ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรักษามรดกของคุณไว้ด้วยการเลือกอย่างฉลาด

จงรักษามรดกของคุณไว้ด้วยการเลือกอย่างฉลาด

“จงเกลียดสิ่งชั่ว จงยึดมั่นกับสิ่งดี.”—โรม 12:9

1, 2. (ก) อะไรช่วยคุณให้ตัดสินใจรับใช้พระเจ้า? (ข) บทความนี้จะตอบคำถามอะไรเกี่ยวกับมรดกที่เราได้รับจากพระยะโฮวา?

หลายล้านคนได้เลือกอย่างฉลาดที่จะรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าและดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์อย่างใกล้ชิด. (มัด. 16:24; 1 เป. 2:21) การอุทิศตัวของเราแด่พระเจ้าเป็นการตัดสินใจที่จริงจัง. เราไม่ได้ตัดสินใจหลังจากเรียนรู้ความจริงพื้นฐานเพียงไม่กี่ข้อในพระคัมภีร์ แต่หลังจากที่ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วนและเสริมความเชื่อของเราในเรื่องมรดกที่พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานแก่เรา. พระองค์จะประทานมรดกนี้แก่ทุกคนที่เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และพระเยซูคริสต์ต่อๆไป.—โย. 17:3; โรม 12:2

2 หากเราต้องการรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา เราต้องเลือกทำสิ่งที่พระองค์พอพระทัยเสมอ. บทความนี้จะตอบคำถามสำคัญต่อไปนี้: มรดกที่เราได้รับจากพระยะโฮวาคืออะไร? มรดกนี้ควรสำคัญขนาดไหนสำหรับเรา? เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะได้รับมรดกนี้? อะไรจะช่วยเราเลือกอย่างฉลาด?

มรดกของเราคืออะไร?

3. (ก) เหล่าผู้ถูกเจิมจะได้รับมรดกอะไร? (ข) “แกะอื่น” จะได้รับมรดกอะไร?

3 มีคริสเตียนเพียงเล็กน้อยที่มีความหวังจะได้รับชีวิตอมตะในสวรรค์เป็นมรดก. พวกเขาจะมีสิทธิพิเศษได้ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในราชอาณาจักร. (1 เป. 1:3, 4) คนที่จะได้รับมรดกนี้ต้อง “เกิดใหม่.” (โย. 3:1-3) มรดกสำหรับหลายล้านคนที่เป็น “แกะอื่น” ของพระเยซูซึ่งร่วมประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ากับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมคืออะไร? (โย. 10:16) แกะอื่นจะได้รับสิ่งที่อาดามและฮาวาไม่ได้รับ คือชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่ เป็นอุทยานโดยไม่ต้องเป็นทุกข์คร่ำครวญและตายอีกต่อไป. (วิ. 21:1-4) ขณะที่พระเยซูอยู่บนเสาทรมาน พระองค์ทรงสัญญากับชายคนหนึ่งว่าเขาจะได้รับมรดกของเขา. พระเยซูตรัสว่า “ในวันนี้ เราบอกเจ้าตามจริงว่า เจ้าจะอยู่กับเราในอุทยานเป็นแน่.”—ลูกา 23:43

4. เราได้รับพระพรอะไรอยู่แล้วในขณะนี้?

4 แต่มรดกของเรารวมถึงพระพรบางอย่างที่เราได้รับอยู่แล้วในตอนนี้. เนื่องจากเราแสดงความเชื่อใน “ค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูทรงชำระแล้ว” เราจึงมีใจสงบและมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้า. (โรม 3:23-25) เรามีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับคำสัญญาต่างๆอันล้ำค่าในพระคำของพระเจ้า. นอกจากนั้น การที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องทั่วโลกยังทำให้เรามีความยินดีอย่างยิ่งด้วย. นับเป็นสิทธิพิเศษจริงๆที่ได้เป็นพยานของพระยะโฮวา. เรามีเหตุผลที่ดีหลายประการที่จะเห็นคุณค่ามรดกที่เราได้รับ!

5. ซาตานพยายามทำอะไรต่อประชาชนของพระเจ้า และอะไรจะช่วยเราให้ยืนหยัดต้านทานกลอุบายของมันได้?

5 เพื่อจะรักษามรดกของเราไว้ให้มั่น เราต้องตื่นตัวและระวังกับดักของซาตาน. ซาตานพยายามล่อลวงประชาชนของพระเจ้าให้ทำสิ่งที่ไม่ฉลาดซึ่งจะทำให้พวกเขาสูญเสียมรดกของตน. (อาฤ. 25:1-3, 9) ซาตานรู้ว่ามันจะถูกทำลายในอีกไม่ช้า มันจึงพยายามอย่างหนักเพื่อล่อลวงเราให้ทำผิด. (อ่านวิวรณ์ 12:12, 17) หากเราต้องการ “ยืนหยัดต้านทานกลอุบายของพญามาร” เราต้องมองว่ามรดกของเรามีค่าอย่างยิ่งเสมอ. (เอเฟ. 6:11) มีบทเรียนสำคัญที่เราจะเรียนรู้ได้จากทัศนะที่บุตรหัวปีของยิศฮาคมีต่อมรดกของเขา.

อย่าเป็นเหมือนเอซาว

6, 7. เอซาวคือใคร และเขาน่าจะได้รับมรดกอะไร?

6 เมื่อเกือบ 4,000 ปีที่แล้ว ริบะคาห์ได้ให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดคือ เอซาวกับยาโคบ. เมื่อฝาแฝดคู่นี้โตขึ้น ทั้งสองมีนิสัยใจคอและความชอบต่างกัน. “เอซาวเป็นพรานที่ชำนาญและมักออกไปล่าสัตว์ แต่ยาโคบเป็นคนชอบความสงบ [“ปราศจากตำหนิ,” เชิงอรรถ] และมักอยู่ในเต็นท์.” (เย. 25:27, ล.ม.) โรเบิร์ต อัลเทอร์ ซึ่งเป็นผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล ชี้ว่าคำภาษาฮีบรูที่แปลไว้ว่า “ปราศจากตำหนิ” มีความหมายที่ทำให้คิดถึง “ความซื่อสัตย์จงรักภักดีหรือแม้แต่การไม่ทำผิด.”

7 อับราฮามปู่ของเอซาวและยาโคบเสียชีวิตตอนที่ทั้งสองอายุได้ 15 ปี. แต่พระยะโฮวาทรงระลึกถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับอับราฮาม. ต่อมา พระยะโฮวาตรัสคำสัญญานี้อีกครั้งหนึ่งกับยิศฮาค โดยชี้ว่าทุกชาติในโลกจะได้รับพรเพราะพงศ์พันธุ์หรือผู้สืบเชื้อสายของอับราฮาม. (อ่านเยเนซิศ 26:3-5) โดยวิธีนี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่อับราฮามว่าลูกหลานคนหนึ่งของท่านจะเป็น “ผู้สืบเชื้อสาย” ตามที่พยากรณ์ไว้ในเยเนซิศ 3:15 (ล.ม.) ซึ่งก็คือพระมาซีฮานั่นเอง. เนื่องจากเอซาวเป็นบุตรหัวปีของยิศฮาค เขาจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับตามคำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับอับราฮาม. ด้วยเหตุนี้ พระมาซีฮาน่าจะเป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเอซาว. นี่นับเป็นมรดกอันยอดเยี่ยมจริงๆสำหรับเอซาว! แต่เขาเห็นคุณค่ามรดกนี้ไหม?

อย่าทำสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้คุณสูญเสียมรดกของคุณ

8, 9. (ก) เอซาวทำอย่างไรกับมรดกของเขา? (ข) หลายปีต่อมา เอซาวสำนึกเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้ทำลงไปอย่างไร และเขาทำอะไร?

8 วันหนึ่ง เมื่อกลับจากทุ่งเอซาวเห็นยาโคบกำลังต้มถั่วเลนทิลก็ขอกินบ้างโดยกล่าวว่า “เร็วเข้าให้ฉันกินอะไรแดงๆที่ต้มอยู่นั่นสักหน่อย! ฉันหิวจะตายอยู่แล้ว!” ยาโคบบอกเอซาวว่า “ขายสิทธิ์บุตรหัวปีของพี่ให้ฉันก่อน!” เอซาวจะเลือกทำอย่างไร? ไม่น่าเชื่อที่เขากล่าวว่า “สิทธิ์บุตรหัวปีจะมีประโยชน์อะไรต่อฉัน?” เอซาวเลือกต้มถั่วชามหนึ่งแทนที่จะรักษาสิทธิบุตรหัวปีของตนไว้! เพื่อจะมั่นใจว่าเอซาวขายสิทธิบุตรหัวปีให้จริงๆ ยาโคบกล่าว ว่า “สาบานกับฉันก่อน.” เอซาวขายสิทธิบุตรหัวปีให้โดยไม่ลังเล. “แล้วยาโคบจึงแบ่งขนมปังและถั่วแดงต้มให้เอซาว เขาก็กินดื่มแล้วก็ลุกจากไป.” การกระทำดังกล่าวของเอซาวแสดงให้เห็นว่าเขาถือว่าสิทธิบุตรหัวปีไม่มีค่าและไม่สำคัญสำหรับเขา.—เย. 25:29-34, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

9 หลายปีต่อมา เมื่อยิศฮาคคิดว่าท่านกำลังจะตาย ริบะคาห์ได้จัดการเพื่อให้แน่ใจว่ายาโคบจะได้รับสิทธิบุตรหัวปีที่เอซาวได้ขายให้. เมื่อเอซาวสำนึกว่าได้ทำสิ่งที่โง่เขลาด้วยการขายสิทธิบุตรหัวปี เขาวิงวอนยิศฮาคว่า “บิดาเจ้าข้า, ขออวยพรแก่ฉันด้วยเถิด . . . พ่อไม่มีพรให้ฉันอีกหรือ?” เมื่อยิศฮาคบอกว่าท่านเปลี่ยนพรที่ให้ยาโคบไปแล้วไม่ได้ เอซาวก็ร้องไห้อย่างขมขื่น.—เย. 27:30-38

10. พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรต่อเอซาวและยาโคบ และทำไมพระองค์จึงรู้สึกอย่างนั้น?

10 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้เกี่ยวกับทัศนคติของเอซาว? เขาแสดงให้เห็นว่าความปรารถนาทางกายสำคัญต่อเขายิ่งกว่าการได้รับพระพรที่พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานเป็นมรดก. เอซาวไม่เห็นคุณค่าสิทธิบุตรหัวปีและไม่รักพระเจ้าอย่างแท้จริง. นอกจากนั้น เอซาวยังไม่สนใจด้วยว่าการกระทำของเขาจะส่งผลอย่างไรต่อลูกหลาน. ตรงกันข้าม ยาโคบเห็นคุณค่ามรดกของท่าน. ตัวอย่างเช่น ยาโคบเต็มใจทำตามคำแนะนำของบิดามารดาเกี่ยวกับการเลือกคนที่จะมาเป็นภรรยา แม้ว่าต้องอดทนและเสียสละอย่างมาก. (เย. 27:46–28:3) พระยะโฮวาทรงอวยพรที่ยาโคบเชื่อฟังโดยโปรดให้ท่านเป็นบรรพบุรุษของพระมาซีฮา. พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อเอซาวและยาโคบ? พระยะโฮวาตรัสโดยทางผู้พยากรณ์มาลาคีว่า “เราได้รักยาโคบและชังเอซาว.”—มลคี. 1:2, 3

11. (ก) ทำไมเรื่องของเอซาวจึงเป็นประโยชน์สำหรับเราที่เป็นคริสเตียน? (ข) เมื่อพรรณนาสิ่งที่เอซาวทำ ทำไมเปาโลจึงกล่าวถึงการผิดประเวณีด้วย?

11 เรื่องของเอซาวมีบทเรียนที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา. อัครสาวกเปาโลเตือนคริสเตียนให้ระวัง “เพื่อจะไม่มีคนผิดประเวณีหรือคนที่ไม่รู้คุณค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนเอซาวที่ได้เอาสิทธิบุตรหัวปีของตนไปแลกกับอาหารมื้อเดียว.” (ฮีบรู 12:16) เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากคำเตือนดังกล่าว. เราต้องเห็นค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอเพื่อจะต้านทานการล่อใจและรักษามรดกของเราไว้. เมื่อเปาโลพรรณนาสิ่งที่เอซาวทำ ทำไมเปาโลจึงกล่าวถึงการผิดประเวณีด้วย? ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะถ้าเราทำเหมือนเอซาวและปล่อยให้ความปรารถนาทางกายครอบงำเรา อาจเป็นไปได้มากทีเดียวที่เราจะพลาดพลั้งทำผิดร้ายแรงอย่างเช่นการผิดประเวณี ซึ่งทำให้เราสูญเสียมรดกของเรา.

 เตรียมหัวใจของคุณตั้งแต่ตอนนี้

12. (ก) ซาตานพยายามอย่างไรเพื่อล่อใจเราแต่ละคน? (ข) ตัวอย่างอะไรในพระคัมภีร์ที่ช่วยเราได้เมื่อถูกล่อใจให้ทำผิด?

12 ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจล่อใจเราให้ทำผิดศีลธรรม. และถ้ามีใครมาล่อลวงเรา ให้เราอธิษฐานขอพระยะโฮวาพระเจ้าช่วยเราให้ต้านทานการล่อใจนั้น. (มัด. 6:13) เราพยายามอย่างมากเพื่อรักษาความซื่อสัตย์จงรักภักดีของเราในโลกชั่วนี้ แต่ซาตานพยายามอยู่เสมอที่จะทำให้สายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาอ่อนลง. (เอเฟ. 6:12) ซาตานเป็นพระเจ้าของระบบชั่วนี้ และมันรู้วิธีที่จะใช้สิ่งล่อใจต่างๆเพื่อทำให้คนเราพ่ายแพ้แก่ความปรารถนาที่ไม่ถูกต้อง. (1 โค. 10:8, 13) มันพยายามทำอย่างนี้กับเราแต่ละคน. จะว่าอย่างไรถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกล่อใจให้สนองความปรารถนาที่ผิดๆ? คุณจะเลือกทำเช่นไร? คุณจะเป็นเหมือนเอซาวไหมที่พ่ายแพ้แก่การล่อใจอย่างง่ายดาย? หรือคุณจะต้านทานและหนีจากการล่อใจเหมือนกับโยเซฟ บุตรชายของยาโคบ เมื่อเขาถูกภรรยาของโพติฟาชักชวนให้ทำผิดศีลธรรม?—อ่านเยเนซิศ 39:10-12

13. (ก) ในทุกวันนี้ หลายคนทำเช่นเดียวกับโยเซฟอย่างไร แต่บางคนทำเหมือนกับเอซาวอย่างไร? (ข) เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่ทำเหมือนกับเอซาว?

13 พี่น้องของเราหลายคนเผชิญการล่อใจหลายอย่างที่ทำให้พวกเขาต้องเลือกว่าจะทำเหมือนกับเอซาวหรือโยเซฟ. พี่น้องส่วนใหญ่ประพฤติอย่างฉลาดสุขุมและทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี. (สุภา. 27:11) แต่มีบางคนที่เลือกทำเหมือนกับเอซาวและไม่ได้รักษามรดกของพวกเขาไว้. ในแต่ละปีมีหลายคนถูกว่ากล่าวหรือถูกตัดสัมพันธ์เพราะทำผิดศีลธรรมทางเพศ. เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเตรียมหัวใจตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเราจะเข้มแข็งพอที่จะต้านทานการล่อใจใดๆในวันข้างหน้าได้! (เพลง. 78:8) เราจะพิจารณาสองสิ่งที่เราทำได้เพื่อเตรียมเราไว้ให้พร้อมที่จะต้านทานการล่อใจและเลือกอย่างฉลาด.

คิดและเตรียมตัวไว้ให้พร้อม

การศึกษาพระคำของพระเจ้าจะช่วยเราให้ต้านทานการล่อใจได้

14. การใคร่ครวญคำถามอะไรบ้างที่อาจช่วยเราให้เกลียดสิ่งชั่วและรักสิ่งดี?

14 ขั้นตอนแรกคือคิดถึงผลของการทำผิด. ยิ่งเรารักพระยะโฮวามากเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นคุณค่ามรดกของเรามากเท่านั้น. เมื่อเรารักใครคนหนึ่ง เราไม่ต้องการทำให้เขาเจ็บปวดใจ. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เขามีความสุข. ในเมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงควรคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับเราและคนอื่นๆถ้าเราพ่ายแพ้การล่อใจ. เราควรถามตัวเองว่า ‘การกระทำที่เห็นแก่ตัวของฉันจะส่งผลต่อสายสัมพันธ์ของฉันกับพระยะโฮวาอย่างไร? การทำผิดนั้นจะส่งผลต่อครอบครัวของฉันอย่างไร? การทำอย่างนั้นจะส่งผลต่อพี่น้องในประชาคมอย่างไร? การกระทำของฉันจะทำให้คนอื่นสะดุดไหม?’ (ฟิลิป. 1:10) เราอาจถามตัวเองได้ด้วยว่า ‘ความเพลิดเพลินชั่วครู่ชั่วยามที่จะได้นั้นคุ้มกับความปวดร้าวใจที่จะเกิดขึ้นเพราะการทำผิดของฉันไหม? ฉันอยากเป็นเหมือนเอซาวจริงๆไหมที่ร้องไห้อย่างขมขื่นเมื่อรู้ว่าการกระทำของเขาทำให้เขาได้รับผลเช่นไร?’ (ฮีบรู 12:17) การใคร่ครวญคำถามเหล่านี้จะช่วยเราให้ “เกลียดสิ่งชั่ว” และ “ยึดมั่นกับสิ่งดี.” (โรม 12:9) เมื่อเรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง เราจะพยายามจริงๆที่จะรักษามรดกของเราไว้.—เพลง. 73:28

15. อะไรจะช่วยเราให้พร้อมจะต้านทานการล่อใจและรักษาสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าไว้?

15 ขั้นตอนที่สองคือเตรียมตัวเราเองไว้ให้พร้อมจะต้านทานการล่อใจ. พระยะโฮวาทรงจัดให้เรามีหลายวิธีที่จะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อต้านทานการล่อใจจากโลกและรักษาสายสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ไว้. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นวิธีได้รับประโยชน์จากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล การประชุม การประกาศ และการอธิษฐาน. (1 โค.  15:58) แต่ละครั้งที่เราบอกความรู้สึกที่แท้จริงของเรากับพระยะโฮวาในคำอธิษฐานและทุกครั้งที่เราทำงานหนักในงานประกาศ เรากำลังเตรียมตัวเราเองไว้ให้พร้อมจะต้านทานการล่อใจ. (อ่าน 1 ติโมเธียว 6:12, 19) เราจะเข้มแข็งและพร้อมที่จะต้านทานการล่อใจขนาดไหน ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับว่าเราได้พยายามทำสิ่งเหล่านี้มากขนาดไหน. (กลา. 6:7) สุภาษิตบทสองเน้นเรื่องนี้.

“เสาะหา” ต่อๆไป

16, 17. อะไรจะช่วยเราให้เลือกทำสิ่งที่ฉลาดสุขุม?

16 สุภาษิตบท 2 สนับสนุนให้เราพยายามเพื่อจะมีสติปัญญาและความสามารถในการคิด. คุณลักษณะทั้งสองนี้ที่พระยะโฮวาประทานแก่เราจะช่วยเราให้เลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง และจะช่วยเราให้ควบคุมความปรารถนาของเราแทนที่จะทำตามใจตัวเอง. แต่เพื่อจะทำอย่างนี้ได้เราต้องพร้อมจะพยายาม. คัมภีร์ไบเบิลเน้นหลักความจริงพื้นฐานนี้โดยกล่าวว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, ถ้า เจ้าจะรับคำของเรา, และจะรักษาบัญญัติของเราไว้กับเจ้า; ยอมที่จะตะแคงหูของเจ้าลงฟังพระปัญญา, และน้อมใจของเจ้าลงเพื่อความเข้าใจ; เออ, ถ้า เจ้าจะร้องหาความรู้, และส่งเสียงของเจ้าวอนหาความเข้าใจ; ถ้า เจ้าจะเสาะหาพระปัญญาเหมือนหาเงิน, และขุดค้นหาพระปัญญาเหมือนหนึ่งทรัพย์ที่ซ่อนอยู่นั้น; เมื่อนั้นเจ้าจะเข้าใจความยำเกรงพระยะโฮวา, และจะพบความรู้ของพระเจ้า. เพราะว่าพระยะโฮวาพระราชทานปัญญาความรู้และความเข้าใจออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—สุภา. 2:1-6

17 ถ้าเราทำอย่างที่กล่าวในข้อเหล่านี้ เราจะเลือกทำสิ่งที่ฉลาดสุขุมได้. เราจะต้านทานการล่อใจได้ถ้า เราให้คำสอนของพระยะโฮวาเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวตนที่แท้จริงของเรา ถ้า เราอธิษฐานขอการชี้นำจากพระเจ้าเสมอ และถ้า เราเสาะหาความรู้ของพระเจ้าอยู่เสมอเหมือนเสาะหาทรัพย์ที่ซ่อนอยู่.

18. คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไรต่อๆไป และทำไมคุณจึงตั้งใจอย่างนั้น?

18 พระยะโฮวาประทานความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และสติปัญญาแก่คนที่พยายามแสวงหาของประทานเหล่านี้. ยิ่งเราค้นหาและใช้ของประทานดังกล่าวมากเท่าไร เราก็จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวาพระเจ้า. เมื่อเป็นอย่างนั้น สายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่เรามีกับพระองค์ก็จะปกป้องเราไว้เมื่อถูกล่อใจ. หากเราใกล้ชิดพระยะโฮวาอยู่เสมอและเกรงกลัวพระองค์ เราจะพยายามจริงๆที่จะไม่ทำผิด. (เพลง. 25:14; ยโก. 4:8) ขอให้ความยินดีที่เกิดจากการมีมิตรภาพกับพระยะโฮวาและจากการใช้สติปัญญาของพระองค์กระตุ้นเราทุกคนให้เลือกทำสิ่งที่จะทำให้พระทัยพระยะโฮวายินดีและรักษามรดกของเราไว้.