ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘การร้อยด้ายเข้าไปในรูเข็ม’

‘การร้อยด้ายเข้าไปในรูเข็ม’

‘การ​ร้อย​ด้าย​เข้า​ไป​ใน​รู​เข็ม’

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

เมื่อ​นัก​สำรวจ​ชาว​อังกฤษ​ค้น​พบ​ช่องแคบ​บาสส์​ใน​ปี 1798 พวก​เจ้าหน้าที่​ใน​กองทัพ​เรือ​พา​กัน​ตื่นเต้น​ดีใจ. ทาง​น้ำ​ใน​มหาสมุทร​นี้​ซึ่ง​แยก​แทสเมเนีย​รัฐ​ที่​เป็น​เกาะ​ออก​จาก​แผ่นดิน​ใหญ่​ของ​ออสเตรเลีย ช่วย​ย่น​ระยะ​ทาง​จาก​อังกฤษ​ถึง​ซิดนีย์​ลง​ถึง 1,100 กิโลเมตร.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ช่องแคบ​บาสส์​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ที่​อันตราย​ที่​สุด​เส้น​ทาง​หนึ่ง​ของ​โลก. ใน​ช่องแคบ​นี้​มี​ลม​แรง​กล้า​ที่​พัด​มา​จาก​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก, กระแส​น้ำ​ที่​ไหล​เชี่ยว, และ​มี​บริเวณ​น้ำ​ตื้น​ที่​มี​ระดับ​ความ​ลึก​โดย​เฉลี่ย​ประมาณ 50-70 เมตร ซึ่ง​ปัจจัย​ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​ทะเล​ปั่นป่วน​และ​เกิด​คลื่น​ลูก​ยักษ์​จน​ยาก​แก่​การ​เดิน​เรือ. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​อันตราย​จาก​พืด​หิน​ใต้​น้ำ​ที่​แหลม​คม​บริเวณ​เกาะ​คิง​ซึ่ง​ทอด​ตัว​อยู่​ตรง​กลาง​ปาก​ทาง​เข้า​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ช่องแคบ.

ใน​สมัย​นี้ การ​แล่น​เรือ​ผ่าน​ช่องแคบ​บาสส์​ไม่​ใช่​เรื่อง​ยาก. แต่​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น​ใน​สมัย​ที่​มี​แต่​เรือใบ​และ​เครื่อง​นำ​ร่อง​แบบ​สมัย​ก่อน. การ​แล่น​เรือ​เข้า​ไป​ใน​ช่องแคบ​นี้​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​หวาด​เสียว​มาก ซึ่ง​มี​การ​พรรณนา​ไว้​อย่าง​เหมาะเจาะ​ว่า​เป็น​เหมือน​กับ ‘การ​ร้อย​ด้าย​เข้า​ไป​ใน​รู​เข็ม.’

การ​แล่น​เรือ​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​วง​ใหญ่

ระหว่าง​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 เรือ​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​ถึง​ห้า​เดือน​เพื่อ​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง 19,000 กิโลเมตร​จาก​อังกฤษ​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย​ตะวัน​ออก และ​การ​เดิน​ทาง​ก็​ลำบาก​มาก! ตาม​ปกติ​แล้ว ผู้​โดยสาร​หลาย​ร้อย​คน ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ผู้​อพยพ​และ​พวก​นัก​โทษ​ต้อง​อยู่​กัน​อย่าง​แออัด​ยัดเยียด​ใต้​ดาดฟ้า​เรือ​ใน​สภาพ​ที่​น่า​สังเวช. การ​เมา​เรือ, ภาวะ​ทุโภชนาการ, และ​โรค​ภัย​ก็​มี​มาก​มาย​เช่น​เดียว​กับ​แมลง​รบกวน. การ​เสีย​ชีวิต​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก. * กระนั้น ความ​หวัง​เรื่อง​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า​ก็​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​หลาย​คน​เข้มแข็ง​และ​ไม่​ย่อท้อ.

