ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เลี้ยงอาหารหลายคนโดยใช้ไม่กี่คน

เลี้ยงอาหารหลายคนโดยใช้ไม่กี่คน

“เมื่อบิขนมปังแล้ว [พระเยซู] จึงส่งให้พวกสาวก พวกสาวกก็ส่งต่อให้ฝูงชน.”—มัด. 14:19

1-3. จงเล่าวิธีที่พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารฝูงชนใกล้ๆเมืองเบทซายะดา. (ดูรูปในหน้านี้)

ขอให้นึกภาพฉากเหตุการณ์. (อ่านมัดธาย 14:14-21 ) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนจะถึงเทศกาลปัศคาในสากลศักราช 32. ฝูงชนประมาณ 5,000 คน ไม่รวมผู้หญิงและเด็ก ตามพระเยซูและเหล่าสาวกไปยังที่ห่างไกลผู้คนใกล้ๆเมืองเบทซายะดา ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ที่ชายฝั่งตอนเหนือของทะเลแกลิลี.

2 เมื่อเห็นฝูงชน พระเยซูรู้สึกสงสารพวกเขา พระองค์จึงรักษาคนป่วยและสอนพวกเขาหลายเรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. เมื่อใกล้ค่ำ เหล่าสาวกทูลพระเยซูให้บอกฝูงชนเพื่อพวกเขาจะได้เข้าไปตามหมู่บ้านและซื้ออาหารกิน. แต่พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจงเอาอาหารให้พวกเขากินเถิด.” คำพูดของพระองค์คงต้องทำให้เหล่าสาวกแปลกใจ เพราะพวกเขามีแค่ขนมปังห้าอันกับปลาเล็กๆอีกสองตัวเท่านั้น.

3 เพราะความเมตตาสงสาร พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการอัศจรรย์เพียงอย่างเดียวที่ผู้เขียนหนังสือกิตติคุณทั้งสี่คนบันทึกเรื่องราวไว้. (มโก. 6:35-44; ลูกา 9:10-17; โย. 6:1-13) พระเยซูทรงสั่งเหล่าสาวกให้บอกฝูงชนนั่งลงบนพื้นหญ้าเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 50 คนและ 100 คน. เมื่อทูลขอบพระคุณแล้ว พระองค์ทรงบิขนมปังและแบ่งปลา. หลังจากนั้น แทนที่พระเยซูจะแจกอาหารแก่ผู้คนโดยตรง พระองค์ทรงส่งอาหารนั้นให้ “พวกสาวก พวกสาวกก็ส่งต่อให้ฝูงชน.” มีอาหารมากเกินพอให้ทุกคนกินอย่างน่าอัศจรรย์! คิดดูสิ พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารหลายพันคนโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน คือเหล่าสาวกของพระองค์. *

4. (ก) พระเยซูเป็นห่วงเกี่ยวกับอาหารชนิดใดมากกว่า และทำไม? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความศึกษานี้และบทความศึกษาถัดไป?

4 พระเยซูทรงเป็นห่วงในเรื่องการจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณ แก่เหล่าสาวกของพระองค์มากยิ่งกว่าอาหารฝ่ายกายเสียอีก. พระองค์ทรงรู้ว่าการรับอาหารฝ่ายวิญญาณ คือความจริงในพระคำของพระเจ้า ทำให้ผู้คนได้รับชีวิตนิรันดร์. (โย. 6:26, 27; 17:3)  เนื่องจากพระเยซูทรงเมตตาสงสารเหล่าสาวกเช่นเดียวกับที่สงสารฝูงชนและเลี้ยงอาหารพวกเขา พระองค์จึงใช้เวลาหลายชั่วโมงในการสอนเหล่าสาวกเป็นส่วนตัว. (มโก. 6:34) แต่พระองค์ทรงรู้ว่าเวลาของพระองค์บนโลกมีไม่มากและพระองค์จะต้องเสด็จกลับไปสวรรค์. (มัด. 16:21; โย. 14:12) พระเยซูจะดูแลให้เหล่าสาวกของพระองค์บนแผ่นดินโลกได้รับการเลี้ยงดูฝ่ายวิญญาณอย่างดีได้อย่างไร? พระองค์จะใช้วิธีการคล้ายๆกัน คือพระองค์จะเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณคนเป็นจำนวนมากโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน. แต่ใครคือคนเพียงไม่กี่คนนั้น? ขอให้เรามาดูกันว่าพระเยซูทรงใช้ไม่กี่คนเลี้ยงดูเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมในศตวรรษแรกอย่างไร. หลังจากนั้น ในบทความถัดไปเราจะพิจารณาคำถามที่สำคัญสำหรับเราทุกคนว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือคนเพียงไม่กี่คนที่พระคริสต์ใช้ให้เลี้ยงดูเราทางฝ่ายวิญญาณในทุกวันนี้?

พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารหลายพันคนโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน (ดูข้อ 4)

พระเยซูทรงเลือกคนไม่กี่คน

5, 6. (ก) พระเยซูทรงตัดสินใจเรื่องสำคัญอะไรเพื่อให้แน่ใจว่าเหล่าสาวกจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์? (ข) พระเยซูทรงเตรียมอัครสาวกไว้อย่างไรให้พร้อมจะทำหน้าที่สำคัญหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์?

5 หัวหน้าครอบครัวที่มีความรับผิดชอบจะเตรียมการไว้เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวของเขาจะได้รับการดูแลถ้าเขาเสียชีวิต. คล้ายกัน พระเยซูผู้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนทรงเตรียมการไว้เพื่อให้แน่ใจว่าเหล่าสาวกจะได้รับการดูแลทางฝ่ายวิญญาณหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์. (เอเฟ. 1:22) ตัวอย่างเช่น ประมาณสองปีก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงตัดสินใจเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง. พระองค์ทรงเลือกคนไม่กี่คนกลุ่มแรกที่ในภายหลังพระองค์จะใช้พวกเขาให้เลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณหลายคน. ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ในตอนนั้น.

6 หลังจากอธิษฐานตลอดทั้งคืน พระเยซูทรงเรียกเหล่าสาวกมาแล้วเลือก 12 คนเป็นอัครสาวก. (ลูกา 6:12-16) ในช่วงสองปีหลังจากนั้น พระองค์ทรงใกล้ชิดกับ 12 คนนี้เป็นพิเศษ สอนพวกเขาทั้งโดยคำพูดและการวางตัวอย่าง. พระองค์ทรงรู้ว่ามีหลายอย่างที่พวกเขาต้องเรียนรู้. ที่จริง พวกเขายังคงถูกเรียกว่า “สาวก.” (มัด. 11:1; 20:17) พระองค์ทรงแนะนำพวกเขาเป็นส่วนตัวและฝึกสอนพวกเขาหลายแง่มุมที่เกี่ยวกับงานรับใช้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างยิ่ง. (มัด. 10:1-42; 20:20-23; ลูกา 8:1; 9:52-55) เห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงเตรียมพวกเขาไว้ให้พร้อมจะทำหน้าที่สำคัญหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์และเสด็จกลับสวรรค์.

7. คำตรัสของพระเยซูบอกอะไรเราเกี่ยวกับสิ่งที่เหล่าอัครสาวกควรเอาใจใส่เป็นอันดับแรก?

7 เหล่าอัครสาวกจะทำหน้าที่อะไร? เมื่อใกล้จะถึงวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 เห็นได้ชัดว่าเหล่าอัครสาวกจะรับหน้าที่เป็น “ผู้ดูแลแทน.” (กิจ. 1:20) แต่เรื่องที่พวกเขาควรเอาใจใส่เป็นอันดับแรกคืออะไร? หลังจากที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ตรัสอะไรบางอย่างกับอัครสาวกเปโตรซึ่งทำให้เราได้คำตอบ. (อ่านโยฮัน 21:1, 2, 15-17 ) พระเยซูทรงบอกเปโตรต่อหน้าอัครสาวกคนอื่นๆว่า “จงเลี้ยงแกะเล็กๆของเรา.” การที่พระเยซูตรัสอย่างนี้แสดงว่าเหล่าอัครสาวกจะเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่พระองค์จะใช้ให้เลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณคนจำนวนมาก. คำตรัสนี้บอกให้เรารู้ว่าพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรต่อ “แกะเล็กๆ” ของพระองค์. นั่นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจจริงๆ! *

เลี้ยงอาหารหลายคนตั้งแต่วันเพนเทคอสต์เป็นต้นมา

8. คนใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือในวันเพนเทคอสต์แสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าพวกเขารู้ว่าใครคือผู้ที่พระคริสต์ทรงใช้?

