30 เมษายน 2021
ข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวารอบโลก
สรุป | การประชุมออนไลน์ที่จัดในมอลโดวา รัสเซีย และยูเครน เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีจากเหตุการณ์โซเวียตเนรเทศพยานพระยะโฮวาไปไซบีเรีย
มีการจัดประชุมวิชาการและการประชุมผู้สื่อข่าวทางออนไลน์ที่มอลโดวา รัสเซีย และยูเครนในโอกาสครบรอบ 70 ปีปฏิบัติการเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1951 ที่สหภาพโซเวียตเนรเทศพยานพระยะโฮวา 9,793 คนไปไซบีเรียโดยรถไฟ
มีการเชิญให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาดูที่เว็บไซต์ 1951deport.org ซึ่งพูดถึงปฏิบัติการเหนือ เว็บไซต์นี้จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา มีในภาษาอังกฤษ รัสเซีย และยูเครน ในเว็บไซต์มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์และคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับการเนรเทศครั้งนั้น
วันที่ 1 เมษายน | การประชุมวิชาการที่มอลโดวา
ดร. ลิเดีย ปาดูเรียค จากมหาวิทยาลัยอะเลคูรัสโซสเตทแห่งบัลติ บอกว่า “สหภาพโซเวียตใช้การเนรเทศในปี 1951 เป็นการลงโทษผู้คนและป้องกันไม่ให้ลัทธิเทวนิยมมีอิทธิพลเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์”
อย่างไรก็ตาม ดร. นิโคไล ฟุสเต นักวิจัยจากสถาบันประวัติศาสตร์บอกว่า “ปฏิบัติการเหนือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ . . . องค์การของพยานพระยะโฮวาไม่ได้ถูกทำลาย แถมพวกเขายังไม่หยุดเผยแพร่ความเชื่อของตัวเองและกล้ามากขึ้นด้วยซ้ำ”
ดร. เวอร์กีลู เบอร์เลดยานู นักวิจัยจากสถาบันประวัติศาสตร์และประธานการประชุมครั้งนี้ พูดถึงการเนรเทศพยานฯครั้งใหญ่ในสมัยนั้น เขาเคยสัมภาษณ์พยานพระยะโฮวาที่ถูกเนรเทศในตอนนั้นเพื่อใช้ในงานวิจัยของเขาด้วย เขาบอกว่า “ผมประทับใจมากที่คนเหล่านี้ยังคงมีความสงบใจและมีความหวังเต็มเปี่ยม พวกเขาไม่ได้รู้สึกขมขื่นกับสิ่งที่รัฐบาลโซเวียตทำกับเขา”
พี่น้องวิคตอร์ ดอร์นีเชนโก ซึ่งรับใช้ที่สาขามอลโดวาบอกว่า พยานพระยะโฮวาในรัสเซียกำลังเจอเหตุการณ์ซ้ำรอยกับพยานฯสมัยอดีตสหภาพโซเวียต เขาบอกว่า “น่าเศร้าที่รัฐบาลไม่ได้เรียนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ในฤดูร้อนปี 2017 องค์กรศาสนาของพยานพระยะโฮวาในรัสเซียซึ่งมีประมาณ 175,000 คนถูกสั่งห้าม อคติและการได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา ทำให้พวกพยานฯต้องสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่าง เช่น สิทธิ์ที่จะคิดตัดสินใจเลือกและอิสระในการนับถือศาสนา”
วันที่ 1 เมษายน | การประชุมผู้สื่อข่าวที่มอสโก
อย่างที่ได้รายงานไปแล้ว การประชุมนี้มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 5 คนเข้าร่วมด้วย พี่น้องยาโรสลาฟ สิวุลสกี ตัวแทนของสมาคมพยานพระยะโฮวาแห่งยุโรปได้อธิบายกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการเหนือและพยานพระยะโฮวาในรัสเซียที่กำลังถูกข่มเหงในตอนนี้ มีการถ่ายทอดสดการประชุมนี้ตลอดรายการทางออนไลน์ในภาษาอังกฤษและรัสเซีย
วันที่ 6 เมษายน | การประชุมวิชาการซึ่งจัดโดยสมาคมอินเตอร์เนชั่นแนลเมโมเรียลในมอสโก
อย่างที่ได้รายงานไปแล้ว มีการถ่ายทอดสดการประชุมนี้ทางออนไลน์เฉพาะภาษารัสเซีย
วันที่ 8 เมษายน | การประชุมวิชาการที่เคียฟ
มีนักวิชาการ 14 คนจาก 6 ประเทศรวมถึงพี่น้องอีวาน รีเฮอร์จากสาขายูเครนเข้าร่วมด้วย เขาได้บรรยายสั้น ๆ หนึ่งเรื่อง และนักวิชาการบางคนที่เข้าร่วมในงานสัมมนาได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการถูกเนรเทศเพื่อใช้ในงานวิจัย พวกเขาเอาวีดีโอการสัมภาษณ์นี้มาเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ดูด้วย
ดร. โทมัส บูกี นักวิจัยจากสถาบันวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยสิเลสเซีย ประเทศโปแลนด์ บอกว่า “แม้พยานพระยะโฮวาในไซบีเรียจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่มากแถมยังต้องทำงานหนัก แต่พวกเขาก็ยังทำตามมาตรฐานศีลธรรมที่ดีและปฏิบัติศาสนาของตัวเองอยู่เสมอ พวกเขาไม่เคยคิดจะละเมิดมาตรฐานศีลธรรมของตัวเองเพื่อจะได้งานที่ดีกว่า มีชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อจะได้อาหาร” ดร. บูกี บอกว่า พยานฯเป็นกลุ่มที่พิเศษกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะพวกเขาไม่ยอมอะลุ่มอล่วยความเชื่อ แต่ยังยืนหยัดมั่นคงแม้จะอยู่ใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์
ศาสตราจารย์ลุดมีลา ฟีลีโปวิช รองประธานสมาคมศาสนศาสตร์แห่งยูเครนได้อธิบายว่าพยานพระยะโฮวาในยูเครนตอนนี้กำลังแจกจ่ายหนังสือที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิลใน 36 ภาษา เธอยังบอกด้วยว่างานของพวกเขาเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่เฉพาะกับพยานฯด้วยกันเท่านั้น เธอบอกว่า “พยานฯช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในยูเครน” เช่น พวกเขาช่วยสอนคัมภีร์ไบเบิลให้กับคนตาบอดและคนหูหนวก และช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในชุมชน
การประชุมครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ในภาษาอังกฤษ รัสเซีย และยูเครน
วันที่ 9 เมษายน | การประชุมผู้สื่อข่าวที่เคียฟ
ศาสตราจารย์ฟีลีโปวิช บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “พยานพระยะโฮวาแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าพวกเขาปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เก่งขนาดไหน ยิ่งกว่านั้นแม้พวกเขาจะเจอความยากลำบากแต่พวกเขาก็ยังคงบอกความเชื่อของตัวเองกับคนอื่น และการถูกเนรเทศทำให้พวกเขาได้ไปเผยแพร่ความเชื่อในที่ที่ไม่เคยมีคนไปเผยแพร่มาก่อน . . . ในสมัยสหภาพโซเวียต พยานพระยะโฮวาได้รับความนับถือจากผู้คนเพราะพวกเขายึดมั่นกับมาตรฐานทางศีลธรรมของพวกเขา”
ศาสตราจารย์อีกอร์ คอซลอฟสกี ประธานศูนย์วิจัยทางศาสนาและความเชื่อนานาชาติแห่งยูเครน บอกว่า “เพื่อจะรู้ว่าเราเป็นใครเราต้องไม่ลืมอดีตของเรา . . . เราควรให้คนอื่นรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการเนรเทศพยานพระยะโฮวา มันควรถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของยูเครน” เขายังบอกอีกว่า “เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาที่จะลบล้างคำพูดที่แสดงความเกลียดชังและคำโกหกเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาและศาสนาอื่น ๆ ด้วย”
มีการถ่ายทอดสดการประชุมนี้ทางออนไลน์ในภาษาอังกฤษและยูเครน