ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อย่ากลัวเลย พระยะโฮวาจะช่วยคุณ!

อย่ากลัวเลย พระยะโฮวาจะช่วยคุณ!

“เราจึงกล้าพูดว่า ‘พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้า’”—ฮีบรู 13:6

1, 2. เมื่อมาริโอกลับบ้านเขาต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง? (ดูภาพแรก)

เมื่อทำงานอยู่ต่างประเทศและอยู่ไกลจากครอบครัว มาริโอมีงานที่ดีและหาเงินได้มากเพื่อส่งให้ครอบครัว * แต่พอมาเรียนความจริงเขาได้รู้ว่าจริงแล้วครอบครัวต้องการตัวเขามากกว่าเงินที่ส่งให้ ในที่สุด เขาจึงตัดสินใจกลับบ้าน—เอเฟ. 6:4

2 มาริโอรู้ดีว่าพระยะโฮวาอยากให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัว แต่เมื่อได้กลับไปเขารู้สึกว่าไม่ง่ายเลย เขาต้องพยายามให้ภรรยากับลูกรักเขาเหมือนเดิมและยังต้องหาเงินให้พอใช้สำหรับครอบครัวอีกต่างหาก มาริโอควรทำอะไร? และพี่น้องในประชาคมจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง?

ทำให้ครอบครัวและการนมัสการพระเจ้าดีเหมือนเดิม

3. ลูกรู้สึกอย่างไรเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่บ้านนานๆ?

3 มาริโอเล่าว่า “ผมทิ้งลูกไปตอนที่เขาต้องการผมมากที่สุด ผมไม่ได้อยู่กับลูก ไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ ไม่ได้อธิษฐานด้วยกัน ไม่ได้กอดและไม่ได้เล่นกับลูก”  (บัญ. 6:7) อันนาลูกสาวคนโตเล่าว่า “ตอนเป็นเด็กฉันรู้สึกขาดความอบอุ่นเพราะพ่อไม่อยู่บ้านกับพวกเรา พอพ่อกลับมาเราแทบไม่รู้เลยว่าพ่อเป็นคนยังไง ตอนที่พ่อเข้ามากอดฉันรู้สึกแปลกไม่เหมือนกับที่แม่กอดฉัน”

4. เมื่อพ่อกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งทำไมยากที่จะนำหน้าภรรยาและลูก?

4 เมื่อพ่ออยู่ไกลจากครอบครัวนานเท่าไรก็ยิ่งยากขึ้นที่เขาจะนำครอบครัว รูบี้ภรรยาของมาริโอเล่าว่า “ตอนนั้นฉันต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ ฉันต้องตัดสินใจทุกเรื่องในบ้าน พอมาริโอกลับมา ฉันต้องเรียนที่จะฟังสามีมากขึ้น จนถึงตอนนี้ บางครั้งฉันยังต้องเตือนตัวเองเสมอว่าสามีอยู่ที่นี่แล้ว” (เอเฟ. 5:22, 23) มาริโอเล่าต่อว่า “เวลาลูกสาวอยากทำอะไรเธอชินกับการไปขอแม่ ผมก็เลยต้องพยายามทำหน้าที่พ่ออย่างที่พระเจ้าต้องการมากขึ้น” มาริโอกับรูบี้คุยกันว่าเราต้องให้ลูกเห็นว่าเราคิดตรงกันเสมอ

5. มาริโอทำอะไรเพื่อให้ครอบครัวกลับมาเหมือนเดิม? ผลเป็นอย่างไร?

