ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทความ​ศึกษา 35

ให้เกียรติทุกคนในประชาคมของพระยะโฮวา

ให้เกียรติทุกคนในประชาคมของพระยะโฮวา

“ตา​จะ​พูด​กับ​มือ​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ต้องการ​แก’ ก็​ไม่​ได้ หรือ​หัว​จะ​พูด​กับ​เท้า​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ต้องการ​แก’ ก็​ไม่​ได้”—1 คร. 12:21

เพลง 124 ภักดี​เสมอ​ไม่​เปลี่ยน​แปลง

ใจความ​สำคัญ *

1. พระ​ยะโฮวา​ได้​ให้​อะไร​กับ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์?

พระ​ยะโฮวา​ให้​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​ประชาคม​ของ​พระองค์ ถึง​เรา​จะ​มี​บทบาท​ไม่​เหมือน​กัน แต่​เรา​ทุก​คน​มี​ค่า และ​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​กัน​และ​กัน อัครสาวก​เปาโล​ช่วย​ให้​เรา​เห็น​บทเรียน​ที่​สำคัญ​ใน​เรื่อง​นี้ เขา​ทำ​อย่าง​ไร?

2. จาก​เอเฟซัส 4:16 ทำไม​เรา​ต้อง​ร่วม​แรง​ร่วม​ใจ​และ​เห็น​ค่า​กัน​และ​กัน?

2 จาก​ข้อ​คัมภีร์​หลัก​ใน​บทความ​นี้ เปาโล​เน้น​ว่า​ไม่​มี​ใคร​จะ​พูด​กับ​พี่​น้อง​คน​อื่น​ได้​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ต้องการ​คุณ’ (1 คร. 12:21) ถ้า​เรา​อยาก​ให้​ประชาคม​มี​สันติ​สุข เรา​ต้อง​ร่วม​แรง​ร่วม​ใจ​และ​เห็น​ค่า​กัน​และ​กัน (อ่าน​เอเฟซัส 4:16) เมื่อ​เรา​ทำ​งาน​ด้วย​กัน​อย่าง​ดี​และ​สามัคคี​กัน เรา​ก็​ทำ​ให้​ประชาคม​เข้มแข็ง​ขึ้น​และ​รัก​กัน

3. เรา​จะ​เรียน​อะไร​ใน​บทความ​นี้?

3 เรา​จะ​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร​บ้าง? ใน​บทความ​นี้​เรา​จะ​มา​ดู​ว่า​ผู้​ดู​แล​จะ​ให้​เกียรติ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล​ด้วย​กัน​ได้​อย่าง​ไร และ​เรา​จะ​ดู​ว่า​เรา​ทุก​คน​จะ​เห็น​ค่า​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​ได้​อย่าง​ไร และ​สุด​ท้าย เรา​จะ​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​ยัง​พูด​ภาษา​ของ​เรา​ไม่​เก่ง​ได้​อย่าง​ไร

ให้​เกียรติ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล

4. ผู้​ดู​แล​ควร​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​อะไร​ของ​เปาโล​ที่​โรม 12:10?

4 ผู้​ดู​แล​ทุก​คน​ใน​ประชาคม​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา แต่​ทุก​คน​ก็​มี​ความ​สามารถ​หรือ​พรสวรรค์​ไม่​เหมือน​กัน (1 คร. 12:17, 18) บาง​คน​อาจ​จะ​เป็น​ผู้​ดู​แล​ได้​ไม่​นาน​และ​ไม่​มี​ประสบการณ์​มาก​เท่า​ไร ส่วน​บาง​คน​อายุ​มาก​แล้ว​และ​มี​ปัญหา​สุขภาพ​เลย​ทำ​ได้​ไม่​มาก แต่​ก็​ไม่​ควร​มี​ผู้​ดู​แล​คน​ไหน​คิด​กับ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล​ใน​ทำนอง​ที่​ว่า ‘ผม​ไม่​ต้องการ​คุณ’ แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ผู้​ดู​แล​ทุก​คน​ควร​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​โรม 12:10 (อ่าน)

ผู้​ดู​แล​ให้​เกียรติ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล​โดย​ตั้งใจ​ฟัง​กัน​และ​กัน (ดู​ข้อ 5-6)

5. ผู้​ดู​แล​จะ​แสดง​ว่า​ให้​เกียรติ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล​ของ​เขา​ได้​อย่าง​ไร? และ​ทำไม​เรื่อง​นี้​ถึง​สำคัญ?

5 ผู้​ดู​แล​แสดง​ว่า​ให้​เกียรติ​เพื่อน​ผู้​ดู​แล​คน​อื่น​โดย​ตั้งใจ​ฟัง​พวก​เขา การ​ทำ​อย่าง​นี้​สำคัญ​มาก​โดย​เฉพาะ​เมื่อ​พวก​เขา​ต้อง​ประชุม​กัน​เรื่อง​สำคัญ ๆ เพราะ​อะไร? ขอ​สังเกต​ว่า​หอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 1988 ภาษา​อังกฤษ​พูด​ถึง​เรื่อง​นี้​อย่าง​ไร ที่​นั่น​บอก​ว่า “ผู้​ดู​แล​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า​พระ​คริสต์​สามารถ​ใช้​พลัง​บริสุทธิ์​เพื่อ​ช่วย​ผู้​ดู​แล​คน​ไหน​ก็​ได้​ใน​ประชาคม​ให้​คิด​ถึง​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​จะ​ช่วย​คณะ​ผู้​ดู​แล​ให้​รู้​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ใน​สถานการณ์​ต่าง ๆ หรือ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ที่​สำคัญ ๆ (กจ. 15:6-15) พลัง​บริสุทธิ์​ไม่​ได้​ช่วย​ผู้​ดู​แล​คน​ใด​คน​หนึ่ง​เท่า​นั้น แต่​จะ​ช่วย​ผู้​ดู​แล​ทุก​คน​ใน​ประชาคม”

6. ผู้​ดู​แล​จะ​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กัน​ได้​อย่าง​ไร? และ​ประชาคม​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​อะไร​ถ้า​พวก​เขา​ทำ​แบบ​นี้?

6 ตอน​ที่​ประชุม​กัน ผู้​ดู​แล​ที่​ให้​เกียรติ​ผู้​ดู​แล​คน​อื่น​จะ​ไม่​เอา​แต่​พูด​อยู่​คน​เดียว เขา​จะ​ไม่​คิด​ว่า​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง​ถูก​อยู่​เสมอ และ​ไม่​ว่า​จะ​คุย​กัน​เรื่อง​อะไร เขา​จะ​ไม่​เป็น​คน​ที่​ออก​ความ​คิด​เห็น​คน​แรก​อยู่​ตลอด แต่​เขา​จะ​พูด​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา​ด้วย​ความ​ถ่อม​และ​เจียม​ตัว และ​เขา​จะ​ตั้งใจ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​คน​อื่น ที่​สำคัญ​กว่า​นั้น​เขา​ชอบ​ที่​จะ​พูด​ถึง​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​พร้อม​ที่​จะ​รับ​ฟัง​การ​ชี้​นำ​จาก “ทาส​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​สุขุม” (มธ. 24:45-47) ถ้า​ผู้​ดู​แล​แสดง​ความ​รัก​และ​ให้​เกียรติ​กัน​ตอน​ที่​พวก​เขา​ประชุม​กัน พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า​ก็​จะ​อยู่​กับ​พวก​เขา และ​ชี้​นำ​พวก​เขา​ให้​ตัดสิน​ใจ​ใน​แบบ​ที่​จะ​ช่วย​ให้​ประชาคม​เข้มแข็ง​ขึ้น—ยก. 3:17, 18

ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด

7. พระ​เยซู​มอง​คน​โสด​อย่าง​ไร?

