​กว่า​หนึ่ง​วิธี. ถ้า​เรา​พยายาม​เข้าใจ​ทัศนะ​ของ​คน​อื่น เรา​ก็​จะ​มี​ส่วน​ใน​การ​ทำ​ให้​ประชาคม​มี​เอกภาพ.—ฟิลิป. 4:5

13. เรา​ควร​มอง​ความ​คิด​เห็น​ของ​เรา​เอง​อย่าง​ไร และ​มี​ตัว​อย่าง​อะไร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ช่วย​เรา​ใน​เรื่อง​นี้?

13 นี่​หมาย​ความ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ผิด​ไหม​ที่​จะ​เสนอ​ความ​คิด​เห็น​ถ้า​เรา​เห็น​ว่า​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ใน​ประชาคม​ที่​เรา​คิด​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน? ไม่. ใน​ศตวรรษ​แรก มี​ประเด็น​หนึ่ง​เกิด​ขึ้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​มาก. เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​และ​พี่​น้อง​บาง​คน “ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ขึ้น​ไป​หา​อัครสาวก​และ​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​ที่​โต้​เถียง​กัน​นี้.” (กิจ. 15:2) ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​พี่​น้อง​เหล่า​นี้​แต่​ละ​คน​ต่าง​ก็​มี​ความ​คิด​เห็น​ว่า​ควร​จัด​การ​เรื่อง​ดัง​กล่าว​อย่าง​ไร. แต่​หลัง​จาก​ที่​แต่​ละ​คน​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ของ​ตน​ออก​มา​และ​มี​การ​ตัดสิน​โดย​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ พี่​น้อง​เหล่า​นี้​ก็​ไม่​พูด​ถึง​ความ​คิด​เห็น​ของ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป. เมื่อ​จดหมาย​ที่​แจ้ง​เรื่อง​การ​ตัดสิน​ดัง​กล่าว​ไป​ถึง​ประชาคม​ต่าง ๆ พวก​เขา “ต่าง​ก็​ชื่นชม​ยินดี​เนื่อง​จาก​การ​หนุน​กำลังใจ​นั้น” และ “มี​ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง.” (กิจ. 15:31; 16:4, 5) ใน​ทุก​วัน​นี้​ก็​เช่น​เดียว​กัน หลัง​จาก​ที่​เรา​พูด​กับ​ผู้​ปกครอง​ถึง​เรื่อง​ที่​เรา​เป็น​ห่วง​แล้ว เรา​ควร​ไว้​วางใจ​ว่า​พวก​เขา​จะ​พิจารณา​เรื่อง​นั้น​อย่าง​รอบคอบ​และ​ตัดสิน​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​หรือ​ไม่.

จง​แสดง​น้ำใจ​ที่​ดี​ใน​ความ​สัมพันธ์​ส่วน​ตัว

14. เรา​จะ​แสดง​น้ำใจ​ที่​ดี​ใน​ความ​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​คน​อื่น​ได้​อย่าง​ไร?

14 ใน​ความ​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​คน​อื่น ๆ มี​หลาย​โอกาส​ที่​เรา​จะ​แสดง​น้ำใจ​ที่​ดี​ได้. ถ้า​เรา​แต่​ละ​คน​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​เมื่อ​คน​อื่น​ทำ​ให้​เรา​ขุ่นเคือง เรา​สามารถ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​ที่​ดี​ได้​มาก. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​บอก​เรา​ว่า “จง​ทน​กัน​และ​กัน​เรื่อย​ไป​และ​ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ถ้า​ใคร​มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า​ผู้​อื่น. พระ​ยะโฮวา​เต็ม​พระทัย​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่าง​ไร ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​จง​ทำ​อย่าง​นั้น.” (โกโล. 3:13) วลี “ถ้า​ใคร​มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า​ผู้​อื่น” แสดง​ว่า​อาจ​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร​ที่​จะ​ขุ่นเคือง​คน​อื่น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แทน​ที่​จะ​เป็น​ห่วง​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​ข้อ​บกพร่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ และ​ทำลาย​สันติ​สุข​ของ​ประชาคม เรา​พยายาม​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​และ​ให้​อภัย​อย่าง​ใจ​กว้าง และ​รับใช้​ร่วม​กัน​ต่อ ๆ ไป.

