ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทความ​ศึกษา 12

เป็นห่วงความรู้สึกของคนอื่น

เป็นห่วงความรู้สึกของคนอื่น

“ให้​พวก​คุณ . . . เห็น​อก​เห็น​ใจ​กัน”—1 ปต. 3:8

เพลง 90 ให้​กำลังใจ​กัน

ใจความ​สำคัญ *

1. จาก 1 เปโตร 3:8 ทำไม​เรา​ชอบ​อยู่​กับ​คน​ที่​สนใจ​เรา​และ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​เรา?

เรา​ชอบ​อยู่​กับ​คน​ที่​สนใจ​เรา​และ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​เรา คน​แบบ​นี้​จะ​พยายาม​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​และ​ความ​คิด​ของ​เรา พวก​เขา​สนใจ​ว่า​เรา​ต้องการ​อะไร​และ​บาง​ครั้ง​จะ​ช่วย​เรา​ก่อน​ที่​จะ​ขอ​ด้วย​ซ้ำ เรา​เลย​รัก​และ​รู้สึก​ขอบคุณ​คน​ที่ “เห็น​อก​เห็น​ใจ” *เรา—อ่าน 1 เปโตร 3:8

2. ทำไม​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​เรา​จะ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น?

2 เพราะ​เรา​เป็น​คริสเตียน เรา​ทุก​คน​เลย​อยาก​เป็น​คน​ที่​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น แต่​จริง ๆ แล้ว​นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย เพราะ​อะไร? เหตุ​ผล​แรก​คือ​เพราะ​เรา​ไม่​สมบูรณ์​แบบ เรา​เลย​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​แนว​โน้ม​ที่​มี​มา​ตั้ง​แต่​เกิด​ที่​จะ​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง (รม. 3:23) เหตุ​ผล​ที่ 2 คือ​วิธี​ที่​คน​เรา​ถูก​เลี้ยง​ดู​หรือ​สิ่ง​ที่​เคย​เจอ​ใน​อดีต​ทำ​ให้​พวก​เรา​บาง​คน​ต้อง​พยายาม​มาก​จริง ๆ ที่​จะ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น และ​สุด​ท้าย เรา​อาจ​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ความ​คิด​ของ​ผู้​คน​รอบ​ตัว ใน​สมัย​สุด​ท้าย​นี้​หลาย​คน​ไม่​สนใจ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น​และ​เป็น​คน “เห็น​แก่ตัว” (2 ทธ. 3:1, 2) ดัง​นั้น เพื่อ​เรา​จะ​เป็น​คน​ที่​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น เรา​ต้อง​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ต่าง ๆ เหล่า​นี้ อะไร​จะ​ช่วย​ให้​เรา​ทำ​แบบ​นั้น​ได้?

3. (ก) เรา​จะ​เป็น​คน​เห็น​อก​เห็น​ใจ​มาก​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? (ข) เรา​จะ​คุย​เรื่อง​อะไร​บ้าง​ใน​บทความ​นี้?

3 เรา​จะ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น​มาก​ขึ้น​ได้​โดย​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​ลูก​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​แห่ง​ความ​รัก พระองค์​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น (1 ยน. 4:8) พระ​เยซู​เอง​ก็​เลียน​แบบ​บุคลิก​และ​นิสัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​พ่อ​ของ​ท่าน​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ (ยน. 14:9) ตอน​อยู่​บน​โลก ท่าน​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​คน​เรา​จะ​แสดง​ความ​สงสาร​ได้​อย่าง​ไร ใน​บทความ​นี้​เรา​จะ​ดู​กัน​ก่อน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น​อย่าง​ไร จาก​นั้น​จะ​ดู​ว่า​เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระองค์​ทั้ง​สอง​ได้​อย่าง​ไร

ตัว​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น

4. อิสยาห์ 63:7-9 แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์?

4 คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ห่วง​ความรู้สึก​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์ เช่น ลอง​คิด​ดู​ว่า​พระองค์รู้สึก​อย่าง​ไร​ตอน​ที่​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ​เจอ​ความ​ยาก​ลำบาก​มาก​มาย คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “ใน​ช่วง​ที่​พวก​เขา​ทน​ทุกข์ พระเจ้า​ก็​ทน​ทุกข์​ด้วย” (อ่าน​อิสยาห์ 63:7-9) ตอน​ที่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ถูก​รังแก พระองค์​ก็​รู้สึก​ว่า​ถูก​รังแก​ด้วย พระองค์​บอก​ผ่าน​ทาง​ผู้​พยากรณ์​เศคาริยาห์​ว่า “ใคร​ที่​แตะ​ต้อง​เจ้า​ก็​เท่า​กับ​แตะ​ต้อง​ดวง​ตา​ของ​เรา” (ศคย. 2:8) ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​นี้​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ชัดเจน​จริง ๆ ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ห่วง​ประชาชน​ของ​พระองค์​มาก​แค่​ไหน

พระ​ยะโฮวา​สงสาร​ชาว​อิสราเอล​เลย​ปลด​ปล่อย​พวก​เขา​จาก​การ​เป็น​ทาส​ใน​อียิปต์ (ดู​ข้อ 5)

5. ขอ​ยก​ตัว​อย่าง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ลง​มือ​ช่วย​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร

5 พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​แค่​รู้สึก​สงสาร​ผู้​รับใช้​ที่​ต้อง​ทน​ทุกข์ พระองค์​ลง​มือ​ทำ​เพื่อ​ช่วย​พวก​เขา​ด้วย เช่น ตอน​ที่​ชาว​อิสราเอล​เป็น​ทาส​ใน​อียิปต์ พระ​ยะโฮวา​เข้าใจ​ว่า​พวก​เขา​เจ็บ​ปวด​ขนาด​ไหน ความ​รู้สึก​นี้​กระตุ้น​ให้​พระองค์​ลง​มือ​ช่วย​พวก​เขา พระองค์​พูด​กับ​โมเสส​ว่า “เรา​เห็น​แล้ว​ว่า​ประชาชน​ของ​เรา . . . เจอ​กับ​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก . . . เรา​ได้​ยิน​เสียง​ร้อง​ของ​พวก​เขา . . . เรา​รู้​ดี​ว่า​พวก​เขา​เจ็บ​ปวด​ขนาด​ไหน เรา​จะ​ลง​ไป​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รอด​จาก​เงื้อม​มือ​ของ​ชาว​อียิปต์” (อพย. 3:7, 8) เพราะ​พระ​ยะโฮวา​สงสาร​ประชาชน​ของ​พระองค์ พระองค์​เลย​ปลด​ปล่อย​พวก​เขา​จาก​การ​เป็น​ทาส หลาย​ร้อย​ปี​ต่อ​มา​ชาติ​อิสราเอล​ถูก​ศัตรู​มา​โจมตี​ใน​แผ่นดิน​ที่​พระองค์​สัญญา พระ​ยะโฮวา​รู้สึก​อย่าง​ไร? พระองค์ “สงสาร​ที่​พวก​เขา​ร้อง​คร่ำครวญ​เพราะ​ถูก​กดขี่​และ​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​โหด​ร้าย” ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​กระตุ้น​ให้​พระองค์​ลง​มือ​ช่วย​ประชาชน​ของ​พระองค์​อีก​ครั้ง​โดย​ให้​มี​พวก​ผู้​วินิจฉัย​ไป​ช่วย​ชาว​อิสราเอล​ให้​พ้น​จาก​ศัตรู—วนฉ. 2:16, 18

6. ขอ​ยก​ตัว​อย่าง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ที่​มี​ความ​คิด​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​อย่าง​ไร

6 พระ​ยะโฮวา​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​จริง ๆ แม้​บาง​ครั้ง​พวก​เขา​จะ​มี​ความ​คิด​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง ขอ​ให้​คิด​ถึง​ผู้​พยากรณ์​โยนาห์ พระองค์​ส่ง​ผู้​พยากรณ์​คน​นี้​ไป​ประกาศ​คำ​พิพากษา​ที่​เมือง​นีนะเวห์ เมื่อ​ชาว​นีนะเวห์​กลับ​ใจ พระ​ยะโฮวา​ก็​เลือก​ที่​จะ​ไว้​ชีวิต​พวก​เขา แต่​โยนาห์ “ไม่​พอ​ใจ​และ​โมโห​มาก” เพราะ​มัน​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ของ​เขา​ไม่​เป็น​จริง พระ​ยะโฮวา​อด​ทน​กับ​โยนาห์​และ​ช่วย​ปรับ​ความ​คิด​ของ​เขา (ยนา. 3:10-4:11) ใน​ที่​สุด โยนาห์​ก็​เข้าใจ​บทเรียน​ที่​พระองค์​สอน และ​พระองค์​ถึง​กับ​ใช้​เขา​ให้​บันทึก​เรื่อง​ราว​นี้​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​เรา—รม. 15:4 *

7. วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทำ​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ใน​เรื่อง​อะไร?

7 วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทำ​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ใน​อดีต​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ว่า​พระองค์​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์ พระองค์​รู้​ดี​ว่า​เรา​แต่​ละ​คน​เจ็บ​ปวด​และ​ทุกข์​ใจ​ขนาด​ไหน พระองค์ “อ่าน​หัวใจ​มนุษย์​ได้” (2 พศ. 6:30) พระองค์​เข้าใจ​ความ​คิด ความ​รู้สึก​ลึก ๆ และ​ข้อ​จำกัด​ของ​เรา “พระองค์​จะ​ไม่​ปล่อย​ให้ [เรา] ถูก​ล่อ​ใจ​จน​ทน​ไม่​ไหว” (1 คร. 10:13) คำ​สัญญา​นี้​ทำ​ให้​เรา​สบาย​ใจ​และ​ได้​กำลังใจ​จริง ๆ

ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น

8-10. มี​เหตุ​ผล​อะไร​บ้าง​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​เป็น​คน​ที่​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น?

8 ตอน​ที่​พระ​เยซู​เป็น​มนุษย์​อยู่​บน​โลก ท่าน​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น​มาก มี​อย่าง​น้อย 3 เหตุ​ผล​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​เป็น​แบบ​นั้น เหตุ​ผล​แรก อย่าง​ที่​บอก​ไป​แล้ว พระ​เยซู​เลียน​แบบ​บุคลิก​และ​นิสัย​พ่อ​ของ​ท่าน​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ ท่าน​รัก​ผู้​คน​เหมือน​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก ท่าน​ช่วย​พระองค์​สร้าง​สิ่ง​ต่าง ๆ และ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ทั้ง​หมด​ทำ​ให้​ท่าน​มี​ความ​สุข แต่​ท่าน “รัก​มนุษย์​มาก” เป็น​พิเศษ (สภษ. 8:31) ความ​รัก​กระตุ้น​ให้​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น

9 เหตุ​ผล​ที่ 2 พระ​เยซู​อ่าน​หัวใจ​มนุษย์​ได้​เหมือน​พระ​ยะโฮวา ท่าน​รู้​ว่า​คน​เรา​มี​เจตนา​อะไร​และ​รู้สึก​อย่าง​ไร (มธ. 9:4; ยน. 13:10, 11) พอ​พระ​เยซู​รู้​ว่า​พวก​เขา​ทุกข์​ใจ ท่าน​เลย​เป็น​ห่วง​และ​ปลอบโยน​พวก​เขา—อสย. 61:1, 2; ลก. 4:17-21

10 เหตุ​ผล​ที่ 3 พระ​เยซู​เอง​เคย​เจอ​ปัญหา​บาง​อย่าง​เหมือน​ที่​มนุษย์​เจอ เช่น เป็น​ไป​ได้​ที่​พระ​เยซู​โต​มา​ใน​ครอบครัว​ที่​ยาก​จน นอก​จาก​นั้น ท่าน​เคย​ทำ​งาน​กับ​โยเซฟ​พ่อ​เลี้ยง ท่าน​เลย​รู้​ว่า​การ​ทำ​งาน​หนัก​เป็น​อย่าง​ไร (มธ. 13:55; มก. 6:3) โยเซฟ​อาจ​ตาย​ก่อน​ที่​พระ​เยซู​จะ​เริ่ม​ทำ​งาน​รับใช้ พระ​เยซู​เลย​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​การ​สูญ​เสีย​คน​ที่​รัก และ​ท่าน​ก็​รู้​ว่า​มัน​เป็น​อย่าง​ไร​เมื่อ​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ไม่​เหมือน​กัน (ยน. 7:5) สภาพการณ์​เหล่า​นี้​และ​เรื่อง​อื่น ๆ ช่วย​ให้​ท่าน​เข้าใจ​ว่า​ผู้​คน​ต้อง​เจอ​ปัญหา​อะไร​และ​รู้สึก​อย่าง​ไร

พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ผู้​ชาย​หู​หนวก ท่าน​พา​เขา​ออก​ไป​จาก​ฝูง​ชน​เพื่อ​จะ​รักษา (ดู​ข้อ 11)

11. ตอน​ไหน​ที่​เรา​เห็น​ได้​ชัดเจน​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​ผู้​คน​มาก​จริง ๆ? ขอ​อธิบาย (ดู​ภาพ​หน้า​ปก)

11 สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​เห็น​ได้​ชัดเจน​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​ผู้​คน​มาก​จริง ๆ ก็​คือ​ตอน​ที่​ท่าน​ทำ​การ​อัศจรรย์ ท่าน​ไม่​ได้​ทำ​การ​อัศจรรย์​เพราะ​เป็น​หน้า​ที่ แต่​ทำ​เพราะ “สงสาร” คน​ที่​ทน​ทุกข์ (มธ. 20:29-34; มก. 1:40-42) ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​ให้​นึก​ถึง​ตอน​ที่​พระ​เยซู​พา​ผู้​ชาย​หู​หนวก​ออก​ไป​จาก​ฝูง​ชน​เพื่อ​จะ​รักษา​เขา หรือ​ตอน​ที่​ท่าน​ช่วย​ปลุก​ลูก​ชาย​คน​เดียว​ของ​แม่​ม่าย​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย ลอง​คิด​ดู​ว่า​ใน​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​ท่าน​รู้สึก​อย่าง​ไร (มก. 7:32-35; ลก. 7:12-15) พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​เหล่า​นี้​และ​อยาก​ช่วย​จริง ๆ

12. ยอห์น 11:32-35 แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​มาร์ธา​กับ​มารีย์?

12 พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​มาร์ธา​กับ​มารีย์ ตอน​ที่​ท่าน​เห็น​พวก​เธอ​ร้องไห้​เพราะ​ลาซารัส​น้อง​ชาย​ตาย “พระ​เยซู​ก็​ร้องไห้​น้ำตา​ไหล” (อ่าน​ยอห์น 11:32-35) ท่าน​ไม่​ได้​ร้องไห้​เพราะ​เพื่อน​สนิท​ตาย​จาก​ไป ที่​จริง ท่าน​รู้​อยู่​แล้ว​ว่า​กำลัง​จะ​ปลุก​ลาซารัส​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย แต่​ที่​ท่าน​ร้องไห้​เพราะ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ของ​มาร์ธา​กับ​มารีย์​เพื่อน​รัก​ของ​ท่าน

13. เรา​ได้​กำลังใจ​อย่าง​ไร​ที่​รู้​ว่า​พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น?

13 การ​รู้​ว่า​พระ​เยซู​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ผู้​คน​ทำ​ให้​เรา​ได้​กำลังใจ​มาก เรา​รัก​ท่าน​เพราะ​เห็น​วิธี​ที่​ท่าน​ทำ​กับ​ผู้​คน (1 ปต. 1:8) เรา​ได้​กำลังใจ​ที่​รู้​ว่า​ตอน​นี้​พระ​เยซู​กำลัง​ปกครอง​เป็น​กษัตริย์​ใน​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า อีก​หน่อย​ท่าน​จะ​กำจัด​ความ​ทุกข์​ทั้ง​หมด และ​เพราะ​ท่าน​เคย​เป็น​มนุษย์​มา​ก่อน ท่าน​จึง​เหมาะ​ที่​สุด​ที่​จะ​ช่วย​มนุษย์​ให้​ฟื้น​ตัว​จาก​ความ​เจ็บ​ปวด​และ​ความ​ทุกข์​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ปกครอง​ของ​ซาตาน เป็น​เรื่อง​ดี​จริง ๆ ที่​เรา​มี​ผู้​ปกครอง​ที่ “เห็น​อก​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อนแอ​ของ​เรา”—ฮบ. 2:17, 18; 4:15, 16

เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​เยซู

14. เอเฟซัส 5:1, 2 กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​อะไร?

14 เมื่อ​เห็น​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​เยซู เรา​เลย​ถูก​กระตุ้น​ให้​พยายาม​เห็น​อก​เห็น​ใจ​มาก​ขึ้น (อ่าน​เอเฟซัส 5:1, 2) ถึง​เรา​จะ​อ่าน​หัวใจ​คน​อื่น​ไม่​ได้​เหมือน​พระองค์​ทั้ง​สอง แต่​เรา​ก็​ควร​พยายาม​เข้าใจ​คน​อื่น​ว่า​พวก​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร​และ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​อะไร (2 คร. 11:29) เรา​ไม่​เป็น​เหมือน​คน​ทั่ว​ไป​ใน​โลก​ที่​เห็น​แก่​ตัว แต่​พยายาม​ทำ​อย่าง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​คือ “อย่า​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว​เท่า​นั้น ให้​เห็น​แก่​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย”—ฟป. 2:4

(ดู​ข้อ 15-19) *

15. ใคร​ต้อง​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​เป็น​พิเศษ?

15 ที่​จริง ผู้​ดู​แล​ประชาคม​ต้อง​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​เป็น​พิเศษ พวก​เขา​รู้​ดี​ว่า​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พวก​เขา​ดู​แล​แกะ​ของ​พระองค์ (ฮบ. 13:17) เพื่อ​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​ได้ ผู้​ดู​แล​ควร​เป็น​คน​ที่​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น แล้ว​ผู้​ดู​แล​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

16. ผู้​ดู​แล​จะ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ได้​อย่าง​ไร? และ​ทำไม​เรื่อง​นี้​ถึง​สำคัญ?

16 ผู้​ดู​แล​ที่​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​จะ​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​พี่​น้อง เขา​จะ​คอย​ถาม​พี่​น้อง​และ​ตั้งใจ​ฟัง​อย่าง​อด​ทน เรื่อง​นี้​สำคัญ​มาก​โดย​เฉพาะ​ถ้า​พี่​น้อง​อยาก​ระบาย​ความ​รู้สึก​แต่​ไม่​รู้​จะ​พูด​อย่าง​ไร (สภษ. 20:5) เมื่อ​ผู้​ดู​แล​เต็ม​ใจ​ให้​เวลา​กับ​พี่​น้อง เขา​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เขา​กับ​พี่​น้อง​รู้สึก​ไว้​ใจ​กัน​มาก​ขึ้น สนิท​กัน​มาก​ขึ้น และ​รัก​กัน​มาก​ขึ้น—กจ. 20:37

17. พี่​น้อง​หลาย​คน​บอก​ว่า​คุณสมบัติ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ผู้​ดู​แล​คือ​อะไร? ขอ​ยก​ตัว​อย่าง

17 พี่​น้อง​หลาย​คน​บอก​ว่า​คุณสมบัติ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ผู้​ดู​แล​ประชาคม​คือ​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น ทำไม​ถึง​บอก​แบบ​นั้น? แอดิเลด​บอก​ว่า “คุณ​อยาก​เข้า​ไป​คุย​กับ​ผู้​ดู​แล​ที่​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น เพราะ​คุณ​รู้​ว่า​เขา​จะ​เข้าใจ​คุณ” เธอ​ยัง​บอก​อีก​ว่า “คุณ​จะ​รู้​ว่า​เขา​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คุณ​หรือ​เปล่า​ก็​ดู​ว่า​เขา​มี​ท่าที​อย่าง​ไร​ตอน​ที่​คุณ​คุย​กับ​เขา” พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​รู้สึก​ขอบคุณ​ผู้​ดู​แล​มาก เขา​บอก​ว่า “ตอน​ที่​ผม​เล่า​สิ่ง​ที่​ผม​เจอ​ให้​ผู้​ดู​แล​คน​หนึ่ง​ฟัง เขา​ถึง​กับ​น้ำตา​คลอ ผม​จำ​เรื่อง​นี้​ได้​ไม่​ลืม”—รม. 12:15

18. เรา​จะ​เป็น​คน​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น​มาก​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

18 ไม่​ใช่​แค่​ผู้​ดู​แล​เท่า​นั้น​ที่​ต้อง​เห็น​อก​เห็น​ใจ เรา​ทุก​คน​ควร​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย แล้ว​คุณ​จะ​เป็น​คน​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ได้​อย่าง​ไร? ให้​คุณ​พยายาม​เข้าใจ​ว่า​คน​ใน​ครอบครัว​หรือ​พี่​น้อง​กำลัง​เจอ​ปัญหา​อะไร พยายาม​สนใจ​และ​เป็น​ห่วง​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม เช่น วัยรุ่น คน​ป่วย พี่​น้อง​สูง​อายุ และ​คน​ที่​สูญ​เสีย​คน​ที่​รัก ให้​ถาม​พวก​เขา​ว่า​เป็น​อย่าง​ไร​แล้ว​ตั้งใจ​ฟัง​จริง ๆ เมื่อ​พวก​เขา​เล่า​ความ​รู้สึก คุณ​ควร​พยายาม​ให้​พวก​เขา​รู้​ว่า​คุณ​เข้าใจ​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​เจอ​อะไร และ​เสนอ​จะ​ช่วย​เท่า​ที่​คุณ​ทำ​ได้ เมื่อ​ทำ​แบบ​นี้ คุณ​กำลัง​แสดง​ว่า​คุณ​รัก​พี่​น้อง​ด้วย​การ​กระทำ—1 ยน. 3:18

19. ทำไม​เรา​ต้อง​รู้​จัก​ปรับ​ตัว​และ​ยืดหยุ่น​เมื่อ​พยายาม​ช่วย​คน​อื่น?

19 แต่​เรา​ต้อง​รู้​จัก​ปรับ​ตัว​และ​ยืดหยุ่น​เมื่อ​พยายาม​ช่วย​คน​อื่น ทำไม? เพราะ​แต่​ละ​คน​มี​วิธี​รับมือ​กับ​ปัญหา​ไม่​เหมือน​กัน บาง​คน​ชอบ​ระบาย แต่​บาง​คน​ไม่​อยาก​เล่า​ให้​ใคร​ฟัง ดัง​นั้น เมื่อ​เรา​อยาก​จะ​ช่วย​พวก​เขา เรา​ต้อง​ระวัง​ไม่​ถาม​เรื่อง​ส่วน​ตัว​มาก​เกิน​ไป (1 ธส. 4:11) ถึง​บาง​คน​ยอม​ระบาย​ความ​รู้สึก​ให้​เรา​ฟัง​และ​เรา​อาจ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​คิด แต่​เรา​ก็​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​นี่​คือ​ความ​รู้สึก​ของ​เขา เรา​ต้อง​ไว​ใน​การ​ฟัง​และ​ช้า​ใน​การ​พูด—มธ. 7:1; ยก. 1:19

20. เรา​จะ​คุย​เรื่อง​อะไร​ใน​บทความ​หน้า?

20 นอก​จาก​การ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ใน​ประชาคม​แล้ว เรา​อยาก​แสดง​คุณลักษณะ​ที่​ดี​นี้​ใน​งาน​รับใช้​ด้วย เรา​จะ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ตอน​ที่​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก​ได้​อย่าง​ไร? เรา​จะ​คุย​เรื่อง​นี้​ใน​บทความ​หน้า

เพลง 130 ให้​อภัย

^ วรรค 5 พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น บท​ความ​นี้​เรา​จะ​ดู​กัน​ว่า​เรา​เรียน​อะไร​ได้​บ้าง​จาก​พระองค์​ทั้ง​สอง และ​จะ​คุย​กัน​ว่า​ทำไม​เรา​ต้อง​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​อื่น และ​เรา​จะ​ทำ​แบบ​นั้น​ได้​อย่าง​ไร

^ วรรค 1 อธิบาย​คำ​ศัพท์ การ​แสดง​ความ “เห็น​อก​เห็น​ใจ” หมาย​ถึง​การ​เอา​ใจ​เขา​มา​ใส่​ใจ​เรา คือ​พยายาม​เข้าใจ​ว่า​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร​และ​พยายาม​รู้สึก​เหมือน​เขา คำ​ว่า “เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก” ใน​บทความ​นี้​ก็​มี​ความ​หมาย​อย่าง​เดียว​กัน​ด้วย—รม. 12:15

^ วรรค 6 นอก​จาก​นั้น พระ​ยะโฮวา​สงสาร​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​รู้สึก​ท้อ​ใจ​หรือ​กลัว​ด้วย เช่น ลอง​คิด​ถึง​เรื่อง​ราว​ของ​ฮันนาห์ (1 ซม. 1:10-20) เอลียาห์ (1 พก. 19:1-18) และ​เอเบดเมเลค (ยรม. 38:7-13; 39:15-18)

^ วรรค 65 คำ​อธิบาย​ภาพ การ​ประชุม​ทำ​ให้​เรา​มี​โอกาส​มาก​มาย​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พี่​น้อง เรา​เห็น (1) ผู้​ดู​แล​ที่​ใจ​ดี​คุย​กับ​ผู้​ประกาศ​ที่​ยัง​เด็ก​และ​แม่​ของ​เขา (2) พ่อ​กับ​ลูก​สาว​ช่วย​กัน​พา​พี่​น้อง​หญิง​สูง​อายุ​ขึ้น​รถ (3) ผู้​ดู​แล​สอง​คน​ตั้งใจ​ฟัง​พี่​น้อง​หญิง​ที่​มา​ขอ​คำ​แนะ​นำ