ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเป็นไพโอเนียร์เสริมสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า

การเป็นไพโอเนียร์เสริมสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า

“การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าเป็นการดี.”—เพลง. 147:1

1, 2. (ก) ผลจะเป็นอย่างไรเมื่อเราคิดถึงและพูดถึงคนที่เรารัก? (ดูภาพในหน้านี้) (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?

เมื่อเราคิดถึงและพูดถึงคนที่เรารัก สายสัมพันธ์ของเรากับคนนั้นจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. เป็นอย่างนั้นด้วยกับสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า. ตอนที่เป็นผู้เลี้ยงแกะ ดาวิดใช้เวลามากมายตอนกลางคืนจ้องดูท้องฟ้าที่มีดาวเต็มไปหมดและใคร่ครวญเกี่ยวกับพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่. ท่านเขียนว่า “ครั้นข้าพเจ้าพิจารณาท้องฟ้า, ที่เป็นพระหัตถกิจของพระองค์, คือดวงจันทร์กับดวงดาวซึ่งพระองค์ได้ทรงประดิษฐานไว้; มนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา? หรือพงศ์พันธุ์ของมนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเขา?” (เพลง. 8:3, 4) และเมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับวิธีการอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาทำให้พระประสงค์สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมสำเร็จเป็นจริง ท่านพรรณนาว่า “โอ้ความมั่งคั่งและสติปัญญาและความรู้ของพระเจ้าล้ำลึกเสียจริง!”—โรม 11:17-26, 33

2 เมื่อเราไปประกาศ เราคิดถึงและพูดถึงพระยะโฮวา. การทำอย่างนี้ทำให้สายสัมพันธ์ของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ไพโอเนียร์หลายคนรู้สึกได้ว่าพวกเขารักพระเจ้ามากขึ้นเพราะพวกเขาสามารถใช้เวลามากขึ้นในการรับใช้พระองค์. บทความนี้จะช่วยทั้งไพโอเนียร์และคนที่อยากเป็นไพโอเนียร์ใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้: การเป็นไพโอเนียร์ช่วยเสริมสายสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาได้อย่างไร? ถ้าคุณเป็นไพโอเนียร์ อะไรจะช่วยคุณให้รักษาสิทธิพิเศษนี้ไว้? ถ้าคุณยังไม่ได้เป็นไพโอเนียร์ คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะเริ่มต้นได้? ก่อนอื่น ให้เรามาพิจารณาว่าการเป็นไพโอเนียร์ช่วยเสริมสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าอย่างไรบ้าง.

 การเป็นไพโอเนียร์ช่วยเสริมสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าอย่างไร?

3. การพูดเรื่องพระพรที่ราชอาณาจักรจะทำให้มีขึ้นในอนาคตช่วยเราอย่างไร?

3 เมื่อเราพูดกับคนอื่นเรื่องพระพรที่ราชอาณาจักรจะทำให้มีขึ้นในอนาคต เราจะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น. คุณชอบใช้พระคัมภีร์ข้อใดเมื่อไปประกาศตามบ้าน? ข้อคัมภีร์ที่คุณชอบใช้อาจเป็นบทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; ดานิเอล 2:44; โยฮัน 5:28, 29; หรือวิวรณ์ 21:3, 4. แต่ละครั้งที่เราพูดเรื่องคำสัญญาเหล่านั้นกับคนอื่น เรา ก็จะนึกถึงพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีพระทัยเอื้อเฟื้ออย่างแท้จริงซึ่งเป็นผู้ให้ “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง.” นี่ทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น.—ยโก. 1:17

4. ทำไมเราจึงเห็นค่าคุณความดีของพระเจ้ามากยิ่งขึ้นเมื่อเราประกาศแก่คนอื่น?

4 เมื่อเราเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขและสิ้นหวัง เราจะเห็นคุณค่าความจริงมากขึ้น. ผู้คนในโลกไม่ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อจะมีความสำเร็จและความสุขแท้. คนส่วนใหญ่กังวลเรื่องอนาคตและไม่มีความหวัง. พวกเขาแสวงหาความหมายของชีวิต. แม้แต่คนที่เคร่งศาสนาที่สุดก็รู้น้อยมากเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาคล้ายกันมากกับประชาชนชาวนีเนเวห์. (อ่านโยนา 4:11 ) ยิ่งเราพูดกับผู้คนในงานประกาศมากเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงดูแลเราดีขนาดไหน. (ยซา. 65:13) แต่พระยะโฮวาทรงดูแลไม่เฉพาะแต่ประชาชนของพระองค์เท่านั้น. พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับการปลอบโยนและความหวังแท้. นี่ช่วยเราให้ระลึกว่าพระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยคุณความดีจริงๆ.—วิ. 22:17

5. การสอนความจริงแก่คนอื่นทำให้เรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาของตัวเอง?