15. (ก) เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​โยบ​ใน​เรื่อง​การ​ให้​อภัย? (ข) การ​อธิษฐาน​จะ​ช่วย​เรา​ให้​แสดง​น้ำใจ​ที่​ดี​ได้​อย่าง​ไร?

15 เรา​อาจ​เรียน​รู้​ใน​เรื่อง​การ​ให้​อภัย​ได้​จาก​โยบ. ชาย​สาม​คน​ที่​น่า​จะ​ปลอบโยน​ท่าน​กลับ​พูด​กับ​ท่าน​หลาย​เรื่อง​อย่าง​ไม่​กรุณา. แม้​กระนั้น โยบ​ให้​อภัย​พวก​เขา. โดย​วิธี​ใด? “โยบ​ได้​ลง​มือ​อธิษฐาน​เผื่อ​เหล่า​มิตร​สหาย​ของ​ท่าน.” (โยบ 16:2; 42:10) การ​อธิษฐาน​เพื่อ​คน​อื่น​อาจ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พวก​เขา. การ​อธิษฐาน​เพื่อ​เพื่อน​คริสเตียน​ช่วย​เรา​ให้​พัฒนา​น้ำใจ​แบบ​พระ​คริสต์. (โย. 13:34, 35) นอก​จาก​จะ​อธิษฐาน​เพื่อ​พี่​น้อง​ของ​เรา​แล้ว เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. (ลูกา 11:13) พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​จะ​ช่วย​เรา​ให้​แสดง​คุณลักษณะ​ของ​คริสเตียน​แท้​ใน​การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​คน​อื่น.—อ่าน​กาลาเทีย 5:22, 23

มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​น้ำใจ​ที่​ดี​ใน​องค์การ​ของ​พระเจ้า

16, 17. คุณ​ตั้งใจ​จะ​แสดง​น้ำใจ​เช่น​ไร?

16 ถ้า​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ของ​ประชาคม​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​น้ำใจ​ที่​ดี​ของ​ประชาคม นั่น​ย่อม​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ผล​ที่​น่า​ยินดี​สัก​เพียง​ไร! บทความ​นี้​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​ตั้งใจ​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ทัศนคติ​ของ​คุณ​และ​หนุน​ใจ​คน​อื่น ๆ ได้​มาก​ขึ้น. ถ้า​อย่าง​นั้น เรา​ไม่​ควร​รีรอ​ที่​จะ​ให้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ตรวจ​สอบ​ตัว​เรา​เอง. (ฮีบรู 4:12) เปาโล ซึ่ง​ต้องการ​จะ​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​แก่​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ต่าง ๆ กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ไม่​เห็น​ว่า​ข้าพเจ้า​มี​ความ​ผิด​อะไร. แต่​นี่​ก็​ไม่​ได้​พิสูจน์​ว่า​ข้าพเจ้า​ชอบธรรม เพราะ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​วินิจฉัย​ข้าพเจ้า.”—1 โค. 4:4

17 เมื่อ​เรา​พยายาม​ทำ​อย่าง​สอดคล้อง​กับ​สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน​และ​ไม่​ให้​ความ​สำคัญ​มาก​เกิน​ไป​แก่​ตัว​เรา​เอง​หรือ​ตำแหน่ง​หน้า​ที่ เรา​ก็​จะ​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​น้ำใจ​ที่​ดี​ใน​ประชาคม. ถ้า​เรา​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​และ​มอง​คน​อื่น​ใน​แง่​ดี เรา​จะ​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​สงบ​สุข​กับ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ. (ฟิลิป. 4:8) เมื่อ​เรา​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้​แล้ว เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​จะ​พอ​พระทัย​เรา ‘เนื่อง​ด้วย​น้ำใจ​ที่​เรา​ได้​แสดง.’—ฟิเล. 25