11 สิงหาคม 2020
รัสเซีย
เจ้าหน้าที่จากสหรัฐและยุโรปประณามรัสเซียที่ข่มเหงพยานพระยะโฮวา
วันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ในที่ประชุมคณะมนตรีถาวรขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) a ประเทศในยุโรปประมาณ 30 ประเทศและสหรัฐอเมริกาประณามรัฐบาลรัสเซียอย่างรุนแรงที่ให้มีการข่มเหงและทรมานพยานพระยะโฮวา
นางเลน ดาร์เนลล์ บาห์ล รักษาการที่ปรึกษาด้านการเมืองของ OSCE ผู้แทนสหรัฐอเมริกาพูดต่อที่ประชุมว่า “สหรัฐอเมริกากับอีกหลายประเทศในที่ประชุมนี้ขอประณามรัฐบาลรัสเซียและจะประณามต่อไปที่ปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อพยานพระยะโฮวา รายงานบอกว่าตำรวจบุกค้นบ้านของพยานฯ จับกุมและคุมขังพวกเขาโดยพลการ ตัดสินว่าพวกเขามีความผิดทำให้ต้องถูกจำคุกถึง 6 ปี และทำร้ายร่างกายพวกเขาด้วย”
ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในที่ประชุมนี้เป็นห่วงเกี่ยวกับรายงานเมื่อไม่นานนี้ที่เจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านพยานพระยะโฮวามากกว่า 100 หลังในเขตโวโรเนซ นางเลน บาห์ล บอกว่า “การข่มเหงสมาชิกศาสนาที่รักสงบกลุ่มนี้หนักขึ้นอย่างน่าตกใจ”
นางนิโคลา เมอร์เรย์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหราชอาณาจักร (UK) แสดงความเป็นห่วงด้วยว่า “การตรวจค้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และการบุกค้นบ้านทีละหลาย ๆ หลังในเวลาเดียวกัน ทำให้เห็นชัดว่ามีการวางแผนข่มเหงพยานพระยะโฮวา และ ‘หลักฐาน’ อย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัสเซียใช้เพื่อค้นบ้านและข่มเหงพยานฯก็คือการที่พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ
ยิ่งกว่านั้น นางเลน บาห์ลยังโต้คำอ้างของเจ้าหน้าที่เขตโวโรเนซที่ว่า ต้องจำคุกพยานฯเพราะมีความผิดฐานใช้ “มาตรการสมคบ” มาตรการเหล่านี้รวมถึง การเก็บรายงานและเอกสารอื่น ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเป็นกลุ่ม ๆ และการจัดประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เธอบอกว่าข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัสเซีย “ไร้เหตุผลและน่าละอาย” และ “ดิฉันก็ใช้ ‘มาตรการสมคบ’ ที่ว่านี้ทุกวัน” เธอเน้นว่าคณะผู้แทนของรัสเซียที่ประชุมกับ OSCE ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ “มีความผิดเพราะใช้มาตรการเหล่านี้” เหมือนกัน
ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศและประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีก 8 ประเทศบอกในแถลงการณ์ร่วมว่า “เราได้ยินผู้แทนของรัสเซียบอกมากกว่า 1 ครั้งต่อคณะมนตรีถาวรว่า พยานพระยะโฮวาสามารถปฏิบัติศาสนาได้อย่างอิสระและจะมีอิสระแบบนี้ต่อไป และสหพันธรัฐรัสเซียจะเคารพสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่เราก็เห็นรายงานมากมายว่าพยานพระยะโฮวาถูกค้นบ้าน ถูกคุมขังโดยพลการ และถูกสอบสวนทางอาญา นี่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ผู้แทนรัสเซียบอกไว้”
ผู้แทนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบอกด้วยว่า “ทั้งรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐรัสเซีย สัญญาที่รัฐบาลรัสเซียให้กับ OSCE และกฎหมายระหว่างประเทศที่รัสเซียร่วมลงนาม ล้วนบอกว่าทุกคนรวมทั้งพยานพระยะโฮวาต้องได้รับความเท่าเทียมในการใช้สิทธิมนุษยชนทั้งในการนับถือศาสนา ในการสมาคม ในการชุมนุมโดยสงบ และในการแสดงออก”
นางนิโคลา เมอร์เรย์ปิดท้ายแถลงการณ์ของสหราชอาณาจักร ด้วยการขอให้รัสเซียหยุดข่มเหงพยานพระยะโฮวา
นางเลน บาห์ล กระตุ้นให้รัฐบาลรัสเซีย (1) หยุดสอบสวนทางอาญาต่อพยานพระยะโฮวา (2) เลิกยึดและคืนอาคารสำนักงานใหญ่ในรัสเซียให้พยานพระยะโฮวา และ (3) ปล่อยตัวพยานฯที่ถูกจำคุกทันที
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์กรนานาชาติออกมาประณามรัสเซียที่กระทำอย่างเลวร้ายต่อพยานพระยะโฮวา รัสเซียถูกเตือนหลายครั้งแล้วว่า นานาชาติกำลังจับตามองที่รัสเซียข่มเหงพี่น้องของเราอย่างไร้ความปรานี ที่สำคัญกว่านั้น เรามั่นใจว่าพระยะโฮวารู้ดีว่าพี่น้องในรัสเซียต้องอดทนกับอะไรบ้าง (สดุดี 37:18) พ่อในสวรรค์ที่รักเราจะอวยพรความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และความอดทนของพวกเขาแน่นอน—สดุดี 37:5, 28, 34
a เป้าหมายหนึ่งของ OSCE คือ ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีคณะมนตรีถาวรเป็นหลักในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