ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณ “พยายามจะได้ทำหน้าที่” ไหม?

คุณ “พยายามจะได้ทำหน้าที่” ไหม?

เฟอร์นันโดรู้สึกกังวลเพราะผู้ปกครองสองคนนัดคุยกับเขา * ระยะหลัง ๆ นี้เมื่อผู้ดูแลหมวดเยี่ยมเสร็จ ผู้ปกครองมักจะคุยกับเขาว่าเขาต้องทำอะไรเพื่อจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ปกครอง พอเวลาผ่านไป เฟอร์นันโดเริ่มไม่แน่ใจว่าเขาจะมีโอกาสได้เป็นผู้ปกครองไหม คราวนี้ก็เหมือนกัน ผู้ดูแลหมวดเพิ่งเยี่ยมประชาคมเสร็จ ไม่รู้ว่าผู้ปกครองจะว่าอย่างไรในเรื่องของเขา

เฟอร์นันโดตั้งใจฟังขณะที่ผู้ปกครองคนหนึ่งพูด เขาอ้างถึง 1 ติโมเธียว 3:1 แล้วบอกว่าคณะผู้ปกครองได้รับจดหมายแต่งตั้งให้เฟอร์นันโดเป็นผู้ปกครองแล้ว เฟอร์นันโดแปลกใจมากและพูดว่า “คุณพูดว่าอะไรนะครับ?” ผู้ปกครองพูดซ้ำอีกที แล้วเฟอร์นันโดก็ยิ้มด้วยความดีใจ ต่อมา พี่น้องทุกคนในประชาคมก็ดีใจด้วยเมื่อได้ยินคำประกาศแต่งตั้งเฟอร์นันโด

ผิดไหมถ้าอยากจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลในประชาคม? ไม่ผิด เพราะ 1 ติโมเธียว 3:1 บอกว่า “ถ้าชายคนใดพยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแล เขาก็ปรารถนาการงานที่ดี” พี่น้องชายหลายคนทำตามคำแนะนำนี้ พวกเขาพัฒนาตัวเองในทางพระเจ้าเพื่อจะได้รับสิทธิพิเศษในประชาคม น้ำใจแบบนี้ทำให้มีผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ดี ๆ หลายหมื่นคนทำงานเพื่อประชาชนของพระเจ้า แต่เนื่องจากประชาคมทั่วโลกกำลังเติบโต เราจึงอยากเห็นพี่น้องชายมากขึ้น “พยายามเพื่อจะได้ทำหน้าที่” แต่พวกเขาควรทำอะไรบ้าง? พวกเขาจะเอาแต่เฝ้าคอยด้วยความกังวลเหมือนเฟอร์นันโดไหมว่าเมื่อไรจะได้เป็นผู้ปกครองสักที?

“พยายามจะได้ทำหน้าที่” หมายความว่าอย่างไร?

วลี “พยายามจะได้ทำหน้าที่” แปลจากคำกริยาภาษากรีกซึ่งหมายถึง เอื้อมมือหรือปรารถนาอย่างยิ่ง คำพูดแบบนี้ทำให้คิดถึงคนที่เอื้อมมือไปเด็ดผลไม้ที่น่ากินจากต้น แต่การพยายามจะได้ทำหน้าที่ “ผู้ดูแล” ไม่ได้เกิดจากความอยากเด่นดัง ทำไมถึงพูดแบบนั้น? เพราะเจตนาที่ถูกต้องของการพยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลก็คือ เพื่อทำ “การงานที่ดี” ไม่ใช่เพื่อจะได้ตำแหน่ง

