ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ข่าวสะเทือนขวัญมีผลต่อเด็ก

ข่าวสะเทือนขวัญมีผลต่อเด็ก

“ลูก​สาว​วัย 11 ขวบ​ของ​ผม​ไม่​ชอบ​ดู​ข่าว. ลูก​มัก​ฝัน​ร้าย​บ่อย ๆ เกี่ยว​กับ​ภาพ​ที่​เธอ​เห็น​ใน​ข่าว. ครั้ง​หนึ่ง เธอ​เห็น​รายงาน​ข่าว​เกี่ยว​กับ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​ฆ่า​ตัด​หัว​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ของ​เขา​เอง. ใน​คืน​นั้น​เอง ลูก​สาว​ของ​ผม​ก็​ฝัน​ว่า​ถูก​ตัด​หัว​ด้วย.”—ควินน์

“หลาน​สาว​ของ​ฉัน​ที่​อายุ​หก​ขวบ​เห็น​รายงาน​ข่าว​เกี่ยว​กับ​พายุ​ทอร์นาโด​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​บริเวณ​หนึ่ง​ของ​ประเทศ. หลาย​สัปดาห์​ต่อ​มา เธอ​ยัง​คง​หวาด​กลัว​อยู่. เธอ​โทร​หา​ฉัน​แล้ว​บอก​ว่า พายุ​ทอร์นาโด​กำลัง​จะ​มา​ที่​บ้าน​และ​เธอ​ต้อง​ตาย​แน่ ๆ.”—เพจ

รายงาน​ข่าว​ต่าง ๆ ทำ​ให้​ลูก​ของ​คุณ​กลัว​ไหม? การ​สำรวจ​ครั้ง​หนึ่ง​พบ​ว่า พ่อ​แม่​เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์​บอก​ว่า ลูก ๆ ของ​พวก​เขา​กลัว​ภาพ​ที่​เห็น​ใน​ข่าว​และ​เด็ก ๆ กลัว​ว่า​เหตุ​การณ์​ที่​เห็น​นั้น​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​เขา​หรือ​คน​ที่​เขา​รัก.

เพราะ​เหตุ​ใด? เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ เด็ก ๆ มัก​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​เห็น​ใน​ข่าว​ต่าง​ไป​จาก​ผู้​ใหญ่. ตัว​อย่าง​เช่น เด็ก​เล็ก ๆ อาจ​เชื่อ​ว่า​โศกนาฏกรรม​ที่​เผยแพร่​ผ่าน​สื่อ ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​เป็น​เรื่อง​จริง​ที่​เกิด​ขึ้น ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า.

อีก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ​รายงาน​ข่าว​เหตุ​การณ์​สะเทือน​ขวัญ​ที่​เกิด​ขึ้น​ทุก​วัน​สามารถ​บิดเบือน​ทัศนะ​ของ​เด็ก​ที่​มี​ต่อ​โลก. จริง​อยู่ เรา​อยู่​ใน​ช่วง “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​จะ​รับมือ​ได้.” (2 ติโมเธียว 3:1) แต่​การ​รายงาน​ข่าว​สะเทือน​ขวัญ​ที่​มี​ภาพ​เหตุ​การณ์​จริง​อย่าง​โจ่งแจ้ง​ทำ​ให้​เด็ก​กลัว​จน​ส่ง​ผล​ต่อ​การ​ใช้​ชีวิต​ประจำ​วัน​ของ​เด็ก. มูลนิธิ​ตระกูล​ไคเซอร์​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เด็ก​ที่​ดู​รายงาน​ข่าว​ทาง​ทีวี​มาก ๆ มัก​จะ​คิด​ว่า​มี​อาชญากรรม​เกิด​ขึ้น​มาก​กว่า​ที่​เป็น​จริง​และ​คิด​ว่า​โลก​นี้​เป็น​สถาน​ที่​ที่​อันตราย​กว่า​ที่​เป็น​จริง.”

หาก​รายงาน​ข่าว​ที่​สะเทือน​ขวัญ​มี​ผล​ต่อ​ลูก​ของ​คุณ คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร? ต่อ​ไป​นี้​เป็น​คำ​แนะ​นำ​บาง​ประการ.

ปก​ป้อง​พวก​เขา.

การ​ที่​คุณ​จะ​ให้​ลูก​ดู​ข่าว​ได้​มาก​น้อย​แค่​ไหน​ขึ้น​อยู่​กับ​อายุ ความ​เข้าใจ และ​ผล​กระทบ​ต่อ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ของ​ลูก. แน่นอน ใน​ยุค​แห่ง​ข้อมูล​ข่าวสาร เด็ก ๆ ก็​รู้​ข่าว​ที่​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น​ล่า​สุด. แม้​แต่​เด็ก​เล็ก ๆ ก็​อาจ​ได้​ยิน​หรือ​เห็น​ข่าว​มาก​กว่า​ที่​คุณ​คิด. ดัง​นั้น จง​คอย​สังเกต​อาการ​ต่าง ๆ ของ​ลูก​ที่​แสดง​ว่า​เขา​กลัว​หรือ​กังวล.

สอน​พวก​เขา.

เนื่อง​จาก​เด็ก ๆ โต​ขึ้น​เรื่อย ๆ คุณ​อาจ​จะ​ดู​ข่าว​ด้วย​กัน​กับ ลูก. เมื่อ​ดู​ข่าว​ด้วย​กัน คุณ​จะ​ใช้​โอกาส​นั้น​ใน​การ​สอน​เขา​ได้. พยายาม​เน้น​ข้อมูล​ใน​แง่​บวก​ของ​รายงาน​ข่าว​นั้น ตัว​อย่าง​เช่น ชี้​ให้​เห็น​ว่า​มี​การ​พยายาม​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​บรรเทา​ทุกข์​แก่​ผู้​ที่​ประสบ​ภัย​ธรรมชาติ​บาง​อย่าง.

ปลอบ​ใจ​เขา.

เมื่อ​มี​การ​รายงาน​ข่าว​ที่​สะเทือน​ขวัญ ลอง​ถาม​ลูก​ว่า​ลูก​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​นั้น. พ่อ​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ไมเคิล​บอก​ว่า “ผม​กับ​ภรรยา​ใช้​เวลา​อธิบาย​ข่าว​ที่​เรา​ดู​ด้วย​กัน​กับ​นาทาเนียล​ลูก​ชาย​ของ​เรา และ​บอก​วิธี​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​เหตุ​การณ์​ที่​น่า​เศร้า​เช่น​นั้น​กับ​ครอบครัว​ของ​เรา. เช่น ครั้ง​หนึ่ง​เมื่อ​นาทาเนียล​เห็น​ภาพ​ข่าว​ของ​บ้าน​ที่​ถูก​ไฟ​ไหม้​และ​กำลัง​พัง​ลง​มา เขา​กลัว​ว่า​บ้าน​ของ​เรา​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย. ผม​ปลอบ​เขา​โดย​ชี้​ให้​เขา​ดู​เครื่อง​ตรวจ​จับ​ควัน​ตาม​จุด​ต่าง ๆ ใน​บ้าน​ของ​เรา. เขา​รู้​ว่า​เครื่อง​เหล่า​นี้​อยู่​ที่​ไหน​และ​ทำ​งาน​อย่าง​ไร. นั่น​ทำ​ให้​ลูก​รู้สึก​ปลอด​ภัย.”

รักษา​ทัศนะ​ที่​สมดุล.

นัก​วิจัย​พบ​ว่า​ผู้​คน​มัก​จะ​คิด​ว่า​เหตุ​การณ์​เช่น​เดียว​กับ​ใน​ข่าว​อาจ​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​ตัว​เขา​เอง​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​คุณ​ได้​ยิน​ข่าว​ว่า​มี​เด็ก​ถูก​ลัก​พา​ตัว คุณ​อาจ​เริ่ม​คิด​เกิน​จริง​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​จะ​ถูก​ลัก​พา​ตัว​ทั้ง ๆ ที่​เหตุ​การณ์​นั้น​อาจ​ไม่​เกิด​ขึ้น​กับ​ลูก​ของ​คุณ​เลย. แน่นอน เป็น​เรื่อง​ดี​ถ้า​จะ​ระวัง​อันตราย​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ใน​อนาคต. แต่​ผู้​เชี่ยวชาญ​บอก​ว่า​สื่อ​รายงาน​ข่าว​ที่​ทำ​ให้​เรา​กลัว​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​อาจ​ดู​เหมือน​ยาก​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา.—สุภาษิต 22:3, 13

ถ้า​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​รักษา​ทัศนะ​ที่​สมดุล​เมื่อ​ดู​ข่าว ทั้ง​พวก​เขา​และ​ลูก ๆ ก็​จะ​หวาด​กลัว​มาก​เกิน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 2005 เด็ก​ชาย​วัย 11 ขวบ​คน​หนึ่ง​หลง​ทาง​อยู่​ที่​ภูเขา​ยูทาห์​ใน​สหรัฐ. เนื่อง​จาก​กลัว​ว่า​เขา​จะ​ถูก​ลัก​พา​ตัว เมื่อ​มี​คน​มา​ตาม​หา เขา​จึง​หนี​ไป​ซ่อน​ตัว​นาน​สี่​วัน. ใน​ที่​สุด เจ้าหน้าที่​ก็​พบ​เขา เด็ก​ชาย​คน​นี้​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​อ่อนแอ​และ​มี​ภาวะ​ขาด​น้ำ. แม้​ว่า​โอกาส​ที่​เด็ก​คน​หนึ่ง​จะ​ถูก​ลัก​พา​ตัว​จาก​คน​แปลก​หน้า​คิด​เป็น 1 ต่อ 350,000 คน แต่​ความ​กลัว​ของ​เด็ก​ชาย​คน​นี้​ก็​ทำ​ให้​เขา​ยอม​เสี่ยง​ที่​จะ​ขาด​อาหาร​แทน​ที่​จะ​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ.

“เด็ก​วัย 3-7 ขวบ​มัก​จะ​กลัว​ข่าว​เกี่ยว​กับ​ภัย​ธรรมชาติ​และ​อุบัติเหตุ​มาก​กว่า ใน​ขณะ​ที่​เด็ก​วัย 8-12 ปี​กลัว​ข่าว​เกี่ยว​กับ​อาชญากรรม​และ​ความ​รุนแรง​มาก​กว่า.”—มูลนิธิ​ตระกูล​ไคเซอร์

เรา​ได้​บทเรียน​อะไร? ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​คุณ​กับ​ลูก​รักษา​ทัศนะ​ที่​สมดุล​เมื่อ​ดู​ข่าว. ที่​จริง เหตุ​การณ์​เลว​ร้าย​มาก​มาย​ถูก​มอง​ว่า​เหมาะ​ที่​จะ​เป็น​ข่าว​เพราะ​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ และ​ไม่​ใช่​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ปกติ.

อาชญากรรม ความ​รุนแรง และ​ภัย​ธรรมชาติ​เป็น​โศกนาฏกรรม​ที่​เกิด​ขึ้น​จริง​ใน​ปัจจุบัน. แต่​ตาม​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​ไป​แล้ว ความ​พยายาม​ของ​คุณ​ที่​จะ​ปก​ป้อง สอน ปลอบ​ใจ และ​รักษา​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ไว้​จะ​ช่วย​ลูก ๆ ให้​รับมือ​กับ​ข่าว​สะเทือน​ขวัญ​ได้.