ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงช่วยตัวคุณเองและช่วยคนอื่นโดยใช้พระคำของพระเจ้า

จงช่วยตัวคุณเองและช่วยคนอื่นโดยใช้พระคำของพระเจ้า

“ข้าพเจ้าถือว่าพระโอวาทของพระองค์ก็ยุติธรรมทุกประการ.”—เพลง. 119:128

1. ทำไมเราต้องเชื่อมั่นพระคำของพระเจ้าอย่างเต็มที่?

เมื่อผู้ปกครองพิจารณาว่านักศึกษาพระคัมภีร์มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ประกาศได้หรือไม่ เขาจะถามตัวเองว่า ‘การพูดจาของเขาแสดงให้เห็นไหมว่า เขาเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า?’ * เราทุกคนต้องแสดงให้เห็นด้วยการกระทำและด้วยคำพูดของเราว่าเราไว้วางใจคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อเราเชื่อมั่นในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเต็มที่และเรียนรู้ที่จะใช้พระคัมภีร์อย่างชำนาญในงานรับใช้ เราก็จะสามารถช่วยคนอื่นๆให้รู้จักพระยะโฮวาและพบหนทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.

2. ทำไมเราควร ‘ทำตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้ต่อๆไป’?

2 อัครสาวกเปาโลเน้นถึงความสำคัญของพระคำของพระเจ้าเมื่อท่านเขียนถึงติโมเธียวว่า “จงทำตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และสิ่งที่ท่านได้รับการช่วยให้เชื่อมั่นว่าเป็นความจริงต่อๆไป.” “สิ่ง” ที่เปาโลกล่าวถึงนั้นได้แก่ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลที่กระตุ้นติโมเธียวให้เชื่อข่าวดี. สิ่งที่เราเรียนจากพระคัมภีร์สามารถช่วยให้เรามีความเชื่อที่เข้มแข็งขึ้นด้วย. คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยเราให้ “มีปัญญาที่จะทำให้ได้รับความรอด.” (2 ติโม. 3:14, 15) เรามักใช้คำพูดของเปาโลในข้อถัดไปเพื่อชี้ให้คนอื่นเห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่มาจากพระเจ้า แต่เราเองอาจได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วยจากถ้อยคำที่อยู่ในข้อนี้. (อ่าน 2 ติโมเธียว 3:16) ขอให้เราพิจารณาข้อนี้ให้ละเอียดขึ้น. การทำอย่างนี้จะช่วยให้เราเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่าคำสอนทุกอย่างของพระยะโฮวา “ถูกต้อง.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:128, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

“มีประโยชน์เพื่อการสอน”

3-5. (ก) เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เปโตรบรรยายต่อผู้คนจำนวนมากในวันเพนเทคอสต์ และเพราะเหตุใด? (ข) ทำไมหลายคนในเมืองเทสซาโลนิเกจึงตอบรับความจริง? (ค) ผู้คนในทุกวันนี้สังเกตอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราประกาศ?

3 พระเยซูทรงบอกชาติอิสราเอลว่า “เราส่งพวกผู้พยากรณ์และ คนมีปัญญาและผู้สอนมาหาเจ้าทั้งหลาย.” (มัด. 23:34) พระเยซูกำลังตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงสอนให้ใช้พระคัมภีร์ในงานรับใช้ของพวกเขา. ในวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33 “ผู้สอน” คนหนึ่ง คืออัครสาวกเปโตร บรรยายต่อผู้คนจำนวนมากในกรุงเยรูซาเลมและท่านอ้างถึงข้อความหลายตอนจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. เมื่อคนเหล่านั้นได้ยินเปโตรอธิบายข้อเหล่านี้ หลายคน “ก็รู้สึกเจ็บแปลบในใจ.” พวกเขากลับใจจากบาปของตนและทูลขอให้พระเจ้าโปรดให้อภัยพวกเขา. ในวันนั้น มีประมาณสามพันคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียน.—กิจ. 2:37-41

4 “ผู้สอน” อีกคนหนึ่ง คืออัครสาวกเปาโล ประกาศข่าวดีในขอบเขตที่กว้างไกลกว่ากรุงเยรูซาเลมมาก. ตัวอย่างเช่น ในเมืองเทสซาโลนิเก แคว้นมาซิโดเนีย ท่านพูดกับคนที่นมัสการในธรรมศาลาแห่งหนึ่ง. สามสัปดาห์ติดต่อกัน ในวันซะบาโต เปาโล “ถกเรื่องในพระคัมภีร์กับชาวยิว . . . อธิบายและพิสูจน์โดยอ้างอิงข้อคัมภีร์ต่างๆว่าพระคริสต์จำเป็นต้องทนทุกข์และเป็นขึ้นจากตาย.” ผลเป็นอย่างไร? ชาวยิวบางคนและชาวกรีกจำนวนมากได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ.—กิจ. 17:1-4

5 หลายคนประทับใจที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ใช้คัมภีร์ไบเบิล. หลังจากที่เจ้าของบ้านคนหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ฟังพี่น้องหญิงอ่านพระคัมภีร์ เขาก็ถามเธอว่า “คุณอยู่คริสตจักรไหน?” พี่น้องหญิงตอบว่า “ดิฉันกับเพื่อนเป็นพยานพระยะโฮวา.” เจ้าของบ้านพูดว่า “ผมน่าจะรู้อยู่แล้วนะ. คงไม่มีใครหรอกนอกจากพยานพระยะโฮวาที่จะมาอ่านพระคัมภีร์ให้ผมฟังที่บ้าน?”

6, 7. (ก) คนที่สอนในประชาคมจะใช้คัมภีร์ไบเบิลให้เกิดประโยชน์เต็มที่ยิ่งขึ้นในการสอนได้อย่างไร? (ข) เราจะใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพในการนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านได้อย่างไร?

6 เราจะใช้คัมภีร์ไบเบิลให้เกิดประโยชน์เต็มที่ยิ่งขึ้นในการสอนได้อย่างไร? ถ้าคุณได้รับมอบหมายให้บรรยายหรือทำส่วนต่างๆในการประชุม จงใช้ข้อคัมภีร์ที่เหมาะกับเรื่อง. แทนที่จะบอกผู้ฟังว่าพระคัมภีร์ข้อนั้นบอกไว้อย่างไรหรืออ่านจากกระดาษที่คุณพิมพ์ข้อคัมภีร์ไว้หรือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จงอ่านจากพระคัมภีร์โดยตรง และสนับสนุนผู้ฟังให้ทำอย่างนั้นด้วย. นอกจากนั้น จงอธิบาย ข้อคัมภีร์ที่คุณอ่านอย่างที่จะช่วยให้ผู้ฟังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา. แทนที่จะใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ซับซ้อนและประสบการณ์ที่มุ่งจะทำให้ผู้ฟังหัวเราะเท่านั้น จงใช้เวลาในการอธิบายพระคำของพระเจ้าอย่างละเอียด.

7 เราควรจำอะไรไว้เมื่อสอนนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? เมื่อเตรียมตัวสำหรับการศึกษา เราควรอ่านข้อคัมภีร์ทุกข้อที่มีการอ้างถึงในหนังสือของเรา และสนับสนุนนักศึกษาให้ทำอย่างเดียวกันด้วย. เราควรเลือกข้อคัมภีร์บางข้อที่จะอ่านด้วยกันกับนักศึกษาและอธิบายให้เขาเข้าใจความหมาย. เมื่ออธิบายข้อคัมภีร์ เราไม่ควรพูดคนเดียวทั้งหมดแต่ควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดออกมาว่าเขาคิดอย่างไร. แทนที่จะบอกเขาว่าต้องเชื่ออะไรหรือควรทำอย่างไร เราควรใช้คำถามที่คิดไว้อย่างดีเพื่อช่วยให้เขาได้ข้อสรุปที่ถูกต้องด้วยตัวเขาเอง. *

“มีประโยชน์เพื่อ . . . การว่ากล่าว”

8. เปาโลต้องพยายามเอาชนะอะไรที่อยู่ในตัวท่าน?

8 ผู้ปกครองในประชาคมมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะว่ากล่าวหรือตีสอนคนที่ทำผิด. (1 ติโม. 5:20; ทิทุส 1:13) แต่เราจำเป็นต้องว่ากล่าวแก้ไขตัวเราเอง ด้วย. เปาโลเป็นคริสเตียนที่เป็นแบบอย่างซึ่งมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี. (2 ติโม. 1:3) ถึงกระนั้น ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเห็นอีกกฎหนึ่งในอวัยวะของข้าพเจ้าซึ่งต่อสู้อยู่กับกฎในใจข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาป.” เราจะพิจารณาด้วยกันว่าเปาโลต้องทำอะไรเพื่อท่านจะเอาชนะข้ออ่อนแอของท่านได้.—อ่านโรม 7:21-25

9, 10. (ก) ข้ออ่อนแออย่างหนึ่งที่เปาโลมีอาจได้แก่อะไร? (ข) เปาโลคงพยายามเอาชนะข้ออ่อนแอของท่านอย่างไร?

 9 เปาโลไม่ได้บอกว่าท่านต้องพยายามเอาชนะข้ออ่อนแออะไร แต่ท่านบอกว่าท่านเคยเป็น “คนโอหังบังอาจ.” (1 ติโม. 1:13) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน เปาโลข่มเหงคริสเตียนอย่างรุนแรง. ท่านสารภาพว่า “ข้าพเจ้าโกรธแค้นพวกเขายิ่งนัก.” (กิจ. 26:11) เปาโลเรียนรู้ที่จะควบคุมความโกรธ แต่ในบางครั้งท่านก็ยังต้องพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมความรู้สึกและคำพูดของท่าน. (กิจ. 15:36-39) อะไรช่วยท่านให้ทำอย่างนั้นได้?

10 เมื่อเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์ เปาโลอธิบายว่าท่านทำอะไรเพื่อแก้ไขตัวท่านเอง. (อ่าน 1 โครินท์ 9:26, 27) ท่านใช้มาตรการที่เด็ดขาดเพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอของท่าน. ท่านคงต้องค้นหาคำแนะนำในพระคัมภีร์ วิงวอนขอให้พระยะโฮวาทรงช่วยท่านให้ทำตามคำแนะนำ และพยายามจริงๆที่จะปรับปรุงแก้ไข. * เราสามารถเรียนรู้และได้ประโยชน์จากตัวอย่างของท่าน เพราะเราต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอของตัวเองเหมือนกัน.

11. เราจะ “หมั่นทดสอบ” ตัวเองให้แน่ใจว่าเรากำลังดำเนินในทางของความจริงได้อย่างไร?

11 เราไม่ควรคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องพยายามเอาชนะข้ออ่อนแอของเราอีกต่อไป. เราจำเป็นต้อง “หมั่นทดสอบ” ตัวเราเองเพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังดำเนินในแนวทางของความจริง. (2 โค. 13:5) เมื่อเราอ่านโกโลซาย 3:5-10 หรือข้อคัมภีร์ที่คล้ายๆกัน เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อจะเอาชนะข้ออ่อนแอของฉันไหม? หรือว่าฉันเริ่มชอบสิ่งที่พระยะโฮวาทรงบอกว่าผิด? ตัวอย่างเช่น ถ้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผิดศีลธรรมปรากฏขึ้นมา ฉันคลิกปิดทันทีไหม? หรือว่าฉันชอบค้นหาเว็บไซต์ที่ไม่ดี?’ การใช้คำแนะนำในพระคำของพระเจ้าในชีวิตของเราเองเช่นนี้จะช่วยเราให้ “ตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ.”—1 เทส. 5:6-8

“มีประโยชน์เพื่อ . . . จัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง”

12, 13. (ก) การจัดการเรื่องราวให้ถูกต้องหมายความอย่างไร และเราจะเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูในเรื่องนี้ได้อย่างไร? (ข) ถ้าเราจำเป็นต้องจัดการเรื่องราวกับบางคนให้ถูกต้อง เราควรหลีกเลี่ยงคำพูดแบบใด?

