ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เผชิญหน้ากับฝูงกอริลลาที่ราบลุ่ม

เผชิญหน้ากับฝูงกอริลลาที่ราบลุ่ม

ลึก​เข้า​ไป​ใน​ป่า​ดิบ​ชื้น​แถบ​ศูนย์​สูตร​ของ​สาธารณรัฐ​แอฟริกา​กลาง​มี​สมบัติ​แห่ง​พง​ไพร​ที่​น้อย​คน​จะ​มี​โอกาส​ได้​เห็น. เรา​ตรากตรำ​นั่ง​รถ​ผ่าน​เส้น​ทาง​ขรุขระ​นาน​ถึง 12 ชั่วโมง​กว่า​จะ​ถึง​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ดี​ซัง​กา-เอ็นโดกี ผืน​ป่า​ที่​ยัง​คง​มี​ความ​อุดม​สมบูรณ์​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​สุด​เขต​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​ประเทศ และ​อยู่​ระหว่าง​ประเทศ​แคเมอรูน​กับ​สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​คองโก. เรา​มี​เป้าหมาย​ที่​จะ​ไป​พบ​กับ​มากุมบา​และ​ครอบครัว​ของ​มัน​ซึ่ง​เป็น​กอริลลา​ที่​ราบ​ตะวัน​ตก.

ไกด์​บอก​ให้​เรา​เกาะ​กลุ่ม​กัน​ไว้​และ​ให้​ระวัง​ช้าง​ด้วย เนื่อง​จาก​พวก​เรา​จะ​ใช้​เส้น​ทาง​ที่​พวก​มัน​หา​กิน​เป็น​ประจำ. แต่​ไม่​ใช่​แค่​ช้าง​เท่า​นั้น​ที่​เรา​ต้อง​ระวัง. ไกด์​ของ​เรา​เตือน​ว่า “ถ้า​กอริลลา​จู่​โจม​มา​ถึง​ตัว​คุณ ให้​ยืน​นิ่ง ๆ และ​มอง​พื้น แล้ว​มัน​จะ​ไม่​ทำ​ร้าย​คุณ. มัน​ก็​แค่​คำราม​ใส่​คุณ​เท่า​นั้น. ห้าม​สบ​ตา​มัน. ที่​จริง ฉัน​ว่า​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​หลับ​ตา​ไป​เลย.”

นัก​แกะ​รอย​ชาว​บาอาคา​เป็น​ผู้​นำ​ทาง​ไกด์​และ​พวก​เรา ชาว​บาอาคา​มี​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​และ​ตัว​เตี้ย​เหมือน​ชาว​ปิกมี. นัก​แกะ​รอย​ท้องถิ่น​ที่​มี​ความ​ชำนาญ​จะ​สามารถ​รู้​ได้​ว่า​สัตว์​ที่​หา​ตัว​ได้​ยาก​นี้​อยู่​ที่​ไหน​โดย​สิ่ง​ที่​เขา​เห็น ได้​กลิ่น และ​เสียง​ที่​เขา​ได้​ยิน​เพียง​เล็ก​น้อย. มัน​น่า​รำคาญ​ที่​มี​ผึ้ง​หยาด​น้ำ​บิน​ว่อน​อยู่​รอบ​ตัว​เรา. เรา​เดิน​ตาม​นัก​แกะ​รอย​แทบ​ไม่​ทัน​เพราะ​เขา​เดิน​อย่าง​คล่องแคล่ว ขณะ​ที่​เรา​ต้อง​พยายาม​เดิน​ฝ่า​พุ่ม​ไม้​ที่​ขึ้น​รก​เกะกะ​ขวาง​ทาง​เรา​อยู่.

ไม่​นาน นัก​แกะ​รอย​ก็​พา​เรา​มา​ถึง​ป่า​ที่​ยัง​เป็น​ธรรมชาติ​อยู่​มาก​และ​ชาว​ตะวัน​ตก​เพียง​ไม่​กี่​คน​เคย​เข้า​ไป. ทันใด​นั้น นัก​แกะ​รอย​ก็​หยุด​และ​ทำ​ท่า​ทาง​ให้​เรา​รู้​ว่า​เพิ่ง​มี​กอริลลา​มา​ที่​นี่. พวก​เรา​เห็น​พุ่ม​ไม้​ที่​หัก​และ​หญ้า​ที่​เตียน​เนื่อง​จาก​พวก​ลูก​กอริลลา​เล่น​กัน และ​ยัง​มี​กิ่ง​ไม้​หัก​ตาม​ทาง​ซึ่ง​ใบ​โกร๋น​เนื่อง​จาก​ถูก​กอริลลา​ดึง​กิน​เล่น​เป็น​อาหาร​ว่าง​ยาม​สาย. ความ​รู้สึก​ตื่นเต้น​ดีใจ​ของ​เรา​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​เรา​เดิน​ต่อ​ไป.

หลัง​จาก​เดิน​ไป​ได้​ประมาณ​สาม​กิโลเมตร นัก​แกะ​รอย​ก็​ค่อย ๆ เดิน​ช้า​ลง. เขา​กระดก​ลิ้น​ทักทาย​เพื่อ​จะ​ไม่​ให้​กอริลลา​แตก​ตื่น. ใกล้ ๆ บริเวณ​นั้น​เรา​ได้​ยิน​เสียง​กิ่ง​ไม้​หัก. ไกด์​โบก​มือ​เรียก​เรา​อย่าง​ช้า ๆ และ​เอา​นิ้ว​แตะ​ที่​ปาก​ส่ง​สัญญาณ​ให้​เรา​เงียบ ๆ. เธอ​บอก​เรา​ให้​หมอบ​ลง​และ​ชี้​ให้​ดู​สิ่ง​ที่​อยู่​หลัง​ต้น​ไม้. ห่าง​ออก​ไป​ประมาณ​แปด​เมตร เรา​เห็น​มากุมบา​แล้ว!

ตอน​นี้​ป่า​เงียบ​สงัด​และ​เรา​ได้​ยิน​แต่​เสียง​หัวใจ​เต้น​ระรัว. แน่นอน คำ​ถาม​ที่​ผุด​ขึ้น​มา​ใน​ใจ​เรา​ก็​คือ มากุมบา​จะ​จู่โจ่ม​เข้า​มา​ถึง​ตัว​เรา​ไหม? มากุมบา​หัน​หน้า​มา​มอง​เรา​ด้วย​ความ​สงสัย แล้ว​จาก​นั้น​มัน​ก็​หาว​ราว​กับ​ต้อนรับ​เรา. ไม่​ต้อง​บอก​เลย​ว่า เรา​รู้สึก​โล่ง​ใจ​มาก​ขนาด​ไหน!

ถึง​แม้​ว่า​ใน​ภาษา​ของ​ชาว​บาอาคา​ชื่อ มากุมบา หมาย​ถึง “รวด​เร็ว” แต่​เมื่อ​เรา​อยู่​ใกล้ ๆ มัน​ที่​นั่น มากุมบา​กำลัง​ค่อย ๆ เคี้ยว​อาหาร​เช้า​หยับ ๆ อย่าง​เย็น​ใจ. ใกล้ ๆ นั้น​มี​กอริลลา​น้อย​สอง​ตัว​เล่น​กัน. โซ​โป เจ้า​กอริลลา​ตา​โต​วัย​สิบ​เดือน​กำลัง​เล่น​อยู่​ใกล้ ๆ โมปัมบี​แม่​ของ​มัน​ซึ่ง​คอย​ดึง​โซ​โป​น้อย​กลับ​มา​เบา ๆ เมื่อ​เริ่ม​รู้สึก​ว่า​ลูก​น้อย​ออก​ไป​เล่น​ไกล​เกิน​ไป. ส่วน​ตัว​อื่น ๆ ใน​ครอบครัว​ก็​กำลัง​เด็ด​ใบ​ไม้​กิน​หรือ​เล่น​กัน พวก​มัน​หัน​มา​มอง​เรา​แล้ว​กลับ​ไป​เล่น​ต่อ​โดย​ที่​ไม่​สนใจ​พวก​เรา​เลย.

หลัง​จาก​หนึ่ง​ชั่วโมง​ผ่าน​ไป ก็​ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​บอ​กลา. มากุมบา​ก็​รู้สึก​เช่น​เดียว​กัน มัน​คำราม​อีก​ครั้ง มัน​ใช้​แขน​อัน​ทรง​พลัง​ยัน​ตัว​เอง​ขึ้น​และ​เดิน​เข้า​ไป​ใน​ป่า. ภาย​ใน​ไม่​กี่​วินาที ทั้ง​ครอบครัว​ก็​หาย​ลับ​ตา​ไป. แม้​ว่า​เรา​จะ​มี​เวลา​เพียง​สั้น ๆ ใน​การ​เฝ้า​ดู​ฝูง​กอริลลา แต่​ประสบการณ์​ครั้ง​นี้​จะ​อยู่​ใน​ความ​ทรง​จำ​ของ​พวก​เรา​ไป​อีก​นาน​แสน​นาน.