8 เริ่มตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 พระคริสต์ผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงใช้เหล่าอัครสาวกให้จ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณแก่สาวกคนอื่นๆที่เป็นผู้ถูกเจิมทั้งหมด. (อ่านกิจการ 2:41, 42 ) ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่ได้มาเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณในสมัยนั้นรู้ว่าเหล่าอัครสาวกเป็นผู้ที่พระเยซูใช้. พวกเขาพร้อมจะ “เอาใจใส่ฟังคำสอนของพวกอัครสาวกต่อๆไป” โดยไม่ลังเล. คนใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือหิวกระหายอาหาร ฝ่ายวิญญาณอย่างยิ่ง และพวกเขารู้ว่าจะต้องไปหาใครเพื่อจะได้รับอาหารนั้น. พวกเขาพึ่งเหล่าอัครสาวกให้ช่วยอธิบายคำตรัสและการกระทำของพระเยซูและช่วยให้เข้าใจความหมายของข้อคัมภีร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระองค์. *กิจ. 2:22-36

9. เหล่าอัครสาวกแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าพวกเขาเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงแกะของพระเยซูเป็นอย่างดี?

9 เหล่าอัครสาวกเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงอาหารแกะของพระเยซูเป็นอย่างดี. ตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตว่าพวกเขาจัดการอย่างไรกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกได้ในประชาคมที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น. ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับอาหารด้านร่างกาย. แม่ม่ายที่พูดภาษากรีกถูกละเลยในการแจกอาหารประจำวัน แต่แม่ม่ายที่พูดภาษาฮีบรูไม่ถูกละเลย. เหล่าอัครสาวกแก้ปัญหานี้อย่างไร? “อัครสาวกสิบสองคน” แต่งตั้งพี่น้องชายเจ็ดคนที่มีคุณวุฒิให้ดูแล “งานที่จำเป็นนี้” คือการแจกอาหาร. เหล่าอัครสาวก ซึ่งส่วนใหญ่คงจะได้มีส่วนร่วมในการแจกอาหารแก่ฝูงชนที่พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารอย่างอัศจรรย์ เห็นว่าพวกเขาควรเน้นในเรื่องการเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณ มากกว่า. ดังนั้น พวกเขาทุ่มเทตัวเองใน “งานสอนพระคำของพระเจ้า.”—กิจ. 6:1-6

10. พระคริสต์ทรงใช้เหล่าอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลมอย่างไร?

10 เมื่อถึง ส.ศ. 49 มีผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณวุฒิบางคนได้เข้าร่วมกับเหล่าอัครสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่. (อ่านกิจการ 15:1, 2 ) “อัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลม” รับใช้ในฐานะคณะกรรมการปกครอง. พระคริสต์ซึ่งเป็นประมุขของประชาคมทรงใช้ผู้ชายที่มีคุณวุฒิกลุ่มเล็กๆกลุ่มนี้ให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหลักคำสอนและดูแลชี้นำการประกาศและสอนข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.—กิจ. 15:6-29; 21:17-19; โกโล. 1:18

11, 12. (ก) อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรการจัดเตรียมที่พระบุตรใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ประชาคมในศตวรรษแรก? (ข) ผู้คนรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ที่พระคริสต์ใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ประชาคม?

11 พระยะโฮวาทรงอวยพรการจัดเตรียมนี้ที่พระบุตรใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ประชาคมในศตวรรษแรกไหม? แน่นอนที่สุด! เราแน่ใจได้อย่างไร? หนังสือกิจการรายงานดังนี้: “เมื่อเปาโลกับพวกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ พวกเขาจะถ่ายทอดคำสั่งให้พี่น้องที่นั่นปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นคำตัดสินของพวกอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลม. ประชาคมต่างๆจึงมีความเชื่อที่มั่นคงและมีผู้มาเชื่อถือเพิ่มขึ้นทุกวัน.” (กิจ. 16:4, 5) ขอให้ สังเกตว่าประชาคมเหล่านั้นเจริญรุ่งเรืองเพราะพวกเขาร่วมมือกับคณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมอย่างภักดี. นั่นเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรการจัดเตรียมที่พระบุตรใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ประชาคมต่างๆมิใช่หรือ? ขอเราอย่าลืมว่าประชาคมไม่มีทางรุ่งเรืองได้เลยถ้าพระยะโฮวาไม่อวยพร.—สุภา. 10:22; 1 โค. 3:6, 7

12 เราได้เห็นแล้วว่าพระเยซูทรงทำตามแบบแผนอย่างหนึ่งเมื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เหล่าสาวก คือพระองค์เลี้ยงอาหารหลายคนโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน. ในตอนนั้น เห็นได้ชัดว่าใครคือคนที่พระองค์ใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่ประชาคม. ที่จริง เหล่าอัครสาวก ซึ่งเป็นสมาชิกเริ่มแรกของคณะกรรมการปกครอง สามารถแสดงหลักฐานที่มองเห็นได้ว่าพวกเขาได้รับการหนุนหลังจากสวรรค์. กิจการ 5:12 บอกว่า “พวกอัครสาวกยังคงทำการอัศจรรย์และแสดงนิมิตอีกหลายอย่างท่ามกลางประชาชน.” * ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่คนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนจะสงสัยว่า ‘ใครคือคนที่พระคริสต์กำลังใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแก่แกะของพระองค์?’ แต่เมื่อสิ้นสุดศตวรรษแรก สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป.

