ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราจะเป็นคนเสียสละได้อย่างไร?

เราจะเป็นคนเสียสละได้อย่างไร?

“ถ้า​ผู้​ใด​ต้องการ​ติด​ตาม​เรา ให้​เขา​ปฏิเสธ​ตัว​เอง”—มัด. 16:24

1. ทำไม​พระ​เยซู​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ใน​เรื่อง​การ​เสีย​สละ?

เมื่อ​พระ​เยซู​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก ท่าน​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ใน​เรื่อง​การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง ท่าน​อุทิศ​ทั้ง​ชีวิต​เพื่อ​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า โดย​ไม่​คิด​ถึง​ความ​ต้องการ​หรือ​ความ​สะดวก​สบาย​ของ​ตน​เอง (โย. 5:30) พระ​เยซู​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระเจ้า​จน​สิ้น​ชีวิต​บน​เสา​ทรมาน ท่าน​พิสูจน์​ให้​เห็น​ว่า​ท่าน​เสีย​สละ​ได้​ทุก​สิ่ง​แม้​กระทั่ง​ชีวิต—ฟิลิป. 2:8

2. เรา​จะ​เป็น​คน​เสีย​สละ​ได้​อย่าง​ไร และ​ทำไม​ต้อง​เสีย​สละ?

2 เรา​ที่​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ก็​ต้อง​พร้อม​จะ​เสีย​สละ​เช่น​กัน การ​เป็น​คน​เสีย​สละ​หมาย​ความ​ว่า​อย่าง​ไร? หมาย​ถึง​การ​เต็ม​ใจ​ช่วยเหลือ​คน​อื่น​โดย​ไม่​คิด​ถึง​ประโยชน์​ส่วน​ตัว พูด​ง่าย ๆ ก็​คือ ไม่​เห็น​แก่​ตัว (อ่าน​มัดธาย 16:24) คน​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​จะ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​และ​ความ​ต้องการ​ของ​คน​อื่น​ก่อน​เสมอ (ฟิลิป. 2:3, 4) พระ​เยซู​สอน​ว่า​ผู้​ที่​นมัสการ​พระเจ้า​ต้อง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว และ​ถ้า​เรา​มี​ความ​รัก​แบบ​พระ​เยซู​เรา​ก็​จะ​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​เพื่อ​ผู้​อื่น ซึ่ง​ความ​รัก​แบบ​นี้​แหละ​ที่​พิสูจน์​ว่า​เรา​เป็น​คริสเตียน​แท้ (โย. 13:34, 35) คิด​ดู​สิ​ว่า​เรา​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​ขนาด​ไหน​เมื่อ​เข้า​มา​อยู่​ใน​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน​ที่​มี​น้ำใจ​เสีย​สละ​เช่น​นี้

3. อะไร​เป็น​อุปสรรค​ที่​ทำ​ให้​เรา​ไม่​มี​น้ำใจ​เสีย​สละ?

3 แต่​การ​เป็น​คน​เสีย​สละ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย อุปสรรค​สำคัญ​คือ​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ของ​เรา​เอง ขอ​ให้​คิด​ถึง​อาดาม​กับ​ฮาวา ความ​เห็น​แก่​ตัว​ทำ​ให้​ฮาวา​อยาก​เป็น​เหมือน​พระเจ้า ส่วน​อาดาม​ก็​เลือก​ทำ​ตาม​ภรรยา​แทน​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า (เย. 3:5, 6) หลัง​จาก​ซาตาน​ทำ​ให้​มนุษย์​คู่​แรก​เลิก​นมัสการ​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้​แล้ว มัน​ก็​พยายาม​ชักจูง​คน​อื่น ๆ ให้​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​ด้วย​แม้​แต่​พระ​เยซู​มัน​ก็​ไม่​เว้น (มัด. 4:1-9) ทุก​วัน​นี้ คน​ส่วน​ใหญ่​หลง​เชื่อ​ซาตาน​และ​เป็น​คน​ที่​เห็น​แก่​ตัว​ใน​หลาย ๆ ด้าน เรา​จึง​ต้อง​ระวัง ไม่​เช่น​นั้น​เรา​อาจ​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​ได้​เหมือน​กัน—เอเฟ. 2:2

4. (ก) เรา​จะ​ขจัด​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ออก​ไป​ได้​ไหม? จง​อธิบาย (ข) มี​คำ​ถาม​อะไร​ที่​เรา​จะ​พิจารณา?

4 ความ​เห็น​แก่​ตัว​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​สนิม เหล็ก​ที่​โดน​น้ำ​และ​อากาศ​จะ​เริ่ม​ขึ้น​สนิม ถ้า​ไม่​รีบ​จัด​การ สนิม​จะ​กิน​เหล็ก​จน​ผุ​ใช้​งาน​ไม่​ได้​อีก​เลย ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ถึง​แม้​ตอน​นี้​เรา​จะ​ขจัด​ความ​ไม่​สมบูรณ์​และ​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ออก​ไป​ไม่​ได้ แต่​เรา​ก็​ต้อง​ต่อ​สู้​อยู่​ตลอด​เวลา เพราะ​ถ้า​เรา​ไม่​ระวัง​จาก​ที่​เคย​เป็น​คน​เสีย​สละ​เรา​อาจ​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​ได้ (1 โค. 9:26, 27) เรา​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​เริ่ม​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​แล้ว? และ​เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​เป็น​คน​เสีย​สละ​มาก​ขึ้น?

ตรวจ​ดู​ตัว​เอง​โดย​ใช้​พระ​คัมภีร์

5. (ก) พระ​คัมภีร์​เป็น​เหมือน​กระจก​อย่าง​ไร? (ดู​ภาพ​แรก) (ข) เมื่อ​เรา​ใช้​พระ​คัมภีร์​ตรวจ​ดู​ตัว​เอง เรา​ไม่​ควร​ทำ​อะไร?

5 กระจก​ทำ​ให้​เรา​เห็น​ว่า​ตัว​เรา​เป็น​อย่าง​ไร พระ​คัมภีร์​ก็​เป็น​เหมือน​กระจก​ที่​ทำ​ให้​เรา​เห็น​ตัว​ตน​ที่​แท้​จริง​ของ​เรา​และ​แก้ไข​ข้อ​บกพร่อง​ต่าง ๆ (อ่าน​ยาโกโบ 1:22-25) แต่​กระจก​จะ​ช่วย​ให้​เรา​ดู​ดี​ขึ้น​ก็​ต่อ​เมื่อ​เรา​ใช้​อย่าง​ถูก​วิธี เช่น ถ้า​เรา​เหลือบ​ดู​แค่​แวบ​เดียว​เรา​อาจ​ไม่​ทัน​เห็น​จุด​บกพร่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ของ​ตัว​เอง หรือ​ถ้า​เรา​หัน​กระจก​ไป​ทาง​อื่น เรา​ก็​อาจ​จะ​เห็น​คน​อื่น​แทน​ที่​จะ​เห็น​ตัว​เอง คล้าย​กัน เมื่อ​เรา​ใช้​พระ​คัมภีร์​เพื่อ​ตรวจ​ดู​ว่า​เรา​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​หรือ​ไม่ เรา​ต้อง​ไม่​เพียง​แค่​อ่าน​ผ่าน ๆ หรือ​คิด​ถึง​แต่​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คน​อื่น​แทน​ที่​จะ​สำรวจ​ดู​ตัว​เอง

6. เรา​จะ “ยึด​มั่น” กับ​กฎหมาย​อัน​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร?

6 แม้​เรา​จะ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประจำ​หรือ​อ่าน​ทุก​วัน แต่​เรา​อาจ​มอง​ไม่​ออก​ว่า​ตัว​เอง​เริ่ม​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​แล้ว เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร? สังเกต​ว่า​เมื่อ​ยาโกโบ​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​เรื่อง​กระจก เขา​ไม่​ได้​บอก​ว่า​คน​ที่​ส่อง​กระจก​เหลือบ​ดู​แค่​แวบ​เดียว แต่​บอก​ว่า​คน​นั้น “มอง ตัว​เอง” ซึ่ง​คำ​นี้​ใน​ภาษา​กรีก​หมาย​ถึง​ดู​อย่าง​ละเอียด​ถี่ถ้วน ถ้า​อย่าง​นั้น​ปัญหา​อยู่​ตรง​ไหน? ยาโกโบ​เขียน​ต่อ​ไป​ว่า “เขา​มอง​ตัว​เอง​แล้ว​ก็​ไป​และ​ลืม​ทันที​ว่า​เขา​เป็น​อย่าง​ไร” ดัง​นั้น ปัญหา​ก็​คือ​เขา​ดู​กระจก​แต่​ไม่​ได้​แก้ไข​ข้อ​บกพร่อง​ของ​ตัว​เอง​ที่​เห็น​ใน​กระจก ต่าง​จาก​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​ไม่​เพียง​แค่ “พินิจ​พิจารณา​กฎหมาย​อัน​สมบูรณ์” แต่ “ยึด​มั่น​กับ​กฎหมาย​นั้น” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​เขา​ไม่​เพียง​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แต่​ทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​ได้​อ่าน​ต่อ ๆ ไป พระ​เยซู​ก็​เน้น​จุด​สำคัญ​เดียว​กัน​นี้​ว่า “ถ้า​พวก​เจ้า​ยึด​มั่น​กับ​คำ​สอน​ของ​เรา พวก​เจ้า​ก็​เป็น​สาวก​ของ​เรา​อย่าง​แท้​จริง”—โย. 8:31

7. เรา​จะ​ใช้​พระ​คัมภีร์​เพื่อ​ตรวจ​หา​และ​ขจัด​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

7 เรื่อง​นี้​สอน​ว่า ถ้า​เรา​อยาก​ขจัด​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ออก​ไป อันดับ​แรก เรา​ต้อง​อ่าน​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ถี่ถ้วน​เพื่อ​จะ​เห็น​ว่า​มี​ข้อ​บกพร่อง​ตรง​ไหน​บ้าง​ที่​ต้อง​แก้ไข นอก​จาก​นั้น เรา​ต้อง​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ลึกซึ้ง ค้นคว้า​ให้​ละเอียด เมื่อ​เรา​อ่าน​เรื่อง​ราว​ใน​พระ​คัมภีร์ ให้​จินตนาการ​ว่า​เรา​อยู่​ใน​เหตุ​การณ์​นั้น​แล้ว​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ถ้า​ฉัน​เจอ​แบบ​นี้ ฉัน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร? ฉัน​จะ​ตัดสิน​ใจ​ได้​ถูก​ต้อง​ไหม?’ หลัง​จาก​นั้น​ขั้น​ตอน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ นำ​ไป​ใช้​ใน​ชีวิต​จริง (มัด. 7:24, 25) ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​เรื่อง​ของ​กษัตริย์​ซาอูล​กับ​อัครสาวก​เปโตร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​เป็น​คน​เสีย​สละ​ได้​อย่าง​ไร

ตัว​อย่าง​เตือน​ใจ​ของ​ซาอูล

8. ตอน​ที่​เพิ่ง​เป็น​กษัตริย์ ซาอูล​เป็น​คน​แบบ​ไหน? เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร?

8 เรื่อง​ของ​ซาอูล​กษัตริย์​ชาติ​อิสราเอล​เตือน​เรา​ว่า​คน​ที่​เคย​เสีย​สละ​เพื่อ​คน​อื่น​อาจ​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​ได้ ตอน​ที่​เพิ่ง​เป็น​กษัตริย์ ซาอูล​เป็น​คน​เจียม​ตัว​และ​ถ่อม​ตน (1 ซามู. 9:21) เมื่อ​ถูก​ชาว​อิสราเอล​พูด​จา​หมิ่น​ประมาท เขา​ก็​ไม่​ได้​ลง​โทษ​ทั้ง ๆ ที่​มี​สิทธิ์​จะ​ทำ​ได้​เพราะ​คน​พวก​นั้น​ไม่​นับถือ​ตำแหน่ง​กษัตริย์​ของ​เขา (1 ซามู. 10:27) อีก​ครั้ง​หนึ่ง ซาอูล​ทำ​ตาม​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​และ​นำ​ชาติ​อิสราเอล​ออก​ไป​รบ​กับ​ชาว​อัมโมน เมื่อ​ได้​ชัย​ชนะ​แล้ว​เขา​ก็​ยก​ความ​ดี​ทั้ง​หมด​ให้​กับ​พระ​ยะโฮวา—1 ซามู. 11:6, 11-13

9. ซาอูล​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​ได้​อย่าง​ไร?

