ข้ามไปยังเนื้อหา

การ​พิจารณา​คดี​ใน​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ของ​เกาหลี​ใต้​เมื่อ​วัน​ที่ 9 กรกฎาคม 2015

20 ธันวาคม 2016
เกาหลีใต้

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะประกาศคำตัดสินครั้งสำคัญเร็ว ๆ นี้

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะประกาศคำตัดสินครั้งสำคัญเร็ว ๆ นี้

เมื่อ​เดือน​กรกฎาคม 2015 ศาล​รัฐธรรมนูญ​เกาหลี​ใต้​ได้​เปิด​พิจารณา​คดี​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​การ​รับ​ราชการ​ทหาร​ซึ่ง​ลง​โทษ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี แต่​จน​ถึง​ตอน​นี้​ศาล​ก็​ยัง​ไม่​ตัดสิน​ว่า​กฎหมาย​ดัง​กล่าว​เป็น​ไป​ตาม​รัฐธรรมนูญ​หรือ​ไม่ ทุก​ฝ่าย​กำลัง​รอ​ฟัง​คำ​ตัดสิน​อย่าง​ใจจดใจจ่อ ขณะ​ที่​นาย​ปาร์ก​ฮันชูล​ประธาน​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ยืน​ยัน​ว่า​จะ​มี​คำ​ตัดสิน​ออก​มา​แน่นอน ก่อน​ที่​เขา​จะ​หมด​วาระ​การ​เป็น​ประธาน​ศาล​ใน​วัน​ที่ 30 มกราคม 2017

คำ​ตัดสิน​ที่​มี​ผล​ต่อ​หลาย​พัน​คน

ศาล​รัฐธรรมนูญ​เป็น​ศาล​สูง​สุด​ของ​เกาหลี​ใต้ มี​อำนาจ​กำกับ​ดู​แล​ให้​การ​ดำเนิน​งาน​ต่าง ๆ เป็น​ไป​ตาม​กฎหมาย​รัฐธรรมนูญ ก่อน​หน้า​นี้ มี​การ​ร้อง​ขอ​ให้​ศาล​รัฐธรรมนูญ​พิจารณา​ทบทวน​กฎหมาย​การ​ลง​โทษ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี ทุก​ฝ่าย​กำลัง​รอ​ให้​ศาล​ตัดสิน​ว่า​การ​ลง​โทษ​คน​ที่​ทำ​ผิด​กฎหมาย​ทหาร​โดย​อ้าง​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ถือ​ว่า​ขัด​กับ​รัฐธรรมนูญ​ของ​เกาหลี​ใต้​หรือ​ไม่​และ​รอ​ให้​ศาล​รับรอง​เสรีภาพ​ทาง​มโนธรรม​และ​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา

ถ้า​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ตัดสิน​ว่า​การ​จำ​คุก​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ขัด​กับ​รัฐธรรมนูญ รัฐบาล​เกาหลี​ใต้​ก็​จะ​ต้อง​ทบทวน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​กลุ่ม​นี้​อีก​ครั้ง ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​รัฐบาล​เกาหลี​ใต้​เปลี่ยน​ท่าที เลิก​ฟ้อง​ศาล และ​เลิก​ตัดสิน​จำ​คุก​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี

ความ​สับสน​ใน​กระบวนการ​ทาง​ศาล

ก่อน​หน้า​นี้ ศาล​รัฐธรรมนูญ​ได้​ตัดสิน​มา​แล้ว 2 ครั้ง​ใน​ปี 2004 และ 2011 ว่า​การ​ลง​โทษ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ไม่​ขัด​กับ​รัฐธรรมนูญ และ​ใน​ปี 2004 และ 2007 ศาล​สูง​ของ​เกาหลี​ใต้​ก็​ตัดสิน​ไป​ใน​ทาง​เดียว​กัน​ว่า​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ไม่​ใช่​เหตุ​ผล​ที่​หนักแน่น​พอ​ที่​จะ​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร ไม่​ว่า​ศาล​สูง​ทั้ง​สอง​จะ​ตัดสิน​อย่าง​ไร ก็​เห็น​ชัด​ว่า​การ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​รับ​ราชการ​ทหาร​ยัง​เป็น​ที่​ถกเถียง​กัน​อยู่ แม้​แต่​ใน​แวดวง​ตุลาการ​เอง

