ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ให้การตีสอนของพระยะโฮวาปั้นคุณ

ให้การตีสอนของพระยะโฮวาปั้นคุณ

“พระองค์ทรงนำข้าพระองค์ด้วยคำปรึกษาของพระองค์ และภายหลังพระองค์จะทรงนำข้าพระองค์ให้ได้รับเกียรติยศ.”—เพลง. 73:24, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971

1, 2. (ก) เราต้องทำอะไรเพื่อจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา? (ข) เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการพิจารณาตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการตีสอนของพระเจ้า?

“เป็นการดีที่ข้าพเจ้าเข้ามาใกล้พระองค์; ข้าพเจ้ารับเอาพระยะโฮวาเจ้ามาเป็นผู้อารักขาของข้าพเจ้าแล้ว.” (เพลง. 73:28) อะไรทำให้ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวแสดงความไว้วางใจพระเจ้าอย่างนี้? ทีแรก ท่านรู้สึกขมขื่นเมื่อเห็นว่าคนชั่วดูเหมือนจะอยู่ดีมีสุข. ท่านคร่ำครวญว่า “การที่ข้าพเจ้าได้ชำระใจของข้าพเจ้า, และได้ล้างมือให้หมดจด, ก็เสียเวลาเปล่าๆ.” (เพลง. 73:2, 3, 13, 21) แต่เมื่อท่านเข้าไปใน “พระวิหารของพระเจ้า” ท่านก็สามารถปรับความคิดให้ถูกต้องและรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าได้. (เพลง. 73:16-18) เรื่องนี้สอนบทเรียนสำคัญแก่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญว่า หากท่านต้องการมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา ท่านต้องอยู่กับประชาชนของพระเจ้า ยอมรับคำแนะนำ และทำตามคำแนะนำที่ท่านได้รับ.—เพลง. 73:24

2 เราเองก็ต้องการมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องยอมรับคำแนะนำและการตีสอนจากพระเจ้า. เมื่อเราทำอย่างนั้น พระยะโฮวาจะทรงปั้นเรา คือช่วยเราให้เป็นบุคคลแบบที่พระองค์ต้องการให้เราเป็น. ในสมัยอดีต พระเจ้าทรงแสดงความเมตตาต่อหลายคนและบางครั้งต่อคนทั้งชาติโดยให้โอกาสพวกเขาที่จะยอมรับการตีสอนจากพระองค์. พระเจ้าทรงให้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการตอบสนองของพวกเขาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล “เพื่อสั่งสอนเรา” และ “เพื่อเตือนเราซึ่งอยู่ในตอนสิ้นยุค.” (โรม 15:4; 1 โค. 10:11) บทความนี้จะพิจารณาตัวอย่างเหล่านี้บางตัวอย่าง. เราจะเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงคิดอย่างไรและเราจะได้รับประโยชน์อย่างไรถ้าเรายอมให้พระองค์ปั้นเรา.

 พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์ในฐานะช่างปั้นหม้อ

3. ยะซายา 64:8 และยิระมะยา 18:1-6 พรรณนาไว้อย่างไรเกี่ยวกับอำนาจของพระยะโฮวาที่มีต่อมนุษย์? (โปรดดูภาพในหน้า 24)

3 คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาพระยะโฮวาว่าทรงเป็นช่างปั้นหม้อเนื่องจากพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือผู้คนและชาติต่างๆ. ยะซายา 64:8 กล่าวว่า “โอ้พระบิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเหมือนดินเหนียว, พระองค์เป็นช่างปั้นหม้อ, ข้าพเจ้าทั้งหลายล้วนเป็นหัตถกิจของพระองค์.” ช่างปั้นหม้อสามารถปั้นดินเหนียวให้เป็นอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ. ดินเหนียวไม่สามารถสั่งช่างปั้นหม้อว่าต้องทำอะไร. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าก็เป็นอย่างนั้นด้วย. เราไม่มีสิทธิ์สั่งพระเจ้าว่าควรปั้นเราอย่างไร เช่นเดียวกับที่ดินเหนียวไม่สามารถสั่งช่างปั้นหม้อว่าต้องทำหม้อหรือภาชนะแบบใด.—อ่านยิระมะยา 18:1-6

4. พระยะโฮวาทรงบังคับผู้คนหรือชาติต่างๆให้ยอมรับการปั้นจากพระองค์ไหม? จงอธิบาย.

