ข้ามไปยังเนื้อหา

12 ธันวาคม 2019
เกาหลีใต้

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจัดแสดงเรื่องของพยานฯเกาหลีที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจัดแสดงเรื่องของพยานฯเกาหลีที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

น้อย​คน​ที่​จะ​รู้​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ประเทศ​เกาหลี​เคย​ถูก​กดขี่​ข่มเหง​มา​อย่าง​ยาว​นาน พิพิธภัณฑ์​ทาง​ประวัติศาสตร์​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ปูซาน (National Memorial Museum of Forced Mobilization under Japanese Occupation) เมือง​ใหญ่​อันดับ​สอง​ของ​เกาหลี ได้​จัด​นิทรรศการ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้ นิทรรศการ​พิเศษ​นี้​มี​ชื่อ​ว่า “ประวัติศาสตร์​เปลี่ยน แต่​มโนธรรม​ไม่​เปลี่ยน” ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 12 พฤศจิกายน 2019 ถึง​วัน​ที่ 13 ธันวาคม 2019 นิทรรศการ​นี้​แสดง​เรื่อง​ราว​การ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ของ​พยาน​ฯ​และ​การ​ที่​พวก​เขา​ถูก​ข่มเหง​ใน​ช่วง​ที่​เกาหลี​ถูก​ญี่ปุ่น​ยึด​ครอง ซึ่ง​ผ่าน​มา​แล้ว​มาก​กว่า 80 ปี

เดือน​กันยายน 2019 เคย​มี​การ​จัด​นิทรรศการ​นี้​แล้ว​ที่​หอ​ประวัติศาสตร์​เรือน​จำ​ซอ​แด​มุ​น aใน​กรุง​โซล ซึ่ง​มี​ผู้​เข้า​ชม​ทั้ง​หมด 51,175 คน รวม​ถึง​พี่​น้อง​ตัว​แทน​ที่​มา​ร่วม​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ที่​กรุง​โซล​จำนวน 5,700 คน​ด้วย

ใน​เหตุ​การณ์​ที่​เรียก​ว่า ดึงแดซา (Deungdaesa Incident) ตั้ง​แต่​เดือน​มิถุนายน 1939 ถึง​เดือน​สิงหาคม 1945 พยาน​พระ​ยะโฮวา​และ​คน​ที่​ตอบรับ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​จับ​และ​ถูก​ขัง​คุก พวก​เขา​ถูก​จำ​คุก​เพราะ​ปฏิเสธ​การ​นมัสการ​จักรพรรดิ​ญี่ปุ่น​และ​แจก​จ่าย​สิ่ง​พิมพ์​ที่​แพร่​แนว​คิด​ต่อ​ต้าน​การ​ทำ​สงคราม พยาน​ฯ 66 คน​ถูก​จับ​ซึ่ง​เป็น​จำนวน​ของ​พยาน​ฯ​เกือบ​ทั้ง​หมด​ที่​อยู่​ใน​เกาหลี​ตอน​นั้น พวก​เขา​ถูก​สอบสวน​และ​ถูก​ทรมาน​อย่าง​หนัก พยาน​ฯ 6 คน​ป่วย​หนัก​และ​เสีย​ชีวิต​เพราะ​สภาพ​คุก​ที่​ย่ำแย่

พี่​น้อง​ฮงแดอิล ซึ่ง​ทำ​งาน​กับ​ฝ่าย​ประชาสัมพันธ์​ของ​สาขา​เกาหลี​บอก​ว่า “คน​เกาหลี​ไม่​ค่อย​รู้​ว่า​ใน​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​เมื่อ 80 ปี​ที่​แล้ว​ช่วง​ที่​ญี่ปุ่น​ยึด​ครอง หลาย​คน​ถูก​กดขี่​ข่มเหง​อย่าง​หนัก​เนื่อง​จาก​ไม่​เป็น​ทหาร​เพราะ​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี นิทรรศการ​พิเศษ​นี้​ทำ​ให้​หลาย​คน​ได้​รับ​รู้​ถึง​ช่วง​เวลา​สำคัญ​และ​เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ทึ่ง​นั้น​เป็น​ครั้ง​แรก”

ศาสตราจารย์​ฮันฮงกู นัก​ประวัติศาสตร์​ที่​มา​ร่วม​งาน​เปิด​นิทรรศการ​กล่าว​ถึง​ผู้​ที่​ยืนหยัด​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ว่า “ผม​เชื่อ​ว่า​พวก​เขา​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ให้​กับ​คน​อื่น​ ๆ ​เรื่อง​การ​ทำ​ตาม​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​และ​รักษา​ความ​เชื่อ​ไว้​อย่าง​เหนียวแน่น ... สังคม​จะ​ยิ่ง​นับถือ​พยาน​ฯ​มาก​ขึ้น​เรื่อย​ ๆ ​เพราะ​พวก​เขา​ยึด​มั่น​กับ​ความ​เชื่อ”

นิทรรศการ​นี้​ได้​รับ​ความ​สนใจ​เป็น​อย่าง​มาก​จาก​นัก​ประวัติศาสตร์​และ​สื่อ​ต่าง​ ๆ นี่​เป็น​โอกาส​ดี​ที่​คน​ทั่ว​ไป​จะ​ได้​รู้​ประวัติศาสตร์​เกี่ยว​กับ​การ​ปฏิเสธ​ที่​จะ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี ซึ่ง​เป็น​ประเด็น​ที่​ได้​รับ​ความ​สนใจ​ใน​ประเทศ​เกาหลี​ใน​ช่วง​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา วัน​ที่ 28 มิถุนายน 2018 ศาล​รัฐธรรมนูญ​ประกาศ​ว่า​การ​ที่​รัฐบาล​ไม่​จัด​ให้​มี​การ​ทำ​งาน​บริการ​สังคม​แทน​การ​เป็น​ทหาร​ขัด​กับ​รัฐธรรมนูญ​ของ​เกาหลี​ใต้ หลัง​จาก​นั้น​เพียง 4 เดือน เมื่อ​วัน​ที่ 1 พฤศจิกายน ศาล​สูง​ได้​ตัดสิน​ว่า​การ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ไม่​ใช่​ความ​ผิด​ทาง​อาญา คำ​ตัดสิน​เหล่า​นี้​ส่ง​ผล​ให้​มี​การ​ปล่อย​ตัว​พี่​น้อง​ของ​เรา​ที่​ติด​คุก​เพราะ​ทำ​ตาม​ความ​เชื่อ​และ​เป็น​การ​ผลัก​ดัน​ให้​มี​กฎหมาย​การ​ทำ​งาน​บริการ​สังคม​แบบ​พลเรือน

ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง​เข้มแข็ง​ของ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ใน​เกาหลี​ยุค​แรก​ ๆ ​ซึ่ง​จัด​แสดง​ใน​นิทรรศการ​นี้ ทำ​ให้​เรา​คิด​ถึง​ถ้อย​คำ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บอก​ว่า “พระ​ยะโฮวา​อยู่​ฝ่าย​ผม ผม​จะ​ไม่​กลัว​อะไร มนุษย์​จะ​ทำ​อะไร​ผม​ได้?”—สดุดี 118:6

a ใน​ช่วง​ปี 1960 ถึง 1980 หอ​ประวัติศาสตร์​แห่ง​นี้​เคย​เป็น​คุก​สำหรับ​ขัง​คน​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ขัด​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​รวม​ถึง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ช่วง​ที่​ญี่ปุ่น​ปกครอง

 

หอ​ประวัติศาสตร์​เรือน​จำ​ซอ​แด​มุ​น​ใน​กรุง​โซล ประเทศ​เกาหลี​ใต้ มี​การ​จัด​แสดง​นิทรรศการ​ครั้ง​แรก​ที่​นี่​เมื่อ​เดือน​กันยายน 2019

กลุ่ม​เด็ก​นัก​เรียน​ยืน​อยู่​หน้า​หอ​ประวัติศาสตร์​ที่​จัด​แสดง​นิทรรศการ​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ดึง​แด​ซา มี​ผู้​เข้า​ชม​ทั้ง​หมด 51,175 คน

มี​โมเดล​หอสังเกตการณ์​ของ​เรือน​จำ​นี้​ที่​เคย​ใช้​จริง​ใน​อดีต​ตั้ง​แสดง​ใน​นิทรรศการ

หุ่น​นัก​โทษ 5 คน​ใน​ห้อง​ขัง​ที่​คับแคบ​แสดง​ถึง​สภาพ​ที่​พยาน​ฯ​เคย​อยู่

พิพิธภัณฑ์​แห่ง​ชาติ​ใน​ปูซาน (National Memorial Museum of Forced Mobilization under Japanese Occupation) ซึ่ง​เป็น​สถาน​ที่​จัด​นิทรรศการ

ผนัง​ด้าน​หนึ่ง​ใช้​จัด​แสดง​ภาพ​ถ่าย​ของ​พยาน​ฯ​บาง​คน​จาก 66 คน​ที่​ถูก​กดขี่​ข่มเหง​เพราะ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง