ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำหน้าที่ของคุณในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดีให้สำเร็จ

ทำหน้าที่ของคุณในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดีให้สำเร็จ

“จงทำงานของผู้เผยแพร่ข่าวดี จงทำงานรับใช้ของท่านให้สำเร็จครบถ้วน.”—2 ติโม. 4:5

1. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีที่โดดเด่นที่สุดและทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำงานนี้?

พระยะโฮวาทรงเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีที่โดดเด่นที่สุดและทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำงานนี้. หลังจากที่มนุษย์คู่แรกขืนอำนาจ พระยะโฮวาทรงประกาศข่าวดีทันทีว่างูที่ล่อลวงมนุษย์นั้น ซึ่งอันที่จริงคือซาตานพญามาร จะถูกทำลาย. (เย. 3:15) เป็นเวลาหลายศตวรรษที่พระยะโฮวาทรงดลใจมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ให้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทำให้พระนามของพระองค์ปราศจากคำตำหนิ วิธีแก้ปัญหาต่างๆที่ซาตานทำให้เกิดขึ้น และวิธีที่มนุษย์จะมีชีวิตนิรันดร์.

2. (ก) เหล่าทูตสวรรค์มีบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับงานเผยแพร่ข่าวดี? (ข) พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับผู้เผยแพร่ข่าวดีอย่างไร?

2 เหล่าทูตสวรรค์ก็เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีด้วย. ทูตสวรรค์บอกข่าวดีและช่วยมนุษย์ในการประกาศข่าวดีออกไปให้กว้างไกล. (ลูกา 1:19; 2:10; กิจ. 8:26, 27, 35; วิ. 14:6) จะว่าอย่างไรสำหรับอัครทูตสวรรค์มิคาเอล? ท่านก็เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีด้วย. ระหว่างที่อยู่บนแผ่นดินโลกและมีพระนามว่าพระเยซู งานสำคัญที่สุดในชีวิตของพระองค์คือการประกาศข่าวดี. ตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพระองค์ทำให้เราเห็นว่างานประกาศควรเป็นงานที่สำคัญที่สุดของเราด้วย.—ลูกา 4:16-21

3. (ก) เราต้องประกาศข่าวดีอะไร? (ข) มีคำถามอะไรที่เราต้องตอบ?

3 พระเยซูทรงสั่งเหล่าสาวกให้เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดี. (มัด. 28:19, 20; กิจ. 1:8) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นติโมเธียวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของท่านว่า “จงทำงานของผู้เผยแพร่ข่าวดี จงทำงานรับใช้ของท่านให้สำเร็จครบถ้วน.” (2 ติโม. 4:5) ในฐานะสาวกของพระเยซู เราประกาศข่าวดีอะไร? เราบอกผู้คนว่าพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ ทรงรักเรา. (โย. 3:16; 1 เป. 5:7) ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าพระ ยะโฮวาทรงรักเรา. ด้วยเหตุนั้น เราบอกคนอื่นว่าถ้าพวกเขาอ่อนน้อมต่อการปกครองของราชอาณาจักร เชื่อฟังพระเจ้า และทำสิ่งที่ชอบธรรม พวกเขาจะเป็นมิตรของพระองค์ได้. (เพลง. 15:1, 2) ที่จริง พระยะโฮวาทรงประสงค์จะขจัดความทุกข์ยากทุกอย่างให้หมดไป. พระองค์จะขจัดความเศร้าเสียใจเพราะความทรงจำอันเลวร้ายในสมัยอดีตด้วย. นั่นนับว่าเป็นข่าวดีจริงๆ! (ยซา. 65:17) ในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดี เราต้องตอบคำถามสำคัญสองข้อต่อไปนี้: ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้คนในทุกวันนี้จะต้องได้ฟังข่าวดี? และเราจะทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีให้ดีที่สุดได้อย่างไร?

ทำไมผู้คนต้องได้ฟังข่าวดี?

คำถามที่ดีช่วยผู้อื่นให้เห็นว่าทำไมเขาจึงเชื่ออย่างที่เขาเชื่อ

4. บางครั้งผู้คนพูดอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งไม่เป็นความจริง?

4 สมมุติว่ามีคนมาบอกว่าพ่อของคุณทิ้งคุณทิ้งครอบครัวไปแล้ว. และมีบางคนบอกว่าพ่อของคุณเป็นคนเย็นชา ชอบทำตัวลึกลับ และโหดร้าย. บางคนอาจถึงกับโน้มน้าวคุณให้เชื่อว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามติดต่อกับพ่อของคุณเพราะท่านตายแล้ว. ที่จริง หลายคนพูดคล้ายๆกันนี้เกี่ยวกับพระเจ้า. พวกเขาสอนว่าพระเจ้าเป็นบุคคลลึกลับ ไม่มีทางที่จะรู้จักพระองค์ได้ หรือพระองค์ทรงโหดร้าย. ตัวอย่างเช่น หัวหน้าศาสนาบางคนอ้างว่าพระเจ้าทรงลงโทษคนชั่วตลอดไปในนรก. บางคนโทษพระเจ้าว่าทรงทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์เราเป็นทุกข์เดือดร้อน. แม้ว่าภัยธรรมชาติเหล่านั้นคร่าชีวิตทั้งคนดีและคนชั่ว พวกเขาบอกว่านั่นเป็นการลงโทษจากพระเจ้า.

คำถามช่วยเราให้เข้าถึงหัวใจของเขาทำให้เขาคิดและตอบรับความจริง

5, 6. ทฤษฎีวิวัฒนาการและคำสอนเท็จทั้งหลายมีผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร?

5 หลายคนยืนยันว่าไม่มีพระเจ้า และมนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์. คนที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ประกาศว่าชีวิตเกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครออกแบบ. พวกเขาอ้างว่าไม่มีพระผู้สร้าง. บางคนถึงกับกล่าวว่าเนื่องจากมนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์ จึงไม่น่าจะแปลกใจเมื่อเห็นบางคนประพฤติตนเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน. พวกเขาสนับสนุนความคิดที่ว่าเมื่อคนที่แข็งแรงกว่าใช้อำนาจข่มเหงคนที่อ่อนแอกว่าอย่างโหดร้าย พวกเขาก็เพียงแค่ทำตามกฎธรรมชาติของการอยู่รอด. ดังนั้น ไม่แปลกที่หลายคนเชื่อว่าความไม่ยุติธรรมจะอยู่กับเราตลอดไป. ด้วยเหตุนั้น คนที่เชื่อเรื่องวิวัฒนาการจึงไม่มีความหวังอย่างแท้จริงในเรื่องอนาคต.

6 ทฤษฎีวิวัฒนาการและคำสอนเท็จทั้งหลายมีส่วนทำให้มนุษย์เราประสบความทุกข์ยากในสมัยสุดท้ายนี้. (โรม 1:28-31; 2 ติโม. 3:1-5) คำสอนเหล่านี้ของมนุษย์ไม่ได้ทำให้มีข่าวดีที่แท้จริงและยั่งยืน. ตรงกันข้าม ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ คำสอนเหล่านี้ได้ทำให้ผู้คน “อยู่ในความมืดทางจิตใจและอยู่ห่างจากชีวิตซึ่งมาจากพระเจ้า.” (เอเฟ. 4:17-19) นอกจากนั้น ทฤษฎีวิวัฒนาการและคำสอนเท็จทั้งหลายทำให้ผู้คนไม่อยากฟังข่าวดีที่มาจากพระเจ้า.—อ่านเอเฟโซส์ 2:11-13

คำถามช่วยเขาให้หาเหตุผลเพื่อจะลงความเห็นได้อย่างถูกต้อง

7, 8. วิธีเดียวที่ผู้คนจะเข้าใจข่าวดีได้อย่างเต็มที่คืออะไร?

7 เพื่อจะคืนดีกับพระเจ้าได้ ผู้คนต้องเชื่อมั่นก่อนว่าพระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่จริงและมีเหตุผลที่ดีที่จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์. เราสามารถช่วยพวกเขาให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าโดยสนับสนุนพวกเขาให้พิจารณาดูสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงสร้าง. เมื่อผู้คนพิจารณาดูสิ่งทรงสร้างที่อยู่รอบตัวและคิดให้ดีเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น พวกเขาก็จะเรียนรู้ถึงสติปัญญาและฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า. (โรม 1:19, 20) เราจะช่วยผู้คนให้เข้าใจว่าทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างนั้นน่าพิศวงได้อย่างไร? เราอาจใช้จุลสารสองเล่ม คือมีใครสร้างสิ่งมีชีวิตไหม? และต้นกำเนิดชีวิต ห้าคำถามที่น่าคิด. แต่มีบางคำถามที่ไม่มีทางตอบได้โดยเพียงแต่เรียนรู้จากสิ่งทรงสร้าง. ตัวอย่างเช่น ทำไมพระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์? พระเจ้าทรงมี พระประสงค์อย่างไรสำหรับแผ่นดินโลก? หรือพระเจ้าทรงสนใจฉันเป็นส่วนตัวไหม?

