ข้ามไปยังเนื้อหา

27 กันยายน 2018
ข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวารอบโลก

มาร์ติน บอร์: รัฐบาลสโลวาเกียยอมรับว่าเขาไม่ผิดหลังตัดสินแล้ว 90 ปี

มาร์ติน บอร์: รัฐบาลสโลวาเกียยอมรับว่าเขาไม่ผิดหลังตัดสินแล้ว 90 ปี

วัน​ที่ 18 กันยายน 2015 ศาล​แห่ง​หนึ่ง​ใน​สโลวาเกีย​ตัดสิน​ให้​มาร์ติน บอร์ พ้น​จาก​ความ​ผิด​ทาง​อาญา​ข้อ​หา​ไม่​ยอม​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี นับ​ตั้ง​แต่​วัน​ที่​พี่​น้อง​บอร์​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​จน​ถึง​วัน​ที่​ศาล​ประกาศ​คำ​ตัดสิน​นี้​ก็​ผ่าน​มา 90 ปี​แล้ว ถือ​เป็น​การ​ตัดสิน​คดี​ของ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เพราะ​ความ​เชื่อ​ย้อน​หลัง​ไป​นาน​ที่​สุด​ของ​สโลวาเกีย

ถูก​ตัดสิน​ว่า​ผิด​เพราะ​ยืนหยัด​อย่าง​กล้า​หาญ

รูป​ของ​มาร์ติน บอร์ ตอน​ถูก​จับ

มาร์ติน​เป็น​คน​คัมภีร์​ไบเบิล​นานา​ชาติ​ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เดิม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1920 ตอน​นั้น​เขา​อายุ 17 ปี ต่อ​มา​ใน​เดือน​ตุลาคม​ปี 1924 เขา​ได้​รับ​หมาย​เรียก​เกณฑ์​ทหาร แต่​เพราะ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา เขา​ปฏิเสธ​ที่​จะ​เป็น​ทหาร​และ​ไม่​ยอม​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​ว่า​จะ​ภักดี​ต่อ​กองทัพ เจ้าหน้าที่​จึง​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า​เขา​ผิด​ปกติ​ทาง​จิต​และ​สั่ง​ให้​หมอ​ตรวจ​อย่าง​ละเอียด หมอ​บอก​ว่า​เขา​ปกติ​ดี และ​รายงาน​ว่า “ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​เขา​ไม่​ได้​มา​จาก​จินตนาการ​ที่​เพ้อ​ฝัน”

หลัง​จาก​หมอ​วินิจฉัย​ว่า​มาร์ติน​มี​สุขภาพ​จิต​ปกติ​ดี ศาล​ก็​ตัดสิน​เมื่อ​วัน​ที่ 2 เมษายน 1925 ว่า​เขา​มี​ความ​ผิด​ร้ายแรง​ทาง​อาญา​เนื่อง​จาก​ไม่​ยอม​เป็น​ทหาร ตอน​นั้น​มาร์ติน​แต่งงาน​แล้ว​และ​อายุ​ยัง​น้อย แต่​เขา​ก็​ยอม​รับ​โทษ​จำ​คุก 2 ปี โดย​ไม่​หวั่น​กลัว มาร์ติน​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​โหด​ร้าย ทั้ง​ถูก​ขัง​เดี่ยว​และ​แทบ​จะ​ไม่​ได้​รับ​อาหาร แต่​ยัง​ไม่​ครบ 2 ปี ใน​วัน​ที่ 13 สิงหาคม 1926 เขา​ก็​ถูก​ปล่อย​ตัว​เพราะ​ประพฤติ​ตัว​ดี แต่​ก็​ยัง​ต้อง​ถูก​คุม​ประพฤติ​ต่อ​ไป

คำ​ตัดสิน​ของ ECHR ทำ​ให้​ศาล​อื่น​ ๆ ​กลับ​คำ​ตัดสิน

พี่​น้อง​บอร์​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​วัน​ที่ 7 มกราคม 1985 ใน​ปี 2004 ครอบครัว​ของ​เขา​ได้​ยื่น​คำ​ร้อง​ขอ​ให้​ศาล​ประกาศ​ให้​เขา​พ้น​ผิด​แต่​ก็​ไม่​เป็น​ผล เจ็ด​ปี​ต่อ​มา พวก​เขา​ขอ​ให้​ศาล​เมือง​บราติสลาวา 1 ทบทวน​คดี​นี้​อีก​ครั้ง​หลัง​จาก​ที่​ศาล​สิทธิ​มนุษยชน​แห่ง​ยุโรป (ECHR) ประกาศ​คำ​ตัดสิน​สำคัญ​ใน​คดี​บายัต​ยัน​ยื่น​ฟ้อง​รัฐบาล​อาร์เมเนีย ที่​แสดง​ชัด​ว่า อนุ​สัญญา​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​แห่ง​ยุโรป​ปก​ป้อง​สิทธิ​ของ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถึง​จะ​มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น​ทาง​กฎหมาย​ที่​ศาล​จะ​กลับ​คำ​ตัดสิน​ใน​คดี​ของ​มาร์ติน แต่​ศาล​ต่าง​ ๆ ​ใน​ประเทศ​ก็​ไม่​ยอม​รับ​คำ​ร้อง จน​กระทั่ง​มี​พยาน​ฯ ​อีก​คน​หนึ่ง​ถูก​ฟ้อง​ด้วย​ข้อ​หา​เดียว​กัน

ตัว​แปร​สำคัญ: คดี​วัจดา

อิมริค วัจดา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เหมือน​กับ​มาร์ติน บอร์ และ​เขา​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​ใน​ปี 1959 และ 1961 ช่วง​ที่​คอมมิวนิสต์​ปกครอง เมื่อ​วัน​ที่ 13 มีนาคม 2014 ศาล​รัฐธรรมนูญ​แห่ง​สาธารณรัฐ​สโลวัก​ตัดสิน​ว่า​เขา​ควร​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​ไม่​มี​ความ​ผิด โดย​อาศัย​ประมวล​กฎหมาย​เชคโกสโลวัก ฉบับ​ที่ 119/1990 ซึ่ง​บัญญัติ​ขึ้น​เพื่อ​ช่วยเหลือ​ผู้​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​ใน​ยุค​คอมมิวนิสต์ ใน​กรณี​ของ​อิมริค วัจดา ศาล​รัฐธรรมนูญ​ได้​แสดง​จุด​ยืน​เป็น​ครั้ง​แรก​ว่า​รัฐบาล​สโลวาเกีย​ต้อง​ทำ​ตาม​คำ​ตัดสิน​ของ ECHR ใน​คดี​บายัต​ยัน โดย​ยอม​รับ​ว่า​การ​นิรโทษกรรม​หรือ​การ​ทำ​ให้​ผู้​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​จาก​การ​ใช้​อำนาจ​รัฐ​กลับ​คืน​สู่​สภาพ​เดิม เป็น​มาตรการ​ที่​จำเป็น​เพื่อ​เยียว​ยา​ผู้​ที่​เคย​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​ทาง​อาญา​เพราะ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี

คำ​ตัดสิน​ของ​ศาล​ใน​คดี​วัจดา เป็น​ตัว​แปร​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​ครอบครัว​ของ​พี่​น้อง​มาร์ติน บอร์​สามารถ​ยื่น​คำ​ร้อง​ต่อ​ศาล​เมือง​บราติสลาวา 1 อีก​ครั้ง​เพื่อ​ขอ​ให้​ล้าง​มลทิน​ให้​เขา ครั้ง​นี้​ศาล​รับ​คำ​ร้อง​และ​ใน​วัน​ที่ 18 กันยายน 2015 ศาล​ได้​ประกาศ​ให้​เขา​พ้น​ผิด ใน​ที่​สุด มาร์ติน บอร์ ก็​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​พ้น​จาก​ความ​ผิด​ทุก​อย่าง​เพราะ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี หลัง​จาก​เขา​เสีย​ชีวิต​ไป​แล้ว 30 ปี​และ​หลัง​จาก​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​เมื่อ 90 ปี​ก่อน

ดัง​นั้น คำ​ตัดสิน​ของ ECHR ใน​คดี​บายัต​ยัน และ​คำ​ตัดสิน​ของ​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ใน​คดี​วัจดา ได้​ช่วย​แก้ไข​ความ​ไม่​ยุติธรรม​ที่​ยืดเยื้อ​มา​นาน ตอน​นี้​ศาล​ต่าง​ ๆ ​ของ​สโลวาเกีย​ได้​ประกาศ​ให้​พยาน​พระ​ยะโฮวา 51 คน​ที่​ส่วน​ใหญ่​เคย​ต้อง​โทษ​ใน​ช่วง​ปี 1948 ถึง 1989 พ้น​จาก​ความ​ผิด​หมด​แล้ว