ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สะพานที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

สะพานที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

สะพาน​ที่​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บัลแกเรีย

มี​สะพาน​อยู่​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​ข้าม​แม่น้ำ​โอ​ซุม​ทาง​ภาค​กลาง​ตอน​เหนือ​ของ​บัลแกเรีย นั่น​คือ​สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​แห่ง​เมือง​โล​เวช. สิ่ง​ก่อ​สร้าง​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้​มี​ประวัติ​ที่​น่า​สนใจ เฉก​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​คน​ที่​ใช้​สะพาน​แห่ง​นี้.

คน​แรก ๆ ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​สนใจ​สะพาน​แห่ง​นี้​ก็​คือ​นัก​ธรณี​วิทยา​ชาว​ออสเตรีย​ชื่อ​เอมิ บูเว ซึ่ง​มา​ที่​โล​เวช​ใน​ช่วง​ครึ่ง​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่ 19. เขา​เขียน​เกี่ยว​กับ “สะพาน​หิน​ซึ่ง​มี​หลังคา​คลุม​และ​มี​ร้าน​ค้า​เล็ก ๆ เรียง​ราย​อยู่​บน​สะพาน.” ใช่​แล้ว สะพาน​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร​แห่ง​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ระบบ​การ​คมนาคม​ขน​ส่ง​ใน​เมือง​โล​เวช​โดย​เชื่อม​ต่อ​ระหว่าง​สอง​ฝั่ง​ของ​เมือง และ​ยัง​เป็น​ตลาด​อีก​ด้วย! ดัง​นั้น สะพาน​นี้​จึง​เป็น​สถาน​ที่​สำคัญ​ของ​ชุมชน.

เดิม​ที​นั้น​สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​แห่ง​โล​เวช​ไม่​ได้​สร้าง​จาก​หิน แต่​สร้าง​จาก​ไม้. แต่​เมื่อ​หลาย​ปี​ผ่าน​ไป สะพาน​นี้​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​จาก​น้ำ​ท่วม​และ​ต้อง​สร้าง​ขึ้น​ใหม่. ใน​ที่​สุด เมื่อ​ปี 1872 สะพาน​นี้​ถูก​กระแส​น้ำ​พัด​หาย​ไป​ทั้ง​สะพาน ซึ่ง​ทำ​ให้​ทาง​เชื่อม​ต่อ​ที่​สำคัญ​ของ​ชาว​เมือง​ขาด​หาย​ไป.

การ​สร้าง​สะพาน​ขึ้น​ใหม่​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย ๆ. ดัง​นั้น จึง​มี​การ​ว่า​จ้าง​โคลโย ฟิเชโต นัก​ก่อ​สร้าง​ชาว​บัลแกเรีย​ที่​มี​ชื่อเสียง ให้​ออก​แบบ​และ​สร้าง​สะพาน​ขึ้น​ใหม่​ซึ่ง​แข็งแรง​กว่า​เดิม.

การ​ออก​แบบ​แนว​ใหม่

ฟิเชโต​ตัดสิน​ใจ​ยึด​กับ​แนว​คิด​ของ​สะพาน​เก่า​โดย​ออก​แบบ​สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​และ​มี​ร้าน​ค้า​เล็ก ๆ อยู่​บน​สะพาน. เพื่อ​จะ​รอง​รับ​สะพาน​ที่​ยาว 84 เมตร​และ​กว้าง 10 เมตร เขา​เพิ่ม​เสา​ตอม่อ​ทรง​รี​เข้า​ไป. ด้าน​ที่​ปะทะ​น้ำ​ของ​เสา​ตอม่อ​ซึ่ง​สูง 5 เมตร​เหล่า​นี้​มี​ลักษณะ​เรียว​แคบ. เสา​ตอม่อ​เหล่า​นี้​เป็น​การ​ออก​แบบ​แนว​ใหม่. ตั้ง​แต่​ตอน​กลาง​จน​ถึง​ยอด​ของ​ตอม่อ​มี​ช่อง​หลาย​ช่อง​ซึ่ง​น้ำ​ที่​ไหล​บ่า​เข้า​มา​สามารถ​ไหล​ทะลุ​ผ่าน​ตอม่อ​ไป​ได้. บน​ตอม่อ​เหล่า​นั้น ฟิเชโต​วาง​คาน​และ​แผ่น​กระดาน​ที่​ทำ​จาก​ไม้​โอ๊ก​ทั้ง​ท่อน. ส่วน​อื่น ๆ ของ​สะพาน รวม​ทั้ง​ร้าน​ค้า 64 ร้าน​ที่​อยู่​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​ของ​ถนน​บน​สะพาน​ถูก​สร้าง​จาก​ไม้​บีช. หลังคา​ก็​ทำ​จาก​ไม้​บีช​เช่น​กัน​และ​ปู​ทับ​ด้วย​แผ่น​เหล็ก.

