ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมี “มีใจแรงกล้าเพื่อการดี” ไหม?

คุณมี “มีใจแรงกล้าเพื่อการดี” ไหม?

“พระคริสต์เยซู . . . ประทานพระองค์เองเพื่อเรา เพื่อจะ . . . ชำระเราให้เป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นของพระองค์โดยเฉพาะและมีใจแรงกล้าเพื่อการดี.”—ทิทุส 2:13, 14

1, 2. พยานพระยะโฮวาได้รับเกียรติอันสูงส่งอะไร และคุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้?

หลายคนถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งเมื่อได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับความสำเร็จอันโดดเด่นของเขา. ตัวอย่างเช่น บางคนได้รับรางวัลโนเบลจากการช่วยให้สองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันบรรลุข้อตกลงสันติภาพ. แต่นับเป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากเมื่อคนเราได้เป็นตัวแทนของพระเจ้าที่ถูกส่งไปเป็นราชทูตหรืออุปทูตเพื่อช่วยผู้คนให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์!

2 ในฐานะพยานพระยะโฮวา เราเป็นประชาชนเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนั้น. พระเจ้าและพระคริสต์ทรงกำกับดูแลงานของเราเพื่อช่วยผู้คนให้ “คืนดีกับพระเจ้า” ซึ่งก็คือได้มาเป็นมิตรของพระองค์. (2 โค. 5:20) ดังนั้น พระยะโฮวาทรงใช้เราให้นำผู้คนมาหาพระองค์. ผลก็คือ หลายล้านคนในดินแดนต่างๆมากกว่า 235 ดินแดนได้รับความช่วยเหลือให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าและมีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์. (ทิทุส 2:11) เราทำงานประกาศอย่างกระตือรือร้นและเชิญ “คนที่กระหาย” ให้มาเรียนความจริง. (วิ. 22:17) เนื่องจากเราเห็นคุณค่างานมอบหมายอันล้ำค่านี้และทำงานนี้อย่างขยันขันแข็ง อาจเรียกได้อย่างเหมาะสมว่าเราเป็นประชาชนที่ “มีใจแรงกล้าเพื่อการดี.” (ทิทุส 2:14) ต่อไปนี้ เราจะพิจารณาว่าความมีใจแรงกล้าเพื่อการดีของเราจะช่วยคนอื่นๆให้มารู้จักพระยะโฮวาได้อย่างไร. วิธีหนึ่งก็คือโดยงานประกาศของเรา.

จงเลียนแบบความมีใจแรงกล้าของพระยะโฮวาและพระเยซู

3. “ความกระตือรือร้นแห่งพระยะโฮวา” ทำให้เราเชื่อมั่นในเรื่องใด?

3 ยะซายา 9:7 บอกเราว่าพระบุตรของพระเจ้าจะเป็นกษัตริย์และพระองค์จะทำสิ่งดีมากมายเพื่อมนุษยชาติ. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ “ความกระตือรือร้นแห่งพระยะโฮวาจอมโยธา.” ถ้อยคำในข้อคัมภีร์นี้ทำให้เราเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาทรงประสงค์จะช่วย มนุษยชาติให้รอดอย่างแท้จริง. ตัวอย่างที่พระยะโฮวาทรงวางไว้ในเรื่องความกระตือรือร้นหรือความมีใจแรงกล้าแสดงอย่างชัดเจนว่าเราควรมีใจแรงกล้าในงานประกาศที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราทำ. เราสะท้อนความมีใจแรงกล้าของพระยะโฮวาเมื่อเราปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยผู้คนให้มารู้จักพระองค์. ดังนั้น ในฐานะผู้ร่วมงานกับพระเจ้า คุณกำลังทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อประกาศข่าวดีอย่างเต็มที่เท่าที่สภาพการณ์ของคุณจะอำนวยไหม?—1 โค. 3:9

4. พระเยซูทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้อย่างไรในเรื่องความมีใจแรงกล้าและพากเพียรในการรับใช้?

4 พระเยซูทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้ในเรื่องความมีใจแรงกล้าและพากเพียรในการรับใช้. แม้ว่าหลายคนต่อต้านพระองค์และต้องการฆ่าพระองค์ พระองค์ทรงทำงานประกาศอย่างกระตือรือร้นจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลก. (โย. 18:36, 37) เมื่อใกล้ถึงเวลาที่พระเยซูจะทนทุกข์และสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้คนให้มารู้จักพระยะโฮวา.

