15 กุมภาพันธ์ 2018
อาร์เมเนีย
กว่าอาร์เมเนียจะยอมรับสิทธิ์ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ได้ประกาศคำตัดสินที่ช่วยสนับสนุนสิทธิของคนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากขึ้นอีก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2017 ECHR ได้ตัดสินคดีอาดยันและบุคคลอื่น ๆ ยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย ซึ่งผลการตัดสินทำให้เห็นชัดว่ารัฐบาลควรให้คนที่ปฏิเสธการเป็นทหารเพราะเหตุผลนี้ทำงานบริการสังคมแบบไหน
หลายปีมาแล้วที่ ECHR ไม่ยอมรับสิทธิ์ของคนที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้หลายคนต้องถูกข่มเหงและจำคุก แต่ในปี 2011 ท่าทีของ ECHR ต่อเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไป เห็นได้จากคำตัดสินคดีบายัตยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย ซึ่ง ECHR ยอมรับว่าการปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และต่อมาในคดีอาดยัน ECHR ก็ตัดสินว่าคนที่ปฏิเสธการเป็นทหารเพราะเหตุผลนี้มีสิทธิ์ทำงานบริการสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพและไม่ใช่การลงโทษ
ประวัติสั้น ๆ เกี่ยวกับการไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในอาร์เมเนียทำให้เห็นว่าคำตัดสินของ ECHR ในคดีบายัตยัน คดีอาดยัน และคนอื่น ๆ ส่งผลให้วิธีปฏิบัติของรัฐบาลอาร์เมเนียต่อคนที่ปฏิเสธการทหารเพราะเหตุผลนี้เปลี่ยนไปมากทีเดียว
อาร์เมเนียสัญญาว่าจะออกกฎหมาย ACS แต่ผิดสัญญา
ไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นการลงโทษ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกสภายุโรปในปี 2001 อาร์เมเนียสัญญาว่าจะออกกฎหมายการทำงานบริการสังคมแบบพลเรือน (ACS) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศในยุโรป ซึ่งหมายถึงการจัดให้คนที่ไม่เป็นทหารได้ทำงานบริการสังคมแบบที่ไม่อยู่ในการควบคุมของทหารและไม่ใช่การลงโทษ และรัฐบาลอาร์เมเนียยังสัญญาด้วยว่าจะอภัยโทษทุกคนที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี * แต่อาร์เมเนียก็ไม่ทำตามที่สัญญาไว้ โดยเรียกนายวาฮัน บายัตยันไปเป็นทหาร ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นพยานพระยะโฮวาและปฏิเสธที่จะเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ในปี 2002 นายบายัตยันถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกเพราะไม่เป็นทหาร ตอนนั้นรัฐบาลอาร์เมเนียไม่มีกฎหมาย ACS ต่อมาในปี 2003 นายบายัตยันยื่นฟ้องต่อ ECHR ว่ารัฐบาลอาร์เมเนียละเมิดสิทธิเสรีภาพทางมโนธรรมและทางศาสนาโดยสั่งจำคุกเขา
ถูกลงโทษเพราะกฎหมายบกพร่อง ปี 2004 รัฐบาลอาร์เมเนียออกกฎหมาย ACS ให้คนที่ไม่เป็นทหารทำงานบริการสังคมแทนได้ และชายหนุ่มพยานฯหลายคนยอมรับทางเลือกนี้ แต่หลังจากเริ่มทำงาน พวกเขาก็พบว่าโครงการนี้ควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่พลเรือน พวกเขาจึงเลิกทำงานในโครงการนั้น ทำให้พวกเขาถูกจับ ถูกดำเนินคดี และบางคนก็ถูกจำคุก เดือนพฤษภาคม 2006 นายไฮค์ คาชาเทอยันกับพยานฯอีก 18 คนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ยื่นคำร้องต่อ ECHR ว่าถูกรัฐบาลอาร์เมเนียละเมิดสิทธิ์โดยดำเนินคดีพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย *
หลายปีผ่านไปไม่มีอะไรคืบหน้า เป็นเวลาหลายปีที่รัฐบาลอาร์เมเนียไม่ได้แก้ไขกฎหมาย ACS เพื่อให้มีการทำงานบริการสังคมรูปแบบอื่น พยานฯจึงไม่ยอมรับกฎหมายที่บกพร่องนี้และรัฐบาลอาร์เมเนียก็สั่งจำคุกพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ ในช่วงปี 2004 (ที่มีการออกกฎหมาย ACS) จนถึงปี 2013 (ที่มีการแก้ไขกฎหมาย ACS) มีพยานฯ 317 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกคนละ 2-3 ปี
ในช่วงนั้น ECHR แทบไม่ได้จัดการอะไรกับปัญหานี้ ในปี 2009 ECHR ได้พิจารณาคำร้องของนายบายัตยันที่ชี้แจงว่าการที่เขาปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นไปตามข้อ 9 ของอนุสัญญายุโรปที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางมโนธรรมและศาสนา แต่ ECHR ก็ยังยึดติดกับแนวทางการตัดสินแบบเดิม ๆ ที่ทำมาหลายสิบปี นั่นคือ ปล่อยให้แต่ละประเทศตัดสินใจเองว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับสิทธิที่จะไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถ้าประเทศไหนไม่ยอมรับ กติกาข้อ 9 ของอนุสัญญาก็ไม่สามารถปกป้องประชาชนของประเทศนั้นจากการถูกดำเนินคดีได้ เมื่อทนายของนายบายัตยันเห็นว่าคำตัดสินของ ECHR ครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพกับคนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เขาจึงส่งคำร้องไปยังที่ประชุมใหญ่ของ ECHR เพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คดีพลิกเมื่อที่ประชุมใหญ่ของ ECHR ได้พิจารณาคำร้องของนายบายัตยันอีกครั้ง และในวันที่ 7 กรกฎาคม 2011 เป็นครั้งแรกที่ ECHR ประกาศชัดว่าการไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกติกาข้อ 9 ของอนุสัญญายุโรป และอธิบายว่าเนื่องจากอนุสัญญานี้เป็น “เครื่องมือที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย” ดังนั้น เมื่อจะตีความก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายใหม่ ๆ ที่ออกมาเพื่อให้ “เกิดความสอดคล้องลงรอยกันอย่างแท้จริงกับนานาประเทศทั้งในและนอกยุโรป” คำตัดสินจากที่ประชุมใหญ่ครั้งนี้ไม่เพียงทำให้สิทธิที่จะปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในยุโรปเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้อาร์เมเนียจัดให้มีการทำงานบริการสังคมแบบพลเรือนสำหรับผู้ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอีกด้วย
“การปฏิเสธเข้ารับราชการทหารด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ปฏิเสธมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือมีความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับการเป็นทหาร ในกรณีเช่นนี้ถือว่ามีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอและมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องตามข้อ 9 ของอนุสัญญา”—คดีอาดยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย [ที่ประชุมใหญ่ฯ], no. 23459/03, § 110, ECHR 2011
รัฐบาลอาร์เมเนียแก้ไขกฎหมาย ACS
ยังไม่มีงานบริการสังคมแบบพลเรือน ฤดูร้อนปี 2011 พยานฯ 4 คนในอาร์เมเนียรวมทั้งอาร์ตูร์ อาดยัน ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกเพราะไม่ยอมทำงานบริการสังคมตามกฎหมาย ACS ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ทั้งสี่คนยื่นคำร้องต่อ ECHR ว่าถูกรัฐบาลอาร์เมเนียละเมิดสิทธิ์ และงานบริการสังคมที่รัฐบาลอาร์เมเนียจัดให้ตั้งแต่ปี 2004 ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานยุโรปและขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของพวกเขา
กองทัพยังควบคุมการทำงานบริการสังคม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2012 ECHR ประกาศคำตัดสินในคดีคาชาทรีอันและบุคคลอื่นยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย ซึ่งฝ่ายโจทย์คือพยานฯ 19 คนที่เลิกทำงานบริการสังคมเมื่อรู้ว่าโครงการนี้อยู่ใต้การควบคุมของกองทัพไม่ใช่พลเรือน ตอนนั้น ECHR ตัดสินว่าการดำเนินคดีและคุมขังพยานฯเหล่านี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และถึงแม้ ECHR จะยอมรับว่าสาเหตุที่พยานฯยื่นฟ้องก็เพราะการทำงานบริการสังคมอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพ แต่คำตัดสินคดีคาชาทรีอัน ก็ไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แต่อย่างใด
งานบริการสังคมที่แท้จริง ฤดูร้อนปี 2013 รัฐบาลอาร์เมเนียออกกฎหมาย ACS ฉบับแก้ไขซึ่งสอดคล้องกับสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2001 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2013 พยานฯส่วนใหญ่ที่ถูกจำคุกในอาร์เมเนียได้รับการปล่อยตัว มีไม่กี่คนที่เลือกอยู่ในคุกจนครบกำหนดเพราะพวกเขาใกล้จะพ้นโทษอยู่แล้วตอนที่มีคำสั่งให้ปล่อยตัว จากนั้นเป็นต้นมา ทุกคนในอาร์เมเนียที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีก็สามารถทำงานบริการสังคมแทนได้ตามกฎหมาย ACS ฉบับใหม่
คดีที่ยื่นต่อ ECHR คืบหน้าเรื่อย ๆ
คำตัดสินของ ECHR ทั้งในคดีบายัตยัน และคดีคาชาทรีอัน ระบุชัดเจนว่าการไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลอาร์เมเนียต้องเคารพ แต่ ECHR ก็ไม่ได้ตัดสินออกมาว่างานบริการสังคมตามกฎหมาย ACS ต้องไม่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพ
จนกระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม 2017 ECHR ได้อุดช่องโหว่นี้ด้วยการประกาศคำตัดสินคดีอาดยันและบุคคลอื่น ๆ ยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย คำตัดสินนั้นบอกว่า ในเมื่อสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการเป็นทหารเป็นสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รัฐบาลอาร์เมเนียจึงต้องจัดให้คนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ทำงานแบบที่พวกเขายอมรับและสอดคล้องกับมาตรฐานของยุโรป งานบริการสังคมสำหรับผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารจะต้องไม่อยู่ใต้การควบคุมดูแลของกองทัพและต้องไม่ใช่การลงโทษ นอกจากนั้น ECHR ยังตัดสินให้รัฐบาลอาร์เมเนียชดใช้เยียวยาทุกคนที่เคยถูกลงโทษเพราะความบกพร่องของกฎหมายก่อนหน้านี้
“ศาลเห็นว่าสิทธิ์ที่จะไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีตามข้อ 9 ของอนุสัญญาฯคงเป็นเรื่องหลอกลวงถ้ารัฐบาลยังได้รับอนุญาตให้จัดการทำงานบริการสังคมที่ไม่ใช่แบบพลเรือนอย่างแท้จริงหรือเป็นการลงโทษ ไม่ว่าโดยการออกกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ”—คดีอาดยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย, no. 75604/11, § 67, ECHR 2017
ประเด็นคลี่คลาย
จนถึงเดือนมกราคม 2018 มีชายหนุ่มพยานฯในอาร์เมเนีย 161 คนแล้วที่ทำงานบริการสังคมจนครบกำหนดและอีก 105 คนกำลังทำอยู่ ทั้งพยานฯและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานนี้ต่างก็พอใจในผลสำเร็จ การทำงานบริการสังคมแบบนี้เป็นประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ และทุกคนที่ขอทำงานบริการสังคมแทนการเป็นทหารก็รู้สึกสบายใจ นอกจากนั้น การทำงานแบบนี้ยังช่วยขจัดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในอาร์เมเนียที่เรื้อรังมานานอีกด้วย
อังเดร การ์บอนโน ทนายคนหนึ่งของพยานฯในอาร์เมเนียได้ชมเชยรัฐบาลที่แก้ไขปัญหานี้ เขาบอกว่า “เมื่อย้อนดูคำตัดสินของ ECHR ในคดีต่าง ๆ ที่พยานฯยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย เราเริ่มเห็นความคืบหน้าในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่การตัดสินคดีบายัตยัน ในปี 2011 และคำตัดสินคดีคาชาทรีอัน กับคดีอาดยัน ก็เปิดทางให้มีการทำงานบริการสังคมแบบพลเรือนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เราหวังว่าประเทศอื่นที่ยังไม่มีทางเลือกแบบนี้จะสังเกตเห็นความสำเร็จของอาร์เมเนียที่จัดให้คนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ทำงานแบบที่ยอมรับได้และเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง”
|
ไม่มีกฎหมาย ACS |
มีกฎหมาย ACS แต่เป็นการลงโทษ |
มีกฎหมาย ACS แต่ไม่ใช้ |
---|---|---|---|
อาเซอร์ไบจาน |
|
|
X |
เบลารุส |
|
X |
|
เอริเทรีย |
X |
|
|
ลิทัวเนีย |
X * |
|
|
สิงคโปร์ |
X |
|
|
เกาหลีใต้ |
X |
|
|
ทาจิกิสถาน |
|
|
X |
ตุรกี |
X |
|
|
เติร์กเมนิสถาน |
X |
|
|
เหตุการณ์ตามลำดับเวลา
12 ตุลาคม 2017
ECHR ประกาศคำตัดสินคดีอาดยันและบุคคลอื่น ๆ ยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย
มกราคม 2014
พยานฯกลุ่มแรกเริ่มทำงานบริการสังคมหลังจากแก้ไขกฎหมาย ACS
12 พฤศจิกายน 2013
ครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปีที่ไม่มีพยานฯติดคุกเพราะปฏิเสธการเป็นทหาร
8 มิถุนายน 2013
อาร์เมเนียแก้ไขกฎหมาย ACS และประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2013
27 พฤศจิกายน 2012
ECHR ประกาศคำตัดสินคดีคาชาทรีอันและบุคคลอื่น ๆ ยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย
10 มกราคม 2012
ECHR ตัดสินคดีบุคคารัตยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย และคดีซาตูร์ยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย ไปในทางเดียวกับคดีบายัตยัน เพราะพบว่าการที่อาร์เมเนียจำคุกพยานฯเป็นการละเมิดข้อ 9 ของอนุสัญญายุโรป
7 กรกฎาคม 2011
ที่ประชุมใหญ่ของ ECHR พบว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางมโนธรรม (ข้อ 9 ของอนุสัญญายุโรป) และได้ลงคะแนนเสียง 16 ต่อ 1 ให้พยานฯชนะในคดีบายัตยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นการปกป้องสิทธิของคนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
27 ตุลาคม 2009
ECHR ประกาศคำตัดสินคดีบายัตยันยื่นฟ้องรัฐบาลอาร์เมเนีย โดยระบุว่าข้อ 9 ของอนุสัญญายุโรปจะไม่ปกป้องคนที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พยานฯจึงร้องเรียนต่อที่ประชุมใหญ่ของ ECHR
2004
อาร์เมเนียออกกฎหมาย ACS แต่ให้อยู่ในการควบคุมของกองทัพ
2001
อาร์เมเนียสัญญาว่าจะออกกฎหมาย ACS
^ ความเห็นหมายเลข 221 (ปี 2000) ของสมัชชารัฐสภาแห่งสภายุโรปได้เสนอให้เชิญอาร์เมเนียเข้าเป็นสมาชิกสภายุโรป โดยมีเงื่อนไขว่า “อาร์เมเนียต้องทำตามสัญญาต่อไปนี้คือ... ภายใน 3 ปีหลังจากเริ่มเป็นสมาชิก อาร์เมเนียต้องออกกฎหมายการทำงานบริการสังคมที่สอดคล้องกับมาตรฐานยุโรป ในระหว่างนี้อาร์เมเนียต้องอภัยโทษทุกคนที่ถูกจำคุกหรือถูกกักตัวอยู่ในค่ายทหารด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และเมื่อเริ่มใช้กฎหมายการทำงานบริการสังคมแล้ว อาร์เมเนียต้องให้พวกเขาเลือกได้ว่าจะเป็นทหารในหน่วยที่ไม่ใช้อาวุธหรือจะทำงานบริการสังคมแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพเลย”
^ การที่อาร์เมเนียดำเนินคดีและคุมขังพยานฯ 19 คนในปี 2005 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะตอนนั้นอาร์เมเนียไม่มีกฎหมายที่ระบุว่าการเลิกทำงานบริการสังคมกลางคันเป็นความผิดทางอาญา
^ ในลิทัวเนีย “การทำงานบริการสังคมแทนการเป็นทหาร” อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพ