บทความ​ศึกษา 16

มีความสุขที่ได้ให้พระยะโฮวาเต็มที่เท่าที่คุณทำได้

มีความสุขที่ได้ให้พระยะโฮวาเต็มที่เท่าที่คุณทำได้

“ให้​แต่​ละ​คน​ตรวจ​สอบ​ดู​สิ่ง​ที่​ตัว​เอง​ทำ”—กท. 6:4

เพลง 37 รับใช้​พระ​ยะโฮวา​สุด​ชีวิต

ใจความ​สำคัญ *

1. อะไร​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สุข​มาก?

 พระ​ยะโฮวา​อยาก​ให้​เรา​มี​ความ​สุข ที่​เรา​รู้​ก็​เพราะ​ความ​ยินดี​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ผล​ที่​เกิด​จาก​พลัง​ของ​พระเจ้า (กท. 5:22) เนื่อง​จาก​การ​ให้​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​ยิ่ง​กว่า​การ​รับ เรา​เลย​มี​ความ​สุข​มาก​ตอน​ที่​ทำ​งาน​รับใช้​และ​ช่วย​พี่​น้อง​ของ​เรา​อย่าง​สุด​กำลัง—กจ. 20:35

2-3. (ก) กาลาเทีย 6:4 พูด​ถึง​เหตุ​ผล 2 อย่าง​อะไร​ที่​จะ​ทำ​ให้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​ความ​สุข? (ข) เรา​จะ​คุย​เรื่อง​อะไร​บ้าง​ใน​บทความ​นี้?

2 ใน​กาลาเทีย 6:4 อัครสาวก​เปาโล​พูด​ถึง​เหตุ​ผล 2 อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สุข (อ่าน) อย่าง​แรก เรา​ต้อง​ให้​สิ่ง​ดี​ที่​สุด​ที่​เรา​มี​กับ​พระ​ยะโฮวา ถ้า​เรา​รับใช้​พระองค์​เต็ม​ที่​สุด​ความ​สามารถ​ของ​เรา เรา​ก็​ควร​จะ​มี​ความ​สุข (มธ. 22:36-38) อย่าง​ที่​สอง เรา​ไม่​ควร​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เรา​เอง​กับ​คน​อื่น ถ้า​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​สำเร็จ​เพราะ​มี​สุขภาพ​ดี ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม หรือ​มี​ความ​สามารถ​พิเศษ เรา​ก็​ควร​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​เพราะ​ทุก​อย่าง​ที่​เรา​มี​ก็​มา​จาก​พระองค์ และ​ถ้า​คน​อื่น​ทำ​งาน​รับใช้​บาง​อย่าง​เก่ง​กว่า​เรา เรา​ควร​ดีใจ​กับ​เขา​เพราะ​เขา​ได้​ใช้​ความ​สามารถ​ของ​ตัว​เอง​เพื่อ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ เขา​ไม่​ได้​ใช้​ความ​สามารถ​ที่​มี​เพื่อ​จะ​ให้​ตัว​เอง​ได้​ประโยชน์​และ​ได้​รับ​การ​ยกย่อง ดัง​นั้น เรา​ไม่​ควร​แข่ง​กับ​พี่​น้อง เรา​ควร​เรียน​รู้​จาก​พวก​เขา

3 บทความ​นี้​เรา​จะ​มา​ดู​กัน​ว่า​อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​รับมือ​ได้​ถ้า​เรา​รู้สึก​ว่า​รับใช้​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน และ​เรา​จะ​ใช้​ความ​สามารถ​ของ​เรา​ให้​เต็ม​ที่​ได้​ยัง​ไง นอก​จาก​นั้น เรา​จะ​ดู​ว่า​เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​คน​อื่น

ถ้า​รู้สึก​ว่า​รับใช้​ไม่​ได้​มาก​อย่าง​ที่​อยาก​ทำ

ถ้า​เรา​รับใช้​เต็ม​ที่​ตลอด​ทุก​ช่วง​เวลา​ของ​ชีวิต เรา​ก็​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​มี​ความ​สุข (ดู​ข้อ 4-6) *

4. อะไร​อาจ​ทำ​ให้​ท้อ​ใจ​ได้? ขอ​ยก​ตัว​อย่าง

4 เมื่อ​เรา​อายุ​มาก​หรือ​สุขภาพ​ไม่​ดี​จน​รับใช้​พระเจ้า​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน เรา​อาจ​รู้สึก​รับ​ได้​ยาก แครอล​ก็​รู้สึก​แบบ​นั้น เธอ​เคย​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ไป​รับใช้​ใน​ที่​ที่​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​มาก​กว่า ช่วง​นั้น​เธอ​มี​นัก​ศึกษา​ถึง 35 ราย​และ​ก็​ช่วย​หลาย​คน​ให้​อุทิศ​ตัว​และ​รับ​บัพติศมา แครอล​รับใช้​ได้​มาก​จริง ๆ แต่​แล้ว​เธอ​ก็​ป่วย​หนัก เธอ​ไป​ไหน​มา​ไหน​ไม่​ได้​และ​ต้อง​อยู่​แต่​ใน​บ้าน แครอล​บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​สบาย ฉัน​รับใช้​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​พี่​น้อง​คน​อื่น เลย​รู้สึก​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​คริสเตียน​ที่​ดี​เหมือน​พวก​เขา ฉัน​รู้สึก​ว่า​ความ​เป็น​จริง​กับ​สิ่ง​ที่​อยาก​ทำ​มัน​สวน​ทาง​กัน พอ​ฉัน​ทำ​อะไร​ไม่​ได้​อย่าง​ที่​อยาก​ทำ ฉัน​เลย​รู้สึก​ท้อ​จน​แทบ​จะ​ทน​ไม่​ไหว” แครอล​อยาก​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ที่ และ​นั่น​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ชมเชย เรา​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เห็น​ใจ​เธอ​และ​รู้สึก​เห็น​ค่า​ที่​เธอ​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ

5. (ก) ถ้า​เรา​รับใช้​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน เรา​ควร​จำ​อะไร​ไว้? (ข) อย่าง​ที่​เห็น​ใน​ภาพ พี่​น้อง​ชาย​รับใช้​พระเจ้า​อย่าง​เต็ม​ที่​เสมอ​ยัง​ไง?

5 ถ้า​คุณ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน​และ​รู้สึก​ท้อ ให้​ถาม​ตัว​เอง​ว่า “พระ​ยะโฮวา​อยาก​ได้​อะไร​จาก​ฉัน?” พระองค์​อยาก​ให้​คุณ​ทำ​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​คุณ​ทำ​ได้​ตอน​นี้ ลอง​คิด​ถึง​ตัว​อย่าง​นี้ พี่​น้อง​หญิง​ที่​อายุ 80 รู้สึก​ท้อ​ใจ​ที่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​ตอน​อายุ 40 เธอ​คิด​ว่า​ถึง​จะ​ทำ​เต็ม​ที่​แค่​ไหน​ก็​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​ใจ​ไม่​ได้​หรอก แต่​มัน​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง ๆ ไหม? ลอง​คิด​แบบ​นี้ ตอน​ที่​เธอ​อายุ 40 เธอ​ก็​ทำ​เต็ม​ที่ พอ​อายุ 80 เธอ​ก็​ทำ​เต็ม​ที่​เหมือน​กัน ไม่​ว่า​จะ​อายุ​เท่าไหร่​เธอ​ก็​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่​สุด​ความ​สามารถ​ตอน​นั้น ถ้า​เรา​เริ่ม​คิด​ว่า​เรา​รับใช้​ได้​น้อย​เกิน​ไป พระ​ยะโฮวา​คง​ไม่​พอ​ใจ​เรา​หรอก เรา​ต้อง​เตือน​ตัว​เอง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​ตัดสิน​เอง​ว่า​ต้อง​รับใช้​แค่​ไหน​พระองค์​ถึง​จะ​พอ​ใจ เรา​ไม่​ได้​เป็น​คน​ตัดสิน ถ้า​เรา​ทำ​เต็ม​ที่​สุด​ความ​สามารถ เรา​ก็​มั่น​ใจ​ได้​เลย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​บอก​กับ​เรา​ว่า “ดี​มาก!”—เทียบ​กับ​มัทธิว 25:20-23

6. เรา​ได้​เรียน​อะไร​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​มาเรีย?

6 เรา​จะ​รับใช้​อย่าง​มี​ความ​สุข​ถ้า​เรา​สนใจ​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ไม่​ได้ ให้​เรา​มา​ดู​ตัว​อย่าง​ของ​มาเรีย เธอ​เป็น​โรค​ที่​ทำ​ให้​รับใช้​ได้​ไม่​มาก ตอน​แรก​เธอ​รู้สึก​แย่​มาก​และ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไม่​มี​ค่า แต่​แล้ว​เธอ​ก็​คิด​ถึง​พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ใน​ประชาคม​ที่​ป่วย​ติด​เตียง และ​รู้สึก​อยาก​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​คน​นั้น มาเรีย​เล่า​ว่า “ฉัน​นัด​ประกาศ​ทาง​โทรศัพท์​และ​เขียน​จดหมาย​ด้วย​กัน​กับ​เธอ ทุก​ครั้ง​ที่​เรา​ได้​รับใช้​ด้วย​กัน ฉัน​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​ได้​ช่วย​เธอ” เรา​ก็​เหมือน​กัน ถ้า​เรา​สนใจ​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ไม่​ได้ เรา​ก็​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​ความ​สุข​มาก​ขึ้น แต่​ถ้า​เรา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ได้​ดี​เป็น​พิเศษ เรา​ควร​จะ​ทำ​ยัง​ไง?

ถ้า​คุณ​มี​ความ​สามารถ ก็​ใช้​มัน​เลย!

7. เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​อะไร​กับ​คริสเตียน?

7 ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ของ​เปโตร เขา​บอก​ให้​พี่​น้อง​ใช้​ความ​สามารถ​ที่​มี​เพื่อ​จะ​ให้​กำลังใจ​กัน​และ​กัน เขา​เขียน​ว่า “แต่​ละ​คน​ได้​รับ​ความ​สามารถ​ตาม​ความ​กรุณา​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ซึ่ง​พระเจ้า​แสดง​ออก​ใน​หลาย ๆ ทาง ดังนั้น ให้​ใช้​ความ​สามารถ​ตาม​ขนาด​ที่​ได้​รับ​มา​เพื่อ​รับใช้​กัน​ใน​ฐานะ​คน​รับใช้​ที่​ดี” (1 ปต. 4:10) ถ้า​เรา​มี​ความ​สามารถ​บาง​อย่าง แต่​เก็บ​มัน​เอา​ไว้​และ​ไม่​ได้​ใช้​เต็ม​ที่​เพราะ​ว่า​กลัว​พี่​น้อง​คน​อื่น​จะ​อิจฉา​หรือ​รู้สึก​ท้อ​ใจ​ที่​ทำ​ได้​ไม่​เหมือน​กับ​เรา เรา​ก็​ไม่​ได้​ให้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​สุด​ความ​สามารถ​เท่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้

8. จาก 1 โครินธ์ 4:6, 7 ทำไม​เรา​ไม่​ควร​อวด​ความ​สามารถ​ของ​เรา?

8 เรา​ควร​ใช้​ความ​สามารถ​ที่​เรา​มี​อย่าง​เต็ม​ที่ แต่​เรา​ก็​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​อวด (อ่าน 1 โครินธ์ 4:6, 7) ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​คุณ​เป็น​คน​เริ่ม​นำ​การ​ศึกษา​เก่ง ก็​ขอ​ให้​คุณ​พยายาม​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ ๆ ไป แต่​การ​ใช้​ความ​สามารถ​กับ​การ​อวด​ความ​สามารถ​ไม่​เหมือน​กัน สมมุติ​ว่า​คุณ​ไป​ประกาศ​แล้ว​ได้​นัก​ศึกษา​ใหม่ คุณ​รู้สึก​อยาก​เล่า​ให้​เพื่อน​ใน​กลุ่ม​ประกาศ​ฟัง​มาก แต่​ตอน​ที่​คุณ​ไป​เจอ​พวก​เขา คุณ​เห็น​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​กำลัง​เล่า​ว่า​เขา​เสนอ​วารสาร​ได้ ลอง​คิด​ดู​ว่า​คุณ​ได้​นัก​ศึกษา​ราย​ใหม่ แต่​พี่​น้อง​คน​นั้น​เสนอ​วารสาร​ได้ 1 เล่ม คุณ​จะ​ทำ​ยัง​ไง? คุณ​คง​รู้​ว่า​ถ้า​คุณ​เล่า​ประสบการณ์​ของ​คุณ​ให้​พี่​น้อง​ใน​กลุ่ม​ฟัง พวก​เขา​คง​ได้​กำลังใจ​มาก แต่​คุณ​ก็​จะ​ไม่​เล่า​ตอน​นั้น​เพราะ​คุณ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​คน​นั้น เขา​กำลัง​ดีใจ​ที่​เสนอ​วารสาร​ได้ แต่​ก็​ขอ​ให้​คุณ​หา​นัก​ศึกษา​ใหม่​ต่อ ๆ ไป คุณ​มี​ความ​สามารถ​ใน​ด้าน​นี้ อย่า​เก็บ​มัน​ไว้ ให้​ใช้​มัน​เลย

9. เรา​ควร​ใช้​ความ​สามารถ​ของ​เรา​ยัง​ไง?

9 เรา​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า​ความ​สามารถ​ทุก​อย่าง​ที่​เรา​มี​เป็น​ของ​ขวัญ​จาก​พระ​ยะโฮวา ให้​เรา​ใช้​ความ​สามารถ​นั้น​เพื่อ​ให้​กำลังใจ​พี่​น้อง​และ​ทำ​ให้​ประชาคม​เข้มแข็ง​ขึ้น ไม่​ใช่​ใช้​เพื่อ​ทำ​ให้​เรา​ดู​เก่ง​กว่า​คน​อื่น (ฟป. 2:3) ถ้า​เรา​ใช้​กำลัง​และ​ความ​สามารถ​ของ​เรา​เพื่อ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา เรา​จะ​ภูมิ​ใจ​กับ​ตัว​เอง​เพราะ​เรา​ได้​ใช้​ความ​สามารถ​นั้น​เพื่อ​ทำ​ให้​พระองค์​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ ไม่​ใช่​เพื่อ​อวด​ว่า​เรา​เก่ง​กว่า​คน​อื่น​หรือ​ทำ​ได้​เยอะ​กว่า

10. ทำไม​ถึง​ไม่​มี​ประโยชน์​ที่​จะ​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เรา​เอง​กับ​คน​อื่น?

10 ถ้า​เรา​ไม่​ระวัง เรา​อาจ​จะ​กลาย​เป็น​คน​ชอบ​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เอง​กับ​คน​อื่น​ก็​ได้ และ​คิด​ว่า​เรา​เก่ง​กว่า​เขา อย่าง​เช่น พี่​น้อง​ที่​บรรยาย​เก่ง​อาจ​จะ​คิด​ว่า​ทำไม​พี่​น้อง​อีก​คน​บรรยาย​ไม่​เก่ง​เลย แต่​จริง ๆ แล้ว​เป็น​ไป​ได้​ที่​พี่​น้อง​คน​นั้น​อาจ​จะ​สอน​ลูก​ได้​เก่ง เป็น​คน​มี​น้ำใจ และ​ขยัน​ประกาศ​มาก ใน​ทุก​วัน​นี้​เรา​ดีใจ​ที่​มี​พี่​น้อง​ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​มาก​มาย​ใน​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ใช้​ความ​สามารถ​ของ​พวก​เขา​เพื่อ​รับใช้​พระองค์​และ​ช่วย​พี่​น้อง​คน​อื่น

เรียน​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​คน​อื่น

11. ทำไม​เรา​ควร​พยายาม​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​พระ​เยซู?

11 ถึง​เรา​จะ​ไม่​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เอง​กับ​คน​อื่น แต่​เรา​ก็​ได้​ประโยชน์​จาก​การ​สังเกต​ตัว​อย่าง​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์ พระ​เยซู​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​เรา​ควร​จะ​เลียน​แบบ ถึง​พระ​เยซู​จะ​เป็น​มนุษย์​ที่​สมบูรณ์​แบบ แต่​เรา​ก็​เรียน​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​ท่าน​ว่า​ท่าน​ทำ​อะไร​บ้าง​และ​มี​คุณลักษณะ​ที่​ดี​อะไร​บ้าง (1 ปต. 2:21) ยิ่ง​เรา​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ที่​จะ​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู เรา​ก็​จะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ดี​ขึ้น​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​งาน​รับใช้​ได้​เก่ง​ขึ้น

12-13. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​กษัตริย์​ดาวิด?

12 ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ตัว​อย่าง​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​หลาย​คน ถึง​พวก​เขา​จะ​เป็น​มนุษย์​ที่​ไม่​สมบูรณ์​แบบ แต่​เรา​ก็​สามารถ​เลียน​แบบ​พวก​เขา​ได้ (ฮบ. 6:12) อย่าง​เช่น ขอ​ให้​คิด​ถึง​ดาวิด​ที่​พระ​ยะโฮวา​เรียก​เขา​ว่า “เป็น​คน​ที่​เรา​พอ​ใจ” หรือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​หนึ่ง​บอก​ว่า “ผู้​ที่​เรา​ชอบ​ใจ​ยิ่ง​นัก” (กจ. 13:22) ถึง​ดาวิด​จะ​ไม่​สมบูรณ์​แบบ​และ​เคย​ทำ​ผิด​ร้ายแรง แต่​เขา​ก็​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ให้​กับ​เรา เพราะ​อะไร? เพราะ​ตอน​ที่​มี​คน​มา​เตือน​เขา​ว่า​เขา​ทำ​ผิด​ร้ายแรง ดาวิด​ก็​ไม่​ได้​พยายาม​แก้​ตัว แต่​เขา​ยอม​รับ​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ถึง​จะ​เป็น​คำ​แนะ​นำ​ที่​แรง​มาก​ก็​ตาม และ​ดาวิด​ก็​เสียใจ​จริง ๆ กับ​สิ่ง​ที่​ตัว​เอง​ทำ​ลง​ไป นี่​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ให้​อภัย​เขา—สด. 51:3, 4, 10-12

13 เรา​เรียน​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​ดาวิด​ได้​โดย​ให้​เรา​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘เวลา​มี​คน​มา​แนะ​นำ​ฉัน ฉัน​ทำ​ยัง​ไง? ฉัน​ยอม​รับ​ผิด​ทันที​หรือ​รีบ​แก้​ตัว? ฉัน​โทษ​คน​อื่น​ไหม? ฉัน​พยายาม​ไม่​กลับ​ไป​ทำ​ผิด​ซ้ำ​อีก​ไหม?’ คุณ​อาจ​จะ​ถาม​คำ​ถาม​คล้าย ๆ กัน​นี้​ตอน​ที่​คุณ​อ่าน​เรื่อง​ราว​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​คน​อื่น​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ให้​คุณ​คิด​ดู​ว่า​พวก​เขา​เจอ​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน​กับ​คุณ​ไหม? แล้ว​พวก​เขา​แสดง​คุณลักษณะ​ที่​น่า​เลียน​แบบ​อะไร? ทุก​ครั้ง​ที่​คุณ​อ่าน​เรื่อง​ราว​ของ​พวก​เขา ให้​คุณ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​คน​นี้​มาก​ขึ้น​ได้​ยัง​ไง?’

14. ถ้า​เรา​สังเกต​ตัว​อย่าง​ของ​พี่​น้อง เรา​จะ​ได้​ประโยชน์​อะไร?

14 นอก​จาก​นั้น คุณ​ยัง​เรียน​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​พี่​น้อง​คน​อื่น​ด้วย​ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​อายุ​น้อย​หรือ​อายุ​มาก อย่าง​เช่น คุณ​คิด​ออก​ไหม​ว่า​มี​ใคร​บ้าง​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ​ที่​กำลัง​อด​ทน​กับ​ปัญหา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ บาง​ที​พวก​เขา​อาจ​จะ​ถูก​เพื่อน​กดดัน ถูก​คน​ใน​ครอบครัว​ต่อ​ต้าน หรือ​พวก​เขา​อาจ​จะ​สุขภาพ​ไม่​ค่อย​ดี คุณ​เห็น​ไหม​ว่า​พวก​เขา​มี​คุณลักษณะ​อะไร​ที่​คุณ​อยาก​เลียน​แบบ? เมื่อ​คุณ​ได้​คิด​เกี่ยว​กับ​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​พวก​เขา นั่น​ก็​อาจ​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ของ​ตัว​เอง​ได้​ดี​ขึ้น เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​จริง ๆ ที่​มี​พี่​น้อง​ที่​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เหล่า​นี้​อยู่​กับ​เรา เรา​ภูมิ​ใจ​ใน​ตัว​พวก​เขา​มาก!—ฮบ. 13:7; ยก. 1:2, 3

มี​ความ​สุข​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​ให้​พระ​ยะโฮวา

15. คำ​แนะ​นำ​อะไร​ของ​เปาโล​ที่​ช่วย​ให้​เรา​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​ความ​สุข​ได้​ต่อ ๆ ไป?

15 เพื่อ​ประชาคม​จะ​มี​สันติ​สุข​และ​เป็น​หนึ่ง​เดียว เรา​ทุก​คน​ต้อง​ทำ​เต็ม​ที่​เท่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้ ขอ​ให้​คิด​ถึง​คริสเตียน​รุ่น​แรก ถึง​พวก​เขา​จะ​มี​ความ​สามารถ​และ​งาน​มอบหมาย​ที่​แตกต่าง​กัน แต่​พวก​เขา​ก็​ไม่​ได้​แข่งขัน​กัน​หรือ​ว่า​แตก​แยก​กัน (1 คร. 12:4, 7-11) เปาโล​บอก​ให้​ทุก​คน​ใช้​ความ​สามารถ​ที่​มี​เพื่อ “ช่วย​ให้​ร่าง​กาย​ของ​พระ​คริสต์​เข้มแข็ง​ขึ้น” เขา​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​เอเฟซัส​ว่า “เมื่อ​อวัยวะ​แต่​ละ​ส่วน​ทำ​งาน​อย่าง​ดี ทั้ง​ร่าง​กาย​ก็​เติบโต​และ​แข็งแรง​ขึ้น​ด้วย​ความ​รัก” (อฟ. 4:1-3, 11, 12, 16) พี่​น้อง​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ประชาคม​มี​สันติ​สุข​และ​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กัน​จริง ๆ และ​เรา​ก็​เห็น​ว่า​เป็น​แบบ​นั้น​ใน​ประชาคม​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ด้วย

16. เรา​ควร​พยายาม​ทำ​อะไร? (ฮีบรู 6:10)

16 ขอ​ให้​เรา​พยายาม​ไม่​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เอง​กับ​คน​อื่น แต่​ให้​เลียน​แบบ​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ของ​พระ​เยซู ขอ​ให้​เรา​เรียน​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​คน​ที่​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​พี่​น้อง​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้ เมื่อ​คุณ​พยายาม​ทำ​สุด​ความ​สามารถ คุณ​ก็​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ไม่​ทำ​สิ่ง​ที่​ชั่ว พระองค์​จึง​ไม่​มี​วัน​ลืม​งาน​ที่​พวก​คุณ​ทำ” (อ่าน​ฮีบรู 6:10) ขอ​ให้​คุณ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​ความ​สุข​ต่อ ๆ ไป คุณ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เห็น​ค่า​ที่​คุณ​พยายาม​ทำ​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​ใจ

เพลง 65 ก้าว​หน้า​ไป!

^ เรา​ทุก​คน​ได้​ประโยชน์​มาก​ถ้า​เรา​สังเกต​ตัว​อย่าง​ของ​พี่​น้อง แต่​ก็​มี​อันตราย​ที่​เรา​ต้อง​ระวัง​ด้วย ถ้า​เรา​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เรา​เอง​กับ​พวก​เขา เรา​อาจ​กลาย​เป็น​คน​หยิ่ง​หรือ​เรา​อาจ​ท้อ​ใจ​ก็​ได้ บทความ​นี้​จะ​ช่วย​ให้​เรา​ไม่​เป็น​แบบ​นั้น และ​ยัง​ช่วย​ให้​เรา​มี​ความ​สุข​ตอน​ที่​ดู​ตัว​อย่าง​ของ​คน​อื่น

^ คำ​อธิบาย​ภาพ พี่​น้อง​ชาย​รับใช้​ที่​เบเธล​ตอน​เป็น​วัยรุ่น หลัง​จาก​นั้น เขา​ก็​แต่งงาน​และ​เป็น​ไพโอเนียร์​กับ​ภรรยา พอ​มี​ลูก เขา​ก็​สอน​ลูก​ประกาศ ตอน​นี้​เขา​อายุ​มาก​แล้ว แต่​เขา​ก็​ยัง​รับใช้​เต็ม​ที่​เท่า​ที่​เขา​ทำ​ได้​โดย​เขียน​จดหมาย