ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า”

“ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า”

“ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก”—เพลง. 144:15

1. บางคนเชื่อว่าพระเจ้ายอมรับคนแบบไหน?

หลายคนในทุกวันนี้บอกว่าศาสนาต่าง ๆ ในโลกแทบไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับมนุษย์เลย บางคนคิดว่าพระเจ้าไม่ยอมรับศาสนาเหล่านี้เพราะไม่ได้สอนความจริงเกี่ยวกับพระองค์และทำสิ่งไม่ดีหลายอย่าง พวกเขามักจะเชื่อว่าพระเจ้ายอมรับคนดีไม่ว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม และพวกเขาไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องลาออกจากศาสนาที่นับถืออยู่เพื่อจะมาเป็นประชาชนของพระเจ้า แต่พระเจ้าคิดอย่างนั้นไหม? ให้เราหาคำตอบด้วยกันโดยดูว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างไรเกี่ยวกับผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวาตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

พระเจ้าทำสัญญากับประชาชนของพระองค์

2. ใครเป็นประชาชนของพระยะโฮวา และอะไรที่ระบุว่าพวกเขาเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์พิเศษกับพระองค์? (ดูภาพแรก)

2 ประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว พระยะโฮวาเลือกคนกลุ่มหนึ่งบนโลกให้เป็นประชาชนของพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงอับราฮามว่าเป็น “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ” และเป็นผู้นำของครอบครัวใหญ่ที่มีคนรับใช้หลายร้อยคน (โรม 4:11; เย. 14:14) ในคะนาอัน อับราฮามได้รับความนับถือว่าเป็น “เจ้านายผู้ทรงอำนาจ” ด้วย (เย. 21:22; 23:6, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) พระยะโฮวาทำสัญญา หรือข้อตกลงกับอับราฮามและลูกหลานของเขา (เย. 17:1, 2, 19) พระเจ้าบอกอับราฮามว่า “นี่เป็นพันธสัญญาของเราซึ่งเจ้าจะต้องรักษาระหว่างเรากับเจ้าและเชื้อสายของเจ้าที่จะสืบมาคือผู้ชายทุกคนจะต้องเข้าสุหนัต” พระองค์ยังย้ำอีกว่า “นี่จะเป็นหมายสำคัญของพันธสัญญาระหว่างเรากับเจ้า” (เย. 17:10, 11) ดังนั้น อับราฮามและผู้ชายทุกคนในครอบครัวของเขาต้องรับสุหนัต (เย. 17:24-27) การรับสุหนัตเป็นการระบุว่า ลูกหลานของอับราฮามเป็นคนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระยะโฮวา

3. ลูกหลานของอับราฮามกลายเป็นชนชาติได้อย่างไร?

3 ยาโคบหรืออิสราเอลซึ่งเป็นหลานชายของอับราฮามมีลูกชาย 12 คน (เย. 35:10, 22-26) ในเวลาต่อมา พวกลูกชายของเขาก็กลายเป็นต้นตระกูลของชาติอิสราเอล 12 ตระกูล (กิจ. 7:8) โยเซฟ ลูกชายของยาโคบถูกนำตัวไปอียิปต์ ต่อมา ฟาโรห์ก็ให้เขามีอำนาจมากมาย ช่วงเวลาที่เกิดการกันดารอาหาร โยเซฟได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเสบียงอาหารสำหรับทั้งประเทศ การกันดารอาหารครั้งนี้ทำให้ยาโคบและครอบครัวต้องเดินทางไปอียิปต์ (เย. 41:39-41; 42:6) ลูกหลานของยาโคบเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และถูกเรียกว่า “เป็นชนชาติใหญ่”—เย. 48:4, ฉบับคิงเจมส์; อ่านกิจการ 7:17

พระยะโฮวาปลดปล่อยประชาชนของพระองค์

4. ตอนแรกความสัมพันธ์ระหว่างชาวอียิปต์และลูกหลานของยาโคบเป็นอย่างไร?

4 ลูกหลานของยาโคบอาศัยอยู่ที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ชื่อโกเชนในประเทศอียิปต์นานกว่า 200 ปี (เย. 45:9, 10) ฟาโรห์ยินดีต้อนรับชาวอิสราเอลเพราะเขารู้จักและนับถือโยเซฟ (เย. 47:1-6) เป็นเวลาประมาณ 100 ปีที่ชาวอิสราเอลอยู่อย่างสงบสุขกับชาวอียิปต์ พวกเขาอาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ และเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าชาวอียิปต์จะเกลียดชาวอิสราเอลเพราะพวกเขาเลี้ยงแกะ แต่ชาวอียิปต์ก็เชื่อฟังฟาโรห์และยอมให้ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ด้วย—เย. 46:31-34

5, 6. (ก) สภาพการณ์ของประชาชนของพระเจ้าในอียิปต์เปลี่ยนไปอย่างไร? (ข) ทำไมโมเซจึงไม่ถูกฆ่าและพระยะโฮวาทำอะไรเพื่อช่วยประชาชนของพระองค์?

5 เมื่อเวลาผ่านไปสภาพการณ์ก็เปลี่ยนแปลง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชสมบัติในประเทศอียิปต์พระองค์มิได้ทรงรู้จักกับโยเซฟ พระองค์ทรงประกาศแก่ชนชาติของพระองค์ว่า ‘ดูเถิดคนอิสราเอลมีมากเกินไปและมีกำลังยิ่งกว่าเราอีก’” ชาวอียิปต์จึงบังคับให้ชาวอิสราเอลทำอิฐ ทำไร่ไถนา และทำงานหนักอื่น ๆ เยี่ยงทาส พวกเขายังปฏิบัติต่อชาวอิสราเอลอย่างโหดร้ายทารุณ—เอ็ก. 1:8, 9, 13, 14, ฉบับ 1971

6 ฟาโรห์องค์ใหม่นี้ยังมีคำสั่งให้ฆ่าเด็กทารกเพศชายทุกคนของชาวอิสราเอลที่เพิ่งคลอดออกมาด้วย (เอ็ก. 1:15, 16) ในเวลานั้น โยเคเบ็ดหญิงชาวอิสราเอลได้คลอดลูกชายชื่อโมเซ เมื่อโมเซอายุได้สามเดือน เธอซ่อนลูกชายตัวน้อยไว้ที่กอต้นกกริมแม่น้ำไนล์ จากนั้นไม่นาน ลูกสาวของฟาโรห์ก็มาพบและเก็บโมเซไปเลี้ยง เธออนุญาตให้แม่ของโมเซเลี้ยงดูเขาจนโต เนื่องจากได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา โมเซจึงโตขึ้นเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้า (เอ็ก. 2:1-10; ฮีบรู 11:23-25) พระยะโฮวาเห็นว่าประชาชนของพระองค์ทนทุกข์เดือดร้อนจึงตัดสินใจใช้โมเซให้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ (เอ็ก. 2:24, 25; 3:9, 10) โดยวิธีนี้เอง พระยะโฮวาได้ “ไถ่” หรือปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการเป็นทาสในอียิปต์—เอ็ก. 15:13; อ่านพระบัญญัติ 15:15

ประชาชนของพระเจ้ากลายเป็นชาติใหญ่

7, 8. พระยะโฮวาทำให้ประชาชนของพระองค์เป็นชาติบริสุทธิ์อย่างไร?

7 ถึงแม้ว่าพระยะโฮวายังไม่ได้ตั้งชาวอิสราเอลให้เป็นประเทศ และไม่ได้ให้กฎหมายหรือให้มีปุโรหิต แต่พระองค์เลือกพวกเขาให้เป็นประชาชนของพระองค์ นี่เป็นเหตุผลที่พระยะโฮวาบอกโมเซและอาโรนให้ไปพูดกับฟาโรห์ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของชนชาติยิศราเอลตรัสดังนี้ว่า ‘จงปล่อยพลไพร่ของเรา ให้ไป เพื่อจะให้มีการเลี้ยงนมัสการแก่เราในป่า’”—เอ็ก. 5:1

8 แต่ฟาโรห์ไม่ต้องการปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ พระยะโฮวาจึงทำให้เกิดภัยพิบัติ 10 ประการแก่ประเทศอียิปต์ และทำลายฟาโรห์กับกองทัพของเขาในทะเลแดงเพื่อปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ (เอ็ก. 15:1-4) หลังจากนั้นไม่ถึงสามเดือน พระยะโฮวาทำสัญญากับชาวอิสราเอลที่ภูเขาไซนายว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ และรักษาคำสัญญาไมตรีของเราไว้ เจ้าจะเป็นทรัพย์ประเสริฐของเรายิ่งกว่าชาติทั้งปวง” พวกเขาจะกลายเป็น “ชนชาติอันบริสุทธิ์”—เอ็ก. 19:5, 6

9, 10. (ก) ตามที่บอกในพระบัญญัติ 4:5-8 กฎหมายของพระเจ้าทำให้ชาวอิสราเอลต่างจากคนชาติอื่น ๆ อย่างไร? (ข) ชาวอิสราเอลต้องทำอะไรเพื่อแสดงว่าเขาเป็น “ชนประเทศอันบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวา”?

9 เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาแต่ละครอบครัวจะมีผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัว ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ผู้ตัดสิน และปุโรหิตสำหรับครอบครัวของเขา เมื่ออยู่ในอียิปต์ก่อนที่จะเป็นทาส ครอบครัวของชาวอิสราเอลก็ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย (เย. 8:20; 18:19; โยบ 1:4, 5) แต่หลังจากที่พระยะโฮวาปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการเป็นทาส พระองค์ให้กฎหมายแก่พวกเขาซึ่งทำให้พวกเขาแตกต่างจากชาติอื่น ๆ (อ่านพระบัญญัติ 4:5-8; เพลง. 147:19, 20) โดยทางกฎหมายนี้เองทำให้มีการตั้งคนกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็นปุโรหิตสำหรับคนทั้งชาติ นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังบอกอีกด้วยว่าให้แต่งตั้ง “พวกผู้เฒ่าผู้แก่” ที่ได้รับความนับถือเนื่องจากมีความรู้และสติปัญญาให้เป็นผู้พิพากษา (บัญ. 25:7, 8) กฎหมายนี้สอนประชาชนให้รู้วิธีนมัสการพระเจ้าและวิธีใช้ชีวิตด้วย

10 ก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเข้าแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา พระยะโฮวาพูดถึงกฎหมายของพระองค์อีกครั้ง โมเซบอกพวกเขาว่า “วันนี้พระยะโฮวาได้ทรงยอมรับเจ้าทั้งหลายไว้เป็นไพร่พลในความปกครองของพระองค์ ดังพระองค์ได้ทรงสัญญาไว้นั้น เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้รักษาข้อบัญญัติทั้งปวงของพระองค์ และจะทรงกระทำให้เจ้าทั้งหลายมีความสรรเสริญ ชื่อเสียง และยศศักดิ์สูงเหนือบรรดาประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงสร้างไว้นั้น เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นชนประเทศอันบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า”—บัญ. 26:18, 19

คนต่างชาติก็นมัสการพระเจ้าร่วมกับประชาชนของพระองค์ได้

11-13. (ก) ใครที่เริ่มนมัสการร่วมกับประชาชนของพระเจ้า? (ข) ถ้าคนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลอยากนมัสการพระยะโฮวา พวกเขาต้องทำอะไร?

11 ถึงแม้ชาวอิสราเอลจะเป็นชนชาติที่พระยะโฮวาเลือก แต่พระองค์ก็อนุญาตให้คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลมาอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า เมื่อพระเจ้าช่วยชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ มีคนต่างชาติจำนวนมากตามพวกเขาออกมา ซึ่งในจำนวนนั้นมีชาวอียิปต์รวมอยู่ด้วย (เอ็ก. 12:38) อาจเป็นได้ที่ชาวอียิปต์บางคนเป็นคนรับใช้ของฟาโรห์ที่ฟังคำเตือนของโมเซในช่วงภัยพิบัติประการที่เจ็ด—เอ็ก. 9:20

12 ไม่นานก่อนที่ชาวอิสราเอลจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าสู่คะนาอัน โมเซบอกพวกเขาว่าต้อง “รักคนที่เป็นแขกเมือง” ซึ่งไม่ใช่ชาวอิสราเอลแต่ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน (บัญ. 10:17-19) ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นชาติอะไร ถ้าเขายอมเชื่อฟังกฎหมายพื้นฐานที่พระเจ้าให้ไว้กับโมเซ พวกเขาก็อาศัยอยู่ร่วมกับชาวอิสราเอลได้ (เลวี. 24:22) มีคนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลบางคนกลายมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา เช่น รูธหญิงชาวโมอาบเป็นคนที่อยากรับใช้พระยะโฮวา เธอบอกกับนาอะมีหญิงชาวอิสราเอลว่า “ญาติพี่น้องของแม่ จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย” (รูธ. 1:16) คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลเหล่านี้ถือว่าเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือพระยะโฮวา และผู้ชายทุกคนต้องรับสุหนัต (เอ็ก. 12:48, 49) พระยะโฮวายินดีต้อนรับพวกเขาให้มาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนของพระองค์—อาฤ. 15:14, 15

ชาวอิสราเอลรักคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกับเขา (ดูข้อ 11-13)

13 ครั้งหนึ่งคำอธิษฐานของโซโลมอนแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวายอมรับผู้นมัสการที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล ตอนที่มีการอุทิศพระวิหาร โซโลมอนอธิษฐานว่า “ฝ่ายคนต่างประเทศที่ไม่ใช่ชาติยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์ แต่ได้มาจากประเทศไกล เพราะเห็นแก่พระนามอันประเสริฐของพระองค์ และพระหัตถ์ของพระองค์อันทรงฤทธิ์เหยียดออกนั้น ถ้าผู้นั้นจะเข้ามาอธิษฐานในโบสถ์วิหารนี้ เมื่อนั้นขอพระองค์ทรงโปรดสดับฟังแต่สวรรค์ซึ่งเป็นที่สถิตของพระองค์ และกระทำตามที่ชนต่างประเทศจะทูลขอแต่พระองค์นั้นทุกประการ เพื่อบรรดามนุษย์โลกจะได้รู้จักพระนามของพระองค์ และจะได้นับถือเกรงกลัวพระองค์เหมือนกับชาติยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์ และจะได้รู้ว่าโบสถ์วิหารที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้นี้เป็นที่จารึกพระนามของพระองค์” (2 โคร. 6:32, 33) ยังคงเป็นอย่างนั้นด้วยในสมัยของพระเยซู ใครก็ตามที่ต้องการนมัสการพระยะโฮวาแม้จะไม่ใช่ชาวอิสราเอลพวกเขาก็นมัสการพระยะโฮวาร่วมกับประชาชนของพระองค์ได้—โย. 12:20; กิจ. 8:27

ชนชาติที่เป็นพยานของพระเจ้า

14-16. (ก) ชาวอิสราเอลกลายเป็นชนชาติที่เป็นพยานของพระยะโฮวาได้อย่างไร? (ข) พระเจ้าคาดหมายให้ประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้ทำอะไร?

14 ในขณะที่ชาวอิสราเอลนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า คนประเทศอื่น ๆ ก็นมัสการพระเจ้าของพวกเขา ดังนั้น คำถามสำคัญคือ ใครเป็นพระเจ้าที่แท้จริง? ในสมัยยะซายาห์ พระยะโฮวาบอกว่าคำถามนี้ต้องได้รับคำตอบโดยการพิสูจน์เหมือนการพิจารณาคดีในศาล พระองค์บอกว่าถ้าพระเจ้าของชาติต่าง ๆ เป็นพระเจ้าจริง พระเหล่านั้นต้องมีพยาน พระองค์ยังบอกอีกว่า “ให้เขานำพยานมาอ้างว่าเขาเป็นฝ่ายถูก เพื่อใคร ๆ จะได้ยินคำอ้างของเขาและกล่าวว่า ‘จริงแล้ว’”—ยซา. 43:9

15 พระเจ้าของประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพระเจ้าที่แท้จริง พระเหล่านั้นเป็นเพียงรูปปั้นที่พูดไม่ได้และเดินไปไหนไม่ได้ถ้าไม่มีใครยก (ยซา. 46:5-7) แต่พระยะโฮวาบอกชาติอิสราเอลประชาชนของพระองค์ว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา . . . เป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้ เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักและเชื่อถือเรา และจะได้เข้าใจว่า เราคือพระองค์ผู้นั้น ไม่มีพระเจ้าเกิดขึ้นก่อนเรา และภายหลังเราก็จะไม่มีดุจกัน เราคือตัวเราเอง เป็นพระยะโฮวา และนอกจากเราไม่มีผู้ช่วยให้รอด . . . เหตุฉะนั้นเจ้าก็เป็นพยานของเราว่าเราเป็นพระเจ้าของเจ้า”—ยซา. 43:10-12

16 เหมือนกับพยานที่ร่วมพิจารณาคดีในศาล ประชาชนของพระยะโฮวามีเกียรติที่ได้ยืนยันว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว พระองค์บอกว่าพวกเขาเป็น “พลเมืองซึ่งเราได้สร้างไว้สำหรับตัวของเราเองเพื่อเขาจะได้สรรเสริญเรา” (ยซา. 43:21) ชาวอิสราเอลเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนของพระยะโฮวา เนื่องจากพระยะโฮวาปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นทาสในอียิปต์ พระองค์จึงคาดหมายให้พวกเขาเชื่อฟังพระองค์จากใจและยกย่องพระองค์ฐานะผู้มีสิทธิ์ปกครองสูงสุด สิ่งที่มีคาห์ผู้ส่งข่าวของพระเจ้าบอกชาวอิสราเอลช่วยเตือนใจประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ด้วยว่า “ประชาชนทั้งสิ้นต่างก็ประพฤติในโอวาทแห่งพระของเขา ส่วนเราจะประพฤติตามโอวาทแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนตลอดไป”—มีคา 4:5

ประชาชนที่ทรยศ

17. ทำไมพระยะโฮวามองชาวอิสราเอลว่าเป็นเหมือนเถาองุ่นที่ไม่เกิดผล?

17 น่าเศร้าที่ชาวอิสราเอลไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา พวกเขาเริ่มเลียนแบบประเทศอื่น ๆ ที่นมัสการพระที่ทำจากไม้และหิน พวกเขาทำแท่นบูชาพระเท็จมากมาย เมื่อประมาณ 2,800 ปีก่อน ผู้พยากรณ์โฮเซอาบอกว่าชาติอิสราเอลเป็นเหมือนเถาองุ่นที่ไม่เกิดผลที่ดีอีกแล้ว เขาบอกว่า “เขาเป็นคนสองใจเสียแล้ว บัดนี้เขาจะต้องถูกปรับโทษ” (โฮ. 10:1, 2) ประมาณ 150 ปีต่อมา ยิระมะยาห์เปรียบเทียบชาติอิสราเอลที่ทรยศว่าเป็นเหมือนเถาองุ่น เขาพูดถึงชาตินี้ว่าเคยเป็นเหมือนต้นองุ่นที่ดีเยี่ยม แต่ตอนนี้กลับไม่เกิดผล พระยะโฮวาพูดผ่านทางยิระมะยาห์ว่า “พวกพระทั้งหลาย ที่เจ้าได้กระทำนั้นอยู่ที่ไหน ถ้ามันช่วยเจ้าให้รอดในเวลาทุกข์ยากได้ ให้มันลุกขึ้นช่วยเถิด” พระองค์พูดอีกว่า “ไพร่พลของเราได้ลืมเรา”—ยิระ. 2:21, 28, 32

18, 19. (ก) พระยะโฮวาบอกล่วงหน้าอย่างไรว่าพระองค์จะเลือกคนกลุ่มใหม่ให้เป็นประชาชนของพระองค์? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความถัดไป?

18 ชาติอิสราเอลให้ผลผลิตที่ไม่ดีเพราะพวกเขาไม่ได้นมัสการพระยะโฮวาในวิธีที่ถูกต้อง แทนที่จะเป็นพยานของพระเจ้าพวกเขากลับหันไปนมัสการรูปเคารพ พระเยซูจึงบอกพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวที่ชั่วร้ายในสมัยของพระองค์ว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกเอาไปจากพวกเจ้าแล้วมอบให้แก่ชนชาติหนึ่งซึ่งจะเกิดผลที่เหมาะสมกับราชอาณาจักร” (มัด. 21:43) ดังนั้น พระยะโฮวาจึงเลือกคนเป็นรายบุคคลให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ หรือชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ พระองค์จะทำ “สัญญาใหม่” กับพวกเขา พระยะโฮวาพูดกับพวกเขาว่า “เราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชาชนของเรา”—ยิระ. 31:31-33, ฉบับคิงเจมส์

19 ถึงแม้ชาติอิสราเอลโดยกำเนิดไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา แต่ในศตวรรษแรกพระองค์ก็เลือกชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณให้เป็นประชาชนของพระองค์ แล้วใครที่เป็นประชาชนของพระยะโฮวาในตอนนี้? คนที่อยากจะรับใช้พระเจ้าจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้นมัสการแท้ของพระองค์? เราจะเรียนเรื่องนี้ในบทความถัดไป