ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 เรื่องราวชีวิตจริง

เราอิ่มใจที่ได้พึ่งพระยะโฮวา

เราอิ่มใจที่ได้พึ่งพระยะโฮวา

ชีวิตคาดเดาไม่ได้ ไม่แน่นอน และรับมือได้ยากด้วย. แต่พระยะโฮวาอวยพรคนที่พึ่งพระองค์ แทนที่จะพึ่งความเข้าใจของตัวเอง. นี่คือสิ่งที่ผมกับภรรยาได้ประสบมาตลอดชีวิตที่ยาวนานและมีความสุข. ต่อไปนี้เป็นประวัติชีวิตของเราบางส่วน.

พ่อแม่ของผมพบกันในปี 1919 ที่การประชุมนานาชาติของนักศึกษาพระคัมภีร์ในเมืองซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา. ท่านทั้งสองแต่งงานกันในเวลาต่อมา ในปีเดียวกันนี้เอง. ผมเกิดในปี 1922 และพอล น้องชายของผม เกิดหลังจากผมสองปี. เกรซ ภรรยาของผม เกิดในปี 1930. พ่อแม่ของเธอ คือรอยและรูท เฮาเวลล์ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ และตากับยายของเธอเป็นเพื่อนกับบราเดอร์ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ด้วย.

ผมพบเกรซในปี 1947 และเราแต่งงานกันในวันที่ 16 กรกฎาคม 1949. ก่อนแต่งงาน เราคุยกันในเรื่องอนาคตของเรา. เราตัดสินใจว่าจะทำงานรับใช้เต็มเวลาและไม่มีลูกเพื่อจะทำหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างเต็มที่. ในวันที่ 1 ตุลาคม 1950 เราเริ่มเป็นไพโอเนียร์ด้วยกัน. ต่อมา ในปี 1952 เราได้รับเชิญให้ทำงานหมวด.

งานเดินทางและการฝึกอบรมในโรงเรียนกิเลียด

เราทั้งสองรู้สึกว่าเราต้องได้รับความช่วยเหลืออีกมากเพื่อจะทำงานที่ได้รับมอบหมายใหม่นี้. ขณะที่ผมเรียนจากประสบการณ์ของพี่น้องชายบางคน ผมก็หาคนที่จะช่วยเกรซด้วย. ผมเข้าไปคุยกับมาร์วิน โฮเลียน ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ของครอบครัวเราที่เคยเป็นผู้ดูแลเดินทางที่มีประสบการณ์ และถามเขาว่า “เกรซอายุยังน้อยและขาดประสบการณ์. คุณจะช่วยแนะนำใครสักคนได้ไหมที่จะทำงานกับเธอและช่วยฝึกเธอสักพักหนึ่ง?” เขาตอบว่า “ได้สิ. เอ็ดนา วิงเคิล เป็นไพโอเนียร์ที่มีประสบการณ์มานาน ผมว่าเธอน่าจะช่วยเกรซได้มาก.” ในภายหลัง เกรซพูดถึงเอ็ดนาว่า “เธอช่วยให้ดิฉันรู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่ที่หน้าบ้านเจ้าของบ้าน ช่วยดิฉันให้รู้วิธีตอบข้อคัดค้านต่างได้ดี และสอนดิฉันให้ฟังเจ้าของบ้านเพื่อจะรู้ว่าควรพูดเรื่องอะไร. เธอเป็นคนที่ช่วยดิฉันได้ดีที่สุด!”