4 พระยะโฮวาทรงปั้นชาติอิสราเอลเหมือนช่างปั้นหม้อปั้นดินเหนียว. แต่พระยะโฮวาทรงแตกต่างจากช่างปั้นหม้อที่เป็นมนุษย์อย่างไร? พระยะโฮวาทรงโปรดให้ผู้คนและชาติต่างๆมีเจตจำนงเสรี. นั่นนับเป็นของประทานพิเศษจากพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้พวกเขามีสิทธิ์เลือกด้วยตัวเอง. พระองค์ไม่ได้สร้างบางคนให้เป็นคนดีและสร้างบางคนให้เป็นคนชั่ว. พระองค์ไม่ใช้อำนาจบังคับผู้คนให้เชื่อฟังพระองค์. มนุษย์ต้องเลือกว่าพวกเขาจะให้พระยะโฮวาซึ่งเป็นพระผู้สร้างปั้นพวกเขาหรือไม่.—อ่านยิระมะยา 18:7-10

5. เมื่อมนุษย์ไม่ยอมให้พระยะโฮวาปั้นพวกเขา พระองค์ทรงทำอย่างไร?

5 จะว่าอย่างไรถ้าบางคนดื้อรั้นและไม่ยอมให้พระยะโฮวาช่างปั้นหม้อองค์ยิ่งใหญ่ปั้นเขา? พระยะโฮวาจะใช้อำนาจของพระองค์ในฐานะช่างปั้นหม้ออย่างไร? ขอให้คิดว่าช่างปั้นจะทำอย่างไรกับดินเหนียวถ้าดินเหนียวนั้นไม่เหมาะจะปั้นให้เป็นภาชนะที่เขาต้องการปั้น. ช่างปั้นอาจปั้นดินเหนียวนั้นให้เป็นภาชนะอีกแบบหนึ่งหรือเพียงแค่ทิ้งดินเหนียวก้อนนั้นไป! เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น มักเป็นเพราะความผิดพลาดของช่างปั้น. แต่พระยะโฮวาทรงปั้นผู้คนอย่างถูกต้องเสมอ. (บัญ. 32:4) เมื่อใครคนหนึ่งไม่ยอมให้พระยะโฮวาปั้นเขา นั่นเป็นความผิดพลาดของคนนั้นเอง. พระยะโฮวาทรงปรับเปลี่ยนวิธีที่พระองค์ปั้นผู้คนตามการตอบสนองของพวกเขา. เมื่อผู้คนเชื่อฟังพระยะโฮวา พวกเขาก็จะเป็นประโยชน์ต่อพระองค์. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็น “ภาชนะแห่งความเมตตา” ที่ถูกปั้นให้เป็น “ภาชนะเพื่อใช้อย่างมีเกียรติ.” ส่วนคนที่ดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังพระเจ้าก็จะกลายเป็น “ภาชนะแห่งพระพิโรธซึ่งเหมาะสำหรับความพินาศ.”—โรม 9:19-23

6, 7. กษัตริย์ซาอูลและกษัตริย์ดาวิดแตกต่างกันอย่างไรในการตอบสนองต่อคำแนะนำของพระยะโฮวา?

 6 วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงปั้นผู้คนก็คือโดยประทานคำแนะนำหรือการตีสอนแก่พวกเขา. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้คิดถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปั้นกษัตริย์สององค์แรกของชาติอิสราเอล คือซาอูลและดาวิด. เมื่อกษัตริย์ดาวิดทำผิดประเวณีกับนางบัธเซบะ การกระทำของท่านก่อให้เกิดผลเสียหายต่อตัวท่านและคนอื่นๆ. แม้ว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ พระยะโฮวาทรงตีสอนท่านอย่างแรง. พระองค์ทรงส่งผู้พยากรณ์นาธานไปหาดาวิดเพื่อให้คำแนะนำอย่างหนักแน่นแก่ท่าน. (2 ซามู. 12:1-12) ดาวิดตอบสนองอย่างไร? ท่านเสียใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่ท่านได้ทำลงไป. เนื่องจากดาวิดกลับใจ พระเจ้าจึงแสดงความเมตตาต่อท่าน.—อ่าน 2 ซามูเอล 12:13

 7 แต่กษัตริย์ซาอูลทำอีกแบบหนึ่ง. เขาไม่ยอมฟังคำแนะนำ. พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์ซามูเอลไปบอกเขาว่าให้ฆ่าชาวอะมาเล็คให้หมดรวมทั้งฝูงสัตว์เลี้ยงทั้งหมดของพวกเขา. แต่ซาอูลไม่ทำตามคำสั่งของพระยะโฮวา. เขาไว้ชีวิตอะฆาฆกษัตริย์ของอะมาเล็ค และไม่ฆ่าสัตว์ที่สมบูรณ์แข็งแรง.  (1 ซามู. 15:1-3, 7-9, 12) พระยะโฮวาจึงส่งซามูเอลไปให้คำแนะนำแก่ซาอูล. ซาอูลควรฟังคำแนะนำนั้นและยอมรับการปั้นจากพระยะโฮวา แต่เขาไม่ยอมรับและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข. เขาคิดว่าเขามีเหตุผลที่ดีที่ไม่ได้ทำตามคำสั่งของพระยะโฮวา โดยอ้างว่าเขาเก็บสัตว์เหล่านั้นไว้ถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. พระเจ้าไม่ทรงยอมรับซาอูลในฐานะกษัตริย์อีกต่อไป และซาอูลไม่เคยกลับมามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์อีกเลย.—อ่าน 1 ซามูเอล 15:13-15, 20-23

ซาอูลไม่สนใจและปฏิเสธคำแนะนำ. เขาไม่ยอมให้พระยะโฮวาปั้น! (ดูข้อ 7)

ดาวิดเสียใจอย่างแท้จริงและยอมรับคำแนะนำ. คุณล่ะ? (ดูข้อ 6)

พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง

8. เราเรียนรู้อะไรได้จากวิธีที่ชาติอิสราเอลตอบสนองต่อการปั้นของพระยะโฮวา?

8 พระยะโฮวาทรงให้โอกาสแก่ชาติต่างๆที่จะเชื่อฟังพระองค์ด้วย. หลังจากพระยะโฮวาทรงปลดปล่อยชาติอิสราเอลจากการเป็นทาสของอียิปต์ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช พวกเขาก็กลายมาเป็นประชาชนของพระองค์. อิสราเอลเป็นชาติที่พระเจ้าทรงเลือกและมีสิทธิพิเศษที่จะได้รับการปั้นจากพระองค์ ราวกับพวกเขาอยู่บนแป้นหมุนของช่างปั้นองค์ยิ่งใหญ่. แต่ประชาชนในชาตินี้ทำสิ่งชั่วในสายพระเนตรของพระยะโฮวาอยู่ตลอด และถึงกับนมัสการพระของชาติต่างๆที่อยู่โดยรอบ. พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์ไปเตือนสติพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ชาติอิสราเอลไม่ยอมฟังคำแนะนำของผู้พยากรณ์เหล่านั้น. (ยิระ. 35:12-15) เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา พระองค์จึงตีสอนพวกเขาอย่างแรง. เช่นเดียวกับภาชนะที่ควรถูกทำลาย อาณาจักรสิบตระกูลถูกชาวอัสซีเรียทำลาย และในเวลาต่อมาอาณาจักรสองตระกูลก็ถูกชาวบาบิโลนพิชิต. นั่นเป็นบทเรียนสำคัญที่เราควรเรียนรู้! เราจะได้รับประโยชน์จากการปั้นของพระยะโฮวาได้ก็ต่อเมื่อเรายอมให้พระองค์ปั้น.

9, 10. ชาวนีเนเวห์ตอบสนองต่อคำเตือนของพระยะโฮวาอย่างไร?

 9 พระยะโฮวาทรงให้โอกาสแก่ประชาชนในกรุงนีเนเวห์ เมืองหลวงของอัสซีเรีย ที่จะตอบรับคำเตือนของพระองค์ด้วย. พระยะโฮวาทรงสั่งโยนาห์ว่า “จงลุกขึ้นไปยังนีนะเวกรุงใหญ่นั้น, และร้องประกาศต่อว่าชาวกรุงนั้น, เนื่องด้วยความชั่วของพวกเขาปรากฏขึ้นต่อหน้าเราแล้ว.” พระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยว่าพระองค์จะทำลายเมืองนีเนเวห์เพราะประชาชนในเมืองนี้ชั่วช้ามาก.—โยนา 1:1, 2; 3:1-4

10 อย่างไรก็ตาม เมื่อโยนาห์ประกาศข่าวการพิพากษาต่อเมืองนี้ “ชาวกรุงนีนะเวได้เชื่อพระเจ้า; เขาป่าวประกาศให้ประชาชนอดอาหารและนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหยาบ, ตั้งแต่คนชั้นสูงที่สุดจนถึงคนชั้นต่ำที่สุด.” กษัตริย์ของพวกเขา “ทรงลุกขึ้นจากพระที่นั่งของท่าน, ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออกเสีย, ทรงผ้าเนื้อหยาบไว้แทนและทรงนั่งที่กองขี้เถ้า.” ชาวนีเนเวห์ยอมให้พระยะโฮวาปั้นและกลับใจ. ผลก็คือ พระยะโฮวาไม่ทำลายเมืองนี้.—โยนา 3:5-10

11. เราเรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อชาวอิสราเอลและชาวนีเนเวห์?