12 คำภาษากรีกที่แปลไว้ว่า “จัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง” หมายถึง “แก้ไข ทำให้ดี ฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพที่ดีและเหมาะสม.” บางครั้ง เราต้องจัดการเรื่องราวให้ถูกต้องเมื่อบางคนเข้าใจผิดในสิ่งที่เราพูดหรือทำ. ตัวอย่างเช่น พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวบ่นที่พระเยซูทรงแสดงความกรุณาต่อ “คนเก็บภาษีและคนบาป.” พระเยซูทรงแก้ไขทัศนะของเขาให้ถูกต้องโดยตรัสว่า “คนที่สบายดีไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ. ฉะนั้น จงไปเรียนความหมายของข้อนี้ที่ว่า ‘เราประสงค์ความเมตตา มิใช่เครื่องบูชา.’” (มัด. 9:11-13) พระองค์ทรงอธิบายพระคำของพระเจ้าแก่ทุกคนอย่างอดทนและกรุณา. คนถ่อมจึงรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา, ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน, และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง.” (เอ็ก. 34:6) ผลก็คือ คนที่มีใจถ่อมหลายคนแสดงความเชื่อในข่าวดี.

13 เราควรเลียนแบบพระเยซูเมื่อเราพยายามช่วยคนอื่นๆ. ถ้อยคำที่ 2 ติโมเธียว 3:16 ไม่ได้หมายความว่าเราควรพูดกับคนอื่นอย่างแข็งกร้าวเพื่อจัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง. พระคัมภีร์ไม่ได้ให้สิทธิ์แก่เราที่จะพูดกับบางคนโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของเขา. ถ้าเราวิพากษ์วิจารณ์บางคนอย่างรุนแรง คำพูดของเราอาจทำให้เขาเจ็บเหมือนกับ “การแทงของกระบี่” และคงไม่ช่วยให้เขาได้รับประโยชน์อะไรเลย.—สุภา. 12:18

14-16. (ก) ผู้ปกครองจะจัดการเรื่องต่างๆให้ถูกต้องได้อย่างไรเมื่อพี่น้องต้องการความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา? (ข) ทำไมจึงสำคัญที่บิดามารดาจะใช้พระคัมภีร์เพื่อจัดการเรื่องต่างๆในครอบครัวของตนให้ถูกต้อง?

14 ถ้าอย่างนั้น เราจะแสดงความอดทนและความ กรุณาได้อย่างไรเมื่อใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อจัดการเรื่องต่างๆให้ถูกต้อง? สมมุติว่าสามีภรรยาคู่หนึ่งทะเลาะกันบ่อยๆ. ทั้งสองขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง. ผู้ปกครองจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเขาจะไม่เสนอความเห็นของตัวเขาเองเกี่ยวกับปัญหาของสามีภรรยาคู่นี้. แต่เขาจะใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยทั้งสองให้เข้าใจวิธีที่พวกเขาจะเลิกทะเลาะกันได้. เขาอาจใช้หลักการที่พิจารณาในบท 3 ของหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว. เมื่อพิจารณาหลักการเหล่านี้ด้วยกัน สามีและภรรยาอาจมองเห็นความจำเป็นที่พวกเขาต้องเปลี่ยนบางอย่าง. ในภายหลัง ผู้ปกครองจะถามสามีภรรยาคู่นี้ว่าสถานการณ์ของพวกเขาดีขึ้นไหม และให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมหากจำเป็น.

 15 บิดามารดาจะช่วยลูกให้จัดการเรื่องต่างๆให้ถูกต้องได้อย่างไร? สมมุติว่าลูกสาววัยรุ่นของคุณมีเพื่อนใหม่. แต่คุณคิดว่าเพื่อนใหม่คนนี้อาจเป็นเพื่อนที่ไม่ควรคบ. ก่อนอื่น คุณควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้ของลูก. จากนั้น ถ้ายังมีอะไรบางอย่างที่น่าเป็นห่วง คุณอาจพูดกับลูกสาวโดยใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่อยู่ในหนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล เล่ม 2. หลังจากนั้น คุณควรพยายามใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับเธอเป็นพิเศษ และสังเกตทัศนคติของเธอตอนที่ไปประกาศหรือตอนที่อยู่กับครอบครัว. ถ้าคุณแสดงความอดทนและความกรุณา ลูกสาวคุณก็จะรับรู้ได้ว่าคุณรักและสนใจเธอ. เธอคงจะถูกกระตุ้นให้ทำตามคำแนะนำของคุณในเรื่องการเลือกคบเพื่อนและหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดในชีวิตของเธอ.

บิดามารดาที่แสดงความกรุณาและใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อจัดการเรื่องต่างๆให้ถูกต้องกับลูกวัยรุ่นจะช่วยลูกให้หลีกเลี่ยงปัญหายุ่งยากได้ (โปรดดูข้อ 15)

16 ด้วยการแสดงความอดทนและความกรุณาคล้ายๆกันนั้น เราสามารถหนุนใจคนที่กังวลในเรื่องสุขภาพ ท้อแท้เพราะตกงาน หรือไม่เข้าใจคำสอนบางอย่างในคัมภีร์ไบเบิล. การใช้พระคำของพระเจ้าเพื่อ “จัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง” ช่วยให้ประชาชนของพระยะโฮวาได้รับประโยชน์อย่างมากมาย.

 “มีประโยชน์เพื่อ . . . การตีสอนด้วยความชอบธรรม”

17. ทำไมเราควรยอมรับการตีสอนด้วยความขอบคุณ?

17 “ไม่มีการตีสอนแบบใดที่ทำให้ยินดีในขณะที่ได้รับ แต่ทำให้เศร้าใจ.” แม้ว่าเป็นอย่างนั้น “ภายหลัง การตีสอนนั้นก่อผลเป็นความชอบธรรมที่ทำให้เกิดสันติสุขแก่ผู้ที่ได้รับการฝึกโดยการตีสอน.” (ฮีบรู 12:11) คริสเตียนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการตีสอนที่ตนได้รับจากบิดามารดาที่มีความเชื่อเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างยิ่ง. และการยอมรับการตีสอนจากพระยะโฮวาโดยทางคริสเตียนผู้ปกครองช่วยเราให้รักษาตัวอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิต.—สุภา. 4:13

18, 19. (ก) ทำไมคำแนะนำในสุภาษิต 18:13 จึงสำคัญมากใน “การตีสอนด้วยความชอบธรรม”? (ข) เมื่อผู้ปกครองอ่อนโยนและแสดงความรักขณะตีสอนมักเกิดผลเช่นไร?

18 ผู้ปกครองและบิดามารดาจะเรียนรู้ที่จะตีสอนอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร? พระยะโฮวาทรงบอกเราว่าเราต้องตีสอน “ด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโม. 3:16) นี่หมายความว่าเราต้องใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อเราตีสอนผู้อื่น. เราพบหลักการหนึ่งที่สำคัญในสุภาษิต 18:13 ที่ว่า “ผู้ที่ให้คำตอบก่อนได้ยินเรื่อง, ก็เป็นการโฉดเขลาและเป็นความน่าอายแก่ตน.” ด้วยเหตุนั้น เมื่อมีคนมาบอกผู้ปกครองว่าพี่น้องคนหนึ่งทำผิดร้ายแรง ผู้ปกครองต้องสืบเรื่องนั้นอย่างละเอียดเพื่อจะได้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน. (บัญ. 13:14) เมื่อทำอย่างนี้แล้ว พวกเขาจึงจะสามารถตีสอน “ด้วยความชอบธรรม.”

19 นอกจากนั้น พระคำของพระเจ้ายังกำชับคริสเตียนผู้ปกครองด้วยว่าพวกเขาต้องว่ากล่าวแก้ไขพี่น้อง “ด้วยความอ่อนโยน.” (อ่าน 2 ติโมเธียว 2:24-26) จริงอยู่ พี่น้องที่ทำผิดอาจนำคำตำหนิมาสู่พระยะโฮวาและอาจทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ. แต่ถ้าผู้ปกครองโกรธเมื่อให้คำแนะนำ เขาจะไม่สามารถช่วยพี่น้องคนนั้นได้เลย. เมื่อผู้ปกครองเลียนแบบ “ความกรุณา” ของพระเจ้า พวกเขาอาจกระตุ้นคนที่ทำผิดให้กลับใจ.—โรม 2:4

20. บิดามารดาควรทำตามหลักการอะไรเมื่อตีสอนลูก?

20 ในการเลี้ยงลูก “ด้วยการตีสอนจากพระยะโฮวาและปลูกฝังแนวคิดของพระองค์” บิดามารดาต้องทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. (เอเฟ. 6:4) ตัวอย่างเช่น บิดาควรทำอะไรถ้ามีคนมาบอกเขาว่าลูกชายทำบางสิ่งที่ผิด? บิดาควรตรวจดูให้แน่ใจว่าเขารู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อนจะลงโทษลูก. ไม่ควรมีใครในครอบครัวคริสเตียนที่กระทำรุนแรงด้วยความโกรธ. “พระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา” และบิดามารดาควรเลียนแบบพระองค์เมื่อตีสอนลูก.—ยโก. 5:11

คัมภีร์ไบเบิลเป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระยะโฮวา

21, 22. เมื่ออ่านบทเพลงสรรเสริญ 119:97-104 ถ้อยคำใดที่พรรณนาความรู้สึกของคุณต่อพระคำของพระยะโฮวาได้ดีที่สุด?

21 ผู้รับใช้คนหนึ่งของพระเจ้าเคยกล่าวไว้ว่าทำไมเขาจึงรักกฎหมายของพระยะโฮวา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 119:97-104) ด้วยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เขาได้รับสติปัญญา และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง. การทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์ช่วยเขาไม่ให้ทำผิดพลาดอย่างที่หลายคนพลาด. เขาเพลิดเพลินกับการศึกษาพระคัมภีร์และได้รับประโยชน์เมื่อทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์. เขาตั้งใจแน่วแน่ที่จะเชื่อฟังพระเจ้าและทำตามกฎหมายของพระองค์ตลอดชีวิตของเขา.

22 คุณเห็นคุณค่า “พระคัมภีร์ทุกตอน” จริงๆไหม? คัมภีร์ไบเบิลสามารถเสริมความเชื่อของคุณและทำให้คุณมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. คำแนะนำในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวาช่วยเราไม่ให้ทำผิดซึ่งจะนำเราไปสู่ความตาย. และด้วยการอธิบายพระคัมภีร์อย่างชำนิชำนาญ คุณจะสามารถช่วยคนอื่นๆให้เริ่มเดินบนเส้นทางสู่ชีวิตและรักษาตัวอยู่บนเส้นทางนี้เสมอ. ขอให้เราใช้ “พระคัมภีร์ทุกตอน” ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อๆไปขณะที่เรารับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งและเปี่ยมด้วยความรัก.

^ วรรค 1 โปรดดูหนังสือรวบรวมเป็นองค์การเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา หน้า 80.

^ วรรค 7 เมื่อพระเยซูสอน พระองค์ทรงถามคนที่พระองค์สอนบ่อยๆว่า “เจ้าทั้งหลายคิดอย่างไร?” แล้วก็รอฟังคำตอบจากพวกเขา.—มัด. 18:12; 21:28; 22:42

^ วรรค 10 จดหมายหลายฉบับของเปาโลสนับสนุนเราให้พยายามเอาชนะข้ออ่อนแอของเรา. (โรม 6:12; กลา. 5:16-18) นับว่ามีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าท่านเองทำอย่างที่ท่านแนะนำให้คนอื่นทำด้วย.—โรม 2:21