ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชนเผ่าเร่ร่อนแห่งเอเชียผู้สร้างจักรวรรดิ

ชนเผ่าเร่ร่อนแห่งเอเชียผู้สร้างจักรวรรดิ

ชน​เผ่า​เร่ร่อน​แห่ง​เอเชีย​ผู้​สร้าง​จักรวรรดิ

ความ​หวาด​กลัว​และ​ความ​สับสน​เกาะ​กุม​ชาว​รัสเซีย. เช่น​เดียว​กับ​ฝูง​ตั๊กแตน นัก​รบ​บน​หลัง​ม้า​จำนวน​มาก​มาย​เคลื่อน​กำลัง​จาก​ทาง​ตะวัน​ออก​ข้าม​ที่​ราบ​อัน​เขียว​ขจี โดย​ได้​ฆ่า​ฟัน, ปล้น​สะดม, และ​ทำลาย​กองทัพ​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​ต่อ​ต้าน​ขัด​ขวาง​พวก​เขา. ส่วน​เดียว​ของ​รัสเซีย​ที่​เหลือ​รอด​อยู่​ก็​คือ​แคว้น​นอฟโกรอด. จาก​ที่​นั่น ผู้​บันทึก​เหตุ​การณ์​ที่​รู้สึก​งุนงง​ได้​เขียน​ถึง​เรื่อง​นี้​ว่า เป็น​การ​รุกราน​โดย “ชน​เผ่า​ที่​ไม่​มี​ผู้​ใด​รู้​จัก” ซึ่ง​พูด​ภาษา​แปลก ๆ.

ผู้​บุกรุก​เหล่า​นี้​เป็น​ชาว​มองโกล ผู้​ที่​มา​จาก​เขต​ที่​ราบ​สูง​และ​ทุ่ง​หญ้า​เขียว​ขจี​ใน​ดินแดน​ที่​อยู่​ใจ​กลาง​ทวีป​เอเชีย​ค่อน​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ปัจจุบัน​ว่า​มองโกเลีย. การ​ที่​พวก​เขา​พิชิต​ศัตรู​ได้​รวด​เร็ว​ราว​กับ​สาย​ฟ้า​ฟาด​ซึ่ง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ตอน​ต้น​ของ​ศตวรรษ​ที่ 13 สากล​ศักราช​นั้น ทำ​ให้​โฉม​หน้า​ทาง​ประวัติศาสตร์​ของ​ทวีป​เอเชีย​กับ​อีก​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ทวีป​ยุโรป​เปลี่ยน​ไป. เพียง​แค่ 25 ปี ชาว​มองโกล​ปราบ​ปราม​ชาว​เมือง​ที่​อยู่​ใน​แว่นแคว้น​ต่าง ๆ ได้​มาก​กว่า​ที่​ชาว​โรมัน​พิชิต​ได้​ใน​ช่วง​เวลา​สี่​ร้อย​ปี. ณ จุด​ที่​พวก​เขา​เรือง​อำนาจ​มาก​ที่​สุด พวก​เขา​ยึด​ครอง​ตั้ง​แต่​เกาหลี​ไป​จน​ถึง​ฮังการี และ​จาก​ไซบีเรีย​ไป​ถึง​อินเดีย ทำ​ให้​มองโกล​กลาย​เป็น​จักรวรรดิ​ที่​มี​ผืน​แผ่นดิน​ติด​ต่อ​กัน​เป็น​ผืน​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​การ​บันทึก​ไว้​ใน​ประวัติศาสตร์!