8 วิธีเดียวที่ผู้คนจะเข้าใจข่าวดีเกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ได้อย่างเต็มที่ก็คือโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. นับเป็นสิทธิพิเศษจริงๆที่เราจะช่วยผู้คนให้พบคำตอบที่พวกเขาสงสัย! แต่เพื่อจะเข้าถึงหัวใจของผู้ฟัง เราจำเป็นต้องทำมากกว่าการบอกข้อเท็จจริง. เราต้องช่วยพวกเขาให้เชื่อมั่นด้วย. (2 ติโม. 3:14) เราจะมีความสามารถมากขึ้นในการช่วยผู้อื่นให้เชื่อมั่นได้ด้วยการทำตามแบบอย่างของพระเยซู. ทำไมพระองค์จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเรื่องนี้? เหตุผลหนึ่งก็คือพระองค์ทรงใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพ. เราจะเลียนแบบพระองค์ได้อย่างไร?

ผู้เผยแพร่ข่าวดีที่ดีใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพ

9. ถ้าเราต้องการช่วยผู้คนให้เชื่อข่าวดี เราต้องทำอะไร?

9 ทำไมเราควรเลียนแบบพระเยซูด้วยการใช้คำถามในงานเผยแพร่ข่าวดี? ขอให้พิจารณาฉากเหตุการณ์ต่อไปนี้: แพทย์บอกคุณว่าเขาจะรักษาคุณให้หายได้ถ้าคุณเข้ารับการผ่าตัดใหญ่. คุณอาจเชื่อเขา. แต่จะว่าอย่างไรถ้าเขาสัญญาอย่างนั้นโดยไม่ถามอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของคุณ? ถ้าอย่างนั้น คุณคงไม่เชื่อเขาแน่ๆ. ไม่ว่าแพทย์จะมีความชำนาญขนาดไหน เขาต้องถามผู้ป่วยและฟังว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไรเสียก่อนจึงจะช่วยรักษาได้. คล้ายกัน ถ้าเราต้องการจะช่วยผู้คนให้ตอบรับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร เราต้องใช้คำถามอย่างชำนาญ เพื่อเราจะรู้ว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออะไร.

เพื่อจะเข้าถึงหัวใจของผู้ฟัง เราต้องช่วยพวกเขาให้เชื่อมั่น

10, 11. เราอาจทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยการเลียนแบบวิธีสอนของพระเยซู?

10 พระเยซูทรงทราบว่าคำถามที่เลือกไว้อย่างดีไม่เพียงแต่จะช่วยผู้สอนให้รู้จักคนที่เขาสอนเท่านั้น แต่ยังช่วยพวกเขาให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย. ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเยซูทรงประสงค์จะสอนเหล่าสาวกเรื่องความถ่อมใจ พระองค์ทรงใช้คำถามที่กระตุ้นให้พวกเขาคิดก่อน. (มโก. 9:33) เพื่อจะสอนเปโตรให้เข้าใจเหตุผลในเรื่องหลักการบางอย่าง พระเยซูทรงใช้คำถามที่มีคำตอบให้เลือก. (มัด. 17:24-26) ในอีกโอกาสหนึ่ง เมื่อพระเยซูทรงประสงค์จะรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเหล่าสาวกคืออะไร พระองค์ทรงใช้คำถามหลายคำถามเพื่อให้พวกเขาพูดออกมาว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรจริงๆ. (อ่านมัดธาย 16:13-17) ด้วยการใช้คำถามและคำพูดบางอย่าง พระเยซูไม่เพียงแต่ให้ข้อมูล. พระองค์ทรงเข้าถึงหัวใจของผู้คน กระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำอย่างที่สอดคล้องกับข่าวดี.

11 เมื่อเราเลียนแบบพระเยซูด้วยการใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพในงานประกาศ เราจะพบวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยผู้คน. เราจะรู้วิธีหาเหตุผลกับผู้คนเมื่อพวกเขาไม่เห็นด้วยกับเรา. และเราจะสอนคนที่ถ่อมใจให้รู้วิธีที่เขาเองจะได้รับประโยชน์. ต่อไปนี้เราจะพิจารณาฉากเหตุการณ์สามฉากซึ่งแสดงให้เห็นวิธีที่เราจะใช้คำถามได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

12-14. คุณจะช่วยลูกให้มั่นใจมากขึ้นในการประกาศข่าวดีได้อย่างไร? จงยกตัวอย่าง.

12 ฉากที่ 1: ในฐานะบิดามารดา คุณจะทำอย่างไรถ้าลูกของคุณซึ่งเป็นวัยรุ่นรู้สึกกังวลว่าเขาจะพูดปกป้องความเชื่อของเขาในเรื่องการทรงสร้างได้อย่างไรเมื่อพูดกับเพื่อนนักเรียน? คุณจะช่วยเขาให้มั่นใจที่จะพูดกับเพื่อนๆได้โดยวิธีใด? แทนที่จะตำหนิหรือให้คำแนะนำทันที คุณอาจใช้คำถามที่ทำให้ เขาแสดงความรู้สึกของเขาออกมา อย่างที่พระเยซูทรงทำ. คุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

13 อ่านส่วนหนึ่งจากจุลสารต้นกำเนิดชีวิต ห้าคำถามที่น่าคิด กับลูก. หลังจากพิจารณาห้าคำถามในจุลสารนี้แล้ว คุณอาจถามลูกว่าคำถามข้อไหนที่เขาเห็นว่าน่าสนใจที่สุด. สนับสนุนเขาให้คิดถึงเหตุผลอื่นๆที่ทำให้เขาเชื่อว่ามีพระผู้สร้างและเหตุผลที่เขาต้องการรับใช้พระเจ้า. (โรม 12:2) บอกลูกให้รู้ว่าเหตุผลของเขาไม่จำเป็นต้องเหมือนกันกับเหตุผลของคุณ.

14 จากนั้น บอกลูกว่าเขาอาจพูดกับเพื่อนนักเรียนแบบเดียวกับที่คุณพูดกับเขา. เขาอาจทบทวนข้อเท็จจริงบางอย่างแล้วก็ถามเพื่อนว่าคิดอย่างไร. ตัวอย่างเช่น เขาอาจขอให้เพื่อนนักเรียนอ่านกรอบในหน้า 21 ของจุลสารต้นกำเนิดชีวิต. หลังจากนั้น เขาอาจถามเพื่อนว่า “เป็นความจริงไหมที่ว่าดีเอ็นเอมีความสามารถในการเก็บข้อมูลได้มากยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์เครื่องใดๆในโลก?” เพื่อนนักเรียนคงจะตอบว่า จริง. แล้วเขาก็อาจถามต่อว่า “ถ้าอย่างนั้น มีเหตุผลไหมที่จะสรุปว่าในเมื่อมีผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องมีผู้ออกแบบดีเอ็นเอเหมือนกัน?” เพื่อช่วยลูกให้มั่นใจมากขึ้นที่จะสนทนากับคนอื่นเกี่ยวกับความเชื่อของเขา คุณอาจฝึกซ้อมด้วยกันกับเขาเป็นประจำ. ถ้าคุณฝึกสอนลูกให้ใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพ คุณก็จะช่วยเขาให้เป็นผู้ประกาศที่ดี.

15. เราอาจใช้คำถามอย่างไรเพื่อหาเหตุผลกับคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า?

15 ฉากที่ 2: ในงานประกาศ เราอาจพบกับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีพระเจ้าจริงหรือไม่หรือคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าเลย. แทนที่จะเลิกสนทนากับเขาเมื่อเห็นว่าเขามีทัศนะอย่างนี้ เราอาจถามเขาด้วยความนับถือว่าเขาคิดแบบนี้มานานแล้วไหมและอะไรทำให้เขาคิดอย่างนี้. หลังจากที่ฟังเขาตอบและชมเชยเขา ที่คิดอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เราอาจถามว่าเขาอยากอ่านจุลสารที่ให้พยานหลักฐานว่าชีวิตถูกสร้างขึ้นไหม? ถ้าเขาอยากอ่าน เราอาจให้จุลสารมีใครสร้างสิ่งมีชีวิตไหม? หรือจุลสารต้นกำเนิดชีวิต ห้าคำถามที่น่าคิด แก่เขา. เมื่อเราใช้คำถามที่ผ่อนหนักผ่อนเบาและถามอย่างนุ่มนวล เราอาจทำให้ข่าวดีเข้าถึงหัวใจของบางคนได้.

16. ทำไมเราไม่ควรพอใจแค่ให้นักศึกษาอ่านคำตอบจากหนังสือคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?

