ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ

จงใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ

“จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน.”—ยโก. 4:8

1, 2. (ก) ซาตานพยายามล่อลวงผู้คนอย่างไร? (ข) อะไรจะช่วยเราให้เข้าไปใกล้พระเจ้า?

พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์พร้อมกับความจำเป็นที่พวกเขาต้องมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์. แต่ซาตานต้องการให้เราคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพระยะโฮวา. นั่นเป็นคำโกหกที่ซาตานใช้ตั้งแต่ตอนที่มันล่อลวงฮาวาในสวนเอเดนเพื่อทำให้มนุษย์คิดอย่างนี้. (เย. 3:4-6) ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่ามนุษย์เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า.

2 น่ายินดีที่เราไม่จำเป็นต้องติดกับดักของซาตาน เพราะ “เรารู้อุบายของมัน.” (2 โค. 2:11) ซาตานพยายามทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวาโดยการกระตุ้นให้เราเลือกทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง. แต่ดังที่บทความก่อนแสดงให้เห็น เราสามารถเลือกอย่างถูกต้องในเรื่องงานอาชีพ ความบันเทิง และเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว. บทความนี้จะพิจารณาอีกสี่สิ่งที่ซาตานใช้เพื่อล่อลวงเราคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ เงิน และความหยิ่ง. ถ้าเรามีทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้เราก็จะ “เข้าไปใกล้พระเจ้า” ได้.—ยโก. 4:8

คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

3. คนเราอาจใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในทางใดได้บ้าง?

3 ทั่วโลกมีผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆที่ใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์. เมื่อใช้อย่างเหมาะสม อุปกรณ์เหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์. แต่เมื่อใช้อย่างไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราห่างเหินจากพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์. ขอให้พิจารณาคอมพิวเตอร์. วารสารที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เขียนและพิมพ์โดยใช้คอมพิวเตอร์. คอมพิวเตอร์อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการค้นคว้าและสื่อสาร และยังใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความสนุกเพลิดเพลินได้ด้วย. แต่ถ้าเราชอบคอมพิวเตอร์มากๆ เราอาจใช้เวลากับมันมากเกินไป. นักการตลาดมีวิธีการอันแยบยลที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่าพวกเขาต้องมี เครื่องรุ่นใหม่ล่าสุด. ชายหนุ่มคนหนึ่งอยากได้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากจนถึงกับแอบขายไตข้างหนึ่งเพื่อจะซื้อได้. น่าเศร้าจริงๆที่เขาทำอย่างนั้น!

4. พี่น้องชายคนหนึ่งแก้นิสัยที่ไม่ดีในการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปอย่างไร?

 4 เป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกที่จะปล่อยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำลายสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา. คริสเตียนคนหนึ่งชื่อจอนซึ่งอายุเกือบ 30 ปีกล่าวว่า เขาใช้เวลามากเกินไปกับคอมพิวเตอร์แทนที่จะเอาใจใส่การศึกษาพระคัมภีร์. * เขามักเล่นอินเทอร์เน็ตจนดึกดื่นค่อนคืน. เขาบอกว่ายิ่งเหนื่อยก็ยิ่งยากที่เขาจะเลิกแช็ตหรือเลิกดูคลิปวิดีโอ ซึ่งก็ไม่ใช่คลิปที่ดีเสมอไป. เพื่อจะแก้นิสัยที่ไม่ดีนี้ จอนตั้งคอมพิวเตอร์ให้ปิดโดยอัตโนมัติเมื่อถึงเวลาที่เขาควรเข้านอน.—อ่านเอเฟโซส์ 5:15, 16

พ่อแม่ทั้งหลาย จงช่วยลูกของคุณให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างฉลาดสุขุม

5, 6. (ก) พ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบอะไร? (ข) พ่อแม่ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ลูกมีการคบหาสมาคมที่ดี?