5 เมื่อเราสอนความจริงแก่คนอื่น เราก็จะไม่กังวลมากเกินไปกับปัญหาของเราเอง. ทริชาซึ่งเป็นไพโอเนียร์ประจำคนหนึ่งพบว่าเป็นอย่างนี้จริงเมื่อพ่อแม่ของเธอหย่ากัน. วันหนึ่งเธอรู้สึกเศร้ามากและไม่อยากออกประกาศ. แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังไปนำการศึกษาพระคัมภีร์. นักศึกษาของเธอเป็นเด็กสามคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาหลายอย่าง. พ่อของเด็กสามคนนี้ทิ้งพวกเขาไป และพี่ชายก็โหดร้ายกับพวกเขา. ทริชาบอกว่า “ปัญหาหรือความทุกข์ใจของดิฉันเองเทียบกันไม่ได้เลยกับความทุกข์ของพวกเขา. ขณะที่เราศึกษา แววตาของพวกเขาเป็นประกายและหัวเราะอย่างตื่นเต้นและยินดี. เด็กเหล่านี้เป็นของขวัญจากพระยะโฮวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนั้น.”

6, 7. (ก) ความเชื่อของเราจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นได้อย่างไรเมื่อเราสอนความจริงแก่คนอื่น? (ข) เมื่อเราเห็นว่าการทำตามหลักการในพระคัมภีร์ทำให้ชีวิตของนักศึกษาดีขึ้น เราจะมองสติปัญญาของพระเจ้าอย่างไร?

6 เมื่อเราสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่น ความเชื่อของเราก็จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวยิวบางคนในสมัยของท่านที่ไม่ได้ทำตามที่พวกเขาเองสอนว่า “ท่านผู้สอนคนอื่นไม่ได้สอนตนเองหรือ?” (โรม 2:21) ตามปกติไพโอเนียร์มีโอกาสมากที่จะสอนความจริงแก่คนอื่นและนำการศึกษาพระคัมภีร์. เพื่อจะสอนคนอื่นได้ดี พวกเขาต้องสอนตัวเองก่อน. พวกเขาต้องเตรียมตัวสำหรับการนำการศึกษาแต่ละครั้งและบางครั้งอาจต้องค้นคว้าเพื่อตอบคำถามต่างๆ. ไพโอเนียร์คนหนึ่งชื่อจานีนบอกว่าแต่ละครั้งที่เธอสอนความจริงแก่คนอื่น เธอเชื่อมั่นในความจริงมากยิ่งขึ้น.

7 เมื่อเราเห็นว่าการทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลทำให้ชีวิตของนักศึกษาดีขึ้น เราก็ยิ่งเห็นคุณค่าสติปัญญาของพระเจ้ามากขึ้น. (ยซา. 48:17, 18) นั่นช่วยให้เราอยากใช้หลักการในพระคัมภีร์กับชีวิตของเราเองต่อไป. อาเดรียนนา ไพโอเนียร์อีกคนหนึ่ง บอกว่า “ชีวิตของผู้คนยุ่งเหยิง สับสนเมื่อพวกเขาพึ่งสติปัญญาของตนเอง. แต่เมื่อพวกเขาเริ่มไว้วางใจสติปัญญาของพระยะโฮวา พวกเขาก็ได้รับประโยชน์ทันที.” ไพโอเนียร์คนหนึ่งที่ชื่อฟิลบอกว่าเขาทึ่งมากที่เห็นผู้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา.

8. การทำงานประกาศกับพี่น้องช่วยเราอย่างไร?

8 เมื่อเราทำงานประกาศกับพี่น้อง เราได้รับการหนุนใจ. (สุภา. 13:20) ไพโอเนียร์ใช้เวลามากในการประกาศกับพี่น้องคนอื่นๆ. นี่ทำให้พวกเขามีโอกาสมากกว่าที่จะ “หนุนกำลังใจกัน.” (โรม 1:12; อ่านสุภาษิต 27:17 ) ไพโอเนียร์คนหนึ่งชื่อลิซาเล่าว่าในที่ทำงานของเธอ เพื่อนร่วมงานต่างก็อิจฉากันและทำทุกสิ่งเพื่อจะเหนือกว่าคนอื่น. ทุกวันเธอได้ยินพวกเขาซุบซิบนินทาและด่าทอกัน. เธอบอกอีกว่า “บางครั้ง ดิฉันถูกเยาะเย้ยหรือถูกล้อเลียนเพราะความประพฤติแบบคริสเตียนของดิฉัน. แต่การทำงานประกาศด้วยกันกับพี่น้องให้กำลังใจดิฉันจริงๆ. พอตกเย็น ไม่ว่าจะเหนื่อยขนาดไหน ดิฉันก็กลับถึงบ้านด้วยความสดชื่น.”

9. การที่สามีกับภรรยาเป็นไพโอเนียร์ด้วยกันช่วยชีวิตสมรสของพวกเขาอย่างไร?

9 เมื่อเราเป็นไพโอเนียร์ด้วยกันกับคู่สมรส ชีวิตสมรสของเราเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น. (ผู้ป. 4:12) แมเดลีน ซึ่งเป็นไพโอเนียร์ด้วยกันกับสามี บอกว่า “ดิฉันกับสามีมีเวลาพูดคุยกันเกี่ยวกับงานรับใช้หรือพูดกันเกี่ยวกับบางเรื่องที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเอามาใช้ได้กับงานรับใช้. แต่ละปีที่เราเป็นไพโอเนียร์ด้วยกัน เราใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ.” คล้ายกัน ทริชาบอกว่าเธอกับสามีตกลงกันว่าจะไม่ซื้อของที่พวกเขามีเงินไม่พอซื้อ. ผลก็คือ ทั้งสองไม่ทะเลาะกันเรื่องเงิน. ทั้งสองยังไปเยี่ยมด้วยกันและ นำการศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน. การทำอย่างนี้ทำให้ชีวิตสมรสของทั้งสองเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น.

10. เมื่อเราให้ราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกและได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า ความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวาจะเป็นอย่างไร?

10 เราจะไว้วางใจพระยะโฮวามากขึ้นเมื่อเราให้ราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก ได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา และเห็นว่าพระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเรา. จริงอยู่ คริสเตียนแท้ที่ภักดีทุกคนไว้วางใจพระยะโฮวา. แต่ไพโอเนียร์พบว่าโดยการไว้วางใจพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาสามารถเป็นไพโอเนียร์ต่อไปได้. (อ่านมัดธาย 6:30-34 ) เคิร์ต ซึ่งเป็นไพโอเนียร์และเป็นผู้ดูแลหมวดสมทบ ตอบรับงานมอบหมายที่จะไปเยี่ยมประชาคมหนึ่งซึ่งอยู่ไกลจากบ้านของเขา และต้องใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่งจึงจะขับรถไปถึง. รถของเขาเหลือน้ำมันในถังมากพอแค่ขาไป แต่มีไม่พอสำหรับขากลับ. เขากับภรรยาเป็นไพโอเนียร์ และจะได้รับเงินในสัปดาห์ถัดไป. เคิร์ตบอกว่าเขาเริ่มสงสัยว่าเขาคิดถูกหรือไม่. แต่หลังอธิษฐาน ทั้งสองก็ลงความเห็นว่าพวกเขาจะทำงานมอบหมายนั้นให้สำเร็จ โดยไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงดูแลให้พวกเขามีสิ่งจำเป็น. ตอนที่ทั้งสองกำลังจะออกเดินทาง พี่น้องหญิงคนหนึ่งแวะมาหาและบอกว่าเธอเอาของขวัญมาให้. ของขวัญนั้นคือเงินจำนวนหนึ่งซึ่งพอสำหรับใช้ในการเดินทางครั้งนั้นพอดี. เคิร์ตบอกว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเห็นว่าเป็นพระยะโฮวานั่นเองที่ประทานสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้รับ.

11. การเป็นไพโอเนียร์ทำให้ได้รับพระพรอะไร?

11 ไพโอเนียร์มักจะพูดว่ายิ่งพวกเขาใกล้ชิดพระเจ้าและทำงานรับใช้มากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งได้รับพระพรมากขึ้น. (บัญ. 28:2) แต่การเป็นไพโอเนียร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. เราทุกคนประสบความทุกข์ยากเพราะความไม่สมบูรณ์และเพราะโลกชั่วนี้. บางครั้งปัญหาบางอย่างอาจทำให้ไพโอเนียร์ต้องหยุดรับใช้ในหน้าที่นี้ชั่วระยะหนึ่ง. แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาแก้ปัญหาได้หรือสามารถหลีกเลี่ยงเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหา. อะไรจะช่วยไพโอเนียร์ให้รักษาสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้นี้ต่อไปได้?

จะเป็นไพโอเนียร์ต่อไปได้อย่างไร?

12, 13. (ก) ไพโอเนียร์ควรทำอะไรถ้าเขามีปัญหาในการบรรลุข้อเรียกร้องเรื่องเวลา? (ข) ทำไมจึงสำคัญที่จะต้องจัดเวลาไว้อ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน ศึกษาส่วนตัว และใคร่ครวญ?

12 ไพโอเนียร์ส่วนใหญ่มีตารางเวลาเต็มแน่น. อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำทุกสิ่งได้ การจัดระเบียบจึงเป็นเรื่องสำคัญ. (1 โค. 14:33, 40) ถ้าไพโอเนียร์มีปัญหาในการบรรลุข้อเรียกร้องเรื่องเวลา เขาควรตรวจดูการใช้เวลาของเขา. (เอเฟ. 5:15, 16) เขาอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันใช้เวลามากเกินไปกับการพักผ่อนหย่อนใจไหม? ฉันจะปรับเปลี่ยนตารางเวลาในการทำงานได้ไหม? ฉันใช้เวลามากกับสิ่งที่ไม่จำเป็นไหม?’ ไพโอเนียร์จำเป็นต้องถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้เป็นประจำและแก้ไขปรับเปลี่ยนตามที่จำเป็น.

13 ไพโอเนียร์ต้องกันเวลาไว้เพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน ศึกษาส่วนตัว และใคร่ครวญ. ไพโอเนียร์ต้องไม่ปล่อยให้สิ่งที่สำคัญน้อยกว่ามาแย่งเวลาที่เขาจะทำสิ่งที่จำเป็น. (ฟิลิป. 1:10) ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกภาพว่าไพโอเนียร์คนหนึ่งกลับถึงบ้านหลังจากรับใช้มาทั้งวัน. เขาวางแผนไว้ว่าจะเตรียมสำหรับการประชุมวันถัดไปในคืนนั้น. แต่ก่อนอื่น เขาอ่านจดหมาย. หลังจากนั้น เขาเปิดคอมพิวเตอร์ อ่านและตอบอีเมล. แล้วเขาก็เข้าไปในเว็บไซต์หนึ่งเพื่อตรวจดูว่าราคาของอย่างหนึ่งที่เขาอยากซื้อลดลงหรือยัง. โดยไม่ทันรู้ตัว เวลาก็ผ่านไปเกือบสองชั่วโมงแล้ว และเขายังไม่ได้เริ่มเตรียมสำหรับการประชุม. ทำไมการทำอย่างนี้จึงทำให้เกิดผลเสียหายได้? ถ้านักกีฬาอาชีพต้องการจะอยู่ในวงการ ได้นานๆ เขาต้องรับประทานอาหารที่มีคุณค่าเป็นประจำ. คล้ายกัน ไพโอเนียร์ก็ต้องศึกษาส่วนตัวเป็นประจำเพื่อจะรักษาตัวอยู่ในงานนี้.—1 ติโม. 4:16

14, 15. (ก) ทำไมไพโอเนียร์ควรจัดชีวิตให้เรียบง่าย? (ข) ถ้าไพโอเนียร์ประสบปัญหา เขาควรทำอะไร?

14 ไพโอเนียร์ที่ประสบความสำเร็จพยายามจัดชีวิตให้เรียบง่าย. นี่คือสิ่งที่พระเยซูทรงสนับสนุนให้เหล่าสาวกทำ. (มัด. 6:22) พระองค์ทรงจัดชีวิตของพระองค์ให้เรียบง่ายเพื่อจะสามารถมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่งานรับใช้. ครั้งหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “หมาจิ้งจอกมีโพรงและนกมีที่เกาะ แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ.” (มัด. 8:20) ไพโอเนียร์ที่เรียนรู้จากตัวอย่างของพระเยซูจะสำนึกว่ายิ่งพวกเขามีของมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อดูแล ซ่อมแซม หรือหาของใหม่มาเปลี่ยน.

15 ไพโอเนียร์รู้ว่างานรับใช้ที่พวกเขาทำเป็นสิทธิพิเศษ แต่พวกเขาไม่ได้คิดว่าตัวเขาดีกว่าคนอื่น. แทนที่จะคิดอย่างนั้น พวกเขาถือว่างานรับใช้ในฐานะไพโอเนียร์เป็นของประทานจากพระยะโฮวา. ดังนั้น เพื่อจะรับใช้ในหน้าที่นี้ต่อไปได้ ไพโอเนียร์แต่ละคนต้องหมายพึ่งพระยะโฮวา. (ฟิลิป. 4:13) ปัญหาหรือความยุ่งยากจะเกิดขึ้นในบางครั้ง. (เพลง. 34:19) เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไพโอเนียร์ควรขอการชี้นำจากพระยะโฮวาและให้พระองค์มีโอกาสได้ช่วย แทนที่จะด่วนตัดสินใจเลิกรับใช้. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 37:5 ) เมื่อพวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้วยความรักจากพระยะโฮวา สายสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับพระองค์ก็จะเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น.—ยซา. 41:10

คุณจะเป็นไพโอเนียร์ได้ไหม?

16. ถ้าคุณอยากเป็นไพโอเนียร์ คุณควรทำอะไร?

16 ถ้าคุณอยากจะเป็นไพโอเนียร์และอยากได้รับพระพรอย่างเดียวกับที่ไพโอเนียร์ได้รับ จงทูลอธิษฐานถึงพระยะโฮวาในเรื่องนี้. (1 โย. 5:14, 15) พูดคุยกับคนที่เป็นไพโอเนียร์ และตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้คุณเป็นไพโอเนียร์ได้. นั่นคือสิ่งที่คีทกับเอริกาได้ทำ. ทั้งคู่ก็เหมือนกับคู่สมรสคนอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกันคือหลังจากแต่งงานได้ไม่นาน พวกเขาก็ทำงานเต็มเวลา ซื้อบ้านและซื้อรถใหม่. ทั้งสองบอกว่า “เราคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราอิ่มใจพอใจ แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเลย.” หลังจากที่คีทตกงาน เขาเริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบ. เขาเล่าว่า “การเป็นไพโอเนียร์ทำให้ผมหวนคิดขึ้นมาได้ว่างานรับใช้ทำให้มีความยินดีมากขนาดไหน.” พวกเขาได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับไพโอเนียร์คู่หนึ่งซึ่งได้ช่วยพวกเขาให้ตระหนักว่าการเป็นไพโอเนียร์และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายทำให้มีความยินดีมาก. คีทกับเอริกาทำอะไร? “เราทำรายการเป้าหมายที่เราต้องการจะบรรลุ ติดไว้ที่ตู้เย็น และเมื่อบรรลุเป้าแต่ละอย่างได้เราก็ขีดถูกที่รายการนั้น.” ในที่สุด พวกเขาก็สามารถเป็นไพโอเนียร์ได้.

17. ทำไมจึงนับว่าฉลาดที่คุณจะคิดถึงการปรับเปลี่ยนตารางเวลาและรูปแบบชีวิตเพื่อจะเป็นไพโอเนียร์ได้?

17 คุณเป็นไพโอเนียร์ได้ไหม? ถ้าคุณคิดว่าคุณยังเป็นไพโอเนียร์ไม่ได้ในตอนนี้ ขอให้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อจะมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นด้วยการรับใช้ให้ดีที่สุด. ถ้าคุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและคิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับสภาพการณ์ของคุณ คุณอาจเห็นว่าการปรับเปลี่ยนบางอย่างในชีวิตคุณจะทำให้คุณเป็นไพโอเนียร์ได้. เมื่อคุณเริ่มเป็นไพโอเนียร์ ความยินดีที่คุณได้รับจะมีมากยิ่งกว่าการเสียสละใดที่คุณได้ทำไปอย่างที่เทียบกันไม่ได้. คุณจะมีความสุขความอิ่มใจมากขึ้นเพราะคุณได้ให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตและเพราะคุณให้ผู้อื่นได้มากกว่า. (มัด. 6:33) คุณจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะคิดถึงและพูดถึงพระยะโฮวา และนั่นจะทำให้คุณรักพระองค์มากขึ้นและทำให้พระองค์มีความสุข.