ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ขอทรงบอกพวกข้าพเจ้าเถิดว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร?”

“ขอทรงบอกพวกข้าพเจ้าเถิดว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร?”

“อะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?”—มัด. 24:3

1. เช่นเดียวกับเหล่าอัครสาวก เราอยากรู้อะไร?

งานรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลกกำลังใกล้จะจบลง และเหล่าสาวกของพระองค์อยากรู้ว่ามีอะไรรอพวกเขาอยู่ในวันข้างหน้า. ดังนั้น ไม่กี่วันก่อนพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ อัครสาวกสี่คนจึงถามพระองค์ว่า “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และอะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?” (มัด. 24:3; มโก. 13:3) พระเยซูทรงตอบโดยพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ที่น่าสังเกตหลายอย่างดังบันทึกไว้ที่มัดธายบท 24 และ 25. คำตรัสของพระองค์มีความหมายอย่างลึกซึ้งสำหรับเราเพราะเราเองก็อยากรู้ด้วยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต.

2. (ก) ตลอดหลายปี เราได้รับความเข้าใจอะไรที่ชัดยิ่งขึ้น? (ข) เราจะพิจารณาสามคำถามอะไร?

2 ตลอดหลายปี ผู้ถูกเจิมที่นำหน้าในองค์การได้ศึกษาคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายอย่างจริงจัง. พวกเขาได้พยายามเพื่อจะเข้าใจชัดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเวลาที่คำตรัสของพระเยซูจะสำเร็จเป็นจริง. เพื่อเป็นตัวอย่างว่าเราได้รับความเข้าใจชัดยิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง ขอให้เราพิจารณาสามคำถามที่ถามว่า “เมื่อไร.” “ความทุกข์ลำบากใหญ่” เริ่มต้นเมื่อไร? พระเยซูทรงพิพากษา “แกะ” และ “แพะ” เมื่อไร? พระเยซู “มา” เมื่อไร?—มัด. 24:21; 25:31-33

ความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นเมื่อไร?

3. ในอดีต เราเข้าใจอย่างไรในเรื่องเวลาที่เกิดความทุกข์ลำบากใหญ่?

3 เป็นเวลาหลายปีที่เราเคยคิดว่าความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นในปี 1914 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และพระยะโฮวาทรงทำให้วันเหล่านั้น “สั้นลง” เมื่อสงครามยุติลงในปี 1918 เพื่อชนที่เหลือจะมีโอกาสประกาศข่าวดีแก่ทุกชาติ. (มัด. 24:21, 22) เมื่องานประกาศเสร็จสิ้นแล้ว ระบบทั้งสิ้นที่ซาตานปกครองจะถูกทำลาย. ตอนนั้นเราจึงคิดว่าความทุกข์ลำบากใหญ่มีสามช่วง คือช่วงเริ่มต้น  (ปี 1914-1918), ช่วงที่ว่างเว้น (ตั้งแต่ปี 1918 เป็นต้นมา), และช่วงสุดท้ายที่จะสิ้นสุดลงเมื่อเกิดสงครามอาร์มาเก็ดดอน.

4. เราได้มาเข้าใจอะไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระเยซู?

4 ต่อมา เราได้มาเข้าใจว่าคำพยากรณ์ของพระเยซูส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับสมัยสุดท้ายมีความสำเร็จเป็นจริงสองครั้ง. (มัด. 24:4-22) คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกในยูเดียในศตวรรษแรก และจะสำเร็จอีกครั้งทั่วทั้งโลกในสมัยของเรา. ดังนั้น เราจึงต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับส่วนอื่นๆของคำพยากรณ์นี้. *

5. (ก) อะไรเริ่มต้นขึ้นในปี 1914? (ข) “ความทุกข์ปวดร้าว” นี้ตรงกันกับช่วงเวลาใดในศตวรรษแรก?

5 ตัวอย่างเช่น ความทุกข์ลำบากใหญ่ไม่ได้เริ่มต้นในปี 1914. เรารู้ได้อย่างไร? เนื่องจากคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยว่าความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการโจมตีศาสนาเท็จ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยสงครามระหว่างชาติต่างๆ. ดังนั้น เหตุการณ์ที่เริ่มต้นในปี 1914 จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่ แต่เป็น “การเริ่มต้นของความทุกข์ปวดร้าว.” (มัด. 24:8) “ความทุกข์ปวดร้าว” นี้ตรงกันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับกรุงเยรูซาเลมและยูเดียตั้งแต่สากลศักราช 33 ถึงสากลศักราช 66.

6. อะไรจะเป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่?

 6 อะไรจะเป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่? พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้เกิดความร้างเปล่าตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์ ตามที่กล่าวไว้โดยผู้พยากรณ์ดานิเอล (ให้ผู้อ่านสังเกตให้เข้าใจ) เวลานั้นให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา.” (มัด. 24:15, 16) ในความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรก สิ่งน่าสะอิดสะเอียนได้มา “ตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์” ใน ส.ศ. 66 เมื่อกองทัพโรมัน (“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน”) โจมตีเยรูซาเลมและพระวิหารของกรุงนี้ (“ที่บริสุทธิ์” ในสายตาของชาวยิว). ในความสำเร็จเป็นจริงที่ใหญ่กว่า การ “ตั้งอยู่” ดังกล่าวจะเกิดขึ้น เมื่อองค์การสหประชาชาติ (“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในสมัยปัจจุบัน) โจมตีคริสต์ศาสนจักร (ซึ่งเป็นที่บริสุทธิ์ในสายตาของคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน) และโจมตีส่วนที่เหลือทั้งหมดของบาบิโลนใหญ่. มีการพรรณนาถึงการโจมตีอย่างเดียวกันนี้ที่วิวรณ์ 17:16-18. เหตุการณ์นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่.

7. (ก) คริสเตียนผู้ถูกเจิมในศตวรรษแรก “รอด” ได้อย่างไร? (ข) เราอาจคาดหมายอะไรได้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต?

 7 พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าด้วยว่า พระเจ้าจะทรง “ทำให้ช่วงเวลานั้นสั้นลง.” ในความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ส.ศ. 66 เมื่อกองทัพโรมันทำให้การโจมตีของพวกเขา “สั้นลง.” จากนั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมในกรุงเยรูซาเลมและยูเดียก็หนีออกไปเพื่อพวกเขาจะ “รอด.” (อ่านมัดธาย 24:22; มลคี. 3:17) ดังนั้น เราอาจคาดหมายอะไรได้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่? พระยะโฮวาจะทำให้การโจมตีศาสนาเท็จของสหประชาชาติ “สั้นลง” โดยจะทรงปกป้องศาสนาแท้ไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปพร้อมกับศาสนาเท็จ. นี่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าประชาชนของพระเจ้าจะรอด.

8. (ก) จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหลังจากช่วงแรกของความทุกข์ลำบากใหญ่ผ่านไป? (ข) สมาชิกคนสุดท้ายของชน 144,000 คนน่าจะได้รับบำเหน็จในสวรรค์เมื่อไร? (ดูข้อสังเกตสำหรับผู้อ่านในการศึกษา)

  8 จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากช่วงแรกของความทุกข์ลำบากใหญ่ผ่านไป? พระเยซูทรงอธิบายว่าจะมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นก่อนที่อาร์มาเก็ดดอนจะเริ่มต้น. เหตุการณ์เหล่านี้มีบอกไว้ที่ยะเอศเคล 38:14-16 และมัดธาย 24:29-31 (อ่าน ). * หลังจากนั้น เราจะได้เห็นอาร์มาเก็ดดอน จุดสุดยอดของความทุกข์ลำบากใหญ่ ซึ่งเทียบได้กับการทำลายกรุงเยรูซาเลมใน ส.ศ. 70. (มลคี. 4:1) ความทุกข์ลำบากใหญ่ซึ่งมีอาร์เก็ดดอนเป็นจุดสุดยอดจะเป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์โลก.” (มัด. 24:21) เมื่ออาร์มาเก็ดดอนผ่านไปแล้ว รัชสมัยพันปีของพระคริสต์ก็จะเริ่มต้นขึ้น.

9. คำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับความทุกข์ลำบากใหญ่ส่งผลต่อประชาชนของพระยะโฮวาอย่างไร?

 9 คำพยากรณ์เกี่ยวกับความทุกข์ลำบากใหญ่นี้เสริมความเชื่อของเรา. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะคำพยากรณ์นี้ทำให้เรามั่นใจว่าไม่ว่าจะประสบความยากลำบากใดๆก็ตาม ประชาชนของพระยะโฮวาโดยรวมจะผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ไปได้. (วิ. 7:9, 14) เหนือสิ่งอื่นใด เราชื่นชมยินดีเพราะเมื่อถึงอาร์มาเก็ดดอน พระยะโฮวาจะทรงพิสูจน์ว่าพระองค์มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปกครอง และจะทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—เพลง. 83:18; ยเอศ. 38:23

พระเยซูทรงพิพากษาแกะและแพะเมื่อไร?