ในศตวรรษแรก มีหลักฐานชัดเจนว่าใครคือกลุ่มคนที่พระเยซูทรงใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณประชาคมคริสเตียน (ดูข้อ 12)

เมื่อวัชพืชมีมากและข้าวสาลีมีน้อย

13, 14. (ก) พระเยซูทรงเตือนอะไรเกี่ยวกับการโจมตี และเป็นจริงตามคำตรัสของพระองค์เมื่อไร? (ข) การโจมตีจะมาจากสองฝ่ายใด? (ดูข้อสังเกตสำหรับผู้อ่านในการศึกษา)

13 พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าประชาคมคริสเตียนจะถูกโจมตี. อย่าลืมว่าในอุทาหรณ์เชิงพยากรณ์เรื่องข้าวสาลีและวัชพืช พระเยซูทรงเตือนว่าทุ่งข้าวสาลีที่ปลูกใหม่ (คริสเตียนผู้ถูกเจิม) จะถูกหว่านทับด้วยวัชพืช (คริสเตียนปลอม). พระองค์ตรัสว่า ทั้งสองกลุ่มจะถูกปล่อยให้เจริญเติบโตไปด้วยกันโดยยังไม่ให้ทำอะไรจนกระทั่งถึงเวลาเกี่ยว คือใน “ช่วงสุดท้ายของยุค.” (มัด. 13:24-30, 36-43) หลังจากนั้นไม่นานก็เป็นอย่างนั้นจริงๆตามคำตรัสของพระเยซู. *

14 พวกผู้ออกหากได้นำคำสอนเท็จเข้ามาในประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรก แต่เหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูทำหน้าที่เป็น “สิ่งที่หน่วงเหนี่ยว” คนพวกนี้ไว้. (2 เทส. 2:3, 6, 7) แต่เมื่ออัครสาวกคนสุดท้ายเสียชีวิตไป การออกหากก็ฝังรากลึกและงอกงามในช่วงเติบโตที่ยาวนานหลายศตวรรษ. และในช่วงเวลานั้น วัชพืชก็เพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากและต้นข้าวสาลีมีจำนวนเพียงเล็กน้อย. ไม่มีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่แจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ. ในที่สุดจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น. แต่คำถามก็คือ จะเกิดขึ้นเมื่อไร?

ใครจะเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณในฤดูเกี่ยว?

15, 16. การศึกษาพระคัมภีร์อย่างขยันขันแข็งของกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทำให้เกิดผลอย่างไร และนั่นทำให้มีคำถามอะไรเกิดขึ้น?

15 เมื่อใกล้จะสิ้นสุดช่วงเติบโตตามในอุทาหรณ์ของพระเยซู บางคนเริ่มแสดงความสนใจอย่างแรงกล้าที่จะรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. ขอให้คิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1870 เมื่อคนที่แสวงหาความจริงอย่างจริงใจกลุ่มเล็กๆได้มารวมตัวกันและตั้งชั้นเรียนคัมภีร์ไบเบิลโดยแยกตัวออกมาจากวัชพืช คือคริสเตียนปลอมที่อยู่ในคริสตจักรและนิกายต่างๆของคริสต์ศาสนจักร. คนเหล่านี้ ซึ่งในตอนนั้นเรียกตัวเองว่านักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ได้ค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างละเอียดถี่ถ้วนพร้อมด้วยการอธิษฐานอย่างถ่อมใจและด้วยใจเปิด.—มัด. 11:25

16 การศึกษาพระคัมภีร์อย่างขยันขันแข็งของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มนี้เกิดผลอย่างมาก. ชายหญิงที่ภักดีเหล่านี้ได้เปิดโปงคำสอนเท็จและเผยแพร่ความจริงโดยการจัดพิมพ์และจำหน่ายจ่ายแจกหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลออกไปอย่างกว้างไกล. การงานของพวกเขาได้ช่วยหลายคนที่หิวกระหายความจริง. ดังนั้น มีคำถามที่น่าคิดเกิดขึ้นที่ว่า กลุ่ม นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในช่วงเวลานั้นจนกระทั่งถึงปี 1914 เป็นกลุ่มคนที่พระคริสต์แต่งตั้งและใช้เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณแกะของพระองค์ไหม? ไม่. ข้าวสาลีและวัชพืชยังคงเติบโตไปด้วยกัน และกลุ่มคนที่จะเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณยังไม่พร้อมจะทำหน้าที่. ยังไม่ถึงเวลาที่คริสเตียนปลอมซึ่งเป็นเหมือนวัชพืชจะถูกแยกออกจากคริสเตียนแท้ที่เป็นเหมือนข้าวสาลี.

17. มีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1914?

17 ดังที่เราได้เรียนในบทความก่อน ฤดูเกี่ยวเริ่มต้นในปี 1914. ในปีนั้น มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเริ่มต้นขึ้น. พระเยซูได้นั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์และสมัยสุดท้ายเริ่มต้นขึ้น. (วิ. 11:15) ตั้งแต่ปี 1914 จนถึงต้นปี 1919 พระเยซูกับพระบิดาได้เสด็จมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณเพื่อตรวจและชำระให้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง. * (มลคี. 3:1-4) หลังจากนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มรวบรวมข้าวสาลี. นี่คือเวลาที่พระคริสต์จะแต่งตั้งกลุ่มคนที่จะได้รับการจัดระเบียบเป็นองค์การเพื่อจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณไหม? ใช่แล้ว!

18. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะทำอะไร และเมื่อสมัยสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นแล้วมีคำถามสำคัญอะไรที่ต้องได้รับคำตอบ?

18 ในคำพยากรณ์เกี่ยวกับเวลาอวสาน พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะแต่งตั้ง “ทาสสัตย์ซื่อ” ให้จ่ายแจก ‘อาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะ.’ (มัด. 24:45-47) ใครจะเป็น “ทาสสัตย์ซื่อ” นั้น? เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงทำในศตวรรษแรก พระเยซูจะเลี้ยงอาหารคนจำนวนมากโดยใช้คนเพียงไม่กี่คนอีกครั้งหนึ่ง. แต่เมื่อสมัยสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นแล้ว คำถามสำคัญก็คือ ใครจะเป็นคนเพียงไม่กี่คนดังกล่าว? บทความถัดไปจะตอบคำถามนี้และคำถามอื่นๆเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระเยซู.

 

^ วรรค 3 ข้อ 3: ในเวลาต่อมา เมื่อพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์โดยเลี้ยงอาหาร 4,000 คน ไม่รวมผู้หญิงและเด็ก อีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ส่งอาหาร “ให้สาวก แล้วสาวกก็ส่งให้ฝูงชน.”—มัด. 15:32-38

^ วรรค 7 ข้อ 7: ในช่วงที่เปโตรมีชีวิตอยู่ “แกะเล็กๆ” ที่จะได้รับการเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณทั้งหมดมีความหวังที่จะอยู่ในสวรรค์.

^ วรรค 8 ข้อ 8: ข้อเท็จจริงที่ว่าคนใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ “เอาใจใส่ฟังคำสอนของพวกอัครสาวกต่อๆไป” แสดงว่าเหล่าอัครสาวกสอนเป็นประจำ. คำสอนบางอย่างของเหล่าอัครสาวกมีบันทึกไว้อย่างถาวรในหนังสือเล่มต่างๆที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งในเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.

^ วรรค 12 ข้อ 12: แม้ว่านอกเหนือจากเหล่าอัครสาวกแล้วยังมีคนอื่นๆด้วยที่ได้รับพระวิญญาณเป็นของประทานอย่างอัศจรรย์ แต่ดูเหมือนว่าในกรณีส่วนใหญ่ คนเหล่านั้นได้รับของประทานนี้จากเหล่าอัครสาวกโดยตรงหรือเมื่อมีพวกเขาอยู่ด้วย.—กิจ. 8:14-18; 10:44, 45

^ วรรค 13 ข้อ 13: คำพูดของอัครสาวกเปาโลในกิจการ 20:29, 30 แสดงว่าประชาคมคริสเตียนจะถูกโจมตีจากสองฝ่าย. ฝ่ายแรกคือคริสเตียนปลอม (“วัชพืช”) ซึ่งจะ “เข้ามาอยู่ในหมู่” คริสเตียนแท้. ฝ่ายที่สองคือคริสเตียนแท้ที่กลายเป็นผู้ออกหากซึ่งพูด “บิดเบือนความจริง.”

^ วรรค 17 ข้อ 17: โปรดดูข้อ 6 ของบทความศึกษา “เราจะอยู่กับพวกเจ้าเสมอ” ในหน้า 11 ของฉบับนี้.