ผมกับเกรซรับใช้ในสองหมวดที่รัฐไอโอวา รวมถึงส่วนหนึ่งของรัฐมินนิโซตาและรัฐเซาท์ดาโกตา. หลังจากนั้น เราย้ายไปหมวด 1 ของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งรวมถึงเขตปกครองบรุกลินและควีนส์. เราจะไม่มีวันลืมความรู้สึกที่ว่าเรามีประสบการณ์น้อย มากตอนที่เรารับงานมอบหมายนั้น. ประชาคมหนึ่งในหมวดนี้ที่เราไปเยี่ยมคือบรุกลินไฮตส์ ซึ่งใช้หอประชุมราชอาณาจักรที่เบเธลและมีสมาชิกครอบครัวเบเธลที่เป็นผู้อาวุโสอยู่ในประชาคมนี้หลายคน. หลังจากคำบรรยายรับใช้แรกที่ผมบรรยายในประชาคมนี้ บราเดอร์นาทาน นอรร์ ก็มาหาผมและพูดกับผมในทำนองว่า “มัลคอล์ม คุณได้ให้คำแนะนำที่เราต้องพยายามนำไปใช้ และนั่นเป็นคำแนะนำที่เหมาะสม. อย่าลืมว่า ถ้าคุณไม่ได้ช่วยเราโดยให้คำแนะนำที่กรุณาแก่เรา คุณก็แทบจะไม่มีค่าต่อองค์การเลย. ขอให้ทำดีต่อไป.” หลังจากการประชุม ผมเล่าเรื่องนี้ให้เกรซฟัง. หลังจากนั้น เราขึ้นไปที่ห้องพักของเบเธลที่เราพักในช่วงที่เยี่ยมที่นั่น. เรารู้สึกหมดแรงเพราะความเครียดจนถึงกับร้องไห้.

“ถ้าคุณไม่ได้ช่วยเราโดยให้คำแนะนำที่กรุณาแก่เรา คุณก็แทบจะไม่มีค่าต่อองค์การเลย. ขอให้ทำดีต่อไป”

หลังจากนั้นสองสามเดือน เราได้รับจดหมายเชิญให้เข้าเรียนในโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 24 ซึ่งจะจบหลักสูตรในเดือนกุมภาพันธ์ 1955. เราได้รับแจ้งตั้งแต่ก่อนจะไปโรงเรียนนี้ว่าการฝึกอบรมที่เราได้รับไม่จำเป็นต้องเป็นการเตรียมเราให้พร้อมจะเป็นมิชชันนารี แต่จะช่วยเตรียมเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในงานเดินทาง. การเรียนในโรงเรียนนี้เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ช่วยให้เราถ่อมใจด้วย.

เมื่อเราเรียนจบ เราได้รับมอบหมายให้รับใช้ในงานภาค. ภาคที่เรารับใช้อยู่ในรัฐอินเดียนา มิชิแกน และโอไฮโอ. ต่อมา ในเดือนธันวาคม 1955 เราแปลกใจที่ได้รับจดหมายจากบร. นอรร์ ซึ่งบอกว่า “ขอให้พูดกับผมตรงเลยนะว่า คุณอยากจะมาที่เบเธลไหม หรือว่าคุณอยากรับใช้ในงานภาคและงานหมวดต่อไปมากกว่า . . . และถ้าคุณอยากจะรับงานมอบหมายในต่างประเทศหลังจากรับใช้ที่เบเธลสักระยะหนึ่ง ก็ขอให้บอกผมด้วย.” เราตอบว่าเรายินดีที่จะทำอะไรก็ตามที่เราได้รับมอบหมายให้ทำ. เกือบจะทันที เราได้รับคำสั่งให้รายงานตัวที่เบเธล!

ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในเบเธล

สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นในช่วงที่ผมรับใช้ที่เบเธลก็คือการบรรยายในประชาคมต่างในการประชุมหมวด และการประชุมภาคทั่วสหรัฐ. ผมได้มีส่วนร่วมในการฝึกอบรมและช่วยคนหนุ่มหลายคนซึ่งในภายหลังได้รับหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในองค์การของพระยะโฮวา. ในที่สุด ผมก็ได้ทำงานเป็นเลขานุการของบร. นอรร์ในห้องทำงานที่จัดระเบียบงานประกาศทั่วโลก.

ผมพบว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ผมได้ทำงานในแผนกการรับใช้นั้นน่ายินดีเป็นพิเศษ. ที่นั่นผมสามารถทำงานร่วมกับ ที. เจ. (บัด) ซุลลิแวน. เขาเป็นผู้ดูแลในแผนกนี้มานานหลายปี. แต่ก็มีคนอื่นด้วยที่ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากพวกเขา. คนหนึ่งก็คือเฟรด รัสก์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ฝึกผม. ผมจำได้ดีว่าเคย ถามเขาว่า “บร. เฟรดครับ ทำไมคุณแก้จดหมายที่ผมเขียนเยอะจังเลยครับ?” เขาหัวเราะ แต่ก็ให้ข้อคิดกับผมว่า “มัลคอล์ม เมื่อคุณพูดอะไรออกมา คุณอธิบายต่อได้ แต่เมื่อคุณเขียนอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะจากที่นี่ สิ่งที่คุณเขียนนั้นต้องมีเหตุผลและถูกต้องเท่าที่จะทำได้.” แล้วเขาก็พูดอย่างกรุณาว่า “อย่าท้อนะ คุณทำได้ดีอยู่แล้ว แล้วคุณก็จะทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก.”