5 พ่อแม่ทั้งหลาย คุณไม่จำเป็นต้องควบคุมลูกทุกฝีก้าว แต่คุณจำเป็นต้องควบคุมวิธีที่ลูกใช้คอมพิวเตอร์. อย่าปล่อยให้พวกเขาเข้าเว็บไซต์ที่ผิดศีลธรรมหรือที่เกี่ยวกับผีปิศาจ เล่นเกมที่รุนแรง หรือคบหาสมาคมกับคนที่ไม่ดีทางอินเทอร์เน็ต. ถ้าคุณปล่อยให้ลูกทำสิ่งที่เขาอยากทำเพียงเพื่อไม่ให้เขามารบกวนคุณ เขาอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ผิด. ในฐานะพ่อแม่ คุณมีหน้าที่ปกป้องลูกทั้งที่ยังเล็กอยู่และลูกที่เป็นวัยรุ่นให้พ้นจากสิ่งใดก็ตามที่อาจทำให้พวกเขาห่างเหินจากพระยะโฮวา. แม้แต่สัตว์ก็ยังปกป้องลูกของมันให้พ้นจากอันตราย. ขอให้นึกภาพว่าแม่หมีจะทำอะไรถ้ามีใครมาทำอันตรายลูกของมัน!—เทียบกับโฮเซอา 13:8

6 จงช่วยลูกของคุณให้คบหาสมาคมกับคริสเตียนทุกวัยที่เป็นแบบอย่างที่ดี. และจำไว้ว่าลูกต้องการให้คุณ ใช้เวลากับพวกเขา! ดังนั้น จงจัด เวลาไว้เพื่อจะหัวเราะ เล่น และทำงานด้วยกัน. การทำอย่างนี้ช่วยทุกคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ. *

สุขภาพ

7. ทำไมเราทุกคนพยายามรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ?

7 “สบายดีไหม?” การที่เราถามกันอย่างนี้เพราะคนเรามักเจ็บป่วย. ผู้คนเจ็บป่วยเสมอมานับตั้งแต่อาดามและฮาวาทำตามซาตานและแยกตัวจากพระยะโฮวา. ซาตานชอบที่เราป่วย เพราะเมื่อเราป่วย เราจะรับใช้พระยะโฮวาได้ยากขึ้น. และถ้าเราตาย เราก็จะรับใช้พระองค์ไม่ได้เลย. (เพลง. 115:17) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะพยายามรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ. * และเราควรเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพของพี่น้องของเรา.

8, 9. (ก) เราจะหลีกเลี่ยงการเน้นมากเกินไปในเรื่องสุขภาพได้อย่างไร? (ข) ทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่เราจะรักษาความยินดีไว้เสมอ?

8 อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรคิดและสนใจแต่เรื่องสุขภาพของเรา. บางคนใช้เวลาในการพูดถึงเรื่องอาหาร การรักษาสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ และเสริมความงามมากยิ่งกว่าการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. พวกเขาอาจทำด้วยความจริงใจเพื่อคนอื่นๆ. แต่แม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น นับว่าไม่เหมาะที่จะโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก่อนหรือหลังการประชุมทั้งที่หอประชุมราชอาณาจักรและในการประชุมใหญ่. ทำไมไม่ควรทำอย่างนั้น?

9 เราประชุมกันเพื่อพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลและเพื่อจะได้รับความยินดีที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (กลา. 5:22) จุดประสงค์ของการประชุมไม่ใช่เพื่อพูดคุยกันเรื่องการรักษาสุขภาพและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ ถึงแม้ว่ามีใครอยากให้เราคุยเรื่องนี้ก็ตาม. เราอาจทำให้คนอื่นหมดความยินดีได้. (โรม 14:17) แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเขาจะดูแลสุขภาพของตนอย่างไร. นอกจากนั้น ไม่มีใครสามารถรักษาโรคทุกโรคได้ แม้แต่คนที่เป็นหมอ. และการกังวลมากเกินไปในเรื่องสุขภาพก็ไม่ได้ช่วยยืดชีวิตให้ยาวขึ้น. (ลูกา 12:25) ในทางตรงกันข้าม “ใจที่ร่าเริงเป็นเหมือนโอสถวิเศษ.”—สุภา. 17:22

10. (ก) ในทัศนะของพระยะโฮวา อะไรทำให้คนเราสวยงาม? (ข) เราจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์เมื่อไร?