ใน 1 ติโมเธียว 3:2-7 และทิทุส 1:5-9 มีการแจกแจงคุณสมบัติหลายอย่างของคนที่ปรารถนา “การงานที่ดี” ไว้ เรย์มอนด์ซึ่งเป็นผู้ปกครองมานานพูดถึงคุณสมบัติที่บอกไว้ในข้อคัมภีร์เหล่านั้นว่า “ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเราเป็นคนแบบไหน ทักษะการพูดกับการสอนก็สำคัญ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมาแทนคุณสมบัติอื่น ๆ ได้ เช่น ไม่มีข้อที่จะติได้ รู้จักประมาณตน มีสติ มีระเบียบ มีน้ำใจรับรองแขก และมีเหตุผล”

“พยายามจะได้ทำหน้าที่” โดยทำทุกอย่างที่ทำได้

ถ้าใครพยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแล เขาควรเป็นคนที่ไม่มีข้อที่จะติได้ เขาต้องซื่อสัตย์เสมอและสะอาดในทุกแง่มุมของชีวิต ถ้าเขาเป็นคนรู้จักประมาณตน มีสติ มีระเบียบ และมีเหตุผล พี่น้องก็จะไว้ใจเขาและขอความช่วยเหลือจากเขาเมื่อมีปัญหา ถ้าเขามีน้ำใจเขาก็พร้อมจะให้กำลังใจเด็ก ๆ วัยรุ่น และคนที่เพิ่งเข้ามาเป็นพี่น้อง เขาจะปลอบโยนและช่วยเหลือคนป่วยกับผู้สูงอายุเพราะเขารักความดี เขาพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้ก็เพราะอยากช่วยเหลือพี่น้อง ไม่ใช่เพราะอยากให้ผู้ปกครองเห็นแล้วจะได้เสนอเขาให้เป็นผู้ปกครอง *

ผู้ปกครองยินดีให้คำแนะนำและช่วยเหลือเสมอ แต่คนที่พยายามจะได้ทำหน้าที่ต้องพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้ด้วยตัวเอง เฮนรีซึ่งเป็นผู้ดูแลที่มีประสบการณ์แนะนำว่า “ถ้าคุณพยายามเพื่อจะได้ทำหน้าที่ คุณก็ต้องบากบั่นพัฒนาตัวเองเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติจริง ๆ” เขาอ้างถึงท่านผู้ประกาศ 9:10 (ฉบับ 1971) ที่ว่า “มือของเจ้าจับทำการงานอะไร จงกระทำการนั้นด้วยเต็มกำลังของเจ้า” แล้วเขาอธิบายต่อว่า “ถ้าผู้ปกครองมอบหมายงานอะไรให้คุณทำ ขอให้ทำงานนั้นอย่างสุดความสามารถและมีความสุขกับงานทุกอย่างที่ทำแม้จะเป็นแค่งานกวาดพื้นก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป คนอื่นก็จะสังเกตเห็นสิ่งที่คุณทำและความตั้งใจของคุณ” ถ้าคุณอยากจะเป็นผู้ดูแล ขอให้ขยันขันแข็งและเป็นคนที่ไว้ใจได้ในทุกเรื่อง ที่สำคัญคุณต้องเป็นคนถ่อมใจไม่มักใหญ่ใฝ่สูง—มัด. 23:8-12

ปฏิเสธความคิดและการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

คนที่อยากจะเป็นผู้ดูแลมาก ๆ อาจถึงกับบอกหรือโน้มน้าวผู้ปกครองให้เห็นว่าตัวเองมีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นผู้ปกครองแล้ว ส่วนบางคนเมื่อผู้ปกครองแนะนำอะไรเขาก็แสดงความไม่พอใจ พี่น้องเหล่านี้ควรถามตัวเองว่า ‘ผมอยากดูแลแกะของพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจหรืออยากทำเพื่อตัวเองกันแน่?’