ลักษณะ​ที่​น่า​สนใจ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​ออก​แบบ​ของ​ฟิเชโต​คือ​เขา​เลือก​จะ​ยึด​คาน​สะพาน​โดย​ใช้​สลัก​ไม้​และ​วิธี​เข้า​ไม้ แทน​ที่​จะ​ใช้​ตัว​ยึด​ที่​ทำ​จาก​เหล็ก​และ​ตะปู. พื้น​ถนน​ชั้น​ล่าง​ที่​ทำ​จาก​ไม้​ถูก​ปู​ด้วย​หิน​แล้ว​ปู​ทับ​ด้วย​กรวด​อีก​ชั้น. ตอน​กลางวัน หน้าต่าง​ด้าน​ข้าง​บาน​เล็ก ๆ และ​ช่อง​บน​หลังคา​ทำ​ให้​แสง​สว่าง​จาก​ข้าง​นอก​ส่อง​เข้า​มา​ได้. ส่วน​ตอน​ค่ำ​ก็​มี​การ​จุด​ตะเกียง​น้ำมัน. โดย​รวม​แล้ว การ​ออก​แบบ​และ​ก่อ​สร้าง​สะพาน​ใหม่​นี้​ใช้​เวลา​ประมาณ​สาม​ปี​จึง​เสร็จ​สมบูรณ์ [1].

วิถี​ชีวิต​บน​สะพาน

วิถี​ชีวิต​บน​สะพาน​เป็น​อย่าง​ไร? เชิญ​อ่าน​คำ​พรรณนา​ของ​ประจักษ์​พยาน​คน​หนึ่ง​ดัง​นี้: “น้อย​ครั้ง​นัก​ที่​พ่อค้า​แม่​ค้า, คน​เดิน​ถนน, และ​คน​ที่​ยืน​อยู่​ข้าง​ทาง​จะ​ถูก​ขัด​จังหวะ​ด้วย​รถยนต์, รถ​ม้า, หรือ​ลา​บรรทุก​ของ​ที่​ผ่าน​ไป​มา. พวก​เขา​ส่ง​เสียง​ของ​ตน​ผสาน​เข้า​กับ​เสียง​ของ​ช่าง​ตี​โลหะ . . . และ​เสียง​ของ​พ่อค้า​เร่ ซึ่ง​ร้อง​ขาย​สินค้า​ด้วย​เสียง​อัน​ดัง. สะพาน​นี้​มี​วิถี​ชีวิต​ใน​แบบ​ฉบับ​ของ​มัน​เอง. ร้าน​รวง​เล็ก ๆ หลาย​ร้าน​มี​สี​สัน​สดใส​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​สินค้า​มาก​มาย เช่น แถบ​ผ้า​ที่​ถัก​ทอ​จาก​ขน​สัตว์, ลูกปัด, และ​สินค้า​นานา​ชนิด. ร้าน​เหล่า​นี้​ล้วน​ดำเนิน​กิจกรรม​ไป​ตาม​ครรลอง​ของ​มัน​เอง.”