10 ในทำนองเดียวกัน เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะเป็นห่วงเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเรา. แต่เราไม่จำเป็นต้องพยายามมากเกินไปที่จะขจัดร่องรอยทุกอย่างที่มาพร้อมกับวัย. ร่องรอยเหล่านั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ ความสง่าผ่าเผย และความงามภายใน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม.” (สุภา. 16:31) พระยะโฮวาทรงมองว่าสิ่งที่อยู่ในภายในเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่ารูปร่างหน้าตา และเราควรมองอย่างนั้นด้วย. (อ่าน 1 เปโตร 3:3, 4) ดังนั้น การเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพหรือเสียชีวิตด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่งหรือรับการรักษาบางอย่างเพียงเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้นเป็นเรื่องฉลาดไหม? ไม่ว่าเราอายุเท่าไรหรือสุขภาพเป็นอย่างไร ความงามที่แท้จริงมาจากการมี “ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวา.” (นเฮม. 8:10) ในโลกใหม่ เราจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์และดูเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้งหนึ่ง. (โยบ 33:25; ยซา. 33:24) จนกว่าจะถึงตอนนั้น เราต้องเลือกอย่างฉลาดสุขุมและเชื่อในคำสัญญาของพระยะโฮวา. นั่นจะช่วยเราให้มีความสุขกับชีวิตในเวลานี้และไม่เป็นห่วงมากเกินไปในเรื่องสุขภาพของเรา.—1 ติโม. 4:8

เงิน

11. เงินอาจทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?

11 ไม่ผิดที่จะมีเงินหรือพยายามหาเงินด้วยวิธีที่สุจริต. (ผู้ป. 7:12; ลูกา 19:12, 13) แต่ถ้าเราเป็นคนรักเงิน นั่นจะทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวาอย่างแน่นอน. (1 ติโม. 6:9, 10) “ความวิตกกังวลกับชีวิตในยุคนี้” ซึ่งหมายถึงการเป็นห่วงมากเกินไปเกี่ยวกับการมีสิ่งจำเป็นในชีวิต อาจทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวา. “อำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ” ซึ่งก็คือการเชื่ออย่างผิดๆว่าความมั่งคั่งร่ำรวยจะทำให้คนเรามีความสุขและมั่นคงปลอดภัย ก็อาจทำให้เราห่างเหินจากพระเจ้าได้ด้วย. (มัด. 13:22) พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีใคร” เป็นทาสของพระเจ้าและของทรัพย์สมบัติได้.—มัด. 6:24

12. บางคนพยายามหาเงินให้ได้มากๆอย่างรวดเร็วด้วยวิธีใด และเราจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจอย่างผิดๆได้อย่างไร?

12 ถ้าเราคิดว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราอาจถูกล่อใจให้ทำผิด. (สุภา. 28:20) บางคนต้องการหาเงินได้มากๆอย่างรวดเร็ว เขาจึงถูกล่อใจให้ซื้อลอตเตอรี่. พี่น้องบางคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจที่เขาคิดว่าจะทำเงินได้อย่างรวดเร็ว และถึงกับชักชวนคนอื่นๆในประชาคมให้ร่วมทำธุรกิจนั้นด้วย. บางครั้ง พี่น้องบางคนขอกู้ยืมเงินจากพี่น้องในประชาคมไปทำธุรกิจโดยสัญญาว่าจะจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยอย่างงาม. ถ้าเราโลภ เราอาจตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจที่อาจทำให้เราสูญเสียเงินจำนวนมาก. ดังนั้น ระวังอย่าโลภ. ตามปกติแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้เงินมากๆอย่างรวดเร็ว.

13. ทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องเงินแตกต่างอย่างไรกับทัศนะของผู้คนในโลก?

 13 เมื่อเราให้ “ราชอาณาจักรและความชอบธรรม” เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก พระยะโฮวาจะทรงอวยพรการทำงานหนักของเราเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นในชีวิต. (มัด. 6:33; เอเฟ. 4:28) พระองค์ไม่ต้องการให้เราหลับระหว่างการประชุมเพราะเหนื่อยจากการทำงานหนักเกินไป. พระองค์ไม่ต้องการให้เราห่วงกังวลมากเกินไปในเรื่องเงินขณะอยู่ที่หอประชุมราชอาณาจักร. ผู้คนในโลกเชื่อว่าพวกเขาต้องทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อหาเงินให้ได้มากๆจึงจะมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่มั่นคงและสบายในบั้นปลายชีวิต. พวกเขามักผลักดันให้ลูกทำตามเป้าหมายด้านวัตถุแบบเดียวกับเขา. แต่พระเยซูแสดงให้เห็นว่าการทำอย่างนั้นไม่ฉลาด. (อ่านลูกา 12:15-21) เรื่องนี้อาจทำให้เรานึกถึงเฆฮะซีที่คิดว่าเขาสามารถเป็นคนโลภและยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาได้.—2 กษัต. 5:20-27

14, 15. ทำไมจึงไม่ฉลาดที่จะคิดว่าเงินจะทำให้ชีวิตเรามั่นคง? จงยกตัวอย่าง.

14 มีรายงานว่านกอินทรีบางตัวจมน้ำตายเพราะไม่ยอมปล่อยปลาที่หนักเกินไป. อาจเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้กับเราได้ถ้าเราพยายามจะเป็นคนร่ำรวย. ผู้ปกครองคนหนึ่งที่ชื่ออเล็กซ์เล่าว่า “ปกติแล้วผมเป็นคนประหยัด. ถ้าผมเทแชมพูมากเกินไป ผมก็จะเทบางส่วนคืนใส่ขวด.” แต่อเล็กซ์คิดว่าถ้าเขาหาเงินได้มากๆเขาก็จะไม่ต้องทำงานและเป็นไพโอเนียร์ได้. เขาจึงศึกษาวิธีซื้อขายหุ้นและเอาเงินทั้งหมดที่เขามีอยู่ไปซื้อหุ้น. เขาถึงกับกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อหุ้นเพิ่มด้วย! แต่หุ้นที่เขาซื้อราคาตกอย่างมาก. อเล็กซ์บอกว่า “ผมตั้งใจว่าจะเอาเงินของผมกลับคืนมาให้ได้.” เขาคิดว่าถ้าเขารออีกสักหน่อยมูลค่าของหุ้นอาจสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.

15 เป็นเวลาหลายเดือนที่อเล็กซ์แทบจะไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลยนอกจากเรื่องหุ้น. เขารู้สึกว่ายากที่จะให้การรับใช้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก และนอนไม่ค่อยหลับ. แต่ราคาหุ้นก็ไม่เคยสูงขึ้นเลย. อเล็กซ์สูญเงินทั้งหมดของเขาและต้องขายบ้าน. เขายอมรับว่าเขาทำให้ครอบครัวเดือดร้อนมาก. แต่เขาได้บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่ง. เขากล่าวว่า “ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าใครก็ตามที่ไว้วางใจระบบของซาตานจะผิดหวังอย่างมาก.” (สุภา. 11:28) ที่จริง การฝากความหวังไว้กับเงินหรือความสามารถของเราในการหาเงินก็เท่ากับเรากำลังฝากความหวังไว้กับซาตาน “พระเจ้าของยุคนี้.” (2 โค. 4:4; 1 ติโม. 6:17) เดี๋ยวนี้อเล็กซ์ได้ปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อจะใช้เวลามากขึ้นในการประกาศข่าวดีได้. นั่นทำให้เขากับครอบครัวมีความสุขมากขึ้นและช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น.—อ่านมาระโก 10:29, 30

ความหยิ่ง

16. เราควรภูมิใจในเรื่องใด แต่เราต้องระวังในเรื่องใด?

16 เราควรภูมิใจที่เป็นพยานของพระยะโฮวา. (ยิระ. 9:24) เพราะเราภูมิใจอย่างนี้ เราจึงพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องและทำตามมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้า. แต่เราต้องระวังที่จะไม่กลายเป็นคนหยิ่งยโสและคิดว่าเรารู้ดีกว่าพระยะโฮวา เพราะนั่นจะทำให้เราห่างเหินจากพระองค์ได้.—เพลง. 138:6; โรม 12:3

แทนที่จะคิดมากเกินไปในเรื่องฐานะตำแหน่งในประชาคม จงมีความสุขกับงานรับใช้ของคุณ!

17, 18. (ก) จงยกตัวอย่างของคนถ่อมและคนหยิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง. (ข) พี่น้องชายคนหนึ่งทำอะไรเพื่อจะไม่ให้ความหยิ่งทำให้เขาห่างเหินจากพระยะโฮวา?

