23 พฤษภาคม 2018
อิตาลี
มหาวิทยาลัยปาดัวเป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษาโดยไม่ใช้เลือด
โรม—วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2017 ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ชีวจริยธรรม และกฎหมาย มาร่วมประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยปาดัว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลี หัวข้อการประชุมครั้งนี้คือ “มีทางเลือกอะไรบ้างเมื่อผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ปฏิเสธการถ่ายเลือด?—ลดใช้เลือด 2017” สนับสนุนโดยสมาคมและสโมสรวิทยาศาสตร์ในอิตาลีมากกว่า 25 แห่ง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลี
คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการถ่ายเลือดไม่มีอันตรายและเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เมื่อต้องรับการรักษาที่ซับซ้อนหรือต้องผ่าตัดใหญ่ แต่วิทยากรหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อนี้ เช่น นายแพทย์ลูกา พี. เวลเทิร์ท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและทรวงอกจากโรงพยาบาลยูโรเปียนในกรุงโรม อธิบายว่า “เดี๋ยวนี้เราเข้าใจแล้วว่าการถ่ายเลือดอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงและหลายครั้งก็ไม่จำเป็นเลย”
นายแพทย์เวลเทิร์ทและบุคลากรทางการแพทย์ที่มาร่วมประชุมได้ข้อสรุปนี้จากประสบการณ์และผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าการถ่ายเลือดทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้น อาการหนักขึ้น อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย a
“เดี๋ยวนี้เราเข้าใจแล้วว่าการถ่ายเลือดอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงและหลายครั้งก็ไม่จำเป็นเลย”—นายแพทย์ลูกา พี. เวลเทิร์ท ศัลยแพทย์ด้านหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลยูโรเปียนในกรุงโรม
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้และข้อเท็จจริงที่ว่าการถ่ายเลือดมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ในปี 2010 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาชี้แจงว่ามีความจำเป็นที่จะใช้เทคนิค PBM (Patient Blood Management) ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้หลายวิธีโดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย การรักษาแบบนี้ช่วยให้การผ่าตัดได้ผลดีขึ้นและลดการถ่ายเลือดอย่างเห็นได้ชัด องค์การอนามัยโลกได้ออกมติฉบับหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศใช้การรักษาแบบ PBM
ศาสตราจารย์สเตฟานญา วาลิโย หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ธนาคารเลือดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซานตันเดรอาในกรุงโรม อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิค PBM ว่า ที่ผ่านมาการรักษาทางการแพทย์ต้องพึ่งการบริหารจัดการเลือดที่มาจากการบริจาค แต่ตอนนี้ “มีการให้ความสำคัญกับเลือดของผู้ป่วยมากกว่าเลือดที่ได้รับบริจาค” เป้าหมายอย่างหนึ่งของ PBM คือ “ลดการเสียเลือดโดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นอันดับแรก ... และพยายามทุกวิถีทางเพื่อเก็บรักษาเลือดผู้ป่วยเอาไว้” ศาสตราจารย์วาลิโยยังบอกด้วยว่าเทคนิคต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยที่สุด “ที่จริงแล้วเป็นการรักษาที่มีคุณภาพมากกว่า”
นายแพทย์โตมาสโซ กัมปันญาโร ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเวโรนา ยืนยันว่าการใช้วิธีอื่นแทนการถ่ายเลือดมีประโยชน์หลายอย่าง หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยที่ผ่าตัดช่องท้องส่วนล่างตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เขาบอกว่า “เมื่อเทียบกันแล้ว การผ่าตัดคนไข้โดยไม่เติมเลือดมีความซับซ้อนน้อยกว่าและมีการตายน้อยกว่าการผ่าตัดโดยใช้เลือด”
“เมื่อเทียบกันแล้ว การผ่าตัดคนไข้โดยไม่เติมเลือดมีความซับซ้อนน้อยกว่าและมีการตายน้อยกว่าการผ่าตัดโดยใช้เลือด”—นายแพทย์โตมาสโซ กัมปันญาโร ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเวโรนา
นายแพทย์กัมปันญาโรและวิทยากรหลายคนที่มาร่วมประชุมกล่าวขอบคุณพยานพระยะโฮวาที่กระตุ้นให้แพทย์คิดหาวิธีรักษาแบบอื่นแทนการถ่ายเลือด อันนา อาปรีเล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการแพทย์มหาวิทยาลัยปาดัวบอกว่า “เราขอบคุณพยานพระยะโฮวาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิที่จะปฏิเสธการถ่ายเลือด ทำให้ทุกคนต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังและหาวิธีใช้เลือดให้น้อยลง”
“เราขอบคุณพยานพระยะโฮวาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิที่จะปฏิเสธการถ่ายเลือด ... ”—อันนา อาปรีเล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการแพทย์มหาวิทยาลัยปาดัว
วิทยากรในการประชุมครั้งนี้เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลากหลายสาขาวิชา เช่น วิสัญญีวิทยา หทัยวิทยา นรีเวชวิทยา โลหิตวิทยา มะเร็งวิทยา รวมถึงศัลยกรรมกระดูกและข้อ แต่ทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันว่า เนื่องจากตอนนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิค PBM มากขึ้นและแพทย์ที่ใช้เทคนิคนี้ก็มีประสบการณ์มากขึ้น จึงควรให้ความรู้กับหน่วยงานทางการแพทย์ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ และประชาชนทั่วไปให้มากกว่านี้
นายแพทย์เวลเทิร์ทบอกด้วยว่า “การผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ฉีกขาดเป็นตัวอย่างการผ่าตัดที่ซับซ้อนที่สุดที่สามารถทำกับร่างกายมนุษย์ได้. ... ถ้า [การผ่าตัดนี้] ทำได้โดยไม่ต้องใช้เลือด การผ่าตัดแบบอื่น ๆ ก็ต้องทำได้”
a ในการประชุม วิทยากรได้ยกตัวอย่างผลการศึกษาในออสเตรเลียตะวันตกซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับการรักษาโดยการถ่ายเลือด (Transfusion) คณะนักวิจัยพูดถึงผลการทดลองใช้เทคนิค PBM กับผู้ป่วยหลายประเภทเป็นเวลานานถึง 6 ปี พวกเขาศึกษาข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วย 605,046 รายในโรงพยาบาลตติยภูมิ 4 แห่ง พบว่าในช่วงการศึกษาวิจัยมีการใช้เลือดลดลง 41 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลง 28 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยแล้วลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ อัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลลดลง 21 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลวและเส้นเลือดสมองแตกลดลง 31 เปอร์เซ็นต์ การใช้เทคนิค PBM ให้ผลการรักษาดีกว่า มีการใช้เลือดน้อยลง และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการถ่ายเลือด