11 แม้ว่าชาวอิสราเอลเป็นประชาชนของพระยะโฮวา พระองค์ทรงตีสอนพวกเขา. ส่วนชาวนีเนเวห์ไม่ได้เป็นประชาชนของพระเจ้า แต่พวกเขายอมให้พระองค์ปั้น. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตาต่อพวกเขาและไม่ทำลายพวกเขา. ตัวอย่างทั้งสองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจริงๆว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา “ทรงปราศจากอคติ”!—บัญ. 10:17, ฉบับ 1971

พระยะโฮวาทรงมีเหตุผลและพร้อมจะปรับเปลี่ยน

12, 13. (ก) ทำไมพระเจ้าทรงเปลี่ยนการตัดสินของพระองค์เมื่อคนเรายอมรับการปั้นของพระองค์? (ข) เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรง “เสียใจ”?

12 พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนการตัดสินของพระองค์เมื่อผู้คนเปลี่ยนแนวทางการประพฤติของพวกเขา ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงมีเหตุผลและพร้อมจะปรับเปลี่ยน. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าพระยะโฮวา “เสียใจที่ได้แต่งตั้งซาอูลเป็นกษัตริย์.” (1 ซามู. 15:11, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เมื่อชาวนีเนเวห์กลับใจและเลิกทำชั่ว คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้จึงรู้สึกเสียพระทัยที่ได้ตรัสว่าจะทำให้เกิดความหายนะแก่พวกเขา; พระองค์จึงไม่ได้ทำเช่นนั้น.”—โยนา 3:10, ล.ม.

13 เมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวา “เสียใจ” นั่นหมายความว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อใครคนหนึ่งหรือเปลี่ยนความตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่าง. พระยะโฮวาเคยพอพระทัยซาอูล. แต่เมื่อซาอูลไม่เชื่อฟัง พระองค์ไม่ให้เขาเป็นกษัตริย์อีกต่อไป. ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพราะพระยะโฮวาทรงทำผิดพลาดตอนที่เลือกซาอูลเป็นกษัตริย์ แต่เป็นเพราะซาอูลไม่เชื่อฟังพระองค์. และเมื่อชาวนีเนเวห์กลับใจ พระยะโฮวาทรงพร้อมที่จะเปลี่ยนการตัดสินของพระองค์และไม่ทำลายพวกเขา. เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจจริงๆที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงเมตตากรุณา มีเหตุผล และพร้อมจะปรับเปลี่ยนการตัดสินของพระองค์เมื่อคนเราเปลี่ยนแปลงแก้ไขแนวทางของตน!

อย่าปฏิเสธการตีสอนจากพระยะโฮวา

14. (ก) พระยะโฮวาทรงปั้นเราในทุกวันนี้อย่างไร? (ข) เราควรทำอะไรเมื่อพระเจ้าทรงปั้นเรา?

14 ในทุกวันนี้ พระยะโฮวาทรงใช้คัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระองค์เพื่อปั้นเรา. (2 ติโม. 3:16, 17) เราควรยินดียอมรับคำแนะนำหรือการตีสอนใดๆก็ตามที่เราได้รับด้วยวิธีนี้มิใช่หรือ? ไม่ว่าเรารับบัพติสมานานเท่าไรแล้วหรือมีสิทธิพิเศษในการรับใช้มากขนาดไหน เราควรเชื่อฟังคำแนะนำของพระยะโฮวาต่อๆไป. เมื่อเราตอบรับการปั้น อย่างนี้จากพระยะโฮวา เราจะเป็นบุคคลแบบที่พระองค์ประสงค์ให้เราเป็น.

15, 16. (ก) คนที่สูญเสียสิทธิพิเศษในประชาคมอาจมีความรู้สึกในแง่ลบเช่นไร? จงยกตัวอย่าง. (ข) อะไรอาจช่วยเราให้รับมือความอายหรือความลำบากใจได้เมื่อถูกตีสอน?

15 พระยะโฮวาทรงตีสอนเราอย่างไร? พระองค์ทรงสอนว่าเราควรทำอะไรและแก้ไขความคิดของเรา. บางครั้ง เราอาจจำเป็นต้องถูกตีสอนอย่างแรงเพราะเราทำผิดร้ายแรง. ผลของการตีสอนนั้นอาจทำให้เราสูญเสียสิทธิพิเศษบางอย่างในประชาคม. ขอให้พิจารณาตัวอย่างของผู้ปกครองคนหนึ่งชื่อเดนนิส.  * เขาทำผิดเนื่องจากการตัดสินใจอย่างไม่ถูกต้องในเรื่องธุรกิจและถูกว่ากล่าว. เดนนิสรู้สึกอย่างไรในคืนที่มีการประกาศต่อประชาคมว่าเขาไม่ได้รับใช้เป็นผู้ปกครองอีกต่อไป? เขากล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง. ตลอด 30 ปีที่ผ่านไป ผมได้รับสิทธิพิเศษมากมาย. ผมเคยเป็นไพโอเนียร์ประจำ เคยรับใช้ที่เบเธล เคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้แล้วก็เป็นผู้ปกครอง. ผมเพิ่งได้บรรยายในการประชุมภาคเป็นครั้งแรกด้วย. แล้วทุกอย่างก็หายไปหมดในทันที.” เขารู้สึกอายและลำบากใจ และสงสัยว่าเขาจะยังเป็นประโยชน์ต่อองค์การไหม.

16 เดนนิสต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการประพฤติของเขา. แต่อะไรช่วยเขาให้รับมือความอายและความลำบากใจได้? เขาทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ ทั้งศึกษาพระคัมภีร์ ประกาศ และเข้าร่วมการประชุมทุกรายการ. เขารู้สึกขอบคุณด้วยที่ได้รับการหนุนใจจากพี่น้องและจากหนังสือต่างๆของเรา. เขาบอกว่า “บทความ ‘คุณเคยรับใช้มาแล้วไหม? คุณจะรับใช้อีกได้ไหม?’ ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 2009 เป็นเหมือนจดหมายที่ส่งมาถึงผมเพื่อตอบคำอธิษฐานของผม. คำแนะนำที่ผมชอบมากที่สุดคือ ‘ในขณะที่คุณยังไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นในประชาคม จงมุ่งความสนใจไปที่การเสริมสภาพฝ่ายวิญญาณของคุณให้เข้มแข็ง.’” เดนนิสได้รับประโยชน์จากการตีสอน และหลังจากผ่านไประยะหนึ่งเขาก็ได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ช่วยงานรับใช้อีกครั้งหนึ่ง.

17. การตัดสัมพันธ์อาจช่วยผู้ทำผิดได้อย่างไร? จงยกตัวอย่าง.

17 การตัดสัมพันธ์เป็นการตีสอนอีกแบบหนึ่งจากพระยะโฮวา. การตีสอนแบบนี้ช่วยปกป้องประชาคมไว้จากอิทธิพลที่ไม่ดีของคนที่ทำผิด และอาจช่วยผู้ทำผิดให้กลับใจได้. (1 โค. 5:6, 7, 11) โรเบิร์ตถูกตัดสัมพันธ์นานเกือบ 16 ปี. ตลอดช่วงเวลานั้น พ่อแม่และพี่ๆน้องๆของเขาทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลโดยไม่ติดต่อคบหากับเขาและไม่ทักทายเขาด้วยซ้ำ. ตอนนี้โรเบิร์ตถูกรับกลับมาเป็นพี่น้องแล้วและกำลังก้าวหน้าเป็นอย่างดีในทางของความจริง. เมื่อมีคนถามว่าอะไรกระตุ้นเขาให้กลับมาหาพระยะโฮวาและประชาคมหลังจากที่เวลาผ่านไปนานถึงขนาดนั้น เขาตอบว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะครอบครัวของเขาไม่ยอมติดต่อคบหากับเขา. เขาบอกว่าถ้าครอบครัวเขาใช้เวลากับเขาแม้เพียงเล็กน้อยหรือเพียงแค่ทักทายถามไถ่ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เขาคงไม่รู้สึกคิดถึงครอบครัวมากเหมือนกับที่เขารู้สึก. นี่มีส่วนช่วยทำให้เขาอยากกลับมาหาพระยะโฮวาและประชาคม.

18. เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพระเจ้าปั้นเรา?

18 เราอาจไม่จำเป็นต้องถูกตีสอนอย่างเดียวกันนั้น แต่เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อพระเจ้าทรงปั้นและตีสอนเรา. เราจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? เราจะยอมรับคำแนะนำเหมือนดาวิดไหม? หรือว่าเราจะปฏิเสธเหมือนซาอูล? พระยะโฮวา ช่างปั้นหม้อองค์ยิ่งใหญ่ ทรงเป็นพระบิดาของเรา. อย่าลืมว่า “ผู้ใดที่พระยะโฮวาทรงรักพระองค์ทรงเตือนสอนผู้นั้น, เช่นบิดากระทำต่อบุตรที่ตนชื่นชม.” จงยอมรับการตีสอนจากพระยะโฮวาเสมอ.—สุภา. 3:11, 12

^ วรรค 15 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.