ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระเยซูชี้ทางสู่ชีวิตที่มีความหมาย

พระเยซูชี้ทางสู่ชีวิตที่มีความหมาย

“ดำเนินชีวิตอย่างที่พระเยซูได้ทรงดำเนิน.”—1 โยฮัน 2:6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

ดังที่เราพิจารณาในบทความก่อน พระเยซูทรงมีชีวิตที่มีความหมาย. ถ้าเราอยากให้ชีวิตของเรามีความหมาย เราก็ควรทำตามตัวอย่างของพระเยซูและฟังคำแนะนำของพระองค์.

ที่จริง พระยะโฮวาทรงแนะให้เราทำอย่างที่กล่าวในข้อคัมภีร์ข้างต้น. การดำเนินชีวิตอย่างที่พระเยซูทรงดำเนินหมายถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางชีวิตทั้งสิ้นของเราให้สอดคล้องกับแบบอย่างและคำสอนของพระองค์. แนวทางชีวิตเช่นนั้นจะทำให้เราได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าและชีวิตของเราจะมีความหมาย.

ในคำสอนของพระเยซูมีหลักการหลายข้อที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตแบบเดียวกับพระองค์. เราจะพบหลักการเหล่านี้ในคำเทศน์บนภูเขาอันลือชื่อของพระองค์. ให้เรามาพิจารณาบางหลักการด้วยกันและดูว่าจะนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร.

หลักการ: “ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณก็มีความสุข.”—มัดธาย 5:3

หลักการข้อนี้ช่วยให้ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร?

พระเยซูทรงชี้ว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการอยู่ลึกๆที่จะรู้จักพระเจ้า. เราอยากรู้คำตอบเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ เช่น เราเกิดมาทำไม? ทำไมโลกนี้จึงมีความทุกข์มากเหลือเกิน? พระเจ้าทรงรักและห่วงใยเราจริงๆไหม? ชีวิตหลังความตายมีไหม? เราจำเป็นต้องรู้คำตอบเพื่อจะมีชีวิตที่มีความหมาย. พระเยซูทรงรู้ว่ามีแหล่งที่เชื่อถือได้เพียงแหล่งเดียวเท่านั้นที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ นั่นคือ พระคำของพระเจ้า. พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานถึงพระบิดาของพระองค์ว่า “คำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17) พระคำของพระเจ้าจะช่วยให้เรารู้จักพระเจ้าและมีความสุขได้จริงๆไหม?

ตัวอย่างชีวิตจริง:

เอซา เป็นนักร้องนำในวงดนตรีที่มีชื่อเสียงและเขากำลังจะกลายเป็นนักร้องเพลงร็อกที่โด่งดัง. ถึงอย่างนั้น เอซารู้สึกว่าชีวิตยังขาดอะไรบางอย่าง. เขาพูดว่า “แม้ผมจะมีความสุขที่ได้อยู่ในวงดนตรีร็อก แต่ผมอยากมีชีวิตที่มีความหมายมากกว่านี้.” ต่อมา เอซาได้รู้จักกับพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. เอซายอมรับว่า “ผมจึงระดมคำถามใส่เขามากมาย. คำตอบที่มีเหตุผลซึ่งมาจากคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นความสนใจของผม และทำให้ผมตกลงใจศึกษาพระคัมภีร์กับเขา.” เมื่อได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เอซาประทับใจมากและสิ่งที่ได้เรียนรู้กระตุ้นเขาให้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา. เขากล่าวว่า “เมื่อก่อนชีวิตผมมีแต่ปัญหาและเรื่องเดือดร้อนอยู่ตลอด. ตอนนี้ชีวิตผมมีจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง.” *

หลักการ: “คนที่เมตตาก็มีความสุข.”—มัดธาย 5:7

หลักการข้อนี้ช่วยให้ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร?

ความเมตตาหมายถึงความสงสารที่แสดงออกด้วยการกระทำที่กรุณาต่อผู้อื่นและคำนึงถึงความรู้สึกของพวกเขา. พระเยซูแสดงความเมตตาต่อคนที่ขัดสน. ด้วยความสงสารจับใจ พระองค์ทรงยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้คนที่มีความทุกข์. (มัดธาย 14:14; 20:30-34) เมื่อเราเลียนแบบพระเยซูโดยเมตตาผู้อื่น เรากำลังทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้น เพราะคนที่เมตตาจะมีความสุข. (กิจการ 20:35) เราสามารถแสดงความเมตตาต่อผู้อื่นได้โดยทางคำพูดและการกระทำเพื่อบรรเทาความทุกข์ของคนที่เดือดร้อน. การแสดงความเมตตาจะทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้นจริงๆไหม?

