ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เลียนแบบความเชื่อของโมเซ

เลียนแบบความเชื่อของโมเซ

“โดยความเชื่อ เมื่อโมเซโตแล้วก็ไม่ยอมให้ใครเรียกว่าบุตรของราชธิดาฟาโรห์”—ฮีบรู 11:24

1, 2. (ก) ตอนอายุ 40 โมเซตัดสินใจทำอะไร? (ดูภาพแรก) (ข) ทำไมโมเซเลือกที่จะถูกกดขี่ร่วมกับประชาชนของพระเจ้า?

โมเซรู้ว่าเขาจะได้อะไรจากอียิปต์ เขาเห็นบ้านที่หรูหราและวังที่ใหญ่โตโอ่อ่า เขาเองก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของราชวงศ์และ “ได้รับการสอนวิชาการทุกอย่างของชาวอียิปต์” ซึ่งคงรวมถึงวิชาศิลปะ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และความรู้ด้านอื่นๆ (กิจ. 7:22) เขามีโอกาสที่จะได้ทั้งทรัพย์สมบัติ อำนาจ และสิทธิพิเศษที่ชาวอียิปต์ทั่วไปได้แต่ฝันถึง

2 แต่พออายุได้ 40 ปี โมเซคงทำให้ครอบครัวของฟาโรห์ที่เลี้ยงดูเขามาตกตะลึงเมื่อเขาตัดสินใจทิ้งอนาคตและชีวิตที่สะดวกสบายในวัง ไม่ใช่แค่ไปเป็นประชาชนคนธรรมดาแต่เขาต้องการเป็นทาสร่วมกับประชาชนของพระเจ้า ทำไมล่ะ? ก็เพราะโมเซมีความเชื่อ (อ่านฮีบรู 11:24-26) เขามีความเชื่อในพระยะโฮวา “ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา” และเชื่อมั่นว่าคำสัญญาของพระองค์จะต้องเป็นจริง—ฮีบรู 11:27

3. บทความนี้จะตอบคำถามอะไรบ้าง?

3 เราต้องเลียนแบบโมเซ มองไปที่พระยะโฮวาแทนที่จะมองสิ่งต่างที่คนทั่วไปต้องการ เราต้องเป็น “คนที่มีความเชื่อ” (ฮีบรู 10:38, 39) เพื่อความเชื่อของเราจะเข้มแข็งขึ้น ให้เราอ่านเรื่องราวของโมเซที่ฮีบรู 11:24-26 แล้วหาคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้ ความเชื่อช่วยโมเซอย่างไรให้ทิ้งชื่อเสียง ทรัพย์ สมบัติ และความสะดวกสบายที่คนทั่วไปต้องการ? เมื่อโมเซถูกติเตียนหรือเยาะเย้ย ความเชื่อช่วยเขาอย่างไรให้เห็นว่างานมอบหมายที่ได้รับจากพระเจ้ามีค่า? และทำไมโมเซ “เพ่งมองที่บำเหน็จซึ่งจะได้รับ”?

เขาทิ้งสิ่งที่คนทั่วไปต้องการ

4. โมเซรู้อะไรเกี่ยวกับ ‘การเพลิดเพลินกับบาป’?

4 โมเซรู้ว่าการทำตามความต้องการที่เป็น “บาป” ทำให้เพลิดเพลินแค่ชั่วคราวเท่านั้น คนอื่นอาจคิดว่าแม้อียิปต์จะเต็มไปด้วยคนไหว้รูปเคารพ เชื่อเรื่องภูตผีและโชคลาง แต่อียิปต์ก็ยิ่งใหญ่และได้เป็นชาติมหาอำนาจ ในขณะที่ประชาชนที่นมัสการพระยะโฮวาเป็นแค่ทาส ถึงอย่างนั้นโมเซรู้ว่าพระเจ้าสามารถทำให้เหตุการณ์พลิผันได้ ไม่ว่าคนชั่วดูเหมือนเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน โมเซก็มั่นใจว่าคนพวกนี้จะต้องพินาศ เขาจึงไม่หลงไปกับการ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป”

5. ถ้าถูกล่อใจให้ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป” เราควรทำอย่างไร?

5 คุณจะทำอย่างไรถ้าถูกล่อใจให้ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป”? อย่าลืมว่าบาปทำให้เพลิดเพลินแค่ช่วงสั้นถ้าเรามีความเชื่อเราจะมองเห็นว่า “โลกกำลังจะสูญไปและความปรารถนาของโลกก็เช่นกัน” (1 โย. 2:15-17) ขอให้คิดถึงอนาคตของคนที่ทำบาปแล้วไม่ยอมกลับใจ พวกเขา “ยืนอยู่บนที่ลื่น . . . ถูกกวาดล้างหมดสิ้นไปด้วยความสยดสยอง!” (เพลง. 73:18, 19, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เมื่อถูกล่อใจให้ทำบาป ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันอยากมีอนาคตแบบนี้ไหม?’

6. (ก) ทำไมโมเซ “ไม่ยอมให้ใครเรียกว่าบุตรของราชธิดาฟาโรห์”? (ข) คุณคิดว่าโมเซตัดสินใจถูกไหม เพราะอะไร?

6 เนื่องจากโมเซมีความเชื่อเขาจึงตัดสินใจถูกต้องในเรื่องงานด้วย “โดยความเชื่อ เมื่อโมเซโตแล้วก็ไม่ยอมให้ใครเรียกว่าบุตรของราชธิดาฟาโรห์” (ฮีบรู 11:24) โมเซไม่ได้เชื่อว่าการที่เขาทำงานให้ฟาโรห์ในวังต่อไปแล้วเขาจะใช้อำนาจหรือเงินทองที่ได้เพื่อช่วยพี่น้องชาวอิสราเอล แต่โมเซตั้งใจว่าจะรักพระยะโฮวาสุด หัวใจ สุด ชีวิต และสุด กำลัง (บัญ. 6:5) โมเซไม่ต้องเสียใจภายหลังที่ตัดสินใจอย่างนั้น ถึงโมเซจะต้องทิ้งทรัพย์สมบัติมากมายแล้วไปอยู่กับพี่น้องชาวอิสราเอล แต่สุดท้ายทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็ตกเป็นของชาวอิสราเอล (เอ็ก. 12:35, 36) ฟาโรห์สูญเสียเกียรติยศชื่อเสียงและจมน้ำตายในทะเลแดง (เพลง. 136:15) แต่โมเซรอดชีวิต และพระเจ้าก็ยังเลือกเขาให้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ซึ่งเป็นงานที่มีเกียรติและมีคุณค่าอย่างแท้จริง

7. (ก) ทำไมเราควรวางแผนสำหรับอนาคตที่ถาวรตามคำแนะนำในมัดธาย 6:19-21? (ข) ขอเล่าประสบการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการมีชื่อเสียงเงินทองกับการมีความเชื่อในพระเจ้าให้ผลที่ต่างกัน

7 ถ้าคุณเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ความเชื่อจะช่วยคุณตัดสินใจเรื่องงานอาชีพได้อย่างไร? คุณต้องวางแผนล่วงหน้า ต้องเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระเจ้าและวางแผนเพื่ออนาคตที่ถาวร ไม่ใช่แค่ชั่วคราว (อ่านมัดธาย 6:19-21) หญิงสาวคนหนึ่งชื่อโซฟีเคยทำอย่างนั้น เธอเป็นนักบัลเลต์ที่มีพรสวรรค์ คณะบัลเลต์ทั่วสหรัฐต่างต้องการตัวเธอและเสนอทุนการศึกษากับงานดีให้เธอ เธอยอมรับว่า “ตอนนั้นฉันตื่นเต้นมากที่ใครก็ชื่นชม ฉันรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าเพื่อนแต่ฉันกลับไม่มีความสุขเลย” หลังจากนั้น โซฟีได้ดูดีวีดีหนุ่มสาวถามว่า—ฉันจะทำอย่างไรกับชีวิตของฉัน? เธอเล่าว่า “ฉันเริ่มมองออกว่าโลกกำลังเสนอความสำเร็จและคำสรรเสริญเยินยอจากแฟนเพื่อแลกกับการนมัสการพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ ฉันรีบอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทันที แล้วก็ตัดสินใจเลิกเต้นบัลเลต์” โซฟีรู้สึกอย่างไรที่ตัดสินใจอย่างนั้น? เธอบอกว่า “ฉันไม่คิดถึงชีวิตในอดีตเลย ทุกวันนี้ฉันมีความสุขเต็มร้อย ฉันเป็นไพโอเนียร์กับสามี เราไม่มีชื่อเสียงหรือเงินทองมาก แต่เรามีพระยะโฮวา มีนักศึกษา มีอะไรให้ทำอีกมากในงานรับใช้ ฉันไม่เสียดายเลยที่ได้ตัดสินใจอย่างนั้น”

8. คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำอะไรที่ช่วยคนหนุ่มสาวให้ตัดสินใจเรื่องชีวิต?

8 พระยะโฮวารู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับคุณ โมเซบอกว่า  “พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะให้เจ้าทั้งหลายกระทำอย่างไร คือพระองค์ก็จะให้เกรงกลัวพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ดำเนินในทางทั้งปวงของพระองค์ รักและปฏิบัติพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตต์สุดใจของเจ้า และรักษาข้อบัญญัติ และข้อกฎหมายทั้งปวงของพระยะโฮวา ซึ่งเราได้สั่งเจ้าทั้งหลายในวันนี้ เป็นที่ให้เจ้าทั้งหลายจำเริญ” (บัญ. 10:12, 13) ขอให้คุณที่เป็นคนหนุ่มสาวเลือกอาชีพที่ทำให้คุณสามารถรักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์ “ด้วยสุดจิตต์สุดใจ” คุณมั่นใจได้เลยว่าถ้าทำอย่างนี้ ชีวิตคุณจะ “จำเริญ”

เขาเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้พระเจ้า

9. อะไรอาจทำให้โมเซลังเลที่จะทำงานที่พระเจ้ามอบหมาย?

9 โมเซ “ถือว่าคำติเตียนที่เขาได้รับในฐานะผู้ถูกเจิมเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติในอียิปต์ เพราะเขาเพ่งมองที่บำเหน็จซึ่งจะได้รับ” (ฮีบรู 11:26) โมเซถูกเรียกว่า “ผู้ถูกเจิม” เพราะพระยะโฮวาได้เลือกเขาเป็นผู้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ โมเซรู้ว่างานนี้ไม่ง่ายและอาจทำให้เขาถูก “ติเตียน” เช่น ตอนที่ยังอยู่ในอียิปต์ โมเซเคยถูกชาวอิสราเอลคนหนึ่งเยาะเย้ยว่า “ใครแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้านายและเป็นตุลาการปกครองข้าพเจ้า” (เอ็ก. 2:13, 14, ฉบับ 1971 ) หลังจากนั้น โมเซถามพระยะโฮวาว่า “กษัตริย์ฟาโรจะเชื่อฟังข้าพเจ้าอย่างไร?” (เอ็ก. 6:12) นี่เป็นวิธีที่โมเซเตรียมรับมือเมื่อถูกเยาะเย้ย เขาบอกพระยะโฮวาว่าเขากลัวและเป็นห่วงกังวลเรื่องอะไร พระยะโฮวาช่วยโมเซให้ทำงานมอบหมายจนสำเร็จโดยวิธีใด?

10. พระยะโฮวาช่วยโมเซให้ทำงานมอบหมายได้สำเร็จโดยวิธีใด?