17 คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของหลายคนที่เป็นคนหยิ่งและหลายคนที่เป็นคนถ่อม. กษัตริย์ดาวิดขอการชี้นำจากพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจ และพระยะโฮวาทรงอวยพรท่าน. (เพลง. 131:1-3) แต่พระยะโฮวาทรงลงโทษกษัตริย์นะบูคัดเนซัรและกษัตริย์เบละซาซัรเพราะความหยิ่งของพวกเขา. (ดานิ. 4:30-37; 5:22-30) บางครั้งเราอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทดสอบว่าเราเป็นคนถ่อมหรือไม่. ไรอัน ซึ่งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ที่อายุ 32 ปี ได้ย้ายไปอยู่ประชาคมใหม่. ไรอันเล่าว่า “ผมคาดหมายว่าไม่นานผมจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง แต่หนึ่งปีผ่านไปก็ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น.” ไรอันจะโกรธและรู้สึกว่าผู้ปกครองไม่ให้เกียรติเขาอย่างที่เขาควรจะได้รับไหม? เขาจะเลิกเข้าร่วมการประชุม และปล่อยให้ความหยิ่งทำให้เขาห่างเหินจากพระยะโฮวาและพี่น้องในประชาคมไหม? ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร?

18 ไรอันค้นคว้าจากสรรพหนังสือของเราเกี่ยวกับการอดทนรอขณะที่ยังไม่ได้รับสิทธิพิเศษ. (สุภา. 13:12) “แล้วผมก็คิดได้ว่าผมต้องเรียนรู้ที่จะอดทนและถ่อมใจ. ผมต้องถ่อมใจให้พระยะโฮวาฝึกสอนผม.” ไรอันเริ่มคิดมากขึ้นเรื่องการช่วยคนอื่นทั้งในประชาคมและในเขตประกาศ. ไม่นานเขาก็นำการศึกษาพระคัมภีร์หลายรายที่ก้าวหน้าเป็นอย่างดี. เขากล่าวว่า “หลังจากนั้นปีครึ่งผมรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง. ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะกำลังเพลินอยู่กับงานรับใช้.”—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 37:3, 4

จงใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ!

19, 20. (ก) เราจะไม่ให้สิ่งต่างๆที่เราได้เรียนในสองบทความนี้ทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวาได้อย่างไร? (ข) เราจะเลียนแบบอย่างของใครได้บ้างที่รักษาสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ?

19 เรื่องทั้งหมดที่เราพิจารณาในบทความนี้และบทความก่อนช่วยเราให้มีทัศนะที่ถูกต้อง. เราภูมิใจที่เป็นพยานของพระยะโฮวา. การมีครอบครัวที่มีความสุขและสุขภาพดีเป็นพระพรอย่างมากจากพระยะโฮวา. งานอาชีพและเงินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะดูแลตัวเองและครอบครัวได้. นันทนาการทำให้เราสดชื่นและเราอาจใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง. แต่เราต้องจำไว้ว่าถ้าเราทำเรื่องเหล่านี้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ใช้เวลามากเกินไป หรือทำอย่างไม่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ นั่นอาจทำให้เราห่างเหินจากพระยะโฮวาได้.

อย่าปล่อยให้สิ่งใดทำให้คุณห่างเหินจากพระยะโฮวา!

20 ซาตานต้องการทำให้คุณห่างเหินจากพระยะโฮวา. ถึงกระนั้น คุณสามารถป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้! (สุภา. 22:3) จงเข้าไปใกล้พระยะโฮวาและรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ไว้เสมอ. มีตัวอย่างของหลายคนในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำอย่างนี้. ฮะโนคและโนอาห์ “ดำเนินกับพระเจ้า.” (เย. 5:22; 6:9) โมเซ “ยืนหยัดมั่นคงต่อๆไปเสมือนเห็นพระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (ฮีบรู 11:27) พระเยซูได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงทำสิ่งที่พระบิดาพอพระทัยอยู่เสมอ. (โย. 8:29) จงเลียนแบบตัวอย่างเหล่านี้. “จงชื่นชมยินดีเสมอ. จงอธิษฐานไม่หยุดหย่อน. จงขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่ง.” (1 เทส. 5:16-18) และอย่าปล่อยให้สิ่งใดทำให้คุณห่างเหินจากพระยะโฮวา!

^ วรรค 4 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ

^ วรรค 6 โปรดดูบทความ “เลี้ยงลูกให้รู้จักรับผิดชอบ” ในตื่นเถิด! ตุลาคม 2011.

^ วรรค 7 โปรดดูบทความ “ข้อแนะห้าประการเพื่อสุขภาพที่ดี” ในตื่นเถิด! มีนาคม 2011.