5. พระเยซูทรงเป็นเหมือนคนงานในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องต้นมะเดื่ออย่างไร?

5 ในฤดูใบไม้ร่วงสากลศักราช 32 พระเยซูทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งมีต้นมะเดื่อที่ไม่เกิดผลมาสามปีแล้ว. เมื่อชายผู้นี้สั่งให้โค่นต้นไม้ต้นนี้ คนงานขอเวลาอีกหน่อยหนึ่งเพื่อพรวนดินใส่ปุ๋ยโดยหวังว่าต้นไม้นี้จะเกิดผล. (อ่านลูกา 13:6-9) ตอนที่พระเยซูตรัสเรื่องนี้ มีผู้คนเพียงเล็กน้อยที่มาเป็นสาวกของพระองค์. แต่ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงประสงค์จะใช้ช่วงเวลาสั้นๆซึ่งเหลืออยู่ประมาณหกเดือนเพื่อเร่งงานประกาศในยูเดียและพีเรีย. ไม่กี่วันก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงกันแสงเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ตอบรับข่าวสารของพระองค์.—มัด. 13:15; ลูกา 19:41

6. ทำไมเราควรทำงานประกาศอย่างขันแข็งยิ่งขึ้น?

6 เนื่องจากใกล้จะถึงอวสานแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมิใช่หรือที่เราจะทำงานประกาศอย่างขันแข็งยิ่งขึ้น? (อ่านดานิเอล 2:41, 42, 44, 45) นับเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมจริงๆที่ได้เป็นพยานของพระยะโฮวา! เราเป็นประชาชนกลุ่มเดียวในโลกที่บอกคนอื่นๆได้ว่าปัญหาของมนุษย์จะได้รับการแก้ไขอย่างไร. นักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเขียนเมื่อไม่นานมานี้ว่าเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าทำไมจึงเกิดเรื่องร้ายๆกับคนดี. แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เราทราบว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น และเรามีหน้าที่รับผิดชอบและสิทธิพิเศษที่จะบอกคนอื่นๆ. เราควร “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ” ขณะที่เราทำงานของพระยะโฮวา. (โรม 12:11) พระยะโฮวาจะทรงอวยพรงานของเรา และเราสามารถช่วยผู้คนให้มารู้จักและรักพระองค์.

น้ำใจเสียสละของเราทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ

7, 8. น้ำใจเสียสละของเราทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญอย่างไร?

7 ดังที่ประสบการณ์ของอัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็น งานประกาศของเราอาจทำให้เรา “อดหลับอดนอน” และ “บางครั้งก็ต้องอดอาหาร.” (2 โค. 6:5) ถ้อยคำดังกล่าวทำให้เห็นภาพของการเสียสละได้อย่างชัดเจน และอาจทำให้เรานึกถึงไพโอเนียร์หลายคนที่จัดให้งานรับใช้มาเป็นอันดับแรกในชีวิตของพวกเขาขณะที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วย. นอกจากนั้น ขอให้นึกถึงมิชชันนารีที่ทำงานหนักเพื่อช่วยผู้คนในต่างประเทศ. (ฟิลิป. 2:17) บางครั้งผู้ปกครองก็ไม่ได้กินข้าวหรืออดหลับอดนอนเพื่อดูแลพี่น้องในประชาคม. ผู้สูงอายุและคนป่วยในประชาคมพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะเข้าร่วมการประชุมและออกไปประกาศ. เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจเมื่อเห็นว่าผู้รับใช้เหล่านี้ของพระเจ้าเต็มใจเสียสละเพื่อรับใช้พระเจ้า. แม้แต่คนอื่นก็ยังสังเกตเห็นว่าการประกาศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา.

8 ในจดหมายที่เขียนถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในสหราชอาณาจักร ผู้อ่านคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่พยานฯกล่าวว่า “ผู้คนเสื่อมศรัทธาในศาสนาไปหมดแล้ว . . . นักเทศน์นักบวชมัวแต่ทำอะไรกันอยู่? พวกเขา ไม่ได้ออกไปหาประชาชนเหมือนกับที่พระคริสต์ทำ . . . ศาสนาเดียวที่ดูเหมือนจะใส่ใจในเรื่องนี้คือพยานพระยะโฮวา. พวกเขาออกไปหาผู้คนและสอนความจริงอย่างแท้จริง.” ในโลกนี้ที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำตามใจตัวเอง น้ำใจเสียสละที่เราแสดงออกทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าได้รับคำสรรเสริญอย่างมาก.—โรม 12:1

ผู้คนอาจประทับใจเมื่อเห็นคุณไปประกาศ

9. อะไรอาจกระตุ้นเราให้รักษาใจแรงกล้าเพื่อการดีในงานรับใช้ของเรา?

9 เราควรทำอะไรถ้าดูเหมือนว่าความกระตือรือร้นของเราในการรับใช้กำลังลดน้อยลง? นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะใคร่ครวญถึงผลดีต่างๆของงานประกาศที่พระยะโฮวาประทานแก่เรา. (อ่านโรม 10:13-15) เพื่อผู้คนจะรอด พวกเขาต้องมีความเชื่อในพระยะโฮวาและร้องออกพระนามพระองค์. พวกเขาไม่อาจทำอย่างนั้นได้ถ้าเราไม่ประกาศและสอนพวกเขา. การตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้น่าจะกระตุ้นเราให้รักษาใจแรงกล้าเพื่อการดีและขยันในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.

ความประพฤติที่ดีชักนำผู้คนให้มารู้จักพระเจ้า

คนอื่นสังเกตเห็นเมื่อคุณซื่อสัตย์และทำงานหนัก

10. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าความประพฤติที่ดีของเราดึงดูดผู้คนให้มาหาพระเจ้า?

10 ความกระตือรือร้นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้คนต้องการรู้จักพระเจ้า. ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาหาพระเจ้าคือความประพฤติที่ดีของเราในฐานะคริสเตียน. เปาโลเน้นความสำคัญของความประพฤติของเราเมื่อท่านเขียนว่า “เราไม่เป็นเหตุให้หลงผิดไม่ว่าในทางใด เพื่องานรับใช้ของเราจะไม่ถูกติเตียน.” (2 โค. 6:3) คำพูดและการกระทำที่ดีงามของเราทำให้คำสอนของพระเจ้างดงาม และอาจดึงดูดใจผู้อื่นให้มานมัสการพระยะโฮวา. (ทิทุส 2:10) ที่จริง เรามักได้ยินว่าผู้คนตอบรับความจริงเมื่อพวกเขาเห็นความประพฤติของเราที่เลียนแบบพระคริสต์.

11. ทำไมเราควรคิดอย่างจริงจังและอธิษฐานเกี่ยวกับวิธีที่ความประพฤติของเราส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ?

11 แม้ว่าความประพฤติที่ดีของเราอาจทำให้ผู้คน อยากเรียนรู้ความจริง แต่ความประพฤติที่ไม่ดีก็อาจทำให้ผู้คนไม่อยากรู้จักพระยะโฮวาเลย. ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในที่ทำงาน ที่บ้าน หรือที่โรงเรียน เราควรระวังที่จะไม่ทำสิ่งใดที่อาจทำให้บางคนเลิกสนใจเรื่องพระเจ้า. ถ้าเรา “จงใจทำบาปเป็นอาจิณ” เราจะสูญเสียสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาตลอดไป. (ฮีบรู 10:26, 27) นี่น่าจะทำให้เราคิดอย่างจริงจังและอธิษฐานเกี่ยวกับความประพฤติของเรา และพิจารณาว่าความประพฤติของเราส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆอย่างไร. ขณะที่มาตรฐานด้านศีลธรรมของโลกตกต่ำลงเรื่อยๆ ผู้มีหัวใจสุจริตน่าจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นถึง “ความแตกต่างระหว่าง . . . คนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.” (มลคี. 3:18) ความประพฤติที่ดีของเราในฐานะคริสเตียนเป็นแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยผู้คนให้ต้องการเป็นมิตรของพระเจ้า.

12-14. การที่เราอดทนการทดสอบความเชื่อส่งผลอย่างไรต่อคนอื่น? จงยกตัวอย่าง.

