ข้ามไปยังเนื้อหา

พี่​น้อง​ยูเครน​หลาย​คน​อพยพ​ไป​อยู่​ประเทศ​อื่น

9 มิถุนายน 2022
ข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวารอบโลก

ผู้ลี้ภัยจากยูเครนเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน

ผู้ลี้ภัยจากยูเครนเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน

อีรีนา มา​คู​กา ตอน​นี้​อยู่​ที่​สาธารณรัฐ​เช็ก

ไม่​นาน​หลัง​จาก​สงคราม​ปะทุ​ขึ้น​ใน​ยูเครน อีรีนา มา​คู​กา พี่​น้อง​หญิง​โสด​วัย 46 ปี​ก็​ไป​ที่​สถานี​รถไฟ​ใน​เมือง​คาร์คิฟ เธอ​ตัดสิน​ใจ​เดิน​ทาง​ออก​นอก​ประเทศ​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย ผู้​คน​ที่​สถานี​แย่ง​กัน​ขึ้น​รถไฟ​อย่าง​ชุลมุน​โดย​ไม่​รู้​ว่า​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​คือ​ที่​ไหน รถไฟ​ขบวน​ที่​อีรีนา​ขึ้น​ไป​เคลื่อน​ออก​จาก​สถานี หน้าต่าง​รอบ​ด้าน​ถูก​ปิด​ทึบ​เพื่อ​ไม่​ให้​สะดุด​ตา​และ​ถูก​ระเบิด​โจมตี แล้ว​อีรีนา​ก็​ได้​รู้​ว่า​รถไฟ​ที่​เธอ​นั่ง​อยู่​นั้น​กำลัง​เดิน​ทาง​ไป​ประเทศ​สโลวาเกีย

ตอน​นี้​อีรีนา​อาศัย​อยู่​ใน​สาธารณรัฐ​เช็ก เธอ​มา​ถึง​กรุง​ปราก​ซึ่ง​เป็น​เมือง​หลวง​เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2022 เธอ​ได้​งาน​เป็น​พนักงาน​ทำ​ความ​สะอาด และ​เช่า​อพาร์ตเมนต์​อยู่​กับ​พี่​น้อง​หญิง​ชาว​ยูเครน​อีก 2 คน​ที่​ลี้​ภัย​มา​เหมือน​กัน อีรีนา​เริ่ม​เรียน​ภาษา​เช็ก​และ​เป็น​ไพโอเนียร์​ต่อ​ไป เธอ​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มา 20 ปี​แล้ว

อีรีนา​บอก​ว่า “ฉัน​ได้​เห็น​ด้วย​ตา​ตัว​เอง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ใช้​คน​ของ​พระองค์​ให้​ช่วย​ดู​แล​เรา ประสบการณ์​นี้​ช่วย​ให้​ฉัน​มี​ความ​เชื่อ​มาก​ขึ้น​จริง​ ๆ”

พี่​น้อง​ของ​เรา​เกือบ 23,000 คน​เลือก​ที่​จะ​ออก​จาก​ยูเครน​ไป​ลี้​ภัย​ใน​ต่าง​ประเทศ เมื่อ​ไป​อยู่​อีก​ประเทศ​หนึ่ง​พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​ปลอด​ภัย​มาก​กว่า แต่​ก็​ต้อง​หา​งาน​ใหม่ หา​ที่​อยู่ เดิน​เรื่อง​เพื่อ​จะ​ได้​เอกสาร​ทาง​กฎหมาย หา​โรง​เรียน​ให้​ลูก และ​ต้อง​เรียน​ภาษา​ใหม่​ด้วย สิ่ง​สำคัญ​ที่​ช่วย​พวก​เขา​ให้​อยู่​รอด​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก​นี้ คือ​การ​ทำ​กิจกรรม​ของ​คริสเตียน​และ​ความ​รัก​จาก​พี่​น้อง​ร่วม​ความ​เชื่อ

อนาโตลี โอเลนา และ​อาลีนา เพอร์เซียก ตอน​นี้​อยู่​ที่​โรมาเนีย

ครอบครัว​เพอร์เซียก มี​สมาชิก 3 คน​คือ อนาโตลี โอเลนา และ​อาลีนา​ลูก​สาว​วัย 17 ปี พวก​เขา​กำลัง​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​ใน​โรมาเนีย หลัง​จาก​ละแวก​บ้าน​ของ​พวก​เขา​ใน​มีโคลาฟ โอบลาสต์ ยูเครน ถูก​ระเบิด​จน​พัง​ราบ ทั้ง​ครอบครัว​อพยพ​ออก​มา​เมื่อ​วัน​ที่ 6 มีนาคม 2022 เนื่อง​จา​กอนาโตลี​เป็น​พลเมือง​ของ​มอลโดวา เขา​จึง​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พา​ครอบครัว​ไป​โรมาเนีย โอเลนา​พูด​ถึง​การ​ย้าย​ประเทศ​ครั้ง​นี้​ว่า​เป็น​เหมือน “การ​ถอน​ต้น​ไม้​ทั้ง​ราก​ออก​จาก​ดิน​แล้ว​ย้าย​ไป​ปลูก​ที่​อื่น”

พี่​น้อง​ใน​โรมาเนีย​ช่วย​หา​อพาร์ตเมนต์​ให้​พวก​เขา ตอน​นี้​อนาโตลี​กับ​โอเลนา​หา​งาน​ได้​แล้ว ส่วน​อาลีนา​ยัง​เรียน​ออนไลน์​กับ​โรง​เรียน​ใน​ยูเครน​ได้

พี่​น้อง​ใน​โรมาเนีย​ไม่​ได้​ดู​แล​ครอบครัว​นี้​ใน​เรื่อง​ชีวิต​ประจำ​วัน​เท่า​นั้น แต่​พวก​เขา​ยัง​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ด้าน​ความ​เชื่อ​และ​ด้าน​จิตใจ​ด้วย พี่​น้อง​มัก​จะ​มา​หา​หรือ​ชวน​พวก​เขา​ทำ​กิจกรรม​ต่าง​ ๆ ​เพื่อ​จะ​ไม่​รู้สึก​เหงา โอเลนา​กับ​อาลีนา​กำลัง​เรียน​ภาษา​โรมาเนีย​โดย​ฝึก​จาก​แอป JW Language และ​จาก​การ​ทำ​งาน​รับใช้​กับ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ใหม่ ส่วน​อนาโตลี​พูด​ภาษา​โรมาเนีย​ได้​ตั้งแต่​เด็ก​ ๆ ​แล้ว

อนาโตลี​บอก​ว่า “เรา​เห็น​มือ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ยื่น​มา​ช่วย​เรา​ตั้งแต่​แรก​ผ่าน​ทาง​องค์การ​และ​การ​สนับสนุน​จาก​พี่​น้อง​ชาย​หญิง เรา​รู้สึก​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​รัก​เรา​จริง​ ๆ”

วลาดิสลาฟ ฮา​ฟรี​ลุค กับ​อาลีนา แม่​ของ​เขา เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​ใน​โปแลนด์

อาลีนา ฮา​ฟรี​ลุค ซึ่ง​เป็น​ม่าย​ตั้งแต่​ก่อน​มี​สงคราม อพยพ​ออก​จาก​เมือง​วินนิตเซีย​ใน​ยูเครน​พร้อม​กับ​วลาดิสลาฟ ลูก​ชาย​วัย 16 ปี พวก​เขา​มา​ถึง​เมือง​ซูวาลกี​ของ​โปแลนด์​ใน​วัน​ที่ 27 กุมภาพันธ์ อาลีนา​เล่า​ว่า “ตอน​แรก​ฉัน​กังวล​ว่า​ฉัน​กับ​ลูก​ชาย​จะ​ไป​อยู่​ที่​ไหน​และ​จะ​หา​เลี้ยง​ตัว​เอง​ยังไง แต่​ฉัน​ก็​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ดู​แล​เรา”

อาลีนา​อายุ 37 ปี เมื่อ​มา​ถึง​โปแลนด์ เธอ​หา​งาน​ทำ​ทันที​และ​พยายาม​หา​งาน​ที่​ไม่​กระทบ​กับ​การ​ประชุม​ของ​ประชาคม แล้ว​เธอ​ก็​ได้​งาน​เป็น​พนักงาน​ทำ​ความ​สะอาด​ใน​โรง​เรียน เธอ​บอก​ว่า “สิ่ง​สำคัญ​คือ งาน​นี้​ทำ​ให้​ฉัน​มี​เวลา​ออก​ประกาศ​กับ​พี่​น้อง​และ​มี​ราย​ได้​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว​ด้วย”

อาลีนา​กับ​วลาดิสลาฟ​กำลัง​เรียน​ภาษา​โปแลนด์ ทั้ง​สอง​คน​ร่วม​ประชุม​กับ​ประชาคม​ภาษา​โปแลนด์​และ​เป็น​ไพโอเนียร์​สมทบ​แบบ​ต่อ​เนื่อง ตอน​นี้​วลาดิสลาฟ​ได้​เข้า​เรียน​ใน​โรง​เรียน​มัธยม​แล้ว

พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ชาว​ยูเครน​เจอ​ปัญหา​และ​การ​เปลี่ยน​แปลง​หลาย​อย่าง แต่​พระ​ยะโฮวา​ก็​ช่วย​พวก​เขา​เสมอ​ให้​มี​กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ พวก​เขา​ได้​เห็น 2 โครินธ์ 4:8 เป็น​จริง​ที่​ว่า “เรา​ถูก​กดดัน​จาก​ทุก​ด้าน แต่​ยัง​ไม่​ถึง​กับ​จน​มุม เรา​รู้สึก​สับสน แต่​ยัง​มี​ทาง​ออก”