พี่น้องชายที่พยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลไม่ควรลืมคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของผู้ดูแล นั่นคือ “เป็นแบบอย่างให้ฝูงแกะ” (1 เป. 5:1-3) คนที่เป็นแบบอย่างในประชาคมจะหลีกเลี่ยงความคิดและการกระทำที่ไม่จริงใจ เขาจะต้องฝึกความอดทนต่อ ๆ ไปไม่ว่าตอนนี้จะเป็นผู้ดูแลหรือไม่ก็ตาม เพราะการเป็นผู้ดูแลไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาให้ดีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ (อาฤ. 12:3; เพลง. 106:32, 33) นอกจากนั้น ถึงแม้เขาจะ ‘ไม่เห็นว่าตัวเองมีความผิดอะไร’ แต่คนอื่นอาจเห็นว่าเขายังมีบางอย่างที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ (1 โค. 4:4) ดังนั้น ถ้าผู้ปกครองแนะนำคุณอย่างจริงใจและคำแนะนำนั้นก็มาจากพระคัมภีร์ คุณควรเต็มใจฟังและทำตาม

ควรทำอย่างไรถ้ารอมานานแล้ว?

พี่น้องชายหลายคนต้องรอเป็นเวลานานก่อนจะได้รับการแต่งตั้ง และถ้าคุณเองก็ “พยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแล” มาหลายปีแล้ว คุณเคยรู้สึกข้องขัดใจบ้างไหมว่าทำไมไม่ได้รับการแต่งตั้งสักที? ถ้าอย่างนั้น ขอให้คิดถึงถ้อยคำที่พระเจ้าดลใจให้เขียนไว้ที่ว่า “ความหวังใจที่ถูกเลื่อนให้เนิ่นไปนั้นทำให้อ่อนระอาใจ แต่เมื่อได้สมหวังก็เป็นเหมือนต้นไม้ที่จำเริญชีวิต”—สุภา. 13:12

เมื่อใครอยากได้อะไรมาก ๆ แต่ดูเหมือนไม่มีทางว่าจะได้มา เขาย่อมทุกข์ใจ อับราฮามก็เคยรู้สึกอย่างนั้นด้วย พระยะโฮวาสัญญาว่าเขาจะได้ลูกชาย แต่ผ่านไปหลายปีเขากับซาราห์ก็ยังไม่มีลูกชายสักที (เย. 12:1-3, 7) ตอนที่อับราฮามอายุมากแล้ว เขาคร่ำครวญว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า พระองค์จะทรงโปรดพระราชทานอะไรแก่ข้าพเจ้าด้วยข้าพเจ้าไม่มีบุตร . . . พระองค์มิได้ทรงพระราชทานบุตรให้แก่ข้าพเจ้า” พระยะโฮวายืนยันกับเขาว่าคำสัญญาเรื่องลูกชายจะเป็นจริงแน่นอน แต่กว่าพระเจ้าจะทำให้เรื่องนั้นเป็นจริงอับราฮามต้องรออย่างน้อย 14 ปี—เย. 15:2-4; 16:16; 21:5

ขณะที่ต้องรอคอย อับราฮามรับใช้พระยะโฮวาอย่างไม่มีความสุขไหม? ไม่ เพราะเขาไม่เคยสงสัยคำสัญญาของพระเจ้า เขาตั้งตาคอยต่อไป เปาโลเขียนว่า “เมื่ออับราฮามได้อดทนแล้ว ท่านจึงได้รับคำสัญญานั้น” (ฮีบรู 6:15) ในที่สุด พระเจ้าผู้มีฤทธิ์อำนาจสูงสุดได้อวยพรชายที่ซื่อสัตย์คนนี้จนเกินความคาดหมาย คุณเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของอับราฮาม?

ถ้าคุณอยากรับใช้เป็นผู้ดูแล แต่ผ่านไปหลายปีแล้วคุณก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งสักที ขอให้วางใจพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป อย่าเพิ่งท้อใจจนไม่มีความสุขในงานรับใช้ วอร์เรนเคยช่วยพี่น้องชายหลายคนให้ก้าวหน้า เขาอธิบายว่า “ต้องใช้เวลาเพื่อจะพิสูจน์ว่าพี่น้องชายคนหนึ่งมีคุณสมบัติไหม มีความสามารถขนาดไหน และมีทัศนะอย่างไรจริง ๆ โดยสังเกตจากความประพฤติและวิธีทำงานที่ได้รับมอบหมาย บางคนถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วถ้าได้รับการแต่งตั้ง ความคิดแบบนี้ไม่ถูกต้องและอาจทำให้หมกมุ่นกับเรื่องนั้นมากเกินไป ที่จริง ไม่ว่าคุณจะทำอะไรที่ไหน ถ้าคุณทำเพื่อพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ คุณก็ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว”

พี่น้องชายคนหนึ่งรอมานานกว่า 10 ปีถึงจะได้เป็นผู้ดูแล เขาพูดถึงบทเรียนที่ได้จากนิมิตเรื่องราชรถในสวรรค์ที่อยู่ในยะเอศเคลบท 1 ว่า “พระยะโฮวาขับเคลื่อนราชรถหรือองค์การของพระองค์ตามความเร็วและตามกำหนดเวลาของพระองค์ ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะได้เป็นผู้ดูแลหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผม สิ่งที่ผมต้องการ พระยะโฮวาอาจจะเห็นว่ายังไม่เหมาะกับผมก็ได้”

ถ้าคุณหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแล ขอให้พยายามช่วยเหลือพี่น้องและเอาใจใส่หน้าที่ในประชาคมต่อ ๆ ไป ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการแต่งตั้งสักที อย่าหมกมุ่นกับเรื่องนี้มากเกินไปแต่ให้อดทนรอ เรย์มอนด์ที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ความทะเยอทะยานเป็นศัตรูของความอิ่มใจ คนที่เอาแต่คิดว่าเมื่อไรจะได้เป็นผู้ดูแลจะไม่มีความสุขในการรับใช้พระยะโฮวา” ขอให้คุณพัฒนาผลของพระวิญญาณให้มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความอดทน พัฒนาความเชื่อและความรักต่อพระเจ้าโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ทำงานประกาศข่าวดีและสอนคนอื่น ๆ เรื่องพระเจ้าให้มากขึ้น นำครอบครัวในการทำกิจกรรมคริสเตียนและการนมัสการประจำครอบครัว ใกล้ชิดสนิทสนมกับพี่น้อง แล้วคุณจะมีความสุขแม้ยังไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลก็ตาม

พระยะโฮวาให้โอกาสพี่น้องชายพัฒนาคุณสมบัติเพื่อจะได้ทำหน้าที่ในประชาคม ทั้งพระองค์และองค์การไม่อยากให้คนที่พยายามทำอย่างนั้นรู้สึกข้องขัดใจหรือไม่มีความสุขเมื่อรับใช้พระองค์ พระเจ้าสนับสนุนและอวยพรทุกคนที่รับใช้พระองค์ด้วยเจตนาที่ถูกต้อง “พระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย”—สุภา. 10:22

ถึงแม้คุณพยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คุณก็ยังมีโอกาสพัฒนาตัวเองต่อ ๆ ไปได้ เมื่อคุณพยายามพัฒนาคุณสมบัติของผู้ดูแล ขยันขันแข็งในงานที่ได้รับมอบหมายในประชาคมและช่วยครอบครัวให้รักพระเจ้า คนอื่นจะสังเกตเห็นและจดจำสิ่งดี ๆ ที่คุณทำ ขอให้คุณมีความสุขกับการรับใช้พระยะโฮวาเสมอไม่ว่าคุณจะทำอะไรเพื่อพระองค์

^ วรรค 2 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ

^ วรรค 8 พี่น้องชายที่พยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยงานรับใช้ก็ได้ประโยชน์จากคำแนะนำในบทความนี้ด้วย คุณจะอ่านคุณสมบัติของผู้ช่วยงานรับใช้ได้จาก 1 ติโมเธียว 3:8-10, 12, 13