12 ในจดหมายฉบับที่สองที่เขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์ เปาโลอธิบายว่าท่านถูกข่มเหง ถูกเฆี่ยน ถูกจำคุก เพราะผู้คนต่อต้านงานประกาศของท่าน. (อ่าน 2 โครินท์ 6:4, 5) เมื่อเราถูกต่อต้าน ความอดทนของเราอาจช่วยผู้อื่นให้ตอบรับความจริง. ตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีมาแล้ว มีบางคนในประเทศแองโกลาพยายามกำจัดพยานพระยะโฮวาให้หมดไปจากพื้นที่ของพวกเขา. พยานฯที่รับบัพติสมาแล้วสองคนกับผู้สนใจอีก 30 คนที่เข้าร่วมการประชุมของเราถูกล้อม. แล้วพวกผู้ต่อต้านก็ต้อนชาวบ้านมาดูพวกเขาเฆี่ยนตีเหยื่อที่ไร้ความผิดเหล่านี้จนถึงขั้นเลือดตกยางออก แม้แต่ผู้หญิงและเด็กก็ไม่เว้น. พวกเขามีเจตนาที่จะขู่ชาวบ้านให้กลัว เพื่อไม่ให้ใครกล้าฟังพยานพระยะโฮวา. แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ หลายคนในชุมชนนั้นมาหาพยานฯและขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิล! ผลก็คือ งานประกาศดำเนินต่อไป มีคนเข้ามาในความจริงมากขึ้น และพี่น้องได้รับพระพรอย่างมากมาย.

13 ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการที่เรายืนหยัดมั่นคงเพื่อทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอาจก่อผลกระทบอย่างมากต่อคนอื่น. ความกล้าหาญของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆอาจกระตุ้นใจผู้คนให้คืนดีกับพระเจ้า. (กิจ. 5:17-29) ในกรณีของเรา เพื่อนนักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัวอาจตอบรับความจริงเมื่อเห็นว่าเรายืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง.

14 ไม่ว่าจะในเวลาใดก็ตาม มีพี่น้องของเราบางคนถูกข่มเหง. ตัวอย่างเช่น ในเวลานี้มีพี่น้องชายประมาณ 40 คนในอาร์เมเนียถูกจำคุกเพราะไม่ยอมเป็นทหาร และคงจะมีอีกหลายคนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า. ที่ประเทศเอริเทรีย พยานฯทั้งชายและหญิง 55 คนถูกจำคุก และบางคนอายุมากกว่า 60 ปี. ที่ประเทศเกาหลีใต้ พยานฯประมาณ 700 คนถูกจำคุกเพราะไม่ยอมเป็นทหาร. สถานการณ์ของพี่น้องในประเทศนี้เป็นอย่างนี้มาเป็นเวลาประมาณ 60 ปีแล้ว. ให้เราอธิษฐานขอให้ความซื่อสัตย์ของพี่น้องที่ถูกข่มเหงในประเทศต่างๆทำให้พระเจ้าได้รับคำสรรเสริญและช่วยคนที่รักความชอบธรรมให้ตอบรับความจริง.—เพลง. 76:8-10

15. จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าความซื่อสัตย์ของเราอาจดึงดูดใจคนอื่นให้อยากเรียนรู้ความจริง.

15 การที่เราเป็นคนซื่อสัตย์อาจดึงดูดใจผู้คนให้อยากเรียนรู้ความจริงด้วย. (อ่าน 2 โครินท์ 6:4, 7) ตัวอย่างเช่น เมื่อพี่น้องหญิงคนหนึ่งกำลังหย่อนเงินใส่ช่องเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง หญิงคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันบอกเธอว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าโดยสารก็ได้เพราะเธอโดยสารแค่ระยะทางสั้นๆ. พี่น้องหญิงอธิบายกับหญิงคนนี้ว่าการจ่ายค่าโดยสารเป็นเรื่องถูกต้อง แม้แต่จะนั่งแค่ป้ายเดียวก็ตาม. หลังจากนั้น เมื่อหญิงคนนี้ลงรถไป คนขับรถโดยสารคันนี้ก็ถามพี่น้องหญิงว่า “คุณเป็นพยานพระยะโฮวาใช่ไหม?” เธอตอบว่า “ใช่ค่ะ. ทำไมคุณถามอย่างนี้คะ?” เขาบอกว่า “ผมได้ยินคุณคุยกันเรื่องจ่ายค่าโดยสาร. มีน้อยคนที่ทำอย่างนี้ และผมรู้ว่าพยานพระยะโฮวาซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” ไม่กี่เดือนต่อมา ที่หอประชุม มีชายคนหนึ่งเข้ามาหาพี่น้องหญิง คนนี้และพูดว่า “จำผมได้ไหมครับ? ผมคือคนขับรถเมล์ที่พูดกับคุณเรื่องจ่ายค่าโดยสาร. เพราะสังเกตเห็นความซื่อสัตย์ของคุณ ผมเลยตัดสินใจเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา.” เมื่อผู้คนเห็นว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์ พวกเขาจึงเชื่อข่าวดีที่เราประกาศ.

จงแสดงคุณลักษณะที่ทำให้พระเจ้าได้รับคำสรรเสริญเสมอ

16. อาจเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราแสดงคุณลักษณะที่ดี เช่น ความอดกลั้นไว้นาน ความรัก และความกรุณา? จงยกตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกหัวหน้าศาสนาเท็จทำ.

16 เรามีส่วนในการชักนำผู้คนให้มาหาพระยะโฮวาเมื่อเราแสดงคุณลักษณะต่างๆที่ดี เช่น ความอดกลั้นไว้นาน ความรัก และความกรุณา. บางคนที่สังเกตดูเราอยู่อาจต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา พระประสงค์ และประชาชนของพระองค์. ทัศนะและการกระทำของคริสเตียนแท้ต่างกันมากกับคนที่แสดงความเลื่อมใสในศาสนาแต่เพียงเปลือกนอกและหน้าซื่อใจคด. ผู้นำทางศาสนาบางคนร่ำรวยขึ้นมาด้วยการฉ้อโกงเงินจากบรรดาสาวก และใช้เงินจำนวนมากที่ได้มาเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ที่หรูหราสำหรับตัวเอง. หัวหน้าศาสนาคนหนึ่งถึงกับสร้างบ้านติดแอร์ให้สุนัขของเขา! ที่จริง หลายคนที่อ้างว่าเป็นสาวกของพระคริสต์ไม่ได้ทำอย่างที่พระคริสต์ทรงสั่งไว้ที่ว่า “จงให้เปล่าๆ.” (มัด. 10:8) ตรงกันข้าม พวกเขาเป็นเหมือนกับพวกปุโรหิตที่ไม่เชื่อฟังในชาติอิสราเอลโบราณซึ่ง “สั่งสอนเพราะเห็นแก่สินจ้าง” และหลายสิ่งที่พวกเขาสอนไม่สอดคล้องกับความรู้ในพระคัมภีร์. (มีคา 3:11) การกระทำที่หน้าซื่อใจคดเช่นนั้นไม่มีทางช่วยใครให้คืนดีกับพระเจ้าได้.

17, 18. (ก) เราจะสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยการกระทำของเราได้อย่างไร? (ข) อะไรกระตุ้นคุณให้พากเพียรในการดี?

17 ในทางตรงกันข้าม ผู้คนรู้สึกประทับใจเมื่อเห็นว่าเราสอนความจริงและทำดีต่อเพื่อนบ้าน. ตัวอย่างเช่น ไพโอเนียร์คนหนึ่งพูดกับหญิงสูงอายุที่หน้าบ้าน แต่เธอบอกเขาทันทีว่าเธอไม่สนใจ. เธอบอกว่าตอนที่เขากดกระดิ่ง เธอกำลังปีนบันไดเพื่อเปลี่ยนหลอดไฟในห้องครัว. เขาบอกเธอว่า “มันอันตรายนะครับที่คุณป้าจะเปลี่ยนหลอดไฟเอง.” ไพโอเนียร์คนนี้ช่วยเปลี่ยนหลอดไฟให้แล้วก็ไปประกาศบ้านอื่นต่อไป. เมื่อลูกชายของหญิงคนนี้รู้เรื่องที่เกิดขึ้น เขาประทับใจมากจึงพยายามไปตามหาพี่น้องคนนี้เพื่อจะขอบคุณ. ในที่สุด เขาตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.

18 ทำไมคุณจึงต้องการจะมีใจแรงกล้าเพื่อการดีอยู่เสมอ? อาจเป็นเพราะคุณทราบว่าเมื่อเรามีใจแรงกล้าเพื่องานรับใช้และทำสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า เรานำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวาและอาจช่วยคนอื่นๆให้ได้รับความรอด. (อ่าน 1 โครินท์ 10:31-33) อีกเหตุผลหนึ่งที่เรามีใจแรงกล้าในการประกาศและมีความประพฤติที่ดีคือเพราะเราต้องการจริงๆที่จะแสดงความรักต่อพระเจ้าและต่อคนอื่นๆ. (มัด. 22:37-39) ถ้าเรามีใจแรงกล้าเพื่อการดี เราจะมีความยินดีและความอิ่มใจอย่างแท้จริงในขณะนี้. ยิ่งกว่านั้น เราสามารถมองไปถึงวันนั้นเมื่อมนุษย์ทั้งสิ้นมีความสุขในการนมัสการและสรรเสริญพระยะโฮวาพระผู้สร้างของเรา.