ใน​ปี 1852 สภาพการณ์​ต่าง ๆ ดู​เหมือน​ดี​ขึ้น เมื่อ​กัปตัน​เจมส์ (บูลลี) ฟอบส์ พบ​เส้น​ทาง​ที่​สั้น​กว่า. เมื่อ​เลิก​ใช้​เส้น​ทาง​ตาม​เส้น​ขนาน​ที่ 39 ซึ่ง​ดู​เหมือน เป็น​เส้น​ทาง​ที่​สั้น​ที่​สุด​ใน​การ​ข้าม​มหาสมุทร​อินเดีย​ทาง​ตอน​ใต้​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย ฟอบส์​ได้​ใช้​เส้น​ทาง​วง​ใหญ่​จาก​อังกฤษ​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้ ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​ต้อง​แล่น​เรือ​ลง​ใต้​ไป​อีก​จน​เกือบ​จะ​ถึง​ทวีป​แอนตาร์กติกา. * ทั้ง ๆ ที่​มี​ภูเขา​น้ำ​แข็ง​และ​คลื่น​ลูก​ยักษ์ มาร์โค โปโล เรือ​ของ​ฟอบส์ พร้อม​ด้วย​ผู้​อพยพ​อีก 701 คน ก็​เข้า​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​เมลเบิร์น รัฐ​วิกตอเรีย หลัง​จาก​ที่​ออก​เรือ​ไป​เพียง 68 วัน ซึ่ง​เป็น​การ​ย่น​ระยะ​เวลา​ใน​การ​เดิน​ทาง​ลง​ไป​เกือบ​ครึ่ง​หนึ่ง. สถิติ​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​เวลา​ที่​ประจวบ​เหมาะ​จริง ๆ เนื่อง​จาก​ผู้​คน​มาก​มาย​กำลัง​แห่​ไป​ที่​รัฐ​วิกตอเรีย​เพื่อ​ขุด​หา​ทองคำ. ข่าว​เรื่อง​การ​เดิน​ทาง​ที่​รวด​เร็ว​นี้​ทำ​ให้​ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​สนใจ​การ​ทำ​เหมือง​ทองคำ​อยาก​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย.

หลัง​จาก​ที่​เรือ​แล่น​ออก​จาก​อังกฤษ ท่า​เรือ​ถัด​ไป​ที่​พวก​เขา​จะ​แวะ​พัก​ก็​คือ​เคป​ออตเวย์ ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป​ประมาณ 16,000 กิโลเมตร. พวก​นัก​เดิน​เรือ​ใช้​เครื่องวัด​แดด (เซกซ์แทนต์) และ​ตาราง​คำนวณ​เพื่อ​หา​ค่า​ละติจูด และ​พวก​เขา​ใช้​นาฬิกา​โครโนมิเตอร์​ของ​เรือ​ซึ่ง​ตั้ง​เวลา​ตรง​กับ​เวลา​มาตรฐาน​กรีนิช​เพื่อ​หา​ค่า​ลองจิจูด. ส่วน​เวลา​ท้องถิ่น​จะ​รู้​ได้​โดย​ดู​จาก​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​อาทิตย์. ทุก ๆ ชั่วโมง​ที่​ต่าง​กัน​ระหว่าง​เวลา​ท้องถิ่น​กับ​เวลา​มาตรฐาน​กรีนิช​หมาย​ถึง 15 องศา​ลองจิจูด. การ​รู้​ว่า​เรือ​อยู่​ที่​ละติจูด​และ​ลองจิจูด​ใด​จะ​ช่วย​ให้​นัก​เดิน​เรือ​ที่​ดี​ทราบ​ตำแหน่ง​ที่​ค่อนข้าง​แน่นอน​ของ​เขา.

แต่​ข้อ​ผิด​พลาด​ก็​ยัง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้. เมฆ​อาจ​บดบัง​ดวง​อาทิตย์​เป็น​เวลา​หลาย​วัน. และ​นาฬิกา​โครโนมิเตอร์​ใน​ยุค​แรก ๆ ก็​อาจ​จะ​ไม่​เที่ยง​ตรง​เสมอ​ไป. หนึ่ง​วินาที​ที่​เร็ว​หรือ​ช้า​ไป​ทุก ๆ วัน​ตลอด​สาม​เดือน​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เรือ​แล่น​เฉ​ออก​นอก​เส้น​ทาง​ได้​ถึง 50 กิโลเมตร. ฝน, หมอก, หรือ​ความ​มืด​อาจ​ทำ​ให้​เรือ​แล่น​เฉ​ออก​ไป​จาก​ปาก​ทาง​เข้า​ช่องแคบ​บาสส์ และ​อาจ​อับปาง​ได้​เมื่อ​มา​ชน​กับ​ชายฝั่ง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​หิน​ของ​เกาะ​คิง​หรือ​รัฐ​วิกตอเรีย. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า นัก​เดิน​เรือ​หลาย​คน​ได้​สะท้อน​ความ​รู้สึก​ออก​มา​แบบ​เดียว​กับ​กัปตัน​เรือ​คน​หนึ่ง ซึ่ง​มอง​เห็น​ท่า​เรือ​เคป​ออตเวย์​จาก​ระยะ​ที่​ปลอด​ภัย และ​ได้​ร้อง​ออก​มา​ว่า “ขอบคุณ​พระเจ้า! ดี​ที่​เรา​ไม่​พลาด.” นี่​เป็น​หลักฐาน​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ชำนาญ​ของ​นัก​เดิน​เรือ​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 19 ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​สามารถ​แล่น​ผ่าน​ช่องแคบ​ที่​เป็น​เหมือน​กับ ‘การ​ร้อย​ด้าย​เข้า​ไป​ใน​รู​เข็ม’ ได้​โดย​ที่​เรือ​ไม่​อับปาง. แต่​เรือ​บาง​ลำ​ก็​แล่น​ผ่าน​ไป​ไม่​ได้.

