ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเห็นค่าความเอื้อเฟื้อและความมีเหตุผลของพระยะโฮวา

จงเห็นค่าความเอื้อเฟื้อและความมีเหตุผลของพระยะโฮวา

“[พระยะโฮวา] ทรงดีต่อทุกคน และพระกรุณาของพระองค์อยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์.”—เพลง. 145:9, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน

1, 2. มิตรของพระยะโฮวามีโอกาสที่จะทำอะไร?

พี่น้องหญิงคนหนึ่งชื่อโมนิกาซึ่งแต่งงานมาเกือบ 35 ปีแล้วกล่าวว่า “ดิฉันกับสามีรู้จักกันเป็นอย่างดี. แต่แม้ว่าจะแต่งงานกันมานานแล้วก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับอีกฝ่ายหนึ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน!” หลายคนในพวกเราอาจพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับสามี ภรรยา หรือเพื่อนๆ ว่าเป็นอย่างนั้นด้วย.

2 เรายินดีเรียนรู้จักคนที่เรารักให้มากขึ้น. แต่การเรียนรู้จักพระยะโฮวา มิตรที่ดีที่สุดที่เราจะมีได้ ทำให้เรามีความยินดีมากยิ่งกว่านั้นเสียอีก. เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระองค์. (โรม 11:33) เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆของพระยะโฮวาได้ตลอดไปและเห็นค่าคุณลักษณะของพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ.—ผู้ป. 3:11

3. เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้?

3 บทความก่อนช่วยเราให้เห็นค่าคุณลักษณะสองอย่างของพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น. เราได้เรียนรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายและไม่ลำเอียง. ในบทความนี้ เราจะเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงมีความเอื้อเฟื้อและมีเหตุผลมากขนาดไหน. บทความนี้จะช่วยเราให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าพระยะโฮวา “ทรงดีต่อทุกคน และพระกรุณาของพระองค์อยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์.”—เพลง. 145:9, ฉบับมาตรฐาน

พระยะโฮวาทรงเอื้อเฟื้อ

4. ความเอื้อเฟื้อหมายถึงอะไร?

4 ความเอื้อเฟื้อหมายถึงอะไร? เราพบคำตอบได้ในคำตรัสของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ในกิจการ 20:35 ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” ดังนั้น คนเอื้อเฟื้อคือคนที่ยินดี ให้เวลา กำลัง และสิ่งที่เขามีเพื่อช่วยคนอื่น. การที่จะบอกว่าใครเป็นคนเอื้อเฟื้อ นั้นไม่ใช่เพราะเขาให้ของขวัญราคาแพงๆแก่คนอื่น แต่เพราะเมื่อเขาให้อะไรแก่คนอื่นเขาให้ด้วยความยินดี. (อ่าน 2 โครินท์ 9:7) ไม่มีใครเอื้อเฟื้อมากไปกว่าพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้มีความสุข.”—1 ติโม. 1:11

5. พระยะโฮวาทรงแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างไร?

5 พระยะโฮวาทรงแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระยะโฮวา “ทรงดีต่อทุกคน.” พระองค์ประทานสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องได้รับ รวมทั้งคนที่ไม่ได้นมัสการพระองค์ด้วย. พระองค์ “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงแก่คนดีและคนชั่ว อีกทั้งทรงบันดาลให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” (มัด. 5:45) ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงบอกกับคนที่ไม่ใช่คริสเตียนได้ว่าพระยะโฮวา “ทรงทำการดีด้วยการให้มีฝนตกจากฟ้าและมีฤดูที่เกิดผลอุดมสมบูรณ์ ทำให้พวกท่านมีอาหารบริบูรณ์และมีใจเปี่ยมด้วยความยินดี.” (กิจ. 14:17) เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงเอื้อเฟื้อต่อมนุษย์ทุกคน.—ลูกา 6:35

6, 7. (ก) พระยะโฮวาทรงยินดีที่จะช่วยใครเป็นพิเศษ? (ข) มีตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระเจ้าทรงดูแลผู้รับใช้ของพระองค์?

6 พระยะโฮวาทรงยินดีเป็นพิเศษในการประทานสิ่งจำเป็นแก่ผู้รับใช้ของพระองค์. กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นคนหนุ่ม, จนบัดนี้เป็นคนชราแล้ว; ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน.” (เพลง. 37:25) คริสเตียนที่ซื่อสัตย์หลายคนได้ประสบด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาทรงดูแลเอาใจใส่พวกเขา.

7 ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ไพโอเนียร์คนหนึ่งชื่อแนนซีตกอยู่ในฐานะลำบาก. เธอเล่าว่า “ดิฉันต้องมีเงิน 66 ดอลลาร์เพื่อจะจ่ายค่าเช่าบ้านในวันถัดไป. แต่ดิฉันไม่รู้ว่าจะหาเงินจำนวนนี้ได้อย่างไร. ดิฉันอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วก็ไปทำงาน. ดิฉันทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ. จริงๆแล้ว ดิฉันไม่ได้คิดเลยว่าจะได้ทิปมากในวันนั้นเพราะเป็นวันที่มักไม่ค่อยมีลูกค้า. แต่แล้วดิฉันก็ต้องประหลาดใจที่คืนนั้นมีลูกค้ามาที่ภัตตาคารเยอะมาก. เมื่อออกกะแล้วดิฉันนับดูทิปที่ได้ ปรากฏว่าดิฉันได้ทิปทั้งหมด 66 ดอลลาร์พอดี.” แนนซีเชื่อว่าเป็นพระยะโฮวานั่นเองที่ทรงช่วยเหลือเธออย่างที่เธอจำเป็นต้องได้รับจริงๆ.—มัด. 6:33

8. ของประทานที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวาได้ดีที่สุดคืออะไร?

8 ของประทานที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวาได้ดีที่สุดเป็นสิ่งที่ทุกคนจะรับได้. ของประทานนั้นคืออะไร? เครื่องบูชาไถ่ของพระบุตรของพระองค์นั่นเอง. พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์.” (โย. 3:16) ในที่นี้ คำว่า “โลก” หมายถึงมนุษย์ทั้งสิ้น. ดังนั้น พระ ยะโฮวาทรงให้ของประทานที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อของพระองค์ได้ดีที่สุดแก่ทุกคนที่รับเอา. คนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูจะมีชีวิตนิรันดร์! (โย. 10:10) นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นที่สุดว่าพระยะโฮวาทรงเอื้อเฟื้อ.

จงเลียนแบบความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวา

ชาวอิสราเอลได้รับการสนับสนุนให้เลียนแบบความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวา (ดูข้อ 9)

9. เราจะเลียนแบบความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

 9 เราจะเลียนแบบความเอื้อเฟื้อของพระยะโฮวาได้อย่างไร? พระยะโฮวา “ทรงโปรดให้เรามีทุกสิ่งอย่างอุดมเพื่อให้เรา ชื่นชมยินดี.” ดังนั้น เราควร “พร้อมจะแบ่งปัน” แก่ผู้อื่นเพื่อทำให้พวกเขา ยินดี. (1 ติโม. 6:17-19) เรายินดีให้ของขวัญแก่คนในครอบครัวและเพื่อนๆ และยินดีช่วยคนที่ขัดสน. (อ่านพระบัญญัติ 15:7) อะไรอาจช่วยเราไม่ให้ลืมแสดงความเอื้อเฟื้อ? คริสเตียนบางคนทำอย่างนี้: เมื่อไรก็ตามที่เขาได้รับอะไรบางอย่างจากคนอื่น เขาก็จะหาโอกาสให้อะไรบางอย่างแก่ใครบางคนด้วย. ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเอื้อเฟื้อ.

10. วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดที่เราจะแสดงความเอื้อเฟื้อได้คืออะไร?

10 วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดในการแสดงความเอื้อเฟื้อก็คือการใช้เวลาและกำลังของเราเพื่อช่วยเหลือและหนุนใจคนอื่น. (กลา. 6:10) คุณมีใจเอื้อเฟื้อแบบนี้ไหม? คุณอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันแสดงให้เห็นไหมว่าฉันพร้อมจะฟังคนอื่น? ถ้ามีใครขอให้ช่วยอะไรบางอย่างหรือขอให้ไปทำธุระให้ ฉันยินดีช่วยไหม? ฉันชมคนในครอบครัวหรือพี่น้องในประชาคมครั้งสุดท้ายเมื่อไร?’ เมื่อเรา “ให้” อะไรบางอย่างแก่คนอื่น เราจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวาและเพื่อนๆของเรา.—ลูกา 6:38; สุภา. 19:17

11. มีวิธีใดบ้างที่เราจะเอื้อเฟื้อต่อพระยะโฮวา?

 11 เราสามารถเอื้อเฟื้อต่อพระยะโฮวาได้ด้วย. พระคัมภีร์แนะนำเราว่า “จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเจ้า.” (สุภา. 3:9)  “ทรัพย์” ในที่นี้อาจหมายถึงเวลา กำลัง และทรัพย์สินเงินทองที่เราสามารถใช้ในงานรับใช้. แม้แต่เด็กๆก็สามารถเรียนรู้ที่จะเอื้อเฟื้อต่อพระยะโฮวาได้. เจสัน ซึ่งมีลูกหลายคน บอกว่า “เมื่อครอบครัวเราบริจาคเงินที่หอประชุม เราให้ลูกๆเป็นคนหย่อนเงินใส่กล่องบริจาค. ลูกเราชอบที่ได้ทำหน้าที่นี้และบอกว่า พวกเขา ‘ได้ให้อะไรบางอย่างแก่พระยะโฮวา.’” เด็กๆที่มีความยินดีในการให้แก่พระยะโฮวาตอนที่เขาอายุยังน้อยมักจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีใจเอื้อเฟื้อ.—สุภา. 22:6

พระยะโฮวาทรงมีเหตุผล

12. การเป็นคนมีเหตุผลหมายถึงอะไร?

12 คุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาอีกอย่างหนึ่งคือความมีเหตุผล. ความมีเหตุผลหมายถึงอะไร? (ทิทุส 3:1, 2) คนมีเหตุผลคือคนที่พร้อมจะยอม. เขาจะไม่ยืนกรานว่าต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัดหรืออย่างเข้มงวดในทุกกรณี. เขาจะพยายามปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างกรุณาและพยายามจริงๆที่จะเข้าใจสภาพการณ์ของพวกเขา. เขาพร้อมที่จะฟังคนอื่น และเมื่อเห็นว่าเหมาะ ก็พร้อมจะยอมให้เป็นไปตามความต้องการของคนอื่น.

13, 14. (ก) พระยะโฮวาทรงทำอย่างไรที่แสดงว่าพระองค์ทรงมีเหตุผล? (ข) เราเรียนอะไรได้ในเรื่องความมีเหตุผลจากวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อโลต?

13 พระยะโฮวาทรงทำอย่างไรซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงมีเหตุผล? พระองค์ทรงคำนึงถึงความรู้สึกของผู้รับใช้ของพระองค์ และบ่อยครั้งที่พระองค์ทรงยอมให้พวกเขาทำอย่างที่พวกเขาอยากทำ. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อโลตผู้ชอบธรรม. เมื่อพระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยว่าจะทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ พระองค์ทรงสั่งโลตอย่างชัดเจนว่าท่านต้องหนีไปที่ภูเขา. แต่โลตทูลขออนุญาตจากพระยะโฮวาให้ท่านหนีไปอีกที่หนึ่ง. คิดดูสิ! โลตขอให้พระยะโฮวาเปลี่ยนคำสั่งของพระองค์!—อ่านเยเนซิศ 19:17-20

14 เมื่อคุณอ่านเรื่องนี้ คุณอาจคิดว่าโลตขาดความเชื่อหรือไม่เชื่อฟัง. ที่จริง พระยะโฮวาทรงสามารถคุ้มครองท่านให้รอดได้อย่างแน่นอนไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน จึงไม่มีเหตุผลที่โลตจะต้องกลัว. แต่โลตก็ยังกลัว. พระยะโฮวาทรงคำนึงถึงความรู้สึกของท่านและอนุญาตให้ท่านหนีไปอีกเมืองหนึ่ง แม้ว่าเป็นเมืองที่พระองค์ทรงประสงค์จะทำลายด้วย. (อ่านเยเนซิศ 19:21, 22) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาไม่เข้มงวดหรือเคร่งครัดเกินไป. พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ.

15, 16. พระบัญญัติของโมเซแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงมีเหตุผล? (ดูภาพหน้า 12)

15 พระบัญญัติที่พระยะโฮวาประทานแก่ชาติอิสราเอลก็แสดงให้เห็นด้วยว่าพระองค์ทรงมีเหตุผลอย่างยิ่ง. ตัวอย่างเช่น ถ้าชาวอิสราเอลคนใดยากจนเกินกว่าจะถวายแกะหรือแพะเป็นเครื่องบูชา เขาสามารถถวายนกเขาสองตัวหรือนกพิราบสองตัวได้. แต่จะว่าอย่างไรถ้าชาวอิสราเอลคนใดยากจนมากจนไม่สามารถถวายได้แม้แต่นกสองตัว? ในกรณีเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้เขาถวายแป้งแทนได้. แต่แป้งที่จะถวายนั้นไม่ใช่เป็นแป้งชนิดใดก็ได้. พระบัญญัติกำหนดไว้ว่าแป้งนั้นต้องเป็น “แป้งที่ละเอียด” ซึ่งใช้ในการต้อนรับแขกสำคัญ. (เย. 18:6) เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงมีเหตุผล?—อ่านเลวีติโก 5:7, 11

16 สมมุติว่าคุณเป็นชาวอิสราเอลที่ยากจนมาก. เมื่อคุณมาถึงพลับพลาเพื่อถวายแป้งเป็นเครื่องบูชา คุณสังเกตเห็นชาวอิสราเอลคนอื่นๆที่ร่ำรวยนำสัตว์มาถวาย. คุณอาจรู้สึกอายที่คุณถวายเครื่องบูชาที่ดูเหมือนไม่มีค่า. แต่แล้วคุณก็นึกขึ้นได้ว่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวาเครื่องบูชาของคุณมีค่ามาก. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะพระบัญญัติกำหนดไว้ว่าคุณต้องถวาย “แป้งที่ละเอียด” หรือแป้งที่มีคุณภาพดีเยี่ยม. เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เหมือนกับพระยะโฮวากำลังตรัสกับคุณว่า ‘เรารู้ว่าเจ้าให้มากเหมือนคน อื่นไม่ได้ แต่เรารู้ว่าเจ้าให้สิ่งที่ดีที่สุดที่เจ้าจะให้ได้.’ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาทรงมีเหตุผล. พระองค์ไม่ได้เรียกร้องจากผู้รับใช้ของพระองค์เกินกว่าที่พวกเขาจะให้ได้.—เพลง. 103:14

17. พระยะโฮวาทรงยอมรับการรับใช้แบบไหน?

 17 เรารู้สึกสบายใจที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงมีเหตุผลและพระองค์ยอมรับการรับใช้ของเราที่ทำอย่างสุดชีวิต. (โกโล. 3:23) พี่น้องหญิงสูงอายุชาวอิตาลีคนหนึ่งชื่อคอนสตันซ์กล่าวว่า “สิ่งที่ดิฉันชอบที่สุดก็คือการพูดกับคนอื่นเรื่องพระผู้สร้าง. ดิฉันจึงยังไปประกาศและนำการศึกษาพระคัมภีร์. บางครั้ง ดิฉันนึกเสียใจที่ทำมากกว่านี้ไม่ได้เพราะสุขภาพไม่ดี. แต่ดิฉันรู้ว่าพระยะโฮวาทรงรู้ข้อจำกัดของดิฉันและรู้ว่าพระองค์ทรงรักดิฉันและทรงเห็นค่าสิ่งที่ดิฉันทำได้.”

จงเลียนแบบความมีเหตุผลของพระยะโฮวา

18. วิธีหนึ่งที่พ่อแม่จะเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาได้คืออะไร?

