22 สิงหาคม 2018
อิตาลี
ศาลในซิซิลียืนยันว่าผู้ป่วยพยานพระยะโฮวามีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล
วันที่ 6 เมษายน 2018 ศาลแตร์มินี-อิเมเรเซในซิซิลี ประเทศอิตาลีตัดสินว่าศัลยแพทย์คนหนึ่งมีความผิดทางอาญาเนื่องจากบังคับให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นพยานพระยะโฮวาเติมเลือด ศาลสั่งให้ศัลยแพทย์จ่ายเงินชดเชยให้เธอ 10,000 ยูโร (ประมาณ 338,000 บาท) และอีก 5,000 ยูโร (ประมาณ 169,000 บาท) ให้สามีของเธอที่เป็นพยานพระยะโฮวา นี่เป็นครั้งแรกที่ศาลอิตาลีตัดสินให้แพทย์มีความผิดทางอาญาเพราะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ป่วย ซึ่งตามปกติแล้วผู้ป่วยมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับร่างกายของตัวเองตามความเชื่อทางศาสนา
คดีนี้เป็นคดีที่พี่น้องหญิงเข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำดีเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ถึงเธอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าจะไม่รับผลิตภัณฑ์จากเลือดแต่แพทย์ก็ยังเติมเม็ดเลือดแดงให้ โดยโกหกว่าผู้พิพากษาให้เขามีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องนี้
เธอกับสามีได้ไปยื่นฟ้องทางอาญาที่สำนักงานอัยการ ภายหลังศาลตัดสินว่า “ในกรณีของพยานพระยะโฮวา ผู้ป่วยที่บรรลุนิติภาวะและมีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ . . . แพทย์ต้องไม่เติมเลือด” ถ้าคนไข้ไม่ต้องการ
ศาลยังบอกด้วยว่า รัฐธรรมนูญของอิตาลีห้ามไม่ให้แพทย์ใช้วิธีการรักษาที่คนไข้ไม่ต้องการถึงแม้แพทย์จะเห็นว่าจำเป็นต้องใช้วิธีนั้น ตามที่ศาลตัดสิน “การที่แพทย์อ้างว่าวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งจำเป็น . . . ไม่ควรเกิดขึ้นเลยถ้าคนไข้บอกชัดเจนว่าไม่ต้องการ”
รายงานการทดลองทางการแพทย์ของดาเนียล โรดริเกรซ ศาตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์และชีวจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยปาดัวบอกว่า “สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่งได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ที่บอกว่า ‘ไม่มีใครควรถูกบังคับให้รับการรักษาทางการแพทย์เว้นแต่กฎหมายจะกำหนด” ลูกา เบนชี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพให้ความเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินครั้งนี้ไว้ในหนังสือด้านสุขภาพ Quotidiano Sanità ว่า “ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ให้สิทธิ์แพทย์บังคับคนไข้ให้เติมเลือดโดยที่คนไข้ไม่ต้องการ สิทธิของคนไข้ที่จะปฏิเสธการรักษานั้นสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด”
มาร์เชลโล ริฟีชี ทนายคนหนึ่งในทีมกฎหมายของพยานพระยะโฮวาบอกว่า “เราดีใจที่คำตัดสินนี้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป เช่นมาตรฐานที่กำหนดโดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ซึ่งเคารพสิทธิของผู้ป่วยในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล ที่น่าสนใจคือในปี 2017 สภาอิตาลีได้ออกกฎหมายฉบับที่ 219/2017 ที่เรียกกันว่า ‘กฎหมายพินัยกรรมชีวิต’ ที่เน้นหลักการเดียวกันกับคำตัดสินของศาล”
ลูชีโอ มาร์เซลลา ทนายอีกคนหนึ่งในทีมเดียวกันบอกว่า “คำตัดสินนี้ช่วยปกป้องแพทย์ที่พยายามเต็มที่เพื่อรักษาในขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิของผู้ป่วยด้วย”