คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราโดยวิธีใด?

คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราโดยวิธีใด?

คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​รอด​มา​ถึง​สมัย​ของ​เรา​โดย​วิธี​ใด?

ข้อ​ที่​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​รอด​มา​ถึง​สมัย​ของ​เรา​โดย​ที่​เนื้อ​ความ​ไม่​ถูก​เปลี่ยน​แปลง​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​มหัศจรรย์​ก็​ว่า​ได้. คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​เสร็จ​สิ้น​กว่า 1,900 ปี​ที่​แล้ว และ​ถูก​เขียน​บน​วัสดุ​ที่​ย่อย​สลาย​ได้ เช่น กระดาษ​ที่​ทำ​จาก​ต้น​อ้อ​พาไพรัส​และ​แผ่น​หนัง​สัตว์ อีก​ทั้ง​ภาษา​ที่​ใช้​เขียน​ต้น​ฉบับ​ก็​เป็น​ภาษา​ที่​น้อย​คน​ใน​สมัย​นี้​จะ​เข้าใจ. นอก​จาก​นั้น ผู้​มี​อำนาจ​หลาย​คน ตั้ง​แต่​จักรพรรดิ​ไป​จน​ถึง​ผู้​นำ​ศาสนา ต่าง​มุ่ง​มั่น​พยายาม​กำจัด​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​หมด​ไป.

หนังสือ​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้​ผ่าน​พ้น​กาล​เวลา​อัน​ยาว​นาน​และ​กลาย​มา​เป็น​หนังสือ​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ที่​สุด​ของ​มนุษยชาติ​โดย​วิธี​ใด? ขอ​พิจารณา​ปัจจัย​เพียง​แค่​สอง​ประการ.

สำเนา​หลาย​ฉบับ​ช่วย​รักษา​ข้อ​ความ

ชาว​อิสราเอล ซึ่ง​เป็น​ผู้​คุ้มครอง​ข้อ​ความ​ช่วง​แรก​สุด​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ได้​เก็บ​รักษา​ม้วน​หนังสือ​ต้น​ฉบับ​ไว้​อย่าง​ระมัดระวัง​และ​ทำ​สำเนา​ไว้​เป็น​จำนวน​มาก. ตัว​อย่าง​เช่น เหล่า​กษัตริย์​แห่ง​ชาติ​อิสราเอล​ได้​รับ​บัญชา​ให้​คัด​ลอก “พระ​บัญญัติ​เหล่า​นี้, ออก​ไว้​จาก​หนังสือ​พระ​บัญญัติ​ที่​อยู่​กับ​พวก​ปุโรหิต​และ​พวก​เลวี.”—พระ​บัญญัติ 17:18.

ชาว​อิสราเอล​หลาย​คน​ชอบ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​มาก และ​ยอม​รับ​ว่า​พระ​คัมภีร์​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เพราะ​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​คัด​ลอก​ข้อ​ความ​อย่าง​ระมัดระวัง​ยิ่ง​โดย​อาลักษณ์​ผู้​ผ่าน​การ​ฝึก​อบรม​มา​อย่าง​ดี. อาลักษณ์​ผู้​เกรง​กลัว​พระเจ้า​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เอษรา​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “อาลักษณ์​ชำนาญ​ใน​บท​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ, คือ​พระ​บัญญัติ​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​แห่ง​พวก​ยิศราเอล​ได้​ทรง​ประทาน.” (เอษรา 7:6) พวก​มาโซเรต ซึ่ง​เป็น​ผู้​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู หรือ​ที่​เรียก​กัน​ว่า “พันธสัญญา​เดิม” ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่​หก​ถึง​สิบ ส.ศ. ถึง​กับ​นับ​จำนวน​ตัว​อักษร​เพื่อ​จะ​ไม่​ให้​เกิด​ข้อ​ผิด​พลาด​ใน​ข้อ​ความ. การ​คัด​ลอก​สำเนา​อย่าง​พิถีพิถัน​เช่น​นี้​ช่วย​ทำ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​ข้อ​ความ​ถูก​ต้อง​และ​รับประกัน​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​อยู่​รอด​ต่อ​ไป​แม้​ศัตรู​จะ​มุ่ง​มั่น​ทำลาย​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ไม่​ละลด.

ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 168 ก่อน ส.ศ. อันทิโอกุส​ที่ 4 ผู้​ปกครอง​ชาว​ซีเรีย​ได้​พยายาม​จะ​ทำลาย​สำเนา​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​หมด​ที่​เขา​หา​ได้​ตลอด​ทั่ว​เขต​ปาเลสไตน์. นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ม้วน​หนังสือ​ใด ๆ แห่ง​พระ​บัญญัติ​ที่​พวก​เขา​ค้น​พบ พวก​เขา​ได้​ฉีก​ทิ้ง​และ​เผา​เสีย.” สารานุกรม เดอะ จูวิช กล่าว​ว่า “เหล่า​เจ้าหน้าที่​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​นี้​ก็​ได้​ทำ​ตาม​อย่าง​เข้มงวด . . . การ​มี​หนังสือ​ศักดิ์สิทธิ์​อยู่​ใน​ครอบครอง . . . มี​โทษ​ถึง​ขั้น​ประหาร​ชีวิต.” แต่​สำเนา​ของ​พระ​คัมภีร์​ก็​ยัง​คง​อยู่​รอด​ได้​ใน​ท่ามกลาง​ชาว​ยิว​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​ปาเลสไตน์​และ​ใน​ต่าง​แดน.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ผู้​บันทึก​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก หรือ​ที่​เรียก​กัน​ว่า “พันธสัญญา​ใหม่” เขียน​เสร็จ​สมบูรณ์ ก็​มี​ฉบับ​สำเนา​ของ​จดหมาย, คำ​พยากรณ์, และ​บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ของ​พวก​เขา​ปรากฏ​ขึ้น​อย่าง​มาก​มาย. ตัว​อย่าง​เช่น โยฮัน​เขียน​กิตติคุณ​ของ​ท่าน​ใน​เมือง​เอเฟโซส์​หรือ​บริเวณ​ใกล้​เคียง. กระนั้น ชิ้น​ส่วน​ของ​กิตติคุณ​นั้น​ชิ้น​หนึ่ง ซึ่ง​ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า​เป็น​ส่วน​ของ​ฉบับ​สำเนา​ที่​ถูก​ทำ​ขึ้น​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง 50 ปี​หลัง​จาก​ที่​ท่าน​เขียน​กิตติคุณ​นี้ ถูก​ค้น​พบ​ใน​อียิปต์​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​หลาย​ร้อย​กิโลเมตร. การ​ค้น​พบ​นี้​แสดง​ว่า​คริสเตียน​ใน​ดินแดน​ที่​ห่าง​ไกล​ก็​มี​สำเนา​ของ​ข้อ​ความ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​เพิ่ง​เขียน​ขึ้น​ไม่​นาน​ก่อน​หน้า​นั้น.

การ​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แพร่​หลาย​ไป​อย่าง​กว้าง​ไกล​จึง​มี​ส่วน​ทำ​ให้​พระ​คำ​นั้น​อยู่​รอด​มา​ได้​หลาย​ศตวรรษ​นับ​จาก​สมัย​ของ​พระ​คริสต์. ตัว​อย่าง​เช่น ตอน​รุ่ง​สาง​ของ​วัน​ที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี ส.ศ. 303 กล่าว​กัน​ว่า​ดิโอเคลเชียน​จักรพรรดิ​โรมัน ได้​เฝ้า​ดู​ทหาร​ของ​เขา​พัง​ประตู​โบสถ์​แห่ง​หนึ่ง​และ​เผา​สำเนา​หลาย​ฉบับ​ของ​พระ​คัมภีร์. ดิโอเคลเชียน​คิด​ว่า​เขา​สามารถ​ขจัด​ศาสนา​คริสเตียน​ออก​ไป​ได้​โดย​ทำลาย​ข้อ​เขียน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​ศาสนา​นั้น. วัน​ถัด​มา เขา​ออก​กฤษฎีกา​ว่า ให้​เผา​ฉบับ​สำเนา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​อยู่​ทั้ง​หมด​ต่อ​หน้า​สาธารณชน​ตลอด​ทั่ว​จักรวรรดิ​โรมัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​สำเนา​บาง​ฉบับ​เหลือ​รอด​มา​ได้​และ​มี​การ​ทำ​สำเนา​เพิ่ม​ขึ้น​อีก. ที่​จริง ส่วน​ใหญ่​ของ​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​กรีก​สอง​ฉบับ​ซึ่ง​คง​จะ​ถูก​ทำ​ขึ้น​ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​ข่มเหง​โดย​ดิโอเคลเชียน​นั้น​อยู่​รอด​มา​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้. ฉบับ​หนึ่ง​อยู่​ใน​กรุง​โรม; ส่วน​อีก​ฉบับ​หนึ่ง​อยู่​ใน​ห้อง​สมุด​แห่ง​บริเตน ใน​กรุง​ลอนดอน ประเทศ​อังกฤษ.

แม้​ว่า​ยัง​ไม่​เคย​พบ​ต้น​ฉบับ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​สำเนา​ที่​คัด​ลอก​ด้วย​มือ​หลาย​พัน​ฉบับ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​ครบ​ชุด​หรือ​บาง​ส่วน ก็​อยู่​รอด​มา​จน​ถึง​สมัย​ของ​เรา. บาง​ฉบับ​เก่า​แก่​มาก. ข่าวสาร​ที่​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​เดิม​ถูก​เปลี่ยน​แปลง​ไป​ระหว่าง​การ​คัด​ลอก​ไหม? ผู้​เชี่ยวชาญ​ชื่อ ดับเบิลยู. เอช. กรีน กล่าว​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ว่า “อาจ​กล่าว​ได้​อย่าง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า ไม่​มี​หนังสือ​แห่ง​ยุค​โบราณ​เล่ม​ใด​ที่​จะ​ถูก​ถ่ายทอด​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​เท่า​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​อีก​แล้ว.” ผู้​เชี่ยวชาญ​ระดับ​แนว​หน้า​ว่า​ด้วย​ฉบับ​สำเนา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ชื่อ​เซอร์​เฟรเดอริก เคนยอน เขียน​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เอา​ไว้​ว่า “ระยะ​ห่าง​ระหว่าง​เวลา​เขียน​ข้อ​ความ​ต้น​ฉบับ​กับ​หลักฐาน​ฉบับ​สำเนา​เก่า​แก่​ที่​สุด​เท่า​ที่​มี​อยู่​ปรากฏ​ว่า​น้อย​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​มอง​ข้าม​ไป​ได้ และ​มูล​เหตุ​สุด​ท้าย​ของ​ข้อ​สงสัย​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พระ​คัมภีร์​ตก​ทอด​มา​ถึง​เรา​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ใน​สาระ​สำคัญ​ดัง​ที่​มี​การ​เขียน​ไว้​ตั้ง​แต่​แรก​หรือ​ไม่​นั้น​บัด​นี้​ถูก​ขจัด​ไป​แล้ว. ทั้ง​ความ​เชื่อถือ​ได้ และ​ความ​ถูก​ต้อง​ตาม​ต้น​ฉบับ​โดย​ทั่ว​ไป ของ​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ใน​พันธสัญญา​ใหม่​อาจ​ถือ​ว่า​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​แล้ว​ใน​ที่​สุด.” เขา​ยัง​พูด​อีก​ว่า “กล่าว​อย่าง​หนักแน่น​ได้​เลย​ว่า ใน​สาระ​สำคัญ​แล้ว ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จริง​แท้​แน่นอน. . . . ไม่​อาจ​กล่าว​เช่น​นี้​ได้​เลย​กับ​หนังสือ​โบราณ​อื่น​ใด​ใน​โลก.”

การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

ปัจจัย​หลัก​อย่าง​ที่​สอง​ที่​ช่วย​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​กลาย​เป็น​หนังสือ​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ที่​สุด​ของ​มนุษยชาติ​คือ​การ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​หา​อ่าน​ได้​ใน​หลาย​ภาษา. ข้อ​เท็จ​จริง​เรื่อง​นี้​ลง​รอย​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้​ประชาชน​ทุก​ชาติ​ทุก​ภาษา​ได้​มา​รู้​จัก​และ​นมัสการ​พระองค์ “ด้วย​พระ​วิญญาณ​และ​ความ​จริง.”—โยฮัน 4:23, 24; มีคา 4:2.

ฉบับ​แปล​แรก​สุด​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน​คือ​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​กรีก. ฉบับ​แปล​นี้​ทำ​ขึ้น​เพื่อ​ชาว​ยิว​ที่​ใช้​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​นอก​เขต​ปาเลสไตน์ และ​ทำ​เสร็จ​สมบูรณ์​ราว ๆ สอง​ศตวรรษ​ก่อน​งาน​รับใช้​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ของ​พระ​เยซู. คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด รวม​ทั้ง​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก ได้​รับ​การ​แปล​ออก​เป็น​หลาย​ภาษา​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ศตวรรษ​หลัง​จาก​เขียน​เสร็จ. แต่​ใน​เวลา​ต่อ​มา บรรดา​กษัตริย์​และ​แม้​แต่​พวก​บาทหลวง ซึ่ง​ควร​จะ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​ทำ​ได้​เพื่อ​เผยแพร่​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ไป​ถึง​มือ​ประชาชน​โดย​ทั่ว​ไป กลับ​ทำ​ใน​สิ่ง​ที่​ตรง​กัน​ข้าม​เลย​ที​เดียว. พวก​เขา​พยายาม​ทำ​ให้​ประชาชน​ของ​ตน​อยู่​ใน​ความ​มืด​ฝ่าย​วิญญาณ​ต่อ ๆ ไป โดย​ไม่​ยอม​ให้​มี​การ​แปล​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ภาษา​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน.

โดย​ท้าทาย​อำนาจ​คริสตจักร​และ​รัฐ เหล่า​คน​ที่​กล้า​หาญ​ได้​เสี่ยง​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​อ่าน​ได้. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1530 วิลเลียม ทินเดล ชาว​อังกฤษ ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ศึกษา​ที่​ออกซฟอร์ด ได้​ผลิต​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​เพนทาทุก หรือ​พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู. แม้​ว่า​จะ​ถูก​ต่อ​ต้าน​อย่าง​หนัก แต่​เขา​ก็​เป็น​คน​แรก​ที่​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​โดย​ตรง. ทินเดล​ยัง​เป็น​ผู้​แปล​ภาษา​อังกฤษ​คน​แรก​ที่​ใช้​พระ​นาม​ยะโฮวา (Jehovah) อีก​ด้วย. ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ชื่อ​กาซีโอโดโร เด เรย์นา ชาว​สเปน​ต้อง​เสี่ยง​ชีวิต​อยู่​เสมอ ๆ เนื่อง​จาก​ถูก​ชาว​คาทอลิก​ข่มเหง เมื่อ​เขา​ทำ​การ​ผลิต​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ฉบับ​แรก ๆ ใน​ภาษา​สเปน. เขา​เดิน​ทาง​ไป​อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, ฮอลแลนด์, และ​สวิตเซอร์แลนด์​ขณะ​ที่​เขา​ทำ​งาน​จน​ฉบับ​แปล​นั้น​แล้ว​เสร็จ. *

ปัจจุบัน คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​คง​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ เพิ่ม​ขึ้น​อีก และ​มี​การ​จัด​พิมพ์​ออก​ไป​หลาย​ล้าน​ฉบับ. การ​อยู่​รอด​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​จน​กลาย​มา​เป็น​หนังสือ​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ที่​สุด​ของ​มนุษยชาติ​แสดง​ให้​เห็น​ความ​จริง​ของ​ถ้อย​คำ​ของ​อัครสาวก​เปโตร​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ที่​ว่า “ต้น​หญ้า​เหี่ยว​แห้ง​ไป และ​ดอก​ก็​ร่วงโรย​ไป แต่​คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​ดำรง​อยู่​เป็น​นิตย์.”—1 เปโตร 1:24, 25.

[เชิงอรรถ]

^ ฉบับ​แปล​ของ​เรย์นา​ได้​รับ​การ​จัด​พิมพ์​ใน​ปี 1569 และ​ได้​รับ​การ​แก้ไข​ปรับ​ปรุง​โดย​ซี​ปรี​อา​โน เด วา​เล​รา ใน​ปี 1602.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

ฉัน​ควร​อ่าน​ฉบับ​แปล​ใด?

มี​อยู่​หลาย​ภาษา​ที่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​มาย​หลาย​ฉบับ​แปล. ฉบับ​แปล​บาง​ฉบับ​ใช้​ภาษา​โบราณ​ที่​เข้าใจ​ยาก. บาง​ฉบับ​เป็น​การ​แปล​อย่าง​อิสระ​แบบ​ถอด​ความ​ซึ่ง​มี​เจตนา​เพื่อ​ทำ​ให้​อ่าน​ได้​อย่าง​เพลิดเพลิน​มาก​กว่า​ที่​จะ​คำนึง​ถึง​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ. แม้​กระนั้น​ก็​ยัง​มี​บาง​ฉบับ​ที่​แปล​ตาม​ตัว​อักษร หรือ​เกือบ​จะ​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​ด้วย​ซ้ำ.

พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ภาษา​อังกฤษ ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา ได้​รับ​การ​แปล​โดย​ตรง​จาก​ภาษา​เดิม​โดย​คณะ​กรรมการ​ที่​ไม่​ประสงค์​จะ​ออก​นาม. ต่อ​มา​ฉบับ​แปล​นี้​ได้​กลาย​มา​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​อื่น ๆ อีก​ประมาณ 60 ภาษา. อย่าง​ไร​ก็​ดี บรรดา​ผู้​แปล​ของ​ภาษา​เหล่า​นั้น​ได้​ทำ​การ​เปรียบ​เทียบ​อย่าง​ละเอียด​กับ​ข้อ​ความ​ใน​ภาษา​เดิม. ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ มุ่ง​เป้า​เพื่อ​แปล​ข้อ​ความ​ภาษา​เดิม​ตาม​ตัว​อักษร​ตราบ​ใด​ที่​การ​แปล​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​ปิด​บัง​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง. คณะ​ผู้​แปล​พยายาม​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​สำหรับ​ผู้​อ่าน​ใน​ปัจจุบัน เช่น​เดียว​กับ​ที่​ข้อ​ความ​เดิม​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​สำหรับ​ผู้​อ่าน​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล.

นัก​ภาษา​ศาสตร์​บาง​คน​ได้​ตรวจ​สอบ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​สมัย​ปัจจุบัน​หลาย​ฉบับ รวม​ทั้ง​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ด้วย เพื่อ​จะ​หา​ตัว​อย่าง​การ​แปล​ที่​ผิด​พลาด​และ​การ​แปล​อย่าง​มี​อคติ. หนึ่ง​ใน​ผู้​เชี่ยวชาญ​เหล่า​นั้น​คือ​เจสัน เดวิด เบดุน ผู้​ช่วย​ศาสตราจารย์​ภาค​วิชา​ศาสนศาสตร์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​นอร์เทิร์น​แอริโซนา สหรัฐ​อเมริกา. เมื่อ​ปี 2003 เขา​ได้​ตี​พิมพ์​บท​วิจัย​ที่​มี​ความ​ยาว 200 หน้า​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ต่าง ๆ เก้า​ฉบับ “ที่​ใช้​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​มาก​ที่​สุด​ใน​ประเทศ​ที่​พูด​ภาษา​อังกฤษ.” * การ​ศึกษา​วิจัย​ของ​เขา​ได้​ตรวจ​สอบ​ข้อ​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​ตอน​ที่​พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ถกเถียง​กัน​อย่าง​มาก​ใน​เรื่อง​ความ​หมาย เนื่อง​จาก​ใน​ข้อ​ความ​เหล่า​นี้​เอง​ซึ่ง “เป็น​ได้​มาก​ที่​สุด​ที่​ความ​ลำเอียง​จะ​เข้า​มา​มี​อิทธิพล​ต่อ​การ​แปล.” สำหรับ​ข้อ​ความ​แต่​ละ​ตอน เขา​ยก​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​มา​เทียบ​กับ​คำ​แปล​ของ​ฉบับ​แปล​ภาษา​อังกฤษ​แต่​ละ​ฉบับ และ​มอง​หา​ความ​พยายาม​ซึ่ง​เกิด​จาก​ความ​ลำเอียง​ที่​จะ​เปลี่ยน​ความ​หมาย​ของ​ข้อ​ความ​นั้น. เขา​ประเมิน​ผล​ออก​มา​อย่าง​ไร?

เบดุน​ชี้​ว่า ผู้​คน​ทั่ว​ไป​และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​คน​สันนิษฐาน​ว่า​ความ​ต่าง​ใน​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ (ล.ม.) นั้น​เป็น​เพราะ​ความ​ลำเอียง​ทาง​ศาสนา​ของ​คณะ​ผู้​แปล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​บอก​ว่า “ความ​ต่าง​ส่วน​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่​มี​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​มาก​กว่า ใน​ฐานะ​เป็น​ฉบับ​แปล​ที่​มี​การ​แปล​ตาม​ตัว​อักษร​อย่าง​ระมัดระวัง.” แม้​เบดุน​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​การ​แปล​ข้อ​ความ​บาง​ตอน​ของ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แต่​เขา​ก็​พูด​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้ “ปรากฏ​ว่า​เป็น​ฉบับ​แปล​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​ฉบับ​แปล​ทั้ง​หมด​ที่​ถูก​นำ​มา​เปรียบ​เทียบ​กัน.” เขา​เรียก​ฉบับ​แปล​นี้​ว่า “ดี​อย่าง​น่า​ทึ่ง.”

ดร. เบนจามิน เคดาร์ ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​ฮีบรู​ใน​อิสราเอล พูด​ถึง​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ใน​ทำนอง​คล้าย ๆ กัน. เมื่อ​ปี 1989 เขา​กล่าว​ว่า “ผล​งาน​ชิ้น​นี้​สะท้อน​ให้​เห็น​ความ​พยายาม​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ที่​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​ความ​เข้าใจ​ข้อ​ความ​อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. . . . ข้าพเจ้า​ไม่​เคย​พบ​ว่า​มี​การ​จงใจ​บรรจุ​สิ่ง​ใด ๆ ซึ่ง​ไม่​มี​อยู่​ใน​ต้น​ฉบับ​เข้า​ไว้​ใน​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ เนื่อง​จาก​ความ​ลำเอียง.”

คุณ​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘เป้าหมาย​ของ​ฉัน​ใน​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คือ​อะไร? ฉัน​ต้องการ​อ่าน​แบบ​ง่าย ๆ โดย​ไม่​สนใจ​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ไหม? หรือ​ฉัน​ต้องการ​อ่าน​เพื่อ​เข้า​ถึง​แนว​คิด​ดั้งเดิม​ของ​ต้น​ฉบับ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​อย่าง​ถ่องแท้​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้?’ (2 เปโตร 1:20, 21) เป้าหมาย​ของ​คุณ​ควร​กำหนด​ว่า​คุณ​จะ​เลือก​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ใด.

[เชิงอรรถ]

^ นอก​จาก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แล้ว​ก็​ยัง​มี ดิ แอมพลิไฟด์ นิว เทสตาเมนต์, เดอะ ลิฟวิง ไบเบิล, เดอะ นิว อเมริกัน วิท รีไวสด์ นิว เทส​ตา​เมนต์, นิว อเมริกัน สแตนดาร์ด ไบเบิล, เดอะ โฮลี ไบเบิล—นิว อินเตอร์​แนชันแนล เวอร์ชัน, เดอะ นิว รีไวสด์ สแตนดาร์ด เวอร์ชัน, เดอะ ไบเบิล อิน ทูเดส์ อิงลิช เวอร์ชัน และ ฉบับ​แปล​คิงเจมส์.

[รูปภาพ]

“พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่” สามารถ​หา​อ่าน​ได้​ใน​หลาย​ภาษา

[ภาพ​หน้า 12, 13]

ฉบับ​สำเนา​คัด​ลอก​ด้วย​มือ​ของ​พวก​มาโซเรต

[ภาพ​หน้า 13]

ชิ้น​ส่วน​ฉบับ​สำเนา​ที่​มี​ข้อ​ความ​ที่​ลูกา 12:7 “ . . . อย่า​กลัว​เลย พวก​เจ้า​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​นก​กระจอก​หลาย​ตัว”

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

Foreground page: National Library of Russia, St. Petersburg; second and third: Bibelmuseum, Münster; background: © The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin