ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำอย่างไรจึงจะเป็นนักร้องโอเปรา?

ทำอย่างไรจึงจะเป็นนักร้องโอเปรา?

ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​เป็น​นัก​ร้อง​โอเปรา?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

นัก​ร้อง​คน​หนึ่ง​ยืน​ตัว​ตรง​ด้วย​ท่า​ทาง​ที่​ผ่อน​คลาย, ศีรษะ​เชิด​ขึ้น, ส่วน​อก​ขยาย​ยก​ขึ้น, สี​หน้า, ริมฝีปาก, และ​ปาก​ปล่อย​ตาม​สบาย. หลัง​จาก​วง​ออร์เคสตรา​บรรเลง​นำ​สั้น ๆ แล้ว นัก​ร้อง​ชาย​เสียง​เทเนอร์​ก็​เริ่ม​ร้อง​บท​ร้อง​เดี่ยว​ที่​ผู้​ฟัง​ตั้ง​ตา​คอย​กัน​อย่าง​มาก. นัก​ร้อง​คน​นี้​ดู​เหมือน​จะ​ร้อง​เพลง​ได้​ง่าย​ดาย​เหลือ​เกิน ขณะ​ที่​เสียง​ร้อง​นั้น​ดู​ราว​กับ​ว่า​จะ​ดัง​ออก​มา​จาก​ที่​ไหน​สัก​แห่ง​นอก​ตัว​เขา. ทันที​ที่​การ​ร้อง​เดี่ยว​จบ​ลง เสียง​ปรบ​มือ​ก็​ดัง​กระหึ่ม​ขึ้น.

โอเปรา​หรือ​อุปรากร​เป็น​ละคร​ร้อง​ที่​มี​เหล่า​นัก​แสดง​ร้อง​เพลง​ร่วม​กับ​วง​ดนตรี​ออร์เคสตรา. คุณ​ชอบ​โอเปรา​ไหม? คุณ​เคย​มี​โอกาส​ได้​ชม​การ​แสดง​ใน​หอ​แสดง​โอเปรา​ไหม? คุณ​คิด​ว่า​อะไร​เป็น​เคล็ดลับ​ที่​ทำ​ให้​นัก​ร้อง​โอเปรา​มี​เสียง​ที่​ไพเราะ​มาก?

เสียง​ขับ​ร้อง​คือ​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​หนึ่ง

เสียง​ของ​มนุษย์​เป็น​ของ​ประทาน​อัน​ยอด​เยี่ยม​จาก​พระเจ้า และ​นับ​ว่า​เหมาะ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​เสียง​นี้​ถูก​เรียก​ว่า​เครื่อง​ดนตรี​ชนิด​หนึ่ง. แม้​ว่า​มี​น้อย​คน​ที่​สามารถ​ร้อง​เพลง​แบบ​นัก​ร้อง​โอเปรา แต่​สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว​การ​ร้อง​เพลง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ซึ่ง​แทบ​จะ​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​เหมือน​กับ​การ​กิน​หรือ​การ​นอน. ไม่​ว่า​คุณ​จะ​ร้อง​เพลง​ได้​ดี​หรือ​ไม่​ก็​ตาม แน่นอน​ว่า​คุณ​คง​สนใจ​ที่​จะ​อ่าน​ดู​ว่า “เครื่อง​ดนตรี” ชิ้น​นี้​บรรเลง​เพลง​ได้​อย่าง​ไร.

กล่อง​เสียง​ซึ่ง​อยู่​ตรง​ช่วง​กลาง​ลำคอ​ของ​คุณ เป็น​อวัยวะ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​เสียง. กล่อง​เสียง​ประกอบ​ด้วย​กระดูก​อ่อน​ที่​ห่อ​หุ้ม​โพรง​กล่อง​เสียง. ภาย​ใน​โพรง​นี้​มี​กล้ามเนื้อ​เล็ก ๆ สอง​มัด​ที่​เรียก​ว่า​เส้น​เสียง. แล้ว​เสียง​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร? ระหว่าง​การ​หายใจ​ปกติ เส้น​เสียง​จะ​หย่อน​ลง​และ​ทำ​ให้​เกิด​ช่อง​รูป​สาม​เหลี่ยม​ใน​หลอด​ลม​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ช่อง​เส้น​เสียง. เมื่อ​คุณ​ร้อง​เพลง อากาศ​จะ​ถูก​ดัน​ผ่าน​กล่อง​เสียง​มาก​ขึ้น ช่อง​เส้น​เสียง​จะ​แคบ​ลง แล้ว​เส้น​เสียง​จะ​สั่น​จน​เกิด​เสียง. เมื่อ​เส้น​เสียง​ถูก​ดึง​ให้​ตึง​ขึ้น ความ​ถี่​ของ​การ​สั่น​สะเทือน​ก็​จะ​ยิ่ง​เพิ่ม​มาก​ขึ้น จึง​ทำ​ให้​เกิด​ระดับ​เสียง​ที่​สูง​ขึ้น. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม เมื่อ​อากาศ​ถูก​ดัน​ผ่าน​กล่อง​เสียง​น้อย​ลง​และ​เส้น​เสียง​หย่อน​ลง ช่อง​เส้น​เสียง​ก็​จะ​เปิด​กว้าง​ขึ้น ทำ​ให้​ความ​ถี่​ของ​การ​สั่น​สะเทือน​ลด​ลง​และ​ระดับ​เสียง​ก็​จะ​ต่ำ​ลง.