5 มาริโอทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ครอบครัวกลับมาเหมือนเดิมและช่วยพวกเขาให้รักพระยะโฮวา เขาอยากจะสอนลูกให้รักพระยะโฮวาด้วยคำพูด และการกระทำ ของเขา (1 โย. 3:18) พระยะโฮวาอวยพรความตั้งใจของมาริโอไหม? อันนาบอกว่า “ครอบครัวเราดีขึ้นมากเมื่อเห็นพ่อพยายามเป็นพ่อที่ดีและใกล้ชิดกับพวกเราอีกครั้ง เราภูมิใจมากที่เห็นพ่อพยายามก้าวหน้าและรับใช้พี่น้องในประชาคม สังคมสมัยนี้มักดึงเราให้ห่างจากพระเจ้า แต่เมื่อเห็นพ่อแม่พยายามใกล้ชิดพระเจ้าเราก็อยากทำด้วย พ่อสัญญาว่าจะไม่ทิ้งเราไปอีก และเขาก็ทำอย่างนั้นจริง ถ้าพ่อไม่ทำตามสัญญาฉันอาจจะทิ้งพระเจ้าแล้วก็ได้”

กลับมาทำหน้าที่ของตนด้วยความเต็มใจ

6. พ่อแม่ได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ที่บอลข่าน?

6 ลูกอยากให้พ่อแม่อยู่กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น ตอนที่มีสงครามที่บอลข่าน พ่อแม่ที่เป็นพยานหลายคนไปทำงานไม่ได้ พวกเขาก็เลยมีเวลาอยู่บ้าน เล่น พูดคุย และศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกันกับลูก ลูกชอบมาก พวกเขามีความสุขมากกว่าตอนที่ยังไม่มีสงครามด้วยซ้ำ เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? จริงแล้วลูกไม่ได้สนใจว่าเขาจะมีเงินและสิ่งของหรือไม่ แต่สิ่งที่เขาต้องการก็คือมีพ่อแม่อยู่กับพวกเขาที่บ้าน เป็นอย่างที่พระคัมภีร์บอกไว้ เพื่อลูกจะเป็นคนดีและมีความสุขได้ พ่อแม่ต้องมีเวลาสอนลูก—สุภา. 22:6

7, 8. (ก) อะไรทำให้พ่อแม่บางคนเสียใจเมื่อกลับมาอยู่บ้าน? (ข) พ่อแม่จะทำให้ลูกกลับมารักเขาเหมือนเดิมได้อย่างไร?

7 พ่อแม่บางคนเสียใจเพราะเมื่อพวกเขากลับบ้านและเห็นว่าลูกไม่สนใจและไม่นับถือเขาอีกต่อไป พ่อแม่อาจพูดว่า “พวกเธอทำกับพ่อแม่อย่างนี้ได้ยังไง? ไม่รู้เหรอว่าที่พ่อแม่ทำไปทั้งหมดนี้เพื่อใคร?” แต่จริงแล้วลูกเจ็บปวดมากตอนที่พ่อแม่ทิ้งเขาไป พ่อแม่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

8 คุณต้องขอพระยะโฮวาช่วยให้คุณเข้าใจความรู้สึกจริงของคนในครอบครัว และเมื่อพูดคุยกับครอบครัวคุณต้องทำให้เขาเห็นว่าคุณสนใจพวกเขาจริงคุณต้องยอมรับว่าคุณเองก็มีส่วนผิด คุณควรขอโทษพวกเขา ถ้าครอบครัวเห็นว่าคุณพยายามอย่างจริงจังเขาก็จะเห็นความจริงใจของคุณ ถ้าคุณอดทนและไม่เลิกล้มความตั้งใจง่ายครอบครัวก็จะกลับมารักและนับถือคุณอีกครั้ง

 ‘เลี้ยงดูครอบครัว’

9. ทำไมเราควรอิ่มใจกับสิ่งที่เรามี?

9 อัครสาวกเปาโลแนะนำว่าถ้าพี่น้องสูงอายุไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ลูกหลานควร “ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนเสมอ” แต่เปาโลยังบอกด้วยว่าสิ่งจำเป็นจริงที่ทำให้คนเราอิ่มใจก็มีเพียงอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยเท่านั้น (อ่าน 1 ติโมเธียว 5:4, 8; 6:6-10) ดังนั้น เพื่อจะเลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขเราไม่ต้องร่ำรวย เพราะโลกนี้ “กำลังจะสูญไป” (1 โย. 2:15-17) เราไม่ควรคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ และไม่ควรให้ “ความวิตกกังวลกับชีวิต” มาทำให้เราไม่สามารถ “ยึดชีวิตแท้” ในโลกใหม่ของพระเจ้าไว้ได้—มโก. 4:19; ลูกา 21:34-36; 1 ติโม. 6:19

10. ทำไมดีกว่าที่เราจะไม่สร้างหนี้?

10 พระยะโฮวารู้ดีว่าเราต้องใช้เงินบ้าง แต่เงินก็ไม่ได้ช่วยและปกป้องเราจากปัญหาเท่ากับความรู้ที่มาจากพระเจ้า (ผู้ป. 7:12; ลูกา 12:15) หลายครั้ง ผู้คนไม่รู้จริงว่าเขาต้องหมดเงินไปเท่าไรเพื่อจะย้ายไปทำงานต่างประเทศ และไม่มีใครรับประกันได้ว่าเขาจะหาเงินได้จริงไหมเมื่ออยู่ที่นั่น ที่จริง การย้ายไปแบบนั้นอาจก่อผลเสียมากกว่าผลดี หลายคนที่ได้ทำแบบนั้นมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเมื่อกลับบ้าน แทนที่จะรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่พวกเขากลับต้องมารับใช้เจ้าหนี้ (อ่านสุภาษิต 22:7) นับว่าดีกว่าที่เราจะไม่สร้างหนี้ตั้งแต่แรก

11. การเขียนรายการที่ต้องใช้จ่ายจริงช่วยครอบครัวได้อย่างไร?

11 หลังจากกลับมาอยู่บ้าน มาริโอต้องคิดดีก่อนใช้เงิน เขาและภรรยาต้องเขียนรายการที่ใช้จ่ายจริงเพื่อดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น * เพื่อจะอยู่รอด ทุกคนในครอบครัวต้องร่วมมือกันไม่ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น และไม่ใช้จ่ายมากเหมือนตอนที่ยังมีเงิน มาริโอเล่าว่า “ผมต้องย้ายลูกจากโรงเรียนเอกชนไปเข้าโรงเรียนรัฐบาล” เขากับครอบครัวอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยเขาให้ได้งานที่ทำให้มีเวลาไปประชุมและไปประกาศได้ พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเขาอย่างไร?

12, 13. มาริโอทำอะไรเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และพระยะโฮวาอวยพรเขาอย่างไร?

12 ในช่วงสองปีแรก มาริโอหาเงินแทบไม่พอใช้ในครอบครัว เขาเหนื่อยมาก เขาต้องเอาเงินที่เก็บไว้มาใช้ แต่เขาบอกว่า “เราไปประชุมและไปประกาศด้วยกันเป็นครอบครัวเสมอ” เขาตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำงานที่ทำให้เขาต้องห่างจากครอบครัวอีก เขายังบอกอีกว่า “ผมได้เรียนรู้งานหลายชนิดเพราะถ้างานบางอย่างหายาก ผมก็จะไปทำงานอย่างอื่นได้”

13 เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าจะใช้หนี้หมด มาริโอเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงมาก แต่เขาก็เต็มใจเพราะการทำอย่างนั้นทำให้เขารับใช้พระยะโฮวาร่วมกับครอบครัวได้ มาริโอเล่าว่า “ผมได้เงินไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินที่ได้เมื่ออยู่ต่างประเทศ แต่เราก็ไม่เคยอดอยาก มือของพระยะโฮวาไม่สั้นเกินไป ที่จริง เราเป็นไพโอเนียร์ได้ด้วย” หลังจากนั้นไม่นาน พอเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้น มาริโอก็หาเลี้ยงครอบครัวได้ง่ายขึ้น—ยซา. 59:1

ความกดดันจากญาติ

14, 15. เราจะทำอย่างไรถ้าญาติกดดันให้เราหาเงินมากขึ้น? และจะเป็นอย่างไรถ้าเราให้พระยะโฮวามาก่อนเงิน?