10. ในอดีต เราเคยเข้าใจอย่างไรในเรื่องเวลาที่จะมีการพิพากษาแกะและแพะ?

10 ตอนนี้ ขอให้พิจารณาเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ตามพยากรณ์ของพระเยซูอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็คืออุทาหรณ์เรื่องการพิพากษาแกะและแพะ. (มัด. 25:31-46) เมื่อก่อน เราเคยคิดว่าการพิพากษาผู้คนว่าเป็นแกะหรือแพะจะเกิดขึ้นตลอดช่วงสมัยสุดท้ายนับตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา. เราจึงลงความเห็นว่าคนที่ปฏิเสธข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและเสียชีวิตก่อนที่ความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มต้นเป็นแพะ และไม่มีความหวังที่จะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย.

11. ทำไมการพิพากษาผู้คนว่าเป็นแกะหรือแพะจึงไม่ได้เริ่มต้นในปี 1914?

11 ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 หอสังเกตการณ์ ได้พิจารณามัดธาย 25:31 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งข้อนี้กล่าวว่า “เมื่อบุตรมนุษย์มาในฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์พร้อมกับทูตสวรรค์ทั้งปวง ท่านจะนั่งบนบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของท่าน.” มีการให้ข้อสังเกตว่าพระเยซูเริ่มเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าในปี 1914 แต่พระองค์ไม่ได้ “นั่งบนบัลลังก์อันรุ่งโรจน์” ในฐานะผู้พิพากษา “ชาติทั้งปวง.” (มัด. 25:32; เทียบกับดานิเอล 7:17) แต่อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นผู้พิพากษา. (อ่านมัดธาย 25:31-34, 41, 46 ) เนื่องจากพระเยซูยังไม่ได้เป็นผู้พิพากษาชาติทั้งปวงในปี 1914 การพิพากษาผู้คนว่าเป็นแกะหรือแพะจึงไม่ได้เริ่มต้นในปีนั้น. * ถ้าอย่างนั้น พระเยซูจะเริ่มพิพากษาเมื่อไร?

12. (ก) พระเยซูทรงทำหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาชาติทั้งปวงเป็นครั้งแรกเมื่อไร? (ข) มัดธาย 24:30, 31 และมัดธาย 25:31-33, 46 พรรณนาถึงเหตุการณ์อะไรบ้าง?

  12 คำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายเผยให้เห็นว่าพระองค์จะพิพากษาชาติทั้งปวงเป็นครั้งแรกหลังจากการทำลายศาสนาเท็จ. ดังที่กล่าวไปแล้วใน ข้อ 8 ของบทความนี้ เหตุการณ์บางอย่างที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมีบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:30, 31. เมื่อพิจารณาข้อเหล่านี้ให้ดี คุณจะสังเกตว่าพระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงกล่าวถึงในอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ. ตัวอย่างเช่น บุตรมนุษย์มาในฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์พร้อมกับทูตสวรรค์ทั้งปวง; ตระกูลและชาติทั้งปวงถูกรวบรวม; คนที่ถูกพิพากษาว่าเป็นแกะ “เงยหน้าขึ้น” เพราะพวกเขามีความหวังที่จะได้รับ “ชีวิตนิรันดร์.” * คนที่ถูกพิพากษาว่าเป็นแพะ “ร่ำไห้ตีอกชกหัว” เพราะรู้ตัวว่ากำลังจะ “ถูกทำลายชั่วนิรันดร์.”—มัด. 25:31-33, 46

13. (ก) พระเยซูทรงพิพากษาผู้คนว่าเป็นแกะหรือแพะเมื่อไร? (ข) ความเข้าใจนี้มีผลอย่างไรต่อทัศนะของเราในงานประกาศ?

 13 ดังนั้น เราอาจสรุปว่าอย่างไร? พระเยซูจะทรงพิพากษาผู้คนในชาติทั้งปวงว่าเป็นแกะหรือแพะเมื่อพระองค์มาในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. หลังจากนั้น คนที่เป็นเหมือนแพะจะถูก “ทำลาย” ตลอดไป ณ อาร์มาเก็ดดอนซึ่งเป็นจุดสุดยอดของความทุกข์ลำบากใหญ่. ความเข้าใจนี้มีผลอย่างไรต่อทัศนะของเราในงานประกาศ? ความเข้าใจนี้ช่วยเราให้เห็นความสำคัญของงานประกาศ. จนกว่าความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มต้นขึ้น ผู้คนยังคงมีเวลาที่จะเปลี่ยนความคิดและเริ่มเดินในทางแคบ “ที่นำไปสู่ ชีวิต.” (มัด. 7:13, 14) แน่นอน ผู้คนในตอนนี้อาจแสดงนิสัยใจคอที่เป็นเหมือนแกะหรือแพะ. แต่เราควรจำไว้ว่าการพิพากษาว่าใครเป็นแกะและใครเป็นแพะในขั้นสุดท้ายจะเกิดขึ้นในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. ดังนั้น เรามีเหตุผลที่จะประกาศต่อๆไปเพื่อผู้คนจะมีโอกาสได้ฟังและตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้.

จนกว่าความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มต้นขึ้น ผู้คนยังคงมีเวลาที่จะเปลี่ยนความคิด

(ดูข้อ 13)

พระเยซูมาเมื่อไร?

14, 15. ข้อคัมภีร์สี่ข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการมาของพระคริสต์ในอนาคตในฐานะผู้พิพากษา?

 14 การพิจารณาคำพยากรณ์ของพระเยซูให้ละเอียดขึ้นเผยให้เห็นไหมว่าเราต้องปรับความเข้าใจในเรื่องเวลาของเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ? เนื้อหาในคำพยากรณ์เองจะช่วยเราให้ได้คำตอบ. ให้เรามาดูกันว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.

15 ในคำพยากรณ์ที่บันทึกไว้ที่มัดธาย 24:29–25:46 ส่วนใหญ่พระเยซูทรงเน้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสมัยสุดท้ายนี้และในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ที่กำลังจะมาถึง. ที่นั่น พระเยซูตรัสถึงการ “มา” หรือการมาถึงของพระองค์แปดครั้ง. * พระองค์ตรัสถึงความทุกข์ลำบากใหญ่ว่า “พวกเขาจะเห็นบุตรมนุษย์มา บนเมฆ.” “เจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะมา ในวันใด.” “บุตรมนุษย์จะมา ในเวลาที่พวกเจ้าไม่คาดคิด.” และในอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ พระเยซูตรัสว่า “บุตรมนุษย์มา ในฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์.” (มัด. 24:30, 42, 44; 25:31) ทั้งสี่แห่งกล่าวถึงการมาของพระคริสต์ในอนาคตในฐานะผู้พิพากษา. คำตรัสของพระเยซูที่เกี่ยวกับการมาหรือการมาถึงของพระองค์อีกสี่แห่งอยู่ที่ไหน?

16. มีการกล่าวถึงการมาของพระเยซูในข้อคัมภีร์ใดอีก?

16 พระเยซูตรัสถึงทาสสัตย์ซื่อและสุขุมว่า “ทาสนั้นจะมีความสุขถ้านายมาถึง แล้วพบว่าเขากำลังทำเช่นนั้น.” ในอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารี พระเยซูตรัสว่า “ขณะที่พวกนางไปซื้อน้ำมัน เจ้าบ่าวก็มาถึง.” ในอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์ พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเวลาผ่านไปช้านาน นายก็มา.” ในอุทาหรณ์เดียวกัน นายกล่าวว่า “เมื่อเรามาถึง เราจะได้รับเงินของเรา.” (มัด. 24:46; 25:10, 19, 27) ทั้งสี่ข้อนี้กล่าวถึงการมาของพระเยซูเมื่อไร?

17. เราเคยอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับการมาถึงที่กล่าวไว้ในมัดธาย 24:46?

17 ในอดีต หนังสือของเราเคยอธิบายว่าสี่ข้อ หลังนี้หมายถึงการมาหรือการมาถึงของพระเยซูในปี 1918. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (อ่านมัดธาย 24:45-47 ) เราเคยเข้าใจว่า ‘การมาถึง’ ที่กล่าวถึงในข้อ 46 เกี่ยวข้องกับเวลาที่พระเยซูมาตรวจสภาพฝ่ายวิญญาณของชนผู้ถูกเจิมในปี 1918 และการแต่งตั้งทาสนั้นให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนายเกิดขึ้นในปี 1919. (มลคี. 3:1) แต่เมื่อพิจารณาคำพยากรณ์ของพระเยซูให้ละเอียดยิ่งขึ้น เราจึงเห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราในเรื่องเวลาที่เกี่ยวข้องกับบางแง่ของคำพยากรณ์ของพระเยซู. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

18. การพิจารณาคำพยากรณ์ของพระเยซูทั้งหมดอย่างละเอียดช่วยให้เราลงความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมาของพระเยซู?

 18 ในข้อต่างๆของมัดธายบท 24 ก่อนข้อ 46 มีการใช้คำ “มา” อย่างเสมอต้นเสมอปลายโดยหมายถึงเวลาที่พระเยซูมาพิพากษาและลงโทษในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. (มัด. 24:30, 42, 44) นอกจากนั้น ดังที่เราพิจารณาใน ข้อ 12 ของบทความนี้ ‘การมา’ ของพระเยซูที่กล่าวในมัดธาย 25:31 หมายถึงเวลาเดียวกันนั้นที่จะมีการพิพากษาในอนาคต. ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าการมาของพระเยซูเพื่อแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์ ตามที่กล่าวในมัดธาย 24:46, 47 หมายถึงการมาของพระองค์ในอนาคต ด้วย คือในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. ที่จริง เมื่อพิจารณาคำพยากรณ์ของพระเยซูทั้งหมดอย่างละเอียด เห็นได้ชัดว่าการมาของพระองค์ที่กล่าวถึงในทั้งแปดแห่งหมายถึงเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษาในอนาคตในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่.

19. เราได้พิจารณาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนความเข้าใจอะไรบ้าง และบทความถัดไปจะพิจารณาคำถามอะไร?

19 ให้เรามาทบทวนกันว่าเราได้เรียนอะไรไปบ้าง? ในตอนต้นบทความ เราได้พิจารณาสามคำถามที่ถามว่า “เมื่อไร.” ก่อนอื่นเราได้พิจารณาว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ไม่ได้เริ่มต้นในปี 1914 แต่จะเริ่มเมื่อองค์การสหประชาชาติโจมตีบาบิโลนใหญ่. หลังจากนั้น เราได้พิจารณาว่าทำไมพระเยซูไม่ได้เริ่มพิพากษาแกะและแพะในปี 1914 แต่จะพิพากษาในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. ท้ายสุด เราได้พิจารณาว่าทำไมพระเยซูไม่ได้มาเพื่อตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลทรัพย์ทั้งหมดของพระองค์ในปี 1919 แต่จะมอบหมายในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. ดังนั้น คำถาม “เมื่อไร” ทั้งสามคำถามนี้มีคำตอบเดียวกัน คือเหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. ความเข้าใจที่มีการปรับเปลี่ยนนี้มีผลต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่ออย่างไร? นอกจากนั้น เรื่องนี้มีผลต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอุทาหรณ์หรือตัวอย่างเปรียบเทียบอื่นๆของพระเยซูที่กำลังสำเร็จเป็นจริงในช่วงเวลาอวสานนี้อย่างไร? บทความถัดไปจะพิจารณาคำถามสำคัญเหล่านี้.

 

^ วรรค 4 ข้อ 4: สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 กุมภาพันธ์ 1994 หน้า 8-21 และ 1 พฤษภาคม 1999 หน้า 8-20.

^ วรรค 8 ข้อ 8: เหตุการณ์หนึ่งที่กล่าวถึงในข้อเหล่านี้ได้แก่ ‘การรวบรวมเหล่าผู้ถูกเลือก.’ (มัด. 24:31) ดังนั้น ผู้ถูกเจิมทั้งหมดที่ยังคงอยู่บนแผ่นดินโลกหลังจากที่ช่วงแรกของความทุกข์ลำบากใหญ่ผ่านไปแล้วน่าจะถูกรับขึ้นไปมีชีวิตในสวรรค์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งก่อนที่สงครามอาร์มาเก็ดดอนจะเริ่มต้นขึ้น. ข้อสรุปนี้เป็นการปรับเปลี่ยนความเข้าใจจากที่เคยมีการอธิบายไว้ใน “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ 15 สิงหาคม 1990 หน้า 27.

^ วรรค 11 ข้อ 11: โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 ตุลาคม 1995 หน้า 18-28.

^ วรรค 12 ข้อ 12: โปรดดูบันทึกที่กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ในลูกา 21:28

^ วรรค 15 ข้อ 15: คำ “มา” และ “มาถึง” แปลจากคำกริยาภาษากรีกคำเดียวกัน คือเออร์โคไม.