18 เราจะเลียนแบบความมีเหตุผลของพระยะโฮวาได้อย่างไร? ขอให้คิดถึงวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อโลตอีกครั้งหนึ่ง. พระยะโฮวาทรงมีอำนาจที่จะสั่งว่าโลตต้องไปที่ไหน. แต่พระองค์ทรงแสดงความกรุณา ทรงฟังเมื่อโลตบอกความรู้สึกของท่าน และอนุญาตให้โลตไปในที่ที่ท่านอยากไป. ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจะเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาได้ไหม? คุณอาจฟังว่าลูกต้องการอะไร และเมื่อเห็นว่าเหมาะสม ก็ปรับเปลี่ยนวิธีที่คุณจะทำอะไรบางอย่างตามความต้องการของลูก. คุณจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร? หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 2007 กล่าวว่าเมื่อพ่อแม่จะตั้งกฎของครอบครัว ทั้งสองควรฟังสิ่งที่ลูกพูด. ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจต้องการตั้งกฎเกี่ยวกับเวลาที่ลูกต้องกลับถึงบ้านในตอนเย็น. แน่นอน พ่อแม่มีอำนาจที่จะทำอย่างนี้ได้ แต่ทั้งสองอาจพูดกับลูกในเรื่องนี้ก่อนจะตัดสินใจกำหนดเวลา. ในบางกรณี พ่อแม่อาจยอมปรับเวลาที่ลูกควรจะกลับถึงบ้าน ถ้าคำขอของลูกไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อพ่อแม่พูดกับลูกก่อนจะตั้งกฎ ลูกก็จะเข้าใจและพร้อมจะเชื่อฟังมากกว่า.

19. ผู้ปกครองจะพยายามเลียนแบบความมีเหตุผลของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

19 ผู้ปกครองประชาคมควรพยายามเลียนแบบความมีเหตุผลของพระยะโฮวาด้วยการไม่คาดหมายมากเกินไปจากพี่น้อง. ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเห็นค่าเครื่องบูชาของชาวอิสราเอลที่ยากจน. คล้ายกัน พี่น้องบางคนอาจทำได้ไม่มากในงานประกาศเพราะมีปัญหาสุขภาพหรือเพราะอายุมากขึ้น. จะว่าอย่างไรถ้าพวกเขาท้อใจเพราะทำได้ไม่มากอย่างที่พวกเขาอยากทำ? ผู้ปกครองอาจช่วยพวกเขาให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงรักพวกเขาที่ได้รับใช้พระองค์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้.—มโก. 12:41-44

20. การเป็นคนมีเหตุผลในการรับใช้พระเจ้าหมายถึงอะไร?

20 แน่นอน การเป็นคนมีเหตุผลไม่ได้หมายถึงการรับใช้พระเจ้าน้อยลงเพียงเพื่อจะ ‘กรุณาตัวเราเอง.’ (มัด. 16:22) เราไม่ต้องการทำงานรับใช้เพียงเล็กน้อยทั้งๆที่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น. เราทุกคนต้องจำคำตรัสของพระเยซูไว้ที่ว่า “จงบากบั่นพยายาม.” (ลูกา 13:24) ดังนั้น เราต้องสมดุล. เราพยายามทำให้ดีที่สุดในการรับใช้พระเจ้า และขณะเดียวกันก็จำไว้เสมอว่าพระยะโฮวาไม่เคยเรียกร้องให้เราทำมากกว่าที่เราจะทำได้. เมื่อเราทำอย่างนั้น เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงพอพระทัย. นับเป็นเรื่องยอดเยี่ยมจริงๆที่ได้รับใช้พระเจ้าผู้มีเหตุผลอย่างยิ่งเช่นนี้! ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาอีกสองประการ.—เพลง. 73:28

“จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเจ้า.”—สุภา. 3:9 (ดูข้อ 11)

“ท่านทั้งหลายจะทำอะไรก็ตาม จงทำอย่างสุดชีวิต.”—โกโล. 3:23 (ดูข้อ 17)