ช่วงหลายปีที่อยู่ที่เบเธล เกรซได้รับมอบหมายให้ทำงานหลายอย่าง รวมถึงงานแม่บ้านซึ่งดูแลห้องพักให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย. เธอชอบงานนี้. จนกระทั่งทุกวันนี้ บางครั้งเมื่อเราพบพี่น้องชายบางคนที่ตอนนั้นยังหนุ่มและรับใช้ที่เบเธล พวกเขาก็จะบอกเกรซด้วยรอยยิ้มว่า “คุณสอนผมให้รู้วิธีจัดเตียงให้เรียบร้อย และผมบอกคุณได้เลยว่าแม่ผมชอบที่คุณสอนผมอย่างนั้น.” นอกจากนั้น เกรซชอบที่ได้ทำงานในแผนกวารสาร แผนกตอบจดหมาย และแผนกอัดเทป. การดูแลงานมอบหมายต่างเหล่านั้นช่วยให้เธอเข้าใจว่า งานรับใช้ที่เราทำในองค์การของพระยะโฮวา ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรหรือทำที่ไหน เป็นสิทธิพิเศษและพระพรสำหรับเรา. เธอยังรู้สึกอย่างนั้นจนถึงทุกวันนี้.

เราต้องปรับเปลี่ยน

เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1970 เราก็เริ่มเห็นว่าพ่อแม่ของเราที่ชราแล้วต้องได้รับการดูแลมากขึ้น. ในที่สุด เราต้องตัดสินใจเรื่องหนึ่งที่ยาก. เราไม่อยากออกจากเบเธลและจากเพื่อนผู้รับใช้พระยะโฮวาที่เรารักอย่างยิ่ง. แต่ผมก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ผมจะต้องดูแลพ่อแม่ของเรา. ดังนั้น ในที่สุดเราออกจากเบเธล แต่ก็หวังไว้ว่าเมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนเราอาจได้กลับมา.

เพื่อจะหาเลี้ยงครอบครัว ผมเริ่มทำงานขายประกัน. ผมจะไม่มีวันลืมคำพูดของผู้จัดการคนหนึ่งที่บอกผมตอนฝึกงานว่า “ธุรกิจนี้รุ่งเรืองได้เพราะการเยี่ยมลูกค้าในตอนเย็น. นั่นเป็นเวลาที่พวกคุณจะพบเจอผู้คน. ไม่มีอะไรสำคัญ ไปกว่าการเยี่ยมลูกค้าตอนเย็นทุกวัน.” ผมตอบเขาไปว่า “ผมรู้ว่าคุณพูดจากประสบการณ์ และผมก็นับถือสิ่งที่คุณพูด. แต่ผมมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการนมัสการของผมด้วยที่ผมไม่เคยละเลย และไม่คิดที่จะละเลย. ผมจะเยี่ยมลูกค้าตอนเย็นทุกวัน ยกเว้นเย็นวันอังคารและพฤหัสที่ผมต้องเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญมาก.” พระยะโฮวาอวยพรผมจริงเมื่อผมไม่ยอมขาดการประชุมเพราะงานอาชีพ.

เราอยู่ข้างเตียงแม่ผมตอนที่แม่ตายที่บ้านพักคนชราในเดือนกรกฎาคม 1987. หัวหน้าพยาบาลมาพูดกับเกรซว่า “คุณเกรซคะ กลับบ้านแล้วก็พักบ้างเถอะนะ. ทุกคนรู้ว่าคุณอยู่ดูแลแม่สามีที่นี่ตลอด. คุณควรจะภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว.”

ในเดือนธันวาคม 1987 เรากรอกใบสมัครเพื่อจะรับใช้อีกครั้งหนึ่งที่เบเธล ซึ่งเป็นที่ที่เราชอบมาก. แต่หลังจากนั้นเพียง ไม่กี่วัน แพทย์ก็วินิจฉัยว่าเกรซเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่. หลังจากผ่าตัดและฟื้นตัวดีแล้ว แพทย์ก็บอกว่าเธอไม่เป็นมะเร็งแล้ว. แต่ในช่วงนั้นเองที่เราได้รับจดหมายจากเบเธลที่แนะนำให้เรารับใช้กับประชาคมของเราต่อไป. เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรุดหน้าต่อไปในกิจกรรมที่เกี่ยวกับราชอาณาจักร.

ในเวลาต่อมา ผมมีโอกาสที่จะไปทำงานในรัฐเทกซัส. เราเชื่อว่าอากาศที่นั่นซึ่งอบอุ่นกว่าน่าจะดีสำหรับเรา และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ. ที่นี่ ในรัฐเทกซัส เราใกล้ชิดและผูกพันกับพี่น้องที่ห่วงใยและดูแลเราเป็นเวลาประมาณ 25 ปี.

บทเรียนที่เราได้เรียนรู้

เกรซป่วยหลายครั้ง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งไทรอยด์ และเมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นมะเร็งเต้านมอีก. แต่เธอไม่เคยบ่นเกี่ยวกับความทุกข์ในชีวิต และแสดงความนับถือผมที่เป็นประมุขครอบครัวและให้ความร่วมมือด้วยการสนับสนุนการตัดสินใจของผมเสมอ. มีหลายคนถามเธออยู่บ่อยว่า “คุณมีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จและมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด?” เธอพูดถึงสี่สิ่งที่ช่วยให้ชีวิตคู่ของเรามีความสุข: “เราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของกันและกัน. เราพูดคุยกันเป็นประจำทุกวัน. เราชอบใช้เวลาอยู่ด้วยกันทุกวัน. และเราไม่เคยเข้านอนโดยที่ยังโกรธกันอยู่.” แน่ล่ะ บางครั้งบางคราวเราทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เราก็ให้อภัยกันและลืมเรื่องนั้นเสีย. การทำอย่างนี้ช่วยได้จริงๆ.

“เราควรพึ่งพระยะโฮวาเสมอและยอมรับสิ่งที่พระองค์ยอมให้เกิดขึ้น”

แม้ว่ามีความทุกข์ลำบากหลายอย่างที่เราประสบ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง:

  1. เราควรพึ่งพระยะโฮวาเสมอและยอมรับสิ่งที่พระองค์ยอมให้เกิดขึ้น. อย่าพึ่งความเข้าใจของตนเอง.—สุภา. 3:5, 6; ยิระ. 17:7

  2. เราควรให้พระคำของพระยะโฮวาชี้นำไม่ว่าเรื่องใดในชีวิต. เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเชื่อฟังพระยะโฮวาและทำตามกฎหมายของพระองค์. มีแค่สองอย่างให้เราเลือก คือเราจะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟัง.—โรม 6:16; ฮีบรู 4:12

  3. สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือการมีชื่อเสียงดีกับพระยะโฮวา. เราต้องให้ผลประโยชน์ของพระองค์มาเป็นอันดับแรก ไม่ใช่แสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย.—สุภา. 28:20; ผู้ป. 7:1; มัด. 6:33, 34

  4. เราควรอธิษฐานขอให้เราเกิดผลและขันแข็งในการรับใช้พระยะโฮวาเท่าที่เราจะทำได้. คิดถึงสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราทำไม่ได้.—มัด. 22:37; 2 ติโม. 4:2

  5. เรารู้ว่าไม่มีองค์การใดอีกแล้วที่พระยะโฮวาพอพระทัยและอวยพร.—โย. 6:68

ผมกับเกรซรับใช้พระยะโฮวามามากกว่า 75 ปี และเรารับใช้ในฐานะคู่สมรสมานานเกือบ 65 ปีแล้ว. ตลอดหลายสิบปีมานี้ เราได้ผ่านช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมในการรับใช้พระยะโฮวามาด้วยกัน. เราอธิษฐานขอให้พี่น้องของเราทุกคนมีชีวิตที่อิ่มใจยินดีเมื่อพวกเขาพึ่งพระยะโฮวาเช่นเดียวกับเรา.