ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รักษาความภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าเสมอ

รักษาความภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าเสมอ

“พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก”—โย. 17:16

เพลง 63, 129

1, 2. (ก) ทำไมผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นกลางและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนแตกแยก? (ดูภาพแรก) (ข) หลายคนภักดีต่ออะไรบ้าง และนั่นทำให้เกิดผลอย่างไร?

ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเป็นกลางและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนแตกแยก เช่น เรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือวัฒนธรรม เพราะอะไร? เพราะเรารัก ภักดี และเชื่อฟังพระยะโฮวา (1 โย. 5:3) ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือมาจากไหนเราทำตามมาตรฐานของพระเจ้า การภักดีต่อพระยะโฮวาและรัฐบาลของพระองค์เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าสิ่งอื่น (มัด. 6:33) ด้วยเหตุนี้ เราจึงพูดได้เต็มปากว่าเรา “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก”—อ่านโยฮัน 17:11, 15, 16; ยซา. 2:4

2 หลายคนในทุกวันนี้ภักดีต่อประเทศ วัฒนธรรม บ้านเกิด หรือแม้แต่ทีมกีฬาที่พวกเขาชอบ น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนชิงดีชิงเด่นกัน เกลียดชังกัน และบางครั้งถึงกับฆ่าคนที่ภักดีหรือสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม แม้เราไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้แต่เราและครอบครัวก็ได้รับผลกระทบและเราอาจเจอกับความไม่ยุติธรรมอย่างเลวร้าย นอกจากนั้น อาจเป็นเรื่องง่ายที่เราจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านถ้าเห็นว่ารัฐบาลตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมเพราะพระเจ้าสร้างเราให้มีความสามารถที่จะแยกออกว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม (เย. 1:27; บัญ. 32:4) คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นความไม่ยุติธรรม? คุณจะยังคงรักษาความเป็นกลางไหมหรือจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง?

3, 4. (ก) ทำไมเราไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?

3 เมื่อเกิดความขัดแย้งกัน หลายคนมักจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะรัฐบาลต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเชื่อว่าการทำอย่างนี้เป็นหน้าที่ของพลเมืองดี แต่เราติดตามพระเยซู เราจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองและการสู้รบ (มัด. 26:52) คริสเตียนแท้ไม่ได้คิดว่าส่วนหนึ่งของโลกซาตานดีกว่าอีกส่วนหนึ่ง (2 โค. 2:11) ดังนั้น เราจึงไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่าง ๆ ของโลกนี้—อ่านโยฮัน 15:18, 19

4 เนื่องจากเราเป็นคนผิดบาป พวกเราบางคนอาจยังมีความรู้สึกในแง่ลบกับคนที่ต่างจากเรา (ยิระ. 17:9; เอเฟ. 4:22-24) ในบทความนี้ เราจะเรียนหลักการต่าง ๆ ที่ช่วยเราให้ต้านทานและขจัดความรู้สึกที่ทำให้ผู้คนแตกแยกกัน นอกจากนั้น เราจะเรียนวิธีที่ช่วยให้ภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าโดยฝึกตัวเองให้คิดเหมือนกับพระยะโฮวาและพระเยซู

เหตุผลที่เราไม่สนับสนุนส่วนต่าง ๆ ของโลก

5, 6. ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลกท่านมองผู้คนที่มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไม?

5 ถ้าคุณรู้สึกว่ายากที่จะรักษาความเป็นกลางและไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขอให้ถามตัวเองว่า ‘พระเยซูทำอย่างไรในเรื่องนี้?’ ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลกมีความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้คนจากแคว้นยูเดีย แกลิลี และซะมาเรีย เช่น คนยิวและคนซะมาเรียไม่พูดคุยกัน (โย. 4:9) พวกฟาริซายและพวกซาดูกายมีความเห็นต่างกันหลายเรื่อง (กิจ. 23:6-9) คนยิวที่เรียนกฎหมายของโมเซคิดว่าพวกเขาดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียน (โย. 7:49) หลายคนเกลียดคนเก็บภาษีและคนโรมัน (มัด. 9:11) แต่พระเยซูไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเหล่านั้น แม้ท่านปกป้องความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวาเสมอและรู้ว่าชาติอิสราเอลเป็นชาติพิเศษของพระเจ้า แต่ท่านก็ไม่เคยสอนเหล่าสาวกให้ถือว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น (โย. 4:22) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านสอนพวกเขาให้รักทุกคน—ลูกา 10:27

6 ทำไมพระเยซูไม่ได้มองว่าคนกลุ่มหนึ่งเหนือกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง? เพราะนี่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ท่านและพระยะโฮวาพ่อของท่านมีต่อผู้คน พระยะโฮวาสร้างมนุษย์เพื่อจะให้โลกเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ (เย. 1:27, 28) พระยะโฮวาและพระเยซูมองว่าคนทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเชื้อชาติ และทุกภาษาดีเหมือนกัน (กิจ. 10:34, 35; วิ. 7:9, 13, 14) ดังนั้น เราต้องทำตามตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาและพระเยซู—มัด. 5:43-48

7, 8. (ก) เราสนับสนุนใครและทำไม? (ข) รัฐบาลของใครเท่านั้นที่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้?

7 ทำไมเราไม่สนับสนุนรัฐบาลและผู้นำที่เป็นมนุษย์ให้ปกครองเรา? เพราะเราสนับสนุนพระยะโฮวา เราให้พระองค์เป็นผู้ปกครองเรา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนเอเดน ซาตานบอกว่าพระยะโฮวาไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ซาตานอยากให้มนุษย์เชื่อว่าวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ของมันดีกว่าวิธีของพระเจ้า ที่จริง พระยะโฮวาให้เราตัดสินใจเองว่าจะเลือกสนับสนุนใคร แล้วคุณล่ะ? คุณเชื่อฟังพระยะโฮวาเพราะคุณเชื่อว่าวิธีของพระองค์ดีกว่าวิธีของคุณไหม? คุณมั่นใจไหมว่ารัฐบาลของพระองค์เท่านั้นที่แก้ปัญหาของเราได้? หรือคุณคิดว่าผู้คนสามารถปกครองตัวเองได้สำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า?—เย. 3:4, 5

8 เพื่อเป็นตัวอย่าง สมมุติมีคนถามคุณว่า คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับพรรคการเมือง กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ หรือองค์การอื่น ๆ ทำนองนี้ คุณจะตอบอย่างไร? แม้บางกลุ่มอาจมีความจริงใจและอยากช่วยผู้คนจริง ๆ แต่เรารู้ดีว่ารัฐบาลของพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์และทำให้ความไม่ยุติธรรมหมดไปได้ นอกจากนั้น เรายังทำตามการชี้นำของพระยะโฮวาผ่านทางประชาคมแทนที่จะให้แต่ละคนทำในสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด การทำอย่างนี้ทำให้ประชาคมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

9. มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรก และพวกเขาต้องทำอะไร?

9 ในศตวรรษแรก คริสเตียนบางคนในเมืองโครินท์โต้เถียงกันว่า “‘ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล’ ‘ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อะโปลโลส’ ‘ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เกฟา’ ‘ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์’” เมื่อเปาโลรู้เรื่องนี้เขาตกใจมาก เพราะนี่เป็นปัญหาร้ายแรงที่ทำให้ความสงบสุขของประชาคมตกอยู่ในอันตราย พี่น้องในเมืองโครินท์กำลังทำให้ “พระคริสต์ถูกแบ่ง” ดังนั้น เปาโลจึงแนะนำพวกเขาว่า “ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนพวกท่านในนามพระเยซูคริสต์เจ้าของเราว่า พวกท่านทุกคนควรพูดให้สอดคล้องกันและอย่าแตกแยกกัน แต่ให้มีจิตใจและแนวความคิดอย่างเดียวกัน” ทุกวันนี้ ความแตกแยกก็ไม่ควรมีในประชาคม—1 โค. 1:10-13; อ่านโรม 16:17, 18

10. เปาโลเตือนคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่าอย่างไร และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

10 เปาโลเตือนพี่น้องคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่าพวกเขาเป็นพลเมืองในสวรรค์และไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับ ‘สิ่งของในโลก’ (ฟิลิป. 3:17-20) * ผู้ถูกเจิมเป็นทูตหรือตัวแทนของพระเจ้าและพระคริสต์ เมื่อทูตประจำอยู่ในต่างประเทศ เขาจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาและการเมืองของประเทศนั้น คล้ายกัน ผู้ถูกเจิมก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาและการเมืองของโลก (2 โค. 5:20) คนที่มีความหวังจะอยู่บนโลกตลอดไปก็จะภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของโลกนี้เหมือนกัน

ฝึกตัวเองให้ภักดีต่อรัฐบาลของพระยะโฮวา

11, 12. (ก) ถ้าเราอยากภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าเราไม่ควรมีความรู้สึกแบบไหน? (ข) พี่น้องหญิงคนหนึ่งรู้สึกอย่างไรกับคนบางกลุ่ม และอะไรช่วยเธอให้ขจัดความรู้สึกนั้นออกไป?

11 ผู้คนในหลายส่วนของโลกรู้สึกพิเศษกับคนที่มีประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม และภาษาเหมือนกับพวกเขา พวกเขามักจะภูมิใจมากเกี่ยวกับบ้านเกิดของพวกเขา แต่เราต้องไม่ยอมให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและต้องฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราเพื่อจะรักษาความเป็นกลางในทุกสถานการณ์ ซึ่งเราสามารถทำอย่างนั้นได้

12 ตัวอย่างเช่น มีร์เยตา * ซึ่งเกิดในประเทศที่เมื่อก่อนเรียกว่ายูโกสลาเวีย ในเมืองที่เธออยู่ ผู้คนเกลียดคนเซอร์เบีย แต่พอเธอเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวา เธอก็รู้ว่าพระองค์ไม่ได้ชอบเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ไหนเป็นพิเศษและรู้ว่าซาตานต่างหากที่อยากให้ผู้คนเกลียดกัน เธอจึงพยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนความรู้สึกในเรื่องนี้ แต่เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เธออยู่ มีร์เยตาก็กลับมีความรู้สึกในแง่ลบกับคนเซอร์เบียอีก เธอถึงกับไม่อยากประกาศกับพวกเขา เธอรู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เธอจึงอ้อนวอนพระยะโฮวาให้ช่วยเธอขจัดความรู้สึกแบบนั้นและขอพระองค์ช่วยเธอให้เป็นไพโอเนียร์ได้ มีร์เยตาพูดว่า “ฉันพบว่าการหมกมุ่นกับงานรับใช้ช่วยฉันได้ดีที่สุด เพราะงานรับใช้ช่วยฉันให้เลียนแบบความรักของพระยะโฮวา แล้วความรู้สึกในแง่ลบที่ฉันเคยมีก็ค่อย ๆ จางหายไป”

13. (ก) โซลาเจอกับอะไรในประชาคมและเธอทำอย่างไร? (ข) เราเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของโซลา?

13 โซลาพี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งย้ายจากเม็กซิโกมาที่ยุโรป ในประชาคมของเธอมีพี่น้องชายหญิงที่มาจากส่วนต่าง ๆ ของลาตินอเมริกา เธอบอกว่าพี่น้องบางคนชอบล้อเลียนและดูถูกเกี่ยวกับธรรมเนียม เพลง และประเทศของเธอ นั่นทำให้เธอรู้สึกโกรธ เธอจึงขอพระยะโฮวาช่วยเธอไม่ให้ขุ่นเคือง เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเธอ? พี่น้องชายหญิงของเราบางคนยังต้องพยายามควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเขาเมื่อได้ยินคำพูดในแง่ลบเกี่ยวกับบ้านเกิดของพวกเขา ที่จริง เราไม่อยากพูดหรือทำอะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกว่าคนกลุ่มหนึ่งดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง และเราก็ไม่อยากสร้างความแตกแยกในประชาคมและที่ไหนก็ตาม—โรม 14:19; 2 โค. 6:3

14. อะไรจะช่วยคุณให้รู้สึกต่อคนอื่นเหมือนที่พระยะโฮวารู้สึก?

14 เรารู้ว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเป็นกลุ่มคนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น เราไม่ควรคิดว่าประเทศหนึ่งหรือเมืองหนึ่งเหนือกว่าที่อื่น แต่บางครั้งครอบครัวของคุณและคนในชุมชนที่คุณอยู่อาจทำให้คุณรักและเทิดทูนประเทศบ้านเกิดซึ่งอาจส่งผลให้คุณคิดในแง่ลบกับคนที่มีเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ที่ต่างจากคุณ อะไรจะช่วยคุณให้เปลี่ยนความคิด? วิธีหนึ่งก็คือการคิดใคร่ครวญว่าพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรต่อคนที่ภูมิใจมากเกินไปกับประเทศของเขาหรือคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น และคุณอาจจะค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการศึกษาส่วนตัวหรือการนมัสการประจำครอบครัว จากนั้น อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคุณให้รู้สึกต่อคนอื่นเหมือนที่พระองค์รู้สึก—อ่านโรม 12:2

เพื่อจะภักดีต่อพระยะโฮวา เราต้องเชื่อฟังพระองค์ไม่ว่าคนอื่นจะทำอย่างไรกับเราก็ตาม (ดูข้อ 15, 16)

15, 16. (ก) การที่เราแตกต่างจากคนทั่วไปทำให้บางคนรู้สึกอย่างไรกับเรา? (ข) พ่อแม่จะช่วยลูก ๆ ให้รักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาได้อย่างไร?

15 การที่เราอยากรับใช้พระยะโฮวาด้วยความรู้สึกที่ดีทำให้เราแตกต่างจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียน เพื่อนบ้าน และญาติ ๆ (1 เป. 2:19) พระเยซูบอกเราว่าคนอื่น ๆ จะเกลียดเราเพราะเราแตกต่างจากพวกเขา แต่ขอจำไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่ต่อต้านเราไม่รู้เกี่ยวกับรัฐบาลของพระเจ้า พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่าทำไมการที่เราภักดีต่อรัฐบาลของพระเจ้าแทนที่จะภักดีต่อรัฐบาลของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา

16 เพื่อจะภักดีต่อพระยะโฮวาเราต้องเชื่อฟังพระองค์ไม่ว่าคนอื่นจะพูดหรือทำต่อเราอย่างไรก็ตาม (ดานิ. 3:16-18) โดยเฉพาะวัยรุ่นอาจรู้สึกว่ายากที่จะแตกต่างจากคนอื่น ดังนั้น พ่อแม่ต้องช่วยลูกให้มีความกล้าหาญเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ลูกของคุณอาจจะไม่กล้าปฏิเสธการเคารพธงชาติหรือการเข้าร่วมการฉลองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชาตินิยม ในระหว่างการนมัสการประจำครอบครัว คุณอาจคุยกับลูกว่าพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ พยายามสอนลูกให้รู้วิธีอธิบายความเชื่ออย่างชัดเจนและด้วยความนับถือ (โรม 1:16) ถ้าจำเป็น คุณอาจช่วยลูกโดยไปคุยกับครูและอธิบายให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับความเชื่อของเรา

มีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าสร้าง

17. ความคิดแบบไหนที่เราควรหลีกเลี่ยง และทำไม?

17 โดยทั่วไปแล้วเราจะชอบอาหาร ภาษา ทิวทัศน์ และธรรมเนียมของบ้านเกิด แต่เรามักจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบดีกว่าสิ่งที่คนอื่นชอบไหม? ที่จริง พระยะโฮวาอยากให้เรามีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์สร้าง (เพลง. 104:24; วิ. 4:11) ดังนั้น เราจะไม่ยืนกรานว่าสิ่งหนึ่งดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง

18. เราจะได้ประโยชน์อะไรถ้าเรามองคนอื่นเหมือนที่พระยะโฮวามอง?

18 พระยะโฮวาอยากให้คนทุกชนิดเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์เพื่อนมัสการพระองค์ และได้รับชีวิตตลอดไป (โย. 3:16; 1 ติโม. 2:3, 4) ดังนั้น เมื่อพี่น้องของเรามีความเห็นที่ต่างจากเรา เราควรเต็มใจฟังความเห็นของพวกเขาถ้าเรื่องนั้นไม่ขัดกับสิ่งที่พระยะโฮวาสอน ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็จะมีความสุขและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพี่น้องชายหญิงของเรา อย่างที่เราได้เรียนในบทความนี้ เนื่องจากเราภักดีต่อพระยะโฮวาและรัฐบาลของพระองค์ เราจึงไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเมื่อมีความขัดแย้งกันในโลก นอกจากนั้น เราเกลียดความหยิ่งและการแข่งขันชิงดีกันในโลกของซาตาน เราขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ ที่สอนเราให้เป็นคนถ่อมและรักสันติ เรารู้สึกเหมือนผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญที่พูดว่า “จงดูเถอะ ซึ่งพวกพี่น้องอาศัยอยู่พร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เป็นการดีและอยู่เย็นเป็นสุขมากเท่าใด!”—เพลง. 133:1

^ วรรค 10 คริสเตียนบางคนในประชาคมฟิลิปปอยได้สิทธิ์เป็นพลเมืองโรมันจึงทำให้พวกเขามีสิทธิ์ในเรื่องต่าง ๆ มากกว่าพี่น้องที่ไม่ได้เป็นพลเมืองโรมัน

^ วรรค 12 ชื่อสมมุติ