ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 จดหมายเหตุของเรา

“ยังมีงานเกี่ยวอีกมากที่ต้องทำ”

“ยังมีงานเกี่ยวอีกมากที่ต้องทำ”

จอร์จ ยัง มาถึงรีโอเดจาเนโรในเดือนมีนาคมปี 1923

ในปี ค.ศ. 1923 มีคนจำนวนมากเข้าไปประชุมกันในห้องแสดงดนตรีขนาดใหญ่ของโรงเรียนสอนละครและดนตรีในเมืองเซาเปาลู ลองนึกภาพเหตุการณ์ในวันนั้นตอนที่บราเดอร์จอร์จ ยัง กำลังบรรยายโดยมีล่ามแปลเป็นภาษาโปรตุเกส มีถึง 585 คนนั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและมีการฉายพระคัมภีร์แต่ละข้อในภาษาโปรตุเกส นอกจากนั้นยังได้แจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กชื่อหลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตาย! ให้กับผู้ฟังเป็นร้อย ๆ เล่มทั้งในภาษาอังกฤษ เยอรมัน และอิตาลี การบรรยายผ่านไปด้วยดี หลายคนชื่นชอบแล้วก็บอกต่อกันไป และอีกสองวันต่อมาก็มีคนมาฟังคำบรรยายจนเต็มห้องประชุมอีก เหตุการณ์พิเศษนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในปี 1867 ซาราห์ เบลโลนา เฟอร์กูสัน ย้ายจากสหรัฐไปอยู่ประเทศบราซิล และในปี 1899 เธอพบความจริงจากหนังสือบางเล่มของสมาคมที่น้องชายเอามาจากสหรัฐ ซาราห์ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลของเรา เธอจึงขอรับวารสารหอสังเกตการณ์ ภาษาอังกฤษเป็นประจำ ด้วยความตื่นเต้นเธอเลยเขียนจดหมายไปหาบราเดอร์ซี. ที. รัสเซลล์และบอกว่า “ฉันเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าไม่มีใครอยู่ไกลเกินที่ความรู้ของพระเจ้าจะไปถึง”

คนเป็นจะพูดกับคนตายได้ไหม? (ภาษาโปรตุเกส)

ซาราห์ เฟอร์กูสันพยายามเต็มที่ที่จะบอกเล่าความจริงกับคนอื่น แต่เธอก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีใครมาช่วยเธอและครอบครัวรวมทั้งคนดี ๆ ในบราซิลให้รู้ความจริงในพระคัมภีร์มากขึ้นไหม ในปี 1912 เบเธลบรุกลินส่งข่าวให้ซาราห์รู้ว่าจะมีคนมาที่เมืองเซาเปาลูพร้อมกับแผ่นพับเป็นพัน ๆ แผ่นในภาษาโปรตุเกสที่ชื่อว่าคนตายอยู่ที่ไหน? ในปี 1915 เธอตกใจที่ได้รู้ว่านักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายคนในตอนนั้นคิดว่าอีกไม่นานตนเองจะไปสวรรค์ พอได้รู้เรื่องนี้เธอเลยสงสัยแล้วเขียนจดหมายไปถามว่า “แล้วใครจะช่วยคนบราซิลและคนอเมริกาใต้ล่ะ?  . . . อเมริกาใต้กว้างใหญ่มาก ยังมีงานเกี่ยวอีกมากที่ต้องทำ!”

ประมาณปี 1920 มีทหารเรือ 8 คนจากบราซิลได้มาเข้าร่วมการประชุมที่นิวยอร์กระหว่างที่รอซ่อมเรือรบของพวกเขา พอกลับไปที่เมืองรีโอเดจาเนโรพวกเขาก็ได้เล่าสิ่งที่ได้เรียนให้คนอื่นฟัง ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 1923 บราเดอร์จอร์จ ยัง ซึ่งเป็นพิลกริม (ผู้ดูแลเดินทาง) ได้มาที่เมืองรีโอเดจาเนโร เขาพบผู้สนใจพระคัมภีร์หลายคนและเขาจัดให้มีการแปลหนังสือหลายเล่มเป็นภาษาโปรตุเกส หลังจากนั้นบราเดอร์จอร์จได้เดินทางต่อไปที่เมืองเซาเปาลูซึ่งมีประชากรถึง 600,000 คน ในเมืองนี้แหละที่เขาได้บรรยายและแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กให้กับผู้ฟังในห้องแสดงดนตรีขนาดใหญ่ เขาเขียนรายงานไว้ว่า “เพราะผมทำงานคนเดียว ผมเลยต้องใช้หนังสือพิมพ์โฆษณาคำบรรยาย ที่จริง นี่เป็นการโฆษณาครั้งแรกที่บราซิลในนามของไอบีเอสเอ” *

มีการฉายพระคัมภีร์แต่ละข้อขณะที่บราเดอร์จอร์จบรรยาย

ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ธันวาคมปี 1923 ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานในประเทศบราซิลว่า “ตอนที่เริ่มงานในบราซิลวันที่ 1 มิถุนายน 1923 เราไม่มีหนังสือสักเล่มที่จะแจกจ่ายให้ผู้คน แต่เราเห็นว่าพระยะโฮวาอวยพรงานที่นี่จริง ๆ” รายงานนี้พูดถึงคำบรรยายของบราเดอร์จอร์จที่เซาเปาลูว่าเป็นเพียง 2 ครั้งจากทั้งหมด 21 ครั้งที่เขาบรรยายในบราซิลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 30 กันยายน โดยมีผู้ฟังทั้งหมด 3,600 คน วิธีที่ข่าวสารราชอาณาจักรในรีโอเดจาเนโรแพร่ออกไปก็น่าสนใจด้วยเพราะไม่กี่เดือนต่อจากนั้นมีการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์มากกว่า 7,000 ฉบับในภาษาโปรตุเกส และในปีเดียวกันนั้นก็เริ่มมีการพิมพ์หอสังเกตการณ์ ในภาษาโปรตุเกสฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปี 1923

ซาราห์ เบลโลนา เฟอร์กูสันเป็นคนแรกในบราซิลที่รับวารสารหอสังเกตการณ์ ภาษาอังกฤษเป็นประจำ

วารสารหอสังเกตการณ์ รายงานเรื่องที่บราเดอร์จอร์จพบกับซาราห์ เฟอร์กูสันว่า “ตอนนั้นซาราห์ไปพบบราเดอร์จอร์จที่ห้องรับแขก ตอนที่จับมือทักทายกันเธอไม่พูดอะไรเลยได้แต่มองหน้าบราเดอร์จอร์จ แต่สุดท้ายเธอก็อุทานขึ้นมาว่า ‘ในที่สุดฉันก็ได้เจอผู้ดูแลหมวดตัวเป็น ๆ ซะที’ ” จากนั้นซาราห์และลูกบางคนของเธอก็รับบัพติสมาหลังจากที่รอมา 25 ปี ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 1924 รายงานว่ามีถึง 50 คนรับบัพติสมาในบราซิล โดยส่วนใหญ่พวกเขาอยู่ที่รีโอเดจาเนโร

ตอนนี้ผ่านไป 90 ปีแล้ว เรารู้ดีว่าเขตงานในบราซิลและอเมริกาใต้เป็นอย่างไร ในบราซิลมีพยานมากกว่า 760,000 คนและในอเมริกาใต้ทั้งหมดมีการประกาศไปทั่วในภาษาโปรตุเกส สเปน และภาษาพื้นเมืองอื่น ๆ ด้วย เป็นอย่างที่ซาราห์ เฟอร์กูสันพูดไว้ในปี 1915 ที่ว่า ‘ยังมีงานเกี่ยวอีกมากที่ต้องทำ’—จดหมายเหตุของเราในบราซิล

^ วรรค 6 ไอบีเอสเอคือสมาคมนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติซึ่งเป็นชื่อที่พยานพระยะโฮวาใช้ในตอนนั้น