ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงฟังเราและเข้าใจ’

‘จงฟังเราและเข้าใจ’

“พวกเจ้าทุกคนจงฟังเราและเข้าใจเถิด”—มโก. 7:14

1, 2. ทำไมหลายคนไม่เข้าใจสิ่งที่พระเยซูสอน?

เมื่อมีคนพูดกับเรา เราจะได้ยินเสียงของเขาและจับได้ว่าน้ำเสียงเป็นแบบไหน แต่เพื่อจะเข้าใจว่าคนนั้นพูดอะไรเราต้องเข้าใจความหมายของสิ่งที่เขาพูดด้วย (1 โค. 14:9) ทั้ง ๆ ที่พระเยซูพูดกับคนเป็นพัน ๆ ในภาษาของพวกเขาเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนเข้าใจสิ่งที่พระเยซูพูด พระเยซูจึงบอกคนที่ฟังท่านว่า “พวกเจ้าทุกคนจงฟังเราและเข้าใจเถิด”—มโก. 7:14

2 ทำไมหลายคนไม่เข้าใจสิ่งที่พระเยซูพูด? เพราะบางคนมีความคิดเป็นของตัวเองและมีแรงจูงใจผิด ๆ พระเยซูพูดถึงคนพวกนี้ว่า “พวกคุณนี่เหลี่ยมจัดนะ เข้าใจหลีกเลี่ยงคำสั่งของพระเจ้า เพื่อจะได้ไปทำตามประเพณีที่สืบทอดกันมา” (มโก. 7:9, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) พวกเขาไม่พยายามเข้าใจสิ่งที่พระเยซูพูด พวกเขาไม่ต้องการเปลี่ยนความคิดและธรรมเนียมประเพณีที่ทำมาตลอด พวกเขาเปิดหูแต่ปิดใจ! (อ่านมัดธาย 13:13-15) แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเปิดใจและเต็มใจเรียนรู้คำสอนของพระเยซูเสมอ?

เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับประโยชน์จากคำสอนของพระเยซู

3. ทำไมพวกสาวกเข้าใจคำสอนของพระเยซู?

3 เราต้องเลียนแบบตัวอย่างสาวกที่มีใจถ่อมของพระเยซู ท่านพูดกับพวกเขาว่า “ตาของเจ้าทั้งหลายมีความสุขเพราะได้เห็น และหูของเจ้าทั้งหลายมีความสุขเพราะได้ยิน” (มัด. 13:16) ทำไมพวกเขาเข้าใจสิ่งที่พระเยซูพูดในขณะที่คนอื่นไม่เข้าใจ? เพราะพวกเขาทำตามสามขั้นตอนต่อไปนี้ (1) พวกเขากล้าถามและพยายามหาคำตอบว่าสิ่งที่พระเยซูพูดหมายความอย่างไรจริง ๆ (มัด. 13:36; มโก. 7:17) (2) พวกเขาตั้งใจเพิ่มพูนความรู้ที่อยู่ในหัวใจด้วยสิ่งใหม่ที่เพิ่งได้เรียนรู้ (อ่านมัดธาย 13:11, 12) (3) พวกเขาตั้งใจจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อช่วยตัวเองและคนอื่น ๆ—มัด. 13:51, 52

4. เพื่อจะเข้าใจตัวอย่างเปรียบเทียบที่พระเยซูใช้ เราต้องทำตามสามขั้นตอนอะไร?

4 เพื่อเราจะเข้าใจตัวอย่างต่าง ๆ ที่พระเยซูใช้สอน เราต้องทำตามสามขั้นตอนเหมือนที่สาวกทำคือ (1) เราต้องหาเวลาเพื่อศึกษาและคิดใคร่ครวญคำพูดของพระเยซู ค้นคว้าและตั้งคำถาม เพราะจะทำให้เราได้รับความรู้ (สุภา. 2:4, 5) (2) เราต้องเข้าใจว่าความรู้นี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วและตัวเราจะได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ เพราะการทำแบบนี้ทำให้เรามีความเข้าใจ (สุภา. 2:2, 3) (3) เพื่อจะมีสติปัญญา เราต้องนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ๆ—สุภา. 2:6, 7

5. ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่างความรู้ ความเข้าใจ และสติปัญญา

5 ความรู้ ความเข้าใจ และสติปัญญาแตกต่างกันอย่างไร? ยกตัวอย่าง คุณกำลังยืนอยู่กลางถนนและมีรถสิบล้อวิ่งมาหาคุณด้วยความเร็ว ขั้นแรก คุณเห็นรถนั้นและรู้ว่านั่นเป็นรถสิบล้อ นี่แสดงว่าคุณมีความรู้ ต่อมา คุณรู้ว่าถ้าคุณยังยืนอยู่ที่เดิม คุณจะถูกรถชนแน่ ๆ นี่แสดงว่าคุณมีความเข้าใจ คุณจึงรีบวิ่งเข้าข้างทางเพื่อหลบรถสิบล้อ นี่แสดงว่าคุณมีสติปัญญา คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรา “รักษาสติปัญญา” เอาไว้เพราะสติปัญญาจะช่วยรักษาชีวิตเรา—สุภา. 3:21, 22, ฉบับคิงเจมส์; 1 ติโม. 4:16

