ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ขอให้ “มีความเชื่อที่มั่นคง”

ขอให้ “มีความเชื่อที่มั่นคง”

“จงมีความเชื่อที่มั่นคง . . . จงเข้มแข็ง”—1 โค. 16:13

เพลง 60, 64

1. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเปโตรขณะที่มีพายุในทะเลแกลิลี? (ดูภาพแรก) (ข) ทำไมเปโตรจึงเริ่มจมน้ำ?

คืนหนึ่ง อัครสาวกเปโตรกับสาวกบางคนพยายามพายเรือข้ามทะเลแกลิลีขณะที่มีพายุ ทันใดนั้น พวกเขาเห็นพระเยซูกำลังเดินบนน้ำ เปโตรเรียกพระเยซูด้วยเสียงดังและขอเดินบนน้ำไปหาท่าน เมื่อพระเยซูบอกให้เขามา เปโตรก็ลงจากเรือแล้วก็เดินบนน้ำไปหาท่าน แต่ไม่นานเขาก็เริ่มจม เพราะอะไร? เพราะเขามองไปที่พายุและคลื่นแล้วก็เริ่มกลัว เปโตรจึงตะโกนขอความช่วยเหลือ พระเยซูก็รีบคว้าเขาไว้ทันที และพูดว่า “เจ้าผู้มีความเชื่อน้อย เจ้าสงสัยทำไม?”—มัด. 14:24-32

2. เราจะเรียนเรื่องอะไรในบทความนี้?

2 ให้เราเรียนสามสิ่งจากประสบการณ์ของเปโตรในเรื่องความเชื่อคือ (1) วิธีที่เปโตรแสดงความเชื่อในตอนแรกว่าพระยะโฮวาจะช่วยเขา (2) สาเหตุที่เปโตรเริ่มสูญเสียความเชื่อ และ (3) สิ่งที่ช่วยเปโตรให้กลับมามีความเชื่ออีกครั้ง การใคร่ครวญจุดเหล่านี้จะช่วยเราให้เห็นวิธีที่เราจะ “มีความเชื่อที่มั่นคง”—1 โค. 16:13

เชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยเรา

3. ทำไมเปโตรก้าวลงจากเรือ และเราทำอะไรเหมือนเปโตร?

3 เปโตรมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เรารู้ได้อย่างไร? เพราะเมื่อพระเยซูเรียกเปโตร เขาก็ก้าวลงจากเรือแล้วก็เดินบนน้ำ เขาเชื่อว่าอำนาจของพระเจ้าจะทำให้เขาเดินบนน้ำได้เหมือนกับพระเยซู คล้ายกัน เมื่อพระเยซูเชิญเราให้ติดตามท่าน เราจึงอุทิศตัวให้พระยะโฮวาและรับบัพติสมาเพราะเราเชื่อว่าพระยะโฮวาและพระเยซูจะช่วยเราได้—โย. 14:1; อ่าน 1 เปโตร 2:21

4, 5. ทำไมความเชื่อเป็นสิ่งที่มีค่า?

4 ความเชื่อเป็นสิ่งที่มีค่า ความเชื่อช่วยเปโตรให้เดินบนน้ำได้ซึ่งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะทำอย่างนั้น ความเชื่อก็จะช่วยเราให้ทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ด้วยเหมือนกัน (มัด. 21:21, 22) พวกเราบางคนได้เปลี่ยนความคิดและการกระทำอย่างมากจนคนที่เคยรู้จักเราจำเราไม่ได้ การที่เราเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นได้เพราะเรารักพระยะโฮวาและได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ (อ่านโกโลซาย 3:5-10) ความเชื่อกระตุ้นเราให้อุทิศตัวแก่พระยะโฮวาและมาเป็นเพื่อนกับพระองค์ นั่นเป็นสิ่งที่เราคงทำไม่ได้ถ้าพระองค์ไม่ช่วยเรา—เอเฟ. 2:8

5 ความเชื่อทำให้เราเข้มแข็ง เช่น ความเชื่อช่วยเราให้ต่อสู้กับการโจมตีของซาตานศัตรูที่มีอำนาจมาก (เอเฟ. 6:16) เนื่องจากเราวางใจในพระยะโฮวา เราจึงไม่กังวลมากเกินไปเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ที่จริง พระยะโฮวาสัญญาว่าพระองค์จะให้สิ่งจำเป็นแก่เรา ถ้าเรามีความเชื่อในพระองค์และให้การปกครองของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (มัด. 6:30-34) และยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาจะให้ชีวิตตลอดไปเป็นของขวัญที่ยอดเยี่ยมแก่เรา—โย. 3:16

การไม่จดจ่อทำให้เราสูญเสียความเชื่อ

6, 7. (ก) เราอาจเปรียบลมและคลื่นที่เปโตรกลัวกับอะไร? (ข) ทำไมเราต้องเข้าใจว่าเป็นไปได้ที่จะสูญเสียความเชื่อ?

6 ขณะที่เปโตรเดินบนทะเลแกลิลี เขาเริ่มกลัวเพราะลมและคลื่น ทุกวันนี้ ลมและคลื่นอาจเปรียบได้กับปัญหาและการล่อใจหลายอย่างที่คริสเตียนเจอ แม้จะเจอปัญหาที่หนักมาก เราก็เข้มแข็งได้โดยการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา แต่จำได้ไหมว่า เกิดอะไรขึ้นกับเปโตร เขาไม่ได้จมน้ำเพราะถูกลมและคลื่นซัดแต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อเห็นพายุเขาก็กลัว” (มัด. 14:30) เปโตรเลิกมองพระเยซูแต่กลับหันไปมองพายุที่น่ากลัว แล้วความเชื่อของเขาก็เริ่มอ่อนแอลง คล้ายกัน ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับปัญหา เราก็อาจเริ่มสงสัยว่าพระยะโฮวาจะช่วยเราไหม

7 เราต้องเข้าใจว่า เป็นไปได้ที่จะสูญเสียความเชื่อ เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า การสูญเสียความเชื่อเป็น “บาปที่รัดตัวเราได้โดยง่าย” (ฮีบรู 12:1) ถ้าเรามุ่งความสนใจไปผิดทางเหมือนที่เปโตรทำ ความเชื่อของเราก็จะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อของเราตกอยู่ในอันตราย? คำถามต่อไปนี้จะช่วยเราตรวจสอบตัวเอง

8. อะไรอาจทำให้คำสัญญาของพระเจ้าไม่เป็นจริงสำหรับเราเหมือนเมื่อก่อน?

8 คำสัญญาของพระเจ้าเป็นจริงสำหรับฉันในตอนนี้เหมือนกับเมื่อก่อนไหม? พระเจ้าสัญญาว่าจะทำลายโลกของซาตาน แต่เราเขวไปกับความบันเทิงหลายรูปแบบที่โลกของมันเสนอให้ไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น เราอาจเริ่มสงสัยว่าใกล้จะอวสานแล้วจริง ๆ ไหม (ฮบา. 2:3) พระยะโฮวายังจัดเตรียมค่าไถ่และสัญญาว่าจะให้อภัยความผิดของเรา แต่ถ้าเราเอาแต่คิดถึงความผิดของเราในอดีต เราอาจเริ่มสงสัยว่า พระยะโฮวาจะให้อภัยเราจริง ๆ ไหม (กิจ. 3:19) ผลคือ เราอาจไม่มีความสุขในการรับใช้พระเจ้าและอาจเลิกออกประกาศ

9. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง?

9 ฉันยังให้สิ่งดีที่สุดแก่พระยะโฮวาไหม? การขยันทำงานเพื่อพระยะโฮวาจะช่วยเราให้จดจ่ออยู่กับความหวังในอนาคต แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเริ่มหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง? เช่น เราอาจรับงานที่มีรายได้ดีแต่งานนั้นทำให้รับใช้พระยะโฮวาได้น้อยลง นั่นอาจทำให้ความเชื่อของเราเริ่มอ่อนแอลงและกลาย “เป็นคนเฉื่อยชา” จนเราไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่—ฮีบรู 6:10-12

10. การให้อภัยคนอื่นแสดงว่าเรามีความเชื่อในพระยะโฮวาอย่างไร?

10 ฉันรู้สึกว่ายากที่จะให้อภัยคนอื่นไหม? เมื่อคนอื่นทำให้เราขุ่นเคืองหรือเจ็บใจ เราโกรธพวกเขาหรือเลิกพูดกับพวกเขาไหม? ถ้าอย่างนั้น เราอาจให้ความสนใจกับความรู้สึกของตัวเองมากเกินไป แต่เมื่อเราให้อภัยคนอื่นนั่นแสดงว่าเรามีความเชื่อในพระยะโฮวา เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร? ถ้ามีคนทำผิดต่อเราก็เหมือนกับพวกเขาเป็นหนี้เรา เมื่อเราทำผิดต่อพระยะโฮวาก็เหมือนกับเราเป็นหนี้พระองค์ (ลูกา 11:4) ดังนั้น เมื่อเราให้อภัยคนอื่น เรากำลังเชื่อว่าพระยะโฮวาจะอวยพรที่เราทำอย่างนั้น และมองว่าพรที่เราได้รับจากพระองค์มีค่ามากกว่าการให้คนอื่นมาชดใช้สิ่งที่เขาได้ทำต่อเรา เหล่าสาวกของพระเยซูได้เรียนว่าต้องมีความเชื่อเพื่อจะให้อภัยคนอื่นได้ เมื่อพระเยซูสอนพวกเขาในเรื่องการให้อภัยแม้คนอื่นจะทำผิดต่อพวกเขาหลายครั้งก็ตาม เหล่าสาวกจึงขอพระเยซูว่า ‘ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้น’—ลูกา 17:1-5

11. อะไรอาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากคำแนะนำ?

11 ฉันโกรธไหมเมื่อได้รับคำแนะนำ? เราควรมองหาประโยชน์จากคำแนะนำแทนที่จะมองหาข้อผิดพลาดในคำแนะนำหรือมองหาข้อบกพร่องของผู้ให้คำแนะนำนั้น (สุภา. 19:20) ขอเราอย่าพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิธีคิดเหมือนพระยะโฮวามากขึ้น!

12. ทำไมอาจเป็นเรื่องผิดถ้าคนหนึ่งชอบบ่นเกี่ยวกับคนที่นำหน้า?

12 ฉันบ่นเกี่ยวกับคนที่นำหน้าในประชาคมไหม? เมื่อชาวอิสราเอลสนใจแต่รายงานในแง่ลบของคนสอดแนม 10 คน พวกเขาก็บ่นต่อว่าโมเซและอาโรน พระยะโฮวาจึงถามโมเซว่า “พวกเขาจะไม่ยอมเชื่อถือเรา อีกนานเท่าใด?” (อาฤ. 14:2-4, 11, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ใช่แล้ว พระยะโฮวารู้ว่าพวกเขาไม่เชื่อในพระองค์เพราะพวกเขาบ่นต่อว่าโมเซและอาโรนคนที่พระองค์แต่งตั้ง คล้ายกัน ในทุกวันนี้ ถ้าเราชอบบ่นเกี่ยวกับคนที่พระยะโฮวาใช้นำหน้าประชาชนของพระองค์ นั่นอาจแสดงว่าความเชื่อที่เรามีต่อพระเจ้าเริ่มอ่อนแอลง

13. ทำไมเราไม่ควรท้อใจถ้าพบว่าความเชื่อของเราอ่อนแอลง?

13 หลังจากใคร่ครวญคำถามเหล่านี้ ถ้าคุณเห็นว่าความเชื่อของคุณอ่อนแอลงก็อย่าเพิ่งท้อใจ ขอจำไว้ว่า เปโตรเองก็เริ่มกลัวและสงสัย และบางครั้งพระเยซูก็ต้องให้คำแนะนำกับอัครสาวกทุกคนที่มี “ความเชื่อน้อย” (มัด. 16:8) เราก็สามารถเรียนบทเรียนสำคัญจากประสบการณ์ของเปโตร ขอสังเกตว่าเขาทำอะไรหลังจาก ที่เขาเริ่มสงสัยและจมน้ำ?