มาเรียกับคาร์ลอส

ตัวอย่างชีวิตจริง:

มาเรียกับคาร์ลอสสามีของเธอเป็นตัวอย่างในเรื่องการแสดงความเมตตา. พ่อของมาเรียเป็นม่าย  และไม่กี่ปีมานี้เขาต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา. มาเรียกับคาร์ลอสได้รับพ่อมาอยู่ที่บ้านและดูแลท่านทุกอย่าง. พวกเขาอดหลับอดนอนหลายคืนและบางครั้งต้องรีบพาพ่อส่งโรงพยาบาลเมื่ออาการทรุดหนักเพราะโรคเบาหวาน. พวกเขายอมรับว่าบางครั้งรู้สึกเหนื่อยแทบขาดใจ. แต่พวกเขาก็มีความสุขดังที่พระเยซูตรัสไว้ เพราะพวกเขาสุขใจที่ได้เอาใจใส่ดูแลพ่อของมาเรียในยามที่ท่านต้องการความช่วยเหลือ.

หลักการ: “ผู้ที่สร้างสันติก็มีความสุข.”—มัดธาย 5:9

หลักการข้อนี้ช่วยให้ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร?

ทำไมการเป็นคนสร้างสันติทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น? เหตุผลหนึ่งคือ ถ้าเราพยายามสร้างสันติกับผู้อื่นเสมอ ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างก็จะดีขึ้น. เราควรทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ถ้าเป็นได้ จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.” (โรม 12:18) “คนทั้งปวง” รวมถึงสมาชิกในครอบครัวและคนอื่นๆที่อาจมีความเชื่อต่างไปจากเรา. การสร้างสันติกับ “คนทั้งปวง” จะทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้นจริงๆไหม?

นาอีร์

ตัวอย่างชีวิตจริง:

ขอพิจารณาตัวอย่างของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนาอีร์. ตลอดหลายปี เธอเผชิญความกดดันหลายอย่างที่ทดสอบว่าเธอจะรักษาสันติสุขไว้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะสันติสุขในครอบครัวของเธอเอง. นาอีร์ต้องเลี้ยงดูลูกๆตามลำพังตั้งแต่สามีทิ้งเธอไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว. ลูกชายคนหนึ่งของนาอีร์ติดยาเสพติด และเมื่อเกิดอาการคลุ้มคลั่งเขามักจะอาละวาดและทุบตีเธอกับลูกสาว. นาอีร์เชื่อว่าสิ่งที่เธอเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลช่วยเธอให้มีความเข้มแข็งและสามารถรักษาสันติสุขไว้ได้แม้แต่ตอนที่ถูกลูกชายทำร้าย. เธอพยายามไม่โต้เถียงหรือทะเลาะกับใคร. เธอพยายามแสดงความกรุณา เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจคนอื่น. (เอเฟโซส์ 4:31, 32) เธอเชื่อว่าการฝึกนิสัยให้รู้จักสร้างสันติเป็นวิธีดีที่สุดที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับคนอื่นทั้งในและนอกครอบครัว.

มองไปถึงอนาคต

ถ้าเราทำตามคำแนะนำที่ฉลาดสุขุมของพระเยซู เราจะมีความสุขและมีความอิ่มใจกับชีวิต. อย่างไรก็ตาม เพื่อจะมีชีวิตที่มีความหมาย เรายังต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของเรา. ชีวิตจะมีความหมายได้อย่างไรถ้าเรารู้เพียงว่าคนเราเกิดมาก็ต้องแก่ เจ็บป่วย และตายในที่สุด? ถึงกระนั้น นี่คือความเป็นจริงของชีวิตในโลกนี้.

แต่ยังมีข่าวดี! พระยะโฮวาจัดเตรียมพระพรมากมายไว้สำหรับคนที่พยายาม “ดำเนินชีวิตอย่างที่พระเยซูได้ทรงดำเนิน.” พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าอีกไม่นานพระองค์จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกใหม่ที่ชอบธรรมซึ่งมนุษย์ที่ซื่อสัตย์จะมีชีวิตอย่างที่พระองค์ประสงค์ตั้งแต่แรกคือ มีสุขภาพดีและมีชีวิตตลอดไป. พระคำของพระองค์กล่าวว่า “ดูเถิด! พลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์และพระองค์จะสถิตกับพวกเขา และพวกเขาจะเป็นประชาชนของพระองค์. พระเจ้าจะทรงอยู่กับพวกเขา. พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาพวกเขา ความตายจะไม่มีอีกเลย ความโศกเศร้าหรือเสียงร้องไห้เสียใจหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่นั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”—วิวรณ์ 21:3, 4

มาเรีย หญิงวัย 84 ปีที่กล่าวถึงในบทความแรกมีความสุขเพราะเธอหวังจะได้เห็นถ้อยคำเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงในอนาคต. แล้วคุณล่ะ? คุณอยากเรียนรู้มากขึ้นไหมเกี่ยวกับ “ชีวิตแท้” ที่จะได้รับเมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้ามาปกครอง? (1 ติโมเธียว 6:19) ถ้าเช่นนั้น คุณอาจสอบถามพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นหรือเขียนถึงผู้จัดพิมพ์วารสารนี้. *

^ วรรค 8 คุณสามารถอ่านเรื่องราวของเอซาอย่างละเอียดในบทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน—ผมเป็นคนป่าเถื่อนดุร้าย.”

^ วรรค 18 หนังสือ คัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา เป็นคู่มือศึกษาพระคัมภีร์แบบเจาะลึกทีละเรื่องซึ่งช่วยหลายคนให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลอย่างถูกต้อง.