ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำถามจากผู้อ่าน

คำถามจากผู้อ่าน

ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ในแต่ละประชาคมได้รับการแต่งตั้งโดยวิธีใด?

ในสมัยศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลบอกผู้ปกครองที่รับใช้ในประชาคมเอเฟโซส์ว่า “จงเอาใจใส่ตัวท่านเองและแกะทั้งฝูงซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งพวกท่าน ให้เป็นผู้ดูแล ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้าที่พระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระองค์” (กิจ. 20:28) ในทุกวันนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้ามีบทบาทในการแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้อย่างไร?

ประการแรก พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้ากระตุ้นผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลให้เขียนว่าผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ใน 1 ติโมเธียว 3:1-7 บอกถึงข้อเรียกร้อง 16 ข้อของคนที่จะเป็นผู้ปกครอง นอกจากนั้น ในทิทุส 1:5-9 และยาโกโบ 3:17, 18 ยังพูดถึงคุณสมบัติเพิ่มเติมอีกหลายข้อ ส่วนคุณสมบัติของผู้ช่วยงานรับใช้มีบอกไว้ใน 1 ติโมเธียว 3:8-10, 12, 13 ประการที่สอง คณะผู้ปกครองที่เสนอแต่งตั้งจะอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาเป็นพิเศษเพื่อชี้นำพวกเขาขณะที่พิจารณาอย่างสมเหตุผลว่าพี่น้องชายคนนั้นบรรลุข้อเรียกร้องในพระคัมภีร์หรือไม่ ประการที่สาม พี่น้องชายที่ถูกเสนอให้ได้รับการแต่งตั้งต้องแสดงให้เห็นว่าเขาได้พยายามแสดงผลของพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าในชีวิตของเขา (กลา. 5:22, 23) ดังนั้น พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าจึงมีบทบาทในทุกขั้นตอนของการแต่งตั้ง

แต่จริง ๆ แล้วใครเป็นผู้แต่งตั้งพี่น้องชายเหล่านี้? ในอดีต การเสนอแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ทั้งหมดจะถูกส่งไปยังสำนักงานสาขา คณะกรรมการปกครองได้มอบหมายให้สำนักงานสาขาพิจารณาการเสนอดังกล่าวและทำการแต่งตั้งตามความเหมาะสม ต่อมา สำนักงานสาขาจะแจ้งเรื่องนี้ให้กับคณะผู้ปกครองของประชาคม แล้วผู้ปกครองจะแจ้งพี่น้องชายคนนั้นให้รู้ว่าเขาได้รับการแต่งตั้งแล้ว จากนั้น ถามเขาว่าเขาเต็มใจและแน่ใจไหมว่าเขามีคุณสมบัติที่จะรับหน้าที่นี้จริง ๆ ถ้าใช่ก็จะมีการประกาศให้พี่น้องในประชาคมทราบ

แล้วในศตวรรษแรกมีการแต่งตั้งพี่น้องชายอย่างไร? บางครั้ง อัครสาวกเป็นผู้แต่งตั้งบางคนให้ทำหน้าที่เฉพาะบางอย่าง เช่น แต่งตั้งชายเจ็ดคนให้ดูแลการแจกจ่ายอาหารแก่หญิงม่ายในแต่ละวัน (กิจ. 6:1-6) อย่างไรก็ตาม ชายเจ็ดคนนี้อาจเป็นผู้ปกครองอยู่แล้วก่อนที่จะได้รับงานมอบหมายเฉพาะนี้

ถึงแม้พระคัมภีร์ไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการแต่งตั้งในตอนนั้น แต่เราก็รู้ได้ว่าการแต่งตั้งทำกันอย่างไร เมื่อเปาโลกับบาร์นาบัสกำลังเดินทางกลับจากการเผยแพร่ในฐานะมิชชันนารีรอบแรก พวกเขา “ได้แต่งตั้งผู้เฒ่าผู้แก่ ไว้ในแต่ละประชาคม และโดยการอธิษฐานพร้อมกับอดอาหาร ทั้งสองได้ฝากพวกเขาไว้กับพระยะโฮวาผู้ที่พวกเขาได้เข้ามาเชื่อ” (กิจ. 14:23) หลายปีต่อมา เปาโลเขียนถึงทิทุสเพื่อนร่วมเดินทางของท่านว่า “ข้าพเจ้าละท่านไว้ที่เกาะครีตก็เพื่อให้ท่านแก้ไขสิ่งที่บกพร่องและแต่งตั้งผู้เฒ่าผู้แก่ ไว้ตามเมืองต่าง ๆ ตามที่ข้าพเจ้าได้สั่งท่าน” (ทิทุส 1:5) ติโมเธียวซึ่งเคยร่วมเดินทางกับอัครสาวกเปาโลก็เคยได้รับมอบหมายให้แต่งตั้งบางคนเช่นกัน (1 ติโม. 5:22) เห็นได้ชัดว่าการแต่งตั้งในอดีตทำโดยผู้ดูแลเดินทางไม่ใช่โดยเหล่าอัครสาวกหรือผู้เฒ่าผู้แก่ในเยรูซาเลม

เมื่อคิดถึงเรื่องราวที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาจึงปรับเปลี่ยนวิธีแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ใหม่ เริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2014 เป็นต้นไป การแต่งตั้งจะทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ ผู้ดูแลหมวดแต่ละคนจะพิจารณาการเสนอแต่งตั้งในหมวดของเขาเอง ในช่วงที่เขาเยี่ยมแต่ละประชาคม ผู้ดูแลหมวดจะพยายามสังเกตพี่น้องชายที่ได้รับการเสนอโดยทำงานรับใช้ร่วมกับคนนั้นมากเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังจากพิจารณาการเสนอแต่งตั้งกับคณะผู้ปกครองในประชาคมนั้น ผู้ดูแลหมวดจะเป็นคนแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ของประชาคมในหมวดของเขาเอง การปรับเปลี่ยนวิธีแต่งตั้งแบบนี้ใกล้เคียงกับวิธีแต่งตั้งที่ทำในศตวรรษแรก

ผู้ดูแลหมวดและคณะผู้ปกครองพิจารณาเรื่องการเสนอแต่งตั้งพี่น้องชายที่บรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์ (มาลาวี)

ใครบ้างที่มีส่วนในขั้นตอนของการแต่งตั้งนี้? “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดูแลและแจกจ่ายอาหารให้กับพวกคนรับใช้ (มัด. 24:45-47) โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าทาสสัตย์ซื่อค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ เพื่อจัดเตรียมการชี้นำตามหลักพระคัมภีร์ให้ทุกประชาคมทั่วโลกปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทาสสัตย์ซื่อแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการสาขาและผู้ดูแลหมวดทุกคน จากนั้น สำนักงานสาขาแต่ละแห่งจะจัดเตรียมการช่วยเหลือที่ใช้ได้จริงเพื่อให้การแต่งตั้งเป็นไปตามการชี้นำของคณะกรรมการปกครอง ส่วนคณะผู้ปกครองแต่ละประชาคมมีหน้าที่พิจารณาอย่างละเอียดถึงคุณสมบัติของพี่น้องชายที่จะเสนอแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในประชาคมของพระเจ้าว่าเขามีคุณสมบัติตามหลักการในพระคัมภีร์หรือไม่ ผู้ดูแลหมวดแต่ละคนถือว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเขาในการพิจารณาด้วยความรอบคอบพร้อมด้วยการอธิษฐานว่าพี่น้องชายที่ได้รับการเสนอจากคณะผู้ปกครองในประชาคมบรรลุข้อเรียกร้องหรือไม่ ถ้าเขาบรรลุข้อเรียกร้อง ผู้ดูแลหมวดจะเป็นผู้แต่งตั้งเขา

เมื่อเราเข้าใจว่าการแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ทำกันอย่างไร เราก็เห็นคุณค่าบทบาทของพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่าง ๆ มากขึ้น เราจึงมั่นใจและนับถือพี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคมคริสเตียนได้อย่างเต็มที่—ฮีบรู 13:7, 17

ใครคือพยานสองคนที่พูดถึงในวิวรณ์บท 11?

วิวรณ์ 11:3 พูดถึงพยานสองคนที่พยากรณ์เป็นเวลา 1,260 วัน จากนั้น พระคัมภีร์บอกว่าสัตว์ร้ายจะ “ชนะเขาและจะฆ่าเขาเสีย” แต่หลังจาก “สามวันครึ่ง” พวกเขาจะกลับมามีชีวิตอีก และทุกคนที่ได้เห็นพวกเขาก็แปลกใจมาก—วิ. 11:7, 11

พยานสองคนนี้เป็นใคร? รายละเอียดจากข้ออื่น ๆ ในบท 11 จะช่วยเราให้ระบุได้ว่าพวกเขาเป็นใคร ประการแรก เราได้รู้ว่า “ต้นมะกอกสองต้นกับเชิงตะเกียงสองอันเป็นสัญลักษณ์แทนตัวพยานสองคนนี้” (วิ. 11:4) นี่ทำให้เรานึกถึงเชิงตะเกียงและมะกอกสองต้นในคำพยากรณ์ของซะคาระยาห์ ในคำพยากรณ์นั้นมะกอกสองต้นเป็นสัญลักษณ์แทน “ผู้ที่ได้รับการเจิม” ซึ่งหมายถึงผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลและมหาปุโรหิตยะโฮซูอะที่ “ยืนเฝ้าอยู่ต่อพระเนตรพระเจ้าของพิภพทั้งสิ้น” (ซคา. 4:1-3, 14) ประการที่สอง มีการพูดถึงพยานสองคนนี้ว่าพวกเขาทำการอัศจรรย์หลายอย่างคล้ายกับที่โมเซและเอลียาห์ได้ทำ—เทียบวิวรณ์ 11:5, 6 กับอาฤธโม 16:1-7, 28-35 และ 1 กษัตริย์ 17:1; 18:41-45

รายละเอียดจากหนังสือวิวรณ์และซะคาระยามีอะไรที่เหมือนกัน? พระคัมภีร์พาดพิงถึงผู้ที่พระเจ้าเจิมไว้ให้นำหน้า ในช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่ยากลำบาก ดังนั้น ความหมายของคำพยากรณ์ในวิวรณ์บท 11 คือพี่น้องผู้ถูกเจิมที่นำหน้า ในช่วงเวลาแห่งการก่อตั้งราชอาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าในปี 1914 ได้ประกาศโดย “สวมผ้ากระสอบ” เป็นเวลาสามปีครึ่ง

เมื่อสิ้นสุดการประกาศโดย “สวมผ้ากระสอบ” ผู้ถูกเจิมก็ถูกฆ่าเชิงสัญลักษณ์เป็นเวลาสามวัน ครึ่งซึ่งไม่ได้หมายถึงช่วงเวลา 84 ชั่วโมงจริง ๆ แต่หมายถึงช่วงเวลาสั้น ๆ ที่พวกเขาถูกจับเข้าคุก ดังนั้น พวกคนที่เป็นศัตรูกับประชาชนของพระเจ้ามีความสุขมากเพราะคิดว่าเขาสามารถหยุดงานประกาศได้ราวกับว่าได้ฆ่างานนั้นให้ตายไปแล้ว—วิ. 11:8-10

เป็นจริงตามคำพยากรณ์ ตอนสิ้นสุดสามวันครึ่งพยานสองคนกลับมามีชีวิตอีก คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่เพียงแค่ถูกปล่อยออกจากคุกแต่คนที่รักษาความซื่อสัตย์เหล่านี้ยังได้รับการแต่งตั้งพิเศษจากพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย ในปี 1919 พี่น้องบางคนในกลุ่มนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เพื่อดูแลอาหารที่หล่อเลี้ยงความเชื่อแก่ประชาชนของพระเจ้าในช่วงสมัยสุดท้าย—มัด. 24:45-47; วิ. 11:11, 12

น่าสนใจ วิวรณ์ 11:1, 2 เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้กับช่วงเวลาที่มีการวัดและตรวจสอบพระวิหารฝ่ายวิญญาณ ในมาลาคีบท 3 ก็พูดถึงการตรวจสอบพระวิหารฝ่ายวิญญาณคล้าย ๆ กันนี้และยังพูดถึงช่วงเวลาแห่งการชำระด้วย (มลคี. 3:1-4) การตรวจสอบและการชำระพระวิหารจะใช้เวลานานขนาดไหน? ช่วงเวลานี้เริ่มตั้งแต่ปี 1914 จนถึงต้นปี 1919 ซึ่งหมายถึงช่วงเวลา 1,260 วัน (42 เดือน) และสามวันครึ่งเชิงสัญลักษณ์ที่พูดถึงในวิวรณ์บท 11

เรามีความสุขมากที่พระยะโฮวาจัดให้มีการชำระทางฝ่ายวิญญาณเพื่อชำระคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อการดี! (ทิทุส 2:14) นอกจากนั้น เราเห็นคุณค่าที่พี่น้องผู้ถูกเจิมวางแบบอย่างไว้ให้เรา พวกเขารับใช้และนำหน้าในช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่ยากลำบาก ดังนั้น พี่น้องผู้ถูกเจิมเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนพยานสองคนที่พูดถึงในวิวรณ์บท 11 *

^ วรรค 18 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 2013 หน้า 22 ข้อ 12