มองไปที่พระเยซูเพื่อเสริมความเชื่อของคุณให้เข้มแข็ง

14, 15. (ก) เปโตรทำอะไรเมื่อเริ่มจมน้ำ? (ข) เราจะ “เพ่งมอง” ไปที่พระเยซูได้อย่างไร?

14 เปโตรทำอะไรเมื่อเขาเริ่มจมน้ำ? จริง ๆ แล้วเปโตรว่ายน้ำเก่ง เขาจะว่ายน้ำกลับไปที่เรือเองก็ได้ (โย. 21:7) แต่เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นเพราะเขาไม่ได้พึ่งตัวเอง เขามองไปที่พระเยซูอีกครั้งและยอมรับการช่วยเหลือจากท่าน ถ้าเราเห็นว่าความเชื่อของเราอ่อนแอลง เราควรเลียนแบบเปโตร เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

15 เปโตรมองไปที่พระเยซูอีกครั้งเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็ต้อง “เพ่งมอง” ที่พระเยซูด้วย (อ่านฮีบรู 12:2, 3) แต่เราไม่สามารถเห็นพระเยซูได้เหมือนอย่างที่เปโตรเห็น แล้วเราจะ “เพ่งมอง” ไปที่พระเยซูได้อย่างไร? เราทำอย่างนั้นได้โดยศึกษาสิ่งที่ท่านสอนและทำ จากนั้นก็พยายามเลียนแบบท่านให้ดีที่สุด เมื่อเราทำอย่างนั้น เราก็จะได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็ง ให้เรามาดูบางวิธีที่จะเลียนแบบพระเยซูได้

เมื่อเรามองไปที่ตัวอย่างของพระเยซูและเลียนแบบท่านอย่างใกล้ชิด เราจะมีความเชื่อที่มั่นคง (ดูข้อ 15)

16. คัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเสริมความเชื่อของเราได้อย่างไร?

16 เสริมความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นคำสอนของพระเจ้าและให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่เรา (โย. 17:17) เพื่อจะมีความมั่นใจเหมือนกับพระเยซูได้ เราต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน ศึกษา และใคร่ครวญบทเรียนที่ได้รับ นอกจากนั้น เราต้องค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่เราสงสัย เช่น คุณเชื่อจริง ๆ ไหมว่าเรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย? คุณสามารถเสริมความเชื่อของคุณในเรื่องที่ว่าอวสานมาใกล้แล้วโดยศึกษาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้หลักฐานว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย คุณอยากเสริมความเชื่อของคุณในคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับอนาคตไหม? ถ้าอย่างนั้น ให้ศึกษาคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้เกิดขึ้นจริง คุณเชื่อจริง ๆ ไหมว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลใช้ได้จริงในทุกวันนี้? คุณสามารถอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์ของพี่น้องชายหญิงที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นโดยการช่วยเหลือจากคัมภีร์ไบเบิล *1 เทส. 2:13

17. ทำไมพระเยซูอดทนกับการทดสอบที่หนัก ๆ ได้ และคุณจะเลียนแบบท่านได้อย่างไร?

17 มองไปที่พรต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาสัญญา พระเยซูมองไปที่พรต่าง ๆ ที่ท่านจะได้รับในอนาคต การทำอย่างนั้นช่วยท่านให้อดทนกับการทดสอบที่หนัก ๆ ได้ (ฮีบรู 12: 2) ท่านไม่ยอมเขวไปกับสิ่งที่โลกเสนอให้ (มัด. 4:8-10) เราจะเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูได้อย่างไร? เราทำได้โดยใคร่ครวญคำสัญญาอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาได้สัญญา และให้นึกภาพตัวเองตอนอยู่ในโลกใหม่ คุณอาจจะลองเขียนหรือวาดภาพสิ่งที่คุณจะทำในอุทยาน หรือเขียนรายชื่อคนที่ฟื้นขึ้นจากตายที่คุณอยากคุยด้วยและเรื่องที่คุณอยากคุยกับพวกเขา ให้เรามองคำสัญญาของพระเจ้าว่าไม่ใช่เป็นแค่คำสัญญาสำหรับคนทั่วไปเท่านั้นแต่เป็นคำสัญญาสำหรับตัวคุณเอง

18. การอธิษฐานจะช่วยคุณให้มีความเชื่อมากขึ้นได้อย่างไร?