10 อย่างแรก พระยะโฮวาสัญญากับโมเซว่า “เราจะอยู่กับเจ้า” (เอ็ก. 3:12) อย่างที่สอง พระองค์ช่วยให้โมเซมีความหวังและความกล้าโดยอธิบายให้เขาเข้าใจความหมายอีกอย่างหนึ่งของชื่อยะโฮวาว่า “เราเป็นซึ่งเราเป็น” * (เอ็ก. 3:14) อย่างที่สาม พระองค์ให้โมเซมีอำนาจทำการอัศจรรย์เพื่อคนอื่นจะเชื่อว่าพระเจ้าใช้เขามาจริงๆ (เอ็ก. 4:2-5) อย่างที่สี่ พระองค์ให้อาโรนเป็นผู้ช่วยและพูดแทนโมเซ (เอ็ก. 4:14-16) ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้ทำให้โมเซมั่นใจเต็มที่ว่าพระเจ้าสามารถช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้ทำงานมอบหมายทุกอย่างได้สำเร็จ เพราะก่อนที่โมเซจะสิ้นชีวิต เขาบอกยะโฮซูอะผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาว่า “อย่ากลัวอย่าท้อแท้เลยองค์พระผู้เป็นเจ้าเองจะทรงนำหน้าท่าน และสถิตอยู่กับท่าน พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งหรือละทิ้งท่านเลย”—บัญ. 31:8, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

11. ทำไมโมเซถือว่างานมอบหมายของเขามีค่ามาก?

11 เมื่อพระยะโฮวาช่วยโมเซ เขาก็เลยมั่นใจและถือว่างานที่พระเจ้ามอบหมาย “มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติในอียิปต์” การทำงานให้ฟาโรห์เทียบไม่ได้เลยกับการทำงานให้พระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่ ตำแหน่งเจ้าชายแห่งอียิปต์ไม่มีค่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับการเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้นำหน้าชาวอิสราเอล โมเซได้รางวัลที่คุ้มค่าเพราะเขาตัดสินใจถูกต้อง เขาได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระยะโฮวา และได้รับอำนาจให้ทำการอัศจรรย์ที่ “น่าครั่นคร้าม” ระหว่างที่นำชาวอิสราเอลเดินทางสู่แผ่นดินตามคำสัญญา—บัญ. 34:10-12, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

12. ทุกวันนี้เราได้รับสิทธิพิเศษอะไรจากพระยะโฮวา?

12 พระยะโฮวามอบหมายงานให้เราเหมือนกัน พระองค์บอกให้เรา “ทำงานรับใช้” โดยออกไปประกาศข่าวดีเหมือนกับเปาโลและสาวกคนอื่น(อ่าน 1 ติโมเธียว 1:12) เราทุกคนได้รับสิทธิพิเศษนี้ (มัด. 24:14; 28:19, 20) บางคนเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา พี่น้องชายหลายคนที่รับบัพติสมาแล้วก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองในประชาคม แต่ถ้าครอบครัวคุณไม่ใช่พยาน คุณอาจถูกญาติพี่น้องหรือเพื่อนต่อว่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ที่คุณทุ่มเททำงานให้พระเจ้า (มัด. 10:34-37) ถ้าคุณฟังพวกเขาพูด คุณก็จะท้อใจและเริ่มสงสัยว่างานที่คุณทำเพื่อพระเจ้ามีค่าจริงไหมหรือเริ่มไม่มั่นใจว่าจะทำงานมอบหมายให้สำเร็จได้ ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้ความเชื่อจะช่วยคุณให้มุ่งมั่นทำงานต่อไปได้อย่างไร?

13. พระยะโฮวาช่วยคุณอย่างไรให้ทำงานรับใช้พระองค์จนสำเร็จ?

13 คุณต้องขอให้พระยะโฮวาช่วยและต้องเชื่อว่าพระองค์จะช่วยคุณ บอกพระองค์ว่าคุณกลัวอะไรหรือกังวลเรื่องอะไร พระยะโฮวาเป็นผู้มอบหมายงานนี้ให้คุณ เพราะฉะนั้น พระองค์จะช่วยคุณให้ทำงานนี้จนสำเร็จ พระยะโฮวาจะช่วยอย่างไร? ก็เหมือนกับที่พระองค์ได้ช่วยโมเซ อย่างแรก พระยะโฮวาสัญญาว่า “เราจะทำให้เจ้าเข้มแข็งขึ้นและจะช่วยเจ้า เราจะชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา” (ยซา. 41:10, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) อย่างที่สอง พระเจ้ายืนยันว่าคำสัญญาของพระองค์เชื่อถือได้ พระองค์บอกว่า “เราได้พูดไว้แล้ว และเราจะทำให้เกิดขึ้น เราได้วางโครงการไว้แล้ว และเราจะทำให้สำเร็จ” (ยซา. 46:11) อย่างที่สาม พระยะโฮวาให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่คุณเพื่อจะทำงานรับใช้จนสำเร็จ (2 โค. 4:7) อย่างที่สี่ พระองค์ให้คุณมีเพื่อนคริสเตียนทั่วโลกที่ “ชูใจกันและส่งเสริมกันเรื่อยไป” เพื่อช่วยคุณให้ทำงานมอบหมายต่อไปได้ (1 เทส. 5:11) เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา คุณจะมีความเชื่อในพระองค์มากขึ้นและจะเห็นว่าสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้พระองค์มีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติในโลกนี้หลายเท่านัก

“เขาเพ่งมองที่บำเหน็จซึ่งจะได้รับ”

14. ทำไมโมเซมั่นใจว่าจะได้บำเหน็จรางวัลแน่นอน?

14 โมเซ “เพ่งมองที่บำเหน็จซึ่งจะได้รับ” (ฮีบรู 11:26) โมเซไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับแผนการของพระเจ้าในอนาคต แต่เขาก็ใช้ความรู้เท่าที่มีตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับอับราฮาม โมเซมั่นใจว่าพระยะโฮวาสามารถปลุกคนตายให้ฟื้นได้ (ลูกา 20:37, 38; ฮีบรู 11:17-19) เพราะโมเซเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระเจ้า เขาจึงไม่คิดว่าการที่ต้องลี้ภัยนาน 40 ปีและรอนแรมอยู่ในป่ากันดารอีก 40 ปีเป็นการเสียเวลาเปล่า แม้โมเซไม่รู้ว่าพระเจ้าจะทำให้คำสัญญาต่างสำเร็จด้วยวิธีไหน แต่เพราะความเชื่อ เขาจึงมั่นใจว่าจะได้บำเหน็จรางวัลแน่นอนเหมือนกับว่าเห็นบำเหน็จนั้นอยู่ตรงหน้าแล้ว

15, 16. (ก) ทำไมเราต้องเพ่งมองบำเหน็จที่จะได้รับ? (ข) คุณนึกภาพพระพรอะไรที่จะได้รับในโลกใหม่?

 15 คุณ ‘เพ่งมองบำเหน็จ’ ที่จะได้รับไหม? เช่นเดียวกับโมเซ เราไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดว่าพระเจ้าจะทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จโดยวิธีใด เช่น เราไม่รู้ว่าความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มเมื่อไร (มโก. 13:32, 33) แต่เรารู้เรื่องอนาคตมากกว่าที่โมเซรู้ เรารู้เรื่องคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับชีวิตในโลกใหม่มากพอ จนเราสามารถ “เพ่งมอง” หรือนึกภาพออกว่าชีวิตในตอนนั้นจะมีความสุขสักแค่ไหน และถ้าภาพนั้นชัดเจนในความคิด เราก็อยากจะแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกเพื่อจะได้อยู่ในโลกใหม่ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอยากซื้อบ้านหลังหนึ่งแต่คุณแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบ้านหลังนั้นคุณจะซื้อไหม? คงไม่! เราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มั่นใจว่าโลกใหม่จะเป็นจริง เราคงไม่อยากทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อจะได้อยู่ที่นั่น ดังนั้น เราต้องมีความเชื่อ เพราะความเชื่อจะช่วยเราให้เห็นภาพชีวิตในโลกใหม่ได้อย่างชัดเจน

16 ถ้าคุณอยากให้ภาพโลกใหม่ชัดเจนอยู่ในความคิดจิตใจเสมอ คุณต้อง “เพ่งมอง” หรือนึกภาพตัวคุณเอง ตอนที่เข้าโลกใหม่แล้ว เช่น เมื่ออ่านเรื่องของคนในพระคัมภีร์ก่อนยุคคริสเตียนให้ลองคิดว่า ถ้าเจอกันในโลกใหม่หลังจากเขาฟื้นขึ้นจากตายแล้วคุณจะถามอะไรเขา หรือเขาอาจจะถามอะไรคุณเกี่ยวกับสมัยสุดท้าย ลองนึกภาพว่าคุณจะตื่นเต้นดีใจขนาดไหนเมื่อได้พบญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่ตายไปหลายร้อยปีและบอกให้พวกเขารู้ว่าพระเจ้าทำให้เขาฟื้นขึ้นจากตายและให้ความหวังเรื่องชีวิตตลอดไป นอกจากนั้น คุณจะตื่นเต้นแค่ไหนที่ได้เห็นสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดอยู่อย่างสงบโดยไม่มีใครทำอันตรายมัน ลองคิดดูสิว่าคุณจะรู้สึกใกล้ชิดพระยะโฮวามากขนาดไหนขณะที่คุณเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้นทุกวัน

17. ถ้าภาพโลกใหม่ของเราชัดเจนอยู่เสมอจะช่วยเราอย่างไรในทุกวันนี้?

17 ถ้าภาพโลกใหม่ชัดเจนอยู่ในใจเราเสมอ เราก็จะมีกำลังใจรับใช้ต่อไป มีความสุข และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เปาโลเขียนถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “ถ้าเราหวังในสิ่งที่เรายังไม่เห็น เราจะคอยท่าสิ่งนั้นต่อไปด้วยความเพียรอดทน” (โรม 8:25) ข้อนี้เป็นจริงกับทุกคนที่มีความหวังบนแผ่นดินโลกด้วย แม้ว่าตอนนี้เรายังไม่ได้รับบำเหน็จรางวัล แต่ความเชื่อที่มั่นคงจะช่วยเราให้อดทนต่อไปจนกว่าจะได้ “บำเหน็จ” ที่พระเจ้าสัญญาไว้ เช่นเดียวกับโมเซ เราไม่คิดว่าการรับใช้พระยะโฮวาหลายปีที่ผ่านมาเสียเวลาเปล่า แต่เรามั่นใจว่า “สิ่งที่มองเห็นนั้นอยู่เพียงชั่วคราว แต่สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นคงอยู่ชั่วนิรันดร์”—อ่าน 2 โครินท์ 4:16-18

18, 19. (ก) ทำไมเราต้องต่อสู้เพื่อไม่สูญเสียความเชื่อ? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?

18 ความเชื่อทำให้เราเห็น “หลักฐานชัดเจนว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีจริง” (ฮีบรู 11:1) คนที่สนใจแต่สิ่งที่มองเห็นได้ในโลกจะไม่เห็นค่าการรับใช้พระยะโฮวา เพราะเขาถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นเรื่อง “โง่เขลา” (1 โค. 2:14) เรามีความหวังว่าจะมีชีวิตตลอดไปและได้เห็นคนที่ตายแล้วกลับมีชีวิตอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปในโลกได้แต่ฝัน ในสมัยของเปาโล นักปรัชญาบางคนบอกว่าเปาโล “พูดเพ้อเจ้อ” ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าความหวังที่เราประกาศเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ—กิจ. 17:18, ฉบับคิงเจมส์

19 เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่ผู้คนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า เราจึงต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะไม่สูญเสียความเชื่อ ให้เราวิงวอนพระยะโฮวา ‘เพื่อความเชื่อของเราจะไม่หมดไป’ (ลูกา 22:32) ขอให้คิดเสมอว่าการทำบาปจะก่อผลเสียอย่างไร มองว่างานมอบหมายที่ได้รับเป็นสิทธิพิเศษล้ำค่า และให้ความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ชัดเจนอยู่ในใจตลอดเวลา โมเซเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ แต่ในบทความถัดไป เราจะมาดูว่าความเชื่อช่วยโมเซอย่างไรให้มองเห็น “พระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา”—ฮีบรู 11:27

^ วรรค 10 ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายว่า คำพูดของพระเจ้าที่เอ็กโซโด 3:14 เป็นการรับรองว่า “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่พระเจ้าประสงค์ ไม่มีสิ่งใดจะขัดขวางพระองค์ได้ . . . ชื่อนี้ [ยะโฮวา] จะเป็นป้อมของชาวอิสราเอล เป็นขวัญและกำลังใจของพวกเขาเสมอ”