9 แต่​หลัง​จาก​นั้น ซาอูล​ปล่อย​ให้​ความ​เห็น​แก่​ตัว​และ​ความ​หยิ่ง​เข้า​ครอบ​งำ​จิตใจ​เหมือน​สนิม​ที่​กัด​กร่อน​เหล็ก ตอน​ที่​รบ​ชนะ​ชาว​อะมาเล็ค ซาอูล​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง​แทน​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา เพราะ​ความ​โลภ​ซาอูล​จึง​ไม่​ได้​ทำลาย​ของ​ทุก​อย่าง​ที่​ยึด​มา​จาก​ชาว​อะมาเล็ค​ตาม​ที่​พระเจ้า​สั่ง​ไว้ และ​ยัง​สร้าง​อนุสาวรีย์​เพื่อ​เป็น​เกียรติ​แก่​ตัว​เอง​อีก​ด้วย (1 ซามู. 15:3, 9, 12) พอ​ซามูเอล​บอก​ซาอูล​ว่า​พระ​ยะโฮวา​โกรธ​มาก​ที่​เขา​ทำ​อย่าง​นั้น ซาอูล​ก็​แก้​ตัว​ว่า​เขา​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ตั้ง​หลาย​เรื่อง​และ​ที่​ละเมิด​คำ​สั่ง​ใน​เรื่อง​นี้​ก็​ไม่​ใช่​ความ​ผิด​ของ​เขา แต่​เป็น​ความ​ผิด​ของ​ประชาชน (1 ซามู. 15:16-21) นอก​จาก​นั้น ความ​หยิ่ง​ทำ​ให้​ซาอูล​เป็น​ห่วง​แต่​ชื่อเสียง​ของ​ตัว​เอง​แทน​ที่​จะ​คิด​ถึง​พระเจ้า (1 ซามู. 15:30) เรา​จะ​ให้​เรื่อง​ราว​ของ​ซาอูล​เป็น​เหมือน​กระจก​ที่​ช่วย​เรา​ตรวจ​ดู​ตัว​เอง​ได้​อย่าง​ไร?

10, 11. (ก) ตัว​อย่าง​ของ​ซาอูล​เตือน​เรา​ใน​เรื่อง​อะไร? (ข) เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​ไม่​เป็น​เหมือน​ซาอูล?

10 ประการ​แรก ตัว​อย่าง​ของ​ซาอูล​เตือน​ว่า​เรา​ต้อง​ไม่​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป ถึง​แม้​เรา​เคย​เป็น​คน​เสีย​สละ​แต่​วัน​หนึ่ง​นิสัย​นี้​อาจ​เปลี่ยน​ไป​ได้ เพราะ​ฉะนั้น เรา​ต้อง​คอย​ระวัง​เพื่อ​ไม่​ให้​นิสัย​ที่​ดี​นี้​เสีย​ไป (1 ติโม. 4:10) อย่า​ลืม​ว่า ตอน​แรก​ซาอูล​เป็น​กษัตริย์​ที่​ดี​และ​พระเจ้า​โปรดปราน​เขา​มาก แต่​เขา​ปล่อย​ให้​ความ​เห็น​แก่​ตัว​เข้า​ครอบ​งำ​จิตใจ​จน​กลาย​เป็น​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า ใน​ที่​สุด​พระ​ยะโฮวา​ก็​ไม่​ยอม​รับ​เขา​อีก​ต่อ​ไป

11 ประการ​ที่​สอง เรา​ต้อง​ไม่​คิด​ว่า​เรา​ทำ​หลาย​อย่าง​ดี​อยู่​แล้ว​จน​ไม่​สนใจ​ว่า​ตัว​เอง​มี​ข้อ​บกพร่อง​อะไร​ที่​ต้อง​แก้ไข ถ้า​คิด​อย่าง​นี้​ก็​เหมือน​กับ​คน​ที่​ใส่​ชุด​ใหม่​แล้ว​ส่อง​กระจก เขา​ชื่นชม​กับ​เสื้อ​ผ้า​ที่​สวย​งาม​ของ​ตัว​เอง​จน​ไม่​สังเกต​ว่า​บน​ใบ​หน้า​มี​รอย​เปื้อน ถึง​แม้​ว่า​เรา​จะ​ไม่​ใช่​คน​หยิ่ง​หรือ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป แต่​เรา​ก็​ต้อง​ระวัง​เพื่อ​จะ​ไม่​กลาย​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว เมื่อ​เรา​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ อย่า​เป็น​เหมือน​ซาอูล​ที่​พยายาม​แก้​ตัว​หรือ​โทษ​คน​อื่น แต่​ให้​เรา​ยอม​รับ​คำ​แนะ​นำ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ—อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 141:5

12. การ​เป็น​คน​มี​น้ำใจ​เสีย​สละ​จะ​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร​ถ้า​เรา​ทำ​ผิด​ร้ายแรง?

12 ถ้า​เรา​ทำ​ผิด​ร้ายแรง​ล่ะ​เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร? เมื่อ​ซาอูล​ทำ​ผิด เขา​ต้องการ​รักษา​ชื่อเสียง​ของ​ตัว​เอง​โดย​ไม่​สนใจ​เลย​ว่า​พระเจ้า​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร แต่​ถ้า​เรา​เป็น​คน​มี​น้ำใจ​เสีย​สละ​เรา​ก็​จะ​ยอม​เสีย​หน้า​หรือ​เสีย​ชื่อเสียง​และ​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​จำเป็น (สุภา. 28:13; ยโก. 5:14-16) ตัว​อย่าง​เช่น พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​เริ่ม​ดู​สื่อ​ลามก​มา​ตั้ง​แต่​อายุ 12 ปี​และ​แอบ​ทำ​มา​นาน​กว่า​สิบ​ปี เขา​เล่า​ว่า “มัน​ยาก​มาก​ที่​จะ​บอก​ให้​ภรรยา​และ​ผู้​ปกครอง​รู้​ว่า​ผม​กำลัง​ทำ​อะไร แต่​พอ​ได้​สารภาพ​ความ​จริง​แล้ว ผม​รู้สึก​เหมือน​ยก​ภูเขา​ออก​จาก​อก หลัง​จาก​ที่​ผม​ถูก​ถอด​จาก​การ​เป็น​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้ เพื่อน ๆ บาง​คน​เสียใจ​และ​ผิด​หวัง​ใน​ตัว​ผม​มาก แต่​ผม​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พอ​ใจ​งาน​รับใช้​ของ​ผม​ตอน​นี้​มาก​กว่า​ตอน​ที่​ผม​ยัง​ดู​สื่อ​ลามก​อยู่ และ​ความ​รู้สึก​ของ​พระองค์​สำคัญ​ที่​สุด​สำหรับ​ผม”

ตัว​อย่าง​ของ​เปโตร​ให้​กำลังใจ​เรา

13, 14. เปโตร​ทำ​อะไร​ที่​แสดง​ว่า​เขา​เห็น​แก่​ตัว?

13 พระ​เยซู​สอน​เปโตร​ให้​เป็น​คน​เสีย​สละ (ลูกา 5:3-11) แต่​สำหรับ​เปโตร​แล้ว​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย เขา​ต้อง​ต่อ​สู้​อย่าง​หนัก​เพื่อ​จะ​ไม่​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว เช่น เปโตร​โกรธ​มาก​ตอน​ที่​รู้​ว่า​อัครสาวก​ยาโกโบ​กับ​โยฮัน​ขอ​ตำแหน่ง​ที่​มี​เกียรติ​จาก​พระ​เยซู เปโตร​อาจ​คิด​ว่า​ตำแหน่ง​นี้​น่า​จะ​เป็น​ของ​เขา​เอง​เพราะ​ก่อน​หน้า​นี้​พระ​เยซู​บอก​เปโตร​ว่า​เขา​จะ​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​ประชาคม​คริสเตียน (มัด. 16:18, 19) พระ​เยซู​จึง​เตือน​ยาโกโบ โยฮัน เปโตร รวม​ทั้ง​อัครสาวก​ทุก​คน​ไม่​ให้​เป็น​คน​เห็น​แก่​ตัว​หรือ “ทำ​ตัว​เป็น​นาย” เหนือ​พี่​น้อง—มโก. 10:35-45

14 ทั้ง ๆ ที่​พระ​เยซู​พยายาม​แก้ไข​ความ​คิด​ของ​เปโตร​แล้ว เขา​ก็​ยัง​ไม่​เปลี่ยน​ทันที เมื่อ​พระ​เยซู​บอก​เหล่า​อัครสาวก​ว่า​พวก​เขา​จะ​ทิ้ง​ท่าน​ไป​ระยะ​หนึ่ง เปโตร​พูด​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​ว่า​แม้​ทุก​คน​จะ​ทิ้ง​ท่าน​แต่​เขา​จะ​ไม่​ทิ้ง​แน่ คำ​พูด​ของ​เขา​เป็น​การ​ยกย่อง​ตัว​เอง​และ​ดูถูก​คน​อื่น (มัด. 26:31-33) แต่​พอ​เอา​เข้า​จริง เปโตร​ก็​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​ที่​พูด เพราะ​ใน​คืน​นั้น​เอง​เขา​แสดง​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ออก​มา เขา​ปฏิเสธ​พระ​เยซู​ถึง​สาม​ครั้ง​เพื่อ​เอา​ตัว​รอด—มัด. 26:69-75

15. ตัว​อย่าง​ของ​เปโตร​ให้​กำลังใจ​เรา​อย่าง​ไร?

15 แม้​จะ​ทำ​ผิด​พลาด​หลาย​ครั้ง แต่​เปโตร​ก็​ยัง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ให้​กำลังใจ​เรา เมื่อ​เปโตร​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​และ​พยายาม​อย่าง​เต็ม​ที่ ใน​ที่​สุด เขา​ก็​เอา​ชนะ​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ได้​และ​เป็น​คน​ที่​รู้​จัก​ควบคุม​ตัว​เอง รัก​ผู้​อื่น​และ​เสีย​สละ​มาก​จริง ๆ (กลา. 5:22, 23) ใน​เวลา​ต่อ​มา มี​หลาย​อย่าง​ที่​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ของ​เปโตร​แต่​เขา​ก็​อด​ทน​ได้​มาก​กว่า​แต่​ก่อน ตัว​อย่าง​เช่น ตอน​ที่​ถูก​อัครสาวก​เปาโล​ตำหนิ​อย่าง​แรง​ต่อ​หน้า​คน​อื่น เขา​ยอม​รับ​คำ​แนะ​นำ​อย่าง​ถ่อม​ตน (กลา. 2:11-14) หลัง​จาก​นั้น เปโตร​ไม่​ได้​เคียดแค้น ไม่​ได้​คิด​ว่า​เปาโล​ทำ​ให้​เขา​เสีย​ชื่อ​หรือ​เสีย​หน้า แต่​กลับ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เปาโล​โดย​เรียก​เขา​ว่า “พี่​น้อง​ที่​รัก” (2 เป. 3:15) ตัว​อย่าง​ของ​เปโตร​สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​เป็น​คน​เสีย​สละ​และ​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ได้

เมื่อ​ถูก​ตำหนิ​ต่อ​หน้า​คน​อื่น เปโตร​มี​ท่าที​อย่าง​ไร? เรา​จะ​เลียน​แบบ​เขา​ได้​ไหม? (ดู​ข้อ 15)

16. เรา​จะ​แสดง​น้ำใจ​เสีย​สละ​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​ถูก​ข่มเหง​หรือ​เมื่อ​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ?

16 สมมุติ​ว่า คุณ​ถูก​ข่มเหง​คุณ​ควร​รู้สึก​อย่าง​ไร? เมื่อ​เปโตร​กับ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ ถูก​จำ​คุก​และ​ถูก​เฆี่ยน​เพราะ​ประกาศ​ข่าว​ดี พวก​เขา​ก็​ยัง​มี​ความ​ยินดี “เพราะ​ถือ​ว่า​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​ความ​อัปยศ​เพื่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู​นั้น​แสดง​ว่า​พระเจ้า​พอ​พระทัย​พวก​เขา” (กิจ. 5:41) คุณ​จะ​เลียน​แบบ​เปโตร​ได้ โดย​มอง​ว่า​การ​ข่มเหง​เป็น​โอกาส​ที่​คุณ​จะ​เสีย​สละ​เพื่อ​พระเจ้า​เหมือน​ที่​พระ​เยซู​ได้​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้ (อ่าน 1 เปโตร 2:20, 21) นอก​จาก​นั้น ถ้า​คุณ​เป็น​คน​ไม่​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง คุณ​ก็​จะ​ไม่​โกรธ​เมื่อ​ผู้​ปกครอง​ให้​คำ​แนะ​นำ แต่​ถ่อม​ใจ​ยอม​รับ​การ​สอน​เหมือน​เปโตร—ผู้ป. 7:9

17, 18. (ก) ถ้า​เรา​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​รับใช้​มาก​ขึ้น เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​อย่าง​ไร? (ข) ถ้า​เรา​เริ่ม​มี​ความ​คิด​ที่​จะ​ทำ​เพื่อ​ตัว​เอง เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร?

17 เรา​ต้อง​เลียน​แบบ​เปโตร​ด้วย​เมื่อ​เรา​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​รับใช้​ให้​มาก​ขึ้น เรา​ควร​ตั้งใจ​ทำ​เพื่อ​ผู้​อื่น​ไม่​ใช่​ทำ​เพื่อ​ตัว​เอง เรา​ต้อง​ไม่​แสวง​หา​ชื่อเสียง​หรือ​ความ​เด่น​ดัง​ใน​องค์การ ขอ​ให้​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​พยายาม​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น​หรือ​พัฒนา​ความ​สามารถ​ของ​ตัว​เอง​เพื่อ​อะไร? เพื่อ​ให้​คน​อื่น​ชื่นชม​หรือ​เพื่อ​จะ​มี​ตำแหน่ง​หน้า​ที่​ใน​องค์การ​เหมือน​ที่​ยาโกโบ​กับ​โยฮัน​เคย​ทำ​ไหม?’

18 ถ้า​คุณ​สังเกต​ว่า​คุณ​เริ่ม​มี​ความ​คิด​ที่​จะ​ทำ​เพื่อ​ตัว​เอง ก็​ให้​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​แก้ไข​ความ​คิด​ของ​คุณ แล้ว​พยายาม​คิด​ถึง​วิธี​ที่​คุณ​จะ​ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​เกียรติ​ไม่​ใช่​ทำ​เพื่อ​ให้​ตัว​เอง​ได้​รับ​เกียรติ (เพลง. 86:11) นอก​จาก​นั้น คุณ​อาจ​ตั้ง​เป้าหมาย​ที่​จะ​พัฒนา​ตัว​เอง​ใน​ด้าน​อื่น ๆ เช่น พยายาม​แสดง​ผล​พระ​วิญญาณ​ที่​ยัง​ทำ​ได้​ไม่​ดี หรือ​ถ้า​คุณ​เป็น​คน​ที่​เตรียม​ตัว​อย่าง​ดี​เมื่อ​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​แต่​ไม่​ชอบ​ทำ​ความ​สะอาด​หอ​ประชุม คุณ​อาจ​พยายาม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​โรม 12:16—อ่าน

19. เมื่อ​เรา​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​แล้ว​เห็น​ข้อ​บกพร่อง เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ไม่​ท้อ​ใจ?

19 เมื่อ​เรา​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​โดย​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​เหมือน​กระจก​และ​เห็น​ข้อ​บกพร่อง​หลาย​อย่าง​รวม​ถึง​ความ​เห็น​แก่​ตัว เรา​อาจ​รู้สึก​ท้อ​ใจ ถ้า​เป็น​อย่าง​นี้ ขอ​ให้​คิด​ถึง​ชาย​คน​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ของ​ยาโกโบ ยาโกโบ​ไม่​ได้​บอก​ว่า​ชาย​คน​นี้​แก้ไข​จุด​บกพร่อง​ของ​ตัว​เอง​ได้​ใน​ทันที​หรือ​แก้​ได้​ทั้ง​หมด แต่​ยาโกโบ​บอก​ว่า​เขา “พินิจ​พิจารณา​กฎหมาย​อัน​สมบูรณ์” ต่อ ๆ ไป (ยโก. 1:25) เมื่อ​ชาย​คน​นี้​เห็น​ข้อ​บกพร่อง​ของ​ตัว​เอง​ใน​กระจก เขา​ก็​จัด​การ​แก้ไข​อยู่​เรื่อย ๆ เพราะ​ฉะนั้น อย่า​คิด​ว่า​เมื่อ​คุณ​ทำ​ผิด​แล้ว​จะ​แก้ไข​อะไร​ไม่​ได้ ขอ​ให้​มอง​ตัว​เอง​ตาม​ความ​เป็น​จริง​และ​อย่า​ลืม​ว่า​เรา​ทุก​คน​ไม่​สมบูรณ์ (อ่าน​ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:20) พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ใจ​ช่วย​คุณ​เหมือน​ที่​ได้​ช่วย​พี่​น้อง​คน​อื่น​มา​แล้ว แม้​เรา​จะ​ไม่​สมบูรณ์​แต่​ถ้า​เรา​ทำ​ตาม​คำ​สอน​ของ​พระ​คัมภีร์​และ​เป็น​คน​มี​น้ำใจ​เสีย​สละ​ต่อ ๆ ไป พระเจ้า​ก็​จะ​รัก​และ​อวย​พร​เรา​อย่าง​แน่นอน