กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
คุยกับลูกเรื่องเพศ
อะลีเซีย * วัยรุ่นคนหนึ่งบอกว่า: “บางครั้งฉันก็อยากรู้อะไรๆเกี่ยวกับเรื่องเพศบ้าง แต่ก็กลัวว่าถ้าถามพ่อแม่แล้วท่านจะคิดว่าฉันไปทำอะไรไม่ดีมา.”
อีเนซ แม่ของอะลีเซียบอกว่า: “ใจจริงฉันก็อยากจะนั่งคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ลูกก็ยุ่งอยู่กับกิจกรรมมากมายจนฉันไม่รู้จะคุยกับลูกตอนไหน.”
ทุกวันนี้มีเรื่องเพศให้เห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในทีวี ภาพยนตร์ และตามป้ายโฆษณาต่างๆ. ดูเหมือนว่าที่เดียวที่ไม่มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือในการสนทนาระหว่างพ่อแม่ลูก. ไมเคิลวัยรุ่นคนหนึ่งในแคนาดาบอกว่า “ผมอยากให้พ่อแม่รู้ว่าผมรู้สึกอายและประหม่าที่จะพูดเรื่องเพศกับท่าน. ผมว่าพูดกับเพื่อนยังง่ายกว่าด้วยซ้ำ.”
บ่อยครั้ง พ่อแม่ก็อึดอัดใจพอๆกับลูกที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด. นักสุขศึกษาเดบรา ดับเบิลยู. ฮาฟฟ์เนอร์ เขียนในหนังสือชื่อ Beyond the Big Talk ว่า “พ่อแม่หลายคนบอกดิฉันว่าพวกเขาซื้อหนังสือเรื่องเพศศึกษาหรือคู่มือวัยรุ่นให้ลูกและวางไว้ในห้องลูก แต่ก็ไม่เคยพูดคุยเรื่องนั้นกับลูกเลย.” ฮาฟฟ์เนอร์บอกว่า การทำเช่นนั้นเหมือนเป็นการบอกลูกว่า “พ่อกับแม่อยากให้ลูกรู้จักร่างกายของลูกและมีความรู้เรื่องเพศศึกษา แต่พ่อกับแม่ไม่อยากคุยเรื่องนั้นกับลูก.”
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณต้องไม่มีทัศนะอย่างนั้น. เป็นเรื่องสำคัญจริงๆที่จะพูดคุยกับลูกเป็นส่วนตัวในเรื่องเพศ. ขอพิจารณาเหตุผลสามข้อต่อไปนี้:
- มุมมองของผู้คนในเรื่องเพศเปลี่ยนไปแล้ว. เจมส์วัย 20 ปีบอกว่า “เมื่อพูดถึงเรื่องเพศผู้คนไม่ได้คิดถึงแต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเท่านั้น. เดี๋ยวนี้มีทั้งการร่วมเพศทางปากและทางทวาร ไซเบอร์เซ็กซ์ รวมทั้ง ‘เซ็กซ์ทิง’ ทางโทรศัพท์ด้วย.”
- ลูกของคุณมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลผิดๆตั้งแต่อายุยังน้อย. แม่คนหนึ่งชื่อชีลาบอกว่า “ทันทีที่เริ่มเข้าโรงเรียน เด็กๆก็ได้ยินเรื่องเพศกันแล้ว และเด็กไม่ เข้าใจเรื่องนั้นอย่างที่คุณอยากให้พวกเขาเข้าใจหรอก.”
- ลูกของคุณมีคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องเพศแต่พวกเขาคงไม่กล้าพูดกับคุณก่อน. อันนาวัย 15 ปีในบราซิลบอกว่า “บอกตามตรง ฉันไม่รู้ว่าจะเริ่มพูดเรื่องเพศกับพ่อแม่อย่างไรดี.”
ที่จริง การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่พระเจ้ามอบหมายให้คุณซึ่งเป็นพ่อแม่. (เอเฟโซส์ 6:4) จริงอยู่ เรื่องนี้อาจทำให้ทั้งคุณและลูกรู้สึกตะขิดตะขวงใจ. แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง เด็กวัยรุ่นหลายคนรู้สึกเหมือนกับดาเนียลวัย 14 ปีที่บอกว่า “เราอยากเรียนรู้เรื่องเพศจากพ่อแม่มากกว่าที่จะเรียนจากครูหรือรายการทีวี.” ถ้าเช่นนั้น คุณจะพูดเรื่องสำคัญนี้กับลูกได้อย่างไรทั้งๆที่รู้สึกกระดากอาย? *
สอนให้เหมาะกับวัยของลูก
เด็กๆได้ยินเรื่องเพศตั้งแต่อายุยังน้อย เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะอยู่ในที่ที่ไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอกเลย. ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือใน “สมัยสุดท้าย” นี้คนชั่วจะ “กำเริบชั่วร้ายยิ่งขึ้น.” (2 ติโมเธียว 3:1, 13) น่าเศร้าที่เด็กหลายคนถูกผู้ใหญ่ทำร้ายหรือแสวงประโยชน์ทางเพศ.
ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะเริ่มสอนลูกตั้งแต่พวกเขายังเล็ก. เรนาเท แม่คนหนึ่งในเยอรมนีบอกว่า “ถ้าคุณคอยจนถึงตอนที่ลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น พวกเขาอาจไม่อยากคุยเรื่องนั้นกับคุณตรงๆ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเก็บเนื้อเก็บตัว.” เคล็ดลับก็คือคุณต้องสอนลูกให้รู้เรื่องเพศโดยปรับให้เหมาะกับวัยของเขา.
สำหรับลูกวัยก่อนเข้าเรียน:
สอนเด็กให้เรียกอวัยวะเพศโดยใช้คำที่ถูกต้องและย้ำว่าอย่าให้ใครมาจับต้องอวัยวะนั้น. ฮูเลีย แม่คนหนึ่งในเม็กซิโกบอกว่า “ฉันเริ่มสอนลูกชายตั้งแต่อายุสามขวบ. ฉันเป็นห่วงลูกมากเพราะรู้ว่าเขาอาจถูกครู พี่เลี้ยง หรือเด็กที่โตกว่าทำมิดีมิร้ายได้. เขาจำเป็นต้องรู้วิธีป้องกันตัวเองจากคนอื่นๆ.”
ลองวิธีนี้: สอนลูกว่าถ้ามีใครพยายามมาจับต้องอวัยวะเพศของลูก เขาต้องปฏิเสธอย่างหนักแน่น. ตัวอย่างเช่น คุณอาจสอนลูกให้พูดว่า “หยุดนะ! หนูจะบอกคนอื่นว่าคุณทำอย่างนี้!” ย้ำกับลูกให้แน่ใจว่าไม่ว่ากรณีใดๆการบอกคนอื่นให้รู้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าคนนั้นจะสัญญาว่าจะให้ของขวัญหรือข่มขู่ลูกก็ตาม. *
สำหรับลูกวัยประถม:
ช่วงวัยนี้เป็นโอกาสที่คุณจะช่วยลูกให้ค่อยๆมีความรู้มากขึ้น. พ่อคนหนึ่งชื่อปีเตอร์แนะว่า “ลองหยั่งดูก่อนว่าลูกของคุณรู้อะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพวกเขาอยากรู้อะไรเพิ่มเติมอีกไหม. อย่าฝืนใจเขาถ้าเขาไม่อยากพูด. ถ้าคุณพูดคุยกับลูกเป็นประจำอยู่แล้ว สักวันหนึ่งโอกาสที่จะคุยเรื่องนี้กับลูกก็จะมาเอง.”
ลองวิธีนี้: ให้คุยกับลูกทีละน้อยแทนที่จะนั่งคุยกันยืดยาวในคราวเดียว. (พระบัญญัติ 6:6-9) ถ้าคุณทำเช่นนี้ ลูกจะไม่รู้สึกว่าคุณยัดเยียดข้อมูลให้เขามากเกินไป. ยิ่งกว่านั้น เมื่อโตขึ้นเขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้นตามวัยของเขา.
สำหรับลูกวัยรุ่น:
ถึงตอนนี้คุณต้องแน่ใจแล้วว่าลูกของคุณมีความรู้ในเรื่องเพศมากพอทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ และศีลธรรม. อันนาวัย 15 ปีที่กล่าวถึงตอนต้นบอกว่า “เด็กที่โรงเรียนของฉันทั้งผู้หญิงผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว. ฉันคิดว่าในฐานะที่เป็นคริสเตียนฉันต้องมีความรู้มากพอเกี่ยวกับเรื่องนี้. ถึงแม้ว่าเรื่องเพศอาจเป็นเรื่องน่าอายที่จะเอามาพูดคุยกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ฉันจำเป็นต้องรู้.” *
ข้อควรระวัง: วัยรุ่นมักไม่กล้าถามคำถามเพราะกลัวพ่อแม่จะสงสัยว่าเขาไปทำอะไรไม่ดีมา. พ่อคนหนึ่งชื่อสตีเฟนประสบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง. เขาบอกว่า “ลูกชายของเราไม่ค่อยอยากพูดคุยเรื่องเพศกับเรา. แต่ตอนหลังเรามารู้ว่าที่เขาไม่กล้าพูดเป็นเพราะเขาคิดว่าเราสงสัยเรื่องความประพฤติของเขา. เราบอกเขาตรงๆว่าที่เราถามเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะสงสัยเขา เราเพียงแต่อยากแน่ใจว่าเขารู้วิธีรับมือกับแรงชักจูงที่เขาต้องเจออยู่ทุกวัน.”
ลองวิธีนี้: แทนที่จะยกคำถามเรื่องเพศขึ้นมาถามลูกวัยรุ่นตรงๆ ให้ถามว่าเพื่อนนักเรียนของเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น. ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามว่า “ทุกวันนี้หลายคนคิดว่าออรัลเซ็กซ์ไม่ใช่การร่วมเพศจริงๆ. เพื่อนที่โรงเรียนของลูกคิดอย่างนั้นไหม?” การถามแบบอ้อมๆเช่นนั้นจะทำให้ลูกวัยรุ่นกล้าพูดออกมาและเผยให้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร.
เอาชนะความรู้สึกกระอักกระอ่วน
จริงอยู่ การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอาจเป็นงานหนึ่งที่ทำให้คุณซึ่งเป็นพ่อแม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากที่สุด. แต่นั่นคุ้มค่ากับความพยายามของคุณ. ไดแอนแม่คนหนึ่งบอกว่า “เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกขวยเขินก็จะลดน้อยลง และที่จริงการคุยกับลูกเรื่องเพศจะช่วยให้คุณใกล้ชิดกับลูกมากขึ้นด้วยซ้ำ.” สตีเฟนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ก็คิดเช่นนั้น. เขาบอกว่า “การพูดคุยเรื่องที่ทำให้กระอักกระอ่วนใจอย่างเรื่องเพศจะง่ายขึ้น ถ้าคุณจัดเวลาไว้พูดคุยกันเป็นประจำในครอบครัวไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม.” เขากล่าวเสริมว่า “ความรู้สึกเช่นนั้นอาจไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่การพูดคุยกันอย่างเปิดอกเป็นเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงครอบครัวคริสเตียนให้แข็งแกร่งและมั่นคง.”
^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 11 บทความนี้อธิบายว่าทำไมจึงจำเป็นที่จะพูดคุยเรื่องเพศกับลูก. ในโอกาสหน้าบทความนี้จะพิจารณาวิธีสอนลูกให้มีค่านิยมทางศีลธรรมที่ดี.
^ วรรค 16 คำแนะนำนี้มาจากหนังสือจงเรียนจากครูผู้ยิ่งใหญ่ หน้า 171 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 19 คุณอาจพูดคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่นโดยใช้บทความ “หนุ่มสาวถามว่า” จากวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 1/07, 2/07, 5/07, 6/07, และ 12/07 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
ถามตัวเองว่า ...
ลองอ่านความเห็นของวัยรุ่นบางคนจากประเทศต่างๆแล้วถามตัวเองด้วยคำถามต่อจากนั้น.
“พ่อแม่บอกให้ฉันอ่านบทความที่มีคำแนะนำเรื่องเพศแล้วบอกว่าถ้าฉันมีอะไรสงสัยก็ให้มาถาม. แต่ฉันอยากให้พ่อแม่คุยเรื่องนั้นกับฉันให้มากขึ้น.”—อันนา, บราซิล.
คุณคิดว่าทำไมการที่คุณเพียงแต่เอาหนังสือให้ลูกอ่านจึงไม่พอ?
“ผมรู้อะไรไม่ดีๆเยอะแยะเกี่ยวกับเรื่องเพศซึ่งผมคิดว่าพ่อคงไม่รู้เรื่องแบบนั้นหรอก. พ่อคงตกใจมากแน่ๆถ้าผมถามท่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนั้น.”—เคน, แคนาดา.
อะไรอาจทำให้ลูกไม่กล้าพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับเรื่องที่เขาอยากรู้?
“พอฉันรวบรวมความกล้าได้และถามพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ. ท่านก็ย้อนถามเหมือนกับว่าฉันไปทำอะไรผิดมา อย่างเช่น ‘ทำไมถึงถามเรื่องนี้? มีอะไรรึเปล่า?’”—มาซามิ, ญี่ปุ่น.
เมื่อลูกถามคุณเรื่องเพศ การแสดงท่าทีแบบไหนที่ทำให้ลูกกล้าพูดเรื่องนั้นกับคุณอีก และท่าทีแบบไหนที่ทำให้เขาไม่กล้าพูดอีกเลย?
“ฉันคงกล้าคุยกับพ่อแม่มากกว่านี้ ถ้าพวกท่านพูดให้ฉันสบายใจว่า ตอนที่อายุเท่าฉันท่านก็เคยถามคำถามแบบนี้ และถ้าฉันจะถามแบบเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร.”—ลีเซต, ฝรั่งเศส
คุณจะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้นได้อย่างไรเพื่อเขาจะกล้าพูดเรื่องเพศกับคุณมากขึ้น?
“แม่ถามผมหลายอย่างเรื่องเพศ แต่ท่านไม่ได้ใช้น้ำเสียงแบบคาดคั้น. ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่ากำลังถูกสอบสวนอยู่.”—เชอราลด์, ฝรั่งเศส.
คุณใช้น้ำเสียงแบบไหนเมื่อพูดกับลูกเรื่องเพศ? มีอะไรที่คุณจะปรับปรุงได้ไหม?