ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ให้เราเลียนแบบความกล้าหาญและความเข้าใจลึกซึ้งของพระเยซู

ให้เราเลียนแบบความกล้าหาญและความเข้าใจลึกซึ้งของพระเยซู

“แม้ท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นพระองค์ แต่พวกท่านก็รักพระองค์ แม้ท่านทั้งหลายไม่เห็นพระองค์เดี๋ยวนี้ แต่พวกท่านก็แสดงความเชื่อในพระองค์”—1 เป. 1:8

1, 2. (ก) เราจะได้รับชีวิตตลอดไปได้อย่างไร? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ยังคงจดจ่ออยู่กับการเดินทางของเรา?

การเป็นคริสเตียนเหมือนกับการเดินทาง เมื่อเรารักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจะช่วยให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางและได้ชีวิตตลอดไป พระเยซูบอกว่า “ผู้ที่เพียรอดทนจนถึงที่สุดจะได้รับการช่วยให้รอด” (มัด. 24:13) ใช่แล้ว เพื่อจะถึงจุดหมายปลายทางเราต้องรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนถึง “ที่สุด” คือจนกระทั่งเราเสียชีวิต หรือระบบชั่วนี้ถึงจุดจบ และเราต้องระวังไม่ให้โลกนี้ทำให้เราวอกแวก (1 โย. 2:15-17) เราจะยังคงจดจ่อกับการเดินทางของเราได้อย่างไร?

2 พระเยซูวางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมไว้ให้เรา เมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการเดินทางของพระเยซูซึ่งก็คือการดำเนินชีวิตของท่าน เราก็จะรู้ว่าท่านเป็นคนอย่างไร และนั่นจะทำให้เรามีความรักและความเชื่อในพระเยซู (อ่าน 1 เปโตร 1:8, 9) อัครสาวกเปโตรบอกว่าพระเยซูวางตัวอย่างให้เราเพื่อเราจะติดตามท่านอย่างใกล้ชิด (1 เป. 2:21) และถ้าเราเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูอย่างใกล้ชิดเราก็จะสามารถอดทนจนถึงที่สุดได้ * ในบทความที่แล้ว เราได้เรียนรู้วิธีเลียนแบบพระเยซูเรื่องความถ่อมและความเมตตาสงสาร ในบทความนี้ เราจะเรียนรู้วิธีเลียนแบบพระเยซูเรื่องความกล้าหาญและความเข้าใจลึกซึ้ง

พระเยซูเป็นคนกล้าหาญ

3. ความกล้าหาญคืออะไร? และเราจะมีความกล้าหาญได้อย่างไร?

3 ความกล้าหาญเป็นความรู้สึกที่ช่วยเสริมกำลังเราและช่วยให้อดทนกับความยากลำบากต่าง ๆ ความกล้าหาญยังช่วยเราให้ปกป้องสิ่งที่ถูกต้องด้วย เมื่อเราเจอปัญหา ความกล้าหาญจะช่วยให้เราสงบเยือกเย็นและยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้ นอกจากนั้น ความกล้าหาญเกี่ยวข้องกับความเกรงกลัว ความหวัง และความรัก นั่นเป็นไปได้อย่างไร? ถ้าเรากลัว ว่าจะทำให้พระเจ้าเสียใจ เราก็จะไม่ปล่อยให้ความกลัวมนุษย์มาครอบงำเรา (1 ซามู. 11:7; สุภา. 29:25) ความหวัง ในพระยะโฮวาจะช่วยเราจดจ่อกับอนาคตแทนที่จะจดจ่อกับความยากลำบากที่เราเผชิญ (เพลง. 27:14) ความรัก แบบไม่เห็นแก่ตัวจะกระตุ้นเราให้แสดงความกล้าหาญแม้จะถูกข่มเหงก็ตาม (โย. 15:13) เรามีความกล้าหาญได้โดยวางใจพระยะโฮวาและเลียนแบบพระเยซู—เพลง. 28:7

4. พระเยซูแสดงความกล้าหาญในพระวิหารอย่างไร? (ดูภาพแรก)

4 ตอนที่พระเยซูอายุ 12 ปี ท่านแสดงความกล้าหาญเมื่อ “นั่งอยู่ในพระวิหารท่ามกลางพวกอาจารย์” (อ่านลูกา 2:41-47) พวกอาจารย์ที่สอนศาสนารู้กฎหมายของโมเซเป็นอย่างดีและพวกเขายังรู้ธรรมเนียมของชาวยิวด้วย ธรรมเนียมเหล่านั้นทำให้การเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าเป็นเรื่องยาก แต่พระเยซูไม่ได้กลัวที่พวกเขามีความรู้มากจนไม่กล้าพูดอะไร ที่จริง ท่าน “ซักถามพวกเขา” หลายเรื่อง แน่นอนว่าพระเยซูไม่ได้ถามคำถามแบบเด็ก ๆ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านถามคำถามที่ลึกซึ้งจนทำให้พวกอาจารย์ต้องหันมาสนใจและขบคิด แม้พวกอาจารย์จะพยายามใช้เล่ห์เหลี่ยมกับพระเยซูโดยใช้คำถามที่อาจทำให้เกิดการโต้เถียง แต่พวกเขาทำไม่สำเร็จ ที่จริง ผู้ฟังเหล่านั้นรวมทั้งอาจารย์รู้สึกทึ่ง ‘ในความเข้าใจและคำตอบของท่าน’ ใช่แล้ว พระเยซูปกป้องความจริงที่อยู่ในพระคำของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ!

5. ในช่วงที่ทำงานรับใช้ พระเยซูแสดงความกล้าหาญในวิธีใดบ้าง?

5 ในช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้ ท่านแสดงความกล้าหาญในวิธีต่าง ๆ เช่น ท่านทำให้ประชาชนเห็นว่าผู้นำศาสนาได้พาพวกเขาไปผิดทางด้วยคำสอนผิด ๆ (มัด. 23:13-36) ท่านไม่ยอมให้อิทธิพลของโลกเอาชนะท่านได้ (โย. 16:33) ท่านประกาศต่อ ๆ ไปแม้เจอการต่อต้าน (โย. 5:15-18; 7:14) และท่านชำระพระวิหารอย่างกล้าหาญถึงสองครั้งโดยขับไล่คนที่ทำให้การนมัสการแท้แปดเปื้อน—มัด. 21:12, 13; โย. 2:14-17

6. พระเยซูแสดงความกล้าหาญในวันสุดท้ายที่ท่านมีชีวิตบนโลกอย่างไร?

6 ให้เรามาดูว่าพระเยซูแสดงความกล้าหาญในวันสุดท้ายที่มีชีวิตบนโลกอย่างไร พระเยซูรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อยูดาทรยศท่าน ตอนที่กินอาหารในวันปัศคา ท่านบอกยูดาว่า “เจ้าจะทำอะไรก็รีบทำเสีย” (โย. 13:21-27) ต่อมา ตอนที่พวกทหารจะมาจับพระเยซูในสวนเกทเซมาเนท่านก็แสดงตัวด้วยความกล้าหาญ แม้ว่าชีวิตของท่านจะตกอยู่ในอันตรายแต่ท่านก็ปกป้องเหล่าสาวกโดยบอกพวกทหารว่า “ปล่อยคนเหล่านี้ไปเถิด” (โย. 18:1-8) และเมื่อถูกซักถามจากศาลสูงของชาวยิว พระเยซูก็บอกพวกเขาอย่างกล้าหาญว่าท่านคือพระคริสต์ลูกของพระเจ้า พระเยซูไม่กลัวแม้รู้ว่ามหาปุโรหิตหาทางจะฆ่าท่าน (มโก. 14:60-65) พระเยซูยังคงรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแม้จะต้องตายบนเสาทรมาน เมื่อสูดลมหายใจเฮือกสุดท้ายท่านร้องออกมาว่า “สำเร็จแล้ว!”—โย. 19:28-30

เลียนแบบความกล้าหาญของพระเยซู

7. เยาวชนทั้งหลาย คุณรู้สึกอย่างไรที่เป็นพยานพระยะโฮวา และคุณจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าคุณเป็นคนกล้าหาญ?

7 เราจะเลียนแบบความกล้าหาญของพระเยซูได้อย่างไร? ที่โรงเรียน เยาวชนทั้งหลาย คุณเป็นคนกล้าหาญเมื่อคุณบอกเพื่อน ๆ และคนอื่นว่าคุณเป็นพยานพระยะโฮวา โดยวิธีนี้คุณแสดงว่าคุณภูมิใจที่ถูกเรียกตามชื่อของพระยะโฮวา แม้ว่านั่นจะทำให้คนอื่นหัวเราะเยาะคุณก็ตาม (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 86:12) บางคนอาจอยากให้คุณเชื่อเรื่องวิวัฒนาการ แต่ขอให้คุณมั่นใจว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเกี่ยวกับการสร้างเป็นความจริง คุณสามารถใช้จุลสารต้นกำเนิดชีวิต—ห้าคำถามที่น่าคิด เพื่อตอบคนที่อยากรู้ว่า ‘ทำไมคุณหวังอย่างนั้น’ (1 เป. 3:15) แล้วคุณจะรู้สึกยินดีที่ได้ปกป้องความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอย่างกล้าหาญ!

8. ทำไมเราจึงประกาศด้วยความกล้าหาญ?

8 ในงานรับใช้ของเรา ในฐานะคริสเตียนแท้เราจำเป็นต้อง “พูดด้วยความกล้าหาญโดยอำนาจจากพระยะโฮวา” ต่อ ๆ ไป (กิจ. 14:3) ทำไมเราจึงประกาศด้วยความกล้าหาญ? อย่างแรก เรื่องที่เราประกาศเป็นความจริงจากคัมภีร์ไบเบิล (โย. 17:17) อย่างที่สอง “เราเป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า” พระองค์จึงให้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อช่วยเรา (1 โค. 3:9; กิจ. 4:31) อย่างที่สาม เรารักพระยะโฮวาและคนอื่น ๆ ดังนั้น เราจึงถูกกระตุ้นให้บอกข่าวดีแก่ผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (มัด. 22:37-39) เพราะเรากล้าหาญเราจึงไม่หยุดประกาศ และเราตั้งใจที่จะสอนความจริงให้กับคนที่ถูกผู้นำศาสนาหลอกลวง (2 โค. 4:4) และเราจะประกาศข่าวดีต่อไปแม้ว่าจะมีคนปฏิเสธข่าวสารหรือต่อต้านเราก็ตาม—1 เทส. 2:1, 2

9. เราจะแสดงความกล้าหาญเมื่อเจอความทุกข์ยากได้อย่างไร?

9 เมื่อเจอความทุกข์ยาก ถ้าเราวางใจพระยะโฮวา พระองค์จะให้เรามีความเชื่อและความกล้าหาญเพื่อจะอดทนต่อความยากลำบากได้ เมื่อคนที่เรารักตายจากไป เราโศกเศร้าเสียใจแต่เราก็ไม่หมดหวัง เรามั่นใจว่า “พระเจ้าผู้ประทานกำลังใจทุกประการ” จะให้กำลังเรา (2 โค. 1:3, 4, ฉบับคาทอลิก; 1 เทส. 4:13) เมื่อเราเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บเราอาจทุกข์ทรมาน แต่เราจะไม่ยอมรับการรักษาใด ๆ ที่พระเจ้าไม่ชอบ (กิจ. 15:28, 29) ถ้าเราตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและแม้ “ใจเราจะกล่าวโทษตนเอง” เราก็จะไม่ยอมแพ้เพราะเราวางใจพระยะโฮวาผู้ “อยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ” *1 โย. 3:19, 20; เพลง. 34:18

พระเยซูเป็นคนมีความเข้าใจลึกซึ้ง

10. ความเข้าใจลึกซึ้งคืออะไร และคริสเตียนที่มีความเข้าใจลึกซึ้งจะพูดและทำอย่างไร?

10 ความเข้าใจลึกซึ้งคือความสามารถในการเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด จากนั้นก็เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง (ฮีบรู 5:14) เมื่อต้องตัดสินใจ คริสเตียนที่มีความเข้าใจลึกซึ้งจะคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าก่อน เขาจะระวังไม่ใช้คำพูดที่ทำให้คนอื่นเจ็บใจ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาจะเลือกคำพูดที่เสริมสร้างซึ่งจะทำให้พระเจ้าพอใจ (สุภา. 11:12, 13) เขาจะ “โกรธช้า” (สุภา. 14:29, ฉบับคิงเจมส์ ) เขาจะ “รักษาทางของตนให้ตรง” นั่นคือ ทำการตัดสินใจที่ถูกต้องตลอดชีวิตของเขา (สุภา. 15:21, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) อะไรจะช่วยเราให้เป็นคนที่มีความเข้าใจลึกซึ้ง? เราต้องศึกษาพระคำของพระเจ้าและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ (สุภา. 2:1-5, 10, 11) นอกจากนั้น เราสามารถศึกษาและเลียนแบบตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของพระเยซูในเรื่องการมีความเข้าใจลึกซึ้งได้ด้วย

11. พระเยซูแสดงความเข้าใจลึกซึ้งในวิธีที่ท่านพูดอย่างไร?

11 พระเยซูแสดงความเข้าใจลึกซึ้งในวิธีที่ท่านพูดและทำ วิธีที่ท่านพูด เมื่อพระเยซูประกาศข่าวดี ท่านใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกทึ่ง (มัด. 7:28; ลูกา 4:22) ท่านอ่านและอ้างถึงพระคำของพระเจ้าเสมอ ท่านรู้ว่าจะใช้พระคัมภีร์ข้อไหนให้เหมาะกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (มัด. 4:4, 7, 10; 12:1-5; ลูกา 4:16-21) นอกจากนั้น พระเยซูยังอธิบายพระคัมภีร์ในวิธีที่กระตุ้นใจผู้ฟัง เช่น หลังจากที่พระเยซูฟื้นจากตาย ท่านได้พูดกับสาวกสองคนที่กำลังเดินทางไปหมู่บ้านเอ็มมาอุส โดย ‘อธิบายเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับท่านซึ่งมีบอกไว้ในพระคัมภีร์ให้พวกเขาฟัง’ เมื่อสาวกทั้งสองได้ฟัง พวกเขาบอกว่า ‘ใจของพวกเราเร่าร้อนไม่ใช่หรือตอนที่ท่านพูดกับพวกเราตามทาง และตอนที่ท่านชี้แจงให้พวกเราเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน?’—ลูกา 24:27, 32

12, 13. ตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระเยซูเป็นคนโกรธช้าและมีเหตุผล?

12 ในด้านอารมณ์และวิธีมองเรื่องต่าง ๆ ความเข้าใจลึกซึ้งทำให้พระเยซู “โกรธช้า” (สุภา. 16:32) ท่านจึงสามารถควบคุมอารมณ์ได้ และเป็นคน “อ่อนโยน” (มัด. 11:29) ท่านอดทนกับสาวกเสมอแม้ว่าพวกเขาจะทำผิดพลาดหลายครั้ง (มโก. 14:34-38; ลูกา 22:24-27) และท่านยังคงรักษาความสงบเยือกเย็นไว้ได้แม้คนอื่นจะทำไม่ดีต่อท่าน—1 เป. 2:23

13 ความเข้าใจลึกซึ้งช่วยพระเยซูให้เป็นคนมีเหตุผล ท่านเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของกฎหมายของโมเซ นั่นส่งผลต่อวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อคนอื่น ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ “มีอาการตกเลือด” (อ่านมาระโก 5:25-34) เธอเดินฝ่าฝูงชนเข้ามาแตะเสื้อของพระเยซูแล้วเธอก็หายโรค แต่ตามกฎหมายของโมเซเธอเป็นคนไม่สะอาด ดังนั้น เธอไม่ควรแตะต้องคนอื่น (เลวี. 15:25-27) แต่พระเยซูไม่ได้ต่อว่าและไล่เธอ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูแสดง “ความเมตตาและความซื่อสัตย์” เพราะท่านเข้าใจว่าคุณลักษณะทั้งสองอย่างนี้สำคัญกว่าการยึดตามตัวบทกฎหมาย (มัด. 23:23) พระเยซูพูดอย่างกรุณาว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของเจ้าทำให้เจ้าหายโรค จงไปอย่างมีความสุขและหายจากอาการป่วยที่ทำให้เจ้าเป็นทุกข์เถิด” ความเข้าใจลึกซึ้งกระตุ้นพระเยซูให้แสดงความกรุณา ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริง ๆ!

14. พระเยซูเลือกอะไรเป็นงานหลัก และท่านทำอย่างไรเพื่อจะทุ่มเทเวลาและกำลังในงานรับใช้?

14 วิธีที่ท่านใช้ชีวิต พระเยซูแสดงให้เห็นว่าท่านมีความเข้าใจลึกซึ้งโดยวิธีที่ท่านใช้ชีวิต ท่านเลือกเอางานรับใช้เป็นงานหลัก (ลูกา 4:43) การตัดสินใจเลือกอย่างนั้นช่วยให้ท่านจดจ่ออยู่กับงานมอบหมายและทำงานจนสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายจึงสามารถทุ่มเทเวลาและกำลังในงานรับใช้ได้อย่างเต็มที่ (ลูกา 9:58) ท่านรู้ว่าจำเป็นต้องฝึกอบรมคนอื่นให้สานต่องานประกาศหลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว (ลูกา 10:1-12; โย. 14:12) และท่านสัญญากับเหล่าสาวกว่าท่านจะช่วยพวกเขาในงานรับใช้ “จนถึงช่วงสุดท้ายของยุค”—มัด. 28:19, 20

เลียนแบบความเข้าใจลึกซึ้งของพระเยซู

เราจะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นต้องการและสนใจเรื่องอะไร จากนั้นเราก็เลือกคำพูดให้เหมาะกับเขา (ดูข้อ 15)

15. เราจะแสดงความเข้าใจลึกซึ้งในวิธีที่เราพูดได้อย่างไร?

15 เราจะเลียนแบบความเข้าใจลึกซึ้งของพระเยซูได้อย่างไร? วิธีที่เราพูด เมื่อเราพูดกับพี่น้องในประชาคม เราต้องพูดให้กำลังใจแทนที่จะพูดให้พวกเขาท้อใจ (เอเฟ. 4:29) เมื่อเราบอกคนอื่นเกี่ยวกับรัฐบาลของพระเจ้า คำพูดของเราควร “ปรุงด้วยเกลือ” นั่นคือ เราควรพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา (โกโล. 4:6) เราจะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นต้องการและสนใจเรื่องอะไร จากนั้นเราก็เลือกคำพูดให้เหมาะกับเขา ถ้าเราใช้คำพูดที่กรุณา คนอื่น ๆ อาจอยากฟังเราและข่าวสารที่เราบอกอาจดึงดูดใจพวกเขา นอกจากนั้น เมื่อเราอธิบายความเชื่อของเรา เราจะพยายามอ่านจากคัมภีร์ไบเบิล เพราะคำของพระเจ้ามีพลังมากกว่าคำพูดใด ๆ ของเรา—ฮีบรู 4:12

16, 17. (ก) เราจะแสดงอย่างไรว่าเราเป็นคนช้าในการโกรธและมีเหตุผล? (ข) เราจะจดจ่ออยู่กับงานรับใช้ของเราได้อย่างไร?

16 ในด้านอารมณ์และวิธีมองเรื่องต่าง ๆ ของเรา ความเข้าใจลึกซึ้งจะช่วยเราให้ควบคุมอารมณ์เมื่อเจอความกดดันและช่วยเราให้ “ช้าในการโกรธ” (ยโก. 1:19) เมื่อคนอื่นทำให้เราโกรธ เราจะพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาพูดหรือทำแบบนั้น นั่นทำให้ง่ายขึ้นที่เราจะให้อภัยและไม่โกรธพวกเขา (สุภา. 19:11) ความเข้าใจลึกซึ้งยังช่วยเราให้เป็นคนมีเหตุผลด้วย เราเข้าใจว่าพี่น้องก็ทำผิดพลาดได้ เราต้องจำไว้ว่าพวกเขาอาจมีปัญหาที่เราไม่รู้ ดังนั้น เราควรเต็มใจฟังความคิดเห็นของพวกเขาและเป็นฝ่ายยอมถ้าเห็นว่าเหมาะสม เราจะไม่ยืนกรานให้คนอื่นทำตามวิธีของเรา—ฟิลิป. 4:5

17 วิธีที่เราใช้ชีวิต เรารู้ว่าการประกาศข่าวดีเป็นเกียรติสูงสุดที่เราจะมีได้ ดังนั้น เราอยากเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ช่วยให้เรารับใช้ได้เต็มที่ เราเลือกที่จะให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต นอกจากนั้น เราจะใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อทุ่มเทเวลาและกำลังในการประกาศข่าวดีก่อนอวสานจะมาถึง—มัด. 6:33; 24:14

18. เราจะคงอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ต่อ ๆ ไปได้อย่างไร และคุณตั้งใจจะทำอะไร?

18 เรามีความสุขจริง ๆ ที่ได้เรียนรู้คุณลักษณะที่ดีเยี่ยมบางอย่างของพระเยซู ลองคิดดูสิว่า ถ้าได้เรียนรู้คุณลักษณะอื่น ๆ ของพระเยซูและพยายามเป็นเหมือนท่านมากขึ้น เราจะได้ประโยชน์มากขนาดไหน ดังนั้น ขอให้เราตั้งใจเลียนแบบพระเยซูให้มากที่สุด เมื่อทำอย่างนั้น เราจะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้นและจะยังคงอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ต่อ ๆ ไป

^ วรรค 2 แม้ข้อความใน 1 เปโตร 1:8, 9 เขียนถึงคริสเตียนที่มีความหวังในสวรรค์ แต่ข้อความนั้นก็ใช้ได้กับคริสเตียนที่มีความหวังบนโลกด้วย

^ วรรค 9 สำหรับตัวอย่างของคนที่แสดงความกล้าหาญเมื่อเจอกับความทุกข์ยากโปรดดูหอสังเกตการณ์ 1 ธันวาคม 2000 หน้า 24-28 และตื่นเถิด! 8 พฤษภาคม 2003 หน้า 18-21 และ 8 กุมภาพันธ์ 1995 หน้า 11-15