สุสาน​เรือ

ก่อน​ฟ้า​สาง​ใน​วัน​ที่ 1 มิถุนายน 1878 เรือใบ​ที่​แล่น​เร็ว​ชื่อ​ล็อกอาร์ด แล่น​ผ่าน​บริเวณ​ที่​มี​หมอก​หนา​ทึบ​เข้า​ไป​ใกล้​แนว​ชายฝั่ง​ของ​รัฐ​วิกตอเรีย. มี​หมอก​ลง​ตั้ง​แต่​เมื่อ​วัน​ก่อน และ​ทำ​ให้​กัปตัน​ไม่​สามารถ​บอก​ได้​ด้วย​ความ​แม่นยำ​ว่า​เรือ​ของ​เขา​อยู่​ที่​ตำแหน่ง​ใด​ใน​ทะเล. ผล​คือ เขา​แล่น​เรือ​เข้า​ไป​ใกล้​ชายฝั่ง​ของ​แผ่นดิน​ใหญ่​ออสเตรเลีย​มาก​กว่า​ที่​เขา​คิด. ทันใด​นั้น หมอก​ก็​จาง​หาย​ไป​จน​ทำ​ให้​มอง​เห็น​หน้าผา​สูง​ชัน​ประมาณ 90 เมตร ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​เพียง 2 กิโลเมตร. พวก​ลูกเรือ​ช่วย​กัน​อย่าง​ลน​ลาน​เพื่อ​บังคับ​เรือ​ให้​เลี้ยว แต่​ลม​และ​กระแส​น้ำ​ก็​ต้าน​พวก​เขา​ไว้. ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ชั่วโมง​ล็อกอาร์ด ก็​พุ่ง​ชน​พืด​หิน​ใต้​น้ำ​อย่าง​แรง​และ​จม​ลง​ใน​อีก 15 นาที​ต่อ​มา.

