ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จดหมายเหตุของเรา

“ช่วงเวลาที่มีค่ามาก”

“ช่วงเวลาที่มีค่ามาก”

ในปี ค.ศ. 1870 ชาลส์ เทซ รัสเซลล์และคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในพิตส์เบิร์ก (เมืองแอลเลเกนี) รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาได้เริ่มศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ พวกเขาศึกษาเรื่องค่าไถ่ของพระคริสต์และไม่นานก็พบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระยะโฮวา พวกเขารู้สึกตื่นเต้นจริง ๆ ที่ได้รู้ว่าค่าไถ่เปิดโอกาสให้ได้รับความรอด แม้แต่กับคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องพระเยซูด้วยซ้ำ! การสำนึกบุญคุณในเรื่องนี้กระตุ้นพวกเขาให้ระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซูทุกปี—1 โค. 11:23-26

พี่น้องรัสเซลล์ได้เริ่มพิมพ์หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน เพื่อสนับสนุนคำสอนเกี่ยวกับค่าไถ่ว่าเป็นการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า หอสังเกตการณ์เรียกช่วงเวลาที่มีการระลึกถึงการเสียชีวิตของพระคริสต์ว่า “ช่วงเวลาที่มีค่ามาก” และกระตุ้นผู้อ่านให้เข้าร่วมประชุมไม่ว่าจะที่พิตส์เบิร์กหรือที่อื่น ๆ บทความนั้นบอกว่า “แม้จะมีคนที่มีความเชื่อแค่สองหรือสามคน” มาประชุมร่วมกันหรือแค่คนเดียวก็ “มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์” ได้

แต่ละปีมีคนมาที่พิตส์เบิร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ มีการกล่าวคำเชิญว่า “เรายินดีต้อนรับคุณอย่างอบอุ่น” ที่จริง นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลท้องถิ่นเต็มใจต้อนรับพี่น้องร่วมความเชื่อโดยให้พักที่บ้านและเลี้ยงอาหารพวกเขา ในปี 1886 มีการจัด “การประชุม” หลายวันในช่วงอนุสรณ์ วารสารหอสังเกตการณ์ กระตุ้นว่า “มาเถอะ ด้วยใจเต็มเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อนาย ต่อพี่น้อง และต่อความจริง”

แผนผังการส่งเครื่องหมายอนุสรณ์ที่ลอนดอนแทเบอร์นาเคิล

เป็นเวลาหลายปีที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในพิตส์เบิร์กเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอนุสรณ์สำหรับคนที่มีความเชื่อในค่าไถ่ เมื่อจำนวนนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มขึ้น จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ก็เพิ่มขึ้นด้วย เรย์ บอปป์จากประชาคมชิคาโกเล่าว่าในปี 1910 กว่าจะส่งผ่านเครื่องหมายอนุสรณ์จนครบทุกคนก็ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงเพราะมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนและส่วนใหญ่กินเครื่องหมายที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์

มีการใช้อะไรเป็นเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์? แม้จะสังเกตว่าพระเยซูใช้เหล้าองุ่นในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่มีครั้งหนึ่งที่หอสังเกตการณ์ แนะนำให้ใช้น้ำองุ่นสดหรือน้ำต้มจากองุ่นตากแห้งแทนเพื่อจะไม่ล่อใจคนที่ “กายอ่อนแอ” หรือคนที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ก็มีการเตรียมเหล้าองุ่นไว้ให้คนที่รู้สึกว่า “จำเป็นต้องใช้เหล้าองุ่น” ไม่ใช่แค่น้ำองุ่น ต่อมา นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เข้าใจว่า จริง ๆ แล้วต้องใช้เหล้าองุ่นแดงที่ไม่มีอะไรเจือปนเป็นสัญลักษณ์แทนเลือดของพระเยซูไม่ใช่น้ำองุ่น

กระดาษและดินสอนี้ถูกส่งต่อ ๆ กันจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งเพื่อบันทึกจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในคุกที่ประเทศนิการากัว

การประชุมอนุสรณ์เป็นโอกาสที่จะคิดอย่างจริงจังเรื่องการเสียชีวิตของพระเยซู ในบางประชาคม บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยความโศกเศร้า และเมื่อจบการประชุมทุกคนก็แยกย้ายกันไปโดยไม่พูดอะไรสักคำ แต่ในปี 1934 หนังสือพระยะโฮวา บอกว่า การประชุมอนุสรณ์ไม่ควรมีบรรยากาศ “โศกเศร้า” ถึงการเสียชีวิตอย่างเจ็บปวดทรมานของพระเยซู แต่ควร “ยินดี” ที่ท่านได้เป็นกษัตริย์แล้วตั้งแต่ปี 1914

ในปี 1957 พี่น้องประชุมอนุสรณ์ร่วมกันในแคมป์คนงานที่มอร์ดวีเนีย ประเทศรัสเซีย

ในปี 1935 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตของผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ เพราะมีความเข้าใจความหมายในวิวรณ์ 7:9 ที่พูดถึง “คนมากมาย” (ฉบับคิงเจมส์ ) หรือ “ชนฝูงใหญ่” ชัดเจนมากขึ้น ก่อนหน้านั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วแต่ไม่ค่อยกระตือรือร้น แต่ในปีนั้นเอง มีการระบุว่าชนฝูงใหญ่เป็นผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ที่มีความหวังจะมีชีวิตบนโลกที่เป็นอุทยาน เมื่อเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น บางคนได้ตรวจสอบตัวเองอย่างถี่ถ้วน เช่น พี่น้องรัสเซลล์ พ็อกเกนซียอมรับว่า “ผมไม่เคยรู้สึกว่าพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวากระตุ้นผมให้มีความหวังที่จะไปสวรรค์เลย” ดังนั้น พี่น้องพ็อกเกนซีและคนอื่น ๆ ที่ภักดีเหมือนเขาได้เลิกกินเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์แต่ก็ยังเข้าร่วมการประชุมนี้ทุกปี

ใน “ช่วงเวลาที่มีค่ามาก” นี้มีการสนับสนุนให้ร่วมการประกาศแบบพิเศษ ซึ่งเป็นโอกาสที่หลายคนจะแสดงว่าเขาเห็นคุณค่าของค่าไถ่ ในปี 1932 จดหมายข่าว กระตุ้นคริสเตียนไม่ให้เป็น “นักบุญในวันอนุสรณ์” ซึ่งก็คือคนที่กินเครื่องหมายแต่ไม่ได้เป็น “คนงาน” ที่ประกาศข่าวสารแห่งความจริง ในปี 1934 จดหมายข่าว สนับสนุนพี่น้องให้สมัครเป็น “ไพโอเนียร์สมทบ” โดยถามว่า “พี่น้องจะสมัครเป็นไพโอเนียร์สมทบ 1,000 คนในช่วงการประชุมอนุสรณ์ได้ไหม?” ใบแจ้งข่าว บอกว่า “ผู้ถูกเจิมจะมีความยินดีอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อพวกเขาบอกเรื่องราชอาณาจักรเท่านั้น” และถ้าคนที่มีความหวังที่จะอยู่บนโลกทำอย่างเดียวกันเขาก็จะมีความยินดีด้วย *

ฮาร์โรลด์ คิงแต่งบทกลอนและเพลงเกี่ยวกับวันอนุสรณ์ตอนที่ถูกขังเดี่ยว

สำหรับผู้นมัสการพระยะโฮวาทุกคน การประชุมอนุสรณ์เป็นคืนศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปี พวกเขาเข้าร่วมการประชุมนี้ไม่ว่าสภาพการณ์จะยากลำบากแค่ไหน เช่น ในปี 1930 พี่น้องเพิร์ล อิงลิชกับน้องสาวชื่อออราเดินประมาณ 80 กิโลเมตรเพื่อเข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ อีกคนหนึ่งคือฮาโรลด์ คิงซึ่งเป็นมิชชันนารีที่ถูกขังเดี่ยวที่ประเทศจีนได้เขียนบทกลอนและเพลงเกี่ยวกับวันอนุสรณ์ เขาทำเครื่องหมายที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์จากลูกแบล็คเคอร์แรนท์ (ลักษณะคล้ายองุ่นสีดำ) และข้าว นอกจากนั้น คริสเตียนหลายคนในยุโรปตะวันออก อเมริกากลาง รวมถึงแอฟริกาได้แสดงความกล้าหาญโดยเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์แม้จะเผชิญกับสงครามหรือถูกสั่งห้าม ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือสภาพการณ์จะเป็นอย่างไร เราก็จะร่วมกันเพื่อให้เกียรติพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์โดยเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากอย่างแท้จริง

^ วรรค 10 จดหมายข่าว ซึ่งต่อมาเรียกว่าใบแจ้งข่าว ปัจจุบันเรียกว่างานรับใช้พระเจ้า