7 ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ไม่​ได้​มี​แค่​คู่​สมรส​กับ​คน​ที่​มี​ลูก​เท่า​นั้น แต่​มี​คน​โสด​ด้วย เรา​ควร​มอง​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​อย่าง​ไร? ให้​เรา​คิด​ถึง​วิธี​ที่​พระ​เยซู​มอง​พวก​เขา ตอน​ที่​พระ​เยซู​ทำ​งาน​รับใช้​บน​โลก ท่าน​ไม่​ได้​แต่งงาน ท่าน​ให้​เวลา​และ​ทุ่มเท​กับ​งาน​มอบหมาย​ที่​ท่าน​ได้​รับ พระ​เยซู​ไม่​เคย​สอน​ว่า​คริสเตียน​ต้อง​แต่งงาน​หรือ​ต้อง​เป็น​โสด แต่​ท่าน​ก็​บอก​ว่า​มี​บาง​คน​ที่​เลือก​จะ​ไม่​แต่งงาน (มธ. 19:11, 12; ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ใน​มัทธิว 19:12 คำ​ว่า “ครอง​ตัว​เป็น​โสด”) พระ​เยซู​ให้​เกียรติ​คน​ที่​เป็น​โสด ท่าน​ไม่​ได้​มอง​ว่า​พวก​เขา​ด้อย​กว่า​คน​อื่น​หรือ​ขาด​อะไร​ไป​ใน​ชีวิต

8. จาก 1 โครินธ์ 7:7-9 เปาโล​สนับสนุน​ให้​คริสเตียน​คิด​ถึง​อะไร?

8 เหมือน​พระ​เยซู เปาโล​ก็​เป็น​โสด​ตอน​ที่​ทำ​งาน​รับใช้ เขา​ไม่​เคย​สอน​ว่า​ผิด​ที่​คริสเตียน​จะ​แต่งงาน เปาโล​รู้​ว่า​นี่​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว แต่​เขา​ก็​สนับสนุน​คริสเตียน​ให้​คิด​ว่า​จะ​เป็น​โสด​เพื่อ​รับใช้​พระเจ้า​ได้​ไหม (อ่าน 1 โครินธ์ 7:7-9) เรา​มั่น​ใจ​ว่า​เปาโล​ไม่​ได้​มอง​ว่า​คน​โสด​ด้อย​กว่า​คน​อื่น ที่​จริง​เขา​เลือก​ทิโมธี​ซึ่ง​เป็น​คน​โสด​ให้​ทำ​งาน​มอบหมาย​ที่​สำคัญ​ด้วย * (ฟป. 2:19-22) เห็น​ได้​ชัด​เลย​ว่า เป็น​เรื่อง​ผิด​ที่​จะ​ตัดสิน​ว่า​พี่​น้อง​ชาย​มี​คุณสมบัติ​ที่​จะ​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​หรือ​ไม่​แค่​เพราะ​เขา​แต่งงาน​หรือ​ยัง​ไม่​ได้​แต่งงาน—1 คร. 7:32-35, 38

9. เรา​ควร​มอง​การ​แต่งงาน​และ​การ​เป็น​โสด​อย่าง​ไร?

9 ทั้ง​พระ​เยซู​และ​เปาโล​ไม่​ได้​สอน​ว่า​เรา​ต้อง​แต่งงาน​หรือ​ต้อง​อยู่​เป็น​โสด ถ้า​อย่าง​นั้น​เรา​ควร​มอง​การ​แต่งงาน​และ​การ​เป็น​โสด​อย่าง​ไร? หอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 2012 อธิบาย​อย่าง​ดี​ใน​เรื่อง​นี้​ว่า “ที่​จริง ทั้ง​การ​เป็น​โสด​และ​การ​แต่งงาน​ถือ​เป็น​ของ​ประทาน [ของ​ขวัญ] จาก​พระเจ้า . . . พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​มอง​ว่า​การ​เป็น​โสด​เป็น​เรื่อง​น่า​อาย​หรือ​น่า​เศร้า” ดัง​นั้น เรา​ต้อง​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​ใน​ประชาคม​ของ​เรา

ถ้า​เรา​ให้​เกียรติ​และ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด เรา​จะ​ไม่​ทำ​อะไร? (ดู​ข้อ 10)

10. เรา​จะ​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​ได้​อย่าง​ไร?

10 เรา​จะ​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​โดย​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​และ​สภาพการณ์​ของ​เขา​ได้​อย่าง​ไร? เรา​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า บาง​คน​ตั้งใจ​เป็น​โสด ส่วน​บาง​คน​อยาก​แต่งงาน​แต่​ยัง​ไม่​เจอ​คน​ที่​ใช่ และ​บาง​คน​เป็น​โสด​เพราะ​คู่​ของ​เขา​ตาย​จาก​ไป ไม่​ว่า​เขา​จะ​เป็น​โสด​เพราะ​อะไร เหมาะ​ไหม​ที่​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​จะ​ไป​ถาม​เขา​ว่า​ทำไม​ถึง​ไม่​แต่งงาน​สัก​ที​และ​พยายาม​หา​คู่​ให้​เขา? ก็​จริง​ที่​คน​โสด​บาง​คน​อาจ​จะ​ขอ​ให้​พี่​น้อง​ช่วย​หา​คู่​ให้​เขา แต่​ถ้า​เขา​ไม่​ได้​ขอ​ล่ะ คุณ​คิด​ว่า​พี่​น้อง​ที่​เป็น​โสด​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร? (1 ธส. 4:11; 1 ทธ. 5:13) ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​พี่​น้อง​โสด​ที่​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​พูด​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้

11-12. เรา​อาจ​ทำ​ให้​คน​โสด​ท้อ​ใจ​ได้​อย่าง​ไร?

11 พี่​น้อง​ชาย​โสด​คน​หนึ่ง​ที่​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด​ได้​ดี​มาก​รู้สึก​ว่า​ได้​ประโยชน์​หลาย​อย่าง​จาก​การ​เป็น​โสด แต่​เขา​ก็​บอก​ว่า​พอ​มี​พี่​น้อง​ที่​หวัง​ดี​มา​ถาม​เขา​ว่า “ทำไม​ถึง​ยัง​ไม่​แต่งงาน?” มัน​ก็​ทำ​ให้​เขา​ท้อ​ใจ​ได้​เหมือน​กัน พี่​น้อง​ชาย​โสด​อีก​คน​ที่​รับใช้​ที่​สำนักงาน​สาขา​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​พี่​น้อง​ก็​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​ว่า​คน​โสด​เป็น​คน​น่า​สงสาร นี่​ทำ​ให้​การ​เป็น​โสด​กลาย​เป็น​ภาระ​แทน​ที่​จะ​เป็น​ของ​ขวัญ”

12 พี่​น้อง​หญิง​โสด​คน​หนึ่ง​ที่​รับใช้​ที่​เบเธล​บอก​ว่า “พี่​น้อง​บาง​คน​คิด​ว่า​คน​โสด​ทุก​คน​อยาก​มี​แฟน บาง​คน​คิด​ว่า​คน​โสด​ทุก​คน​มอง​ว่า​เวลา​ที่​จะ​ได้​เจอ​กับ​คน​หลาย ๆ คน​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​หา​แฟน​ได้ มี​ครั้ง​หนึ่ง​ที่​ฉัน​ไป​ทำ​งาน​มอบหมาย​ใน​อีก​เมือง ฉัน​ไป​ถึง​ที่​นั่น​ใน​คืน​ที่​มี​การ​ประชุม พี่​น้อง​หญิง​ที่​ฉัน​ไป​พัก​ด้วย​บอก​ว่า​มี​พี่​น้อง​ชาย 2 คน​ที่​อายุ​เท่า​กัน​กับ​ฉัน​เลย​ใน​ประชาคม เธอ​บอก​ฉัน​ว่า​เธอ​ไม่​ได้​พยายาม​จะ​จับ​คู่​ให้​ฉัน​นะ แต่​พอ​ไป​ถึง​ที่​หอ​ประชุม เธอ​ก็​ดึง​ฉัน​ไป​หา​พี่​น้อง​ชาย 2 คน​นั้น บอก​ได้​เลย​ว่า​ตอน​ที่​เรา​เจอ​หน้า​กัน เรา​ทั้ง​สาม​คน​ทำ​ตัว​ไม่​ถูก​เลย”

13. ตัว​อย่าง​อะไร​ที่​ให้​กำลังใจ​พี่​น้อง​หญิง​โสด​คน​หนึ่ง?