เทคนิค​กับ​รูป​ร่าง​ของ​นัก​ร้อง

ตอน​ที่​ยัง​หนุ่ม เอนริโก การูโซ มี​เสียง​ที่​ไพเราะ​มาก ทว่า​ขาด​พลัง. การ​ฝึกฝน​ทำ​ให้​เสียง​ของ​เขา​มี​พลัง​มาก​ขึ้น. เสียง​ร้อง​อัน​ไพเราะ​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​มา​แต่​กำเนิด แต่​ใน​การ​ร้อง​โอเปรา เทคนิค​การ​ร้อง​ก็​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ด้วย. นัก​ร้อง​ต้อง​เรียน​รู้​วิธี​หายใจ​เพื่อ​จะ​มี​อากาศ​ใน​ปริมาณ​ที่​มาก​พอ. จาก​นั้น​เขา​ก็​ต้อง​เรียน​รู้​วิธี​ควบคุม​ปริมาณ​อากาศ​ด้วย. กล่าว​กัน​ว่า การ์โล บรอสกี นัก​ร้อง​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​ฟารีเนลลี สามารถ​ขับ​ร้อง​ได้​ถึง 150 โน้ต​ใน​การ​หายใจ​เพียง​ครั้ง​เดียว.

นัก​ร้อง​โอเปรา​ก็​ต้อง​เรียน​รู้​เช่น​กัน​ถึง​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​เสียง​ของ​ตน​ดัง​กังวาน​โดย​ใช้​ร่าง​กาย​ที่​เป็น​เสมือน​กล่อง​เสียง​ของ​เครื่อง​ดนตรี. ตาม​ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​กล่าว สำหรับ​ตัว​โน้ต​เสียง​ต่ำ ๆ กระดูก​บริเวณ​ทรวง​อก​จะ​เป็น​ตัว​ที่​ช่วย​ขยาย​เสียง ขณะ​ที่​โพรง​กระดูก​ขากรรไกร​และ​กระดูก​บริเวณ​ใบ​หน้า​จะ​เป็น​ตัว​ช่วย​ขยาย​เสียง​สำหรับ​โน้ต​เสียง​สูง ๆ.

หลาย​คน​คิด​ว่า การ​ร้อง​เพลง​อาศัย​แค่​ลำคอ​เท่า​นั้น. กระนั้น มี​การ​กล่าว​ไว้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า การ​ร้อง​เพลง​ต้อง​ใช้​ทั้ง​ร่าง​กาย ใน​แง่​ที่​ว่า​พลัง​งาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​คน​นั้น​ถูก​นำ​มา​ใช้. นัก​ร้อง​ต้อง​ควบคุม​กล้ามเนื้อ​ทุก​ส่วน​ใน​ร่าง​กาย​ให้​ประสาน​กัน​อย่าง​สมดุล. ด้วย​เหตุ​นี้ นัก​ร้อง​โอเปรา​จึง​ต้อง​ใช้​กำลัง​เรี่ยว​แรง​มาก​ที​เดียว และ​บาง​ที​เรื่อง​นี้​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ว่า​ทำไม​นัก​ร้อง​โอเปรา​บาง​คน​จึง​มี​รูป​ร่าง​ใหญ่. มาเรีย คัลลัส เป็น​นัก​ร้อง​โอเปรา​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ที่​สุด​คน​หนึ่ง​ใน​ศตวรรษ​ที่ 20 แต่​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​น้ำหนัก​ของ​เธอ​ที่​ลด​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ควบคุม​อาหาร​มาก​เกิน​ไป​นั้น​ทำ​ให้​เสียง​ของ​เธอ​เสีย​ไป.

พัฒนาการ​ของ​การ​ร้อง​โอเปรา

เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป การ​ร้อง​โอเปรา​ก็​ได้​มี​การ​พัฒนา​ทั้ง​ทาง​ด้าน​เทคนิค​และ​ลีลา. ขอ​ให้​เรา​มา​ดู​ด้วย​กัน​สัก​สอง​ตัว​อย่าง. เมื่อ​สถาน​ที่​สำหรับ​การ​แสดง​โอเปรา​เปลี่ยน​จาก​โบสถ์​เล็ก ๆ หรือ​บริเวณ​ที่​มี​พื้น​ที่​ปิด​ไป​เป็น​หอ​แสดง​โอเปรา การ​ร้อง​เพลง​แบบ​นุ่มนวล, ละเมียด​ละไม, และ​ไม่​ต้อง​ออก​แรง​มาก​ก็​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​การ​ร้อง​เพลง​แบบ​ที่​มี​พลัง​มาก​ขึ้น​โดย​อาศัย​ร่าง​กาย​ซึ่ง​เป็น​เสมือน​เครื่อง​ขยาย​เสียง. การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​ว่า​นี้​เห็น​ได้​เด่น​ชัด​ขึ้น​เมื่อ​มี​การ​เปลี่ยน​วง​ออร์เคสตรา​วง​ค่อนข้าง​เล็ก​แบบ​ที่​โมสาร์ท​เคย​ใช้​ไป​เป็น​วง​ออร์เคสตรา​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​ขึ้น​มาก อย่าง​เช่น​ที่​แวร์​ดี​และ​วากเนอร์​ใช้. ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 และ 18 เลย​ไป​ถึง​ช่วง​หนึ่ง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 19 ดนตรี​โอเปรา​มี​บทบาท​น้อย​กว่า​ความ​สามารถ​หรือ​เทคนิค​ใน​การ​ร้อง​ของ​นัก​ร้อง. ลีลา​การ​แสดง​โอเปรา​ที่​เป็น​เอกลักษณ์​ใน​ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 19 และ​ช่วง​ครึ่ง​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่ 20 ก็​แตกต่าง​ไป​จาก​เดิม​มาก. ใน​ช่วง​เวลา​นี้ แม้​เสียง​ร้อง​จะ​ยัง​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​แสดง​โอเปรา แต่​ก็​กลาย​เป็น​แค่​องค์​ประกอบ​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​ของ​การ​แสดง​เท่า​นั้น.

ศักยภาพ​ของ​โอเปรา​ได้​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​สร้าง​ผล​งาน​ทาง​ดนตรี​ออก​มา​อย่าง​มาก​มาย. คีตกวี​หรือ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​หลาย​คน ซึ่ง​ถ้า​จะ​กล่าว​ถึง​ผู้​ที่​มี​ชื่อเสียง​มาก​ที่​สุด​บาง​คน​ก็​มี​อาทิ​เช่น ปาอีซีเอลโล, ชีมาโรซา, กลูค, โมสาร์ท, โดนิเซตตี, รอสซินี, เบลลินี, วากเนอร์, แวร์ดี, ปุชชินี, บีเซต, เมเยอร์เบียร์, และ​มาสกาญี ได้​แต่ง​เพลง​ที่​สามารถ​กระตุ้น​ความ​รู้สึก​ส่วน​ลึก​จน​ยาก​จะ​ลืม​เลือน​ได้.

การ​กระทำ​ที่​เลย​เถิด​ใน​แวดวง​ดนตรี

กระนั้น มี​ช่วง​เวลา​ที่​น่า​เศร้า​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​โอเปรา​ด้วย. ลอง​นึก​ถึง​นัก​ร้อง​ชาย​ที่​ถูก​ตอน ซึ่ง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​แสดง​โอเปรา​ของ​อิตาลี​นาน​กว่า​หนึ่ง​ศตวรรษ. * เด็ก​ผู้​ชาย​ถูก​ตอน​ก่อน​ถึง​วัย​เริ่ม​เจริญ​พันธุ์​เพื่อ​รักษา​ช่วง​เสียง​ที่​สูง​และ​กว้าง​ทั้ง​ยัง​มี​พลัง​มาก​เอา​ไว้. กวีโด ตาร์โตนี บอก​ว่า “คริสตจักร​และ​คำ​สั่ง​ที่​ห้าม​ไม่​ให้​ผู้​หญิง . . . ร้อง​เพลง​ใน​โบสถ์” นั่น​แหละ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​กระทำ​เช่น​นั้น.

นัก​ร้อง​โอเปรา​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​กลาย​เป็น​ดารา และ​แฟน​เพลง​บาง​คน​ได้​เชิดชู​บูชา​พวก​เขา. ใน​งาน​ศพ​ของ​ลูเชียโน ปาวารอตตี เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​การ​สรรเสริญ​เยินยอ​เช่น​นั้น. มี​การ​เรียก​มาเรีย คัลลัส ว่า​ลา ดีวีนา (เทวี) และ​เรียก​โจน ซัทเทอร์แลนด์ ว่า​ลา สตูเปนดา (ผู้​วิเศษ). อย่าง​ไร​ก็​ตาม หาก​การ​ร้อง​โอเปรา​ได้​รับ​ความ​นิยม​มาก​ขึ้น ก็​คง​เป็น​ผล​มา​จาก​การ​ร้อง​เพลง​ที่​สามารถ​กระตุ้น​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ฟัง​ได้​นั่น​เอง.

บาง​ที​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​คุณ​อาจ​ได้​ยิน​การ​ร้อง​เพลง​แบบ​โซปราโน​ใน​เพลง​ร้อง​เดี่ยว​บาง​เพลง​ที่​ได้​รับ​ความ​ชื่นชม​อย่าง​มาก. ถ้า​เป็น​เช่น​นั้น ขอ​ให้​หยุด​แล้ว​คิด​ถึง​การ​ฝึกฝน​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​ให้​ได้​เสียง​อัน​ไพเราะ​เช่น​นั้น. นั่น​อาจ​จะ​กระตุ้น​คุณ​ให้​เริ่ม​คิด​ถึง​การ​ร้อง​โอเปรา​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​เขียน​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​เรียก​การ​ร้อง​แบบ​นั้น​ว่า “เป็น​การ​เชื่อม​คำ​กับ​ดนตรี และ​ทำ​ให้​บท​กวี . . . โบย​บิน​ไป​ด้วย​เสียง​เพลง.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 16 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เรื่อง​นัก​ร้อง​ชาย​ที่​ถูก​ตอน โปรด​ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 1996 หน้า 11-14.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 12]

ประเภท​ของ​เสียง​ขับ​ร้อง

โคโลราตูรา โซปราโน: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​หญิง​ที่​สามารถ​ร้อง​เสียง​โน้ต​สูง ๆ และ​เร็ว​ได้​ง่าย. นัก​ร้อง​มัก​จะ​แสดง​เป็น​ตัว​ละคร​ที่​มี​ชีวิต​ชีวา​และ​มี​ปฏิภาณ​ดี.

ลิริค โซปราโน: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​หญิง​ที่​ลึก​กว่า​โคโลราตูรา โซปราโน. นัก​ร้อง​แสดง​บท​ของ​ตัว​ละคร​ที่​มี​อารมณ์​ความ​รู้สึก​อ่อนไหว​หรือ​ตก​อยู่​ใน​ห้วง​รัก.

ดรามาติก โซปราโน: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​หญิง​ที่​มี​ช่วง​เสียง​ลึก​กว่า​ลิริค โซปราโน. โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​นัก​ร้อง​จะ​ได้​สวม​บทบาท​ที่​ต้อง​แสดง​อารมณ์​ความ​รู้สึก​มาก.

เมซโซ โซปราโน: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​หญิง ซึ่ง​มี​ช่วง​เสียง​ลึก​กว่า​ดรามาติก โซปราโน. นัก​ร้อง​มัก​แสดง​เป็น​หญิง​ชรา​หรือ​คู่​อริ​ของ​นัก​ร้อง​เสียง​โซปราโน.

คอนตราลโต: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​หญิง​ที่​หา​ได้​น้อย​มาก. นัก​ร้อง​มัก​จะ​แสดง​บท​เดียว​กัน​กับ​เมซโซ โซปราโน.

เทเนอร์: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​ชาย​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​คล้าย​กับ​เสียง​โซปราโน ซึ่ง​เป็น​เสียง​บาง, นุ่มนวล, และ​เปี่ยม​ด้วย​อารมณ์. นัก​ร้อง​มัก​จะ​แสดง​เป็น​คน​รัก​หรือ​พระ​เอก.

บาริโทน: เสียง​นี้​อยู่​ระหว่าง​เสียง​เทเนอร์​กับ​เสียง​บัซโซ. นัก​ร้อง​แสดง​บท​ของ​พี่​ชาย, พ่อ, หรือ​คู่​แข่ง​ของ​พระ​เอก.

บัซโซ: เสียง​ของ​นัก​ร้อง​ชาย​ที่​ลึก​ที่​สุด​นี้ แบ่ง​เป็น​สาม​ประเภท​คือ บรีลลีอันต์, กันตันเต, และ​โปรฟุนโด. ประเภท​แรก​เหมาะ​สำหรับ​ตัว​ละคร​ที่​มี​ชีวิต​ชีวา​มี​ปฏิภาณ​ดี; ประเภท​ที่​สอง​เหมาะ​กับ​บท​ที่​แสดง​อารมณ์​อ่อนไหว; และ​ประเภท​ที่​สาม​เหมาะ​กับ​ตัว​ละคร​ที่​แสดง​ความ​รู้สึก​ที่​บีบคั้น​ทาง​อารมณ์.

[ภาพ​หน้า 10]

เวที​แสดง​โอเปรา

[ภาพ​หน้า 10]

หอ​แสดง​โอเปรา

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 10]

Stage: Philip Groshong for The Cincinnati Opera; house: Courtesy of Tourism Office of Budapest