นอก​จาก​จะ​ซื้อ​หา​สินค้า​บน​สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​แห่ง​นี้​แล้ว ผู้​คน​มา​รวม​กัน​ที่​นี่​เพื่อ​ชม​ความ​บันเทิง เพราะ​เจ้าของ​ร้าน​หลาย​คน​เป็น​นัก​ดนตรี​ด้วย. ประจักษ์​พยาน​คน​เดิม​กล่าว​เสริม​ว่า “ใน​ร้าน​ตัด​ผม มี​ช่าง​ตัด​ผม​ห้า​หรือ​หก​คน​ซึ่ง​นอก​จาก​จะ​เป็น​ช่าง​ตัด​ผม​แล้ว ยัง​เป็น​นัก​ดนตรี​ที่​เก่ง​มาก​ด้วย โดย​ส่วน​ใหญ่​พวก​เขา​จะ​เล่น​เครื่อง​สาย. พวก​เขา​มัก​หา​เวลา​ว่าง​เพื่อ​เล่น​ดนตรี และ​ลูก​ค้า​ก็​ยินดี​รอ​ให้​พวก​เขา​เล่น​จน​จบ​เพลง.” หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง ช่าง​ตัด​ผม​บาง​คน​กลาย​มา​เป็น​ผู้​ก่อ​ตั้ง​วง​ออร์เคสตรา​ที่​เรียก​กัน​ว่า วง​ช่าง​ตัด​ผม.

ประสบ​โศกนาฏกรรม

สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​ของ​ฟิเชโต​ผ่าน​พ้น​น้ำ​ท่วม, สงคราม, และ​หายนะ​ภัย​อื่น ๆ มา​นาน​ถึง​ห้า​สิบ​ปี. แต่​ใน​คืน​วัน​ที่ 2/3 สิงหาคม 1925 ท้องฟ้า​รอบ ๆ เมือง​โล​เวช​สว่างไสว​ไป​ด้วย​เปลว​ไฟ​ขนาด​ใหญ่. สะพาน​อัน​งดงาม​ของ​เมือง​นี้​ถูก​ไฟ​ไหม้​จน​กลาย​เป็น​เถ้า​ถ่าน. มัน​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้​ก็​ไม่​มี​ใคร​แน่​ใจ​ว่า​ไฟ​ไหม้​นั้น​เกิด​จาก​ความ​สะเพร่า​หรือ​การ​ลอบ​วาง​เพลิง. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เพราะ​อะไร ตอน​นี้​โล​เวช​ไม่​มี​สะพาน​เชื่อม​ต่อ​เมือง​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​อีก​ครั้ง.

ใน​ปี 1931 สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​แห่ง​ใหม่​ก็​สร้าง​เสร็จ พร้อม​ด้วย​ร้าน​ค้า​เล็ก ๆ และ​โรง​ช่าง​ซึ่ง​อยู่​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​ของ​ถนน​บน​สะพาน [2]. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แทน​ที่​จะ​สร้าง​สะพาน​ด้วย​ไม้​และ​หิน ผู้​สร้าง​สะพาน​กลับ​ใช้​เหล็ก​และ​คอนกรีต. รูป​แบบ​โดย​รวม​ก็​ต่าง​ไป​จาก​แบบ​ของ​ฟิเชโต​ด้วย. หลังคา​ทำ​ด้วย​กระจก และ​ส่วน​หนึ่ง​ตอน​กลาง​ของ​สะพาน​ไม่​มี​ผนัง. ใน​ปี 1981/1982 มี​การ​สร้าง​สะพาน​ขึ้น​อีก​ครั้ง​ตาม​แบบ​ดั้งเดิม​ของ​โคลโย ฟิเชโต [3].

สะพาน​ที่​มี​หลังคา​คลุม​แห่ง​เมือง​โล​เวช​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​เมือง​และ​เป็น​การ​แสดง​ออก​ถึง​ความ​สำเร็จ​ของ​ช่าง​ฝีมือ. ปัจจุบัน​สะพาน​นี้​ยัง​คง​ดึงดูด​ความ​สนใจ​ของ​ชาว​เมือง​รวม​ทั้ง​นัก​ท่อง​เที่ยว​ด้วย​ขณะ​ที่​พวก​เขา​เดิน​ข้าม​สะพาน​ซึ่ง​มี​ร้าน​ค้า​มาก​มาย​อยู่​เรียง​ราย​ทั้ง​สอง​ฝั่ง.

[แผนที่​หน้า 22]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

บัลแกเรีย

โลเวช

โซเฟีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Photo 2: From the book Lovech and the Area of Lovech