12 เมษายน 2021
รัสเซีย
สมาคมอินเตอร์เนชั่นแนลเมโมเรียลจัดการประชุมทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 70 ปีที่สหภาพโซเวียตเนรเทศพยานพระยะโฮวาไปไซบีเรีย
วันที่ 1 เมษายน 2021 มีการจัดประชุมผู้สื่อข่าวขึ้นที่กรุงมอสโกในโอกาสครบรอบ 70 ปีที่พยานพระยะโฮวาถูกเนรเทศไปไซบีเรีย และไม่กี่วันหลังจากนั้นสมาคมอินเตอร์เนชั่นแนลเมโมเรียล (International Memorial Society) ได้เชิญนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนหลายคนเข้าร่วมการประชุมวิชาการซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน ในการประชุมนี้ผู้บรรยายไม่เพียงพูดถึง “ปฏิบัติการเหนือ” ที่รัฐบาลโซเวียตเนรเทศพยานพระยะโฮวาไปไซบีเรียในปี 1951 เท่านั้น แต่ยังพูดถึงการข่มเหงอย่างยาวนานที่พยานพระยะโฮวาในรัสเซียต้องเจอด้วย
ปฏิบัติการเหนือเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกระทรวงความมั่นคงของโซเวียต (MGB) ช่วงต้นปี 1951 MGB เสนอรายงานต่อโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในตอนนั้น บางส่วนในรายงานนั้นบอกว่า “เพื่อจะควบคุมกิจกรรมของพวกพระยะโฮวาที่ทำงานใต้ตินและต่อต้านรัฐบาล เราจำเป็นต้องเสนอให้จับกุมผู้นำลัทธิยะโฮวา และเนรเทศพยานพระยะโฮวาทุกคนรวมถึงครอบครัวของพวกเขาในยูเครน เบลารุส มอลโดวา ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ไปอยู่ที่เขตอีร์คุตสค์และทอมสค์” คนที่ถูกเนรเทศมีเกือบ 10,000 คน หรือมากกว่า 3,000 ครอบครัว นี่เป็นการเนรเทศด้วยเหตุผลทางศาสนาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (USSR)
อะเลกซันดร์ กูร์ยานอฟ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม พูดในคำบรรยายเปิดการประชุมว่า “การข่มเหงสมาชิกของศาสนานี้ . . . ยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้ เลยสำคัญมากที่เราต้องยกเรื่องปฏิบัติการเหนือขึ้นมาพูด”
พาเวล โปลยัน ซึ่งเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเนรเทศในโซเวียต พูดถึงประวัติของพยานพระยะโฮวาในสหภาพโซเวียตและพูดถึงเหตุผลที่พยานฯถูกเนรเทศ เขาบอกว่าช่วงปลายทศวรรษ 1940 และต้นทศวรรษ 1950 MGB เริ่มสังเกตว่าพยานพระยะโฮวาเป็นองค์กรที่มีการจัดระเบียบอย่างดี นอกจากนั้น นายโปลยันยังบอกด้วยว่า “[พยานพระยะโฮวา] เป็นพวกที่เผยแพร่ศาสนาเก่ง ทำให้รัฐบาลโซเวียตที่ไม่เชื่อพระเจ้าไม่พอใจมาก”
นายวาเลรีย์ บอร์ชเชฟ นักสิทธิมนุษยชนและประธานร่วมของมอสโกเฮลซิงกิกรุ๊ป พูดถึงวิธีที่เจ้าหน้าที่โซเวียตพยายาม “ล้างสมอง” พยานพระยะโฮวาโดยใช้โฆษณาชวนเชื่อและการสร้างความสงสัย นายบอร์ชเชฟ บอกว่า “ต่อมาเจ้าหน้าที่ [ที่ดูแลศาสนาต่าง ๆ ในโซเวียต] เห็นว่าวิธีเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล เราต้องชมพวกพยานพระยะโฮวาจริง ๆ พวกเขามีความเชื่อที่มั่นคงมาก”
เซอร์เกย์ ดาวีดิส สมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนเมโมเรียลและหัวหน้าโครงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองอธิบายว่า ตั้งแต่ปี 1998 พยานพระยะโฮวาในรัสเซียถูกข่มเหงหนักขึ้นเรื่อย ๆ เขาพูดถึงคำตัดสินของศาลสูงรัสเซียเมื่อเดือนเมษายน 2017 ที่สั่งห้ามงานของพยานพระยะโฮวา เนื่องจากศาลบอกว่าพยานพระยะโฮวาอ้างว่าศาสนาของตัวเองเหนือกว่าศาสนาอื่น นายดาวีดิส บอกว่า “มันเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะทุกคนก็ศรัทธาศาสนาที่ตัวเองนับถือกันทั้งนั้น”
พี่น้องยาโรสลาฟ สิวุลสกี ตัวแทนของสมาคมพยานพระยะโฮวาแห่งยุโรป บอกว่าพ่อแม่เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับตอนที่ถูกเนรเทศไปไซบีเรีย พยานฯที่ถูกเนรเทศต้องเจอความยากลำบากหลายอย่าง บางครอบครัวถูกทิ้งไว้ในป่าที่อากาศหนาวเย็นโดยไม่มีบ้านสักหลัง พวกเขาต้องขุดหลุมและลงไปอยู่ในนั้นหลายเดือนจนกว่าจะสร้างบ้านเสร็จ ตอนอยู่ในป่าพยานพระยะโฮวาต้องกินต้นตำแยกับเปลือกไม้เพื่อประทังชีวิต หลายคนเสียชีวิตเพราะป่วยหรืออดอยาก
พี่น้องสิวุลสกีบอกว่า เหตุผลที่พยานพระยะโฮวาในรัสเซียถูกรัฐบาลข่มเหงตอนนี้เป็นเหตุผลเดียวกับที่พวกเขาถูกเนรเทศในปี 1951 พวกเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดเรื่องความเป็นกลางของพยานฯ พวกเขาคิดว่าพยานฯไม่เชื่อฟังรัฐบาล แต่พวกเขาลืมไปว่าพยานฯมีชื่อเสียงว่านับถือเจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อฟังกฎหมาย และขยันทำงาน
นายอะเลกซันดร์ กูร์ยานอฟ เจ้าภาพการประชุมนี้กล่าวสรุปโดยพูดถึงพยานพระยะโฮวาในรัสเซียที่กำลังถูกข่มเหงตอนนี้ เขาบอกว่า “รัฐบาลเกลียดพยานพระยะโฮวาเป็นพิเศษ” ผู้เข้าร่วมประชุมได้รู้ว่าแม้เหตุการณ์ที่พยานฯถูกเนรเทศจะผ่านไป 70 ปีแล้ว แต่พวกเขาก็ยังถูกข่มเหงอีกครั้ง พยานฯซึ่งเป็นพลเมืองที่เชื่อฟังกฎหมายถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรเพราะทำตามความเชื่อทางศาสนาทั้ง ๆ ที่การทำอย่างนี้เป็นสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญให้การปกป้อง
วีดีโอการประชุมนี้มีให้ดูทางอินเทอร์เน็ตในภาษารัสเซียเท่านั้น