14 บางคนรู้สึกว่าเขาต้องให้เงินและของขวัญกับญาติหรือเพื่อน มาริโอบอกว่า “การให้แบบนั้นเป็นธรรมเนียม ของบ้านเรา เราเองก็ชอบให้ด้วย แต่ก็ต้องคิดด้วยว่าเราให้ได้แค่ไหน” มาริโอบอกญาติว่าเขาจะให้เท่าที่ให้ได้ แต่จะไม่ให้จนครอบครัวเดือดร้อนและเขาก็ไม่อยากทำงานมากกว่านี้เพราะเขาอยากมีเวลาไปรับใช้พระยะโฮวากับครอบครัวด้วย

15 ญาติบางคนอาจผิดหวังถ้าเราตัดสินใจกลับมาอยู่กับครอบครัว เขาอาจรู้สึกว่าเราเห็นแก่ตัว เพราะอะไร? ก็เพราะพวกเขาอยากได้เงินจากเรา (สุภา. 19:6, 7) อันนาลูกสาวของมาริโอบอกว่าถ้าครอบครัวเราให้พระยะโฮวามาก่อนเงิน ญาติก็จะเข้าใจว่าพระยะโฮวาสำคัญสำหรับพวกเรามากขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้พวกญาติก็จะไม่มีวันเข้าใจ—เทียบกับ 1 เปโตร 3:1, 2

เชื่อมั่นในพระเจ้า

16. (ก) เราอาจหาเหตุผลผิดอย่างไร? (ยโก. 1:22) (ข) พระยะโฮวาจะอวยพรการตัดสินใจแบบไหน?

16 พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่จากครอบครัวไปทำงานต่างประเทศพูดกับผู้ปกครองว่า “เราต้องเสียสละหลายอย่างเพื่อจะมาทำงานที่นี่ สามีของฉันถึงกับต้องลาออกจากผู้ปกครองด้วยซ้ำ ฉันมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะอวยพรพวกเรา” จริงอยู่ ถ้าเรามีความเชื่อและทำในสิ่งที่พระยะโฮวาชอบใจ เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะอวยพรเรา แต่พระเจ้าจะไม่อวยพรการตัดสินใจใดที่พระองค์ไม่เห็นด้วย และพระองค์ไม่พอใจถ้าเราทิ้งสิทธิพิเศษด้วยการหาเหตุผลผิดๆ—อ่านฮีบรู 11:6; 1 โยฮัน 5:13-15

17. ทำไมเราควรขอคำแนะนำจากพระยะโฮวาก่อน ตัดสินใจ และเราจะทำได้โดยวิธีใด?

17 คุณควรขอคำแนะนำจากพระยะโฮวาก่อน ตัดสินใจเพื่อจะไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง อธิษฐานขอใจที่มีพลัง สติปัญญา และคำแนะนำจากพระเจ้า (2 ติโม. 1:7) ถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันจะเต็มใจเสียสละได้มากขนาดไหนเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวา? ฉันจะเชื่อฟังพระองค์ที่ให้อยู่กับครอบครัวแม้ว่าจะต้องลำบากกว่าเดิม ไหม?’ (ลูกา 14:33) คุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองและทำตามคำแนะนำของเขาที่มาจากพระคัมภีร์ ถ้าคุณทำแบบนี้ก็แสดงว่าคุณเชื่อว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณ ผู้ปกครองจะไม่บอกว่าคุณต้องทำอะไร แต่เขาจะช่วยคุณให้ตัดสินใจอย่างที่จะทำให้ครอบครัวคุณมีความสุข—2 โค. 1:24

18. ใครมีหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว และเราจะช่วยพวกเขาให้ทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

18 พระยะโฮวาอยากให้หัวหน้าครอบครัวทุกคนเลี้ยงดูคนในครอบครัวของตนเสมอ เราทุกคนควรชมเชยและอธิษฐานเผื่อพี่น้องที่พยายามดูแลครอบครัวโดยไม่ไปทำงานต่างประเทศถึงแม้ถูกชักชวนหรือถูกกดดันจากคนอื่น นอกจากการอธิษฐานแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่เราทำได้เพื่อแสดงความรักต่อพี่น้องเหล่านี้เมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน (กลา. 6:2, 5; 1 เป. 3:8) คุณจะช่วยพวกเขาให้หางานเพื่อจะไม่ต้องย้ายไปต่างประเทศ หรือคุณจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น เงินและอาหารได้ไหม? ถ้าคุณช่วยเหลือพวกเขา พวกเขาอาจไม่ต้องจากครอบครัวไปทำงานที่อื่น—สุภา. 3:27, 28; 1 โย. 3:17

อย่าลืมว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณ!

19, 20. ทำไมเราจึงมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยเรา?

19 พระยะโฮวารับรองกับเราว่า “จงให้วิถีชีวิตของพวกท่านปราศจากการรักเงิน และจงพอใจในสิ่งที่พวกท่านมีอยู่ เพราะพระองค์ตรัสว่า ‘เราจะไม่มีวันละทิ้งเจ้าและไม่มีวันทอดทิ้งเจ้า’ เราจึงกล้าพูดว่า ‘พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว มนุษย์จะทำอะไรข้าพเจ้าได้เล่า?’” (ฮีบรู 13:5, 6) ข้อนี้เป็นจริงอย่างไร?

20 ผู้ปกครองคนหนึ่งที่รับใช้ในประเทศยากจนเล่าว่าผู้คนที่นั่นมักพูดเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสุข พวกเขาสังเกตว่าถึงแม้พยานบางคนจะยากจนแต่ก็มีเสื้อผ้าที่เรียบร้อยใส่และมีทุกสิ่งที่จำเป็น เรื่องนี้เป็นจริงตามที่พระเยซูสัญญาไว้ (มัด. 6:28-30, 33) พระยะโฮวารักเราและให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เรา พระองค์ใส่ใจผู้รับใช้ทุกคนและพร้อมช่วยเหลือเราโดย “ให้กำลัง” เรา (2 โคร. 16:9, ฉบับมาตรฐาน ) เพราะเหตุนี้เองพระองค์จึงให้คำสั่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัว หากเราเชื่อฟังและทำตามคำสั่งเหล่านั้นก็แสดงว่าเรารักและไว้วางใจพระยะโฮวา “การรักพระเจ้าหมายถึงการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก”—1 โย. 5:3

21, 22. ทำไมคุณเลือกที่จะวางใจพระยะโฮวา?

21 มาริโอรู้ว่าเวลาที่เขาเสียไปช่วงที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัวนั้นไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ แต่เขาเองก็ไม่ได้จมอยู่กับอดีต หลายคนที่เขาทำงานด้วยตอนนี้ร่ำรวยแต่ไม่มีความสุข พวกเขามีปัญหาหนักหลายอย่าง แต่สำหรับครอบครัวของมาริโอแล้ว แม้จะมีเงินน้อยแต่ก็มีความสุขมาก ครอบครัวของมาริโอและพี่น้องครอบครัวอื่นที่อยู่ในประเทศเขาเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะช่วยพวกเขา มาริโอบอกว่า “พวกเราเจอกับตัวเองว่าคำสัญญาของพระเยซูเป็นความจริง”—อ่านมัดธาย 6:33

22 อย่ากลัวเลย! จงเชื่อฟังและไว้วางใจพระยะโฮวา คุณเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีได้ถ้าคุณรักพระยะโฮวา รักภรรยา และลูกของคุณ คุณจะเจอกับตัวเองว่าพระยะโฮวาช่วยคุณได้

^ วรรค 1 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ

^ วรรค 11 ดูบทความ “วิธีบริหารเงิน” ในตื่นเถิด! กันยายน 2011