18 กุมภาพันธ์ 2019
เยอรมนี
นิทรรศการที่มิวนิกเกี่ยวกับการข่มเหงพยานพระยะโฮวาโดยนาซี
ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2018 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2019 ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติสังคมนิยมเมืองมิวนิกได้จัดนิทรรศการพิเศษเพื่อให้ประชาชนได้รู้เรื่องราวของพยานพระยะโฮวาในยุคนาซี ศูนย์ข้อมูลฯนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอดีตที่ทำการใหญ่ของพรรคนาซี
ในพิธีเปิด ดร. ฮันส์-จอร์จ คุปเปอร์ส ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมของเมืองมิวนิกได้อธิบายจุดประสงค์ของการจัดนิทรรศการนี้ว่า “นิทรรศการนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นเวลานานแล้วที่คนทั่วไปไม่รู้เลยว่าพยานพระยะโฮวาเคยถูกนาซีข่มเหง ... เป้าหมายของการจัดนิทรรศการนี้คือเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักกลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าของการข่มเหงในช่วงนั้น”
มีการจัดแสดงประวัติของพี่น้องในมิวนิกที่ถูกนาซีข่มเหงบนบอร์ดนิทรรศการ 60 แผ่น ซึ่งเล่าเรื่องราวความกล้าหาญ ความภักดี และวิธีที่พวกเขารอดชีวิต มีแผ่นหนึ่งพูดถึงมาร์ตินและเกอร์ทรูด พอทซิงเกอร์ ซึ่งเพิ่งแต่งงานกันไม่กี่เดือนตอนที่ถูกจับไปอยู่ค่ายกักกันคนละที่และไม่ได้เจอกันถึง 9 ปี ทั้งคู่รอดชีวิต และต่อมาพี่น้องมาร์ตินได้รับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวา
บอร์ดอีกแผ่นหนึ่งพูดถึงเทเรส คูห์เนอร์ ที่มาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1929 (ตอนนั้นเรียกว่านักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ) ตอนที่มีการสั่งห้ามพยานฯในเยอรมนี เทเรสใช้บ้านของเธอเป็นที่ประชุมแบบลับ ๆ และแอบพิมพ์หนังสือของพยานฯโดยใช้เครื่องโรเนียวแบบมือหมุน พอพวกนาซีรู้ เธอก็ถูกจับและถูกตั้งข้อหา “พิมพ์และแจกจ่ายหนังสือที่ต่อต้านรัฐบาลและบ่อนทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพ” ความซื่อสัตย์ภักดีของพี่น้องเทเรสไม่เคยลดน้อยลงเลยแม้ต้องเผชิญกับความตาย เธอถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1944
นอกจากนั้น มีบอร์ดอื่น ๆ ที่เน้นจุดยืนเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของพี่น้องที่ไม่ยอมทำความเคารพฮิตเลอร์ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกเกลียดชังอย่างมาก
ในปี 1934 ฮิตเลอร์ประกาศว่าจะกวาดล้างพยานพระยะโฮวาให้สิ้นซาก เขาพูดว่า “ต้องกำจัดคนพวกนี้ออกไปจากเยอรมนี!” พี่น้องของเราอดทนการข่มเหงที่โหดเหี้ยมในช่วงที่ฮิตเลอร์พยายามทำตามแผนชั่วนั้น ตอนนี้ไม่มีฮิตเลอร์กับรัฐบาลของเขาอีกต่อไปแล้ว แต่กลับมีพี่น้องของเรามากกว่า 165,000 คนในเยอรมนี เราขอบคุณพระยะโฮวาที่ทำให้ความทุกข์ลำบากของเรากลายเป็นความหวังที่ “เป็นจริงแน่นอน”—โรม 5:3-5