16 ฉากที่ 3: เมื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล จะเป็นอย่างไรถ้าเราแค่ให้นักศึกษาตอบตามข้อความที่มีพิมพ์ไว้ในหนังสือคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? ถ้าเราทำอย่างนี้ เขาอาจไม่ค่อยก้าวหน้าในทางของความจริง. เพราะเหตุใด? เพราะนักศึกษาที่อ่านตอบโดยไม่ได้ใคร่ครวญเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากลึก. ถ้านักศึกษาของเราเป็นแบบนี้ คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะยึดมั่นอยู่กับความจริงเมื่อถูกต่อต้าน. (มัด. 13:20, 21) เพื่อจะช่วยนักศึกษา เราจำเป็นต้องถามเขาว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเรียน. ถามเขาเพื่อจะรู้ว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งที่กำลังพิจารณาและทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น. จากนั้น ช่วยเขาให้หาเหตุผลจากพระคัมภีร์เพื่อในที่สุดเขาจะสามารถลงความเห็นอย่างถูกต้องด้วยตัวเขาเอง. (ฮีบรู 5:14) ถ้าเราใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพ นักศึกษาของเราน่าจะเข้มแข็งมั่นคงในทางของความจริงและสามารถรักษาความซื่อสัตย์เมื่อถูกต่อต้านหรือถูกล่อใจ. (โกโล. 2:6-8) เราอาจทำอะไรได้อีกเพื่อทำหน้าที่ของเราในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดีให้สำเร็จ?

ผู้เผยแพร่ข่าวดีที่ดีช่วยเหลือกันและกัน

17, 18. เมื่อไปประกาศด้วยกันกับเพื่อนผู้ประกาศและเขาเป็นฝ่ายพูด คุณจะช่วยเขาได้อย่างไร?

17 พระเยซูทรงส่งเหล่าสาวกออกไปในงานประกาศเป็นคู่ๆ. (มโก. 6:7; ลูกา 10:1) ในเวลาต่อมา อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “เพื่อนร่วมงาน” ที่ได้ทำงานประกาศข่าวดี “เคียงข้าง” ท่าน. (ฟิลิป. 4:3) โดยอาศัยแบบอย่างที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ในปี 1953 องค์การได้เริ่มต้นโครงการที่ให้ผู้ประกาศช่วยฝึกอบรมคนอื่นๆในงานรับใช้.

18 เมื่อคุณไปประกาศด้วยกันกับผู้ประกาศอีกคนหนึ่ง คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเขาขณะที่เขาพูดกับเจ้าของบ้าน? (อ่าน 1 โครินท์ 3:6-9) คุณควรเปิดข้อคัมภีร์ที่เพื่อนผู้ประกาศอ่านกับเจ้าของบ้านและดูตาม. จงสนใจฟังเมื่อเพื่อนผู้ประกาศและเจ้าของบ้านพูด. ตั้งใจฟังเรื่องที่พวกเขาสนทนากันเผื่อว่าอาจมีความจำเป็นที่คุณจะช่วยหาเหตุผลกับเจ้าของบ้าน. (ผู้ป. 4:12) แต่ระวังอย่าพูดสอดแทรกเมื่อเพื่อนผู้ประกาศกำลังพูดได้ดีหรือเมื่อเจ้าของบ้านกำลังพูด. หากคุณแสดงความกระตือรือร้นอย่างขาดการควบคุมตัวเองเช่นนั้น คุณอาจทำให้เพื่อนผู้ประกาศหมดกำลังใจหรืออาจทำให้เจ้าของบ้านสับสน. ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะให้ความเห็นสั้นๆสักจุดหนึ่งหรือสองจุดเมื่อเห็นว่าเหมาะสม แต่หลังจากนั้นคุณควรให้เพื่อนผู้ประกาศได้ดำเนินการสนทนาต่อไป.

19. เราควรจำอะไรไว้เสมอ และเพราะเหตุใด?

19 ขณะเดินจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง คุณกับเพื่อนผู้ประกาศจะช่วยกันและกันให้เป็นผู้ประกาศที่ดีได้อย่างไร? คุณอาจใช้เวลานั้นคุยกันถึงวิธีที่จะนำเสนอเรื่องให้ดียิ่งขึ้น. ระวังอย่าพูดถึงผู้คนในเขตประกาศของคุณอย่างที่อาจทำให้ท้อใจ. ในทำนองเดียวกัน อย่าบ่นต่อว่าพี่น้อง. (สุภา. 18:24) เราควรจำไว้ว่าไม่มีใครในพวกเราเป็นคนสมบูรณ์. พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณาต่อเราเป็นพิเศษโดยทรงมอบงานประกาศข่าวดีซึ่งเป็นงานที่มีค่าอย่างยิ่งแก่เรา. (อ่าน 2 โครินท์ 4:1, 7) ดังนั้น ขอให้เราทุกคนแสดงความขอบคุณต่อสิทธิพิเศษที่เราได้รับโดยพยายามทำหน้าที่ของเราในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดีให้ดีที่สุด.