6. มีคำถามอะไรบ้างที่เราจะพิจารณาเมื่ออ่านตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งเจ็ดเรื่องของพระเยซู? (ดู กรอบ)

6 ในบทความนี้และบทความถัดไป เราจะพิจารณา 7 ตัวอย่างที่พระเยซูใช้อย่างละเอียด เราจะพิจารณาคำถามที่ว่า แต่ละตัวอย่างหมายความว่าอย่างไร? (นี่ทำให้เราได้รับความรู้) ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนั้น? (นี่ทำให้เราเข้าใจ) เราจะใช้สิ่งที่เราได้เรียนช่วยตัวเราเองและคนอื่น ๆ ได้อย่างไร? (นี่ทำให้เรามีสติปัญญา) และเรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

เมล็ดมัสตาร์ด

7. ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดหมายความว่าอย่างไร?

7 อ่านมัดธาย 13:31, 32 ตัวอย่างเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดของพระเยซูหมายความว่าอย่างไร? เมล็ดมัสตาร์ดหมายถึงข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่เราประกาศและหมายถึงประชาคมคริสเตียนด้วย เมื่อประชาคมคริสเตียนเริ่มต้นในปี ค.ศ. 33 (พ.ศ. 576) ตอนนั้นเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เหมือน “เมล็ดพืชที่เล็กที่สุด” แต่ภายในไม่กี่สิบปี งานประกาศก็ทำให้ประชาคมเติบโตอย่างรวดเร็ว จนหลายคนไม่คาดคิดเลยว่าจะมีการเติบโตเร็วขนาดนี้ (โกโล. 1:23) พระเยซูบอกเราว่า “นกในท้องฟ้า” จะมา “อาศัยตามกิ่ง” ของต้นนี้ได้ นี่หมายความว่าประชาคมคริสเตียนจะเติบโตขึ้นจนคนที่มีหัวใจดีเห็นว่าประชาคมเป็นที่ให้ร่มเงา ให้การปกป้องและจัดเตรียมอาหารที่หล่อเลี้ยงความเชื่อ—เทียบดูยะเอศเคล 17:23

8. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด?

8 ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนี้? พระเยซูใช้การเติบโตที่น่าทึ่งของเมล็ดมัสตาร์ดเพื่อเปรียบเทียบว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะขยาย ให้การปกป้อง และสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่ปี 1914 ประชาคมคริสเตียนเติบโตอย่างน่าทึ่ง (ยซา. 60:22) คนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมจะได้รับการปกป้องให้อยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ (สุภา. 2:7; ยซา. 32:1, 2) ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งการเติบโตของประชาคมคริสเตียนได้—ยซา. 54:17

9. (ก) เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด? (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

9 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด? เราอาจจะอยู่ในเมืองหรือประเทศที่มีพยานฯไม่มากและไม่เห็นผลจากงานประกาศของเราเท่าไร แต่เราต้องจำไว้ว่าไม่มีอุปสรรคใดจะมาขัดขวางความก้าวหน้าของราชอาณาจักรนี้ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อพี่น้องเอดวิน สกินเนอร์เดินทางมาถึงประเทศอินเดียในปี 1926 ตอนนั้นมีพยานไม่มากและงานประกาศก็ดูเหมือนว่า “จะไปไม่รอด” เพราะเติบโตช้ามาก แต่เขาก็ยังประกาศต่อไปและได้เห็นว่าข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรสามารถเอาชนะอุปสรรคที่ใหญ่โตได้ ทุกวันนี้มีพยานมากกว่า 37,000 คนในอินเดีย และมีมากกว่า 108,000 คนที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในปี 2013 อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจคือประเทศแซมเบีย ในปี 1926 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พี่น้องสกินเนอร์มาถึงอินเดีย ก็มีการเริ่มงานประกาศข่าวดีในแซมเบียด้วย ตอนนี้แซมเบียมีพยานมากกว่า 170,000 คน และมี 763,915 คนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในปี 2013 นี่หมายความว่า ในทุก ๆ 18 คนจะมี 1 คนที่มาร่วมการประชุมอนุสรณ์ เรารู้สึกทึ่งจริง ๆ กับการเติบโตที่น่าอัศจรรย์นี้!

เชื้อ

10. ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อหมายความว่าอย่างไร?