จาก​คน​ที่​อยู่​บน​เรือ​ทั้ง​หมด 54 คน มี​เพียง​สอง​คน​ที่​รอด​ชีวิต​คือ ทอม เพียร์ซ ช่าง​ฝึก​หัด​งาน​บน​เรือ​และ​ผู้​โดยสาร​ที่​ชื่อ​อีวา คาร์ไมเคิล ทั้ง​สอง​คน​นี้​อายุ​ไม่​ถึง 20 ปี. ทอม​เกาะ​เรือ​ชูชีพ​ที่​พลิก​คว่ำ​อยู่​เป็น​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​ใน​น้ำ​ทะเล​ที่​หนาว​เหน็บ​ของ​ช่วง​ฤดู​หนาว. ใน​ที่​สุด กระแส​น้ำ​พัด​พา​เขา​เข้า​ไป​ใน​ช่องแคบ ๆ ที่​อยู่​ระหว่าง​ซอก​ผา. เมื่อ​มอง​เห็น​ชาย​หาด​เล็ก ๆ ที่​มี​เศษ​ไม้​จาก​ซาก​เรือ​เกลื่อน​ไป​ทั่ว เขา​จึง​ว่าย​เข้า​ไป​ยัง​ที่​ที่​ปลอด​ภัย​นั้น. อีวา​ว่าย​น้ำ​ไม่​เป็น ดัง​นั้น​เธอ​จึง​เกาะ​เศษ​ซาก​เรือ​เป็น​เวลา​ราว ๆ สี่​ชั่วโมง ก่อน​ที่​เธอ​จะ​ถูก​น้ำ​พัด​พา​เข้า​ไป​ใน​ซอก​ผา​เดียว​กัน​นั้น. เมื่อ​เห็น​ทอม​อยู่​บน​ชาย​หาด เธอ​ร้อง​ตะโกน​ให้​ช่วย. ทอม​รีบ​กระโจน​ลง​ไป​ใน​คลื่น​และ​หลัง​จาก​พยายาม​อยู่​หนึ่ง​ชั่วโมง​ก็​ดึง​อีวา​เข้า​ฝั่ง​ได้ ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​เธอ​ก็​แทบ​จะ​หมด​สติ​แล้ว. เธอ​เล่า​ว่า “เขา​พา​ดิฉัน​เข้า​ไป​ใน​ถ้ำ​ที่​ดู​น่า​กลัว ห่าง​จาก​ชาย​หาด​ประมาณ 50 กว่า​เมตร และ​เมื่อ​เขา​พบ​บรั่นดี​กล่อง​หนึ่ง เขา​ทุบ​คอ​ขวด​บรั่นดี​แตก​และ​ให้​ดิฉัน​ดื่ม​บรั่นดี​นั้น ซึ่ง​ทำ​ให้​ดิฉัน​ฟื้น​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง. เขา​ดึง​หญ้า​ต้น​ยาว ๆ และ​พุ่ม​ไม้​มา​ปู​ให้​ดิฉัน​นอน. ไม่​ช้า​ดิฉัน​ก็​หมด​สติ​ไป​และ​คง​ต้อง​นาน​หลาย​ชั่วโมง​ที​เดียว.” ใน​ระหว่าง​นั้น ทอม​ปีน​ขึ้น​ไป​บน​หน้าผา​และ​พยายาม​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ. ภาย​ใน​ไม่​ถึง 24 ชั่วโมง​หลัง​จาก​ที่​ล็อกอาร์ด อับปาง ทอม​กับ​อีวา​ก็​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​บ้าน​ไร่​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ บริเวณ​นั้น. อีวา​สูญ​เสีย​ทั้ง​พ่อ​แม่​และ​พี่ ๆ น้อง ๆ ของ​เธอ​อีก​ห้า​คน ซึ่ง​เป็น​ผู้​ชาย​สาม​คน​และ​ผู้​หญิง​สอง​คน​ใน​โศกนาฏกรรม​ครั้ง​นี้.

ทุก​วัน​นี้ เรือ​นับ​เป็น​หมื่น ๆ ลำ​ไม่​ว่า​ใหญ่​หรือ​เล็ก สามารถ​แล่น​ผ่าน​ช่องแคบ​นั้น​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย​ทุก​ปี. ขณะ​ที่​เดิน​ทาง พวก​เขา​อาจ​ผ่าน​จุด​ที่​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​ว่า​มี​เรือ​อับปาง​นับ​เป็น​ร้อย ๆ จุด. พวก​นัก​ท่อง​เที่ยว​จะ​แวะ​ชม​บาง​จุด​ที่​เรือ​อับปาง​อย่าง​เช่น ล็อกอาร์ดกอร์จ ใน​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​พอร์ต​แคม​เบลล์ รัฐ​วิกตอเรีย. จุด​แวะ​ชม​เหล่า​นี้​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​ที่​น่า​เศร้า​สลด​ถึง​ผู้​กล้า​เหล่า​นั้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 ซึ่ง​หลัง​จาก​ที่​เดิน​ทาง​มา​ครึ่ง​โลก​แล้ว พวก​เขา​ก็​มา​เจอ​กับ​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​การ​เดิน​ทาง​ที่​ต้อง​ฝ่า​ฟัน​อันตราย​อย่าง​ห้าว​หาญ ซึ่ง​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ร้อย​ด้าย​เข้า​ไป​ใน “รู​เข็ม” เพื่อ​แสวง​หา​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ระหว่าง​ปี 1852 เด็ก 1 ใน 5 คน​ที่​มี​อายุ​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ขวบ​เสีย​ชีวิต​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​จาก​อังกฤษ​ไป​ออสเตรเลีย.

^ วรรค 8 ถ้า​เอา​เชือก​เส้น​หนึ่ง​มา​ขึง​ให้​ตึง​ระหว่าง​จุด​สอง​จุด​บน​ผิว​ทรง​กลม​ก็⁠จะ​ได้​ระยะ​ทาง​ที่​สั้น​ที่​สุด​ระหว่าง​จุด​สอง​จุด​นั้น​ซึ่ง​เรียก​ว่า วง​ใหญ่.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​ทอม​และ​อีวา?

ทอม เพียร์ซ​และ​อีวา คาร์ไมเคิล ซึ่ง​เป็น​ผู้​รอด​ชีวิต​เพียง​สอง​คน​เท่า​นั้น​จาก​เรือ​ล็อกอาร์ด ที่​อับปาง​ลง ได้​กลาย​เป็น​คน​ดัง​ใน​ออสเตรเลีย​ไป​ใน​ทันที. หนังสือ​เคป​ออตเวย์ชายฝั่ง​ลึกลับ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “หนังสือ​พิมพ์​พา​กัน​ประโคม​ข่าว​เรื่อง​เรือ​อับปาง​อย่าง​ครึกโครม​โดย​ยกย่อง​เพียร์ซ ว่า​เป็น​วีรบุรุษ ส่วน​อีวา คาร์ไมเคิล ก็​เป็น​หญิง​รูป​งาม และ​ดู​เหมือน​ได้​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ทั้ง​คู่​น่า​จะ​แต่งงาน​กัน. แม้​ว่า​ทอม​จะ​ขอ​เธอ​แต่งงาน แต่​อีวา​ก็​ปฏิเสธ​คำ​ขอ​ของ​เขา และ​สาม​เดือน​หลัง​จาก​นั้น​เธอ​ก็​กลับ​ไป​ยัง​ไอร์แลนด์. เธอ​แต่งงาน​และ​สร้าง​ครอบครัว​ที่​นั่น. เธอ​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1934 ด้วย​วัย 73 ปี. ส่วน​ทอม​กลับ​ไป​ออก​ทะเล​แล้ว​ก็​ประสบ​เหตุ​เรือ​อับปาง​อีก​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง. เขา​รอด​ชีวิต​มา​ได้​อีก. หลัง​จาก​ที่​ทำ​งาน​เป็น​กัปตัน​เรือ​กลไฟ​อยู่​หลาย​ปี เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1909 ด้วย​วัย 50 ปี.

[รูปภาพ

Both photos: Flagstaff Hill Maritime Village, Warrnambool

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ฟอบส์​แล่น​เรือ “มาร์โค​โปโล” (ภาพ​บน) จาก​อังกฤษ​ไป​ออสเตรเลีย โดย​ใช้​เส้น​ทาง​วง​ใหญ่​ที่​เร็ว​กว่า​มาก

[แผนภูมิ]

เส้น​ทาง​เก่า

เส้น​ขนาน​ที่ 39

เส้น​ทาง​วง​ใหญ่

เส้น​แอนตาร์กติก​เซอร์เคิล

[แผนที่]

มหาสมุทร​แอตแลนติก

มหาสมุทร​อินเดีย

แอนตาร์กติกา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the newspaper The Illustrated London News, February 19, 1853

[แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 16, 17]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มี​การ​พรรณนา​ถึง​การ​แล่น​เรือ​เข้า​ไป​ใน​ปาก​ช่องแคบ​บาสส์​ด้าน​ตะวัน​ตก​ว่า​เป็น​เหมือน​กับ ‘การ​ร้อย​ด้าย​เข้า​ไป​ใน​รู​เข็ม’

[แผนที่]

ออสเตรเลีย

วิกตอเรีย

เมลเบิร์น

อุทยาน​แห่ง​ชาติ​พอร์ตแคมเบลล์

เคปออตเวย์

ช่องแคบ​บาสส์

เกาะ​คิง

แทสเมเนีย

[ภาพ​หน้า 16]

หลัง​จาก​พุ่ง​ชน​พืด​หิน​ใต้​น้ำ “ล็อกอาร์ด” ก็​จม​ลง​ภาย​ใน 15 นาที

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

La Trobe Picture Collection, State Library of Victoria

[ภาพ​หน้า 17]

อุทยาน​แห่ง​ชาติ​พอร์ตแคมเบลล์ แสดง​ภาพ (1) ตำแหน่ง​ที่ “ล็อกอาร์ด” พุ่ง​ชน​พืด​หิน​ใต้​น้ำ (2) บริเวณ​ที่​เป็น​ถ้ำ​ของ​ทอม เพียร์ซ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photography Scancolor Australia