นอก​จาก​จะ​ให้​ความ​กระจ่าง​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​ของ​ทวีป​เอเชีย​และ​ยุโรป​แล้ว บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์​ของ​จักรวรรดิ​มองโกล​ที่​มี​อายุ​ค่อนข้าง​สั้น ยัง​สนับสนุน​คำ​สอน​หลาย​ข้อ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กล่าว​เกี่ยว​กับ​ธรรมชาติ​ของ​มนุษย์​และ​การ​ที่​มนุษย์​ปกครอง​เหนือ​เพื่อน​มนุษย์​ด้วย​กัน. ความ​จริง​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​คำ​กล่าว​ที่​ว่า ความ​รุ่งเรือง​ของ​มนุษย์​ไร้​ค่า​และ​ไม่​จิรัง​ยั่งยืน. (บทเพลง​สรรเสริญ 62:9; 144:4) “มนุษย์​ใช้​อำนาจ​เหนือ​มนุษย์​อย่าง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​เขา.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 8:9, ล.ม.) และ​ดัง​ที่​มี​การ​ให้​ภาพ​เชิง​เปรียบ​เทียบ​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล อาณาจักร​ทาง​การ​เมือง​อัน​เกรียง​ไกร​ได้​ประพฤติ​ตัว​เยี่ยง​สัตว์​ร้าย​ด้วย​การ​บากบั่น​พยายาม​ที่​จะ​มี​อำนาจ​เหนือ​ชาติ​อื่น ๆ. *

ชาว​มองโกล​เป็น​ใคร?

ชาว​มองโกล​เป็น​ชน​เผ่า​เร่ร่อน​และ​เป็น​ผู้​ที่​ชำนาญ​ใน​การ​ขี่​ม้า ซึ่ง​หา​เลี้ยง​ชีพ​ด้วย​การ​เลี้ยง​สัตว์, ค้า​ขาย, และ​ล่า​สัตว์. ไม่​เหมือน​กับ​ชน​ชาติ​อื่น ๆ ส่วน​ใหญ่​ซึ่ง​มี​คน​เพียง​บาง​ส่วน​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​และ​เตรียม​พร้อม​สำหรับ​การ​สู้​รบ ผู้​ชาย​ชาว​มองโกล​เกือบ​ทุก​คน​พร้อม​กับ​ม้า​และ​คัน​ธนู​เป็น​นัก​รบ​ที่​แข็ง​แกร่ง​และ​ดุดัน. และ​แต่​ละ​เผ่า​ก็​มี​ความ​จงรักภักดี​อย่าง​ไม่​เสื่อม​คลาย​ต่อ​ผู้​นำ​ของ​พวก​เขา​ที่​เรียก​ว่า ข่าน.

หลัง​จาก​การ​รบ 20 ปี เตมูจิน ข่าน​ผู้​หนึ่ง (ประมาณ​ปี 1162-1227) ได้​รวบ​รวม​ชาว​มองโกล 27 เผ่า​เข้า​มา​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ตน. ต่อ​มา ชาว​มุสลิม​ที่​มี​ต้น​กำเนิด​จาก​ชาว​เติร์ก​ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​เผ่า​ตาตาร์ ก็​ได้​สู้​รบ​เคียง​บ่า​เคียง​ไหล่​กับ​ชาว​มองโกล. ที่​จริง เมื่อ​เหล่า​นัก​รบ​ชาว​มองโกล​ที่​เก่ง​กาจ​บุก​ตะลุย​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก ชาว​ยุโรป​ที่​หวาด​ผวา​ได้​เรียก​ผู้​รุกราน​เหล่า​นี้​ว่า พวก​ตาร์ตาร์. * ใน​ปี 1206 เมื่อ​เตมูจิน​อายุ​ได้ 40 ปี​เศษ ชาว​มองโกล​ได้​ขนาน​นาม​เขา​ว่า​เจงกิสข่าน ซึ่ง​ฉายา​นี้​อาจ​หมาย​ถึง “ประมุข​ผู้​แข็ง​แกร่ง” หรือ “ผู้​ครอง​โลก.” นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​ถูก​เรียก​ว่า​จอม​ข่าน​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่.

กองทัพ​นัก​ยิง​ธนู​บน​หลัง​ม้า​ของ​เจงกิสข่าน​โจมตี​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​เกรี้ยวกราด ซึ่ง​บ่อย​ครั้ง​การ​ต่อ​สู้​ใน​หลาย​สมรภูมิ​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​เกิด​แนว​รบ​ที่​มี​ระยะ​ทาง​ยาว​หลาย​พัน​กิโลเมตร. สารานุกรม​เอนคาร์ทา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ใน​ความ​สามารถ​ด้าน​การ​รบ “เจงกิสข่าน​เทียบเท่า​กับ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​หรือ​นะโปเลียน​ที่ 1.” จูสจานี นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​เปอร์เซีย​ที่​อยู่​ใน​สมัย​เดียว​กับ​เจงกิสข่าน​ได้​พรรณนา​ถึง​เขา​ว่า เป็น “ผู้​มี​พลัง​มหาศาล, มี​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ, มี​อัจฉริยภาพ, และ​มี​ความ​เข้าใจ.” นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​ขนาน​นาม​เจงกิสข่าน​ว่า​เป็น “นัก​ฆ่า​จอม​อำมหิต.”

ไกล​ออก​ไป​จาก​มองโกเลีย

ชาว​แมนจู​ซึ่ง​เรียก​ราชวงศ์​ของ​พวก​เขา​ว่า ราชวงศ์​จิน​หรือ “ทองคำ” ครอบครอง​อาณา​เขต​ทาง​เหนือ​ของ​จีน. เพื่อ​จะ​ไป​ถึง​แคว้น​ของ​ชาว​แมนจู ชาว​มองโกล​ต้อง​ข้าม​ทะเล​ทราย​โกบี​อัน​แสน​หฤโหด ซึ่ง​ก็​ไม่​ได้​เป็น​อุปสรรค​ใหญ่​โต​สำหรับ​ชน​เผ่า​เร่ร่อน​ที่​ประทัง​ชีวิต​ได้​ด้วย​นม​และ​เลือด​ม้า หาก​จำเป็น. แม้​ว่า​เจงกิสข่าน​ได้​ขยาย​อำนาจ​การ​ปกครอง​ของ​ตน​เข้า​ไป​ใน​จีน​และ​แคว้น​แมนจูเรีย แต่​การ​สู้​รบ​ก็​ต้อง​ยืดเยื้อ​เป็น​เวลา​ราว ๆ 20 ปี. เขา​ได้​เกณฑ์​ผู้​คง​แก่​เรียน, ช่าง​ฝีมือ, และ​พ่อค้า​รวม​ทั้ง​วิศวกร​ท่ามกลาง​ชาว​จีน​ซึ่ง​สามารถ​สร้าง​เครื่อง​ล้อม, เครื่อง​ยิง​หิน, และ​ระเบิด​ที่​ทำ​จาก​ดิน​ระเบิด​ได้.

หลัง​จาก​ยึด​ครอง​เส้น​ทาง​สาย​ไหม เส้น​ทาง​การ​ค้า​ที่​นำ​ไป​ถึง​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ไกล​ออก​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ได้​แล้ว เจงกิสข่าน​ก็​พยายาม​ที่​จะ​ทำ​การ​ค้า​ขาย​ร่วม​กับ​สุลต่าน​มุฮัมมัด​ชาว​เติร์ก​ซึ่ง​อยู่​ใน​ดินแดน​ใกล้​เคียง​กัน​นั้น. สุลต่าน​ผู้​นั้น​ปกครอง​จักรวรรดิ​อัน​กว้าง​ใหญ่​ซึ่ง​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ของ​ประเทศ​เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน, อัฟกานิสถาน, อุซเบกิสถาน, และ​ส่วน​ใหญ่​ของ​อิหร่าน​ใน​ทุก​วัน​นี้.

ใน​ปี 1218 ผู้​แทน​ชาว​มองโกล​คณะ​หนึ่ง​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​จะ​สนใจ​แต่​เรื่อง​ค้า​ขาย ก็​ได้​มา​ถึง​พรม​แดน​ของ​สุลต่าน​ผู้​นั้น. แต่​ข้าหลวง​ใน​ท้องถิ่น​นั้น​ได้​ประหาร​ชีวิต​พวก​เขา ซึ่ง​เป็น​ชนวน​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​ชาว​มองโกล​บุก​โจมตี​ดินแดน​ของ​ชาว​มุสลิม​เป็น​ครั้ง​แรก. อีก​สาม​ปี​ต่อ​มา ทหาร​มองโกล​ซึ่ง​กล่าว​กัน​ว่า​มี​จำนวน​มาก​ยิ่ง​กว่า​มด ได้​บุก​เข้า​ไป​ปล้น​สะดม​ทั้ง​ยัง​เผา​เมือง​และ​ไร่​นา​อย่าง​เป็น​ระบบ และ​ได้​สังหาร​ประชากร​ของ​สุลต่าน​มุฮัมมัด​ไป​เป็น​จำนวน​มาก เว้น​แต่​คน​ที่​มี​ความ​ชำนาญ​ใน​ด้าน​ต่าง ๆ ที่​ชาว​มองโกล​ต้องการ.

กอง​กำลัง​ของ​มองโกล ซึ่ง​ประมาณ​กัน​ว่า​มี​ทหาร​ราว ๆ 20,000 นาย ได้​บุก​ตะลุย​ผ่าน​อาเซอร์ไบจาน​และ​จอร์เจีย​ไป​จน​ถึง​ที่​ราบ​กว้าง​ใหญ่​ทาง​เหนือ​ของ​คอเคเซีย พิชิต​ทุก​กองทัพ​ที่​ขวาง​หน้า รวม​ทั้ง​กอง​กำลัง​ชาว​รัสเซีย 80,000 นาย. ใน​การ​เดิน​ทาง​บน​หลัง​ม้า​ซึ่ง​มี​ระยะ​ทาง​ประมาณ 13,000 กิโลเมตร​นี้ ทหาร​ชาว​มองโกล​ได้​เดิน​ทาง​วน​รอบ​ทะเล​แคสเปียน ซึ่ง​บาง​คน​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​การ​รุกราน​บน​หลัง​ม้า​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์. การ​ที่​พวก​เขา​ได้​ชัย​ชนะ​ติด​ต่อ​กัน​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​เป็น​การ​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​สำหรับ​ผู้​ปกครอง​ชาว​มองโกล​รุ่น​ต่อ​ไป​ที่​จะ​มา​รุกราน​ยุโรป​ตะวัน​ออก​ใน​อนาคต.

ผู้​สืบ​ทอด​ตำแหน่ง​จาก​เจงกิสข่าน

โอโกได บุตร​ชาย​คน​ที่​สาม​จาก​บุตร​ทั้ง​สี่​คน ซึ่ง​เกิด​จาก​ภรรยา​เอก ก็​ถูก​ตั้ง​ให้​เป็น​จอม​ข่าน​คน​ต่อ​ไป. โอโกได​อ้าง​สิทธิ์​ใน​การ​ยึด​ครอง​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​เคย​ถูก​พิชิต, รับ​เครื่อง​บรรณาการ​จาก​ผู้​ครอง​แคว้น, และ​พิชิต​ราชวงศ์​จิน​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​จีน​ได้​อย่าง​ราบ​คาบ.

เพื่อ​จะ​รักษา​ทั้ง​จักรวรรดิ​และ​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​ที่​ชาว​มองโกล​เคย​ชิน​เอา​ไว้ ใน​ที่​สุด​โอโกได​ก็​ตัดสิน​ใจ​ทำ​สงคราม​อีก ทว่า กับ​ดินแดน​ที่​เขา​ยัง​ไม่​เคย​เข้า​ไป​ปล้น​สะดม​มา​ก่อน. เขา​เปิด​ศึก​สอง​ด้าน คือ​โจมตี​ดินแดน​ต่าง ๆ ของ​ชาว​ยุโรป​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก และ​โจมตี​ราชวงศ์​ซ่ง​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​จีน. การ​บุก​โจมตี​ทาง​ยุโรป​ประสบ​ความ​สำเร็จ แต่​อีก​ด้าน​หนึ่ง​นั้น​กลับ​ล้มเหลว. ทั้ง ๆ ที่​ได้​ชัย​ชนะ​อยู่​บ้าง แต่​ชาว​มองโกล​ก็​ไม่​สามารถ​พิชิต​แคว้น​ที่​สำคัญ​ของ​ราชวงศ์​ซ่ง​ได้.

การ​รบ​ทาง​ตะวัน​ตก

ใน​ปี 1236 นัก​รบ​ประมาณ 150,000 นาย​ขี่​ม้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เข้า​สู่​ยุโรป. ตอน​แรก​พวก​เขา​มุ่ง​เป้า​ไป​ยัง​ภูมิภาค​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ตาม​แม่น้ำ​วอลกา จาก​นั้น​ก็​บุก​โจมตี​นครรัฐ​ต่าง ๆ ของ​รัสเซีย ถล่ม​เมือง​เคียฟ​จน​แทบ​จะ​กลาย​เป็น​เถ้า​ถ่าน. ชาว​มองโกล​สัญญา​ว่า​จะ​ไม่​ทำลาย​เมือง​ต่าง ๆ หาก​ผู้​คน​ยอม​ยก​หนึ่ง​ใน​สิบ​ของ​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​มี​ให้​แก่​ชาว​มองโกล. แต่​ชาว​รัสเซีย​ต้องการ​จะ​สู้. โดย​ใช้​เครื่อง​ยิง ชาว​มองโกล​ระดม​ยิง​ศัตรู​ด้วย​ก้อน​หิน, น้ำมัน​ที่​ติด​ไฟ, และ​ดินประสิว. เมื่อ​กำแพง​เมือง​แตก ผู้​รุกราน​ก็​กรู​กัน​เข้า​ไป และ​ดัง​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​คน​หนึ่ง​ได้​เขียน​ไว้ การ​สังหาร​ผู้​คน​ทารุณ​โหด​เหี้ยม​เสีย​จน “ไม่​เหลือ​ใคร​ไว้​ให้​ร้องไห้​คร่ำ​ครวญ​ถึง​คน​ตาย.”

กอง​กำลัง​ของ​มองโกล​บุก​ไป​ทำลาย​โปแลนด์​และ​ฮังการี​จน​เกือบ​จะ​ถึง​พรม​แดน​ที่​เป็น​ประเทศ​เยอรมนี​ใน​ปัจจุบัน​นี้. ส่วน​ยุโรป​ตะวัน​ตก​ก็​เตรียม​พร้อม​สำหรับ​การ​โจมตี​ของ​พวก​มองโกล แต่​ก็​ไม่​เคย​ได้​รบ​กัน​เลย. ใน​เดือน​ธันวาคม 1241 โอโกได​ข่าน​สิ้น​ชีวิต​เนื่อง​จาก​การ​ดื่ม​สุรา​อย่าง​หนัก. ดัง​นั้น เหล่า​แม่ทัพ​มองโกล​จึง​รีบ​ยก​ทัพ​กลับ​ไป​ยัง​คารา​โค​รัม เมือง​หลวง​ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป​ถึง 6,000 กิโลเมตร เพื่อ​เลือก​ผู้​ปกครอง​คน​ใหม่.

กูยุค บุตร​ชาย​ของ​โอโกได​เป็น​ผู้​สืบ​ทอด​อำนาจ​ต่อ​จาก​เขา. ผู้​หนึ่ง​ที่​ได้​เห็น​กู​ยุค​ขึ้น​ครอง​บัลลังก์​ก็​คือ​นัก​บวช​ชาว​อิตาลี​คน​หนึ่ง ซึ่ง​ได้​เดิน​ทาง​เป็น​เวลา 15 เดือน​ผ่าน​แว่นแคว้น​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ชาว​มองโกล เพื่อ​ส่ง​สาสน์​จาก​สันตะปาปา​อินโนเซนต์​ที่ 4. สันตะปาปา​ต้องการ​คำ​รับรอง​ว่า​จะ​ไม่​มี​การ​รุกราน​ยุโรป​อีก และ​ท่าน​ได้​แนะ​เตือน​ชาว​มองโกล​ให้​รับ​เอา​ศาสนา​คริสเตียน. กู​ยุค​ไม่​ให้​สัญญา. แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น เขา​กลับ​บอก​สันตะปาปา​พร้อม​กับ​กษัตริย์​ทั้ง​หลาย​ให้​มา​แสดง​ความ​คารวะ​ต่อ​ข่าน!

การ​โจมตี​สอง​ด้าน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง

จอม​ข่าน​คน​ถัด​ไป​คือ​มังกู เขา​ขึ้น​ครอง​บัลลังก์​ใน​ปี 1251. เขา​และ​กุบไล​น้อง​ชาย​ของ​เขา​บุก​โจมตี​ราชวงศ์​ซ่ง​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​จีน ส่วน​กอง​กำลัง​อีก​หนึ่ง​กอง​ก็​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก. กอง​กำลัง​นี้​ได้​ทำลาย​ล้าง​นคร​แบก​แดด​และ​บีบ​บังคับ​นคร​ดามัสกัส​ให้​ยอม​จำนน. พวก​ที่​เรียก​กัน​ว่า​คริสเตียน ซึ่ง​เคย​ทำ​สงคราม​ครูเสด​เพื่อ​ต่อ​สู้​กับ​ชาว​มุสลิม​ต่าง​มอง​ดู​ด้วย​ความ​สะใจ และ “พวก​คริสเตียน” ที่​อยู่​ใน​นคร​แบก​แดด​ก็​ปล้น​สะดม​และ​ฆ่า​เพื่อน​บ้าน​ที่​เป็น​ชาว​มุสลิม.

ณ ช่วง​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​นี้ คือ​ตอน​ที่​ฝ่าย​มองโกล​ดู​เหมือน​กำลัง​จะ​บดขยี้​โลก​มุสลิม​จน​สูญ​สิ้น​อยู่​แล้ว ประวัติศาสตร์​ก็​ซ้ำ​รอย​เดิม​อีก. มี​ข่าว​มา​ว่า​มังกู​เสีย​ชีวิต. นี่​เป็น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ที่​ผู้​รุกราน​ต้อง​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน แต่​คราว​นี้​พวก​เขา​ละ​ทหาร​ไว้​เพียง 10,000 นาย​เพื่อ​รักษา​พรม​แดน. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน กอง​กำลัง​ที่​มี​อยู่​น้อย​นิด​ก็​ถูก​กองทัพ​อียิปต์​บดขยี้​จน​ราบ​คาบ.

การ​โจมตี​ราชวงศ์​ซ่ง​ที่​มั่งคั่ง​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​จีน​ประสบ​ชัย​ชนะ. ที่​จริง กุบไลข่าน​ประกาศ​สถาปนา​ตัว​เอง​เป็น​ผู้​ก่อ​ตั้ง​ราชวงศ์​ใหม่​ของ​จีน โดย​เรียก​ราชวงศ์​นี้​ว่า หยวน. ที่​ตั้ง​เมือง​หลวง​แห่ง​ใหม่​ของ​เขา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​เวลา​นี้​ว่า นคร​ปักกิ่ง. หลัง​จาก​ปราบ​ปราม​ผู้​สนับสนุน​ราชวงศ์​ซ่ง​ที่​หลง​เหลือ​อยู่​ได้​เรียบร้อย​แล้ว ปลาย​ทศวรรษ 1270 กุบไล​ก็​ครอบครอง​เหนือ​ประเทศ​จีน ซึ่ง​ถูก​รวม​เข้า​มา​เป็น​ปึก​แผ่น​เป็น​ครั้ง​แรก​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​ราชวงศ์​ถัง​ล่ม​สลาย​ไป​ใน​ปี 907.

การ​แตก​แยก​และ​การ​ล่ม​สลาย

ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 14 จักรวรรดิ​มองโกล​อัน​เกรียง​ไกร​เริ่ม​จะ​ล่ม​สลาย. เหตุ​ผล​มี​หลาย​ประการ. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ การ​ต่อ​สู้​แย่ง​ชิง​อำนาจ​ท่ามกลาง​พวก​ลูก​หลาน​ของ​เจงกิสข่าน​ทำ​ให้​จักรวรรดิ​แตก​เป็น​เขต​ปกครอง​หลาย​เขต. นอก​จาก​นี้ ชาว​มองโกล​ยัง​ได้​รับ​เอา​อารยธรรม​บาง​อย่าง​ของ​ชาติ​ที่​พวก​เขา​พิชิต​ได้. ใน​จีน การ​ต่อ​สู้​แย่ง​ชิง​อำนาจ​กัน​ได้​บั่น​ทอน​อำนาจ​ของ​ลูก​หลาน​กุบไล​ให้​อ่อนแอ​ลง. ใน​ปี 1368 ชาว​จีน​ที่​รู้สึก​เหลือ​ทน​กับ​ผู้​ปกครอง​ที่​ไร้​ความ​สามารถ, การ​ฉ้อ​ราษฎร์​บัง​หลวง, และ​การ​ขูดรีด​ภาษี ได้​โค่น​ล้ม​อำนาจ​ของ​ผู้​ปกครอง​ราชวงศ์​หยวน​และ​บีบ​บังคับ​พวก​เขา​ให้​กลับ​ไป​มองโกเลีย.

เช่น​เดียว​กับ​พายุ​อัน​แรง​กล้า การ​รุกราน​ของ​ชาว​มองโกล​ถา​โถม​เข้า​มา​อย่าง​รวด​เร็ว, คง​อยู่​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง, แล้ว​ก็​ผ่าน​ไป. กระนั้น การ​รุกราน​ดัง​กล่าว​ก็​ได้​รับ​การ​บันทึก​ไว้​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ทวีป​ยุโรป​และ​เอเชีย ตลอด​จน​การ​รวม​กัน​เป็น​ปึก​แผ่น​ของ​ประเทศ​มองโกเลีย​และ​จีน. ที่​จริง ชาว​มองโกเลีย​ใน​ปัจจุบัน​ยกย่อง​เจงกิสข่าน จอม​ข่าน​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​คน​แรก​ให้​เป็น​บิดา​ของ​ประเทศ​มองโกเลีย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 โปรด​ดู​ข้อ​ความ​ที่​กล่าว​ถึง​เรื่อง​สัตว์​ร้าย​และ​การ​ปกครอง​ทาง​การ​เมือง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ข้อ​ต่อ​ไป​นี้: ดานิเอล 7:6, 12, 17, 23; 8:20-22; วิวรณ์ 16:10; 17:3, 9-12.

^ วรรค 7 ชาว​ยุโรป​เชื่อ​กัน​ว่า ตาตาร์​คือ​ปิศาจ​ที่​มา​จาก “ทาร์ทารัส.” (2 เปโตร 2:4) ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​เรียก​ผู้​รุกราน​เหล่า​นี้​ว่า ตาร์ตาร์.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 13]

จาก​การ​พิชิต​ไป​สู่​การ​พาณิชย์

ระหว่าง​ช่วง​ที่​เจริญ​รุ่งเรือง​ที่​สุด​ของ​ราชวงศ์​หยวน​ที่​กุบไลข่าน​ได้​ก่อ​ตั้ง​ขึ้น​มา​นั้น การ​ค้า​และ​การ​เดิน​ทาง​ได้​รับ​การ​ส่ง​เสริม​อย่าง​มาก ซึ่ง​ทำ​ให้​มี​การ​เรียก​ช่วง​เวลา​นี้​ว่า เป็น​ช่วง​แห่ง “การ​ขยาย​ตัว​ทาง​การ​ค้า​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ยูเรเชีย.” นี่​เป็น​ยุค​ของ​มาร์โค โปโล นัก​เดิน​ทาง​ชาว​เวนิซ​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่ (ปี 1254-1324). * ใน​การ​เดิน​ทาง​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ทาง​บก​หรือ​ทาง​เรือ พวก​พ่อค้า​ชาว​อาหรับ, เปอร์เซีย, อินเดีย, และ​ยุโรป ได้​นำ​ม้า, พรม, อัญมณี, และ​เครื่องเทศ​มา​ด้วย เพื่อ​มา​แลก​กับ​พวก​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา, เครื่อง​เขิน, และ​ผ้า​ไหม.

ใน​ปี 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ล่อง​เรือ​จาก​ยุโรป​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​พร้อม​กับ​นำ​สำเนา​บันทึก​การ​เดิน​ทาง​ของ​มาร์โค โปโล ไป​ด้วย โดย​หวัง​จะ​ฟื้นฟู​ความ​สัมพันธ์​ทาง​การ​ค้า​กับ​ราชสำนัก​ของ​มองโกล​ขึ้น​ใหม่. แต่​เขา​หา​รู้​ไม่​ว่า​จักรวรรดิ​นั้น​ได้​ล่ม​สลาย​ไป​ก่อน​หน้า​นั้น​กว่า​หนึ่ง​ร้อย​ปี​แล้ว! การ​ล่ม​สลาย​นั้น​ได้​ทำ​ให้​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​เป็น​อัน​ต้อง​ยุติ​ลง​ด้วย และ​ชาว​มุสลิม​ก็​ปิด​กั้น​เส้น​ทาง​บก​จาก​ยุโรป​ไป​สู่​ตะวัน​ออก.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 33 สำหรับ​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​การ​เดิน​ทาง​ไป​ประเทศ​จีน​ของ​มาร์โค โปโล ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 มิถุนายน 2004.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​เปิด​กว้าง​ทาง​ศาสนา

แม้​พวก​เขา​จะ​เป็น​พวก​ที่​นับถือ​ผี แต่​ชาว​มองโกล​ใน​ยุค​โบราณ​ก็​เป็น​คน​ที่​เปิด​กว้าง​ทาง​ศาสนา. หนังสือ​ชื่อ​นัก​รบ​บน​หลัง​ม้า​ของ​เหล่า​ปิศาจ (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า เมื่อ​ชาว​ตะวัน​ตก​เข้า​ไป​ที่​คาราโครัม​เมือง​หลวง​ของ​ชาว​มองโกล นอก​จาก​พวก​เขา​จะ​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​กับ​ความ​มั่งคั่ง​ของ​เมือง​นี้​แล้ว ยัง​ประหลาด​ใจ​ที่​พบ​ว่า​เมือง​นี้​มี​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​ด้วย โดย​ที่​มี​ทั้ง​โบสถ์, สุเหร่า, และ​วิหาร​ต่าง ๆ ตั้ง​อยู่​ด้วย​กัน.

พวก​คริสเตียน​แต่​ใน​นาม​มา​ถึง​ชาว​มองโกล​โดย​ทาง​พวก​เนสโตเรียน ซึ่ง​ได้​แยก​ตัว​ออก​มา​จาก​คริสตจักร​ไบแซนไทน์ หรือ​คริสตจักร​ตะวัน​ออก. พวก​เนสโตเรียน​ได้​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​คน​หลาย​คน​ใน​เผ่า​เติร์ก​ซึ่ง​ได้​พบ​ปะ​กับ​ชาว​มองโกล. ผู้​หญิง​บาง​คน​ที่​เปลี่ยน​ศาสนา​ถึง​กับ​ได้​เป็น​ภริยา​ของ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​ราชวงศ์​มองโกล.

มองโกล​ใน​ยุค​ปัจจุบัน​นับถือ​ศาสนา​แตกต่าง​กัน​หลาย​ศาสนา. อัตรา​ส่วน​โดย​ประมาณ​ของ​ประชากร​ที่​เชื่อ​ใน​ลัทธิ​ถือ​ผี​มี 30 เปอร์เซ็นต์; นับถือ​ลัทธิ​ลามะ (ศาสนา​พุทธ​แบบ​ทิเบต) 23 เปอร์เซ็นต์; และ​อิสลาม 5 เปอร์เซ็นต์. ที่​เหลือ​ส่วน​ใหญ่​จะ​เป็น​คน​ที่​ไม่​นับถือ​ศาสนา​ใด ๆ เลย.

[แผนที่​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อาณา​เขต​ที่​ชาว​มองโกล​ยึด​ครอง

ฮังการี

รัสเซีย

เคียฟ

แม่น้ำ​วอลกา

ไซบีเรีย

ทะเล​แคสเปียน

ดามัสกัส

อิหร่าน

แบกแดด

อุซเบกิสถาน

มองโกเลีย

คาราโครัม

ทะเล​ทราย​โกบี

เกาหลี

จีน

ปักกิ่ง

อินเดีย

นอฟโกรอด

[ภาพ​หน้า 15]

ฝูง​ม้า​ที่​มองโกเลีย

[ภาพ​หน้า 15]

เจงกิสข่าน

[ภาพ​หน้า 12]

Bildarchiv Preussischer Kulturbesitz/Art Resource, NY

[ภาพ​หน้า 15]

Scenic: © Bruno Morandi/age fotostock; Genghis Khan: © The Stapleton Collection/The Bridgeman Art Library