10 อ่านมัดธาย 13:33 ตัวอย่างเรื่องเชื้อหมายความว่าอย่างไร? ตัวอย่างนี้พูดถึงข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและวิธีที่ข่าวสารนี้เปลี่ยนชีวิตคน ส่วนแป้ง “ทั้งก้อน” หมายถึงทุกประเทศ การที่เชื้อแพร่ออกไปเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นวิธีที่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแผ่ขยายออกไปซึ่งเป็นผลมาจากงานประกาศ ขณะที่การเติบโตของเมล็ดมัสตาร์ดเห็นได้ชัดเจน แต่ผลของเชื้อที่แพร่กระจายไปจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีผลเกิดขึ้นในภายหลัง

11. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ?

11 ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนี้? พระเยซูแสดงให้เห็นถึงพลังของข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่ไปถึง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก” และได้เปลี่ยนหัวใจของผู้คนจำนวนมาก (กิจ. 1:8) ทีแรกเราอาจยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น มีผู้คนจำนวนมากที่ตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและยอมให้ข่าวสารที่ทรงพลังนี้เปลี่ยนบุคลิกภาพของพวกเขา—โรม 12:2; เอเฟ. 4:22, 23

12, 13. ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่างานประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรเติบโตก้าวหน้าเหมือนเชื้ออย่างไร

12 บ่อยครั้ง หลังจากที่ผู้คนได้ยินข่าวดีก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเห็นผล ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปในปี 1982 ฟรานซ์กับมาร์กิต ซึ่งตอนนั้นรับใช้ที่เบเธลบราซิลได้ไปประกาศในหมู่บ้านเล็ก ๆ และได้เริ่มสอนคัมภีร์ไบเบิลให้กับนักศึกษาพระคัมภีร์หลายคน หนึ่งในนั้นคือแม่ที่มีลูกสี่คน ตอนนั้น ลูกชายคนโตของเธอเพิ่งจะอายุได้ 12 ขวบ เขาขี้อายมากและชอบไปหลบซ่อนตัวก่อนจะเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ แต่เนื่องจากฟรานซ์กับมาร์กิตได้รับงานมอบหมายใหม่ พวกเขาจึงมาสอนคัมภีร์ไบเบิลให้กับครอบครัวนี้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ 25 ปีหลังจากนั้น พวกเขาได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวนี้อีกครั้ง พวกเขาคงมีความสุขมากแน่ ๆ ที่ได้เห็นว่าที่นั่นมีประชาคม มีหอประชุมใหม่ มีผู้ประกาศถึง 69 คน มีไพโอเนียร์ประจำอีก 13 คน และจากเด็กขี้อายในวันก่อน ตอนนี้กลับกลายเป็นผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองของประชาคม! เช่นเดียวกับเชื้อที่พระเยซูใช้เป็นตัวอย่าง ข่าวสารราชอาณาจักรแพร่ออกไปและได้เปลี่ยนชีวิตของผู้คนมากมาย

13 พลังที่มองไม่เห็นของข่าวสารราชอาณาจักรยังได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการสั่งห้ามงานประกาศด้วย เรามักประหลาดใจที่รู้ว่าข่าวสารราชอาณาจักรแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในประเทศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ในปี 1910 ข่าวสารราชอาณาจักรไปถึงประเทศคิวบา และปี 1913 พี่น้องรัสเซลล์ได้ไปเยี่ยมเกาะนั้น ในช่วงแรกงานประกาศยังไม่ค่อยก้าวหน้า แต่ปัจจุบันเป็นอย่างไร? ตอนนี้ที่คิวบามีผู้ประกาศข่าวดีมากกว่า 96,000 คนและมีผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในปี 2013 มากถึง 229,726 คน นี่หมายความว่า 1 ใน 48 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ และแม้แต่ในประเทศที่ประกาศได้อย่างเสรี ข่าวสารราชอาณาจักรก็สามารถเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ที่แม้แต่พยานในท้องถิ่นนั้นก็ไม่คิดว่าจะไปถึง *ผู้ป. 8:7; 11:5

14, 15. (ก) เราได้รับประโยชน์เป็นส่วนตัวอย่างไรจากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ? (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

14 เราได้รับประโยชน์อะไรจากตัวอย่างเรื่องเชื้อ? เมื่อเราคิดใคร่ครวญถึงความหมายของตัวอย่างที่พระเยซูใช้ เรารู้ว่าเราไม่ต้องกังวลว่าข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรจะไปถึงผู้คนนับล้าน ๆ ที่ยังไม่ได้ยินข่าวสารนี้ได้อย่างไร พระยะโฮวาสามารถควบคุมทุกสิ่ง แต่หน้าที่ของเราคืออะไร? พระคัมภีร์บอกว่า “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้าเถอะ และพอเวลาเย็นจงวางมือของเจ้าไว้เถิด เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าการไหนจะจำเริญ จะการนี้หรือจะการนั้น หรือจะการทั้งสองจำเริญดีเหมือนกัน” (ผู้ป. 11:6) ดังนั้น เราต้องไม่ลืมอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้อวยพรงานประกาศเสมอ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการสั่งห้ามงานประกาศ—เอเฟ. 6:18-20

15 นอกจากนี้ เราไม่ควรท้อใจถ้างานประกาศของเราไม่เห็นผลในทันที เราไม่ควรดูถูก “วัน” ที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ (ซคา. 4:10) ในท้ายที่สุดผลที่เกิดขึ้นอาจจะดีกว่าและยอดเยี่ยมกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำ!—เพลง. 40:5; ซคา. 4:7

พ่อค้าเดินทางและทรัพย์ที่ซ่อนอยู่

16. ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องพ่อค้าเดินทางและทรัพย์ที่ซ่อนอยู่หมายความว่าอย่างไร?

16 อ่านมัดธาย 13:44-46 ตัวอย่างเรื่องพ่อค้าเดินทางและทรัพย์ที่ซ่อนอยู่หมายความว่าอย่างไร? ในสมัยของพระเยซู พ่อค้าบางคนเดินทางไกลมากเพื่อเสาะหาและซื้อไข่มุกเม็ดงามที่สุด พระเยซูใช้ “ไข่มุกมีค่ามากเม็ดหนึ่ง” เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับความจริงเรื่องราชอาณาจักรที่ล้ำค่า ส่วนพ่อค้าหมายถึงคนที่มีหัวใจดีและพยายามอย่างยิ่งที่จะแสวงหาความจริง พ่อค้าพร้อมจะขายทุกสิ่งที่เขามี “ทันที” เพื่อซื้อไข่มุกล้ำค่านั้น พระเยซูยังใช้ตัวอย่างเรื่องชายคนหนึ่งที่ทำงานในทุ่งนาและพบทรัพย์ที่ “ซ่อนอยู่” ชายคนนี้ไม่ได้เสาะแสวงหาทรัพย์เหมือนกับที่พ่อค้าทำ แต่เมื่อเขาเห็นคุณค่าทุ่งนานั้น เขาก็พร้อมจะขาย ‘ทุกสิ่งที่เขามี’ เพื่อซื้อทุ่งนานั้น

17. ทำไมพระเยซูยกตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องพ่อค้าเดินทางและทรัพย์ที่ซ่อนอยู่?

17 ทำไมพระเยซูใช้สองตัวอย่างนี้? พระเยซูทำให้รู้ว่าคนเราสามารถพบความจริงได้หลายวิธี บางคนแสวงหาและเสียสละทุกสิ่งเพื่อจะพบความจริง ส่วนบางคนถึงแม้ไม่ได้แสวงหาแต่เขาก็พบความจริงเพราะมีคนไปประกาศให้เขาฟัง ชายทั้งสองคนในตัวอย่างต่างก็รู้คุณค่าสิ่งที่เขาได้พบและพร้อมจะทำการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่เพื่อจะได้สิ่งนั้นมา

18. (ก) เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบสองเรื่องนี้? (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

18 เราได้รับประโยชน์อะไรจากสองตัวอย่างนี้? (มัด. 6:19-21) คุณอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันตีค่าความจริงเหมือนกับชายสองคนในตัวอย่างนี้ไหม? ฉันมองว่าความจริงเป็นเหมือนทรัพย์ที่มีค่าไหม? ฉันเต็มใจเสียสละสิ่งต่าง ๆ เพื่อความจริง หรือฉันยอมให้สิ่งอื่น ๆ เช่น ความกังวลเรื่องปากท้องมาทำให้ฉันไขว้เขวไหม?’ (มัด. 6:22-24, 33; ลูกา 5:27, 28; ฟิลิป. 3:8) ถ้าเรารักความจริงจากหัวใจ เราจะยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้ความจริงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตของเรา

19. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?

19 ขอเราแสดงให้เห็นว่าเราฟังและเข้าใจความหมายของตัวอย่างเหล่านี้จริง ๆ เราต้องจำไว้ว่าแค่เข้าใจความหมายของตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ยังไม่พอ แต่เราต้องนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ด้วย ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูอีกสามเรื่อง และมาดูกันว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้อีกจากตัวอย่างเหล่านั้น

^ วรรค 13 มีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้ในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา (หนังสือประจำปี 2001 [ภาษาอังกฤษ] หน้า 186) เยอรมนีตะวันออก (หนังสือประจำปี 1999 [ภาษาอังกฤษ] หน้า 83) ปาปัวนิวกินี (หนังสือประจำปี 2005 [ภาษาอังกฤษ] หน้า 63) และเกาะโรบินสัน ครูโซ (หอสังเกตการณ์ 15 มิถุนายน 2000 หน้า 9)