18 อธิษฐานขอให้มีความเชื่อมากขึ้น พระเยซูสอนเหล่าสาวกให้ขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวา (ลูกา 11:9, 13) การขอพลังบริสุทธิ์จะช่วยให้คุณมีความเชื่อมากขึ้นได้ เพราะความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งในผลของพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า คุณสามารถอธิษฐานอย่างเจาะจงได้ เช่น ถ้าคุณรู้สึกว่ายากที่จะให้อภัยคนอื่น คุณน่าจะอธิษฐานขอพระยะโฮวาเพื่อช่วยคุณให้มีความเชื่อเข้มแข็งและช่วยคุณให้อภัยคนอื่น

19. เราจะเลือกเพื่อนที่ดีได้อย่างไร?

19 เลือกเพื่อนที่มีความเชื่อเข้มแข็ง พระเยซูเลือกเพื่อนสนิทอย่างรอบคอบ เพื่อนสนิทที่สุดของท่านคือเหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ ภักดี และเชื่อฟังท่าน (อ่านโยฮัน 15:14, 15) ขอเราเลียนแบบพระเยซูในการเลือกเพื่อนอย่างรอบคอบ เพื่อนของเราควรเป็นคนมีความเชื่อเข้มแข็งและเชื่อฟังพระเยซู เพื่อนแท้ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน กล้าให้คำแนะนำ และพร้อมที่จะฟังคำแนะนำของกันและกัน—สุภา. 27:9

20. จะเกิดผลอะไรเมื่อเราช่วยคนอื่นให้เสริมสร้างความเชื่อ?

20 ช่วยคนอื่นให้เสริมสร้างความเชื่อ พระเยซูช่วยเสริมความเชื่อให้เหล่าสาวกโดยสิ่งที่ท่านพูดและทำ (มโก. 11:20-24) เมื่อเราเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู เราจะเสริมสร้างความเชื่อของเราและคนอื่น ๆ ให้เข้มแข็งด้วย (สุภา. 11:25) คุณจะช่วยคนในเขตประกาศได้อย่างไร? เมื่อสอนคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่นขอให้เน้นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่จริง พระองค์สนใจเรา และคัมภีร์ไบเบิลเป็นคำสอนของพระเจ้า คุณจะช่วยพี่น้องชายหญิงให้รักษาความเชื่อที่เข้มแข็งได้อย่างไร? ถ้าคุณเห็นว่ามีบางคนบ่นเกี่ยวกับพี่น้องชายที่นำหน้า อย่าเลี่ยงที่จะไม่คุยกับเขาแต่ให้พยายามช่วยเขาอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อจะช่วยเขาให้มีความเชื่อที่เข้มแข็งอีกครั้ง (ยูดา 22, 23) ถ้าคุณยังเรียนหนังสืออยู่และครูสอนเรื่องวิวัฒนาการ ขอให้คุณกล้าที่จะปกป้องความเชื่อของคุณเรื่องการสร้าง คุณอาจแปลกใจก็ได้ที่คำพูดของคุณเกิดผลดีต่อครูและเพื่อนร่วมชั้น

21. พระยะโฮวาสัญญาอะไรกับเราแต่ละคน?

21 พระยะโฮวาและพระเยซูช่วยเปโตรขจัดความสงสัยและความกลัว ต่อมา เปโตรก็เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมแก่คนอื่นในเรื่องความเชื่อ คล้ายกัน พระยะโฮวาจะช่วยเราแต่ละคนให้มีความเชื่อที่มั่นคง (อ่าน 1 เปโตร 5:9, 10) การมีความเชื่อที่มั่นคงต้องใช้ความพยายาม ถ้าเราทำอย่างนั้น พระยะโฮวาก็จะให้รางวัลแก่เรา

^ วรรค 16 เพื่อเป็นตัวอย่าง ดูบทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับสาธารณะ