26 มกราคม 2022
ข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวารอบโลก
เสียงบรรยายภาพช่วยคนตาบอดและคนที่บกพร่องทางการมองเห็นให้ได้ประโยชน์จากการประชุมภูมิภาค
นี่เป็นปีที่ 3 แล้วที่มีการใช้เสียงบรรยายภาพในการประชุมภูมิภาคของเรา เสียงบรรยายภาพฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวีดีโอมีประโยชน์มากกับคนตาบอดหรือคนที่บกพร่องทางการมองเห็น การผลิตเสียงบรรยายภาพนี้เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่พยานพระยะโฮวาทำเพื่อช่วยคนตาบอด และคนที่บกพร่องทางการมองเห็นให้มีโอกาสได้ยินคำสอนของพระเจ้า ซึ่งทั่วโลกมีคนตาบอดประมาณ 43 ล้านคนและคนที่บกพร่องทางการมองเห็นอีกประมาณ 295 คน
ดร. โจเอล สไนเดอร์ ประธานสมาคม LLC เสียงบรรยายภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านบริการเสียงบรรยายภาพ ได้พูดถึงความพยายามของพยานพระยะโฮวาว่า “ผมประทับใจมากที่พยานพระยะโฮวาใช้วิธีนี้เพื่อช่วยคนพิการทางสายตาให้ได้รับประโยชน์จากวีดีโอ เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครคิดถึงคนกลุ่มนี้ ผมเลยอยากบอกว่าขอบคุณมากพยานพระยะโฮวาที่ตั้งใจทำสิ่งดี ๆ แบบนี้”
ตอนที่คณะกรรมการปกครองตัดสินใจให้ทำวีดีโอสำหรับการประชุมภูมิภาคปี 2020 เนื่องจากมีโรคระบาด ก็มีการตกลงด้วยว่าจะให้วีดีโอของการประชุมภูมิภาคมีเสียงบรรยายภาพด้วย ในปี 2020 แผนกบริการการแปลที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในวอร์วิก นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ผลิตเสียงบรรยายภาพสำหรับการประชุมภูมิภาคของปีนั้น แล้วในปี 2021 ก็มีการส่งต่องานเสียงบรรยายภาพให้แผนกประมวลข้อความที่ศูนย์การศึกษาวอชเทาเวอร์ที่แพตเทอร์สัน นิวยอร์ก พี่น้องในทีมทำเสียงบรรยายภาพได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับงานนี้จากหลักสูตรที่เปิดสอนออนไลน์
ดร. สไนเดอร์ บอกว่า “การบรรยายภาพให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่คุณสามารถสอนและฝึกคนอื่นได้” และเขาบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “การเลือกใช้คำที่สั้นกระชับแต่ก็ทำให้เห็นภาพ”
ตอนแรกทีมที่ทำเสียงบรรยายภาพจะฟังแค่เสียงของวีดีโอก่อนโดยที่ไม่ดูวีดีโอนั้นเพื่อจะเข้าใจว่าคนที่ตาบอดหรือบกพร่องทางการมองเห็นจะเข้าใจยังไง จากนั้นแต่ละคนในทีมจะเขียนอธิบายว่าภาพแรกที่เข้ามาในหัวของเขาเป็นยังไง แล้วทั้งทีมก็จะดูวีดีโอด้วยกัน และจดว่ามีช่วงไหนบ้างในวีดีโอที่ไม่มีเสียงพูด เพราะในช่วงเหล่านั้นจะเป็นช่วงที่ใส่เสียงบรรยายภาพเข้าไป
การทำเสียงบรรยายภาพให้พอดีกับช่วงที่ไม่มีเสียงพูดถือเป็นเรื่องท้าทายด้วย ไมเคิล มิลเลน ซึ่งอยู่ในทีมเสียงบรรยายภาพของพยานพระยะโฮวา บอกว่า “เนื่องจากเนื้อที่ที่จำกัด เราต้องเลือกว่าอะไรสำคัญที่สุดเพื่อคนฟังจะเข้าใจวีดีโอนี้ เราพยายามให้รายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ ตัวละคร และท่าทางของพวกเขา”
พี่น้องในทีมเสียงบรรยายภาพต้องระวังที่จะไม่ตีความสิ่งที่เห็นในวีดีโอ หนังสือ The Visual Made Verbal ของ ดร. สไนเดอร์ มีคำแนะนำสำหรับคนบรรยายภาพว่า “ควรให้ผู้ฟังเป็นคนจินตนาการเองว่าเหตุการณ์ในฉากนั้นเป็นยังไงโดยอาศัยข้อมูลจากเสียงบรรยายที่ไม่ชี้นำ นี่หมายความว่า คุณไม่ควรพูดว่า ‘เขาโกรธจัด’ หรือ ‘เธอเสียใจมาก’ แต่ให้พูดว่า ‘เขากำหมัดแน่น’ หรือ ‘เธอกำลังร้องไห้’”
หลังจากที่ทีมเสียงบรรยายภาพเขียนสคริปต์เสร็จแล้ว ต่อไปก็จะเป็นส่วนของคนให้เสียง โดยคนให้เสียงต้องอ่านแบบกลาง ๆ โดยไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก ไมเคิล มิลเลน บอกว่า “เสียงบรรยายภาพต้องไม่แข่งกับเสียงของตัวละครในวีดีโอ ถ้าคนให้เสียงพูดแบบกระตือรือร้นหรือแสดงอารมณ์มากเกินไป คนฟังก็อาจสับสนกับเสียงของตัวละครในวีดีโอ”
ทีมเทคนิคจะตัดต่อเสียงขั้นสุดท้าย หลังจากนั้นจะมีการเตรียมข้อมูลสำหรับแปลไว้เพื่อให้ทุกสาขาสามารถเอาไปแปลเป็นภาษาของตัวเองได้ ไมเคิลเล่าว่าในการประชุมภูมิภาค 2 ครั้งที่ผ่านมา ขั้นตอนทั้งหมดของการทำเสียงบรรยายภาพใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงต่อทุก 1 นาทีในวีดีโอ
จนถึงตอนนี้ พยานพระยะโฮวาแปลหนังสือและสื่อต่าง ๆ ที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิลออกไปมากกว่า 1,000 ภาษาแล้ว ถึงแม้เสียงบรรยายภาพไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขนี้ แต่บางคนก็รู้สึกว่ามันเป็นเหมือนอีกภาษาหนึ่ง ไมเคิลบอกว่า “เสียงบรรยายภาพเป็นการแปลให้คนตาบอด เราแปลภาพต่าง ๆ ที่เห็นในวีดีโอให้เป็นเสียง”
เราดีใจที่พระยะโฮวารับรองว่าทุกคนจะได้รับสิ่งที่เสริมสร้างความเชื่อไม่ว่าสภาพการณ์ในชีวิตของพวกเขาจะเป็นยังไง—อิสยาห์ 65:13