ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราจะ “ตอบแต่ละคน” อย่างไร?

เราจะ “ตอบแต่ละคน” อย่างไร?

“ให้คำพูดของท่านทั้งหลายเป็นคำพูดที่แสดงความกรุณาเสมอ . . . ท่านทั้งหลายจะได้รู้ว่าควรจะตอบแต่ละคนอย่างไร”—โกโล. 4:6

1, 2. (ก) ประสบการณ์ในข้อนี้แสดงให้เราเห็นอย่างไรว่าการใช้คำถามที่ดีและเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ? (ดูภาพแรก) (ข) ทำไมเราไม่ควรกลัวที่จะคุยเรื่องยาก ๆ?

พี่น้องหญิงคนหนึ่งเคยคุยกับสามีของเธอที่ไม่ใช่พยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ตอนคุยกันสามีบอกว่าเขาเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ แต่เธอรู้ว่าสามีไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับคำสอนนี้ พี่น้องจึงถามคำถามเพื่อชวนให้คิดว่า “คุณเชื่อว่าพระบิดาเป็นพระเจ้า พระเยซูเป็นพระเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เป็นพระเจ้า แต่ทั้งหมดเป็นพระเจ้าองค์เดียว ไม่ใช่สามองค์ใช่ไหม?” สามีของเธอแปลกใจและบอกว่า “ผมไม่ได้เชื่ออย่างนั้นซะหน่อย” จากนั้น พี่น้องหญิงคนนี้ก็ได้คุยกับสามีเกี่ยวกับความจริงเรื่องพระเจ้าอย่างออกรสออกชาติ

2 เราได้เรียนอะไรจากประสบการณ์นี้? เราได้เรียนว่าการถามคำถามที่ดีและเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญและเราไม่ต้องกลัวที่จะคุยเรื่องยาก ๆ เช่น เรื่องตรีเอกานุภาพ  ไฟนรก หรือมีผู้สร้าง ถ้าเราให้พระยะโฮวาช่วยและตั้งใจรับการฝึกอบรมจากพระองค์ เราก็จะตอบคำถามแบบที่เข้าถึงหัวใจของผู้ฟังได้ (โกโล. 4:6) ในบทความนี้เราจะดูสามวิธีที่จะช่วยเราให้เป็นผู้สอนที่ดีขึ้นโดย (1) ถามคำถามเพื่อจะรู้ว่าผู้คนเชื่ออะไรจริง ๆ (2) อธิบายเหตุผลจากพระคัมภีร์ และ (3) ใช้ตัวอย่างเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

ถามคำถามเพื่อจะรู้ว่าผู้คนเชื่ออะไรจริง ๆ

3, 4. การถามคำถามมีประโยชน์อย่างไร? ขอยกตัวอย่าง

3 การถามคำถามจะช่วยให้เรารู้ว่าผู้คนเชื่ออะไรจริง ๆ ทำไมการถามจึงสำคัญ? ที่สุภาษิต 18:13 บอกว่า “ผู้ที่ให้คำตอบก่อนได้ยินเรื่อง ก็เป็นการโฉดเขลาและเป็นความน่าอายแก่ตน” แน่นอน เราต้องรู้ก่อนว่าผู้คนที่เราคุยด้วยเชื่ออะไรจริง ๆ เพราะถ้าเราไม่รู้เราอาจต้องเสียเวลาไปกับการหาเหตุผลมาหักล้างในบางเรื่องที่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เชื่ออย่างนั้นด้วยซ้ำ—1 โค. 9:26

4 ตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้คุยกับผู้คนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องนรก บางคนอาจเชื่อว่านรกเป็นที่ที่คนชั่วจะถูกทรมานด้วยไฟที่ร้อนจัด แต่คนอื่นอาจไม่ได้เชื่อแบบนั้น ดังนั้น ก่อนที่เราจะอธิบายเหตุผลกับเขา เราอาจถามก่อนว่า “ผู้คนมีความเชื่อหลายอย่างเกี่ยวกับนรก ส่วนตัวแล้วคุณคิดอย่างไร?” หลังจากได้ฟังคำตอบของเขาแล้วเราก็จะช่วยเขาให้เข้าใจคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลได้ดีขึ้น

5. คำถามจะช่วยเราอย่างไรให้รู้เหตุผลที่ผู้คนเชื่ออย่างนั้น?

5 การถามคำถามที่ดีและเหมาะสมจะช่วยให้เรารู้ว่าทำไม ผู้คนถึงเชื่ออย่างนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบบางคนในเขตประกาศที่บอกว่าเขาไม่เชื่อพระเจ้า เราอาจคิดเอาเองว่าคนนั้นไม่ได้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ (เพลง. 10:4) แต่สำหรับบางคนแล้ว พวกเขาเลิกเชื่อพระเจ้าเพราะว่าเขาเคยเห็นหรือเคยเจอกับความทุกข์มากมาย เขาจึงไม่เข้าใจว่าถ้ามีพระเจ้าที่รักเราจริง ทำไมพระองค์ปล่อยให้มีความทุกข์มากมายขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าเจ้าของบ้านพูดว่า “ฉันไม่เชื่อพระเจ้า” เราอาจถามว่า “คุณคิดอย่างนี้มานานแล้วไหม?” ถ้าเขาตอบว่าไม่ เราอาจถามต่อไปว่าจริง ๆ แล้วอะไรทำให้เขาไม่มั่นใจว่าพระเจ้ามีจริง คำตอบของเขาอาจทำให้เรารู้ว่าวิธีไหนดีที่สุดที่จะช่วยเขา—อ่านสุภาษิต 20:5

6. หลังจากถามคำถาม เราควรทำอะไร?

6 หลังจากถามคำถาม เราต้องตั้งใจฟังเมื่อเจ้าของบ้านตอบ และให้เขาเห็นว่าเรานับถือความคิดและความรู้สึกของเขา ตัวอย่างเช่น เจ้าของบ้านอาจไม่แน่ใจว่าพระเจ้ามีจริงเพราะเขาเห็นว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์ ก่อนอื่น เราต้องบอกให้เขารู้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนี้ด้วย จากนั้น เราอาจอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมเรามั่นใจว่าพระเจ้ามีจริง (ฮบา. 1:2, 3) ถ้าเราอดทนและแสดงความรักต่อเขา เขาก็อาจอยากรู้มากขึ้น *

อธิบายเหตุผลจากพระคัมภีร์

อะไรจะช่วยเราให้ประกาศได้ดีขึ้น? (ดูข้อ 7)

7. เราต้องทำอะไรเพื่อจะประกาศได้ดีขึ้น?

7 เมื่อเราไปประกาศ คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด พระคัมภีร์ช่วยเราให้ “มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูก เตรียมไว้พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง” (2 ติโม. 3:16, 17) เพื่อที่เราจะประกาศได้ดี เราต้องทำมากกว่าการอ่านพระคัมภีร์หลาย ๆ ข้อให้เจ้าของบ้านฟัง เราต้องพยายามอธิบายว่าข้อคัมภีร์ที่อ่านเกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุยกันอย่างไร (อ่านกิจการ 17:2, 3) ขอเราดูสามตัวอย่างต่อไปนี้

8, 9. (ก) เราจะอธิบายเหตุผลอย่างไรเมื่อพบคนที่เชื่อว่าพระเยซูกับพระเจ้าเท่าเทียมกัน? (ข) คุณเคยใช้วิธีไหนอธิบายเหตุผลเรื่องนี้?

8 ตัวอย่างที่ 1 ถ้าเราพบคนที่เชื่อว่าพระเยซูกับพระเจ้าเท่าเทียมกัน เราจะใช้พระคัมภีร์ข้อไหนเพื่ออธิบายเหตุผลกับเจ้าของบ้าน? เราอาจขอให้เขาอ่านคำพูดของพระเยซูที่โยฮัน 6:38 ที่ว่า “เพราะเราลงมาจากสวรรค์ ไม่ใช่เพื่อทำตามใจเราเอง แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” จากนั้นอาจถามเขาว่า “ถ้าพระเยซูเป็นพระเจ้า แล้วใครใช้ท่านลงมาบนโลก? ผู้ที่ใช้พระเยซูมาก็น่าจะใหญ่กว่าท่านไม่ใช่เหรอ?”

9 นอกจากนั้น เราอาจอ่านฟิลิปปอย 2:9 ที่อัครสาวกเปาโลพูดถึงสิ่งที่พระเจ้าทำหลังจากให้พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ข้อนั้นบอกว่า พระเจ้าให้พระเยซู “ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นและทรงประทานพระนามอันสูงส่งเหนือนามอื่นทั้งหมดแก่พระองค์” เพื่อช่วยเจ้าของบ้านให้เข้าใจพระคัมภีร์ข้อนี้เราอาจถามว่า “ถ้าก่อนตายพระเยซูเท่าเทียมกับพระเจ้า แล้วหลังจากท่านฟื้นขึ้นมาพระเจ้าก็ให้ท่านมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็หมายความว่าตอนนี้พระเยซูมีตำแหน่งสูงกว่าพระเจ้าน่ะสิ คุณคิดว่าจะมีใครสูงกว่าพระเจ้าได้ไหม?” การอธิบายเหตุผลแบบนี้จะช่วยคนที่จริงใจและนับถือพระคำของพระเจ้าอยากรู้มากขึ้น—กิจ. 17:11

10. (ก) เราจะอธิบายเหตุผลอย่างไรเมื่อพบคนที่เชื่อเรื่องนรก? (ข) คุณเคยใช้วิธีไหนอธิบายเหตุผลเรื่องนี้?

10 ตัวอย่างที่ 2 ถ้าเจ้าของบ้านเชื่อว่าคนชั่วจะถูกทรมานในนรก พวกเขาอาจเชื่อว่านรกมีจริงเพราะเขาคิดว่าสมควรแล้วที่คนชั่วจะถูกลงโทษ เราจะอธิบายเหตุผลอย่างไรกับคนที่คิดแบบนี้? ก่อนอื่น เราต้องบอกเขาว่าคนชั่วจะถูกลงโทษอย่างแน่นอน (2 เทส. 1:9) จากนั้น เราอาจให้เขาอ่านเยเนซิศ 2:16, 17 ที่บอกว่าโทษ ของบาปหรือการทำผิดคือความตาย เราอาจบอกเขาด้วยว่าพระเจ้าไม่ได้พูดว่าจะลงโทษคนชั่วในนรก และอ่านเยเนซิศ 3:19 ในข้อนั้นพระเจ้าบอกอาดามหลังจากที่เขาทำบาปว่าเขาจะถูกลงโทษให้กลับไปเป็นดิน เราอาจถามเจ้าของบ้านว่า “คุณคิดว่ายุติธรรมไหมที่พระเจ้าบอกอาดามว่าเขาจะไปเป็นดินแต่เขากลับตกนรก?” คำถามแบบนี้อาจช่วยคนที่จริงใจเข้าใจเหตุผลมากขึ้น

11. (ก) เราจะอธิบายเหตุผลอย่างไรเมื่อพบคนที่เชื่อว่าคนดีทุกคนจะไปสวรรค์? (ข) คุณเคยใช้วิธีไหนอธิบายเหตุผลเรื่องนี้?

11 ตัวอย่างที่ 3 ถ้าเราพบบางคนที่เชื่อว่าคนดีทุกคนจะไปสวรรค์ ความเชื่อที่ผิดแบบนี้ทำให้เจ้าของบ้านเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสัญญาเรื่องชีวิตตลอดไปบนโลก เช่น ถ้าเราอ่านในวิวรณ์ 21:4 (อ่าน) ผู้คนอาจเข้าใจว่าคำสัญญาข้อนี้หมายถึงชีวิตบนสวรรค์ เราจะอธิบายกับพวกเขาอย่างไร? แทนที่จะใช้พระคัมภีร์ข้ออื่น เราน่าจะเน้นบางวลีจากข้อนี้ที่บอกว่า “ความตายจะไม่มีอีกเลย” จากนั้น ถามเขาว่า “ถ้าเราพูดว่าความตายจะไม่มีอีกเลย แสดงว่าเมื่อก่อนเคยมีความตาย และในเมื่อมีแต่บนโลกเท่านั้นที่มีความตาย คำสัญญาในวิวรณ์ 21:4 ก็น่าจะหมายถึงชีวิตบนโลกไม่ใช่ในสวรรค์”—เพลง. 37:29

ใช้ตัวอย่างเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

12. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างในการสอน?

12 พระเยซูใช้ตัวอย่างหลายครั้งเมื่อท่านประกาศ (อ่านมัดธาย 13:34, 35) ตัวอย่างเหล่านั้นทำให้รู้ว่าผู้ฟังคนไหนจริงใจและอยากรับใช้พระยะโฮวา (มัด. 13:10-15) พระเยซูยังใช้ตัวอย่างเพื่อช่วยให้ผู้ฟังจำเรื่องที่ท่านสอนได้ง่ายและอยากฟังต่อ เราจะใช้ตัวอย่างในการสอนของเราได้อย่างไร?

13. เราจะใช้ตัวอย่างอะไรเพื่อช่วยให้คนอื่นเข้าใจว่าพระเจ้ามีอำนาจมากกว่าพระเยซู?

13 เราควรใช้ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากอธิบายให้คนอื่นเข้าใจว่าพระเจ้ามีอำนาจมากกว่าพระเยซู เราอาจลองใช้ตัวอย่างนี้ เราอาจถามเจ้าของบ้านก่อนว่า “ถ้าเราเห็นครอบครัวหนึ่งที่มีคนสองคนอายุเท่ากัน รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เราจะคิดว่าสองคนนี้เป็นอะไรกัน?” เจ้าของบ้านอาจตอบว่าเป็นพี่น้องกันหรือเป็นฝาแฝดกัน และเราอาจพูดต่อว่า “ใช่ เราตอบอย่างนั้นได้ทันที แต่คุณคิดอย่างไร ถ้าพระเจ้ากับพระเยซูมีอำนาจเท่ากันทำไมพระเยซูครูผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้บอกว่าท่านกับพระเจ้าเป็นพี่น้องหรือเป็นฝาแฝดกัน แต่ท่านกลับบอกว่าพระเจ้าเป็นพ่อและท่านเป็นลูก (ลูกา 3:21, 22; โย. 14:28) นั่นก็แสดงว่าพระเยซูอยากให้เราเข้าใจว่าพระเจ้ามีอายุมากกว่าและมีอำนาจมากกว่าท่าน”

14. เราจะใช้ตัวอย่างอะไรเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าไม่มีเหตุผลที่พระเจ้าใช้ซาตานลงโทษคนชั่วในนรก?

14 ขอเราดูอีกตัวอย่างหนึ่ง บางคนเชื่อว่าพระเจ้าใช้ให้ซาตานลงโทษคนชั่วในนรก เราจะช่วยพ่อแม่ให้เข้าใจได้อย่างไรว่าไม่มีเหตุผลที่พระเจ้าจะทำอย่างนั้น? เราอาจถามว่า “คุณจะทำอย่างไรถ้าลูกของคุณดื้อรั้นและชอบทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ?” พ่อแม่คงตอบว่า เขาก็จะเป็นคนสั่งสอนและพยายามหลาย ๆ ครั้งเพื่อช่วยให้ลูกเลิกทำสิ่งที่ไม่ดี (สุภา. 22:15) เราอาจถามต่อว่า “แต่ ถ้าลูกของคุณยังไม่ยอมเชื่อฟังล่ะ?” พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเขาต้องลงโทษลูกแน่ ๆ จากนั้น ก็ถามต่ออีกว่า “แต่ถ้าคุณรู้ว่าจริง ๆ แล้วที่ลูกของคุณทำผิดเพราะมีคนเลวคนหนึ่งชักจูงลูกของคุณล่ะ?” เป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะโกรธคนนั้น หลังจากนั้น เราสามารถทำให้ตัวอย่างนี้ชัดขึ้นโดยถามอีกว่า “แล้วคุณจะยอมให้คนเลวคนนั้น ที่ชักจูงลูกของคุณมาเป็นคนลงโทษลูกของคุณเองไหม?” เขาคงตอบว่าไม่ และเราอาจอธิบายต่อว่าซาตานเป็นผู้ที่ชักจูงผู้คนที่เป็นเหมือนลูกของพระเจ้าให้ทำชั่ว ดังนั้น พระองค์จะไม่ใช้มันให้ลงโทษคนเหล่านั้นแน่ ๆ

อย่าท้อใจ

15, 16. (ก) ทำไมเราไม่ควรคาดหมายว่าทุกคนจะฟังและยอมรับข่าวดี? (ข) เราต้องมีพรสวรรค์ไหมเพื่อจะเป็นผู้สอนที่ดี? ขออธิบาย (ดูกรอบ “ เครื่องมือที่ช่วยเราตอบคำถาม”)

15 ถึงแม้เราถามคำถามที่เหมาะสม อธิบายเหตุผลอย่างดี และใช้ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย แต่บางคนอาจไม่ฟังและไม่ยอมรับข่าวสารที่เราประกาศ (มัด. 10:11-14) แม้พระเยซูเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแต่ก็มีไม่กี่คนที่ฟังท่าน—โย. 6:66; 7:45-48

16 เราควรทำอย่างไรถ้ารู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์? ขอจำไว้ว่า เราเป็นผู้สอนที่ดีได้ (อ่านกิจการ 4:13) คัมภีร์ไบเบิลรับรองว่าจะมี ‘คนที่เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตนิรันดร์’ อย่างแน่นอน (กิจ. 13:48) ดังนั้น ขอเราอย่าท้อใจ เราควรพยายามปรับปรุงการสอนของเราให้ดีขึ้นและไม่ท้อใจแม้คนที่เราคุยด้วยไม่ตอบรับ ถ้าเราให้พระยะโฮวาช่วยและตั้งใจรับการฝึกอบรมจากพระองค์ เราก็จะเป็นครูที่ดีขึ้น และจะช่วยทั้งตัวเราและคนที่ฟังเราได้ (1 ติโม. 4:16) พระยะโฮวาจะช่วยเราให้รู้ว่าจะ “ตอบแต่ละคน” อย่างไร ในบทความหน้าเราจะเรียนวิธีประสบความสำเร็จในงานรับใช้โดยใช้กฎทอง

^ วรรค 6 โปรดดูบทความเรื่อง “เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง?” จากหอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 2009