13 พี่​น้อง​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​รับใช้​ที่​เบเธล​บอก​ว่า “ฉัน​รู้​จัก​ไพโอเนียร์​โสด​หลาย​คน​ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​ที่​รับใช้​มา​นาน พวก​เขา​เป็น​คน​มี​เหตุ​มี​ผล มี​เป้าหมาย​ชัดเจน เสีย​สละ​เพื่อ​คน​อื่น และ​มี​ความ​สุข​กับ​งาน​รับใช้ พวก​เขา​ช่วย​ประชาคม​ได้​มาก​จริง ๆ พวก​เขา​มี​ความ​คิด​ที่​สมดุล​เรื่อง​การ​เป็น​โสด พวก​เขา​ไม่​ได้​คิด​ว่า​ตัว​เอง​ดี​กว่า​คน​อื่น​เพราะ​เป็น​โสด หรือ​คิด​ว่า​ตัว​เอง​จะ​ไม่​มี​ความ​สุข​เพราะ​ไม่​ได้​แต่งงาน​และ​ไม่​มี​ลูก” ถ้า​พี่​น้อง​ทุก​คน​เห็น​ค่า​และ​ให้​เกียรติ​กัน​และ​กัน ทั้ง​ประชาคม​ก็​จะ​มี​ความ​สุข คุณ​รู้​ว่า​คุณ​จะ​ไม่​ถูก​มอง​ข้าม​หรือ​ถูก​มอง​ว่า​ดี​กว่า​คน​อื่น ไม่​มี​ใคร​จะ​อิจฉา​คุณ​หรือ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​สงสาร​ตัว​เอง คุณ​รู้​ว่า​คุณ​มี​ค่า​และ​เป็น​ที่​รัก​ของ​ประชาคม

14. เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​โสด?

14 พี่​น้อง​โสด​ของ​เรา​จะ​รู้สึก​ขอบคุณ​ถ้า​เรา​มอง​ที่​ข้อ​ดี​ของ​เขา ไม่​ใช่​มอง​ว่า​เขา​แต่งงาน​หรือ​ยัง​ไม่​ได้​แต่งงาน ดัง​นั้น​เรา​ควร​จะ​สนใจ​และ​เห็น​ค่า​ที่​พวก​เขา​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ไม่​ใช่​สงสาร​ที่​พวก​เขา​ยัง​ไม่​ได้​แต่งงาน พวก​เขา​จะ​ได้​ไม่​รู้สึก​เหมือน​เรา​กำลัง​พูด​กับ​พวก​เขา​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ต้องการ​คุณ’ (1 คร. 12:21) แต่​พวก​เขา​จะ​รู้​ว่า​เรา​ให้​เกียรติ​พวก​เขา​และ​มอง​ว่า​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​ประชาคม

ให้​เกียรติ​คน​ที่​พูด​ภาษา​ของ​คุณ​ไม่​เก่ง

15. บาง​คน​ได้​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​เพื่อ​จะ​รับใช้​มาก​ขึ้น?

15 ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​พี่​น้อง​หลาย​คน​อยาก​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น พวก​เขา​ก็​เลย​เรียน​ภาษา​ใหม่ พวก​เขา​ย้าย​ไป​ใน​ประชาคม​ที่​พูด​ภาษา​นั้น​ซึ่ง​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​มาก​กว่า (กจ. 16:9) พวก​เขา​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​หลาย​อย่าง​ใน​ชีวิต​จริง ๆ เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นี้​ได้ นี่​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ส่วน​ตัว​ของ​พวก​เขา ถึง​พวก​เขา​จะ​ใช้​เวลา​หลาย​ปี​กว่า​จะ​พูด​ภาษา​นั้น​ได้​เก่ง แต่​พวก​เขา​ก็​ช่วย​ประชาคม​ได้​หลาย​อย่าง เช่น​คุณลักษณะ​ที่​ดี​และ​ประสบการณ์​ของ​พวก​เขา​ช่วย​ให้​ประชาคม​เข้มแข็ง​ขึ้น พี่​น้อง​ที่​เสีย​สละ​ตัว​เอง​เหล่า​นี้​มี​ค่า​สำหรับ​พวก​เรา​มาก​จริง ๆ

16. คณะ​ผู้​ดู​แล​ใช้​อะไร​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​เมื่อ​จะ​แต่ง​ตั้ง​พี่​น้อง​ชาย​ให้​เป็น​ผู้​ดู​แล​หรือ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้?

16 คณะ​ผู้​ดู​แล​ต้อง​ไม่​ตัดสิน​พี่​น้อง​ว่า​เขา​ไม่​มี​คุณสมบัติ​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ดู​แล​หรือ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​แค่​เพราะ​พี่​น้อง​คน​นั้น​พูด​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ประชาคม​ไม่​เก่ง ผู้​ดู​แล​จะ​พิจารณา​ว่า​พี่​น้อง​ชาย​มี​คุณสมบัติ​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ดู​แล​หรือ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​โดย​ดู​จาก​คุณสมบัติ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์ ไม่​ใช่​ดู​จาก​ความ​สามารถ​ใน​การ​พูด​ภาษา​ที่​ใช้​ใน​ประชาคม—1 ทธ. 3:1-10, 12, 13; ทต. 1:5-9

17. พ่อ​แม่​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​อะไร​เมื่อ​ทั้ง​ครอบครัว​ต้อง​ย้าย​ไป​ต่าง​ประเทศ?

17 บาง​ครอบครัว​ย้าย​ไป​ต่าง​ประเทศ​เพื่อ​จะ​ลี้​ภัย​หรือ​เพื่อ​หา​งาน​ทำ ลูก ๆ ของ​พวก​เขา​อาจ​ไป​โรง​เรียน​ที่​ใช้​ภาษา​หลัก​ของ​ประเทศ​นั้น และ​พ่อ​แม่​ก็​อาจ​ต้อง​เรียน​ภาษา​นั้น​เพื่อ​จะ​หา​งาน​ทำ​ได้ แต่​ถ้า​มี​ประชาคม​ที่​ใช้​ภาษา​บ้าน​เกิด​ที่​พวก​เขา​พูด​ล่ะ? พวก​เขา​ควร​จะ​ไป​ประชุม​ที่​ประชาคม​ไหน จะ​เป็น​ประชาคม​ที่​พูด​ภาษา​บ้าน​เกิด​หรือ​ประชาคม​ที่​พูด​ภาษา​หลัก​ของ​ประเทศ​นั้น?

18. จาก​กาลาเทีย 6:5 เรา​จะ​แสดง​ว่า​เรา​เคารพ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​หัวหน้า​ครอบครัว​ได้​อย่าง​ไร?

18 หัวหน้า​ครอบครัว​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​ครอบครัว​ของ​เขา​จะ​ไป​ประชุม​ที่​ประชาคม​ไหน * เขา​ต้อง​คิด​ว่า​อะไร​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ครอบครัว​ของ​ตัว​เอง (อ่าน​กาลาเทีย 6:5) เพราะ​เรื่อง​นี้​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ส่วน​ตัว เรา​ต้อง​เคารพ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา ไม่​ว่า​เขา​จะ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไร​ให้​เรา​ยอม​รับ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา​และ​ต้อนรับ​พวก​เขา​โดย​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ประชาคม—โรม 15:7

19. หัวหน้า​ครอบครัว​ควร​คิด​และ​อธิษฐาน​เรื่อง​อะไร?

19 บาง​ครอบครัว​อยู่​ใน​ประชาคม​ที่​ใช้​ภาษา​บ้าน​เกิด​ของ​พ่อ​แม่ แต่​ลูก ๆ ไม่​ถนัด​ภาษา​นั้น และ​ถ้า​ประชาคม​นั้น​อยู่​ใน​เขต​ที่​ใช้​ภาษา​หลัก​ของ​ประเทศ ลูก ๆ ก็​จะ​ยิ่ง​เข้าใจ​การ​ประชุม​ได้​ยาก​และ​อาจ​ไม่​ก้าว​หน้า ทำไม​ถึง​เป็น​อย่าง​นั้น? ก็​เพราะ​ว่า​ลูก ๆ อาจ​จะ​ไป​โรง​เรียน​ที่​ใช้​ภาษา​หลัก​ของ​ประเทศ​นั้น​และ​ไม่​ได้​ใช้​ภาษา​ของ​พ่อ​แม่ ถ้า​เป็น​อย่าง​นี้​หัวหน้า​ครอบครัว​ต้อง​คิด​ดี ๆ และ​อธิษฐาน​ขอ​สติ​ปัญญา​เพื่อ​จะ​ตัดสิน​ใจ​ได้​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ช่วย​ให้​ลูก​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​สนิท​กับ​พี่​น้อง พ่อ​แม่​ต้อง​เลือก​ว่า​จะ​ช่วย​ลูก ๆ ให้​เข้าใจ​ภาษา​บ้าน​เกิด​ของ​พ่อ​แม่​มาก​ขึ้น หรือ​ไม่​พวก​เขา​ก็​ต้อง​ย้าย​ไป​ใน​ประชาคม​ที่​ใช้​ภาษา​ที่​ลูก ๆ เข้าใจ ไม่​ว่า​หัวหน้า​ครอบครัว​จะ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไร ประชาคม​ต้อง​ให้​เกียรติ​เขา​และ​ครอบครัว​ของ​เขา และ​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ประชาคม

เรา​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​เห็น​ค่า​คน​ที่​กำลัง​เรียน​ภาษา​ใหม่? (ดู​ข้อ 20)

20. เรา​จะ​ให้​เกียรติ​พี่​น้อง​ที่​กำลัง​เรียน​ภาษา​ใหม่​ได้​อย่าง​ไร?

20 จาก​เหตุ​ผล​ทั้ง​หมด​ที่​เรา​ได้​คุย​กัน​ไป​ก่อน​หน้า​นี้ เรา​เห็น​ว่า​ใน​หลาย​ประชาคม​มี​พี่​น้อง​ที่​กำลัง​เรียน​ภาษา​ใหม่ พวก​เขา​อาจ​จะ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​พูด​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง​หรือ​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​ออก​มา ถ้า​เรา​ไม่​เอา​แต่​สนใจ​วิธี​ที่​พวก​เขา​พูด​ภาษา​ของ​เรา เรา​ก็​จะ​เห็น​ความ​รัก​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​เห็น​ว่า​พวก​เขา​อยาก​รับใช้​พระองค์ ถ้า​เรา​เห็น​คุณลักษณะ​ที่​ดี​เหล่า​นี้​ของ​พวก​เขา เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​เห็น​ค่า​และ​ให้​เกียรติ​พวก​เขา​มาก​ขึ้น เรา​จะ​ไม่​พูด​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ต้องการ​คุณ’ แค่​เพราะ​พวก​เขา​พูด​ภาษา​ของ​เรา​ไม่​เก่ง

เรา​มี​ค่า​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา

21-22. เรา​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​อะไร?

21 พระ​ยะโฮวา​ให้​เรา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​ประชาคม​ของ​พระองค์ ไม่​ว่า​เรา​จะ​เป็น​ผู้​ชาย​หรือ​ผู้​หญิง โสด​หรือ​แต่งงาน​แล้ว อายุ​น้อย​หรือ​อายุ​มาก หรือ​จะ​เก่ง​เรื่อง​ภาษา​หรือ​เปล่า เรา​ก็​มี​ค่า​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​กัน​และ​กัน—โรม 12:4, 5; โคโลสี 3:10, 11

22 เรา​ได้​บทเรียน​หลาย​อย่าง​จาก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ของ​เปาโล​เรื่อง​อวัยวะ​ต่าง ๆ ของ​ร่าง​กาย ขอ​ให้​เรา​เอา​บทเรียน​เหล่า​นั้น​ไป​ใช้​ใน​ชีวิต นี่​จะ​ช่วย​ให้​เรา​พยายาม​หา​วิธี​ที่​จะ​ให้​กำลังใจ​พี่​น้อง และ​จะ​ช่วย​ให้​เรา​ให้​เกียรติ​และ​มอง​ว่า​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ประชาคม​ของ​พระ​ยะโฮวา

เพลง 90 ให้​กำลังใจ​กัน

^ วรรค 5 คน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ภูมิหลัง​ที่​หลาก​หลาย​และ​มี​บทบาท​ใน​ประชาคม​ที่​ไม่​เหมือน​กัน ใน​บทความ​นี้​เรา​จะ​มา​ดู​ว่า​ทำไม​เรา​ถึง​ต้อง​ให้​เกียรติ​สมาชิก​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​พระ​ยะโฮวา

^ วรรค 8 เรา​ไม่​สามารถ​บอก​ได้​ว่า​ทิโมธี​ไม่​แต่งงาน​ตลอด​ชีวิต

^ วรรค 18 หัวหน้า​ครอบครัว​หมาย​ถึง​พ่อ​ที่​เป็น​พยาน​ฯ หรือ​หมาย​ถึง​แม่​ใน​ครอบครัว​ที่​พ่อ​ไม่​ได้​เป็น​พยาน​ฯ