ศาล​ของ​เกาหลี​ใต้​ทุก​ระดับ​ชั้น​แสดง​ท่าที​อึดอัด​เมื่อ​ต้อง​ตัดสิน​จำ​คุก​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี ตั้ง​แต่​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ตัดสิน​คดี​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​ใน​ปี 2011 ศาล​นี้​ได้​พิจารณา​คดี​ทำนอง​นี้​ที่​โอน​มา​จาก​ศาล​จังหวัด​อีก 7 คดี​และ​จาก​ประชาชน​อีก 22 คดี ศาล​สูง​เอง​ก็​มี​คดี​เกี่ยว​กับ​การ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ค้าง​อยู่​มาก​กว่า 40 คดี ส่วน​ศาล​ชั้น​ต้น​ก็​ตัดสิน​ให้​จำเลย​พ้น​ผิด​ใน 9 คดี​เพราะ​เห็น​แก่​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ของ​พวก​เขา​ตั้ง​แต่​เดือน​พฤษภาคม 2015 เป็น​ต้น​มา

ใน​เดือน​ตุลาคม 2016 ศาล​อุทธรณ์​แห่ง​หนึ่ง​สังเกต​เห็น​ปัญหา​ใน​ศาล​ชั้น​ต้น​และ​ศาล​สูง และ​กล่าว​ว่า “คาด​ไม่​ถึง​ว่า​การ​ตี​ความ​และ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​แค่​ฉบับ​เดียว​จะ​สับสน​วุ่นวาย​ขนาด​นี้” ใน​ครั้ง​แรก​ที่​ศาล​แห่ง​นี้​ตัดสิน​คดี​การ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี ศาล​ได้​ตัดสิน​ให้​จำเลย 3 คน​พ้น​ผิด ซึ่ง​เนติ​บัณฑิตย​สภา​กรุง​โซล​พูด​ถึง​การ​ตัดสิน​ดัง​กล่าว​ว่า​เป็น​การ​ตัดสิน​ที่ “พลิก​ประวัติศาสตร์” นาย​คิม​ฮัน​คิว ประธาน​เนติ​บัณฑิตย​สภา​กรุง​โซล​บอก​ว่า ศาล​รัฐธรรมนูญ​มา​ถึง​จุด​ที่​ต้อง​ตัดสิน​ชี้ขาด​แล้ว

“คาด​ไม่​ถึง​ว่า​การ​ตี​ความ​และ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​แค่​ฉบับ​เดียว​จะ​สับสน​วุ่นวาย​ขนาด​นี้” ศาล​เมือง​กวาง​จู แผนก​คดี​อาญา​ที่ 3 คำ​ตัดสิน​คดี​นาย​โช​ลัก​ฮุน วัน​ที่ 18 ตุลาคม 2016

ประเด็น​ที่​ยืดเยื้อ​กำลัง​จะ​ได้​ข้อ​ยุติ

นาย​คิม​บอก​ด้วย​ว่า “สาธารณชน​อยาก​ให้ [ศาล​รัฐธรรมนูญ] ตัดสิน​ไป​ใน​ทาง​ที่​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​คน​ที่​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี เพราะ​ตอน​นี้​พวก​เขา​ยัง​ต้อง​ทน​รับ​โทษ​แบบ​อาชญากร​และ​ไม่​สามารถ​ทำ​งาน​บริการ​สังคม​แทน​ได้ ศาล​รัฐธรรมนูญ​ซึ่ง​เป็น​ที่​พึ่ง​สุด​ท้าย​ใน​การ​ต่อ​สู้​เพื่อ​สิทธิ​มนุษยชน​กำลัง​ถูก​กดดัน​ให้​ประกาศ​คำ​ตัดสิน​โดย​เร็ว​ที่​สุด”

นาน​กว่า 60 ปี​แล้ว​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เกือบ​ทุก​ครอบครัว​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​ประเด็น​นี้ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​พ่อ ลูก​ชาย พี่​ชาย หรือ​น้อง​ชาย​ก็​ต้อง​ติด​คุก​เพราะ​ไม่​เป็น​ทหาร ถ้า​ศาล​รัฐธรรมนูญ​ตัดสิน​ว่า​การ​ไม่​เป็น​ทหาร​เนื่อง​จาก​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ไม่​ขัด​กับ​กฎหมาย​รัฐธรรมนูญ คน​หนุ่ม​มาก​มาย​ก็​ไม่​ต้อง​ติด​คุก​ใน​ฐานะ​อาชญากร​โดย​ไม่​จำเป็น​อีก​ต่อ​ไป และ​ทำ​ให้​ประชาชน​ทุก​คน​ใช้​สิทธิ​เสรีภาพ​ทาง​มโนธรรม​และ​ทาง​ศาสนา​ได้​อย่าง​แท้​จริง

ทุก​ฝ่าย​กำลัง​จับตา​ดู​ว่า​ศาล​รัฐธรรมนูญ​จะ​ตัดสิน​คดี​ครั้ง​ประวัติศาสตร์​นี้​ออก​มา​อย่าง​ไร